ตั้งคำถามกับชีวิต : 
คำถามสำคัญกว่าคำตอบ


Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik

หลายครั้ง บางคน มีความสุขกับชีวิตที่ผ่านไปโดยง่าย เหมือนให้ชีวิตผ่านไปดุจสายน้ำ โดยปราศจากคำถามต่อเป้าหมายและคุณค่าที่แท้ของการมีชิวิต ในขณะที่บางช่วง บางชีวิต ก็ถูกใช้ไปเพียงเพื่อหาเลี้ยงชีวิตให้อยู่รอด โดยไม่มีโอกาสแม้แต่จะหยุดพักเพื่อค้นหาคำตอบว่าชีวิตที่เหน็ดเหนื่อยนั้นเพื่อสิ่งใด

เป็นการผิดละหรือ?
ที่เราจะตั้งคำถาม และตรวจสอบสรรพสิ่งรอบตัว ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมที่ทุกสิ่ง ทุกอย่างได้ถูกอธิบายและให้คำตอบไว้ก่อนแล้ว ‘เป็นคำตอบที่ฉาบเคลือบด้วยมายาคติที่นับวันจะหนาขึ้นตามอายุขัยแห่งโลก ยิ่งมนุษย์ฉลาดแยบคาย ความโง่เขลาก็ยิ่งยอกย้อน คลาบไคลแห่งมายานั้นทับถมจนหนายิ่ง นามธรรมทั้งหลายถูกนำเสนอโดยมิต้องค้นหาเหมือนข้อสอบปรนัยที่ไม่อาจเพิ่มเติมข้อความใดให้บริบูรณ์ได้ ผู้คนจึงมีความหลากหลายอันจำกัดและไม่อาจรู้ว่าตนเป็นหนึ่งเดียวกัน’ [1]  จึงเป็นความท้าทายที่จะตั้งคำถาม แล้วออกค้นหาให้พบความหมายที่แท้จริง

[1] : พิณผกา งามสม, 2544, อุดมคติในสมัยมายาคติ, สารโกมล, ฉบับประจำเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ปีที่ 19, มูลนิธิโกมลคีมทอง

Mobirise

ในระดับบุคคล... การใช้ชีวิตตามความเคยชินในบางเรื่อง ในบางเวลา อาจก่อให้เกิดปัญหาได้ หากเราไม่ได้พิจารณาให้ถ่องแท้ก่อนตัดสิน เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตและที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องเดียวกัน แต่แท้จริงแล้วแต่ละเหตุการณ์มีความเฉพาะเจาะจงในสถานที่และเวลาที่แตกต่างกัน ความแตกต่างนี้เองทําให้ การใช้วิธีเดิม ๆ ตามความเคยชินอาจจะไม่ใช่ทางออกที่ราบรื่น...

...เมื่อเราไม่ตั้งคําถามกับสิ่งที่เรากําลังทําอยู่ นั่นหมายความว่าเรากําลังอยู่ในภาวะ “เสี่ยง” ต่อการถูกกระทบจากการ เปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน หรือต้องอยู่กับสิ่งเดิมทั้งที่มีโอกาส เปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เพราะความไม่พึงพอใจในสภาพความเคยชิน นําไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ การสร้างสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ล้ำหน้า อย่างไม่หยุดยั้ง...’  [3]

[3] : เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์, 2562, ลายแทงนักคิด พิมพ์ครั้งที่ 12.

Mobirise

ในระดับสังคม... ‘คนเป็นอันมากทุกวันนี้ เปรียบได้เสมือนว่าวที่ขาดลอย ไม่ว่าลมจะพัดพาไปทิศทางใดก็ลอยไปตามลม พอหมดแรงลมก็ตกลงสู่พื้น บางคนเปรียบเสมือนเรือที่ปราศจากหางเสือ มีกำลังอยู่ในตัวของตัวเอง เดินไปได้เสมอแล้วแต่คลื่นลมจะพาไป เป็นเรือที่จะไม่ขวางลำเมื่อน้ำเชี่ยว คนชนิดนี้มีชีวิตอยู่ตามบุญตามกรรม มีช่องทางใดที่ง่าย ที่จะเอาตัวรอด ที่จะได้ประโยชน์ส่วนตัว ก็เสาะ แสวงช่องทางนั้น มิได้ใฝ่แสวงวิถีทางอันนำไปสู่สิ่งประเสริฐซึ่งเป็นความหมายแห่งอุดมคติ’  [2]

[2] : ป๋วย อึ๊งภากรณ์, 2517, ปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี 2517.

วิญญาณขบถ นั้นคล้ายว่าเป็นอุดมคติของคนวัยหนุ่มสาวเสมอมา แต่แท้จริง คือพลังอันลึกซึ้งที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในปัจเจกชนทุกผู้ทุกนาม คือพลังขับเคลื่อนจิตวิญญาณไปสู่การแสวงหาคำตอบ และความอิสระที่แท้ สุดแต่ว่าปัจเจกชนผู้นั้นได้ตั้งคำถามสำหรับตนเองเช่นไร  


การขบถ จึงมิใช่ความคิดสุดขั้วที่มุ่งทำลายล้าง หากเป็นเพียงความท้าทายอันหนักหน่วงต่อการสละทิ้งคำตอบซึ่งฉาบทาด้วยมายาคติที่สังคมมอบให้แก่เรา สละทิ้งซึ่งจารีต ระเบียบประเพณีที่เข้มแข็งของสังคมอันคับแคบ แล้วแสวงหาคำตอบในอุดมคติอย่างเสรี เสมือนดั่งการติดหางเสือเรือให้เดินทางได้ถูกตรงต่อวิถีแห่งโลกที่แท้จริง ‘ก็ในเมื่อสังคมโดยรวมมีความโน้มเอียงไปในทาง อธรรมมากขึ้น ในกรณีนี้ ผู้หนึ่งผู้ใดใช้ความคิดจะปรับตนเองเข้าสู่ทางธรรม หรือปรับปรุงสังคมให้หันไปในวิถีแห่งธรรม ผู้นั้นมักถูกสังคมดูหมิ่น เย้ยหยันว่า… เป็นคนนอกรีต ...’ [2]  ... เป็นขบถ

คำถาม จึงอยู่ที่เราแต่ละคน ว่า… เราเคยเหลียวดูตนเองและสรรพสิ่งรอบตัว แล้วตั้งคำถามขึ้นในใจ บ้างหรือไม่ ? เราจะยอมรับคำตอบที่มีอยู่เดิม แล้วใช้ชีวิตตามคุณค่าแห่งวิถีทางนั้น หรือลุกขึ้นขบถเพื่อค้นหาคำตอบอย่างเสรี แล้วต่อสู้เพื่อวิถีทางที่ตนเป็นผู้เลือก

การต่อสู้ ที่แท้เกิดขึ้นภายใน มิใช่การช่วงชิงชัยชนะเหนือโลก หรือบุคคลอื่นใด หากแต่เป็นตนเอง และจิตใจอันซับซ้อนแห่งตน เป็นการต่อสู้ที่อ่อนน้อม และเคารพในศักยภาพแห่งตน และผู้คนรอบข้าง ด้วยความเข้าใจที่ชัดแจ้งสู่การปฏิบัติที่สมบูรณ์  

จำเป็นละหรือ ? ที่การขบถครั้งนี้จะต้องมีการกำหนดเป้าหมายบางอย่างอันห่างไกลไว้เพื่อรอคอยสิ่งที่เรียกว่า ‘ความสำเร็จ’ ก็หากหนทางที่เลือกเดินเป็นทางที่ถูกต้องแล้ว ทุกก้าวย่างในวิถีอันงดงามมิใช่ความสำเร็จหรอกหรือ เมื่อเราเป็นผู้ค้นหา และกำหนดทิศทางของชีวิตด้วยความเข้าใจที่แท้ ความสำเร็จย่อมเกิดขึ้นในทุกย่างก้าวของชีวิต


การค้นหาคำตอบ

การค้นหาคำตอบ เริ่มต้นที่… ตนเอง

 ‘มีบุคคลเพียงคนเดียวเท่านั้นในโลก ที่สามารถจะบอกกับเราได้ว่า เรากำลังหิวหรืออิ่ม บุคคลผู้นั้นคือ.. ตัวเราเอง ตราบใดที่เราเพิกเฉยที่จะสำรวจ พิจารณา สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเอง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นปัญหาใหญ่หลวงเพียงใด ตราบนั้นมันก็หาใช่ปัญหาสำหรับเราไม่ และตราบนั้นการแก้ปัญหาก็ย่อมไม่เกิดขึ้น แต่ตราบนั้นปัญหายังคงอยู่ และเติบโตขึ้น’

การค้นหาคำตอบ เริ่มต้นที่… การตั้งคำถาม

 ‘เจ้าปลาน้อยที่แหวกว่ายในสายนที จะรู้บ้างไหมหนอ ว่ามันอยู่ในน้ำ และโลกนี้ยังมีท้องฟ้าสดใส ไกลสุดสายตา หนอนตัวเล็ก ที่เกิดและตายไปในกองอาจม จะรู้บ้างไหมหนอ ว่ามันอยู่ในปฏิกูลอันเน่าเหม็น โลกนี้ช่างสดใสกว่านั้นยิ่งนัก มนุษย์ผู้ประเสริฐ เกิดและตายในโลกแห่งมนุษย์ จะรู้ไหมหนอ ว่าโลกที่เขาสร้างขึ้นคับแคบเพียงไร และโลกที่แท้เป็นเช่นไร

การค้นหาคำตอบ เริ่มต้นที่… เสรีภาพ

 ‘อุดมคติจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ บุคคลในสังคมสามารถใช้ความคิดได้อย่างเสรี ปราศจากพันธนาการของจารีตประเพณี หรืออีกนัยหนึ่ง เราต้องสนับสนุนให้มนุษย์แต่ละคนใช้ความคิดอย่างมีเสรีภาพ ชนิดที่ไม่ต้องพึงหวาดหวั่นว่าจะเป็นความคิดนอกลู่นอกทาง นั่นแหละ จึงจะเป็นการสนับสนุนอุดมคติให้ถือกำเนิดได้’ [2]   ‘การที่จะคล้อยตามสังคม หรือสิ่งที่พ่อแม่หรือครูบอกนั้นเป็นของง่าย มันเป็นวิธีการใช้ชีวิตที่ง่ายและปลอดภัย แต่มันไม่ใช่ชีวิต’ [4]

[4] : กฤษณมูรติ, 2543, แห่งความเข้าใจชีวิต และการศึกษาที่แท้, มูลนิธิโกมลคีมทอง

การค้นหาคำตอบ เริ่มต้นที่… ความเข้าใจรากฐานแห่งปัญหา  

 ‘สิ่งสำคัญไม่ใช่อยู่ที่การเสาะหาคำตอบต่อปัญหา ไม่ว่าปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาส่วนตัว หรือส่วนรวม หรือปัญหาอื่นๆ แต่ให้เข้าใจถึงปัจจัย ตัวการที่สร้างปัญหา การเข้าใจเหตุที่ก่อปัญหายากยิ่งกว่าการเพียงศึกษาปัญหา ผู้สร้างปัญหาคือตัวเราเอง และการเข้าใจตนเองไม่ได้หมายถึงกระบวนการแยกตนออกไปโดดเดี่ยว หรือหลบหลีกล่าถอย การจะเข้าใจตนเองให้ถ่องแท้ เราต้องมีดุลยภาพนั่นคือเราไม่สามารถจะสละทิ้งโลกด้วยหวังที่จะเข้าใจตนเอง หรือติดอยู่ในกับดักของโลกจนกระทั่งไม่มีช่องโอกาสที่จะเข้าใจตนเองได้ เราจำต้องมีดุลยภาพ โดยทั้งไม่ยอมละทิ้ง และไม่ยอมสยบ’ [5]

[5] : กฤษณมูรติ, 2544, เหนืออิทธิพลครอบงำ, มูลนิธิอันวีกษณา

การค้นหาคำตอบ เริ่มต้นที่… การปฏิบัติ

 ‘มรรคาอันนำไปสู่ความสำเร็จ คือ การลงมือปฏิบัติ ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ ในวิถีที่ถูกต้อง เพื่อแก้ไขรากฐานแห่งปัญหา อันนำไปสู่สภาวะใหม่ที่ไร้ปัญหาสิ้นเชิง และปฏิบัติการนั้นต้องเริ่มต้นที่ตัวเราเอง ที่เราแต่ละคน มันเปล่าประโยชน์ที่จะปรับ เปลี่ยนสภาพภายนอกโดยไม่เปลี่ยนแปลงภายในส่วนลึกของจิตใจ’


การค้นหาคำตอบ เริ่มต้นที่… นี่ และเดี๋ยวนี้

 ‘บทเรียนต่อไปนี้เป็นเพียงเพื่อนที่ชวนให้ ‘เรา’ ได้ทดลอง ‘ตั้งคำถาม’ โดย ‘เสรี’ ต่อโลกของเรา ต่อการศึกษาซึ่งเป็นเครื่องมือในการเข้าใจโลกของเรา ต่อความสัมพันธ์ระว่างเราและสรรพสิ่งในนามของความรัก และตั้งคำถามแม้แต่กับตัวตนของเราเอง แล้วเชื้อเชิญให้สำรวจลึกลงถึง ‘รากฐานแห่งปัญหา’ อันอาจจำนำไปสู่ ‘การเดินทาง’ เพื่อแก้ไขเงื่อนปมของปัญหาเหล่านั้นตามวิถีแห่งปัจเจกชน ซึ่งเป็นการเดินทางโดยลำพัง ที่ปราศจากมิตร ศัตรู หรือแม้แต่หนังสือคู่ใจสักเล่ม’

Mobirise

ปัญญา นิรันดร์กาล 

ความกล้าหาญสูงสุดของมนุษยชาติคือคุณต้องกล้าตั้งคำถามที่ยากที่สุดกับตัวเอง แล้วก็ต้องกล้าตั้งคำถามที่ยากที่สุดกับสังคม เพราะว่าถ้าคุณไม่ตั้งคำถามที่ยากที่สุดกับตัวเอง คุณจะไปไม่ถึงแก่นของตัวเองว่าความกลัวของคุณคืออะไร ความต้องการสูงสุดของคุณคืออะไร ความมุ่งมาดปรารถนาสูงสุดของคุณคืออะไร ถ้าคุณไม่กล้าตั้งคำถามที่ลึกที่สุดไปที่ตัวเอง คุณจะไปต่อไม่ได้ เพราะคุณยังไม่รู้จักตัวเอง คุณไม่กล้าเผชิญหน้ากับตัวเอง 

คุณภาพของคำถามต่างกันคุณภาพของคำตอบก็ต่างกัน

———————————————

THE CLOUD :  the magazine on cloud
24 พฤศจิกายน 2560


Mobirise

 TEDx Talks

In his second talk on the TEDx stage in Chiang Mai, Jon Jandai focused on education and how to raise children. He suggests that the Thai education system prevents children from actual learning, using their imagination, and being creative. Thai children are transformed into robots that aimlessly join the economic system. Jon proposes raising children through home schooling and self-learning, illustrating his ideas with real life experiences raising his son at home. He draws attention to the importance of giving our children meaningful and natural learning opportunities and for parents to spend more quality time with their children.

This talk was given at a TEDx event using the TED conference format but independently organized by a local community. Learn more at http://ted.com/tedx

Mobirise

ผมขอฟ้องร้องระบบการศึกษา !!!
ทีมพากย์อินทรี ให้เสียงภาษาไทย  (6 นาที)

"... วันนี้ผมขอฟ้องระบบการศึกษา .. พวกเขา .. เปลี่ยนคนเป็นล้านๆ คนให้กลายเป็นหุ่นยนต์ .. คุณรู้ตัวหรือเปล่า ว่ามีเด็กกี่คนที่..เรียนอย่างหนักในห้องเรียน แต่ไม่พบพรสวรรค์ของตนเอง ได้แต่คิดว่าตัวเองโง่ และตัวเองไร้ค่า ..."

"... ผมขอกล่าวหาโรงเรียนว่า "เป็นฆาตกรที่ฆ่าความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ทำลายเอกลักษณ์ และเหยียดหยามทางความคิด มันคตือระบบที่ล้าสมัย และหมดอายุแล้ว..."

คลิกฟังต้นฉบับภาษาอังกฤษ / คลิกฟังเวอร์ชั่นพากย์ไทยโดยทีมพากย์อินทรี

Made with Mobirise - Go here