Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik
งานแต่ละงานมีปัจจัยที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาให้เกิดความเข้าใจถ่องแท้ และมีผู้ที่เกี่ยวข้องหลาย ทุกส่วนต่างมีความต้องการและความคาดหวัง ถ้าผู้ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถตอบสนอง อาจเกิดความไม่พึงพอใจ ดังนั้นการบริหารจัดงานควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ “การจัดการกระบวนการ” หรือ process management ที่ดี ที่ถูกต้อง เพราะหากทำได้ไม่ดีหรือไม่ถูกต้อง จะไม่สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของทุกส่วนได้ ยกตัวอย่าง ร้าน “ยายเมี้ยนขายกล้วยทอด” ถ้ายายเมี้ยนต้องการขายกล้วยทอด ยายเมี้ยนจะต้องทำอะไรจึงจะได้กล้วยทอดมาขาย ต้องใช้อะไรบ้าง และต้องจัดหามาอย่างไร คำตอบคือยายเมี้ยนจะต้องทำให้มีกล้วยทอดเพื่อขาย กล้วยทอดได้มาจากการทอดกล้วย ซึ่งต้องจัดเตรียมจากวัตถุดิบและเครื่องมืออุปกรณ์ที่จัดหามาจากร้านค้าหลาย ๆ แหล่ง
ผู้ซื้อกล้วยทอดจากยายเมี้ยนเรียกว่า “ลูกค้า” กล้วยที่ทอดเสร็จแล้วหรือที่นิยมเรียกว่ากล้วยแขก คือ “ผลิตภัณฑ์” หรือ “ผลิตผล” ของ “กระบวนการ” ที่ยายเมี้ยนดำเนินการทอดกล้วย สำหรับวัตถุดิบหรือเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียกว่า “ปัจจัยนำเข้า” ซึ่งจัดหามาจากร้านค้าต่าง ๆ นั้นจัดเป็น “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” สำหรับความหมายของคำต่าง ๆ เป็นดังนี้
o ลูกค้า หรือ customer หรือ หมายถึง ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ โปรแกรม หรือบริการขององค์กร หรืออาจเป็นผู้ใช้ในอนาคต ทั้งผู้ใช้โดยตรงหรือผู้ซื้อเพื่อจำหน่ายต่อ
o ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือ stakeholder หมายถึง กลุ่มทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหรืออาจได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติการและความสำเร็จขององค์กร ได้แก่ พันธมิตรทางธุรกิจ ผู้ให้ความร่วมมือ คณะกรรมการกำกับดูแล ผู้ถือหุ้น ผู้ส่งมอบ ผู้เสียภาษี องค์กรที่ดูแลกฎระเบียบข้อบังคับ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ให้ทุนดำเนินงาน ชุมชนในท้องถิ่นและสมาคมวิชาชีพ บางครั้งอาจให้ความหมายกว้างรวมถึงลูกค้าและบุคลากรของหน่วยงาน
o ปัจจัยนำเข้า หรือ input หมายถึง ปัจจัยซึ่งอยู่นอกกระบวนการซึ่งมักจะรวมกับปัจจัยอื่นและถูกเปลี่ยนให้เป็นผลิตภัณฑ์หรือผลิตผล
o กระบวนการ หรือ process หมายถึง กิจกรรมที่เชื่อมโยงกันโดยมีเจตจำนงเกี่ยวกับการผลิตหรือบริการให้แก่ลูกค้าทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยทั่วไปกระบวนการเป็นขั้นตอนหรือกิจกรรมที่มีลำดับชัดเจน ซึ่งเกิดจากการผสมผสานระหว่างคน เครื่องจักร เครื่องมือ เทคนิค วัสดุ และการปรับปรุงมาทำงานร่วมกัน โดยทั่วไปแทบจะไม่มีกระบวนการใดที่สามารถดำเนินงานได้โดยลำพัง จึงต้องพิจารณาความสัมพันธ์กับกระบวนการอื่นที่ส่งผลกระทบกัน ในบางสถานการณ์กระบวนการอาจต้องดำเนินตามลำดับขั้นตอนที่กำหนดไว้เฉพาะเจาะจงอย่างเคร่งครัดตามเอกสารวิธีปฏิบัติการและข้อกำหนด รวมทั้งการวัดและขั้นตอนการควบคุมที่ชัดเจน
o ผลิตภัณฑ์ (ผลิตผล) หรือ output หมายถึง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทันทีเมื่อสิ้นสุดกระบวนการ สัมพันธ์กับสิ่งที่หน่วยงานทำ
o ผล หรือ outcome หมายถึง ผลลัพธ์ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์เมื่อเวลาผ่านไปช่วงหนึ่ง เป็นสิ่งที่อ้างถึงความแตกต่างที่เกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์ ความสำเร็จคือลูกค้ามีความพึงพอใจในรสชาติของกล้วยทอด ยายเมี้ยนมีรายได้ดี
การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะขององค์ประกอบของการจัดการกระบวนการทำให้เกิดผลที่ดี ที่ต้องการ
“หากยายเมี้ยนต้องการทอดกล้วยให้ได้ดี ลูกค้าพอใจ ขายได้เงินดี ยายเมี้ยนจะต้องดำเนินการในประเด็นอะไรบ้าง และอย่างไร” นั้นเพื่อให้นักศึกษาเห็นความสำคัญของการหา-กำหนดคุณลักษณะเฉพาะ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า specification ของปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และผลิตภัณฑ์ให้มีความชัดเจนที่จะทำให้เกิดคุณภาพงานที่ต้องการและคาดหวัง กล่าวคือ
o ผลิตภัณฑ์ที่ดี ๆ ต้องมีคุณลักษณะเฉพาะอย่างไร
o กระบวนการที่ดี ๆ ต้องมีคุณลักษะเฉพาะอย่างไร จึงจะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะเฉพาะที่ต้องการ
o ปัจจัยนำเข้าที่ดี ๆ ต้องมีคุณลักษณะเฉพาะอย่างไร เมื่อผ่านกระบวนการที่มีคุณลักษณะเฉพาะแล้วจะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะเฉพาะที่ต้องการได้
ดังนั้นจากตัวอย่างยายเมี้ยนขายกล้วยทอด หากยายเมี้ยนอยากเห็นผลที่เกิดขึ้นกับลูกค้าว่าลูกค้ามีความพึงพอใจ อยากกลับมาซื้ออีก และตนเองขายได้ดี ยายเมี้ยนจะต้องหาความต้องการของลูกค้าว่าชอบกล้วยทอดที่มีลักษณะอย่างไร ข้อมูลที่ได้จะนำมากำหนดเป็นคุณลักษณะเฉพาะของผลิตภัณฑ์-ผลิตผล หรือที่เรียกว่ากำหนด output specification คือต้องการให้ผลผลิตมีคุณลักษณะอย่างไร ผลผลิตที่จะเป็นเช่นนั้นเกิดจากกระบวนการที่ต้องมีข้อกำหนดเฉพาะอย่างไร จะต้องควบคุมกระบวนการจัดหา การเตรียมวัตถุดิบ รวมถึงการทอดอย่างไรเพื่อให้ได้กล้วยทอดที่มีลักษณะที่ลูกค้าพอใจ จึงจะนำไปสู่ “ความสำเร็จของงาน” คือ “การตอบสนองความต้องการ (needs) ของลูกค้าจนลูกค้าเกิดความพึงพอใจ (satisfaction) และเกิดผล (outcome) ตามที่ต้องการ”
หากยายเมี้ยนต้องการผันตัวเองเป็นผู้บริหาร เนื่องจากต้องการขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้น และต้องการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายด้วยการเดินขายตามสี่แยกให้กับรถที่ติดไฟแดงแถวหน้าร้าน “ยายเมี้ยนจะต้องจัดแบ่งระบบงานออกเป็นกระบวนการทำงานที่สำคัญอะไรบ้าง” นั้น เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ว่า ในการทำงานเพื่อให้เกิดผลนั้น มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ คน และ กระบวนการทำงาน หากเป็นงานเล็ก ๆ หรืองานที่สามารถทำคนเดียวได้ เช่น การทอดกล้วยของยายเมี้ยน คน ๆ นั้นจะทำงานเองทุกอย่าง แต่ในสภาพการณ์ทั่วไป เมื่องานใหญ่ขึ้นหรืองานที่ต้องมีคนหลายคนช่วยกันจึงจะสำเร็จ ผลิตภัณฑ์-ผลิตผลที่เกิดขึ้นเป็นผลรวมของหลาย ๆ กระบวนการ เช่นเดียวกับเมื่อยายเมี้ยนเมื่อต้องการขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้น ยายเมี้ยนจะไม่สามารถทำงานได้เพียงคนเดียว จึงต้องพิจารณาว่าระบบงานเกิดจากกระบวนการที่สำคัญอะไรบ้าง เช่น กระบวนการจัดซื้อวัตถุดิบ กระบวนการเตรียมวัตถุดิบ กระบวนการทอดกล้วย กระบวนการขายหน้าร้าน กระบวนการขายนอกร้าน กระบวนการสร้างสัมพันธ์กับลูกค้า กระบวนการการเงินและบัญชี กระบวนการทรัพยากรบุคลากร กระบวนการทำความสะอาดเครื่องมืออุปกรณ์และสถานที่ ฯลฯ (การตั้งชื่อกระบวนการ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของ “กระบวนการ + กิริยา + ผลิตภัณฑ์” การออกแบบให้ระบบงานที่แบ่งกันทำเป็นขั้นตอนมีความชัดเจน สามารถส่งต่อผลงานจากขั้นตอนหนึ่งไปสู่ขั้นตอนต่อไปจนสุดท้ายเกิดผลิตภัณฑ์-ผลิตผลที่ต้องการอย่างราบรื่นเหมือนผืนผ้าที่ไม่มีตะเข็บ ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า seamless และเปรียบได้กับ “ห่วงโซ่” ที่คล้องต่อ ๆ กันไป เรียกระบบงานที่มีลักษณะนี้ว่า ห่วงโซ่คุณค่า หรือ value chain เพราะแต่ละขั้นตอนจะสร้างคุณค่าเพิ่มขึ้นจนเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายที่ส่งมอบให้ลูกค้า ระบบงานเช่นนี้มีคุณลักษณะที่สำคัญคือ การแบ่งหน้าที่กันทำงาน ส่งผลผลิตของกระบวนการหนึ่งไปเป็นปัจจัยนำเข้าของกระบวนการถัดไป เป็นทอด ๆ จนสำเร็จ
ในการออกแบบหรือพัฒนางาน นักศึกษาต้องทำความเข้าใจความหมายของคำว่า “ระบบงาน” หรือ work system และ “กระบวนการทำงาน” หรือ work process ดังนี้
ระบบงาน (work systems) หมายถึง วิธีการที่องค์กรใช้ในการทางานให้สำเร็จ ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุคลากรขององค์กร ผู้ส่งมอบ และพันธมิตรที่สำคัญ คู่สัญญา ผู้ให้ความร่วมมือ และส่วนอื่น ๆ ในห่วงโซ่อุปทานที่จำเป็นต่อการผลิตและส่งมอบผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกระบวนการทางธุรกิจ/กิจการและกระบวนการสนับสนุน ระบบงานจะประกอบด้วยกระบวนการทำงานภายในกับแหล่งทรัพยากรต่าง ๆ จากภายนอกที่จำเป็นต่อการพัฒนาผลิตและส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าและทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในตลาด การตัดสินใจเกี่ยวกับระบบงานเป็นเรื่องในระดับกลยุทธ์ ซึ่งครอบคลุมถึงการปกป้องและใช้ประโยชน์จากสมรรถนะหลักขององค์กร และการตัดสินใจว่าสิ่งใดที่องค์กรไม่ต้องดำเนินงานเอง หรือให้หน่วยงานภายนอกเข้ามาดำเนินงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความยั่งยืนในตลาดขององค์กร
กระบวนการทำงาน (work process) หมายถึง กระบวนการสร้างคุณค่าที่สำคัญที่สุดภายในองค์กร ซึ่งอาจรวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ การผลิตและการส่งมอบ การสนับสนุนลูกค้า การจัดการห่วงโซ่อุปทาน กระบวนการทางธุรกิจ/กิจการและกระบวนการสนับสนุน กระบวนการทางานเป็นกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรส่วนใหญ่ขององค์กร กระบวนการทำงานที่สำคัญขององค์กรมักเกี่ยวข้องกับสมรรถนะหลักขององค์กร ปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จขององค์กรเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และปัจจัยที่ผู้นำระดับสูงใช้พิจารณาว่าสำคัญต่อการเติบโตขององค์กร ทั้งนี้กระบวนการทำงานที่สำคัญขององค์กรต้องดำเนินการให้สำเร็จโดยบุคลากรขององค์กรเสมอ สำหรับกระบวนการทำงานอาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ “กระบวนการหลัก” หรือ core process “กระบวนการสนับสนุน” หรือ supporting process และ “กระบวนการบริหารจัดการ” หรือ management process โดยแต่ละประเภทมีความหมายดังนี้
กระบวนการหลัก เป็นกระบวนการที่เกิดจากกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกันซึ่งเปลี่ยนปัจจัยนำเข้าของระบบให้เป็นผลผลิตที่มีคุณค่าสาหรับผู้รับบริการ เป็นการเปลี่ยนบุคคล เงิน สิ่งของ หรือข้อมูลซึ่งเป็นงานการเพิ่มคุณค่าของหน่วยงาน เป็นกระบวนซึ่งหน่วยงานสร้างคุณค่าสาคัญที่สุดหรือการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญสำหรับผู้รับบริการ
กระบวนการสนับสนุน เป็นชุดกิจกรรมหรือหน้าที่สนับสนุนการทำงานกระบวนการหลักในแต่ละวันของหน่วยงาน ตัวอย่างเช่น สุขภาพและความปลอดภัย การบัญชี การสรรหาบุคลากร ศูนย์ติดต่อ การสนับสนุนทางเทคนิค
กระบวนการบริหารจัดการ เป็นกระบวนการในการควบคุมการดำเนินการของระบบงาน โดยทั่วไปประกอบด้วย การกำกับดูแลกิจการ (มีชื่อเรียกอื่น ๆ เช่น ธรรมาภิบาล บรรษัทภิบาล) อาจพูดรวม ๆ ว่า หมายถึง การบริหารจัดการองค์กรที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย และ การบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์
การจัดทำเป็น “พิมพ์เขียว” หรือ blueprint จะแสดงเป็นภาพรวมให้เห็นว่าในกระบวนการนั้น มีผู้ใดบ้างที่ทำงานขั้นตอนต่าง ๆ ต่อเนื่องกัน โดยปกติจะแบ่งพิมพ์เขียวออกเป็นแถบตามแนวนอน โดยแถบตรงกลางจะเป็นผู้ที่เป็นผู้รับผิดชอบกระบวนการ และจะแสดงผู้ที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในแถบที่สูงกว่า (เช่น ผู้บังคับบัญขา ผู้ทำหน้าที่กำกับดูแล) และในแถบที่ต่ำกว่า (เช่น ผู้รับผลิตภัณฑ์-ผลิตผล ผู้ใช้งานในลำดับถัดไป)
ในการพิจารณาขั้นตอนของผู้ปฏิบัติงาน ลูกศรที่ชี้มาจากขั้นตอนใดแสดงว่าขั้นตอนนั้นส่งปัจจัยนำเข้ามาให้ จะมีอักษร I (อักษรย่อของ Input) และหมายเลขกำกับ ลูกศรที่ชี้ออกจากขั้นตอนใดแสดงว่าขั้นตอนนั้นส่งผลิตภัณฑ์-ผลิตผลออกไปให้กับขั้นตอนถัดไป จะมีอักษร O (อักษรย่อของ Output) และหมายเลขกำกับ ในพิมพ์เขียวของกระบวนการจะแสดงปัจจัยนำเข้าและผลิตภัณฑ์-ผลิตผลเฉพาะขั้นตอนที่อยู่ในแถบสีชมพูของทีม กำกับด้วยตัวอักษร P (อักษรย่อของ Process) ตารางที่อยู่ด้านล่างของพิมพ์เขียวแสดงรายละเอียดของข้อมูล SIPOC
Designed with Mobirise website template