ชีวิตนี้เพื่องาน งานนี้เพื่อธรรม


Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik

เราทำงาน เพราะเรามุ่งหวังอะไร ?

เพื่อให้ได้ชื่อว่ามีงานทำ, เพื่อจะร่ำรวย, หรือเพื่อกาแฟสักถ้วยที่หอมละมุนยามเช้า

คนเรามองการทำงานต่างกันไปหลายอย่าง และจากความเข้าใจต่างๆ นั้น ก็ทำให้มีพฤติกรรมการทำงาน ผลของงานที่มีต่อตนและโลก รวมถึงความสุขในงาน ก็จะต่างกันไป ตามความเข้าใจนั้น

  

“งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข”


คนโดยมากมองงานว่าเป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพ ทำให้มีเงินมีทอง สำหรับเอามาซื้อหาจับจ่ายใช้สอย หาความสุขอะไรต่างๆ 

  

 “เจ้าคน นายคน”

สำหรับคนอีกจำนวนมาก นอกจากจะมองความหมายอย่างแรกแล้ว ยังมีความหมายที่สองพ่วงมาด้วย คือมองขยายออกไปว่า งานนี้จะนำชีวิตของเราไปสู่การมีตำแหน่ง มีฐานะ มีความเจริญก้าวหน้ารุ่งเรือง ได้รับความนิยมนับถือ

ในความหมายที่ว่ามาแล้ว เรามองจำกัดเฉพาะตัวเอง ที่บอกว่างานเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต ก็เป็นเรื่องของตัวฉัน ที่บอกว่างาน เป็นบันไดไต่เต้าไปสู่ความรุ่งเรือง หรือความสำเร็จ ก็เพื่อตัวฉัน

แต่ที่จริง งานไม่ใช่แค่เพื่อตัวฉัน งานเป็นเรื่องกว้างกว่านั้น งานเป็นเรื่องที่เป็นไปเพื่อการสร้างสรรค์ เป็นไปเพื่อการพัฒนา เป็นกิจกรรมของสังคม เป็นของประเทศ เป็นของโลก โลกจะเป็นไปได้ สังคมจะดำเนินไปได้ ประเทศชาติจะพัฒนาได้ คนในสังคมจะเป็นอยู่กันด้วยดีได้ ก็ต้องอาศัยคนทำงาน เพราะฉะนั้น คนที่ทำงานจึงเท่ากับมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์พัฒนาสังคมประเทศชาติ

  

“ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน”

สำหรับบางคน อาจมองว่า งานเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตของคนมีคุณค่า ถ้าไม่ทำงานที่ดีมีประโยชน์ หรือแม้แต่ถ้างานไม่สำเร็จผลเกิดประโยชน์ในสายตาของผู้ที่มอง ชีวิตนั้นก็ไม่มีค่า
  


 “ทำงาน เพื่อการพัฒนาตน”

 ความหมายของงานอีกอย่างหนึ่ง คือโอกาสในการพัฒนาตน ทำให้คนมีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ เก่งกาจในทางใดทางหนึ่ง แม้ในด้านการฝึกฝนทางจิตใจหรือในทางคุณธรรม งานก็เป็นเครื่องมือฝึกฝนทำให้คนมีความขยัน อดทน มีระเบียบ ใจเข้มแข็ง ทำให้รู้จักสัมพันธ์กับเพื่อนพ้อง ผู้ร่วมงาน และคนทั้งหลาย ต่างวัย ต่างความคิด ต่างหน้าที่ สิ่งเหล่านี้ล้วนอาศัยงานเป็นเครื่องฝึก

  

ทีนี้ เมื่อคนทำงานไปตามความหมายและความเข้าใจของตน ความเข้าใจนั้นก็จะมีผลต่อความรู้สึก จิตใจในการทำงาน ถ้าเราเข้าใจอย่างไร ก็มุ่งหวังผลสนองตอบไปตามความหมายนั้น ถ้าเกิดผลสนองตามความมุ่งหมาย ก็เกิดความพึงพอใจ แต่ถ้าไม่สนองตามความมุ่งหมาย ก็เกิดความเศร้า เครียด ท้อแท้ หมดกำลังใจ ฉันนั้นความเข้าใจในงานจึงมีผลกระทบต่อชีวิตจิตใจได้มาก

  

ตัวอย่างเช่น คนที่ทำงานในความหมายที่เป็นเครื่องเลี้ยงชีพ ความสุขก็ขึ้นอยู่กับผลตอบแทน รายได้ ที่ได้รับ บางครั้งแม้งานดีมีคุณค่า แต่ถ้าขายไม่ได้ เจ้านายไม่ชื่นชม หรือสังคมไม่ให้คุณค่าด้วยผลตอบแทนราคาแพง ก็ไม่อาจมีความสุขได้

 ถ้ามองความหมายของงานในแง่ว่าเป็นการทำหน้าที่ เป็นการทำประโยชน์แก่ใครสักคน หรือสังคมประเทศชาติ บางทีแม้ผลตอบแทนไม่มากนัก แต่ความพึงพอใจอยู่ที่ตัวงาน เขาก็มีความสุข แต่หากงานเกิดผิดพลาดไม่ได้ผลดี เขาก็อาจจะทุกข์ หรือรู้สึกไร้ค่า

ส่วนคนที่มองงานในแง่ของการพัฒนาตน เวลาทำงานก็เท่ากับได้ความรู้ สนองตอบความต้องการในใจของตนได้ ความสุขก็เกิดมีขึ้นในทุกขณะที่ทำงาน แม้ว่างานจะล้มเหลว คนที่มองงานเป็นการพัฒนาตน ค่าของงานจึงไม่จำเป็นต้องผูกไว้กับความสำเร็จเสมอไปตรงกันข้าม เขาจะมีความสุขในการเรียนรู้แม้จากความล้มเหลว และการเรียนรู้นั่นเอง จะทำให้เขามีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้น โอกาสที่งานต่อไปจะสำเร็จเกิดผลดีก็มีมากขึ้น และโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนและความก้าวหน้าก็มีมากขึ้นตามไปด้วย


เราไม่จำเป็นต้องเลือกมองงานเพียงในความหมายใดความหมายหนึ่ง งานเป็นได้ทั้งเครื่องเลี้ยงชีพ เป็นทั้งทางสู่ความเจริญ งานเป็นทั้งโอกาสในการทำประโยชน์ และงานก็เป็นเวทีในการพัฒนาตนด้วย 
 สุดแต่ว่าคนที่ทำงานนั้น จะเห็นคุณค่า ได้ประโยชน์ ได้ความสุข ได้เรียนรู้ จากงาน งานเดียวกันนั้น มากน้อย ต่างกัน อย่างไร


พฤติกรรมการทำงานก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจที่มีต่องานด้วยเช่นกัน อันนี้เข้าใจได้ไม่ยาก
 คนที่ทำงานโดยมุ่งหมายที่ผลตอบแทนหรือรายได้ ก็จะเลือกทำ หรือหาช่องทางที่จะทำ เฉพาะงานที่จำเป็นต้องทำ และเป็นเงื่อนไขต่อการได้ผลตอบแทนเท่านั้น เช่น ถ้าหัวหน้าไม่เห็นก็ไม่ทำ ถ้าไม่มีใครรู้ก็อู้งาน และจะหาช่องทาง ที่จะได้ จะเอา ประโยชน์จากเงื่อนไข ข้อกำหนดของงาน ให้มากที่สุดเท่าที่ตนจะทำได้ อย่างดีก็เท่าที่เงื่อนไข กติกาจะเปิดโอกาสให้ แต่ถ้าร้ายไปกว่านั้นก็อาจจะทำเกินกว่าขอบเขตของกติกาก็เป็นได้


ส่วนคนที่ทำงานโดยมุ่งหมายคุณค่าของงาน ก็จะทุ่มเทความพยายาม ความสามารถทั้งหมดเพื่อให้ได้ผลของงานที่ดี และเกิดคุณค่าต่อผู้คนให้มากที่สุด เพราะนั่นคือจุดหมาย ซึ่งก็คือความสุขของตนด้วย 
 แต่ถ้างานนั้นมีอุปสรรค หรือมีเงื่อนไขข้อจำกัดที่อยู่นอกอำนาจการควบคุม ส่งผลให้งานไม่สำเร็จอย่างที่อยากให้เป็น คนที่ทุ่มเทจิตใจให้กับผลของงานก็อาจท้อแท้ ผิดหวัง ส่งผลต่อพฤติกรรมจนถึงขั้น ไม่อยากทำงานนั้นอีกเลย หรือทนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคเหล่านั้นไม่ได้ หรือไม่ก็อาจจะพยายามเปลี่ยนแปลงเหตุปัจจัยที่อยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของตนอย่างสุดกำลัง หรือเกินกำลัง จนสุดท้าย ตนนั่นเองที่อ่อนล้า สิ้นหวัง แต่อุปสรรคเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ 


แต่ความตั้งใจที่จะทำงานเพื่อการเรียนรู้ จะเอื้อโอกาสได้มากกว่า ที่จะทำให้คนที่ทำงานนั้นทำความเข้าใจเงื่อนไขปัจจัย ทั้งที่มีต่อความสำเร็จของงาน และที่มีต่อผลตอบแทนของงาน ซึ่งบางครั้งก็ไม่ใช่เงื่อนไขเดียวกัน อีกทั้งยังเรียนรู้ว่าอะไรคือเหตุปัจจัยที่อยู่ในเขตอำนาจของตน และอะไรคือปัจจัยที่อยู่นอกเขตอำนาจของตน ผู้ที่เข้าใจอย่างนี้ จะสามารถจัดสรรกำลัง ความสามารถของตน ให้พอเหมาะกับสถานการณ์ พอเหมาะกับขอบเขตอำนาจของตน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่องานนั้นๆ (และอาจส่งผลให้เกิดผลตอบแทนสูงสุดตามเงื่อนไขที่ควรเป็นได้ด้วย แต่มักเป็นเป้าหมายรอง คือ “ได้ก็ดี” ไม่ใช่ “ไม่ได้ไม่ทำ”) โดยไม่ทำร้ายตนเองจนอ่อนล้า เจ็บป่วย หมดกำลังใจ หรือหมดแรง หมวดเวลา ที่ควรจะมีให้กับคุณค่าอื่นๆ ในชีวิตของตน


ความเพียรพยามยามที่พอดี พอเหมาะ ถูกที่ ถูกทาง นี้เป็นศิลปะสำคัญ ของการใช้ชีวิตและการทำงาน

ความเพียรพยามยามนี้ ที่ดีก็มี ที่ร้ายก็มี


ยกตัวอย่างเช่น ความเพียรที่เกิดจากตัณหา ก็นำพาให้นักรบผู้ยิ่งใหญ่มากมายในประวัติศาสตร์โลก บุกโจมตี เข่นฆ่า ยึดครอง แผ่นดินอื่น เพื่อทรัพยากรในดินแดนอาณานิคม, เพื่ออำนาจความยิ่งใหญ่ของจอมจักรพรรดิ์, เพื่อทำลายล้างเผ่าพันธุ์ที่ต้อยต่ำ, เพื่อแย่งชิงนางสีดามาครอบครอง, เพื่อทำลายผู้เห็นต่างทางความเชื่อศาสนา หรือแนวคิดการเมือง ฯลฯ  

ส่วนความเพียรที่เกิดจากฉันทะ มีตัวอย่างเช่น ความทุ่มเท ความมีใจรักอยากทำ ของ Abraham Flexner ต่องานของท่านในฐานะนักการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญในการนำการศึกษาแพทยศาสตร์และวิทยาศาสตร์เข้าสู่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในอเมริกา และเมื่อท่านเป็นเลขาธิการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาทั่วไป ของมูลนิธิ Rockefeller ในช่วงปี พ.ศ.2546-71 ท่านได้หาทางจัดสรรเงินมากมายกว่า 500 ล้านดอลล่าร์ ให้แก่การปฏิรูปและพัฒนาการศึกษาวิชาการแพทย์ของอเมริกัน

ที่เมืองไทยนี้ การที่มีโรงพยาบาล และเกิดคณะแพทยศาสตร์ ที่ศิริราชขึ้นได้ ก็เพราะมีท่านผู้ใหญ่ที่มีฉันทะ มีความทุ่มเท มีใจรักอยากทำ ปรารถนาจะให้ประชาชนคนไทยเป็นอยู่ดีมีความสุข มีโรงเรียนแพทย์ ที่จะได้มีหมอ มีพยาบาล มากขึ้น เก่งขึ้น ที่จะช่วยเหลือประชาชนอย่างได้ผลดี และกว้างขวางทั่วถึง โดยมีเกียรติภูมิสูงมากในระดับโลก ท่านทำงานเช่นนี้ได้ ก็ต้องมีความเพียร ชนิดที่เกิดจากฉันทะ ก็ขอให้ไปศึกษาประวัติดู ว่าท่านคือใคร


(สรุปความและขยายความจาก สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต), 2560, ชีวิตนี้เพื่องาน งานนี้เพื่อธรรม.)

Mobirise free maker - Try it