Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik
สังคม คือการเป็นอยู่ระหว่างกัน คือความสัมพันธ์ที่ปัจเจกชนมีต่อกัน และมีต่อสรรพสิ่งรอบตัว เราไม่สามารถอยู่โดดเดี่ยวโดยลำพังได้ การเป็นอยู่ของสิ่งหนึ่งย่อมเกี่ยวโยง สัมพันธ์ และขึ้นอยู่กับสรรพสิ่งทั้งปวง แต่ละสิ่งเอื้อกันสร้างสรรค์สิ่งอื่นๆ วอลท์ วิทแมน กล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่า ใบหญ้าใบหนึ่งมิได้เป็นสิ่งเล็กน้อยไปกว่าการโคจรของดวงดาว” [1]
มุมมองต่อสังคม ที่แท้จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝน และพัฒนา เราถูกสอนกันผิดๆ ให้มองโลกทีละตอน ทีละส่วน ด้วยความเชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะด้าน โดยไม่ตระหนักถึงความไม่สมบูรณ์ของมุมมองนั้น และเมื่อเราตัดความจริงออกเป็นชิ้น ๆ เราก็ไม่อาจมองเห็นความเป็นเหตุ เป็นผล ที่เกี่ยวพันกันของสรรพปรากฏการณ์
เมื่อเรามองดูดอกไม้ดอกหนึ่ง เราเห็นอะไร ? นักชีววิทยาอาจมองเห็นวิวัฒนาการของสายพันธุ์ที่ซับซ้อน ส่วนแม่ค้าขายพวงมาลัยอาจมองเห็นมันเป็นเงินตรา ในขณะที่จิตรกรอาจเล็งเห็นถึงความงดงามในสีสันของดอกไม้ดอกนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ดอกไม้ก็คือดอกไม้ เป็นดอกไม้ที่เกิดขึ้นจากเมล็ดพันธุ์ที่ปลิวมาโดยสายลมในวันก่อน เมื่อได้รับความชุ่มชื้นจากดิน และปุ๋ย มันก็เติบโตขึ้นอย่างงดงาม และในไม่ช้า มันจะกลายเป็นขยะเน่าเหม็น กลับไปเป็นปุ๋ยของดอกไม้ดอกอื่นๆ นับร้อย นับพันดอกที่จะงอกงามขึ้นในอนาคต ดังนั้น เมื่อเรามองดูดอกไม้ดอกหนึ่ง เราจึงเห็นได้ถึงสายลม ผืนดิน สายน้ำ ปุ๋ย แม้แต่ขยะอันเน่าเหม็น และสรรพสิ่งทั้งหลายในจักรวาล รวมทั้งนักชีววิทยา แม่ค้าพวงมาลัย และจิตรกร
เมื่อเราอ่านข่าวชาวนาประท้วงปิดถนน เราคิดอะไร ? อาจเป็นความคิดที่ดีที่จะมอบเงินให้ชาวนาเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ก็คงไม่เลวร้ายเกินไปนัก หากมีความคิดว่าจะต้องใช้กำลังตำรวจสลายการชุมนุมเพื่อมิให้การชุมนุมส่งผลต่อปัญหาจราจร เราอาจมีมุมมองต่อปัญหาเหล่านี้ได้หลากหลาย หรืออาจจะไม่เห็นว่ามันเป็นปัญหาสำหรับเราเลยก็ได้ แต่ความเป็นจริงก็คือ ตราบใดที่เรายังต้องการบริโภคข้าวคุณภาพดีที่ต้องการการดูแลด้วยปุ๋ยและสารพิษราคาแพง ตราบใดที่เราต้องการให้น้ำประปาที่บ้านของเราไหลสม่ำเสมอแม้ว่าจะเกิดภาวะแห้งแล้งบนผืนนานับร้อยนับพันไร่ ตราบนั้นเราก็คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเราก็คือตัวปัญหา เรามีส่วนอยู่ในปัญหาเหล่านั้นทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม เราไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบโดยแยกตัวเราออกจากปัญหาของชาวนาได้เลย
เราไม่อาจหยิบเอาตัวของเราออกมาจากสังคมซึ่งก็คือความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสรรพสิ่งนั่นเอง เราไม่สามารถเป็นเอกเทศจากสังคมและปัญหาต่างๆ เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาใดๆ ได้ด้วยการนั่งอยู่ข้างนอกแล้วมองเข้าไปสู่ปัญหาเสมือนนักวิทยาศาสตร์ที่มองดูหนูทดลองโดยปราศจากความเกี่ยวข้องใดๆ ระหว่างนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งกับหนูตัวหนึ่ง ตราบใดที่เรายังปราศจากความเข้าใจว่าเราและปัญหาทั้งปวงเป็นสิ่งเดียวกันแล้ว ความพยายามทั้งปวงที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ก็เปล่าประโยชน์
ทีนี้ เราลองมองดูที่ตัวเรา ว่า.. เรากำลังทำให้ ตัวเรา และสังคมรอบข้างของเราเป็นเช่นไร ?
เราทำลายชีวิตของเรา เพียงเพื่อสนองความต้องการที่ไม่สิ้นสุดของเราเอง จริงหรือไม่ ? ที่ชีวิตของเราตกเป็นทาสของระบบความคิดแบบทุนนิยมไปเสียสิ้น เรายอมรับและปรารถนาความมั่งมีโดยไม่ใยดีต่อที่มาของมัน เรายอมรับวิธีการประเมินค่าทุกสิ่งด้วยเงินตราแม้แต่ชีวิตของมนุษย์ และเรายังยินยอมและยินดีที่จะทำสารพัดวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินตรา แม้ว่าวิธีนั้นจะไร้คุณธรรมและมนุษย-ธรรม เป็นวิธีการที่แม้แต่สัตว์เดรัจฉานซึ่งมนุษย์จัดให้เป็นสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำก็ไม่อาจกระทำได้ อาทิเช่น การใช้แรงงานทาส การใช้แรงงานเด็ก การซื้อขายมนุษย์และอวัยวะของมนุษย์ การซื้อขายบริการทางเพศ
เงินตรา เป็นเพียงตัวแทนของความต้องการอันไม่จำกัดของมนุษย์ มันเป็นตัวแทนของความกลัว ความโง่เขลา และความเห็นแก่ตัว จริงหรือไม่ ? ที่เราไม่อยากทนทรมานกับความหิว ความเจ็บป่วย และการไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม ดังนั้นเราจึงมีศรัทธาต่อ ความมั่งคั่ง เกียรติยศ และเงินตรา เราเชื่อมั่นว่ามันจะทำให้เราอิ่มท้อง สุขสบาย และเป็นที่รักของผู้คน
เราจึงต้องทุ่มเทชีวิตทั้งหมดเพื่อเงินตรา - จริงหรือไม่ ? ที่ชีวิตของเราตั้งแต่วัยหนุ่มสาวถูกกำหนดให้ทุ่มเทให้กับการหาเลี้ยงชีวิต โดยมีเงินตรา ความภาคภูมิใจ ความสุขสบาย ความก้าวหน้า และความมั่นคงในสังคม เป็นสิ่งแลกเปลี่ยน และบ่อยครั้งที่เราก็ประเมินคุณค่าของ ‘ชีวิต’ ด้วยสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ทุกวันนี้น้อยคนนักที่ ‘ทำงาน’ สิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำเป็นเพียงการ ‘หาเงิน’ คุณค่าของสองสิ่งนี้ต่างกันมาก สิ่งหนึ่งเกิดขึ้นโดยความรัก ในขณะที่อีกสิ่งหนึ่งเกิดจากความโลภ ‘มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่ต้องทำงาน สัตว์โลกชนิดอื่นหาเลี้ยงชีพด้วยการมีชีวิตอยู่ แต่มนุษย์ทำงานเหมือนคนบ้า สำหรับมนุษย์ ชีวิตที่เรียบง่ายเป็นไปได้ถ้าเขาทำงานเพื่อผลิตปัจจัยพื้นฐานของชีวิต งานเป็นเพียงการทำในสิ่งที่จำเป็น’ [2]
ในมุมมองของพุทธศาสนา คุณค่าของการหาเลี้ยงชีวิต เป็นเพียงการสร้างความพร้อมให้กับมนุษย์เพื่อการพัฒนาตนเองในทางจิตวิญญาณ มันหาได้มีคุณค่าแท้จริงในตัวมันเองไม่ ‘ตามหลักอริยมรรคมีองค์ 8 การหาเลี้ยงชีวิตเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องจัดการให้เป็นไปอย่างถูกต้อง แต่ก็เป็นเพียง 1 ใน 8 ส่วนของวิถีชีวิต’ [3] ‘ชีวิตควรอยู่ด้วยธรรมะ ไม่ใช่อาหาร’ [4]
ความทะเยอทะยาน และการแข่งขัน เป็นเครื่องมือที่สังคมหยิบยื่นให้กับเรา โดยหวังจะทำให้เรามีกำลังที่จะทุ่มเทชีวิตให้กับการงานมากขึ้น จริงหรือไม่ ? ‘ที่ความทะเยอทะยานสร้างความขัดแย้งในสังคม ระหว่างผู้ประสบความสำเร็จและผู้ซึ่งถูกทิ้งอยู่เบื้องหลัง การต่อสู้ระหว่างท่านกับผู้อื่นจึงเกิดขึ้นไม่มีวันสิ้นสุด’ [5] ความทะเยอทะยานต่างจากความขยันขันแข็ง มีบางสิ่งซ่อนตัวอยู่ในความทะเยอทะยาน มีบางอย่างซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังการทำงานของเราทุกวันนี้ เรามิได้ทำงานเพื่องาน หากแต่เราทำงานเพื่อผลตอบแทนอะไรบางอย่าง หรือหลายอย่าง ‘ท่านมีความทะเยอทะยานหรือไม่ เมื่อท่านรักในสิ่งที่ทำไม่ใช่เพราะ ต้องการสิ่งอื่น ไม่ต้องการกำไร หรือผลที่ดีกว่า แต่เพราะรักสิ่งที่ทำ และพร้อมจะทำสิ่งนั้นอย่างเต็มกำลัง ภาวะเช่นนี้จะปราศจากความทะเยอทะยานใช่หรือไม่ ? ในนั้นไม่มีความรู้สึกแข่งขัน หรือต่อสู้กับใคร’ [5]
‘ความทะยานอยากที่ไม่สิ้นสุดคือสาเหตุพื้นฐานที่ทำให้โลกมีสภาพดังที่เป็นในปัจจุบัน เร็วดีกว่าช้า มากดีกว่าน้อย การพัฒนาแบบชั่วแล่นเช่นนี้ มีส่วนเกี่ยวพันโดยตรงกับการใกล้จะล่มสลายของสังคม’ [2] น่าเสียดายที่พระเจ้าสร้างให้มนุษย์และสัตว์ ทุกชนิดรู้จัก ‘หิว’ และ ‘อิ่ม’ ในเรื่องอาหารการกิน แต่มิได้สอนให้มนุษย์รู้จัก ‘อิ่ม’ ในเรื่องความต้องการด้านอื่นๆ ความต้องการของมนุษย์มี 2 อย่าง [3] คือ ฉันทะ และตัณหา ความต้องการแบบแรกเป็นความต้องการเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต เช่นต้องการอาหารเพื่อยังชีพ ต้องการยาเพื่อรักษาโรค ความต้องการแบบนี้มีปริมาณจำกัด เมื่อจัดการให้สัมฤทธิ์ผลแล้วความต้องการนั้นก็จะหมดไป ส่วนความ ต้องการแบบตัณหานั้นไม่มีขีดจำกัด และไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำรงชีวิต เช่นความต้องการเสพรสอร่อยของอาหาร ความต้องการฟังบทเพลงอันไพเราะ ความต้องการที่จะมีชีวิตยืนยาวไม่อยากตาย ความต้องการการยอมรับนับถือจากผู้คนรอบข้าง เป็นต้น การตอบสนองความต้องการเหล่านี้ไม่อาจทำให้ความต้องการนั้นหมดไป มิหนำซ้ำจะเกิดความเคยชินต่อการตอบสนองที่เคยได้รับ ต่อไปการตอบสนองแบบเดิมก็จะเป็นที่น่าเบื่อหน่าย ไม่เพียงพอ แล้วความต้องการเช่นนี้ก็จะยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ
มนุษย์เรียนรู้ที่จะจัดการกับความต้องการของตนโดยการทำตามความต้องการนั้น เมื่อหิวก็กิน เมื่ออยากก็หา นี่เป็นวิธีคิดที่ตรงไปตรงมา และง่ายที่สุด ความคิดเช่นนี้อาจใช้ได้ดีกับสัตว์ที่มีความต้องการเพียงเพื่ออิ่มท้อง แต่สำหรับมนุษย์ที่มีความต้องการอเนกอนันต์ ความคิดเช่นนี้ ไม่ง่ายเกินไปหรอกหรือ ? เราเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยเลยว่าเมื่อเรามีความต้องการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความสุขของเราจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราได้สนองความต้องการนั้น คือหามาให้ได้ซึ่งสิ่งนั้นโดยวิธีการต่างๆ แต่เราอาจจะลืมมองย้อนดูว่าความต้องการเหล่านั้นเกิดขึ้นจากภายใน เราอาจจัดการกับมันได้จากภายใน มิใช่โดยการไขว่คว้าจากภายนอก ‘มนุษย์สามารถฝึกฝนตนให้สร้างความสุขภายในขึ้นได้โดยไม่ต้องอาศัยวัตถุ เป็นความสุขที่ประณีต และเป็นอิสระมากกว่า’ [6] ตัวอย่างเช่นตัวเราเองเมื่อสมัยเป็นเด็ก เราต้องการความสนุกสนานจากการเล่นของเล่น พ่อแม่ต้องหาของเล่นที่ถูกใจให้เรา แต่ไม่นานของเล่นนั้นก็เป็นที่น่าเบื่อหน่าย เราต้องการของเล่นอื่นที่สนุกกว่าเดิม สนุกยิ่งขึ้น และสนุกกว่าใครๆ เราต้องแสวงหาของเล่นเหล่านี้อยู่ร่ำไป จนกว่าเราจะรู้ว่าความต้องการนั้นอยู่ที่ใจของเรา ถ้าเราควบคุม หรือจัดการมันได้ เหมือนเมื่อเราโตขึ้นและไม่ต้องการความสนุกจากของเล่นพวกนั้นอีกต่อไปแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องไขว่คว้าหาของเล่นเหล่านั้นอีก แต่ในเวลาเดียวกัน เราที่เป็นผู้ใหญ่ก็กำลังมีความต้องการบางอย่างไม่ต่างจากเมื่อวัยเด็ก และก็กำลังวิ่งไล่ตามความต้องการเหล่านั้นอย่างเด็กที่วิ่งหาของเล่น เรายอมสยบต่อความต้องการทั้งหลายโดยไม่กล้าที่จะต่อสู้
ความต้องการที่จะเอาชนะธรรมชาติ มนุษย์เชื่อว่าการพิชิตธรรมชาติคือความสำเร็จและชัยชนะของมนุษย์ มันจะทำให้ มนุษย์มั่งคั่งพรั่งพร้อม และเป็นเจ้านายของโลก เราถือสิทธิ์เหนือสิ่งมีชีวิตอื่นใดในโลก เรามีสิทธิ์ฆ่าสัตว์เลี้ยงของเรา เรามีสิทธิ์เลือกที่จะรักษาเผ่าพันธุ์ที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อเรา และกำจัดเผ่าพันธุ์ที่เราเห็นว่าเป็นศัตรู มนุษย์มองตัวเองแยกออกจากธรรมชาติ และทำตัวเป็นเจ้านายเหนือธรรมชาติ เราจึงไม่จำเป็นต้องใส่ใจต่อระบบจริยธรรม และกฎเกณฑ์ใดๆ ระหว่างเราผู้เป็นมนุษย์ กับ ธรรมชาติในฐานะผู้ถูกเป็นเจ้าของ เมื่อมนุษย์ต้องการน้ำ เราคิดว่าเราต้องจัดการ และควบคุมน้ำให้เป็นไปตามความต้องการของเรา ถ้าฝนไม่ตก ต้องทำให้ตก ถ้าแผ่นดินไม่กักเก็บน้ำต้องสร้างเขื่อน ถ้าเขื่อนไม่มีน้ำต้องสูบน้ำมาใส่เขื่อน แต่มนุษย์ไม่เคยปรับตัวเองเข้าหาธรรมชาติ เพราะมันมิใช่วิธีที่คู่ควรสำหรับมนุษย์ผู้สูงศักดิ์ ใช่หรือไม่ ? มนุษย์ไม่จำเป็นต้องสนใจธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงเพื่อนมนุษย์ ว่าต้องการอะไร มนุษย์สนใจเพียงว่าตนต้องการอะไร แล้วทำอย่างไรให้ทุกสิ่งเป็นไปตามที่ตนต้องการ หากแม้ใครจะกว่าวอ้างว่า ความคิดที่จะควบคุมธรรมชาติก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ความไม่คิดที่จะควบคุมความต้องการของตนเองก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องเช่นกัน
ทางออกของโลกจึงขึ้นอยู่ที่แต่ละปัจเจกชน ท่านพุทธทาส เสนอว่า ‘วิธีแก้ ก็คือ เราทุกคนต้องเห็นแก่สังคมตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ศาสนาทุกศาสนาสอนให้ยึดหลักสังคมนิยม คือเห็นแก่ประโยชน์ของสังคมเป็นใหญ่ ไม่มีใครเอาส่วนเกิน เอาแต่ที่จำเป็น สิ่งมีชีวิตทั้งหลายไม่มีใครเอาส่วนเกิน ทั้งสัตว์ ต้นไม้ กระทั่งสัตว์เซลล์เดียว ถ้าเราจะเป็นประชาธิปไตย ก็ต้องเป็นประชาธิปไตยแบบ สังคมนิยม มิใช่แบบอัตนิยมหรือปัจเจกนิยม ไม่กอบโกยส่วนเกิน เราต้องเจียดออกมาเพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์ให้ได้ คำว่าส่วนเกินนี้ระวังให้ดี เพราะที่ว่าไม่เกินๆ มันก็ยังเกิน ถ้าเป็นคนจนก็ต้องเจียดได้ ๑ สตางค์ ถ้ามั่งมีก็เจียดเป็นร้อยเป็นพัน แต่ถ้าทุกคนพร้อมกันกอบโกยแล้วธรรมชาติจะเอาแต่ไหนมาให้ พวกมิจฉาทิฏฐิ เขาเรียกร้องต้องการให้ ‘กินดีอยู่ดี’ แต่ผู้มีสัมมาทิฏฐิเห็นว่าควร ‘กินอยู่แต่พอดี’ [4]
อ้างอิง :
[1] ติช นัท ฮันห์, ๒๕๔๒, สันติภาพทุกย่างก้าว, มูลนิธิโกมลคีมทอง
[2] มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ, ๒๕๔๑, ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว, มูลนิธิโกมลคีมทอง
[3] พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต), ๒๕๔๐, เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ, สำนักพิมพ์พุทธธรรม
[4] พุทธทาสภิกขุ, ๒๕๒๙, ธัมมิกสังคมนิยม
[5] กฤษณมูรติ, ๒๕๔๓, แห่งความเข้าใจชีวิต และการศึกษาที่แท้, มูลนิธิโกมลคีมทอง - อ้างแล้ว
[6] พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต), ๒๕๓๗, คำปราศรัยในพิธีรับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ ที่องค์การยูเนสโก ปารีส
Sendhil Mullainathan · TEDIndia 2009
Thai translation by weeraboon wisartsakul.
Reviewed by Thipnapa Huansuriya.
เซนฮิว มูลไลนาทาน เจ้าของรางวัลแม็กอาร์เธอร์ ได้ใช้กรอบคิดของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในการศึกษาปัญหาสังคมที่ซับซ้อน ปัญหาที่เรารู้ว่าจะแก้อย่างไร แต่ก็แก้ไม่ได้ เรารู้ว่าจะลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กจากโรคท้องร่วงได้อย่างไร จะป้องกันอาการตาบอดจากโรคเบาหวานได้อย่างไร และจะนำเทคโนโลยีพลังแสงอาทิตย์มาใช้อย่างไร แต่กระนั้น เราก็ยังไม่ได้แก้ หรือไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทำไม?
Made with Mobirise - Learn more