การพัฒนาที่ยั่งยืน : 
ภาวนา 4 - ธรรมานามัย



Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik

การพัฒนาที่ยั่งยืน กำลังเป็นคำนิยมไม่เฉพาะเมืองไทยเท่านั้น แต่เป็นที่นิยมพูดกันทั่วโลก ที่จริงนั้น ไม่ใช่ว่า “ไม่นิยมเฉพาะเมืองไทยแต่นิยมไปทั่วโลก” แต่ควรจะพูดในทางกลับกันว่า “เพราะทั่วโลกเขานิยมพูดกัน เมืองไทยก็เลยนิยมตามไปด้วย”  

ที่มีการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็เพราะว่าโลกนี้ประสบปัญหากับการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ก็เลยต้องคิดแบบแผนการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้นมา

การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนเป็นอย่างไร ? 


หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้คนในหลายประเทศบอบช้ำมาก จึงเกิดมีความตื่นตัวที่จะฟื้นฟูให้มีความเจริญและสุขสบาย ซึ่งก็ต้องอาศัยเรื่องเงินเป็นสำคัญ เมื่อ พ.ศ. 2487 สหประชาชาติจึงได้ตั้งหน่วยงานสำคัญขึ้นมาคือ ธนาคารโลก ซึ่งเดิมก็คือ International Bank of Reconstruction and Development และจากเหตุการณ์นี้ ก็ได้เห็นคำว่า Development และมีการแบ่งประเทศต่างๆ ออกเป็น ประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed countries หรือ Industrialized countries) กับประเทศที่มีสภาพล้าหลัง เรียกว่า ประเทศด้อยพัฒนา (Underdeveloped countries) และ ประเทศกำลังพัฒนา (Developing countries) 


ประวัติศาสตร์โลกทำให้เห็นว่า การพัฒนาในโลกปัจจุบันที่เป็นปัญหานั้น เร่ิมมาจากเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเงินการทอง เรื่องความเป็นอยู่ หรือเรื่องการอยู่การกิน องค์กรโลกที่เกิดขึ้นในช่วงแรกเกี่ยวกับการพัฒนาด้านเศรษฐิกิจทั้งสิ้น ตอนหลังจึงมีการพัฒนาด้านสังคมและด้านอื่นๆ ตามมา



สำหรับประเทศไทยนั้น นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504 - 2509) ก็ก้าวเข้าสู่ยุคพัฒนาอย่างแท้จริง มีการระดมสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และกิจการอุตสาหกรรม หัวหน้ารัฐบาล กล่าวแสดงความมุ่งมั่นว่า “การปฏิวัติครั้งนี้จะได้ผลสำเร็จหรือล้มเหลว ก็อยู่ที่เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจนี้เอง ... การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหัวใจของงานปฏิวัติทั้งหมด” [1] มีคำขวัญของรัฐบาลออกทางวิทยุเช้าค่ำประจำวันว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” และอีกคำหนึ่งว่า “ศึกษาดี มีเงินใช้ ไร้โรคา พาให้สุขสมบูรณ์” ซึ่งจะเห็นว่าตรงกับเป้าหมายของทศวรรษโลกแห่งการพัฒนาที่จะแก้ปัญหาความยากจน ความโง่เขลา และโรคภัยไข้เจ็บ ในการประชุมของคณะสงฆ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ ผู้นำประเทศก็ได้มีสาส์นไปถึงที่ประชุมสงฆ์ ขอความร่วมมือไม่ให้พระสอนหลักธรรมเรื่องสันโดษ เพราะจะขัดขวางต่อการพัฒนาประเทศ ดังความตอนหนึ่งใน “สาส์นของนายกรัฐมนตรี ถึงที่ประชุมสัมมันตนาพระคณาธิการทั่วราชอาณาจักร วันที่ 18 เมษายน 2503” ว่า “นี้เป็นเรื่องที่ทางรัฐบาลและกระผมเองร้องขอ เพราะเหตุว่า พระธรรมคำสั้งสอนของพระพุทธเจ้ามีอยู่ทุกทาง ที่สามารถจะเลือกเอามาสอนหรือจูงใจให้คนประพฤติปฏิบัติ มีคำสอนให้คนมักน้อยสันโดษ ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากได้อะไร ... คำสอนอย่างนี้อาจจะเหมาะสำหรับกาลสมัยหนึ่ง แต่จะไม่เหมาะสำหรับสมัยปฏิวัติ ซึ่งต้องการความขวนขวายหาทางก้าวหน้า จำต้องเลือกสรรเอาธรรมะที่สอนให้มีวิริยะอุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร ... จึงใคร่ขอร้องคณะสงฆ์ไทยให้พยายามสอนคนไปในทางนี้ จะเป็นการช่วยแผนการเศรษฐกิจ และงานทุกอย่างที่รัฐบาลปฏิวัติกำลังทำอยู่...” [2]


ผู้นำฝ่ายบ้านเมืองเวลานั้นเข้าใจว่า ถ้าประชาชนมีความอยากมีกินมีใช้ อยากร่ำรวย อยากมีสิ่งฟุ่มเฟือย ก็จะพากันขยันทำงานเป็นการใหญ่ บ้านเมืองก็จะพัฒนา แต่ในความเป็นจริงเป็นความเข้าใจผิดทั้งในระดับผู้นำ และชาวบ้านในสังคมทั่วไป 


ในระดับบุคคล แม้จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์เพิ่มขึ้น แต่ผู้คนใช้ชีวิตผิดธรรมชาติ ไม่ดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่ควบคุมตนเองด้วยศีลธรรม ก็เกิดโรคภัยใหม่ๆ ขึ้นมากมาย เช่น โรคอ้วน โรคแพ้อากาศ โรคเอดส์ เป็นต้น 


ธรรมชาติแวดล้อมก็ประสบปัญหาที่เนื่องมาจากการพัฒนา เป็นปัญหาสามเส้า คือ ทรัพยากรธรรมชาติที่ดีก็ถูกใช้ผลาญไป, ของเสียจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรมและการสนองความสะดวกสบายก็ถูกระบายใส่ให้แก่โลก, และเมื่อประชากรยิ่งเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งซ้ำเติมปัญหาทั้งการผลาญทรัพยากรและการระบายของเสียให้รุนแรงหนักขึ้น


เหล่านี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการมุ่งพัฒนาโลกในทางวัตถุ ได้ทำให้ผู้คนประสบปัญหาสังคมและจิตใจ จนกระทั่งมาเจอปัญหาสภาพแวดล้อมเข้า จึงทนไม่ไหว ทำให้ต้องคิดเปลี่ยนแปลงวิธีการและกระบวนการพัฒนากันใหม่ 

อ้างอิง :
[1]  พิธีวางศิลาฤกษ์ฯ สภาพัฒน์ฯ 21 ส.ค. 2504. อ้างถึงใน พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต), 2554, การพัฒนาที่ยั่งยืน.
[2]  แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม 48 ภาค 7, 28 ก.ค. 2503, หน้า 585. อ้างถึงใน พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต), 2554, การพัฒนาที่ยั่งยืน.

เกณฑ์มาตรฐานขั้นพื้นฐานที่พระพุทธศาสนาใช้วัดการพัฒนา คือการไม่เบียดเบียนทั้งตนเอง และไม่เบียดเบียนผู้อื่น เกณฑ์มาตรฐานนี้ มิใช่เป็นเพียงเครื่องวัดความถูกต้องชอบธรรมเท่านั้น แต่เป็นเครื่องวัดความสามารถด้วย 

 คนที่ได้รับการพัฒนาย่อมมีความสามารถมากยิ่งขึ้นๆ ในการที่จะสร้างผลดีหรือทำประโยชน์ให้แก่ตน โดยไม่ต้องเบียดเบียนก่อโทษแก่ผู้อื่น คือคนยิ่งพัฒนา ยิ่งมีความสามารถ ยิ่งเก่ง ก็ยิ่งทำให้โลกเบียดเบียนกันน้อยลง 


 มนุษย์ในกระแสอารยธรรมปัจจุบัน ได้นำความรู้ไปใช้ในการที่จะเอาชนะและจัดการกับธรรมชาติตามปรารถนาของตน และถือว่าอย่างนี้คือความสำเร็จ แต่ตามเกณฑ์มาตรฐานข้างต้นนี้ ก็คือการสร้างโลกแห่งการเบียดเบียน ซึ่งปรากฏผลออกมาแล้วว่า จะนำมาซึ่งความวิบัติและวินาศแก่โลกทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างย่ิงแก่มนุษย์เอง เรียกได้ว่าเป็นการใช้ความรู้ไม่เป็น ทำให้เป็นการเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นในที่สุด


 ฉะนั้น มนุษย์จึงควรเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ พร้อมทั้งพัฒนาความสามารถที่จะใช้ความรู้นั้นด้วย แล้วนำปัญญาความรู้นั้นไปใช้ ด้วยเจตน์จำนงที่จะสนองความคิดหมายที่จะทำโลกให้ดีขึ้น จัดปรับปรุงระบบความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ให้ธรรมชาติอำนวยประโยชน์หรือผลดีแก่ตน โดยไม่เกิดผลเสียหายทั้งแก่ธรรมชาติและตนเอง และนี่จึงจะเป็นชัยชนะที่แท้ของมนุษย์ ไม่ใช่เป็นเพียงชัยชนะในการเอาชนะธรรมชาติได้ แต่เป็นชัยชนะถึงขั้นสามารถทำให้ธรรมชาติเกื้อกูลแก่มนุษย์ได้ยั่งยืนเรื่อยไป

 มนุษย์ที่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติอย่างแท้จริง จะเกิดปัญญาที่มองเห็นครอบคลุมทั่วตลอดระบบความสัมพันธ์ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้เขารู้ผลกระทบต่อกันที่จะมาถึงทุกส่วนทุกฝ่าย จากการเบียดเบียนที่เรียกว่าการเอาชนะนั้น และรู้เข้าใจว่าอะไร อย่างไร จึงจะเป็นประโยชน์ที่แท้จริง แม้แก่ตนเอง ในระบบสัมพันธ์ที่ความเป็นไปของทุกอย่างทุกด้านส่งผลถึงกัน จึงทำให้เขาใช้ความรู้อย่างถูกต้อง ทำให้ข้ามพ้นการเบียดเบียนไปสู่ความเกื้อกูล ดังพุทธพจน์ว่า  

“คนที่เป็นบัณฑิต มีปัญญามาก ย่อมคิดการ มิใช่เพื่อเบียดเบียนตน มิใช่เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น มิใช่เพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย เมื่อจะคิด ย่อมคิดการที่เกื้อกูลแก่ตน ที่เกื้อกูลแก่ผู้อื่น ที่เกื้อกูลแก่ทั้งสองฝ่าย ที่เกื้อกูลแก่ทั้งโลกเลยทีเดียว”  (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๑๘๖)


จุดเริ่มต้นของการพัฒนาโลกให้ยั่งยืนจึงต้องเริ่มที่การพัฒนาที่ตัวมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์พิเศษ ด้วยความมีเจตน์จำนง ที่สามารถประดิษฐ์ปรุงแต่งสร้างสรรค์ ทำให้เกิดมีโลกมนุษย์ซ้อนขึ้นมาในธรรมชาติ 
 เหมือนมีโลก 2 อย่าง คือ โลกธรรมชาติ (ประกอบด้วยมนุษย์ในฐานะชีวิต และธรรมชาติส่วนอื่นๆ ที่เรียกตามนิยมว่า ธรรมชาติแวดล้อม) กับโลกมนุษย์ (ประกอบด้วยมนุษย์ในฐานะบุคคล สังคม และเทคโนโลยี) 

 โลกมนุษย์ทั้งระบบสังคม และเทคโนโลยี ที่มนุษย์สร้างขึ้น วิจิตรซับซ้อน จนกลายเป็นสิ่งแวดล้อมใหม่สำหรับมนุษย์เอง เมื่อเทียบกับธรรมชาติแวดล้อม เมื่อมนุษย์ขาดสติลืมตัว โลกที่มนุษย์สร้างขึ้นก็เข้ามาขวางกั้นบังมนุษย์จากโลกธรรมชาติ ทำให้มนุษย์ แปลกแยกจากธรรมชาติ 

 ความแปลกแยกและการทำลายกันระหว่างโลกมนุษย์ กับโลกธรรมชาตินั้นเป็นไปในทุกระดับ ตั้งแต่ภายในตัวมนุษย์เอง กล่าวคือ มนุษย์ในฐานะบุคคล (ฝ่ายโลกมนุษย์)​ ได้แปลกแยกกับชีวิตของตนเอง (ฝ่ายโลกธรรมชาติ) และมีความเป็นอยู่ที่ทำลายหรือบั่นทอนชีวิตของตน เช่น มีพฤติกรรมการบริโภคเพื่อเข้าสังคม หรือเพื่อได้รับความเอร็ดอร่อยเพลิดเพลินจากสิ่งเสพที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น แต่กลับทำลายสุขภาวะ และคุณภาพชีวิตของตนเอง ในที่สุด ปัญหาก็รุนแรงหนักหนา จนมนุษย์ในประเทศที่พัฒนาแล้วขวัญเสียตื่นตระหนกตกใจและคิดดิ้นรนหาทางแก้ไข ดังเช่นสถานการณ์โรค NCDs ที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่สอดคล้องตามธรรม  (คลิกดูรายละเอียดเรื่อง ธรรมานามัย คือ กายานามัย, จิตตานามัย, ชีวิตานามัย)


การแก้ปัญหาโดยบูรณาการ ก็คือการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้โลกมนุษย์กับโลกธรรมชาติประสานประโยชน์กันได้ ไปด้วยกันด้วยดี และดียิ่งๆ ขึ้นไปด้วยกัน แต่จะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่มนุษย์เป็นปัจจัยตัวกระทำ

 เนื่องจากมนุษย์เป็นปัจจัยตัวกระทำ เจตน์จำนงของมนุษย์จึงมีความสำคัญยิ่ง ทั้งในทางก่อและในทางแก้ปัญหา ทั้งในทาง สร้างสรรค์และในทางทำลาย ดังนั้น เพื่อให้มนุษย์เป็นองค์ประกอบที่ดีที่จะนำระบบใหญ่ทั้งหมดไปสู่ภาวะเกื้อกูลต่อความดำรงอยู่ด้วยดี จึงต้องมีการพัฒนามนุษย์ กระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงแยกได้เป็น 2 ตอน คือ


(1) การพัฒนาคน ที่เป็นปัจจัยตัวกระทำ ด้วยการพัฒนาตัวคนทั้งระบบ คือครบทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา

(2) การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคนที่พัฒนาเต็มระบบนั้น เป็นปัจจัยตัวกระทำที่ไปประสานปรับเปลี่ยนบูรณาการระบบความสัมพันธ์องค์รวมใหญ่ ให้เป็นระบบแห่งการดำรงอยู่ด้วยดี อย่างต่อเนื่องเรื่อยไป


ระบบการฝึกคน ต้องฝึกคนเต็มทั้งคน ครบพร้อมกันทั้งระบบที่มี 3 ด้าน (ไตรสิกขา) คือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ซึ่งมีความสัมพันธ์อิงอาศัยเป็นปัจจัยส่งผลต่อกัน

ในระดับพฤติกรรม เครื่องมือพื้นฐานที่สุดก็คือกฎเกณฑ์ กติกาของสังคม แต่กฎกติกานี้ก็มีจุดอ่อนหลายอย่าง ถ้ามนุษย์ไม่พัฒนา ไม่มีปัญญา ก็กลายเป็นเครื่องบีบคั้นบังคับ แต่สำหรับคนที่พัฒนาแล้ว กฎหมายจึงเป็นข้อกำหนดหมายให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน

พฤติกรรมที่ดี มีรากฐานทางจิตใจด้วย คือมีความสุขในการมีพฤติกรรมอย่างนั้น พฤติกรรมนั้นจะยั่งยืน เพราะแะนั้นจะต้องให้พฤติกรรมกับจิตใจประสานกัน อย่างไรก็ดี เพียงแค่ระดับจิตใจยังไม่พอ ต้องได้อีกระดับหนึ่งคือปัญญา

ในระดับปัญญาคือการมองเห็นเหตุผล มองเห็นประโยชน์ในการที่จะมีพฤติกรรมอย่างนั้น คือรู้ว่าเป็นประโยขน์แก่ตนและสังคมอย่างไร จึงทำให้พฤติกรรมที่ดี เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากความรู้เข้าใจ พอใจ และมีความสุข


การพัฒนาคน ก็คือการพัฒนาระบบองค์รวมแห่งการดำเนินชีวิตของคนให้เจริญงอกงามขึ้นอย่างประสานสัมพันธ์สอดคล้อง ส่งผลเกื้อกูลกันไปด้วยดีทั้งระบบ ซึ่งประกอบด้วยพัฒนาการ 4 ด้าน (ภาวนา 4) คือ กาย ศีล จิต ปัญญา

การพัฒนากาย ไม่ใช่เพียงให้กายเติบโต ไร้โรคภัย แต่หมายถึงการใช้กายให้สัมพันธ์สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพอย่างสร้างสรรค์ เกิดประโยชน์ เช่น การนั่งทำงานที่ปลอดภัย การเลือกเสพบริโภคสิ่งที่ดีเข้าสู่ชีวิตของตน รวมถึงการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของตนและสังคมได้

การพัฒนาศีล ไม่ใช่เพียงการปฏิบัติตามหลักจารีต ศาสนา แต่หมายถึงการพัฒนาความสัมพันธ์กับสังคม เพื่อนมนุษย์ ให้เป็นไปในทางช่วยแก้ปัญหา และสร้างสรรค์สังคมที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาชีวิต ทั้งในครอบครัว และสังคมการทำงาน ขยายไปจนถึงการจัดตั้งวางระบบชี้นำสังคมตามบทบาทหน้าที่ของตนๆ

การพัฒนาจิต คือการฝึกอบรมให้จิตใจมีสุขภาพจิตดี มีศักยภาพในการทำกิจต่างๆ ไม่ซึมเซาซัดส่าย อีกทั้งยังประกอบไปด้วยคุณธรรม ความดีงามต่างๆ เช่น เมตตา กรุณา ฉันทะ หมั่นเพียร เข้มแข็ง อดทน จดจ่อ สดชื่น เพื่อให้จิตใจนั้น พร้อมที่รับกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การจัดการด้วยปัญญาได้อย่างเต็มศักยภาพ

การพัฒนาปัญญา คือความรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามความเป็นจริง สามารถนำความรู้ความคิดมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหา สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ รวมทั้งในการบริหารจัดการดำเนินการต่างๆ เพื่อการพัฒนาตนและสังคมยิ่งขึ้นไป


เมื่อคนได้รับการพัฒนา ก็นำเอาการพัฒนาคน และคนที่มีการพัฒนานั้น มาเป็นแกนกลางของระบบการพัฒนา ให้เป็น การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อระบบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบทั้ง 4 ด้าน ดำเนินไปด้วยดี โดยที่ทุกส่วนเป็นปัจจัยส่งผลในทางเกื้อกูลกัน ทำให้ดำรงอยู่ดีด้วยกัน ไม่ใช่การมุ่งพัฒนาเพียงด้านใดด้านหนึ่ง และปล่อยปละละเลย หรือทำลายด้านอื่นๆ ไม่ว่าโดยไม่ตั้งใจ หรือว่าโดยไม่ใส่ใจ สได้แก่

การพัฒนามนุษย์ โดยจัดสรรการศึกษาให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงามสมบูรณ์ เป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพในระบบเศรษฐกิจและสังคม (มีสุขภาพดี มีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถ ฯลฯ) และเข้าใจระบบความสัมพันธ์เพื่อประสานการพัฒนาแต่ละด้านอย่างยั่งยืน

การพัฒนาสังคม โดยจัดตั้งวางระบบสังคม เช่น ระบบการเมืองการบริหาร ระบบเศรษฐกิจตลอดจนกิจการต่างๆ ให้เกิดบรรยากาศแห่งการไม่เบียดเบียน และเอื้อเกื้อกูลต่อการพัฒนาทุกๆ ด้าน

การพัฒนาธรรมชาติ มนุษย์ต้องเปลี่ยนท่าทีจากความแปลกแยก กอบโกย แย่งชิง เป็นการเกื้อกูล เสริมสร้างคืนให้แก่โลก

การพัฒนาเทคโนโลยี มนุษย์ต้องพัฒนาจากผู้เสพเทคโนโลยี มาเป็นผู้สร้างสรรค์พัฒนาเทคโนโลยี และเป็นเทคโนโลยีเพื่อเกื้อกูล สร้างสรรค์โลก มิใช่เพื่อกอบโกย ตักตวงความสะดวกสบายจากโลก และไม่สร้างภาระหรือผลกระทบแก่โลกด้วย

องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ริเริ่มกระบวนการหารือเพื่อกำหนดวาระการพัฒนาภายหลังปี พ.ศ. 2558 (post-2015 development agenda) ตามกระบวนทัศน์ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยประเด็นสำคัญของวาระการพัฒนาภายหลังปี พ.ศ. 2558 คือ การจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs โดยกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ แบ่งเป็น 10 มิติ ดังภาพกราฟฟิกต่อไปนี้


อ้างอิง : เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย.

Mobirise
Mobirise
Mobirise

web page was made with Mobirise website theme