อำนาจการปกครองที่เป็นธรรม :
ธรรมาธิปไตย - ธรรมาภิบาล


Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik

การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น นอกจากจะพัฒนาที่ตัวบุคคล, สัมพันธภาพระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรแล้ว สัมพันธภาพระหว่างคนกับคน หรือการสร้างระบบสังคม ก็จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้เอื้อต่อกันทั้งระบบ และสอดคล้องกับความเป็นจริง

 ถ้ามองเริ่มจากการจัดระบบสังคมเพื่อการจัดสรรทรัพยากร หรือการเข้าถึงปัจจัยในการดำรงชีวิต ก็หมายถึงการวางระบบการงานอาชีพให้แก่คนในสังคม ซึ่งในความเป็นจริง คนที่จะเมาสู่ระบบของการทำงานอาชีพนี้ ก็มีความต้องการอยู่ 2 ประเภท นั่นเอง คือ ตัณหา และฉันทะ แต่มีบางอย่างมาก บางอย่างน้อย ไม่เท่ากัน
 - คนบางพวกยังหนาแน่นด้วยตัณหา อยากได้ อยากมี แต่ไม่อยากทำ มักเกียจคร้าน เอารัดเอาเปรียบ เบียดเบียน แย่งชิง

 - คนที่มีการศึกษา (แท้จริง) จะหนักไปทางฉันทะ อยากหาความรู้ อยากลงมือทำให้ดีงามสมบูรณ์ คนพวกนี้มีน้อย แต่คนพวกนี้แหละที่เป็นผู้สร้างสรรค์ ก่อนให้เกิดความเจริญงอกงามของอารยธรรม

 เมื่อจะจัดการ วางระบบสังคม ก็ต้องบริหารคน 2 พวกนี้ให้ถูกทาง ซึ่งนอกจากจะให้เขามีรายได้เลี้ยงชีวิตตนเองแล้ว ก็ให้ การงาน อาชีพนั้น นำความดี ความสุข ความเจริญ มาให้แก่ชีวิตร่วมกันของสังคมด้วย


คนพวกที่ 1 ถ้าเปิดโอกาส ก็จะหาช่องที่จะได้ โดยไม่ต้องทำ หรือทำให้น้อยที่สุด แต่ให้ได้มากที่สุด จึงแสดงออกโดยอาการต่างๆ เช่น รอเขาให้ คอยขอเอา หวังลาภลอย คอยผลดลบันดาล ลักขโมย ทุจริต ช่อโกง ข่มเหง กอบโกย หรือถ้าไม่มีโอกาสเหล่านี้ ก็ใช้ชีวิตผ่านไปวันๆ หาที่ทางในสังคมที่ตนพอจะเอาชีวิตรอดไปได้ โดยไม่ต้องทำอะไร หรือทำให้น้อยที่สุด ฉะนั้น ผู้บริหารสังคมจะต้องจัดสรรการงานอาชีพ โดยจัดตั้งวางระบบเงื่อนไข ที่สอนให้เขานั้น “ต้องทำ จึงจะได้” หรือ “จะได้ก็ต่อเมื่อทำ” โดยมีกฎกติกา และการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพ และมีการบังคับใช้อย่างเสมอภาค เป็นธรรมแก่ทุกคนในระบบสังคม


อีกขั้นหนึ่ง ภายใต้ระบบเงื่อนไขนั้น ผู้บริหารสังคม จะกำหนดเลือกเฟ้นสิ่งที่ควรทำให้มาก ซึ่งเป็นไปเพื่อความดีงามและประโยชน์สุขร่วมกัน แล้วกำกับว่า “ยิ่งทำมาก ยิ่งได้มาก” เพื่อผัน ตัณหา มาสู่การทำดีแก่ส่วนรวม พร้อมทั้งวางระบบเงื่อนไขที่จะแบ่งปันลาภที่ได้มาจากความโลภมากนั้น ออกมาเพื่อใช้ทำประโยชน์สุขแก่่ส่วนรวมกระจายออกไป พร้อมกันนี้ ก็จัดให้มีระบบการศึกษา อบรม พัฒนา คนเหล่านี้ เพื่อให้ลดตัณหา เร้าให้เกิดฉันทะ และคุณธรรมอื่นๆ ขึ้นมาแทน



คนพวกที่ 2 ที่หนักในความใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์ คือมีฉันทะนั้น ผู้บริหารสังคมมีหน้าที่ต้องสืบค้น เฟ้นหา และเอาใจใส่ จัดการ ส่งเสริมสนับสนุน เพื่อให้เขาทำการสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องห่วงกังวลอะไรเพราะนี่คือสาระของการมีอารยธรรม




นอกจากการจัดสรรสังคมในด้านอาชีพการงาน เพื่อให้มีวัตถุพรั่งพร้อมคือมีเศรษฐกิจดี อันเป็นระบบสัมพันธ์ระหว่างคนกับทรัพยากร ยังต้องจัดสรรสังคมให้ดีอีกระดับหนึ่ง คือให้ใช้เศรษฐกิจที่ดีนั้น เป็นปัจจัย (ไม่ใช่เป้าหมายปลายทางของการพัฒนา แต่..) เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาความเป็นอยู่ของมนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อมต่อไป

การบริหารจัดการนี้ อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การปกครอง คือการจัดวางระบบสังคมระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเกื้อกูลต่อการพัฒนา

เครื่องมือพื้นฐานในการปกครองคือ “กฎหมาย” ซึ่งก็คือระเบียบแบบแผน กติกา ในการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งนอกจากจะต้องเป็นกติกาที่ดี มีความชอบธรรมแล้ว ยังต้องมีการบังคับใช้อย่างเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ ลักษณะของกฎกติกาที่ดีคือ


- กติกา ที่เกิดขึ้นจาก ฐานของความรู้เข้าใจ ธรรมชาติของมนุษย์ และระบบสัมพันธ์แบบองค์รวม 

 - กติกา ที่เกิดขึ้นจาก เจตจำนงค์ที่ดี ความปรารถนาที่บริสุทธิ์ ความต้องการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อ (พวก) ตน 
 และถ้าผู้กำหนดกติกา เข้าใจระบบสัมพันธ์อย่างเป็นองค์รวมที่แท้ เป้าหมายของกฎกติกา ย่อมไม่จำกัดเพียงการทำให้สังคมสงบ หรือพฤติกรรมของสมาชิกในสังคมเรียบร้อยดีงาม เท่านั้น แต่กติกานั้นจะต้องเอื้อไปสู่การพัฒนาในระดับจิตใจ และปัญญา ของสมาชิกในสังคมด้วย อีกทั้งยังส่งผลดี ต่อองค์ประกอบร่วมทั้งหมด คือ ตัวบุคคล สังคม และธรรมชาติแวดล้อมด้วย


พื้นฐานสำคัญของการปกครองก็คือ ต้องเป็นไปบนฐานของธรรม คือเอาธรรม เอาความถูกต้อง เอาหลักการเป็นใหญ่ ไม่ว่าในขั้นตอนของการกำหนดกฎกติกาสังคมก็ต้องอยู่บนฐานของธรรม เมื่อจะบังคับใช้กฎหมาย หรือตัดสินใจอะไรๆ ในทุกขั้นตอนของการปกครองนั้น ก็ต้องยึดธรรมะ ความถูกต้องเป็นใหญ่ หลักการนี้เรียกว่า “ธรรมาธิปไตย”


กระบวนการสำคัญที่ทำให้การปกครองสำเร็จผล เป็นจริงขึ้นมา ก็คือ “การใช้อำนาจตัดสินใจ” (decision-making power) ประเด็นที่ควรศึกษามี ๒ เรื่องที่ต้องไม่สับสนปะปนกันคือ
(1) ใครเป็นผู้มีอำนาจ
(2) ผู้มีอำนาจใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินใจ

ประเด็นที่หนึ่ง ใครมีอำนาจตัดสินใจสูงสุด นั่นคือตัวกำหนดระบอบการปกครอง เช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช, ระบอบเผด็จการ, ระบอบคณาธิปไตย, ระบอบประชาธิปไตย  

ประเด็นที่สอง ไม่ว่าใครจะเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ เขาคนนั้น หรือกลุ่มนั้น ตัดสินโดยใช้เกณฑ์อะไร

- อัตตาธิปไตย ถือตนเป็นใหญ่ เอาประโยชน์ที่เกิดกับตนเป็นที่ตั้ง ในแง่ดีคือเคารพตน ถือเกียรติของตนในการตัดสินใจ


- โลกาธิปไตย ถือโลก หรือคนส่วนใหญ่เป็นประมาณ ในแง่ดีคือตัดสินโดยคำนึงถึงเสียงผู้รู้ เกรงคำติเตียน

- ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ ตัดสินตามความถูกต้อง ตามหลักการ ตามความจริง โดยหาข้อมูลให้ถ่องแท้ ใช้ปัญญา


 เกณฑ์การตัดสินใจทั้ง ๓ อย่างนี้ ถ้าใช้เกณฑ์ที่เป็น อัตตาธิปไตย หรือโลกาธิปไตยนั้น อาจจะตัดสินใจในทางที่ดี หรือไม่ดีก็ได้ ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล (อัตตา) หรือ สังคม (โลก) ว่าตัดสินตามธรรมหรือไม่ แต่ถ้าจะให้มั่นใจได้ว่าการตัดสินใจะเป็นไปอย่างถูกต้อง และเกิดประโยชน์เต็มที่ ผู้มีอำนาจในการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นพระราชาในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช หรือประชาชนทุกคนในระบอบประชาธิปไตย รวมถึง ส.ส. รัฐมนตรี ที่ใช้อำนาจแทนประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ก็จะต้องตัดสินโดยใช้ธรรมเป็นใหญ่ ยึดหลักการเป็นสำคัญ 

แต่การจะตัดสินใจตามธรรม ตามหลักการได้นั้น จำเป็นต้องใช้ปัญญาประกอบกับเจตนาที่เป็นธรรม แต่จะมีปัญญาได้ ก็ต้องศึกษาให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ตั้งแต่รู้ข้อมูล รู้ความจริง ความถูกต้องในเรื่องที่จะตัดสินใจนั้น รู้เหตุที่มา รู้ผลที่จะเกิดจากการตัดสินใจนั้นๆ อย่างถี่ถ้วน ถ่องแท้ ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ไม่เห็นแก่ประโยชน์ตน ไม่มีอคติ มิฉะนั้น แม้จะมีเจตนาดี ก็อาจจะตัดสินจผิดพลาดด้วยความไม่รู้ชัด ไม่รู้ทั่ว (โมหาคติ) หรือเพราะความกลัว (โทสาคติ) หรือเพราะความรัก ความพอใจส่วนตัว (ฉันทาคติ) หรือไม่ก็เพราะความกลัว เกรงต่อบารมี อำนาจ (ภยาคติ)

การบริหารในระดับองค์กร ก็จำเป็นต้องให้เป็นไปตามธรรม ตามหลักการ เช่นเดียวกัน หลักการบริหารจัดการที่ดีเช่นนี้มีชื่อเรียกว่า “ธรรมาภิบาล” (Good governance) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้เสนอเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดว่าหลักธรรมาภิบาลนั้น ประกอบด้วยหลักสำคัญ 6 ประการ คือ

 (1) หลักนิติธรรม (Rule of law) : กฎระเบียบ ทันสมัย เป็นธรรม ยุติธรรม รัดกุม รวดเร็ว มีการบังคับใช้ และปฏิบัติตามกฎระเบียบนั้นอย่างเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยการแบ่งแยกอำนาจ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ การใช้อำนาจ การเป็นอิสระ ที่ไม่ถูกแทรกแซง

 (2) หลักคุณธรรม (Ethics) : ความซื่อสัตย์ ขยัน มีระเบียบวินัย หน่วยงานต้องปลอดจากการทุจริต การทำผิดวินัย และการกระทำผิดมาตรฐานวิชาชีพ นิยาม และจรรยาบรรณ

 (3) หลักความโปร่งใส (Transparency) : การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เหมาะสม สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้

 (4) หลักการมีส่วนร่วม (Participation) : ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีส่วนร่วมรับรู้ ร่วมเสนอ และร่วมตัดสินใจ ในปัญหาต่างๆ อย่างมีความเสมอภาค รวมทั้งการสื่อสารแบบมีข้อมูล

 (5) หลักความรับผิดชอบ (Accountability) : การตระหนักในหน้าที่ มีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อหน่วยงาน การเอาใจใส่ในปัญหา และกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา รับฟังและเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างกัน กล้าดำเนินการตามกฎหมาย ยอมรับผลการกระทำของตน และสามารถตรวจสอบได้

 (6) หลักความคุ้มค่า (Utility) : เป็นการบริหารเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่า ลดขั้นตอนการปฏิบัติ และการประเมินผลการปฏิบัติราชการ


อ้างอิง :  คู่มือธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.

Mobirise

ประชาธิปไตย

ประชาธิปไตยที่เราพูดถึงกันโดยมากจะนึกถึงในเรื่องรูปแบบที่เป็นรูปธรรมหรือเป็นระบบ เช่นจะต้องมีรัฐสภา คณะรัฐมนตรี การเลือกตั้ง ฯลฯ แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ซึ่งไมาควรมองข้ามก็คือเนื้อหาสาระของประชาธิปไตย ซึ่งมีส่วนประกอบหลายประการ

 หลักการสำคัญของประชาธิปไตยคือการที่ประชาชนปกครองกันเอง ซึ่งมีรากฐานมาจากการที่ประชาชนแต่ละคนสามารถปกครองตนเองได้ แล้วจึงมาช่วยกันปกครองร่วมกัน ถ้าปกครองตนเองไม่ได้ การที่จะมาร่วมกันปกครองประเทศก็เป็นไปด้วยดีไม่ได้

 หลักการปกครองตนเองในการปกครองแบบประชาธิปไตยนี้ มีหลักการสำคัญอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “เสรีภาพ” ซึ่งคนจำนวนมากอาจมองว่าหมายถึงการทำได้ตามใจตัว หรือทำได้ตามชอบใจ แต่ถ้าแต่ละคนทำตามใจตัวจะปกครองตนเองได้อย่างไร ถ้าทุกคนทำตามใจ เอาแต่ใจตัวเอง เวลาทำงานอยากนอนก็นอน เวลาขับรถก็ขับตามอำเภอใจไม่ใส่ใจกฎจราจร การปกครองที่ดีก็เกิดขึ้นไม่ได้ 

 คำจำกัดความของเสรีภาพโดยมากจึงหมายถึงเสรีภาพภายในขอบเขต คืออิสระในการสร้างสรรค์ แต่ไม่ทำลายสร้างความเสียหาย และไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น แต่นิยามเช่นนี้ก็อาจทำให้เข้าใจว่าเป็นการทำได้ตามชอบใจเหมือนกัน เพียงแต่ว่าให้การทำได้ตามชอบใจนั้นอยู่ในขอบเขต เมื่อมีขอบเขตก็ยังถูกจำกัด เมื่อถูกจำกัดก็ยังไม่เสรีจริง

 ความหมายที่สูงขึ้นไป เป็นความหมายแบบที่มีดุลยภาพ กล่าวคือ มองว่าตัวเองนี้มีเสรีภาพ โดยสัมพันธ์กับเสรีภาพของผู้อื่น ซึ่งก็ใกล้เคียงกับเสรีภาพภายในขอบเขต แต่เป็นการมองโดยมีปัญญาเห็นเหตุผล ทำให้ไม่รู้สึกว่าขอบเขตนั้นบีบคั้นตัว เมื่อมีจิตสำนึกอย่างนี้จะเห็นต่อไปว่า ความมีเสรีภาพหมายถึงความพร้อมที่จะให้โอกาสแค่ผู้อื่นด้วย คือเห็นว่าเสรีภาพของตนเป็นของคู่กันกับเสรีภาพของผู้อื่นทำให้เกิดความเสมอภาค เสรีภาพจึงมาคู่กับความรับผิดชอบ หมายความว่าเราจะต้องใช้เสรีภาพอย่างมีความรับผิดชอบ และรับผิดชอบต่อการใช้เสรีภาพนั้นด้วย

 มองต่อไป เสรีภาพ มีความหมายแยกเป็น 2 ด้าน คือเสรีภาพที่จะได้ กับเสรีภาพที่จะให้ โดยมากคนจะมองในแง่ที่จะได้รับ แล้วก็เรียกร้องที่จะเสมอภาค เท่าเทียม ในความหมายว่า “ฉันต้องได้ให้เท่ากับเธอ” แต่อีกด้านหนึ่ง คนเรามีเสรีภาพในการให้ด้วย และความเสมอภาคที่งดงามจึงเกิดจากการที่ “ฉันให้เพื่อให้เราเท่ากัน”

 เสรีภาพในการได้นั้นเป็นส่วนผล ก่อนจะได้ผลเราต้องทำเหตุ ถ้าไม่มีเสรีภาพในการให้ เสรีภาพในการได้ก็เป็นไปได้ยาก 

 การปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่พยายามเปิดโอกาสให้ทุกคนมีเสรีภาพที่จะนำเอาศักยภาพของตนออกมาทำประโยชน์แก่ส่วนรวม ถ้าแต่ละคนมีความรู้ แต่ไม่มีเสรีภาพที่จะพูด แสดงความคิด เขาก็ไม่สามารถนำความรู้นั้นมาทำประโยชน์ได้ การปกครองปบบประชาธิปไตยมีสาระสำคัญอยู่ตรงนี้ มันเป็นส่วนเหตุ ถ้าไม่มีสาระนี้แล้ว มัวแต่จะไปชื่นชมกับผลที่จะได้ ก็ไม่ยั่งยืน

 ฉะนั้นต้องมองเสรีภาพในส่วนเหตุเป็นหลัก ว่าทำอย่างไรจะให้ศักยภาพที่มีในแต่ละคน สามารถอำนวยประโยชน์แก่สังคมได้เต็มที่ อันนี้เป็นเสรีภาพในลักษณะของการให้ ซึ่งจะทำให้สังคมประชาธิปไตยก้าวหน้า มิใช่เพียงการเรียกร้องเอาแต่ใจให้ได้เท่าคนอื่น


 แม้แต่ความมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นพฤติกรรมสำคัญอย่างหนึ่งในสังคมประชาธิปไตย บางคนก็มองแต่ในแง่ที่จะได้ คือมองว่าฉันจะต้องมีส่วนได้ด้วย แต่ประชาธิปไตยที่แท้เน้นที่การเข้าไปร่วมสร้างสรรค์ เอาส่วนที่ตนมีเข้าไปร่วมกันทำประโยชน์ คือเน้นที่การให้


 คำสามัญในระบอบประชาธิปไตยที่มาด้วยกันกับคำว่าเสรีภาพ คือคำว่า “สิทธิ” ซึ่งมักแปลว่า อำนาจอันชอบธรรม ในแง่ว่าเป็นสิ่งที่จะอ้างหรือเรียกร้องเอาได้ตามความต้องการ การมีได้ ทำได้ ตามสิทธินั้นเป็นลักษณะสำคัญที่แสดงถึงความมีเสรีภาพ และสิทธินั้นก็มาคู่กับ “หน้าที่” สิทธิเป็นเรื่องของการที่จะได้ ส่วนหน้าที่เป็นเรื่องของการที่จะให้ จะทำ

 เมื่อประชาชนทำหน้าที่ให้แก่สังคมตามสถานะของตนๆ เช่นศึกษาเล่าเรียน ประกอบสัมมาชีพ รับผิดชอบครอบครัว ชุมชน สังคมประชาธิปไตยที่ดีก็จะนำผลดีที่เกิดขึ้นร่วมกันนั้นมาสนองแก่สิทธิของพลเมือง ถ้าประชาชนไม่ช่วยกันทำเหตุ ทำหน้าที่ แล้วสังคมจะเอาผลอะไรมาสนองความต้องการของพลเมืองได้

 มองในทางย้อนกลับ ผู้ที่ทำหน้าที่ของตนถูกต้อง เป็นอย่างดีแล้ว จึงเป็นผู้สมควรจะได้รับสิทธิ และสิทธิที่ได้รับก็จะต้องถูก นำไปใช้อย่างถูกต้องด้วย สิทธิจึงมาพร้อมกับหน้าที่ และเป็นสมบัติมีค่าอันน่าภูมิใจสำหรับผู้ที่ทำหน้าที่

 พลเมืองในสังคมประชาธิปไตยควรสร้างจิตสำนึกในหน้าที่ ว่าการที่เราจะได้สิทธินี้นั้น เราจะต้องทำอะไร หรือนึกถึงสิ่งที่ตนจะต้องทำ ต้องให้ มากกว่านึกถึงสิ่งที่ตนจะได้ จะเอา อย่างที่ประธานาธิบดีเคนเนดีกล่าวในพิธีปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อ พ.ศ.​2504 ว่า “Ask not what your country can do for you, ask what you can do for your country”


สิทธิต้องมาคู่กับหน้าที่ ฉันใด เสรีภาพก็ต้องมากับความรับผิดชอบ ฉันนั้น

การปกครองกันเองเริ่มจากการปกครองตนเองได้ ฉันใด เสรีภาพในสังคม ก็ต้องเริ่มจากเสรีภาพที่แท้ภายในใจ ฉันนั้น


 เสรีภาพอีกระดับหนึ่ง เป็นเสรีภาพในความหมายขั้นรากฐาน คือการที่คนเราจะมีเสรีภาพที่แท้จริงภายนอกได้ จิตใจจะต้องเสรี คือเป็นอิสระจากการครอบงำของอำนาจที่จะมาชักจูง ครอบงำจิตใจ ให้ผิดไปจากธรรม พอจิตใจเขวออกจากหลักธรรมความถูกต้องแล้ว การแสดงออกภายนอกก็เขวหมด ใจที่มีเสรีภาพ ก็คือใจที่ไม่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส โดยเฉพาะ ตัณหา มานะ ทิฐิ 

ตัณหา คือความอยาได้เพื่อตัว ต้องการเสพ บริโภค เพื่อผลประโยชน์ เพื่อตน (ต่างจากฉันทะที่เป็นความใฝ่ดี ใฝ่สร้างสรรค์)


มานะ คือความถือตัว ต้องการอำนาจ อยากเป็นใหญ่ อยากเด่น อยากเป็นคนสำคัญ ครอบงำเหนือผู้อื่น

ทิฐิ คือความยึดถือเอาแต่ความเห็นของตัว เหนือความจริง และความเห็นอื่น ต้องการให้ผู้อื่นยอมรับความเห็น ความเชื่อ ลัทธิ อุดมการณ์ของตน 

กิเลสจำพวกเห็นแก่ตัว เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางทั้ง 3 อย่างนี้ มักเข้าครอบงำการคิด ทำให้พฤติกรรมเสรีภาพเสียศูนย์ เลยดุล กลายเป็นโทษ ก่อผลร้ายทำลายประชาธิปไตย


เสรีภาพจะสัมฤทธิ์ผลให้เกิดประชาธิปไตยได้แท้จริง คนจะต้องใช้ปัญญาด้วยความเที่ยงธรรม ด้วยความสุจริตใจ โดยไม่ถูก ครอบงำด้วยกิเลส การแสดงออกของปัญญาที่บริสุทธิ์ก็คือการใช้เสรีภาพอย่างสูงสุด เสรีภาพที่แท้จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีการใช้ปัญญา

สังคมประชาธิปไตยจึงต้องเน้นเรื่องการศึกษา ให้เกิดปัญญา เมื่อประชาชนจะปกครองตนเอง จะตัดสินใจอะไร ก็ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ จึงจะตัดสินใจได้ถูกต้อง มิใช่ตัดสินใจเพียงเพราะถูกใจ

ประชาธิปไตยจึงมิใช่เพียงรูปแบบของการที่ประชาชนมาลงคะแนนตัดสินเลือกผู้บริหารประเทศ แต่ต้องมีเนื้อหาสาระอยู่ข้างใน คือการที่ผู้ออกเสียงนั้นมีปัญญา ตัดสินใจโดยไม่อยู่ใต้การครอบงำของกิเลส 

คนโง่ร้อยคน พันคน มาประชุมกัน โหวตกันว่าโลกนี้แบน โลกก็หาได้แบนตามนั้นไม่

ฝูงลิงจะข้ามแม่น้ำ มีความเห็นร่วมกันว่า กระสอบนุ่นเบาดี ให้เอามามัดติดตัวจะได้ลอยน้ำข้ามไป เลยพากันตายทั้งหมด
 ครูคนหนึ่งอยากจะพัก พอเข้าสอนก็บอกนักเรียนว่าเรามาใช้วิธีประชาธิปไตย มาโหวตกันนะว่าจะเรียนหรือจะเล่น ....


ประชาธิปไตยจึงเป็นการปกครองกันด้วยปัญญา ของคนที่มีจิตใจเสรี

กรณีศึกษา : สิทธิ ผู้ป่วย

Mobirise

คำประกาศ "สิทธิ" และ "ข้อพึงปฏิบัติ" ของผู้ป่วย ฉบับใหม่

ออกโดย ๖ สภาวิชาชีพ ประกาศ ณ วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๘

Mobirise

สิทธิของผู้ป่วย (patient’s rights)

...ใน พ.ศ. 2491 องค์การสหประชาชาติได้ประกาศ “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” (Universal Declaration of Human Rights) เพื่อรับรองสิทธิของมนุษย์ทั่วโลกไว้อย่างกว้างขวาง เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐฯ หรือผู้มีอำนาจละเมิดสิทธิมนุษยชนนี้ ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ก็ได้กำหนดสิทธิของประชาชนชาวไทยไว้มากมาย เช่น ในหมวด 3 ว่าด้วย “สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย” ในมาตรา 24-49 บัญญัติให้ประชาชนชาวไทยมีสิทธิเสรีภาพในทางการเมือง การนับถือศาสนา การทำมาหาเลี้ยงชีพ การเลือกที่อยู่อาศัย การพูด การเขียน การโฆษณา การชุมนุมโดยสงบ และการฟ้องร้องรัฐฯ เป็นต้น แต่ไม่ได้กล่าวถึง “สิทธิของผู้ป่วย” หรือ “ผู้ป่วย” แต่อย่างใด...

Mobirise

สิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทย 

คนไทยได้รับการคุ้มครองสิทธิการรักษาพยาบาลจากรัฐบาล โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่มใหญ่ คือ

1. สิทธิสวสั ดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ

2. สิทธิประกันสังคม

3. สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

4. สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่น

5. สิทธิหน่วยงานรัฐอื่นๆ

(คลิกอ่านต่อ....)

Created with Mobirise - More info