อุปสรรค ของการสื่อสารเพื่อการสร้างสรรค์


Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik

พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์หรือค่านิยมที่ไม่ดีในการทำงานคือภัยร้ายต่อการเจริญก้าวหน้าขององค์กร หากองค์กรใดที่บุคลากรภายในส่วนใหญ่ประพฤติปฏิบัติกันเป็นประจำ แล้วไม่ดำเนินการแก้ไขโดยการสร้างค่านิยมใหม่ที่ดีเพื่อเปลี่ยนแปลงวัฒน-ธรรมภายในองค์กร อาจจะส่งผลให้องค์กรนั้นประสบปัญหาเรื่องการแข่งขันได้ เช่น บุคลากรส่วนใหญ่จะไม่กล้าที่จะคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ซึ่งความคิดเล็กๆ อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ หรือบรรยากาศการทำงานจะเป็นลักษณะการแบ่งพรรคแบ่งฝ่ายสูงมีแนวโน้มที่เกิดความขัดแย้งอยู่ตลอด  ส่งผลให้บุคลกรที่มีความรู้ ความสามารถ ความมุ่งมั่นสูงอยู่ทำงานได้ไม่นานก็ลาออกไป 


 ตัวอย่างค่านิยมที่ไม่ดีในการสื่อสาร ที่ควรหลีกเลี่ยง คือหลัก 6B (Bee – Bai – Boa – Bluff - Block – Blame)  คือ 

 1. บี้
 คือ ไล่จี้ เร่งรัด กดดัน ทำให้เครียด ลนลาน ต้อนให้จนมุมหน้าแตก

2. ใบ้
 คือ เงียบ แกล้งโง่ (เพราะเลี่ยงงาน) ไม่ตัดสินใจ ไม่แสดงความเห็นในห้องแต่ออกมาพูดนอกห้องจนเสียๆ หายๆ

3. โบ้ย
 คือ โยนงาน โยนความผิด ให้คนอื่น อ้างโน่นอ้างนี่ไปเรื่อย แต่ไม่หาทางแก้ ไม่มีคำตอบ มีแต่คำบ่นอ้าง

4. บลัฟ
คือ ดูถูก ทับถม สบประมาท ท้าทาย แซวให้เสียหน้า

5. บล็อก
คือ ขัดขวาง ขัดคอ สั่งให้นั่งลง สั่งให้หุบปาก ดับแนวคิดที่แตกต่าง ดับแนวคิดใหม่ๆ ทำลายจินจนาการ ไม่กล้าลอง

6. เบลม
คือ ด่วนพิพากษา ตำหนิ เอาแต่ดุด่าว่ากล่าว หาคนผิด หาแพะรับบาป ค้นแต่อดีตมาตำหนิกัน ขาดการหาทางออก


ค่านิยมเหล่านั้นส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่ปิดกั้นการพัฒนา และการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ เช่น 

1. มนุษย์เงียบ
คนที่มีความรู้และมีความสำคัญต่อการทำงาน แต่ดันนั่งเงียบ ต้องอาศัยผู้นำที่จะคอยถามความคิดเห็นทุกคน ผู้ร่วมงานควรร่วมกันแสดงความคิดเห็น เพราะความคิดของเราอาจเป็นสิ่งที่คนอื่นคิดไม่ถึง หรืออาจนำไปสู่การคิดต่อยอดในทีมที่ทำงานร่วมกัน

2. มนุษย์มั่น
บางคนที่รู้ลึกรู้จริงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มักเกิดความมั่นใจมากๆ ส่วนบางคนแม้ไม่เข้าใจถ่องแท้ แต่อยากแสดงความคิดเห็น และเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองยึดถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทางแก้เมื่อเจอสถานการณ์นี้ ผู้นำควรจัดสรรหน้าที่ให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึง เมื่อมีใครแสดงอารมณ์ หรือยึดบทสนทนาเป็นของตัวเอง ผู้นำต้องดึงสถานการณ์กลับมาให้ทุกอย่างสมดุล 

3. มนุษย์เออออ
มนุษย์กลุ่มนี้จะเห็นด้วยกับทุกอย่างที่ทุกคนพูด โดยที่ไม่แสดงความคิดเห็นของตัวเองและเราไม่มีทางรู้เลยว่าจริงๆ แล้วเขากำลังคิดอะไร เห็นด้วยจริงๆ อย่างที่เขาพูดไหม หรือในใจเต็มไปด้วยคำถามแล้วแอบเอาไปนินทาต่อหลังการประชุม สิ่งที่พอจะช่วยได้ คือผู้นำต้องกระทุ้งถามถึงเหตุผลต่อไปว่า ที่เห็นด้วยนั้น เห็นด้วยเพราะอะไร ให้เขาได้แสดงเหตุผลเพื่อให้ทุกคนรับรู้ร่วมกัน


การรับมือ กับการสื่อสารที่ไม่สร้างสรรค์

ในวิชาการสื่อสาร  นอกจากจะเรียนรู้เทคนิคในการสื่อสารแล้ว ยังจำเป็นต้องพัฒนาท่าทีในการรับสารอย่างสร้างสรรค์ด้วย  แม้เราจะพยายามพัฒนาการสื่อสารของเราเพียงใด ก็ไม่ใช่เครื่องรับประกันว่า คู่สนทนา หรือผู้ที่สื่อสารตรงหน้าเรา จะสื่อสารในลักษณะที่ดีเสมอไป (เพราะเราเองย่อมไม่อาจไปบังคับ เปลี่ยนแปลงผู้อื่นได้ทั้งหมด  แม้แต่การเปลี่ยนแปลงตัวเอง ก็ยังไม่ง่ายเลย) ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง 6B ที่ได้เรียนรู้กันข้างต้นนี้ ในมุมหนึ่งก็คือแนวทางที่เราจะพัฒนาตนเอง เพื่อลดท่าทีเหล่านั้น ปรับปรุงวิธีการสื่อสารกับคนตรงหน้า หลีกเลี่ยง 6B ให้ได้มากที่สุด  แต่ในอีกมุมหนึ่ง เราก็ควรจะฝึกฝนตนเอง ที่จะอยู่ร่วม เรียนรู้ และเกื้อกูล แก่ผู้อื่นที่มีท่าที 6B ต่อเรา  (อย่างน้อย ก็ให้การรับสารนั้น ไม่ทำร้ายตัวเราเอง หรือถ้าดีกว่านั้น ก็อาจสามารถเยียวยา พัฒนาผู้ที่กำลังมีปัญหาตรงหน้าเราได้ด้วย)  ฉะนั้น ในที่นี้ จึงควรแสดงตัวอย่างแนวทางการฝึกรับมือกับการสื่อสารที่ไม่สร้างสรรค์ ให้พอเป็นตัวอย่างแก่ผู้สนใจ จักได้เห็นแนวทางเบื้องต้นในการพัฒนาตนเอง ทั้งในฐานะผู้ส่งสาร และผู้รับสาร

-  เทคนิครับมือ  การถูกกลั่นแกล้ง รังแก พูดจาโมโหร้าย
- เทคนิครับมือ กลัวคำติ คำวิจารณ์ (คุณจีน่า | 25.24 นาที) *****
-  เทคนิครับมือ คนที่พูดทำร้ายจิตใจคุณ   (ครูรุ้ง Attraction Master  |  3.55 นาที)  
-  เทคนิครับมือ การนินทา ช่างติเตียน กล่าวร้าย  (Chatsshare แชทแชร์  |  6.53 นาที)  
-  เทคนิครับมือ  คำพูดหยาบคาย   (www.akerufeed.com)  
-  เทคนิครับมือ  เมื่อทำดี แล้วมีคนปากเสีย ขี้อิจฉา  (บัณฑิต อึ้งรังษี  |  6.00 นาที) 
-  เทคนิครับมือ  เมื่อมีคนดูถูกเราว่าทำไม่ได้  (หมอจริงเข้าใจวัยรุ่น #หมอจริง |  6.49 นาที)


Design your own website with Mobirise