การเข้าสังคม : 
วินัย มารยาท บุคลิกภาพ


Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik


"วินัยของสังคม"

หากสามารถสื่อสารให้สมาชิกในสังคมได้เข้าใจความมุ่งหมายของกติกาเหล่านั้น และสมาชิกในสังคมนั้น ก็มีองค์ประกอบทั้ง ๒ ส่วน คือมีปัญญาเข้าใจเหตุผลของกติกา อีกทั้งแต่ละคนก็มีเจตนาที่ดีร่วมกัน การปฏิบัติตามกติกาก็จะเกิดขึ้นอย่างเต็มใจ และก่อให้เกิดประโยชน์ของระบบวินัยที่แท้จริง

Mobirise

ประโยชน์ของวินัย ที่แท้ มิใช่เพื่อบังคับ หรือจำกัดอิสระ เสรีภาพของสมาชิกในสังคม หากแต่เป็นการจัดสรร เอื้อโอกาส ให้เกิดการพัฒนาที่ประสานสอดคล้องตามธรรม ยกตัวอย่างที่เห็นชัดคือ กฎจราจร และสัญญาณไฟจราจร ที่หากดูผิวเผิน อาจเห็นเป็นการจำกัดโอกาสที่รถแต่ละคันจะทำความเร็วได้เต็มที่ หรือวิ่งไปได้ไม่หยุดชะงักล่าช้า แต่ถ้ามองอย่างเป็นธรรม จะเห็นความจริงเบื้องหลังว่า เพราะการหยุดของรถอย่างเป็นระบบนั่นเอง ที่ทำให้ระบบจราจรโดยส่วนรวมเป็นไปได้โดยคล่องตัว และปลอดภัย เพราะถ้าไม่มีกฎและสัญญาณไฟ รถแต่ละคันก็อาจจะต่างคนต่างไป จนสุดท้ายกลายเป็นความติดขัด หรือเกิดอุบัติเหตุได้ (แต่ในตัวอย่างนี้ ก็จะเห็นได้ว่า
 ถ้าสมาชิกในสังคมมีปัญญาและมีเจตนาดีจริงๆ จนถึงที่สุดแล้ว ทุกคนก็จะมีกติกาของตนเอง ที่จะใส่ใจ ให้ทาง ดูแลกัน โดยไม่ต้องมีกฎก็ได้ แต่ก็ไม่ง่าย)


วินัยมักถูกเข้าใจกันในความหมายเชิงลบ คือการบังคับ ควบคุม ซึ่งยังไม่ถูกต้อง เรียกว่าเป็นความหมายสำหรับคนที่ยังไม่พัฒนา ยังไม่มีปัญญา

ความหมายของวินัยที่แท้เป็นความหมายเชิงบวก คือการจัดสรรโอกาส ทำให้ชีวิตและสังคมมีระเบียบ ทำให้ทำอะไรๆ ได้คล่อง สะดวก ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ เช่นถ้าห้องทำงานขาดระเบียบ โต๊ะระเกะระกะ เสียงดังอื้ออึง จะทำงาน สื่อสาร หรือหาสิ่งของต่างๆ ก็ทำได้ยาก เสียเวลา และอาจเกิดอันตรายได้ กิจการต่างๆ จึงต้องมีระเบียบ ต้องอาศัยวินัยมาจัดสรรโอกาสทั้งนั้น เช่น เมื่อศัลยแพทย์จะผ่าตัด ต้องจัดระเบียบเครื่องมือที่จะใช้ตามลำดับ มีขั้นตอนการส่ง การรับ การดูแลความสะอาด ความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ในสังคมวงกว้างออกไป ถ้าชีวิตคนไม่ปลอดภัย สังคมไม่มีระเบียบ มีโจรขโมย มีการทำร้ายกัน ผู้คนจะเดินทางไปมาก็ไม่สะดวก มีความหวาดระแวง โอกาสในการทำการกิจกรรมการงานที่เป็นประโยชน์ สร้างสรรค์ก็เป็นไปได้ยาก

ฉะนั้น ความหมายแท้จริงของวินัย ก็คือการจัดสรรโอกาสให้ชีวิตและสังคมดำเนินไปโดยสะดวกคล่องตัว ได้ผลดี มีประสิทธิ-ภาพ และเป็นโอกาสแก่การพัฒนามนุษย์ด้วย เมื่อสังคมสงบเรียบร้อย สมาชิกในสังคมก็สามารถใช้ศักยภาพของตนได้เต็มที่ ไม่ต้องหวาดระแวงกลัวภัย รู้ขอบเขตหน้าที่และสิทธิของตนๆ ที่จะแสดงออกต่อกันได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้สังคมพัฒนาก้าวหน้าได้เต็มที่

(สรุปและอธิบายความจาก พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต), 2550, วินัย: เรื่องใหญ่กว่าที่คิด, พิมพ์ครั้งที่ 4, พิมพ์สวย.)

Mobirise

จากความเข้าใจในบทเรียนที่ผ่านมา ท่านเห็นว่า วัฒนธรรม SOTUS ที่นำมาใช้ในกิจกรรมรับน้องในมหาวิทยาลัย เป็นระบบวินัยที่เอื้อต่อการพัฒนาบัณฑิต หรือเป็นอุปสรรค ในแง่ใดบ้าง และหากท่าน สามารถกำหนดระบบวินัยในการรับน้องได้ใหม่ ท่านคิดว่าควรเป็นเช่นไร


(ที่มา :  ฐิติพล ปัญญาลิมปนันท์, 24 กรกฎาคม 2018, 
รับน้อง: เมื่อนักศึกษารุ่นใหม่กล้าปฏิเสธระบบโซตัส และกิจกรรมไม่เหมาะสม, https://www.bbc.com/thai/thailand-44934203)

คนยุคปัจจุบันมักเข้าใจผิดว่า “สมบัติของผู้ดี” เป็นหนังสือโบราณที่เน้นให้เป็นคนหัวอ่อน ว่าง่าย เน้นเรื่องการกราบไหว้ การปฏิบัติตัวต่อชนชั้นสูง 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว หนังสือสมบัติผู้ดี เป็นหนังสือที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อบอกเล่าวัฒนธรรมสมัยใหม่ แบบ Gentle man ของฝรั่ง ให้คนไทย โดย เฉพาะชนชั้นกลางใหม่ที่จะเข้ารับราชการ ได้เรียนรู้และปฏิบัติตนได้สอดคล้องกับวัฒนธรรมตะวันตกที่เริ่มเข้ามาในสังคมสยามในเวลานั้น  

ว่าโดยสรุปแล้ว คุณสมบัติของคนดี หรือผู้ดี ก็คือคนที่รู้จักกาละเทศะ รู้ว่าเวลาใดควรคิด พูด ทำ อย่างไร จึงจะเหมาะควร จึงมีความหมายคล้ายกับคำว่า จรรยา มารยาท (Etiquette, manners)


บุคลิกภาพ

การพัฒนาบุคลิกภาพ ในฐานะที่เป็นพื้นฐานในการสร้างโอกาสแก่ชีวิต

 John Robert Powers สถาบันพัฒนาบุคลิกภาพที่มีชื่อเสียง ระบุว่า “บุคลิกภาพเป็นพลังของการก้าวกระโดดไปสู่ความโดดเด่นในชีวิต” คำว่า บุคลิกภาพ ไม่ใช่แค่เรื่องเสื้อผ้า หน้า ผม แต่หมายถึงสภาพนิสัยจำเพาะบุคคล ทั้งที่แสดงออกผ่านพฤติกรรม วาจา และความรู้สึกนึกคิด นิสัยใจคอ ที่ทำให้แต่ละบุคคลแตกต่างกัน องค์ประกอบของบุคลิกภาพที่ดีของบุคคล จำแนกได้ดังนี้

1. บุคลิกภาพด้านกายภาพ ได้แก่ สุขภาพร่างกาย ความสะอาดเรียบร้อย รูปร่างหน้าตา การแต่งกาย อิริยาบถต่างๆ 

2. บุคลิกภาพด้านวาจา หมายความรวมทั้งเนื้อหาสาระของการสื่อสาร และการเลือกใช้วิธีการในการสื่อสาร

3. บุคลิกภาพด้านสติปัญญา หมายถึงความเข้าใจต่อสถานการณ์ บุคคล จนสามารถตัดสินใจต่อสิ่งต่างๆ ได้ดี และทันเวลา

4. บุคลิกภาพด้านอารมณ์ คือความสามารถในการสร้างพื้นฐานสุขภาวะทางจิตใจ ทำให้สามารถควบคุมอารมณ์ต่อสิ่งที่มากระทบไม่ว่าน่ายินดี หรือไม่ ได้อย่างดี และมีประสิทธิภาพ เอื้อต่อการใช้ปัญญาคิดพิจารณาในสถานการณ์นั้นๆ ได้อย่างเต็มที่

5. บุคลิกภาพด้านความสนใจและเจตคติ คือท่าทีทางความคิดที่มีต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมด้านอื่นๆ เช่นการวางตัวในสังคม การปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งจะเป็นไปตามความเชื่อ ความเข้าใจ ความสนใจ ที่บุคคลมีในเรื่องนั้นๆ


อ้างอิง :  สราวรรณ์ เรืองกัลปวงศ์ และอรรนพ เรืองกัลปวงศ์, 2561, การพัฒนาบุคลิกภาพเพื่อการจัดการทรัพยากรมนุษย์, มหาวิทยาลัยสวนดุสิต.

This website was built with Mobirise