Data
การค้นหาข้อมูล และการประมาณการข้อมูล


Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik

การดำเนินการตามลำดับขั้นตอนการแก้ปัญหาที่กำหนดไว้ (Algorithm) จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลที่ถูกต้องแมนยำ โดยเฉพาะในขั้นตอนที่ต้องมีการตัดสินใจ (Decision making) ดังแสดงด้วยสัญลักษณ์สี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ในผังงาน (Flowchart) 


Mobirise

จากตัวอย่าง การดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยหัตถการ ผู้ปฏิบัติงานต้องมีข้อมูลที่จะทำให้ทราบว่า ผู้ป่วยมี ลักษณะตามข้อห้ามหรือไม่, ไวต่อความร้อนหรือไม่, แพ้สมุนไพรหรือไม่, อาการดีขึ้นหรือยัง, จำเป็นต้องให้การรักษาต่อหรือไม่ ซึ่งการได้มาซึ่งข้อมูลนี้อาจมาจากการซักประวัติ, การสังเกต, การค้นคว้า,​ การทดสอบ, การประเมินผลการรักษา เป็นต้น

ทักษะในการค้นหาข้อมูลจึงมีความสำคัญในการทำงาน แต่ทักษะดังกล่าวมิได้มีความหมายเพียงการค้นเจอข้อมูลที่ต้องการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสามารถในการใช้วิจารณญาณประเมินความน่าเชื่อถือ ความถูกต้องของข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการประมาณการข้อมูลในกรณีที่ไม่สามารถหาข้อมูลที่แท้จริงได้ 

 ยกตัวอย่างเช่น การวางแผนการเดินทางท่องเที่ยว จำเป็นต้องมีกระบวนการคิดเป็นขั้นตอน (Algorithm) เช่น เริ่มจากการกำหนดที่หมายในการเดินทาง เลือกวิธีการเดินทาง เลือกที่พัก เลือกสถานที่ที่จะไปเยี่ยมชม เป็นต้น ในแต่ละขั้นของการตัดสินใจก็จะต้องมีเกณฑ์การพิจารณา เช่น ต้องการ ที่หมายที่แปลกใหม่มากที่สุด,​การเดินทางที่เร็วที่สุด, ที่พักที่ใกล้ที่สุด เป็นต้น 

 การที่จะได้ที่หมายที่แปลกใหม่ อาจต้องค้นหาในระบบอินเตอร์เน็ต หรือสอบถามจากผู้ที่ชอบเดินทางรูปแบบนี้ อีกทั้งยังอาจจะสำรวจความเห็ฯและประสบการณ์การเดินทางของผู้ร่วมทางด้วยการสนทนา หรือตั้งกลุ่มข้อความเพื่อร่วมกันแสดงความเห็น ทั้งหมดนี้คือข้อมูลที่จะนำมาวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบว่า จะเลือกที่หมายใดที่ตรงกับเงื่อนไขที่ต้องการมากที่สุด

 การที่จะได้ที่พักที่ใกล้ที่สุด (แต่ก็ต้องปลอดภัย และสะดวกสบายพอสมควรด้วย) อาจะเริ่มจากการหาข้อมูลในระบบอินเตอร์เน็ต โดยการเลือกใช้ search engine หรือ เว็บไซต์ที่ให้บริการด้านที่พัก แล้วอ่านข้อมูลหรือรีวิวของที่พักแต่ละที่ แล้วจึงนำมาเปรียบเทียบแล้วตัดสินใจ แต่ข้อมูลที่ได้มา ก็จะต้องมีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือด้วย เช่น ดูราคา และรีวิวของที่พักแต่ละแห่งจากหลายๆ เว็บไซต์ แล้วนำมาสอบเทียบกัน ตรวจสอบตำแหน่งที่แน่นอนด้วย Google maps และอาจต้องโทรไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม


ตัวอย่าง ทักษะการค้นหาข้อมูล

  • กำหนดวัตถุประสงค์การสืบค้นที่ชัดเจน ทำให้สามารถกำหนดขอบเขตของแหล่งข้อมูลที่จะสืบค้นให้แคบลง กำหนดวิธีการและเครื่องมือ หรือ Search Engine สำหรับการสืบค้นหาข้อมูลให้เหมาะสม เช่น การสัมภาษณ์,​ การอ่านเอกสารเปช่นประวัติผู้ป่วย, การค้นผ่าน Google ฯลฯ
  • กำหนดช่วงเวลาที่ข้อมูลถูกสร้างขึ้น เช่น รีวิวที่พักในช่วงไม่เกิน 2 ปีที่ผ่านมา, ช่วงปีที่ตีพิมพ์ของวารสารอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้เพื่อให้ผลการสืบค้นมีปริมาณไม่มากเกินไป มีความตรง (Validity) ตามวัตถุประสงค์ และมีความน่าเชื่อถือ (Reliability) มากที่สุด
  • กำหนดรูปแบบของข้อมูลที่ต้องการค้นหา เช่น ข้อความ (Text) ภาพ (Image) เสียง (Sound) ภาพยนตร์ (Movie) ภาพเคลื่อนไหวอะนิเมชัน (Animation) แผนที่ (map) เพื่อกำหนดเครื่องมือในการค้นหา และแหล่งข้อมูลที่เหมาะสม ข้อมูลประเภทข้อความ เป็นข้อมูลที่มีรายละเอียดในการค้นได้มาก อาจจำแนกประเภทย่อยต่อไปได้อีกเช่น ถ้าต้องการค้นหางานวิชาการ ก็เลือกใช้ Google scholar จะได้ผลลัพธ์ที่ตรงกว่าการใช้ Google, ถ้าต้องการค้นสิ่งพิมพ์ห้องสมุด (ตํารา ดรรชนีวารสาร งานวิจัย วิทยานิพนธ์) ก็ค้นจากฐานข้อมูล ThaiLIS, การค้นหาผลงานของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) เมื่อค้นผ่านเว็บไซต์ของวัดญาณเวศกวัน จะได้ข้อมูลที่เป็ฯปัจจุบันและครบถ้วนกว่าการค้นผ่าน Google 
  • กําหนดคําสำคัญในการค้น (Keywords) ที่ครอบคลุมสาระสำคัญของสิ่งที่ต้องการค้นหา และสอดคล้องกับวิธีการค้นหา ถ้าใช้การสัมภาษณ์ ต้องแปลงคำสำคัญให้เป็นคำถามที่เหมาะสม เช่น คำถามปลายเปิด ที่มี แสดงถึงความอ่อนน้อม มีสัมมาคารวะ, ถ้าจะค้นผ่าน Google อาจใช้คำที่สั้น กระชับ ประกอบกับเครื่องหมายต่างๆ เช่น ใช้ * แทนคำที่ไม่กำหนด เช่น child* แทน children และ childhood, ใช้ เครื่องหมายคำพูด เพื่อค้นคำที่ตรงครบทุกตัวอักษร เช่น “ว่านกระชายแดง” เพื่อให้ได้เรื่องที่เกี่ยวกับ ว่านกระชายแดง เท่านั้น ไม่ใช่เรื่อง กระชาย, กระชายดำ เป็นต้น
  • ถ้าเป็นไปได้ ควรเปรียบเทียบข้อมูลจากหลายแหล่ง เพื่อตรวจสอบ (Verify) ความถูกต้อง และความเป็นปัจจุบันของข้อมูล เช่น ตำแหน่งทางวิชาการหรือสมณศักดิ์ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้บ่อย ควรเลือกใช้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันที่สุด และแหล่งที่มาเฉพาะทางมีโนวโน้มน่าเชื่อถือกว่าแหล่งข้อมูลทั่่วไป เช่นข้อมูลเรื่องมะเร็งจากเว็บไซต์สถาบันมะเร็ง น่าเชื่อถือว่าข้อมูลจากเว็บไซต์พันธ์ทิพย์ที่ไม่ระบุที่มาของข้อมูล, ไฟล์หนังสือของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) จากเว็บของวัดญาณเวศกวัน น่าจะเป็นปัจจุบันกว่า ไฟล์หนังสือชื่อเดียวกันจากเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นอื่น
  • แยกแยะข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง กับข้อมูลที่เป็นข้อคิดเห็นออกจากกัน ข้อเท็จจริงต้องมีหลักฐานอ้างอิงที่เชื่อถือได้ ส่วนข้อคิดเห็นต้องอ้างอิงผู้แสดงความคิดเห็น และไม่นำความคิดเห็นมากล่าวอ้างว่าเป็นข้อเท็จจริง เช่น ข้อมูลที่ว่า “อัยการมี ความเห็นว่าผู้ต้องสงสัยมีความผิด” ไม่อาจสรุปว่า “ผู้ต้องสงสัยมีความผิด” ข้อมูลที่ว่า “ผู้ป่วยที่เคยใช้ยาสมุนไพรชนิดนี้ในการรักษาโรคมะเร็งยืนยันว่า ยาสมุนไพรนี้ใช้รักษามะเร็งได้จริง” ไม่อาจสรุปว่า “ยาสมุนไพรนี้รักษาโรค มะเร็งได้”
  • บันทึกที่มาของข้อมูล ให้เกียรติผู้ให้ข้อมูลหรือเจ้าของข้อมูล แล้วทำการอ้างอิงหรือให้เครดิตอย่างเหมาะสม

ทักษะการประมาณการข้อมูล

ในหลายกรณี การหาข้อมูลที่แน่นอน ตายตัว ไม่สามารถกระทำได้ หรือต้องใช้เวลามากเกนจำเป็น เช่น ข้อมูลจำนวนผู้ป่วยที่จะเข้ามาใช้บริการในปีหน้า, จำนวนที่จอดรถสำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมสัมมนา, งบประมาณสำหรับการเดินทางไปญี่ปุ่น ฯลฯ

 ในกรณีเช่นนี้ จำเป็นต้องอาศัยทักษะการประมาณการข้อมูล ซึ่งเป็นการคิดอย่างเป็นระบบ และสมเหตุสมผล บนฐานของข้อมูลที่มี หรือหาได้โดยง่าย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการ ที่มีความสมเหตุสมผล ใกล้เคียงความเป็นจริง พอเชื่อถือได้ สำหรับการทำงานนั้นๆ 

 การประมาณการข้อมูล อาศัยทักษะ 2 ส่วนประกอบกัน คือ การประมาณ กับการคำนวณ มีขั้นตอนโดยสังเขป ดังนี้

  1. ทำความเข้าใจปัญหา และนิยามศัพท์ที่เกี่ยวข้อง (Problem clarification) เช่น ต้องการทราบ จำนวนที่จอดรถสำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมสัมมนา ต้องนิยามว่าจะครอบคลุมรถชนิดใดบ้าง เป็นการจอดชั่วคราวเพื่อส่งคน หรือจอดตลอดช่วงระยะเวลาที่จัดงาน และผู้เข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาหมายถึงผู้ที่มาทำอะไรบ้าง รวมเจ้าหน้าที่ผู้จัดงาน และผู้ติดตามด้วยไหม มีแขกพิเศษด้วยหรือไม่

  2. แจกแจงองค์ประกอบของปัญหา (Breaking down the problems) ว่าคำตอบของปัญหาขึ้นกับตัวแปร (ปัจจัย) อะไรบ้าง และตัวแปรเหล่านั้นต้องสามารถหาคำตอบได้จากแหล่งข้อมูลหรือการประมาณการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น กรณีปัญหาเรื่องจำนวนที่จอดรถ อาจกำหนดตัวแปรว่า รถ = รถบัส + รถตู้และรถยนต์ส่วนบุคคลทั่วไป + รถ VIP ที่ต้องจอดใกล้ทางเข้า

  3. หาคำตอบของแต่ละตัวแปร (Solving each piece) โดยวิธีที่เหมาะสมสำหรับแต่ละตัวแปร เช่น

    จำนวนรถบัส หาจาก จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากสถาบันการศึกษาที่ตอบรับว่าจะมาร่วมงาน หารด้วยความจุโดยเฉลี่ยของรถบัส

    จำนวนรถตู้และรถส่วนบุคคลทั่วไป หาจาก จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ไม่ใช่สถาบันการศึกษาที่มาร่วมกิจกรรมในปีที่ผ่านมา รวมกับจำนวนเจ้าหน้าที่ผู้จัดงาน แล้วหารด้วยจำนวนคนเฉลี่ยต่อรถหนึ่งคัน

    จำนวนรถ VIP หาจากจำนวนบัตรเชิญวิทยากร และผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง คูณด้วย 2 (เผื่อผู้ติดตาม)

  4. การสรุปประเมินผล (Consolidating) หาข้อมูลของแต่ละตัวแปร แล้วนำมาคำนวณร่วมกันจนได้คำตอบที่ต้องการ

Mobirise web software - Read more