Project management 1 : 
การคิดและทำงานเป็นโครงการ


Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik

โครงการ (project) หมายถึง งานที่มุ่งหมายจะทำโดยมีการกำหนดวัตถุประสงค์ ระยะเวลา งบประมาณ กระบวนการและกิจกรรมเป็นลำดับอย่างชัดเจน โครงการต้องมีผู้รับผิดชอบ บริหารงาน เพื่อให้กิจกรรมต่าง ๆ เป็นไปตามแผนงาน เหมาะสมกับเวลาและงบประมาณที่ตั้งไว้

 โครงการมีหลายระดับ อาจจะเป็นโครงการส่วนตัว เช่น โครงการไปเรียนต่อต่างประเทศ โครงการแต่งงาน โครงการซื้อรถใหม่ เป็นโครงการระดับชุมชน เช่น โครงการอนุรักษ์คลอง โครงการส้วมสุขสันต์ หรือเป็นโครงการระดับประเทศ เช่น โครงการต้นกล้าอาชีพ โครงการลดการใช้พลังงานในภาคราชการ

(ที่มา : http://www.royin.go.th/?knowledges=โครงการ-๑-กันยายน-๒๕๕๒)


ลักษณะของโครงการ

  • ต้องมีระบบ (System) รายละเอียดโครงการต่าง ๆ มีความสอดคล้องและสัมพันธ์กัน เช่น วัตถุประสงค์ต้องสอดคล้องกับหลักการและเหตุผล วิธีดำเนินงานต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์
  • วัตถุประสงค์ต้องชัดเจน (Clear objective) โครงการต้องกำหนดวัตถุประสงค์สอดคล้องกับความเป็นมาของโครงการ มีความชัดเจน วัดได้ ปฏิบัติได้ ซึ่งสามารถมีมากกว่าหนึ่งวัตถุประสงค์ได้
  • ต้องเป็นการดำเนินงานในอนาคต (Future operation) เนื่องจากพบข้อบกพร่อง จึงควรแก้ไขและปรับปรุง โครงการจึงเป็นการดำเนินงานเพื่ออนาคต
  • เป็นการทำงานชั่วคราว (Temporary task) โครงการเป็นการทำงานเฉพาะกิจ เพื่อแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนา ไม่ใช่การทำงานประจำหรืองานปกติ
  • มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน (Definitely duration) โครงการมีกำหนดเวลาเริ่มต้น และสิ้นสุดชัดเจน ถ้าไม่กำหนดเวลาหรือให้โครงการดำเนินไปเรื่อย ๆ จะไม่สามารถประเมินผลสำเร็จได้ ซึ่งจะกลายเป็นงานตามปกติ
  • มีลักษณะเป็นงานเร่งด่วน (Urgently task) โครงการเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อสนองนโยบายเร่งด่วนที่ต้องการจะพัฒนาให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว หรือเป็นงานใหม่
  • มีต้นทุนต่ำ (Low cost) การดำเนินโครงการควรใช้ทรัพยากร หรืองบประมาณต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ โดยโครงการจะมีประสิทธิภาพเมื่อมีการลงทุนน้อย แต่ได้รับประโยชน์สูงสุด
  • เป็นการริเริ่มหรือพัฒนางาน (Creativity or Developing) โครงการต้องมีความคิดริเริ่มใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหา อุปสรรค และพัฒนางานให้ก้าวหน้า

วงจรโครงการ

Mobirise

วงจรโครงการ หมายถึง ขั้นตอนและความสัมพันธ์ของขั้นตอนในการดำเนินโครงการตั้งแต่การเริ่มมีความคิดที่จะดำเนินโครงการจนถึงการเสร็จสิ้นโครงการ รวมทั้งมีการประเมินผลการดำเนินโครงการอีกด้วย การพิจารณาวงจรโครงการจะช่วยให้เห็นภาพรวมของภาระงานที่จะต้องมีการดำเนินงานภายใต้โครงการนั้นๆ โดยมีองค์ประกอบของวงจร 5 ขั้นตอนใหญ่ๆ คือ
1.  การวางแผนโครงการ
2.  การเตรียมโครงการ
3.  การประเมินและอนุมัติโครงการ
4.  การนำโครงการไปปฏิบัติ
5.  การประเมินผลโครงการ

(ที่มา : ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการวิเคราะห์และประเมินโครงการ, มสธ.)

Made with Mobirise - See here