Project management 4 : 
การบริหารทรัพยากรมนุษย์


Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik

การบริหารมักหมายถึงการจัดสรรทรัพยากร 4 ประเภท ได้แก่ มนุษย์, เงินทุน, วัสดุอุปกรณ์ต่าง, และการบริหารจัดการ บรรดาทรัพยากรเหล่านี้ มนุษย์เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เพราะคนที่มีศักยภาพย่อมทำงานมีประสิทธิภาพและทำให้องค์กรพัฒนาก้าวหน้า

HRM – Human Resource Management = การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ คือ การใช้กลยุทธ์เชิงรุกในการบริหารจัดการบุคคลที่ทำงาน ทั้งกรณีที่ทำงานรวมกันและกรณีที่ทำงานคนเดียว เพื่อบรรลุเป้าหมายในการประกอบกิจกรรมใดๆ HRM ครอบคลุมตั้งแต่การวางแผนด้านกำลังคน การสรรหา การอบรม การสอนงาน การจ้าง การประเมินผล เป็นต้น
HRD – Human Resource Development = การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น กำหนดวิธีการจัดการและฝึกอบรมต่างๆ ตั้งแต่เรื่องทักษะในการทำงาน, องค์ความรู้ที่จำเป็น, ตลอดจนเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนทำให้การทำงานดีขึ้นและองค์กรเพิ่มศักยภาพได้มากยิ่งขึ้น

แนวคิดของหลักการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล

ปัจจุบันการบริหารจัดการและบริหารทรัพยากรมนุษย์มีสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อองค์กรต่างๆ ทั้งในภาคธุรกิจเอกชน และหน่วยงานราชการ เพราะไม่ว่าองค์กรจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปในทางใด ย่อมต้องเกี่ยวข้องกับตัวบุคคลทั้งสิ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ตัวชี้วัดความสำเร็จอย่างยั่งยืนขององค์กรนั้นอยู่ที่ "คุณภาพของคน" ในองค์กรนั้นๆ 

 ก่อนที่องค์กรต่างๆ จะเริ่มเห็นความสำคัญของการจัดการทรัพยากรมนุษย์นั้น “คน” เคยถูกมองเห็นว่าเป็นเพียงแค่ปัจจัยการผลิต หรือให้ความสำคัญเป็นแค่แรงงานหรือกำลังคน แต่ในปัจจุบัน “คน” ได้รับการนิยามใหม่พัฒนาความสำคัญเป็น "ทรัพยากรมนุษย์" ส่วนแผนกหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับบุคคลในองค์กรก็กำลังเปลี่ยนบทบาทจาก "งานบริหารบุคคลและธุรการ" ไปเป็น "การจัดการทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์" ซึ่งเปลี่ยนจากการจัดการเฉพาะหน้า ไปเป็นการใช้กลยุทธ์เชิงรุกอย่างต่อเนื่องในระยะยาว 

 
 ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ แพร่หลายอย่างมาก ในสาขาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ภาคปฏิบัติ (HR Practice) โดยมีแนวคิดของตัวแบบในการจัดการทรัพยากรมนุษย์จำแนกได้เป็น 2 สำนักคิด ดังตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา คือ

  1. ตัวแบบกลุ่มฮาร์วาร์ด (The Harvard model; Soft HRM) กลุ่มแนวคิดแบบ “มนุษยนิยมเชิงพัฒนาการ” (Developmental humanism) เป็นแนวคิดกระแสหลักที่ทรงอิทธิพลและแพร่หลายที่สุด มีรากฐานทางความคิดมาจากสำนักคิด "มนุษยสัมพันธ์" ซึ่งมีจุดเน้นอยู่ที่เรื่องของการสื่อสารในองค์การ การสร้างทีมเวิร์ก และการใช้ความสามารถของแต่ละบุคคล ให้เกิดอัตถประโยชน์สูงสุด กล่าวโดยสรุปสำหรับแนวคิดของสำนักนี้แล้ว การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์จะให้ความสำคัญกับเรื่องของการสร้างสัมพันธภาพของคนในองค์กร เพราะการที่จะทำให้องค์กรมีผลประกอบการที่ดีขึ้น องค์กรจะต้องสามารถตอบสนองความต้องการ ของบุคลากรในองค์กรให้เหมาะสม และเมื่อบุคลากรได้รับการตอบสนองที่ดี ก็จะเกิดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ทำให้องค์การเกิดภาวะอยู่ดีมีสุขทางสังคมขึ้นภายในองค์การ อันจะนำไปสู่คุณภาพและปริมาณงานที่ดีขึ้น

  2. ตัวแบบกลุ่มมิชิแกน (The Michigan School; Hard HRM) เป็นแนวคิดแบบ "บริหารจัดการนิยม" (Managerialism) กล่าวคือ เป็นกลุ่มที่เน้นเรื่องของ การบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ ที่มองการจัดการทรัพยากร มนุษย์ จากมุมมองของฝ่ายจัดการ คือการให้ความสำคัญอันดับแรกที่ผลประโยชน์ตอบแทนที่องค์กรจะได้รับ ดังนั้นจึงมีผู้เรียกแนวคิดของสำนักคิดนี้ว่าเป็นพวก "อัตถประโยชน์-กลไกนิยม" (Utilitarian-instrumentalism) คือมองผลประโยชน์หรือผลประกอบการขององค์กรเป็นหลัก

    (ที่มา : Wikipedia, การจัดการทรัพยากรมนุษย์)

การจัดการทรัพยากรมนุษย์ เพื่อการพัฒนาชีวิต หรือเพื่อเพียงเพิ่มผลผลิต

การจัดการทรัพยากรมนุษย์ไม่ว่าจะใช้ปรัชญาแบบ "มนุษย์นิยมเชิงพัฒนา" หรือ "บริหารจัดการนิยม" แต่หากพิจารณาเป้าหมายของแนวคิดทั้ง 2 นี้ ก็คือการเพิ่มคุณภาพและปริมาณงาน เพื่อผลประโยชน์หรือผลประกอบการขององค์กรเป็นหลัก


 เมื่อพูดถึงการพัฒนาคน หรือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จะต้องมีความชัดเจนว่า เราจะพัฒนาคนในฐานะอะไร คือ ในฐานะที่เป็นคนหรือเป็นมนุษย์ หรือในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ สองอย่างนี้คงไม่เหมือนกัน

 คําว่า “ทรัพยากรมนุษย์” นี้แปลมาจาก คําภาษาอังกฤษว่า human resources ซึ่งเป็นศัพท์ใหม่ เกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2504 ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นําของประเทศอุตสาหกรรม ในยุคที่กระแสการพัฒนาที่เน้นเศรษฐกิจกําลังแรง จนกระทั่งเรา มองคนเป็นทรัพยากร คือเป็นทรัพย์สิน เป็นทุน เป็นเครื่องมือ หรือเป็นปัจจัยที่จะนำไปใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

 The Oxford English Dictionary ฉบับ ค.ศ. 1991 ให้ความหมายของ human resources ว่า ได้แก่ “คน (โดยเฉพาะ บุคลากร หรือคนงาน) ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินที่สําคัญอย่างหนึ่งของธุรกิจ หรือองค์กร อย่างอื่น ตรงข้ามกับทรัพยากรวัตถุ เป็นต้น...” คําที่พจนานุกรมต่างๆ มักใช้อธิบายความหมาย หรือบางที่ใช้เป็น ไวพจน์ของ human resources (ทรัพยากรมนุษย์) ได้แก่ personnel (บุคลากร) manpower (กําลังคน) และ labour force (กําลังแรงงาน) 

ตัวอย่างดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า คําว่า “ทรัพยากรมนุษย์” เป็นเรื่องของการมองคนเป็นทุน เป็นองค์ประกอบ หรือเป็นปัจจัยที่จะนําไปใช้ใน การพัฒนาทางเศรษฐกิจและทางสังคม เฉพาะอย่างยิ่งที่เด่นชัดมากคือใน ทางเศรษฐกิจ โดยอาจจะถือเป็นเพียงปัจจัยในการผลิตอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้อง พัฒนาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ เพื่อจุดมุ่งหมายในการสร้างความเจริญ เติบโตหรือขยายตัวทางเศรษฐกิจ เริ่มตั้งแต่การเพิ่มผลผลิต

ในเรื่องนี้เราจะต้องมีความชัดเจน จะต้องมีการแยกว่าจะพัฒนาคน ในฐานะที่เป็นมนุษย์หรือเป็นตัวคน หรือจะพัฒนาคนในฐานะที่เป็นทรัพยากร สองคํานี้คนละอย่าง แต่ที่ว่านี้ก็ไม่ใช่หมายความว่าจะเลิกพัฒนาคนในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ ในแง่หนึ่งก็เป็นทรัพยากรทางสังคมและทางเศรษฐกิจ เพราะคนมีคุณภาพดีก็เอาไปใช้พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้ผลดี แต่เราคงไม่หยุดแค่นั้น คือในขั้นพื้นฐาน เราต้องพัฒนาคนในฐานะที่เป็นคน เพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ 

ความเป็นคนที่สมบูรณ์ หรือมนุษย์ที่สมบูรณ​์นั้น อย่างหนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องมือของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หมายความว่า คนสามารถมีความสมบูรณ์ในตัวของเขาเอง การพัฒนาคน คือการทำให้เขามีชีวิตที่ดี งดงาม ประณีต มีอิสรภาพ มีความสุข มีความเป็นคนเต็มคนในตัว 

ถ้าเราแยกอย่างนี้ได้ คือรู้ว่าพัฒนาคนในฐานะที่เป็นการพัฒนามนุษย์ คือ 

-  พัฒนาตัวมนุษย์ให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีชีวิตที่ดีงาม มีความสุข มีอิสรภาพ อย่างหนึ่ง 
-  พัฒนาคนนั้นในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ คือ เป็นทุนที่จะนําไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม อีกอย่างหนึ่ง
-  เราก็จะต้องจัดระบบในการพัฒนาคน ให้ครบทั้ง 2 ด้าน คือ
-  การจัดการศึกษา “วิชาชีวิต” เพื่อพัฒนาตัวคนให้เป็นบัณฑิต เป็นคนดี เป็นปัจจัยของสังคมที่ดี โดยสมบูรณ์
-  การจัดการศึกษา “วิชาชีพ” เพื่อเป็นเครื่องมือให้บัณฑิต ใช้ศักยภาพพื้นฐานของตน สร้างสรรค์ ทำประโยชน์ให้แก่งาน องค์กร สังคม อย่างถูกทิศถูกทาง และเกิดประโยชน์ยั่งยืน ทั้งแก่โลก รวมทั้งตัวของ คนๆ นั้นเองด้วย

(คัดลอกและขยายความจาก สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์, การศึกษาเพื่อสร้างบัณฑิต หรือการศึกษาเพื่อเพิ่มผลผลิต)

Created with Mobirise