Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik
การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Management : HRM) คือ กลยุทธ์ตลอดจนกระบวนการในการจัดการบุคลากรในองค์กรตามมิติต่างๆ เพื่อให้บุคลากรสามารถดำเนินการทำงานตามหน้าที่ของตนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเกิดปัญหาให้น้อยที่สุด รวมถึงการพัฒนาให้บุคลากรมีศักยภาพเพิ่มขึ้น เพื่อการปฎิบัติงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเพื่อความสำเร็จ ขององค์กรที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
1. การออกแบบโครงสร้างบุคคลากร (Organizing) เมื่อกำหนดเป้าหมายของงาน และแจกแจงงานที่ต้องทำชัดเจนแล้ว จึงสามารถออกแบบโครงสร้างบุคลากรได้ว่าจะต้องมีคนที่มีความสามารถเช่นไร จำนวนเท่าไร และคนเหล่านั้นจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร มีการแบ่งงานและกำกับควบคุมกันอย่างไร โครงสร้างองค์กรมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับลักษณะความสัมพันธ์ของงาน ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ วัฒนธรรมองค์กร ความสามารถของผู้นำ ฯลฯ
โครงสร้างแบบรวมศูนย์เหมาะกับงานที่ต้องมีการตัดสินใจจากศูนย์กลางที่มีอำนาจมาก หรือต้องการข้อมูลขากหลายฝ่ายในการตัดสินใจ แต่ถ้าองค์กรมีขนาดใหญ่ อาจเกิดความล่าช้าในการทำงานที่มีระดับขั้นตอนมาก
โครงสร้างแบบกระจายอำนาจ เหมาะกับงานที่สามารถแบ่งทีมย่อยทำงานได้โดยอิสระ ทำให้เกิดความคล่องตัว แต่ต้องมีการประสานในภาพ รวมที่ดี มิฉะนั้นอาจทำให้แต่ละทีมทำงานแบบต่างคนต่างทำ ไม่สอดคล้องกัน
บุคลากรในโครงสร้างองค์กรมี 2 กลุ่มคือ บุคลากรหลัก (line) มีหน้าที่ที่เป็นจุดประสงค์หลักขององค์กร เช่นฝ่ายผลิต, ฝ่ายคลีนิก และบุคลกรสนับสนุน (staff) ที่ให้คำปรึกษาเฉพาะทาง หรือทำงานสนับสนุนงานหลัก เช่น งานธุรการ บุคลากร พัสดุ บุคลากรทั้ง 2 ส่วนล้วนสำคัญและส่งเสริมซึ่งกันและกัน
2. การวางแผนกำลังคน (Manpower planning) คือการประมาณการจำนวนผู้ปฏิบัติงานที่เหมาะสม ในการทำงานแต่ละขั้นตอนให้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ทั้งในเชิงประมาณและคุณภาพ ซึ่งจะต้องสามารถระบุจำนวนคน จำนวนชั่วโมง และคุณสมบัติของบุคคล เพื่อจะได้ทำการสรรหาและจัดวางตัวบุคคลได้เหมาะสมต่อไป
หน่วยวัดปริมาณงาน มักใช้ มักนิยมใช้หน่วย จำนวนกำลังคน x เวลา เช่น งานที่ต้องใช้คน 5 คน ทำจึงจะแล้วเสร็จได้ในเวลา 10 ชั่วโมง แสดงว่าปริมาณงานดังกล่าวเท่ากับ 50 man-hour
3. การสรรหาและจัดสรรบุคลากร (Recruitment and Staffing) คือการสรรหาบุคคลที่เหมาะสม มาทำหน้าที่ตามตำแหน่งงาน ในโครงสร้างที่กำหนดไว้ หน้าที่สำคัญด่านแรกก็คือการ สรรหาบุคลากรเข้ามาทำงานในองค์กร มีกลยุทธ์ในการประเมินศักยภาพบุคลากรที่สอดคล้องกับคุณสมบัติที่ต้องการ และสามารถจัดวางตัวบุคคลได้เหมาะสมกับตำแหน่ง และเกิดความเป็นทีมที่ดี
คลิกดู ตัวอย่างการสรรหาบุคลากร ของสายการบินแอร์เอเซีย
4. การอบรมและพัฒนาบุคลากร (Training and Development) เนื่องจากทรัพยากรบุคคลต้องการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ หน้าที่ของฝ่ายทรัพยากรบุคคลชคือการอบรมพัฒนาบุคคลากรให้มีศักยภาพเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในด้านทักษะการทำงาน (วิชาชีพ) ที่มีความเฉพาะเจาะจงและลึกซึ้งไปตามหน้าที่ในองค์กร รวมทักษะชีวิต (วิชาชีวิต) เพื่อให้บุคลากรมีความสามารถในการใช้ชีวิตตนเอง และใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมได้อย่างสร้างสรรค์ เอื้อต่อการพัฒนาร่วมกัน
5. การบริหารจัดการด้านอัตราจ้างงาน (Payroll Management) ไม่ใช่เฉพาะการจ่ายค่าตอบแทน (เงินเดือน) เท่านั้น แต่รวมถึงการดูแลระบบการจ่ายเงินเดือนไม่ให้สะดุด รวมถึงตามเทคโนโลยีอันทันสมัยให้ทัน นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการประเมินงบประมาณอัตราจ้าง การบริหารงบประมาณ การประเมินเงินเดือนให้แต่ละตำแหน่ง รวมไปถึงการบริหารจัดการด้านการเงินต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน เช่น ประกันสังคม, ประกันสุขภาพ, กองทุนต่างๆ, ภาษี, ค่าชดเชยในกรณีต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมาย
6. การบริหารจัดการด้านประสิทธิภาพ และการประเมินการทำงาน (Appraisals and Performance Management) หลังจากที่รับพนักงานเข้ามาทำงานในองค์กรแล้วฝ่ายทรัพยากรบุคคลยังคงต้องคอยติดตามดูประสิทธิภาพของการทำงานของพนักงานแต่ละคนด้วย ทั้งนี้เพื่อตรวจสอบว่าได้คัดสรรคนเข้ามาทำงานได้ตรงตามที่องค์กรต้องการหรือไม่ มีประสิทธิภาพเพียงไร สมควรจะส่งเสริมด้านใดให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น และยังมีประโยชน์ต่อการประเมินค่าตอบแทน, การเลื่อนตำแหน่ง, หรือการเปลี่ยนสายงานได้อีกด้วย
การประเมินสมรรถนะ (Competency Assessment) หมายถึง การประเมิน ความรู้ ความสามารถ ทักษะ และพฤติกรรมการทำงานของบุคคลในขณะนั้นเปรียบเทียบกับระดับสมรรถนะที่องค์กรคาดหวังในตำแหน่งงานนั้นๆ ด้วยวิธีการหลายรูปแบบ เช่น การประเมินตนเอง, การประเมินโดยผู้บังคับบัญชา, การประเมินจากเหตุการณ์, แบบทดสอบ, แบบสอบถาม, พฤติกรรม เป็นต้น
7. การแก้ปัญหาและลดความขัดแย้ง (Conflict Resolution) ในเรื่องส่วนตัวไปจนถึงความขัดแย้งในเรื่องงาน ลดปัญหา และช่วยแก้ปัญหาได้เมื่อเกิดวิกฤติต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาที่สามารถใช้ระบบ ตลอดจนบริการต่างๆ แก้ไขได้ เช่น การกู้เงินฉุกเฉิน, ประกันอุบัติเหตุ, หรือแม้แต่การช่วยเหลือเรื่องสิทธิในการลาจากกรณีต่างๆ เป็นต้น
8. แรงงานสัมพันธ์ (Employee Relation) หนึ่งในหน้าที่หลักของฝ่ายทรัพยากรบุคคลนั้นก็คือเรื่องแรงงานสัมพันธ์ที่ฝ่ายบุคคลจำเป็นจะต้องประสานความสัมพันธ์ของแรงงานในส่วนต่างๆ ให้ดี แรงงานสัมพันธ์นี้คือเชื่อมความสัมพันธ์ในองค์กรให้เกิดความรักสามัคคีในการทำงานด้วย และหากพนักงานเกิดความร่วมมือกันอย่างดีเยี่ยม แน่นอนว่าองค์กรย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงตามไปด้วย อันที่จริงแล้วแรงงานสัมพันธ์นั้นมีรายละเอียดยิบย่อยมากมาย ตั้งแต่การให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับแรงงาน ไปจนถึงการประสานเรื่องแรงงานกับหน่วยงานภายนอก เพื่อให้องค์กรไม่เกิดปัญหาในเรื่องนี้ขึ้น ฝ่ายบุคคลที่ดีนั้นควรสร้างความสัมพันธ์ของคนในองค์กร และไม่ควรสร้างความแตกแยก หรือไม่อำนวยความสะดวกให้กับแรงงาน เพราะหากงานแรงงานสัมพันธ์บกพร่องก็อาจเป็นส่วนที่ทำให้องค์กรล่มสลายได้เช่นกัน
The site was made with Mobirise