ความสำคัญ และวิธีการจัดทำงบประมาณโครงการ


Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik

งบประมาณ (Budgeting) คือ การวางแผนการที่คาดว่าจะต้องจ่าย โดยการคิดล่วงหน้าและแสดงข้อมูลออกมาเป็นตัวเลข และ อาจแสดงออกมาในรูปของตัวเงิน จำนวนชั่วโมงในการทำงาน จำนวนผลิตภัณฑ์จำนวน ชั่วโมงเครื่องจักร ค่าสึกหรอ ค่าโสหุ้ย เป็นต้น

 งบประมาณถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมต้นทุนโครงการ ตลอดจนแผนงานตั้งแต่ในระดับโครงการจนถึงการบริหารจัดการบริษัท และใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหาร ทำให้มีประสิทธิภาพในการวางแผนทางการเงินเนื่องจากเป็นแผนงานที่แสดงออกในลักษณะเชิงปริมาณจะที่เกิดขึ้นในเวลาที่กำหนด เช่น รายสัปดาห์ รายเดือน รายไตรมาส หรือ รายปี โดยทั่วไปงบประมาณจะจัดทำขึ้นปีละครั้ง จึงเรียกว่า งบประมาณประจำปี โดยปีงบประมาณมักจะเป็นไปตามรอบบัญชีของบริษัท เช่น เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมและสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม เป็นต้น ส่วนของภาครัฐจะเริ่มปีงบประมาณในวันที่ 1 ตุลาคม และสิ้นสุดปีงบประมาณในวันที่ 30 กันยายนของปีถัดไป งบประมาณจึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการวางแผน กำหนดวัตถุประสงค์ และเป้าหมายในการดำเนินงานทาง ธุรกิจ นอกจากนี้ยังสามารถนำงบประมาณไปใช้ในการควบคุมแผนงานก็จะช่วยให้ฝ่ายบริหารสามารถติดตามผลการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงานได้อย่างดี 


กระบวนการงบประมาณหรือวงจรงบประมาณ (Budgeting Process) หรือวงจรงบประมาณ (Budgeting Cycle) ประกอบ ด้วยขั้นตอนสำคัญ 4 ขั้นตอนคือ

 1. การจัดทำงบประมาณ เพื่อประมาณการรายจ่าย ระยะเวลาที่ต้องใช้ รวมทั้งแหล่งที่มาของเงินทุน ของแต่ละงาน

 2. การอนุมัติงบประมาณ ฝ่ายบัญชีและฝ่ายการเงินจะพิจารณากลั่นกรองงบประมาณ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการบริหารหรือคณะกรรมการบริษัทพิจารณา ซึ่งอาจมีการอนุมัติแบบมีเงื่อนไขให้ปรับปรุง ก่อนประกาศใช้เป็นงบประมาณประจำปีต่อไป

 3. การบริหารงบประมาณ เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดที่จะแปลงแผนงาน ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม กำกับดูแลงานในความรับผิดชอบของตนให้มีประสิทธิภาพ ทั้งด้านการบริหารจัดการและการควบคุมต้นทุน รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 4. การติดตามประเมินผล จัดทำรายงานและติดตามประเมินผล การปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงาน ในช่วงเวลาที่กำหนด


(อ้างอิง :  IMD Company Limited, การจัดทำงบประมาณ (Budgeting) คืออะไร)

ในการทำโครงการของนักศึกษาก็ต้องมีการวางแผนงบประมาณอย่างง่ายๆ ซึ่งในการทำแต่ละโครงการต้องมีการประมาณเงินค่าใช้ในโครงการ รวมถึงต้องมีการแจกแจงรายละเอียดให้ชัดเจน เพื่อที่จะได้ทราบว่าในการดำเนินโครงการมีรายได้ หรือค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง ซึ่งการตั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ ต้องตั้งตามประเภทค่าใช้จ่ายตามที่คณะฯ กำหนด ซึ่งได้แก่


1. ประเภทค่าใช้จ่ายสำหรับดำเนินงาน ได้แก่ 

ค่าตอบแทน คือ เงินที่จ่ายตอบแทนให้แก่ผู้ที่ปฏิบัติงานให้ โดยมีอัตราตามที่แต่ละหน่วยงาน หรือองค์กรกำหนด เช่น ค่าวิทยากร ค่าตอบแทนต่างๆ

ค่าใช้สอย คือ รายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งบริการ หรือเกี่ยวกับการรับรองและพิธีการ เช่น ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าเช่ารถ ค่าทางด่วน ค่าใช้จ่ายต่างๆ

ค่าวัสดุ คือ รายจ่ายเพื่อจัดซื้อจัดหา หรือจ้างทำของเพื่อให้ได้มาซึ่งของใช้สิ้นเปลือง ไม่คงทนถาวร เช่น ค่าวัสดุสำนักงาน น้ำยาสารเคมี ค่าของที่ระลึก ค่าวัสดุการศึกษา


 2. ประเภทค่าใช้จ่ายสำหรับงบลงทุน หมายถึง รายจ่ายที่กำหนดให้จ่ายเพื่อการลงทุน ได้แก่ ค่าครุภัณฑ์ ค่าที่ดิน สิ่งก่อสร้าง 

ค่าครุภัณฑ์ หมายถึง รายจ่ายเพื่อให้ได้สิ่งของที่มีลักษณะโดยสภาพคงทนถาวร ไม่สิ้นเปลือง ไม่หมดไป เช่น เครื่องผลิตยา เครื่องมือตรวจทางห้องปฏิบัติการ

Made with Mobirise free site theme