ความมั่นคงทางการเงิน, อิสรภาพทางการเงิน, วินัยทางการเงิน


Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik

ในปัจจุบันนี้ หลายคนคงให้ความสำคัญกับคำว่า เงิน เนื่องจาก เงินเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง คนเราจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้มีเงินมากขึ้น และนำเงินมาเป็นปัจจัยหนึ่งในการเลือกทางดำเนินชีวิตอยู่เสมอ หลายคนเลือกเรียนและทำในสิ่งที่ไม่ชอบเพราะเงิน แต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุด คือ ยอมทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพื่อเงิน 

หากจะกล่าวถึงเรื่องความมั่งคั่ง มั่นคง ทางการเงิน หลายคนอาจเข้าใจว่า เราต้องมีรายได้ที่มากจึงจะรวย แต่นั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่จริงเสมอไป เพราะเราก็เห็นได้จากคนที่ถูกรางวัลที่ 1 หรือ นักกีฬาโอลิมปิกเหรียญทองบางคนก็กลับมาจนอีกครั้งได้

อิสรภาพ หรือความมั่นคงทางการเงินที่แท้ จึงไม่ได้หมายความว่าต้องมีรายรับให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ต้องมีเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตที่พอเหมาะ และเพียงพอสำหรับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตด้วย ถ้าเราสามารถวางแผนการเงินได้ดี และมีวินัยการเงินพอสมควร เราก็จะสามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องกังวลใจในเรื่องการเงิน ชีวิตก็เป็นอิสระจากการวิ่งหาเงินให้พอใช้ หรือทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยให้ได้เงินใช้หนี้ที่รออยู่ข้างหน้า เปลี่ยนมาเป็นการใช้ชีวิตให้สมคุณค่า โดยมีเงินเป็นปัจจัยเกื้อหนุน ทำงานทุกวันอย่างสนุก แล้วเอาผลตอบแทนที่ได้ไปเก็บออมหรือลงทุนตามแผนที่วางไว้ 

การสร้างอิสรภาพหรือความมั่นคงทางการเงิน จึงมิใช่เพียงการหาวิธีสร้างรายได้ แต่ต้องรู้จักควบคุมการใช้จ่ายให้พอเหมาะ

การสร้างอิสรภาพหรือความมั่นคงทางการเงิน จึงมิได้อาศัยเพียงความสามารถในการหาเงิน แต่ต้องมีความสามารถในการวางแผนการเงินด้วย

และการสร้างอิสรภาพหรือความมั่นคงทางการเงิน ก็มิได้อาศัยเพียงความสามารถในการวางแผนการเงิน แต่ต้องมีวินัยการเงินที่จะควบคุมการใช้ชีวิตของตนให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ให้ได้ด้วย


เป้าหมายทางการเงินขั้นพื้นฐานของชีวิต

เป้าหมายทางการเงินขั้นพื้นฐานของชีวิต ที่ทำให้เกิดความมั่นใจ วางใจ สบายใจในการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเงิน คือการวางแผนให้มีเงินเพียงพอสำหรับเป้าหมายพื้นฐาน ต่อไปนี้
 1. มีรายได้เพียงพอกับปัจจัยพื้นฐานในชีวิต (เพียงพอเพื่อคุณค่าแท้ของชีวิต ไม่หลงติดคุณค่าเทียมจนเกินกำลัง)
 2. เติมเต็มความสุขให้ชีวิตได้ตามฝัน (อย่างสมเหตุสมผล)
 3. พร้อมรับมือกับเหตุไม่คาดฝันที่อาจส่งผลกระทบทางลบกับการเงิน (มีภูมิคุ้มกันสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด)
 4. มีความมั่นคั่งเพียงพอ ดูแลตัวเองได้จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต (มีภูมิคุ้มกันสำหรับตนเอง และไม่ก่อภาระแก่ลูกหลาน)

หากจะวางแผนการเงินให้เกิดความมั่นคง ต้องเริ่มต้นที่ “การใช้จ่าย” ในช่วง 10 ปี แรกของการทำงาน แม้อาจจะยังได้เงินไม่มากนักเนื่องจากโลกจะจ่ายเงินให้ตามคุณค่าที่เรามอบให้แก่โลก ดังนั้น 10 ปีแรกของการทำงานเงินอาจจะได้ไม่มากก็พยายามเรียนรู้เรื่องงานให้มากที่สุด ในช่วงอายุ 30 ปี เงินเดือนก็จะเริ่มมากขึ้นตามความสามารถเรา และช่วงอายุหลัง 40 ปี ก็จะได้รับเงินมากขึ้น ตามคุณวุฒิ วัยวุฒิ และประสบการณ์การที่สั่งสมมา แต่หลังจาก อายุ 60 ปี เมื่อไม่มีรายได้ประจำ หากเราไม่เตรียมตัวไว้ ก็จะไม่มีเงินใช้

หลายคนก็อาจจะคิดว่า เมื่อเรามีรายได้เพิ่มขึ้นแล้วเราบริหารเงินให้ดี จะมีส่วนต่างตามรูป เราก็จะมีเงินเก็บไว้ใช้ตอนเกษียณได้แบบไม่ต้องกังวล แต่จากคำกล่าวของ ซีริล นอร์ทโคท พาร์กินสัน นักเศรษฐศาสตร์ ชื่อดัง เจ้าของผลงาน “กฏของพาร์กินสัน” (The Parkinson,s Law) ได้กล่าวว่า “The demand upon a resource tends to expands to match the supply of the resource.” หรือความต้องการทรัพยากรจะเพิ่มตามจำนวนทรัพยากรที่มีอยู่

จากคำพูดดังกล่าว ทำให้ทราบว่ามนุษย์เรามีความสามารถมากที่จะ เพิ่มรายจ่ายให้เท่ากับรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันการเข้าถึงสินเชื่อหรือการกู้ยืมเงินต่างๆง่ายขึ้นดังนั้นแล้วหากเราไม่ใส่ใจในการเก็บเงินออม หรือการลงทุน เมื่อเราเกษียณ ก็อาจจะไม่มีเงินเพียงพอจนถึงวาระสุดท้าย

เนื่องจากเรามีช่วงเวลาหารายได้ 40 ปี เพื่อที่จะใช้เลี้ยงชีวิต 60 ปี ดังนั้น เงินเดือน 1 เดือน ต้องสามารถใช้ได้ 1.5 เดือน จึงจะมีเงินพอใช้หลังเกษียณ ซึ่งจากการสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าคนไทย 97% มีเงินไม่พอใช้หลังเกษียณ จึงทำให้ต้องพึ่งลูกหลานและพึ่งเงินจากภาครัฐซึ่งก็มีความไม่แน่นอน แต่หาก “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” อย่าหวังหรือรอคอยความช่วยเหลือจากใครหรือภาคส่วนใด แต่จงเชื่อในตัวเอง คิดและทำเพื่อตัวเองโดยเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการวางแผนเกษียณตั้งแต่วันนี้

เพราะฉะนั้นแล้วจุดเริ่มต้นที่สำคัญของความมั่นคงคือ เงินออม 


1. การจัดการสภาพคล่อง : มีเงินกินใช้และมีเงินเหลือเก็บ ควรมีเงินออมอย่างน้อย 10% ของรายได้

2. จัดการความเสี่ยง : เราต้องมีเงินสำรองประมาณ 6 เท่าของรายจ่ายประจำเดือน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปกู้ยืมเงินใคร (ต่อให้มีปัญหา เจ็บป่วย ตกงาน ก็ยังอยู่ได้ครึ่งปี เพื่อตั้งต้นงานใหม่) หรืออาจจะมีประกันไว้ ตามแต่ความเสี่ยงของแต่ละบุคคล

3. ลงทุนต่อยอด : สิ่งสำคัญก่อนที่จะลงทุนในรูปแบบใดๆ คือการลงทุนความรู้ในตนเอง

ประโยชน์ของการมีอิสรภาพทางการเงิน และความมั่นคงทางการเงินที่แท้จริง

อิสรภาพทางการเงิน คือ สิทธิ์ในการเลือกใช้ชีวิตแบบที่ต้องการโดยที่ไม่มีเงินมาเป็นเครื่องพันธนาการ (ซึ่งก็อาจจะไม่ต้องมีเงินมาก)

สุขภาพการเงินที่ดี ประกอบด้วย 6 เสาหลัก ได้แก่ สภาพคล่องดี (มีกิน มีใช้ มีเหลือเก็บ), ปลอดหนี้จน, พร้อมชนความเสี่ยง, มีเสบียงสำรอง, สอดคล้องเกณฑ์ภาษี, บั้นปลายปีมีเงินเกษียณ 

ทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ ต้องมี “ความรับผิดชอบทางการเงิน” “ความรู้ทางการเงิน” และที่สำคัญต้องมี “วินัยทางการเงิน”


 ช่องทางการเรียนรู้เพิ่มเติม
- http://www.moneycoach4thai.com/
- www.youtube.com/moneycoach4thai
- http://www.a-academy.net/

Mobirise site software - Go here