บทนำ : ตั้งคำถาม ต่อการศึกษา การงาน และชีวิต


Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik

การศึกษา และสรรพวิทยาในโลก กำลังนำพาเราไปไหน ?

ครู กำลังสอนให้เราเป็นคนเช่นไร ?

การศึกษา ที่แท้ คืออะไร ?

ทำไมเราต้องดิ้นรนเพื่อการศึกษา [1]  เราต้องการการศึกษาเพียงเพื่อให้สอบได้และมีงานทำเท่านั้นหรือ หรือการศึกษาจะทำให้เราเข้าใจชีวิตทั้งหมด การงานและอาชีพเป็นสิ่งจำเป็นแต่มันเป็นทุกอย่างในชีวิตแล้วหรือ ชีวิตเป็นสภาวะที่กว้างขวางลึกซึ้งซึ่งเราในฐานะมนุษย์ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ หากเราตั้งเป้าหมายของชีวิตที่อาชีพ และให้การศึกษาเพียงเพื่อเตรียมเราให้ประกอบอาชีพ เราก็จะพลาดจากจุดหมายทั้งหมดของการมีชีวิต และชีวิตของเราก็ไม่ต่างจากเครื่องจักร 


 เรายอมรับการศึกษาแบบไม่ต้องคิดมาก การศึกษากลายเป็นแค่แม่พิมพ์ที่ปั๊มฟันเฟืองตัวหนึ่งให้เข้าไปขับเคลื่อนสังคมที่ปราศจากชีวิต และเราก็พอใจกับการศึกษา และวิถีของสังคมแบบนั้น สิ่งที่เราได้รับจากการศึกษาจึงเป็นเพียงการลอกเลียนแบบ จากต้นแบบซึ่งได้แก่ ครูและผู้เชี่ยวชาญในยุคก่อนหน้า โดยปราศจากการตั้งคำถามและตรวจสอบ ทั้งต่อเนื้อหาของสรรพวิชา และแนวคิดพื้นฐานของการศึกษา การคล้อยตามสังคม หรือสิ่งที่ครูและพ่อแม่สั่งสอน เป็นเรื่องที่ง่ายปลอดภัย และเข้ากันได้ดีกับสังคม แต่มันอาจนำพาเราไปผิดทิศผิดทาง และสร้างหายนะทั้งต่อตัวเราเอง และโลกของเรา


 การศึกษา น่าจะได้ทำหน้าที่ในการหาคำตอบเกี่ยวกับชีวิต และสังคม โดยการพัฒนาปัจเจกชนให้รู้จักตนเอง และบทบาทแห่งตนที่มีต่อสังคมที่แท้ แต่การศึกษาก็กลับละเลยหน้าที่ของตน มิหนำซ้ำยังกลายเป็นเครื่องมือในการลากจูงผู้คนให้ละเลยการค้นหาคำตอบเหล่านั้นด้วยการหลอกลวงให้คนเข้าใจว่านั่นเป็นหน้าที่ของพระ และนักศึกษาวิชาปรัชญาเท่านั้น 


 นั่นคือกับดัก ที่การศึกษาสมัยใหม่ได้วางไว้ การศึกษาแบ่งแยกตัวเองออกเป็นส่วนๆ เพื่อให้เราติดตันอยู่ที่แต่ละส่วนนั้นโดยไม่มีวันเห็นความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละชิ้นส่วน แล้วสร้างผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาขึ้นในโลกเป็นจำนวนมหาศาล และเขาเหล่านั้นหวังว่า เขาจะสามารถแก้ปัญหาของโลกใบนี้ได้ด้วยความเป็นผู้เชี่ยวชาญของเขา ทั้งที่เขาเองก็อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า ปัญหาของเขาคืออะไร ‘เซอร์ อัลเบิร์ต โฮวาร์ด ตำหนิความรู้เป็นส่วนๆ ของผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย โดยชี้ให้เห็นว่าเราต้องศึกษาสิ่งที่เราเกี่ยวข้องในลักษณะองค์รวม คือรวมทั้งส่วนที่เรารู้ และส่วนที่เราไม่รู้ เขาหวาดเกรงว่าวิทยาศาสตร์ประยุกต์สมัยใหม่ สมัครใจที่จะลดส่วนของชีวิต มาสู่สิ่งที่สามารถรู้ได้’ [2]


 การศึกษาสอนให้เราเป็นใหญ่เหนือธรรมชาติ เราอาจลืมไปว่ามนุษย์เคยหวาดกลัว และกราบไหว้ธรรมชาติมาก่อน แต่เมื่อมนุษยชาติมีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติเพียงเล็กน้อย ก็ลำพองว่าตนเข้าใจถ่องแท้และจะสามารถควบคุมธรรมชาติได้ ‘ในหนังสือชื่อว่า A Green History of the World มีบทหนึ่งซึ่งสืบประวัติความคิดของตะวันตก ตั้งแต่โสเกรติส เพลโต อริสโตเติล ผ่านนักปรัชญาศาสนา ตลอดจนนักวิทยาศาสตร์ นักจิตวิทยา และนักปรัชญาเชิงวิทยาศาสตร์ ท่านเหล่านี้ล้วนแต่พูดถึงความคิดหมาย มุ่งมั่นที่จะเอาชนะธรรมชาติ ด้วยเข้าใจว่าความสำเร็จของมนุษย์อยู่ที่การเอาชนะธรรมชาติ และการจัดการธรรมชาติตามชอบใจ แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นจุดติดตันที่ทำให้รู้ตัวว่านี่คือภัยพิบัติของมนุษย์’ [3]


‘ในความพยายามที่จะเข้าใจธรรมชาติ เรามี ๒ หนทาง หนึ่งคือการมองลึกลงไปในตัวเอง ผู้ที่ต้องการจะเข้าใจธรรมชาติ หนทางนี้จะนำไปสู่อาณาจักรแห่งปรัชญาและศาสนา ส่วนหนทางที่สองคือการวิจัยสืบค้นธรรมชาติ โดยแยกขาดจากมนุษย์ โดยทางนี้ธรรมชาติจะถูกแบ่งเป็นปรากฏการณ์ที่หลากหลาย แยกขาดจากกันสำหรับการศึกษาวิจัย อันจะนำไปสู่คำถามอื่นๆ อย่างไม่จบสิ้น และนี่คือหนทางของวิทยาศาสตร์’ [4]


 การศึกษาเพื่อเข้าใจธรรมชาติ โดยการมองลึกลงไปในตัวเอง คือการเฝ้าสังเกต และพิจารณาให้เห็นสภาพความเป็นจริงที่แท้ของธรรมชาติ มิใช่การครุ่นคิดคำนึงด้วยหลักเหตุผล เพื่อตอบปัญหาที่ไม่มีอยู่จริง เพราะนั่นเป็นเพียงความคิดของมนุษย์ มิใช่ตัว ธรรมชาติที่แท้ หากเป็นเช่นนั้น ‘ธรรมชาติที่ถูกรับรู้ด้วยวิธีทางปรัชญาก็เป็นเสมือนภูตผีที่มีเพียงวิญญาณแต่ปราศจากโครงร่าง ในขณะที่วิทยาศาสตร์ก็เป็นเพียงการรับรู้ธรรมชาติที่มีแต่โครงกระดูกแต่ไร้วิญญาณ’ [4]


 วิทยาศาสตร์ล่อลวงให้เราหลงทาง หลายครั้งที่มนุษย์เพียรพยายามศึกษาธรรมชาติโดยไร้เหตุผล และไม่มีจุดหมาย ‘ในประเทศญี่ปุ่น มีการวิจัยมากมายเกี่ยวกับการพัฒนาวิธีเพาะปลูกพืชผักบางชนิดในตู้กระจกในฤดูหนาว แต่มีคำถามง่ายๆ ที่เราควรตอบเสียก่อนว่า มันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์หรือไม่ที่จะต้องกินมะเขือยาว และแตงกวาในฤดูหนาว ? หลายสิ่งเป็นสิ่งไม่จำเป็น แต่เมื่อมนุษย์เกิดความต้องการโดยไร้เหตุผล เมื่อมนุษย์เข้าไปแทรกแซงธรรมชาติ เมื่อนั้นวิทยาศาสตร์ก็จะกลายเป็นสิ่งจำเป็น การเข้าไปแทรกแซงของมนุษย์ทำให้เกิดความผิดพลาด และถ้าความเสียหายนั้นถูกปล่อยไว้ก็จะสะสมมากเข้า คนเราจึงต้องทุ่มเทความพยายามทั้งมวลเพื่อเข้าไปแก้ไขมัน หากการแก้ไขลุล่วงไปได้ด้วยดี พวกเขาก็จะคิดว่าวิธีการเหล่านั้นเป็นความสำเร็จอันงดงาม คนเรามักทำเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันก็เหมือนกับคนโง่ที่ปีนขึ้นไปบนหลังคาบ้าน แล้วทำกระเบื้องบนหลังคาแตก เมื่อฝนตกน้ำก็รั่วเข้ามา เขาก็จะรีบปีนขึ้นไปซ่อมหลังคา จากนั้นก็ดีอกดีใจที่เขาได้พบวิธีแก้ปัญหาที่วิเศษ เหมือนนักวิทยาศาสตร์ที่คร่ำเคร่งอ่านตำราจนสายตาสั้น หากคุณสงสัยว่าอะไรทำให้เขาต้องคร่ำเคร่งเช่นนั้น คำตอบคือ เขาเป็นนักประดิษฐ์แว่นตาสำหรับคนสายตาสั้น’ [4]


 การศึกษาในปัจจุบันจึงมิได้ทำหน้าที่ค้นหาคำตอบใด ๆ หากแต่เป็นเพียงการตามแก้ปัญหาที่มนุษย์ก่อไว้อย่างไม่มีวันสิ้นสุดเท่านั้นเอง ดังนั้น ‘ก่อนที่นักวิจัยจะเป็นนักวิจัย เขาควรจะเป็นนักปรัชญาเสียก่อน เขาควรจะได้พิจารณาว่า อะไรคือเป้าหมายที่มนุษยชาติควรสร้างขึ้น’ [4]  


 วิทยาศาสตร์หวังว่าจะสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ของมนุษยชาติได้ แพทย์หวังว่าความรู้ใหม่ๆ จะช่วยชีวิตมนุษย์ให้ยืนยาวยิ่งขึ้น วิศวกรหวังว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้นและสุขสบายยิ่งขึ้น ส่วนนักวิชาการเกษตรก็หวังว่าการพัฒนาพันธุ์พืชจะทำให้เรามีอาหารเพียงพอที่จะเลี้ยงคนทั้งโลกได้ แต่ในความเป็นจริง แม้ว่าวิทยาการต่างๆ เหล่านี้สามารถพัฒนาถึงที่สุดแล้ว จะสามารถแก้ปัญหาของมนุษย์ได้จริงละหรือ ? ท่านพุทธทาส ภิกขุ กล่าวไว้ว่า ‘การแก้ปัญหาเรื่องให้มีข้าวกิน ให้รู้หนังสือ ให้ไม่เจ็บไข้ นี้มันเป็นเรื่องน่าหัว ไม่ถือว่าเป็นปัญหา หรือมันเป็นปลายเหตุ ปัญหาต้นเหตุมันไม่ได้แก้ คือการที่มนุษย์ไม่มีศีลธรรม ไม่เข้าใจธรรม (คือธรรมชาติ) ถึงแม้ว่าแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ คือมนุษย์รู้หนังสือ มีอาหารกิน มนุษย์จะสบายดีอย่างนั้นหรือ นี่อย่าหาว่าด่า แต่จะบอกว่ามนุษย์ที่ไม่รู้หนังสือเคยมีความสุขแท้จริงมากกว่ามนุษย์ที่มีความรู้มากๆ มนุษย์ที่มีอาหารกินจะมีประโยชน์อะไร ถ้ามีชีวิตอยู่เพื่อทนทุกข์ มันตายเสียดีกว่าใช่ไหม’ [5]  แต่นั่นมิได้หมายความว่าพุทธศาสนาปฏิเสธหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อวิทยาศาสตร์ เพียงแต่รับรู้ถึง ความไม่สมบูรณ์บางส่วนของวิทยาศาสตร์ ‘เราอาจใช้ประโยขน์จากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้ชีวิตของเรายืนยาวขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือการใช้ชีวิตนั้นอย่างฉลาดเพื่อคุณค่าทางจิตวิญญาณ’ [6]


จุดมุ่งหมายของการศึกษาที่แท้ ในระดับบุคคล ต้องมี ๒ ส่วน [3]  คือ ส่วนที่เป็นการถ่ายทอดวิชาการ ความรู้ความชำนาญ ที่จะทำให้ผู้เรียนมีเครื่องมือไปเลี้ยงชีพ ทำมาหากินได้ และอีกส่วนหนึ่งคือการพัฒนาความเป็นมนุษย์ของผู้เรียน ทั้งในแง่พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ผู้ที่มีปัญญาจึงควรได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิต กล่าวคือเป็นบุคคลที่สามารถพัฒนาตนจนกระทั่งสามารถเป็นอยู่ได้โดยไม่ต้องอาศัยกิเลสตัณหา เพราะตามธรรมดามนุษย์ปุถุชนต้องอาศัยกิเลสตัณหา เช่น อาศัยความโกรธไว้ต่อสู้ อาศัยความกลัวไว้หนีภัย เป็นต้น มิฉะนั้นจะอยู่ไม่รอดเพราะปัญญาไม่เพียงพอ แต่เมื่อเราพัฒนาปัญญาสมบูรณ์แล้ว ก็ไม่ต้องอาศัยกิเลสตัณหาอีก มนุษย์จึงเป็นอิสระ ดังนั้นหน้าที่ของการศึกษาก็คือ (๑) การทำให้คนเป็นบัณฑิต และ (๒) การให้เครื่องมือแก่บัณฑิต


 จุดมุ่งหมายของการศึกษา ในระดับองค์รวม7 คือนอกจากจะทำให้มนุษย์เข้าใจในชีวิตแล้ว จะต้องเข้าใจสังคม และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ และประสานประโยชน์ซึ่งกันและกันอย่างเกื้อกูล ทั้งนี้โดยหลักใหญ่แล้ว ก็คือการตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งต่างๆ รอบตัว แล้วพัฒนาความต้องการของมนุษย์ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ และสังคม และเมื่อมนุษย์มีความเข้าใจในธรรมชาติที่แท้ ก็จะนำไปสู่การจัดตั้งระบบสังคมโดยสามารถเอาความรู้ในธรรมชาติมาจัดสรรให้เกิดวินัย เป็นระบบแบบแผนในสังคมมนุษย์ได้อย่างสอดคล้อง


 การศึกษาที่แท้จะเกิดขึ้นได้ มิใช่ด้วยการเรียกร้องต่อผู้นำประเทศ ผู้อำนวยการโรงเรียน หรือคุณครูของเรา หากแต่ต้องเกิดจากตัวเราเอง ในฐานะที่เราเป็นผู้รับการศึกษา และในเวลานั้นเราก็คือผู้ให้การศึกษาแก่ผู้คนรอบข้างของเรา เมื่อเราเข้าใจว่าการศึกษาที่แท้เกิดขึ้นในทุกๆ ขณะของชีวิตที่เปลี่ยนแปรอยู่เสมอ และเกิดจากทุกๆ สิ่งที่ผ่านเข้าสู่ชีวิตของเรา การศึกษาเช่นว่านี้ย่อมนำพาเราไปสู่ความเข้าใจอันวิเศษต่อสิ่งที่เรียกว่า ‘ชีวิต’ และ ‘ธรรมชาติ’ ที่แท้ ดังนั้นทุกขณะไม่ว่าเราจะเดิน กิน ดื่ม ยินดี โกรธแค้น หรือเจ็บปวด เราย่อมมีโอกาสที่จะเข้าใจชีวิตได้มากขึ้นเสมอ และเราก็จะมีความสุขกับการศึกษาที่แท้ มีความสุขกับการทำความเข้าใจชีวิตที่เป็นของเรา และมีความสุขต่อการมีชีวิตที่เป็นอิสระ


‘การเรียนรู้ชีวิต คือการเฝ้าดูชีวิต ขณะที่มันกำลังเคลื่อนไหวในขณะจริง การเรียนรู้ในทัศนะนี้ไม่ใช่เพื่อที่จะได้ความรู้ที่จะสะสม จดจำ หรือพอกพูนเป็นคลังแห่งความรู้อย่างที่เราเรียนๆ กันในโรงเรียน ดังนั้นการเรียนรู้ที่แท้จริงจึงหมายถึงการเห็นนั่นเอง เห็นสิ่งที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่จริงๆ ต่อหน้า เพราะฉะนั้นเราต้องตั้งสติขึ้นให้ดี เพื่อรู้เห็นกระบวนการของชีวิต ของอารมณ์ ที่นี่และเดี๋ยวนี้’ [7]


การเรียนรู้ที่แท้จริง ไม่มีวันจบสิ้น เรามิได้เรียนรู้เพื่อประกาศนียบัตร หรือคำรับรองใดๆ เราเพียงแต่เรียนรู้ชีวิตของเราเองในแต่ละขณะที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งแปลกใหม่ เปลี่ยนแปรไปไม่เคยซ้ำกันเลย เมื่อเราได้เริ่มการเรียนรู้เช่นว่านี้แล้ว เราจะไม่พูดว่าเรารู้แล้ว และเราไม่ต้องเรียนรู้อีกต่อไป การเรียนรู้จะจบลงก็ต่อเมื่อชีวิตของเรายุติลง


อ้างอิง
[1]  กฤษณมูรติ, ๒๕๔๓, แห่งความเข้าใจชีวิตและการศึกษาที่แท้, มูลนิธิโกมลคีมทอง 
[2]  อารัมภบท โดยเวนเดล แบร์รี, ในหนังสือปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว ของ มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ 
[3]  พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต), ๒๕๓๙, พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัฒน์, คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
[4]  มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ, ๒๕๔๑, ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว, มูลนิธิโกมลคีมทอง
[5]  พุทธทาสภิกขุ, ๒๕๒๙, ธัมมิกสังคมนิยม
[6]   ฌอง-ฟรองซัว เรอเวล และมัตติเยอ ริการ, ๒๕๔๒, ภิกษุกับนักปรัชญา, สำนักพิมพ์ออร์คิด
[7]   นิต ‘ษานนท์, ๒๕๔๐, เธอควรจะรู้สึก, ชมรมพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหิดล

Site was built with Mobirise