เป้าหมายชีวิต : อัตถะ 3


Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik

เมื่อขยายมุมมองต่อเป้าหมายของการทำงาน ไปสู่เป้าหมายของชีวิตทั้งหมด 


พระพุทธศาสนานำเสนอจุดหมายของชีวิตเป็น 3 ระดับ และ 3 ด้าน (อัตถะ 3) ถ้าแบ่งตามระดับ เป็น 3 ระดับ คือ

1. ประโยชน์ปัจจุบัน (ทิฏฐธัมมิกัตถะ)
คือประโยชน์อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ ในปัจจุบัน เป็นเรื่องการดำเนินชีวิต การเป็นอยู่ที่ปรากฏทางวัตถุที่เห็นกันได้ เช่น การมีปัจจัย 4 มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย มีฐานะ มีลาภ มีเกียรติ มียศ มีสรรเสริญ เรื่องชีวิตคู่ครอง ความมีมิตรไมตรี อะไรต่างๆ ในชีวิตปัจจุบันนี้ นี้เป็นประโยชน์ปัจจุบัน ซึ่งพระพุทธศาสนาก็สอนว่าเป็นจุดหมายประการหนึ่งในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ หรือการปฏิบัติตามธรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีความสำคัญ แต่มิใช่จิดหมายเดียวเท่านั้นของการมีชีวิต

2. ประโยชน์เบื้องหน้า (สัมปรายิกัตถะ)
คือประโยชน์ที่ต่อออกไป ได้แก่สิ่งที่เป็นหลักประกันชีวิตในเบื้องหน้า หมายถึงสิ่งที่ลึกเข้าไปทางจิตใจ คือ พ้นจากเรื่องทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การมีฐานะ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ ชั้นภายนอกแล้วก็มาถึงเรื่องจิตใจ คือคุณธรรมต่างๆ การที่จะมีจิตใจที่สุขสบาย มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ มีศรัทธา มีความประพฤติซึ่งทำให้มั่นใจตนเอง มีศีล มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความรู้ได้เล่าเรียนศึกษา และมีปัญญา มีความเข้าใจรู้จักสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง

3. ประโยชน์สูงสุด (ปรมัตถะ)
คือ ความมีใจเป็นอิสระ ความมีจิตหลุดพ้นจากการถูกบังคับบงการชีวิตด้วยดำนาจของความอยากได้ อยากมี อยากเป็น จึงมีจิตใจปลอดโปร่งผ่องใสเบิกบานอยู่เป็นพื้นฐาน เพราะปราศจากกิเลส

อนึ่ง ถ้าหากจะไม่แบ่งในแง่ระดับ จะแบ่งในแง่ประโยชน์ หรือจุดหมายที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เป็นด้านๆ ก็แบ่งไว้อีก บอกว่าประโยชน์ หรืออัตถะ มี 3 ด้าน คือ

 1. ประโยชน์ตน (อัตตัตถะ)

 2. ประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถะ)

 3. ประโยชน์ร่วมกัน (อุภยัตถะ)

ความหมายของประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่นนั้นชัดอยู่ในตัว คือการทำประโยชน์ 3 ระดับข้างต้น ให้เกิดมีขึ้น แก่ตน และแก่ผู้อื่น ส่วนประโยชน์ร่วมกัน นั้นต่างจาก 2 ข้อแรกอย่างไร

ประโยชน์ร่วมกัน หรือประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย หมายถึงสิ่งที่เกื้อกูล เป็นคุณแก่ชีวิตของตนและของผู้อื่น ช่วยให้เป็นอยู่กันด้วยดี พากันประสบประโยชน์ทั้ง 3 ระดับ ยิ่งขึ้นไป นั่นจึงหมายความต่างไปจาก 2 ข้อแรก ที่มองประโยชน์ของตน กับ ประโยชน์ของผู้อื่น แยกต่างหากจากกัน แต่ในข้อที่ 3 นั้น เป็นประโยชน์ที่เกิดแก่ทั้งตนและผู้อื่น โดยมองเห็นชัดว่าตนและผู้อื่นนั้นเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่แยกขาด ต่างหาก หรือตรงข้ามกัน มิใช่ว่า ถ้าเราได้ประโยชน์ คนอื่นก็จะเสีย หรือถ้าผู้อื่นได้ เราก็จะอด เพราะหากมองอย่างนั้น การแก่งแย่ง แข่งขัน ต่อสู้ ก็จะเกิดขึ้น แม้จะพยายามทำประโยชน์ทั้ง 3 ระดับ ให้ดี ในด้านใดด้านหนึ่ง แต่ถ้ามองเห็นตนและผู้อื่นสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกัน ประโยชน์ทั้ง 3 ระดับ ก็จะเกื้อกูลส่งเสริม ทั้งในระดับบุคคลและสังคม และนำพาซึ่งกันและกันให้เจริญในประโยชน์ทั้ง 3 ด้าน ยิ่งขึ้นสืบไป
 ตัวอย่างเช่น การมีการมีตำแหน่งหน้าที่การงานสูงในวงงานของตน จะมองว่าเป็นประโยชน์ตนก็ได้ ถ้ามุ่งไปที่ผลประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับ (แต่ก็อาจหลงลืมที่จะมองคุณค่าที่แท้ที่งานนั้นมีต่อสังคม) หรือถ้ามองในแง่ว่าผู้ทำงานทำประโยชน์ให้แก่สังคมด้วยตำแหน่งหน้าที่นั้นก็นับได้ว่าเป็นประโยชน์เพื่อผู้อื่น (แต่บางคราวก็อาจเสียประโยชน์ของตน หรือเบียดเบียนตนเอง ทให้ตนเองไม่มีสุขภาวะทางกาย ทางใจที่ดี) แต่ถ้ามองเห็นหน้าที่การงานนั้นเป็นประโยชน์ร่วมกันได้ ก็จะสามารถทำให้เกิดผลดี เกิดการพัฒนาตนเองด้วย และก็เป็นปัจจัยในการเกื้อกูลแก่โลกด้วย อย่างสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่เกิดการขัดแย้งหรือเบียดเบียนด้านใดด้านหนึ่ง


สรุปความจาก
- สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต), หลักทั่วไปของพุทธศาสตร์
- สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต), 2546, พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์

Mobirise
ความสุขที่เราควรรู้จัก  |  พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

Page was created with Mobirise