ค่านิยมทางสังคมที่เป็นธรรม :
เสรีนิยม vs สังคมนิยม


Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik

ค่านิยมทางสังคม (Social value) คือความคิดของกลุ่มหรือสังคมเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสม หรือถูกทำนองคลองธรรม สิ่งใดถูกสิ่งใดผิด สิ่งใดน่านิยมชมชอบ สิ่งใดน่ารังเกียจ .. ที่เป็นเอกภาพซึ่งคนทั่วไปยึดถือร่วมกัน [1]  ส่งผลชี้นำทิศทางความคิดและพฤติกรรมของคนในสังคม หรืออย่างน้อยก็คนส่วนใหญ่ในสังคม ให้มีเจตน์จำนงในการกระทำไปในทางใดทางหนึ่ง ค่านิยมเหล่านี้ อาจเกิดจากความเชื่อทางศาสนา การเมือง หรือปัจจัยอื่นๆ และค่านิยมเหล่านี้ ก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ค่านิยมบางอย่าง อาจถูกพิสูจน์ว่าผิด หรือปรากฏผลในระยะยาวให้ประจักษ์ในทางเสียหาย หรือถูกทดแทนด้วยค่านิยมอย่างใหม่ที่เชื่อว่าดีกว่า ก็ได้

 เราเคยตั้งคำถามต่อค่านิยม ที่ถูกเชื่อว่าถูกต้อง ของสังคมของตน หรือไม่ ? ค่านิยมเหล่านั้นกำลังชี้นำชีวิตเราไปในทางใด ?

หลายครั้งในประวัติศาสตร์ของโลก สิ่งที่สังคมเชื่อกันว่าใช่ กลับถูกท้าทายและหักล้าง .... 


ศาสนาของตะวันตกเริ่มต้นและดำเนินมาด้วยความรุนแรง เมื่อศาสนาคริสต์เกิดขึ้นใหม่ๆ จักรวรรดิโรมันกำลังเรืองอำนาจ ครอบครองทั่วยุโรป ศาสนาคริสต์ถูกกำจัดกวาดล้างอย่างรุนแรงเริ่มแต่ ค.ศ.64 เป็นต้นมา ตลอดเวลาประมาณ 250 ปี จนถึง ค.ศ.313 คริสต์ศาสนิกชนถูกกำจัดกวาดล้างสังหารอย่างทารุณ รวมทั้งถูกจับเอาไปโยนให้สู้กับเสือสิงห์จนถูกกินให้คนดูในสนามกีฬาโคลีเซียม อันยิ่งใหญ่ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความงามสง่าโอฬารของกรุงโรม และเป็นเครื่องแสดงจิตวิญญาณของอารยธรรมโรมัน 


ครั้นต่อมา เมื่อจักรวรรดิโรมันหันมานับถือคริสต์ศาสนา เริ่มแต่พระเจ้า Constantine I ใน ค.ศ.313 ต่อนั้นมาไม่นาน ประวัติศาสตร์อันยืดยาวแห่งการที่คริสต์ศาสนากำจัดกวาดล้างคนนอกรีตและพวกซาตานหรือศัตรูของพระเจ้าก็เริ่มขึ้น ตามด้วยสงคราม ระหว่างคริสต์ศาสนาต่างนิกายกัน นับแต่ประมาณ ค.ศ.391 เป็นต้นมาจนถึง ค.ศ.1834 เป็นเวลาเกือบ 1,450 ปี 


ใน ค.ศ.1231 องค์สันตะปาปา (Pope) ได้ร่วมกับอาณาจักร ตั้งศาลที่เรียกว่า Inquisition (ศาลไต่สวนศรัทธา) ขึ้น ศาลนี้เพิ่งมาสิ้นสุดหมดไปใน ค.ศ.1834 (1834 - 1231 = ประมาณ 600 ปี) คนที่ทางศาสนจักรถือว่านอกรีต เข้ากับซาตาน หรือทำผิดต่อคริสต์ศาสนา ถูกจับขึ้นศาลลงโทษ รวมทั้งเผาทั้งเป็น จำนวนมากมาย ตัวอย่างที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ เช่น กาลิเลโอ (Galileo Galilei) นักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ก็ถูกจับขึ้นศาลนี้ เพราะสอนว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ หาใช่ดวงอาทิตย์หมุนรอบโลกไม่ แต่กาลิเลโอ ยอมรับผิด จึงได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษให้ขังกักบริเวณอยู่แต่ในบ้าน (house arrest) จนตายไปเมื่อ ค.ศ.1642 


การจำกัด กีดกั้น ข่มเหง บังคับ กำจัด กวาดล้างด้วยสาเหตุแห่งการนับถือศาสนา หรือแม้แต่ตีความคำสอนในศาสนาต่างกัน มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเสื่อมและเจริญของอารยธรรมตะวันตก พร้อมนั้น ภูมิหลังข้อนี้แหละที่เป็นสาเหตุให้ชนชาติอเมริกันผู้อพยพไปจากยุโรป มีความใฝ่ฝันนักในสิ่งที่เรียกว่า freedom คือ ความเป็นอิสรเสรี ซึ่งรวมทั้งเสรีภาพทางศาสนา (religious freedom) และมุ่งหวังให้ประเทศอเมริกาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ (the land of liberty) หรือดินแดนแห่งเสรีชน (the land of the free) และต่อมาอเมริกาก็เป็นผู้นำความคิดแบบเสรีนิยม ที่ให้อิสระแก่ปัจเจกบุคคลอย่างเต็มที่ และส่งผลต่อแนวคิดระบบเศรษฐกิจที่ผู้มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ ก็มีสิทธิ์โดยเสรีที่จะใช้ประโยชน์จากธรรมชาตินั้น

รากฐานความคิดของมนุษย์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมชาติ มุ่งกอบโกยผลประโยขน์จากสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านปรัชญา ศาสนา และวิทยาศาสตร์ ตลอดช่วง 2,000 ปีที่ผ่านมา ถูกอนุชนรุ่นหลังตัดสินว่าผิดพลาด และถูกโจมตีอย่างมาก เช่น [2]

Socretes ที่เคยบอกว่า “สัตว์ทั้งหลายถูกสร้างขึ้นมา และถูกบำรุงเลี้ยงไว้ เพื่อประโยชน์ของมนุษย์” 

Descartes ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในทางปรัชญาและวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ บอกว่าวัตถุประสงค์ของวิทยาศาสตร์นั้นก็เพื่อให้ “พวกเรามนุษย์ จะได้สามารถเอาความรู้ในวิทยาศาสตร์และความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้นในหมู่มนุษย์มาใช้ประโยชน์ แล้วก็ผันตัวเราขึ้นเป็นเจ้านาย เป็นเจ้าของ ครอบครองธรรมชาติ”

Sigmond Freud นักจิตวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ด้านจิตวิเคราะห์ พูดไว้ว่า “อุดมคติของมนุษย์ ก็คือการที่จะดำเนินการบุกโจมตีธรรมชาติ บังคับให้ธรรมชาติเชื่อฟัง เจตนารมณ์ของมนุษย์ ภายใต้การนำทางของวิทยาศาสตร์”

อีกคนหนึ่งที่เป็นนักประวัติศาสตร์โซเวียต ชื่อ M. N. Pokrovskiy แสดง ความคิดของสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ว่า “เมื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบรรลุถึงความสมบูรณ์แล้ว ธรรมชาติก็จะกลายเป็นเหมือนขี้ผึ้งอันอ่อนเหลวในกำมือของมนุษย์ ซึ่งเขาจะสามารถปั้นแต่งให้เป็นรูปใดก็ได้ตามปรารถนา” 

 เมื่อชาวยุโรปออกแสวงหาเสรีภาพ โดยบุกเข้าสู่ดินแดนใหม่คือทวีปอเมริกา ก็มีแนวคิดต่อธรรมชาติที่ส่งผลต่อคติและค่า นิยมที่สำคัญของชาวอเมริกา คือ frontier mentality (สภาพจิตแบบบุกฝ่าพรมแดน) ซึ่งมีสาระสำคัญ 3 ส่วน คือ  [3]

 - มองว่า ทรัพยากรในโลกนี้มีอยู่เหลือล้น มากมาย ไม่มีหมด


- ถือว่า มนุษย์เป็นต่างหากจากธรรมชาติ


- มุ่งหมายว่า มนุษย์จะต้องพิชิตครอบครองและจัดการกับธรรมชาติให้เป็นไปตามความปรารถนา

เมื่อนักคิดตะวันตกยุคปัจจุบันหันไปติเตียนบรรพบุรุษของตนแล้ว ก็หันมามองศาสนาตะวันออก เช่น เต๋า พุทธ หรือฮินดู รวมทั้งชาวอินเดียนแดงที่ตนเองเคยบุกยึดครองมาก่อน ว่ามีแนวคิดที่เคารพ เป็นมิตรกับธรรมชาติ 

เหตุการณ์ที่ถูกยกมาอ้างบ่อยๆ คือตอน ค.ศ. 1855 (พ.ศ. 2398) ประธานาธิบดีแฟรงคลิน เพียร์ซ แถลงขอซื้อแผ่นดินจากคนอินเดียนแดง คำตอบของ Seattle หัวหน้าเผ่าของชาวอินเดียนแดงนั้น เป็นคำกล่าวที่ถูกยกมากล่าวเชิดชูมากในปัจจุบัน มีความบางตอนว่า “ท่านจะซื้อหรือขายผืนฟ้าและแผ่นดินได้อย่างไร ความคิดนี้เป็นของแปลกประหลาดแก่พวกเรา ... โลกนี้มิใช่ของมนุษย์ มนุษย์สิเป็นสมบัติของโลก สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีความสัมพันธ์กัน เสมือนเลือดซึ่งสมานรวมครอบครัวให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทุกสิ่งทุกอย่างมีความสัมพันธ์กันทั้งสิ้น สิ่งใดที่เกิดขึ้นแก่ผืนแผ่นดิน ก็ย่อมเกิดขึ้นแก่ลูกหลานของผืนแผ่นดิน มนุษย์ไม่ได้ทอโยงใยสร้างระบบสายสัมพันธ์แห่งชีวิตนี้ เขาเป็นเพียงสายใยสายหนึ่งในโยงใยนี้เท่านั้น สิ่งใดที่มนุษย์ทำแก่โยงใยนี้ ก็คือทำแก่ตัวเขาเอง”

เมื่อมองในแง่นี้ ลัทธิทุนนิยมและสังคมนิยมก็ไม่ต่างกัน แต่เป็นอันเดียวกัน คือเป็นลัทธิที่ตั้งอยู่บนรากฐานแนวคิดเดียวกันว่ามนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ และถือว่ามนุษย์มีสิทธิเข้าครอบงำจัดการเอาธรรมชาติมารับใช้สนองควาต้องการของตนได้ตามชอบใจ ต่างกันเพียงแต่ว่า เสรีนิยมให้สิทธิ์แก่ “บุคคล” ในการครอบงำจัดการธรรมชาติโดยเสรี แต่สังคมนิยมให้สิทธิ์แก่​ “สังคม” เป็นตัวแทนครอบงำจัดการ แล้วนำมาแบ่งสรรแก่ “บุคคล” ในระบบของสังคมนั้น

เมื่อหันกลับมามองสังคมไทย ก็อาจเป็นจริงอย่างที่นักคิดตะวันตกยุคปัจจุบันวิเคราะห์ไว้ ว่าสังคมตะวันออกมีความเคารพในธรรมชาติ เช่น พิธีกรรมและการเรียกชื่อที่เชิดชูคุณค่าของธรรมชาติ เช่น พระแม่โพสพ พระแม่คงคา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าธรรมชาติรอบตัวคนไทยไม่รุนแรงโหดร้ายเหมือนในประเทศฝั่งตะวันตก อีกทั้งธรรมชาติยังเป็นที่พึ่งได้โดยง่าย อย่างที่มักพูดว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” แต่ความรู้สึกนี้ก็อาจทำให้เกิดความคิดที่ว่า ไม่ต้องขวนขวายพยายาม เพราะมีทรัพยากรธรรมชาติรอบตัวเป็นมิตร ต่างจากชาวตะวันตกที่อยู่ในอากาศหนาว รุนแรง ถ้าไม่ขวนขวายเตรียมการก็อาจจะเอาชีวิตไม่รอด ชาวตะวันตกจึงถูกธรรมชาติบีบบังคับให้ต้องขวนขวายหาความรู้ เอาชนะธรรมชาติ ซึ่งในด้านหนึ่ง ก็ส่งผลให้ชาวตะวันตกมีค่านิยมในการใฝ่รู้ เป็นนักประดิษฐ์ ทำด้วยตนเอง (DIY) สร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ ในชณะที่คนไทยมักเป็นผู้เสพใช้เทคโนโลยี แม้ในวงการอุตสาหกรรม ประเทศไทยก็มักเป็นผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยมาทำการผลิต หรือประกอบ แต่ไม่ได้เป็นเจ้าขององค์ความรู้หรือเทคโนโลยีนั้นมากนัก


ในยุคต่อมา สังคมไทยจึงมีการสร้างค่านิยมให้เน้นการผลิต หรือการทำงาน โดยใช้แรงจูงใจทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นเหยื่อล่อ เช่นคำชักชวนให้ตั้งใจเล่าเรียนหนังสือ เพื่อที่จะได้เป็น “เจ้าคนนายคน” หรือต้องขยันทำงานเพราะว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” นอกจากนี้ ในสังคมปัจจุบันก็ยังยั่วยวนให้ผู้คนใฝ่หาความสุข (สุขนิยม) จากการเสพบริโภคให้เต็มที่ (บริโภคนิยม) ฉะนั้นการมีทุนจึงเป็นปัจจัยสำคัญ (ทุนนิยม) ที่จะทำให้ได้มาซึ่งการเสพบริโภควัตถุเหล่านั้น (วัตถุนิยม) ยิ่งถ้าได้ทุนเพื่อจะไปหาวัตถุเสพได้โดยไม่ต้องทำงาน หรือให้เงินทำงานแทนได้ (Passive income) ก็ยิ่งดี และดูจะเป็นคนที่ฉลาดกว่าคนที่ต้องทำงานหนัก


ค่านิยมเหล่านี้กำลังหล่อหลอมและส่งผล นำพาคนในสังคมให้ดำเนินชีวิตไปในทิศทางใด? และส่งผลต่อสังคมนั้นอย่างไร ?


ค่านิยมที่ดีแท้ ของสังคม ควรเป็นเช่นไร ?


อ้างอิง :
[1]   พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, อ้างถึงใน ศัพทานุกรมการวิจัยทางประชากรและสังคม 
[2]   Ponting Clive, 1991, A Green History of the World, New York. อ้างถึงใน พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต), 2554, การพัฒนาที่ยั่งยืน.
[3]   Chiras Daniel D., 1991, Environmental Science, RedwoodCity,CA, อ้างถึงใน พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต), 2554, การพัฒนาที่ยั่งยืน.

Create a web page with Mobirise