บทนำ : ตั้งคำถาม ต่อความสุข และความรัก ในหัวใจ


Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik


ความสุข คืออะไร ?
ความสุข ที่ ‘เรา’ ต้องการ เป็นเช่นไร ?

มองเป็นก็เห็นสุข | พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
Mobirise

ศึกษาจากการบรรยายเรื่อง "เป้าหมายชีวิต : ความสุข"

ช่วงที่ 1  เป้าหมายชีวิต กับการพัฒนาความสุข (20 นาที)  
ช่วงที่ 2  ความสุขมีหลายหลาย พัฒนาไปตามลำดับ (28 นาที)    
ช่วงที่ 3  ข้อดี ข้อเสีย และท่าที ต่อกามสุข   (38 นาที)
ช่วงที่ 4  พัฒนาจากผู้เสพกามชั้นทรามใน "สงครามกาม"  สู่ผู้บริโภคกามชั้นดี จนถึงขึ้นที่มีสุขภาวะสมบูรณ์  (41 นาที)
(คลิกเพื่อดาวน์โหลด เอกสารประกอบการบรรยาย)


ความรัก คืออะไร ?
ความรัก ที่ ‘เรา’ ต้องการ เป็นเช่นไร ?
ความรัก ที่ ‘โลกของเรา’ ต้องการ เป็นเช่นไร ?

ความรัก คงมิใช่เรื่องเฉพาะระหว่างหนุ่มสาว สามีภรรยา พ่อแม่และลูก หรือระหว่างเจ้าของกับสัตว์เลี้ยง หรือแม้แต่ความรักของคนๆ หนึ่ง ต่อประเทศชาติอันเป็นที่รักและหวงแหนของเขา เพียงเท่านั้น แต่มนุษยชาติอาจสร้างสรรค์ความรักที่ยิ่งใหญ่และกว้างขวางกว่านั้นได้มิใช่หรือ ? เราอาจสร้างความรักให้เป็นรากฐานของความสัมพันธ์ระหว่างเรากับโลกทั้งมวล ซึ่งหมายถึงเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่งได้หรือไม่ และนั่นจะทำให้โลกเปลี่ยนโฉมไปเช่นไร ? ทำไมเราจะต้องขีดวงของสิ่งที่เรารักขึ้นด้วยเล่า ? เมื่อเรา พยายามลากเส้นกำหนดสิ่งที่เรารัก เราก็ได้สร้างวงล้อมของสิ่งที่เราไม่ได้รัก และเกลียดชังขึ้นด้วยมิใช่หรือ ? เราทำเช่นนั้นเพื่ออะไรเล่า ? ความรักที่แท้เป็นเช่นนี้ละหรือ?


 ความรักคืออะไร ?

‘หากท่านรักใครสักคนเพราะว่าเขาคนนั้นมีความรักต่อท่านนั่นไม่ใช่ความรัก 


หากความรักคือความต้องการที่จะเป็นเจ้าของมันก็ไม่ใช่ความรัก 
ความต้องการที่จะมีความปลอดภัยในความสัมพันธ์ไม่ใช่ความรัก การพึ่งพิงไม่ใช่ความรัก ความริษยา หึงหวงไม่ใช่ความรัก ความคิดถึง ก็ไม่ใช่ความรัก และหากเราตอบแทนพ่อแม่เพราะเข้าใจว่ามันเป็นหน้าที่ มันก็ไร้ซึ่งคุณค่าของความรัก จิตใจที่มีความทุกข์ครอบงำอยู่ จะไม่มีวันรู้จักว่า ความรักคืออะไร’ [1]


ความรักไม่ใช่สิ่งของสำหรับการแลกเปลี่ยน แต่หลายครั้งเราแอบทำเช่นนั้นหรือไม่ ? เราให้ความรักแก่ใครสักคน เมื่อคนนั้นมอบความซื่อสัตย์ให้กับเรา เราได้นำความรักที่สูงค่าไปแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่เรียกว่าความซื่อสัตย์ที่เราต้องการ เมื่อเธอรักฉัน ฉันก็รักเธอ เมื่อเธอไม่รักฉัน ความรักระหว่างฉันกับเธอก็ยุติลง นี่หรือคือความรัก ?   


ความรักมิได้นำมาซึ่งความขัดแย้ง แข่งขัน แต่เมื่อเราขีดเส้นกำหนดสิ่งที่เรารัก เราก็ได้กำหนดสิ่งที่เราไม่รัก หรือเกลียดชังขึ้นข้างๆ นั้น และนั่นนำมาซึ่งความขัดแย้ง และการต่อสู้ เมื่อเรารักในประเทศและผืนแผ่นดิน เราขีดเส้นแบ่งความเป็นพวกเรา และพวกอื่น เราสร้างความรักที่จอมปลอมขึ้นภายใน ‘พวกเรา’ นั้น และก็พร้อมที่จะต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ใช่ ‘พวกเรา’ เมื่อเรารักในศาสนาของเราเราจำเป็นละหรือที่ต้องไม่รักศาสนาอื่น เมื่อเรามีความรักในเพื่อนมนุษย์ เราจำเป็นต้องกำหนดด้วยหรือว่าเราจะรักเฉพาะคนๆ นี้ หรือคนๆ นั้น เฉพาะคนที่เป็นพ่อแม่ ญาติพี่น้องของเรา แล้วคนๆ อื่นเล่า เราไม่อาจรักเขาด้วยความรู้สึกอย่างเดียวกันหรอกหรือ ? อย่าตอบนะว่า เราย่อมรักพ่อแม่มากกว่าคนๆ หนึ่งซึ่งเราไม่เคยรู้จัก เพราะพ่อแม่มีพระคุณต่อเรา หากคำตอบเป็นเช่นนั้น ‘เราก็กำลังนำเอาความรักไปแลกเปลี่ยนกับบุญคุณของพ่อแม่ ความรักเช่นนั้นย่อมไม่มีคุณค่าอะไรต่างไปจากผักปลาที่ซื้อขายกันในตลาด’ พระเยซูสอนให้เรามีความรักต่อเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง นั่นเป็นคำสอนที่วิเศษสุดมิใช่หรือ ท่านสอนให้เรารัก ‘พวกอื่น’ ไม่ต่างจากที่เรารัก ‘พวกเรา’ เราสามารถสร้างความรักเช่นนี้ได้ แต่นั่นเป็นคนละเรื่องกับการกระทำ ด้วยความรักเช่นเดียวกัน เราอาจกระทำต่างกัน ขึ้นอยู่กับสถานะ และกาละเทศะ คำสอนของพระเยซูสอนให้เรารักเพื่อนบ้าน แต่มิได้หมายความว่าเราต้องไปถูบ้านให้เพื่อนบ้านเหมือนกับบ้านของเราเอง ฉันใดก็ฉันนั้น เราย่อมมีความรักต่อคนที่เราแม้ไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย ได้เท่าๆ กับที่เรารักญาติพี่น้อง พ่อแม่ ของเรา และเราก็จะกระทำทุกๆ อย่างต่อเขาด้วยความรัก ความเมตตา ตามสมควรแก่สถานะ และบริบทของสังคม ‘เรารู้ว่าหากหัวใจเราหยุดเต้น กระแสธารชีวิตของเราก็หยุด เราจึงรักหัวใจของเรามาก แต่เราอาจยังไม่ได้สังเกตสิ่งอื่นๆ ว่าสำคัญต่อเราเช่นกัน’ [2]


หากเราตระหนักรู้ว่า ทุกสรรพสิ่ง และทุกบุคคลในโลกใบนี้ล้วนมีความสำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งในตัวเราอยู่เสมอ เราย่อมยินดีที่จะมอบความรักแก่เขาเหล่านั้น เป็นความรักที่แท้ซึ่งปราศจากความมุ่งหมายการตอบแทน แต่เรามักมองข้ามความสำคัญและคุณค่าของสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา เราจึงลืมที่จะมอบความรักต่อสิ่งเหล่านั้น เราอาจลืมไปว่า แม่น้ำลำธารมี คุณค่าต่อชีวิตของเราเพียงใด เราจึงเผลอรังแกและทำร้ายสายน้ำที่รักของเรา แต่หากความเข้าใจที่แท้จริงเกิดขึ้นในตัวเรา เราย่อมยินดีที่จะมอบความรัก และดูแลสายธารน้ำนั้นดุจญาติมิตรที่เรารัก และได้โปรดอย่าเข้าใจผิดไปว่า เรามอบความรักให้กับสายน้ำเพื่อแลกเปลี่ยนกับความใสสะอาดของน้ำเพื่อการดื่มกิน เพราะถ้าความรักเกิดขึ้นในใจของเราแล้ว เมื่อสายน้ำสกปรก ขุ่น มีตะกอน เราจะรีบหาทางเยียวยาและดูแลมันตามกำลังของเรา ไม่ต่างจากที่เราดูแลญาติสนิทของเรา เรามิได้หมดสิ้นความรักเมื่อญาติของเราเจ็บป่วยเลยสักนิด


‘ความรักที่แท้นั้นคือความรักในต้นไม้ หมู่นก สัตว์ เพื่อนมนุษย์ และเราจะทะนุถนอมให้คุณค่าแก่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่ให้อะไรกับเราเป็นการตอบแทนเลยก็ตาม แม้แต่ร่มเงาหรือความสุขใจ แต่คนเราส่วนใหญ่ไม่มีความรักเช่นนี้ เราไม่เพียงแต่รักแต่เรามักจะเรียกร้องบางอย่างตอบแทน โดยแท้แล้วเรามิได้รัก เราเพียงแต่ต้องการความรักต่างหาก’ [1] 


ในการพิจารณาเรื่องความรัก สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายไว้ในหนังสือเกี่ยวกับความรัก [3] ว่าพุทธศาสนายอมรับธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชน แต่มิได้หยุดอยู่แค่นั้น ต้องมีการพิจารณาโทษที่มีแล้วปรับปรุงให้ดีขึ้น เรียกว่าการพัฒนาชีวิต ในเรื่องของความรัก สำหรับปุถุชนทั่วไปโดยส่วนใหญ่ และโดยพื้นฐานก็เป็นความรักที่เกิดขึ้นระหว่างเพศ ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือความต้องการหาความสุขให้แก่ตนเอง คือถ้าหากว่าเขาผู้นั้นไม่อยู่ในภาวะที่จะสนองความปรารถนาให้เรามีความสุขได้ เราก็อาจจะเบื่อหน่ายหรือรังเกียจและความรักแบบนี้มักมีลักษณะเฉพาะเจาะจง โดยมีบุคคลที่ชอบใจเป็นเป้า เกิดความยึดติดผูกพันเฉพาะตัว ต้องการให้เขาหรือเธอให้ความสุขแก่เราผู้เดียวทั้งในทางกาย และใจ ทางกายก็ไม่ยอมให้ใครสัมผัส ยุ่งเกี่ยว ทางใจก็ต้องการความเอาใจใส่ ภักดี ไม่ปันใจให้ใครอื่น ความรักแบบนี้จึงมักก่อให้เกิดความหึงหวง มัวเมา หมกมุ่น โดยสรุปแล้วความรักแบบแรกนี้ไม่ยั่งยืน และเป็นความรักที่มีความสุขจากการได้รับมากกว่าการเป็นผู้ให้ ส่วนความรักที่มนุษย์ควรพัฒนาให้เกิดขึ้นคือ ความรักที่อยากให้เขาหรือเธอมีความสุข อย่างที่เรียกว่าความปรารถนาดี การกระทำที่สำคัญในการจะทำให้เขามีความสุขก็คือ การให้ ความรักแบบนี้จึงเป็นสุขที่ได้ให้ ต่างจากความรักแบบแรกที่มีความสุขจากการได้รับ การได้รับต้องขึ้นอยู่กับคนอื่น เราไม่อาจควบคุมบังคับได้เราจึงเป็นทุกข์ใจ แต่ความรักที่พัฒนาแล้วเป็นความสุขจากการให้ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเราเอง เราจึงมีความสุขได้เสมอ แม้ว่าเขาจะมีความทุกข์ เดือดร้อน ทั้งยังไม่สามารถสนองความต้องการของเราได้ เราก็ยังคงปรารถนาดี สงสาร อยากจะช่วยเหลือ ความรักเช่นนี้จึงยั่งยืน มั่นคงกว่า ในทางพระท่านเรียกความรักแบบแรกว่า ‘สิเน่หา’ หรือ ‘ราคะ’ ส่วนความรักแบบที่พัฒนาแล้วท่านเรียกว่า ‘เมตตา และ กรุณา’ 


คำถามในใจของเราก็คือ ความรักแบบความเมตตานั้นเป็นเพียงอุดมคติละหรือ ท่านพระธรรมปิฎกอธิบายว่า ตัวอย่างของความรักแบบนี้ก็คือความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ซึ่งถึงแม้จะเฉพาะเจาะจงจำกัดอยู่กับลูกของตัวก็จริง แต่ก็ไม่ใช่ความรักหวงแหนที่ ต้องการครอบครองเอาไว้เป็นของตัว ไม่มีความหึงหวง แต่พ่อแม่ก็ยังเป็นปุถุชน จึงมีเมตตากรุณาแต่เฉพาะกับลูกของตน ดังนั้นเราจึงควรพัฒนาความรักของเราจากที่เป็นความรักพื้นฐานของปุถุชน ให้บริสุทธิ์ ประณีต งดงาม เพื่อให้ความรักเป็นความสุขที่แท้ ทั้งสำหรับเราและคนที่เรารัก และยังควรพัฒนาขึ้นไปอีกให้เป็นความเมตตาต่อทุกๆคน และทุกสรรพสิ่ง โดยไม่ต้องการอะไรจากใคร เพราะได้พัฒนาให้มีความสุขเต็มอยู่ในตัว ไม่ต้องตามหาความสุขมาเติมอีก คือบุคคลที่มีอิสรภาพแท้จริง ไม่มีอะไรที่ต้องทำเพื่อตัวเอง จึงมีชีวิตเพื่อผู้อื่นอย่างเต็มที่ มีความเมตตากรุณาที่เป็นสากลต่อมนุษย์ สัตว์ ทุกคนไม่จำกัด พ่อแม่มีเมตตากรุณาอย่างมากมาย แต่ก็ยังจำกัดอยู่เพียงลูก แต่บุคคลที่พัฒนาเต็มที่แล้ว จะมีความกรุณาต่อทุกคนเหมือนกันหมด ซึ่งเรามีพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างที่สูงที่สุด


กฤษณมูรติเตือนเราว่า ‘เมื่อคุณไม่มีความรักจากข้างใน จึงทำให้คุณมองหาความรักมาเติมให้คุณเต็มจากข้างนอก’ เพื่อน ของเราหลายคนก็คาดหวังให้ความรักเป็นคำตอบในการเติมชีวิตบางส่วนของเขาให้เต็ม เขาจึงตามหา แย่งชิงให้ได้มา โดยลืมไปว่าเขาเองสามารถพัฒนาตัวเองให้เต็มและสมบูรณ์ได้ และเมื่อนั้น เขาจะมีความรักที่แท้จริงโดยไม่ต้องตามหา


เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า หากเรายังไม่พัฒนาความรักที่แท้ให้เกิดขึ้น เราจะต้องพึ่งพาระบบจริยธรรมมากมายเพื่อประคับประคองให้ชีวิตของเรา รวมทั้งสิ่งที่เราเรียกว่าความรัก ยังคงเป็นสุข เราต้องมีความซื่อสัตย์จริงใจ เข้มแข็งหนักแน่นอดทน เสียสละและมีน้ำใจ ซึ่งเป็นคุณธรรมพื้นฐาน แต่สำหรับผู้ที่พัฒนาความรักที่สมบูรณ์ต่อโลก คือมีความรักต่อสรรพสิ่งดุจญาติมิตรของเขาแล้ว เขาก็อยู่เหนือคุณธรรมเหล่านั้นไปแล้ว เมื่อเขาเสียสละ เขาก็ทำโดยไม่ต้องรู้สึกว่าเป็นการเสียสละ คือเป็นไปเองโดยจิตใจที่อยากให้ผู้อื่นมีความสุข เป็นภาวะที่เป็นอิสระโดยแท้จริง แต่ความรักที่ยังต้องการความเสียสละ ความซื่อสัตย์ ก็คือความรักแบบปุถุชน ซึ่งถ้าเรามีความรักเช่นนี้เราก็มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามระบบคุณธรรมเหล่านี้ให้มั่นคงเพราะหากวันใดเกิดความบกพร่องในคุณธรรมประการใดประการหนึ่งก็จะนำมาซึ่งความทุกข์และความเศร้าเสียใจ 


 ‘ถ้ามีความรักแท้จริง โลกจะมีสันติภาพ’ [4] เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินความจริงเลย ก็หากเราพัฒนาความรักที่แท้จริงให้เกิดขึ้น เราก็จะรัก และเข้าใจในทุกๆสิ่ง ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต และการรับรู้ของเรา เมื่อนั้น เราจะทำร้ายสิ่งอันเป็นที่รักของเราได้ละหรือ ? เราจะเข่นฆ่าสิ่งที่เรารักสิ่งหนึ่งเพื่อสิ่งที่เรารักอีกสิ่งหนึ่งเช่นนั้นหรือ ? เราจะทำสงครามเพื่อทำลายล้างศาสนาอื่น เพื่อศาสนาของเราละหรือ ? และเมื่อนั้น สันติภาพที่แท้จริง ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว มันถือกำเนิดขึ้นในจิตใจดวงน้อยๆ ของเรา แล้วเติบโตขึ้น ส่งผลไปครอบคลุมโลกใบใหญ่อันเป็นที่รักของเรา ก็สันติภาพนี้เองมิใช่หรือ ที่มนุษยชาติร่ำร้องเรียกหา ? ก็แล้วทำไมเราไม่เริ่มต้นสร้างมันขึ้นเสียทีเล่า สร้างมันขึ้นง่ายๆ ที่ใจของเรานี้เอง


 ได้โปรด อย่าเรียกร้องความรักจากผู้อื่นก่อน ทั้งหมดต้องเริ่มต้นที่เราเอง ‘หยดน้ำที่รวมตัวกันมากเข้าย่อมก่อให้เกิดมหาสมุทรได้ฉันใด ด้วยเมตตาธรรม คนเราก็ย่อมก่อให้เกิดมหาสมุทรแห่งมิตรภาพได้ฉันนั้น รูปโฉมของโลกจะเปลี่ยนไปมากทีเดียวหากเราทุกคนอยู่ร่วมกันด้วยความรัก ความเมตตา’ [5]


อ้างอิง :
[1]  กฤษณมูรติ
[2]  ติช นัท ฮันห์, ๒๕๔๒, สันติภาพทุกย่างก้าว, มูลนิธิโกมลคีมทอง
[3]   พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต), ๒๕๓๘, ความรัก จากวาเลนไทน์สู่ความเป็นไทย, มูลนิธิพุทธธรรม
[4]   พุทธทาสภิกขุ, แม่ที่ท่านยังไม่รู้จัก
[5]   วาทะคานธี,  กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย แปล

Mobirise

Created with Mobirise web page software