Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik
ไม่ว่าจะมีความรู้มากมายเพียงใด แต่ถ้าไม่สามารถควบคุมจิตใจให้สงบ นิ่งได้ ก็ไม่สามารถใช้ความรู้ที่มีได้เต็มประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่นเวลาทำข้อสอบ นำเสนอผลงาน หรือประสบอุบัติเหตุ ถ้าใจตื่นกลัวกังวล ก็จะปิดกั้นโอกาสที่จะใช้ปัญญาความรู้ที่มี ในการแก้สถานการณ์หรือทำงานตรงหน้า ให้ได้ผลดีเท่าที่ควร
และไม่ว่าจะมีความรู้มากมายเพียงใด แต่ถ้าเจตนาในใจเป็นไปในทาง อธรรม มุ่งร้าย ความรู้ทั้งหมดที่มี ยิ่งมากมายเพียงใด ก็จะถูกใช้ไปในทางที่ก่อ ความเสียหายได้อย่างกว้างขวางและหนักหนายิ่งขึ้นเพียงนั้น
การพัฒนาจิตใจ จึงมีความหมายทั้งในแง่ของการพัฒนาจิตใจให้มี คุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพ ที่ดีพร้อมสำหรับการทำกิจทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน การอยู่กับผู้คนตรงหน้า หรือแม้แต่การปฏิบัติฝึกฝนเพื่อพัฒนาจิตใจนั้นเองให้มีศักยภาพสูงยิ่งขึ้นไป
การพัฒนาจิตใจ จึงอาจเปรียบเทียบได้กับการพัฒนาร่างกายด้วยการไปออกกำลังในฟิตเนส เช่นการยกลูกตุ้มน้ำหนักขึ้นๆ ลงๆ หรือการวิ่งบนลู่วิ่ง ซึ่งเป้าหมายที่แท้จริงไม่ใช่เพื่อขนย้ายลูกตุ้มน้ำหนักไปที่ไหน หรือจะวิ่งไปให้ถึงที่ใด แต่เป็นการฝึกเพื่อให้กล้ามเนื้อมีการพัฒนา แข็งแรงขึ้น พร้อมในการใช้งานมากขึ้น ต่อไปจะยกของหนักก็ทำได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็ลดภาวะที่เป็นโทษ เช่น ความอ่อนล้าติดขัดบริเวณกล้ามเนื้อนั้นไปด้วย
การฝึกจิตก็เช่นเดียวกัน เมื่อเราฝึกใส่ใจอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง อย่างต่อเนื่อง เช่นสังเกตลมหายใจเข้าออก หรือการก้าวเดิน ก็เป็นการฝึกให้ใจมีการพัฒนา จดจ่อได้ดีขึ้น พร้อมในการใช้งานมากขึ้น ต่อไปจะตั้งใจจดจ่ออยู่กับการงานอะไร ไม่ว่าจะอ่านหนังสือ ขับรถ ยิงธนู ก็สามารถตั้งใจมั่นคง ไม่วอกแวกได้ดีขึ้น ส่งผลให้ทำการงานนั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการลดภาวะที่เป็นโทษในจิตใจ เช่น ความฟุ้งซ่านวุ่นวายใจ ความซึมเศร้าเหงาหงอยหดหู่ ให้ลดลงด้วย สุขภาพจิตก็ผ่องใส เบิกบานขึ้น
การฝึกพัฒนาจิตดังที่กล่าวมา เรียกว่า “จิตภาวนา” (ภาวนาแปลว่า พัฒนา) คือการฝึกที่มุ่งเป้าหมายให้จิตมี คุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพดี โดยใช้วิธีที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการสังเกตลมหายใจ จดจ่อกับเสียงระฆัง ฟังเสียงนกร้อง ฯลฯ แต่ไม่ว่าวิธีการใดๆ ก็มีหลักง่ายๆ อย่างเดียวกัน คือการฝึกจิตให้นิ่งจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ต่อเนื่อง ไม่วอกแวก ฟุ้งซ่าน ซัดส่าย ซึมเซา การฝึกจิตเช่นนี้ เปรียบได้กับการฝึกวัวป่าที่ดุ ดื้อ ให้สงบนิ่ง เย็น อยู่กับที่ที่ควรอยู่ให้ได้ การฝึกวัวป่านั้นต้องผูกไว้กับหลักที่มั่นคง ฉันใด การฝึกจิตที่ชอบวิ่งวุ่นวายไปในเรื่องอดีตบ้าง อนาคตบ้าง อย่างเลื่อนลอย และพลอยพาให้ใจทุกข์ ก็ต้องผูกจิตไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (เรียกสิ่งนั้นว่า อารมณ์ในการฝึกกรรมฐาน - meditation object) เมื่อเริ่มฝึก วัวป่ามักพยศ ไม่ยอมอยู่กับหลัก วิ่งวุ่่นไปทั่ว พอสุดสายเชือก เชือกก็กระตุกให้วัวป่ากลับมาที่หลักได้คราวหนึ่ง สักพักไม่นาน พอมีเสียงดังจากทิศใดทิศหนึ่ง หรือมีอะไรเคลื่อนไหวนิดหน่อย วัวก็วิ่งไปในทิศทางนั้นอีก จนเมื่อฝึกไปๆ วัวก็จะเริ่มเชื่อง เชือกก็จะสั้นลง คือวัววิ่งไปไม่นานก็กลับมาที่หลักได้ไว และอยู่กับหลักได้นานขึ้น ในอุปมาอุปไมยนี้ วัวป่าเปรียบเหมือนจิตใจ เชือกคือสติ หลักคือ meditation object และภาวะที่วัวอยู่นิ่งกับหลักได้โดยไม่วุ่นวายซึมเซา คือสมาธิ (concentration) ซึ่งเป็นเป้าหมายของการฝึกจิต ที่เรียกว่า จิตภาวนา หรือเรียกชื่อทางเทคนิคว่า “สมถกรรมฐาน” คือฐานของการทำงานของจิตเพื่อให้จิตสงบ
การพัฒนาอีกขึ้นหนึ่งเรียกว่า “ปัญญาภาวนา” คือการใช้จิตที่ฝึกมาดีพอสมควรแล้ว เป็นฐานในการพัฒนาปัญญา หมายถึงการใช้ใจที่นิ่ง สงบพอสมควรแล้ว พิจารณาดูปัญหา หรือสิ่งที่ต้องการศึกษา ให้เกิดการประจักษ์ รู้ เห็น เข้าใจ ความจริงของสิ่งนั้นๆ อย่างถ่องแท้ ถี่ถ้วน ละเอียดลออ เปรียบเหมือนคนที่ต้องการจะทำความสะอาดรอยเปื้อนเล็กๆ บนผืนธงที่กำลังพัดสะบัดไปมา ต้องใช้มือจับธงอย่างต่อเนื่องจนทำให้ผืนธงอยู่นิ่ง แล้วใช้สายตามองดูดีๆ จึงเห็นรอยเปื้อนนั้น ในอุปมาอุปไมยนี้ การจับธงคือสติ ภาวะที่ธงนิ่งคือสมาธิ การเห็นรอยเปื้อนคือปัญญา และการใช้สายตามองดูดีๆ คือวิธีการให้เกิดปัญญา เรียกว่า ปัญญาภาวนา หรือชื่อทางเทคนิคคือ “วิปัสสนากรรมฐาน” คือฐานของการทำงานของจิตเพื่อให้เกิดการเห็นแจ้ง (เกิดปัญญา)
การพัฒนาจิตใจ (จิตภาวนา) เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชีวิตแบบองค์รวมตามหลักพุทธศาสนา (ไตรสิกขา) ซึ่งครอบคลุมการฝึกฝนด้านพฤติกรรม (ศีล) จิตใจ (สมาธิ) และปัญญา แล้วส่งผลให้เกิดพัฒนาการ 4 ด้าน (ภาวนา 4) คือ กายภาวนา ศีลภาวนา จิตภาวนา และปัญญาภาวนา ที่มีความสอดคล้องกับศาสตร์การแพทย์แผนไทย ซึ่งแสดงการดูแลชีวิตแบบองค์รวมตามแนวคิดเรื่องธรรมานามัย ที่ครอบคลุมด้าน กาย จิต และชีวิต (คลิกดูรายละเอียด) โดยให้การดูแลด้านกายานามัย และชีวิตานามัย เป็นส่วนหนึ่งของศีลตามหลักไตรสิกขา ส่วนจิตตานามัยมีความหมายเน้นที่สมาธิตามหลักไตรสิกขา (หรือจิตภาวนาตามหลักภาวนา 4) แต่ไม่รวมถึงปัญญาในไตรสิกขา (หรือปัญญาภาวนาตามหลักภาวนา 4) ดังคำอธิบายความหมายของจิตตานามัยที่แสดงว่า “จิตตานามัย การปฏิบัติอาศัยการสร้างสมาธิตามหลักพระพุทธศาสนา อาศัยศีลเป็นการสร้างพื้นฐานจิตใจให้มั่นคง และการทำสมาธิภาวนาช่วยให้จิตนิ่ง ในกรณีที่สามารถ อาจเขยิบขึ้นถึงขั้นวิปัสสนา เพื่อสร้างพลังจิตด้วยการฝึกซ้อมจิต ศีลทำให้จิตสะอาดไม่กวัดแกว่งไปตามกิเลส การทำสมาธิให้จิตตั้งมั่นจะทำได้ง่ายขึ้น ฉะนั้นการถือศีลจึงนับว่าเป็นการปฏิบัติเบื้องต้นในจิตตานามัย ซึ่งการฝึกสมาธินี้มีความสำคัญในฐานเป็นหลักของการปฏิบัติแนวนี้ ส่วนการฝึกวิปัสสนาเป็นส่วนยอด จึงนับว่าเป็นส่วนเกินสำหรับการ พัฒนาจิตในธรรมานามัย”
อ้างอิง :
ศูนย์ธรรมานามัย อายุรเวท มูลนิธิส่งเสริมฟื้นฟูการแพทย์ไทยเดิม, 2536, ธรรมานามัย.
จิตภาวนา ตามหลักไตรสิกขา ภาวนา 4 และจิตตานามัยตามหลักธรรมานามัย แสดงให้เห็นแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะผู้ที่เจ็บป่วยเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการพัฒนาความเป็นอยู่ของทุกชีวิตเพื่อให้มีภาวะที่สมบูรณ์ ไม่เจ็บป่วย คือเป็นการพัฒนาให้มีความพร้อมก่อนที่จะเจ็บป่วย ชราหรือเสียชีวิต และเมื่อสถานการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น ก็จะรับมือได้อย่างสง่า และพึ่งพาตนเองได้อย่างเต็มความสามารถ ในแง่ของการพัฒนาจิตใจนั้น พุทธศาสนามองปัญหาจิตใจโดยมิได้จำกัดอยู่เฉพาะผู้ป่วยทางจิต คือไม่ได้เน้นเรื่องคนไข้โรคจิต แต่ปัญหาจิตใจของคนในมุมมองของพุทธศาสนานั้น หมายถึงปัญหาของมนุษย์ทั่วไปทุกคน ที่ยังมีความทุกข์ หรือยังมีความบกพร่อง ยังไม่สมบูรณ์ พูดง่ายๆ ก็คือมนุษย์ทุกคนที่ยังไม่ไร้ทุกข์ แล้วขยายไปถึงปัญหาทั้งหมดที่มีผลต่อชีวิตของบุคคล และที่มีต่อสังคม แนวคิดนี้แตกต่างจากแนวคิดจิตวิทยาตะวันตก ที่ส่วนมากพัฒนาขึ้นมาในขอบเขตของการแก้ปัญาของคนป่วยทางจิตใจ โดยเฉพาะคนบ้า และคนที่มีความวิปริตทางจิตใจในแบบต่างๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของจิตวิทยาตะวันตกอันนำไปสู่การแสวงหา ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับจิตใจของมนุษย์ โดยมีเป้าหมายที่การแก้ไขความผิดปกติทางจิต มาสู่สภาวะปกติทางจิต (ซึ่งเป็นภาวะที่พุทธศาสนายังถือว่าเป็นปัญหา) แล้วต่อมาจึงมีการใช้จิตวิทยาในทางบวกด้วย เช่นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การพัฒนาแรงจูงใจ
เป้าหมายของจิตวิทยาโดยเฉพาะในยุคเริ่มต้นจึงมุ่งไปที่การแก้ภาวะวิปริตทางจิตเมื่อป่วย จึงมีความแตกต่างจากการพัฒนาจิตตามหลักพุทธศาสนาหรือการแพทย์แผนไทยที่ให้ความสำคัญที่การพัฒนาคุณภาพ ศักยภาพ และสมรรถภาพของจิตให้ดี พร้อมรับกับความผิดปกติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยไม่ต้องรอให้ความเจ็บป่วย หรือความผิดปกติเกิดขึ้นเสียก่อน
อ้างอิง :
สรุปความจาก สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์, จากจิตวิทยาสู่จิตภาวนา.
Designed with Mobirise - Get more