การดัด-จริต


Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik

จริต คือลักษณะความประพฤติ หรือพฤติกรรมที่แสดงออก อาการที่แสดงให้เห็น ที่อยู่ในขั้นอุปนิสัย ตามหลักคำสอนของศาสนาพุทธ จำแนกจริตไว้โดยสังเขปเป็น 6 ประเภท คือ โทสะจริต, ราคะจริต, วิตกจริต, ศรัทธาจริต, โมหะจริต และพุทธิจริต

ความเข้าใจเรื่องจริต มีประโยชน์ทั้งต่อตนเอง และการทำงานร่วมกัน กล่าวคือ ทำให้เกิดการยอมรับความแตกต่างของแต่ละบุคคล ซึ่งมีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกัน ตัวเราเองก็ต้องปรับตัวแก้ใขส่วนที่ไม่ดี และเสริมสร้างส่วนดีของจริตอื่นๆ ดัดแปลง ปรับปรุงวิธีคิดให้รอบด้าน พัฒนาลักษณะที่ดีของจริตที่เราขาดให้เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็เข้าใจท่าที วิธีคิดที่แต่างกัน เมื่อทำงานร่วมกัน ก็ยอมรับลักษณะการทำงาน การสื่อสาร การคิดที่แตกต่าง ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง แต่ผสานข้อดีของกันและกัน จัดสรรงานให้เหมาะสมกับจริต และความสามารถของแต่ละบุคคล ทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมซึ่งกันและกัน

โทสะจริต

จิตขุ่นเคือง โกรธง่าย ใจร้อน มุ่งมั่น คาดหวังให้สิ่งทั้งหลายและคนรอบข้างเป็นอย่างที่ตัวเองคิด พูดตรงไปตรงมา ชอบชี้ถูกชี้ผิด พูดเร็ว ทำเร็ว ตรงไปตรงมา ไม่คำนึกถึงจิตใจผู้คน มุ่งเอาเป้าหมายของตนเป็นสำคัญ

ข้อดี อุทิศตัวทุ่มเทให้กับการงาน มีระเบียบวินัยสูง ตรงเวลา วิเคราะห์เก่ง มองอะไรตรงไปตรงมา มีความจริงใจต่อผู้อื่นสามารถพึ่งพาได้ พูดคำไหนคำนั้น มีพลังมากที่จะมุ่งไปสู่ความสำเร็จ ไม่ย่อท้อยอมแพ้ต่ออุปสรรค

ข้อเสีย ขาดความยืดหยุ่น ยอมหักไม่ยอมงอ ยึดตนเป็นใหญ่ ไม่ค่อยยอมรับความจริง หรือความเห็นต่าง จิตขุ่นมัว ร้อนรุ่ม ไม่เมตตา ไม่น่าคบค้าสมาคม ไม่มีบารมี ไม่มีความคิดสร้างสรรค์

แนวทางการพัฒนา พึงฝึกสังเกตดูอารมณ์ตัวเองและความรู้สึกของคนรอบข้าง เจริญเมตตาให้มาก คิดก่อนพูด เปิดใจรับ ความคิดใหม่ๆ พิจารณาโทษของความโกรธต่อความเสื่อมของร่างกาย ให้คุณค่ากับคนเพิ่มขึ้น ไม่เห็นแก่งานหรือเป้าของตนจนเกินไป

ราคะจริต

มีความสนใจ และความประพฤติเน้นด้านความสวยงาม ติดใจ พอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส มีความละเอียด พิถีพิพันในการทำกิจการงานต่างๆ รวมถึงการแต่งตัว การกินอยู่ เน้นภาพลักษณ์ ความมีเสน่ห์ 

ข้อดี คือเป็นคนช่างสังเกต เก็บรายละเอียด พิถีพิถันในการงาน ใส่ใจความรู้สึกของผู้คนรอบข้าง มีมนุษย์สัมพันธ์ดี ทำตัวเป็นที่รักใคร่ เป็นที่ชื่นชอบแก่ผู้ที่พบเห็น มีหัวใจของการบริการ การประชาสัมพันธ์ และการประสานคนได้ดี มีน้ำใจ 

ข้อเสีย คือทำอะไรไม่จริงจัง ฉาบฉวย เน้นรายละเอียดจนอาจหลงลืมเป้าหมายที่แท้จริง ขาดเป้าหมายในชีวิต ขาดหลักการ เน้นอารมณ์ความรู้สึก ขี้เกรงใจคน ไม่มีความเป็นผู้นำ อ่อนไหวต่อคำพูดที่กระทบใจ อารมณ์รุนแรงช่างอิจฉา ริษยา

แนวทางการพัฒนา พึงหาเป้าหมายที่แน่ชัดในชีวิต พิจารณาสิ่งปฏิกูลต่างๆของร่างกายมนุษย์เพื่อลดการติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส พิจารณาโทษของจิตขาดความเข้มแข็ง ขาดสมาธิ ขาดความมุ่งมั่น  

วิตกจริต

ขอบครุ่นคิด วกวน ฟุ้งซ่านได้ง่าย อยู่ในโลกของความคิดมากกว่าความจริง ชอบพูดคุย แสดงความเห็น คิดเร็ว พูดเร็ว เจ้ากี้เจ้าการ อัตตาสูงคิดว่าตัวเองเก่ง อยากรู้อยากเห็นไปทุกเรื่อง ชอบสิ่งแปลกใหม่ ไม่ซ้ำซากจำเจ

ข้อดี มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นนักวิเคราะห์ วางแผน แก้ไขปัญหาได้ดี พูดเก่ง จููงใจผู้คนได้ดี มีความรู้กว้างขวาง ชอบศึกษาค้นคว้า หาข้อมูลเก่ง

ข้อเสีย วิตกกังวล สงสัย คิดมาก เปลี่ยนแปลงความคิดตลอดเวลา จุดยืนผันแปร มีแต่ความคิด ไม่มีความรู้สึก ลังแล ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่สนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นาน ทำอะไรไม่สำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน จับจด   

แนวทางการพัฒนา ฝึกสมาธิแบบอานาปานสติ เพื่อสงบสติ อารมณ์ ฝึกคิดทีละเรื่อง เอาจริงเอาจังกับสิ่งที่สำคัญตรงหน้า คลายความฟุ้งซ่าน สร้างวินัย สร้างกรอบเวลา ฝึกมองภาพรวม คิดให้ครบวงจร หัดมองโลกในแง่ดี

ศรัทธาจริต

เลื่อมใส ซาบซิ้ง ยึดมั่นอย่างแรงกล้าในบุคคล หลักการ หรือความเชื่อที่ถูกใจ พร้อมที่จะเสียสละตนเองเพื่อสิ่งที่ตนเคารพศรัทธาได้อย่างเต็มที่ เป็นคนจริงจัง มีหลักมีการ ทำตนเป็นแบบอย่าง น่าเลื่อมใส

ข้อดี  มีกำลังใจดี มีพลังเข้มแข็งพร้อมที่จะเสียสละเพื่อผู้อื่น จิตใจดี มีเมตตา ใส่ใจรายละเอียด ทำงานมีขั้นตอนแบบแผนชัดเจน เคารพกฎระเบียบ วินัย ประเพณี มีมาตรฐานสูง ละเอียดประณีต

ข้อเสีย หูเบา ความเชื่ออยู่เหนือเหตุผล ถูกหลอกได้ง่าย ยิ่งศรัทธามาก ปัญญายิ่งลดน้อยลง จิตใจคับแคบ ไม่ยอมรับความคิดที่แตกต่าง ไม่ประนีประนอม มองโลกเป็นขาวและดำ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตนคิดว่าถูกต้อง สามารถทำได้ทุกอย่างแม้แต่ใช้ความรุ่นแรง 

แนวทางการพัฒนา นึกถึงกาลามสูตร ใช้หลักเหตุผลพิจารณาเหนือความเชื่อ ใช้ปัญญานำทาง และใช้ศรัทธาขับเคลื่อน เปิดใจกว้างรับความคิดใหม่ๆ ลดความยึดมั่นในตัวบุคคลหรืออุดมการณ์ ลดความยึดมั่นในตัวกูของกู

โมหะจริต

เชื่อคนง่าย ลุ่มหลง งมงาย ใครว่าอย่างไรก็คล้อยตาม ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่เห็นค่าของตนเอง ไม่มีความสามารถ ง่วง ซึม เบื่อหน่าย ซึมเซาท้อแท้ง่าย ไม่ชอบเข้าสังคม ไม่ชอบทำตัวเป็นจุดเด่นขาดจุดมุ่งหมาย ไร้ความมั่นคง

ข้อดี ไม่ค่อยมีอารมณ์รุนแรง มุ่งร้ายผู้อื่น ไม่อิจฉาริษยา ไม่มีปากมีเสียงต่อล้อต่อเถียงผู้อื่น ทำงานประจำ (routine) ได้ดี

ข้อเสีย ขาดความมั่นใจและความคิดสร้างสรรค์ มองตัวเองในแง่ลบ ขี้ใจน้อย อารมณ์อ่อนไหว ใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล ไม่จัดระบบความคิด ทำให้เสมือนไม่มีความรู้ ไม่มีความเป็นผู้นำ ไม่ชอบเป็นจุดเด่น สมาธิอ่อนและสั้นเบื่อง่าย

แนวทางการพัฒนา ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน ฝึกสมาธิสร้างพลังจิตให้เข้มแข็ง แสวงหาความรู้ และต้องจัดระบบความรู้ ความคิด สร้างความแปลกใหม่ให้กับชีวิต อย่าทำอะไรซ้ำซาก

พุทธิจริต

คิดอะไรเป็นเหตุเป็นผล มองเรื่องต่างๆ ตามสภาพความเป็นจริงไม่ปรุงแต่งเลื่อนลอย ไม่มีอคติเพราะความชอบส่วนตัว พร้อมรับความคิดที่แตกต่างไปจากของตนเอง ใฝ่เรียนรู้ ช่างสังเกต

ข้อดี สามารถเห็นเหตุเห็นผลได้ชัดเจน และรู้วิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างถูกต้อง อัตตาต่ำ เปิดใจรับข้อเท็จจริง จิตอยู่ในปัจจุบัน ไม่จมปลักในอดีต และไม่กังวลในสิ่งที่จะเกิดในอนาคต พัฒนาปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอ เป็นกัลยาณมิตร ประนีประนอม สุภาพ

ข้อเสีย หากประสบความสำเร็จมาก อาจเผลอยึดติด กลายเป็นคนเฉื่อยชา หยุดการพัฒนา รู้สึกว่าไม่มีอะไรท้าทาย

แนวทางการพัฒนา เร้าฉันทะให้เกิดการพัฒนายิ่งขึ้นไปทั้งในวของตนเอง และการทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น และสังคม

ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ ขุททกนิกาย มหานิทเทส พระพุทธเจ้าทรงแนะนำแนวทางการฝึกพัฒนาจิตแก่บุคคลตามจริตนิสัยดังนี้


- ย่อมตรัสบอกเมตตาภาวนาแก่ บุคคลผู้เป็นโทสจริต

 - พระผู้มีพระภาคย่อมตรัสบอกอสุภกถาแก่บุคคลผู้เป็นราคจริต
 - ย่อมตรัสบอกอานาปาณสติแก่บุคคลผู้เป็นวิตกจริต

 - ย่อมตรัสบอกพระสูตรอันเป็นนิมิตดี ความตรัสรู้ดีแห่งพระพุทธเจ้า ความเป็นธรรมดีแห่งพระธรรม ความปฏิบัติดีแห่งพระสงฆ์ 
และศีลทั้งหลายของตน อันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสแก่บุคคลผู้เป็นศรัทธาจริต


- ย่อมทรงแนะนำบุคคลผู้เป็นโมหจริตให้ดำรงอยู่ในการเรียน ในการไต่ถาม ในการฟังธรรมตามกาล ในการสนทนาธรรมตามกาล ในการอยู่ร่วมกับครู

 - ย่อมตรัสบอกธรรมอันเป็นนิมิต แห่งวิปัสสนา ซึ่งมีอาการไม่เที่ยง มีอาการเป็นทุกข์ มีอาการเป็นอนัตตา แก่บุคคลผู้เป็นพุทธิจริต



อ้างอิง :
-   ฐิติ บุญประกอบ,​ ค้นหา พัฒนาจริต (ความสามารถ), ข่าว สสท. ฉบับที่ 190 (ต.ค.​2555), หน้า38 - 39. 

-  อนุสร จันทพันธ์, บุญชัย โกศลธนากุล, จริต ๖ ศาสตร์ในการอ่านใจคน, อมรินทร์พรินติ้ง.
-  วิสุทธิมรรค เล่ม ๑ ภาคสมาธิ ปริเฉทที่ ๓ กัมมัฏฐานคหณนิเทศ, หน้า 160-175.
-  พระไตรปิฎกเล่มที่ 29 ขุททกนิกาย มหานิทเทส (29/727).

Built with Mobirise web theme