Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik
การใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบันจำเป็นต้องมีไหวพริบ รู้เท่าทันสถานการณ์ มองภาพรวมและคิดเชื่อมโยงได้ นอกจากการมีความรู้เฉพาะทางแล้ว ยังต้องมีทักษะชีวิตด้านอื่นๆ ด้วย อาทิเช่น IQ, EQ, CQ, AQ, MQ, SQ
IQ : INTELLIGENCE QUOTIENT
คือความฉลาดทางสติปัญญา วัดได้จากอายุสมองเทียบกับอายุจริง ปกติควรอยู่ที่ 90-110 เป็นการวัดความสามารถทางคิดวิเคราะห์ ความสามารถทางวิชาการ ความจำ การอ่านเขียน การคำนวณ แต่ไม่ได้วัดด้านอื่นๆ เช่น ความคิดสร้างสรรค์, ทักษะการทำงาน, ทักษะชีวิตประจำวัน ฯลฯ
EQ : EMOTIONAL QUOTIENT
คือความฉลาดทางอารมณ์ รู้อารมณ์ ของตนเอง เข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น เห็นอกเห็นใจผู้อื่นเมตตาอารี, ช่วยเหลือผู้อื่น, เอาใจเขามาใส่ใจเรา ควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ไม่หุนหันพลันเล่น ไม่อารมณ์ ค้างนาน ไม่ปล่อยให้ความรู้สึกเก่าๆ มารบกวนการทำงานปัจจุบัน ไม่ว่ารัก โกรธ ซึมเศร้า โกรธแล้วไม่ผูกใจเจ็บนาน ใจเย็นเมื่อมีสถานะการณ์ยั่วยุ ทำให้เป็นคนที่น่าเคารพนับถือ มีระเบียบวินัยในตนเอง เคารพสิทธิ์ของผู้อื่น รับผิดชอบต่อสังคม ผู้อื่นกล้าให้คำแนะนำได้ง่าย ส่งผลให้มีทักษะทางสังคมดี วางตัวดี รู้สู้ รู้หลีก ไม่แข็งกร้าวหรืออ่อนแอ มีไหวพริบ เอาตัวรอดได้ ขยันหมั่นเพียร อดทน กระตือรือร้น ไม่เฉื่อยชา มุ่งมั่น แน่วแน่ ไม่ลดละ
CQ : Creativity Quotient
ความฉลาดในการริเริ่มสร้างสรรค์ มีความคิด จินตนาการหรือแนวคิดใหม่ๆ ในรูปแบบต่างๆ นักวิจัยพบว่าการเล่นและทำกิจกรรมที่ส่งเสริมจินตนาการ เช่นศิลปะ นิทาน การประดิษฐ์สิ่งของ เป็นต้น จะทำให้มี CQ ดี
AQ : Adversity Quotient
คือความสามารถในการแก้ปัญหาและการเผชิญกับวิกฤติ เป็นการวัดความสามารถในการจัดการสถานการณ์ต่างๆ ความเป็นผู้นำ สามารถเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส สามารถควบคุมเหตุการณ์/สถานการณ์ได้ เห็นปัญหาอยู่ที่ตัวเรา ไม่โทษแต่สิ่งรอบตัว คิดว่าทุกปัญหามีทางออก ไม่ยอมแพ้ มีความทนทาน อดทน ต่อปัญหาต่างๆ มองโลกในแง่ที่เกิดประโยชน์
MQ : MORAL QUOTIENT
จริยธรรม คุณธรรม ช่วยบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน ไม่ยอมรับพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องเช่นทำร้ายผู้อื่น พูดจาหยาบคาย ขโมย ซึ่งตรงกับหลักศาสนาหลายศาสนาที่สอนให้คนเป็นคนดี ไม่ใช่ศาสนาพุทธศาสนาเดียว เด็กที่มี MQ ดีมักเป็นเด็กเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และเมื่อโตขึ้นจะเป็นคนที่เข้ากับคนอื่นได้ง่าย
SQ : SOCIAL QUOTIENT
ทักษะทางสังคม การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น การปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของผู้คนและสังคมรอบข้าง เข้าใจที่มาที่ไปของการเปลี่ยนแปลงรอบตัว ยอมรับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ และสามารถปรับตัวใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลาง การเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีความสุข ในทางตรงกันข้าม หากมี SQ น้อยก็จะปรับตัวได้น้อย ไม่รู้ควรทำอะไรเมื่อไหร่ กับใคร อย่างไร หรือรู้สึกว่าตัวเองใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นด้วยความยากลำบาก SQ นี้ก็ตรงกับ “ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์” (Interpersonal Intelligence) ซึ่งเป็นหนึ่งในความฉลาดทางพหุปัญญา (Maltiple Intelligent) ตามทฤษฎีพหุปัญญาของ Howard Gardner ศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาพัฒนาการชาวอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งได้อธิบายไว้ว่า ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์ เป็นความสามารถที่จะสร้างความสัมพันธ์และเข้าใจผู้อื่น มองสิ่งต่างๆด้วยมุมมองของคนอื่นๆ รอบตัว เพื่อให้เข้าใจว่าคนอื่นคิดอย่างไรและรู้สึกอย่างไร มีทักษะในการเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก แรงบันดาลใจ และแรงกระตุ้นของผู้คน เป็นนักจัดการ ทำให้เกิดความร่วมมือกัน มีทักษะในการฟังและเข้าใจผู้อื่น การสื่อสารด้วยความเห็นอกเห็นใจและความเข้าใจถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น สามารถให้คำปรึกษาหรือประสานงานในกลุ่ม สร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มได้ดี เป็นนักประสานและแก้ไขความขัดแย้ง ทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีระหว่างผู้คน
อ้างอิง :
- กมลพรรณ ชีวพันธุศรี, IQ EQ AQ MQ SQ กับสังคมเศรษฐกิจปัจจุบัน,
- SQ : ความฉลาดทางสังคม กุญแจสร้างเด็กไทยยุคใหม่.
Designed with Mobirise creator