การมองโลกในแง่ดี 
การมองโลกในแง่ร้าย 
และการมองโลกตามเป็นจริง


Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik

ความคิด และการตัดสินใจในสถานการณ์หนึ่งๆ ของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน ตามแต่ข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งความเชื่อ และอคติ ที่คนนั้นๆ มีต่อสถานการณ์หนึ่งๆ  แน่นอนว่า ...

ถ้าการมองโลกในแง่ร้าย หมายถึงการมองสถานการณ์ให้เลวร้ายเกินจริง ทำให้หมดกำลังใจ ไม่กล้าตัดสินใจ ย่อมเป็นวิธีการมองโลกที่ไม่สมบูรณ์

แต่แม้การมองโลกในแง่ดี ถ้าตีความว่าเป็นการมองสถานการณ์ให้ดีเกินจริง หรือหลอกตัวเอง ก็อาจทำให้เรามีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนในการตัดสินใจ หรือไม่ก็อาจจะวางใจละเลย เพราะไม่เห็นปัญหาที่มีอยู่จริง

ดังนั้นการมองโลกตามความเป็นจริง โดยไม่หลอกตัวเองว่าดีแล้ว และก็ไม่หลอกตัวเองว่าแย่แน่ แต่รับรู้ทั้งข้อดีและข้อเสียตามที่เป็นจริง เห็นอุปสรรคปัญหาโดยไม่ปรุงแต่งให้หดหู่ และก็รู้โอกาส ศักยภาพที่มีโดยไม่ดูถูกตนเอง ย่อมทำให้บุคคลนั้นๆ มีจิตใจที่มั่นคง และมีข้อมูลให้ปัญญาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ในที่นี้ จะได้อภิปรายวิธีการวางใจ เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ตามความเป็นจริง โดยใช้คำว่า "การมองโลกในแง่ดี"  "การมองโลกในแง่ร้าย"  มาตีความใหม่ ให้สอดคล้องกับการมองโลกตามความเป็นจริง อย่างที่ พระอาจารย์มหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี) ได้อธิบายไว้ดังนี้

วิธีคิดแบบมองโลกในแง่ดี

ก็คือ การรู้จักมองหาคุณค่า หรือแง่ดี แง่งาม ท่ามกลางสภาวะที่ไม่พึงประสงค์ เช่น เมื่อตกอยู่ ท่ามกลางวิกฤติ ก็ให้รู้จักมองหาโอกาส หรือเมื่อต้องทำงานหนัก ก็ให้มองว่า งานหนักจะมาพร้อมกับความเชี่ยวชาญ หรือเมื่อต้องพบกับอุปสรรคมากมายในชีวิตก็ให้มองว่า นั่นคือการทดสอบ เมื่อสอบผ่านก็จะได้รับรางวัลก้อนใหญ่ หรือเมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็ให้คิดเสียว่า นั่นเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของคำแนะนำ หรือเมื่อต้องพบกับความผิดหวัง ก็ให้คิดเสียว่า เป็นวิธีที่ธรรมชาติกำลังมอบภูมิต้านทานในการดำรงชีวิต

การมองโลกในแง่ดี มีข้อดีก็คือ ทำให้เรารู้จักหาประโยชน์จากสิ่งที่ไร้ประโยชน์ หาสุขจากทุกข์ หาข้อดีท่ามกลางข้อเสีย การมองเช่นนี้ จะส่งผลให้มีกำลังใจในการสู้ชีวิตเหมือนที่มหาตมะ คานธี ถูกจับโยนลงจากรถไฟในแอฟริกาใต้ ในเวลาต่อมาท่านเล่าว่า เหตุการณ์เลวร้ายคราวนั้น ทำให้ท่าน "รู้จักคิด" จนท่านกล่าวว่า "ประสบการณ์ที่สร้างสรรค์ที่สุด มักเกิดจากบทเรียนที่เจ็บปวดที่สุด" การรู้จักมองโลกในแง่ดี จึงทำให้มีแรงบันดาลใจในการเผชิญหน้ากับความยุ่งยากของชีวิตได้เป็นอย่างดี

ท่านพุทธทาสภิกขุ เขียนกวีเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า

"เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา        จงเลือกเอาส่วนที่ดีเขามีอยู่

เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู     ส่วนที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย

จะหาคนมีดีโดยส่วนเดียว         อย่ามัวเที่ยวค้นหาสหายเอ๋ย

เหมือนเที่ยวหาหนวดเต่าตายเปล่าเลย      ฝึกให้เคยมองแต่ดีมีคุณจริง"

วิธีคิดแบบมองโลกในแง่ร้าย

ก็คือ การมองเห็นแต่จุดด้อยของสิ่งต่าง ๆ ซึ่งมักเกิดขึ้นจากความกังวลจนเกินเหตุ แต่วิธีคิดแบบนี้มีจุดแข็งก็คือ ทำให้เกิดการเฝ้าระวังในสิ่งที่กำลังคิดหรือทำอยู่ แต่จุดอ่อนก็คือ หากวิตกมากเกินไปก็ทำให้ไม่มีโอกาสได้ชื่นชมสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ในคน หรือสิ่งต่าง ๆ ในแง่จิตใจก็ทำให้จิตใจหดหู่ ท้อแท้หรือจิตตก ไม่มีกำลังใจในการลุกขึ้นมาทำอะไร หรือบางกรณีทำให้เป็นคนที่ยอมจำนนต่อปัญหา ยอมแพ้ต่ออุปสรรคทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ใช้ความเพียรพยายามอย่างถึงที่สุด


วิธีคิดแบบมองโลกตามความเป็นจริง

ก็คือ การมองเห็นสิ่งต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมา ไม่สุดโต่งไปด้านดี หรือด้านร้ายตามความรู้สึกที่ตนคิดเอาเอง แต่เป็นการมองลงไปตรง ๆ ยังตัวปัญหาที่อยู่ตรงหน้าด้วยปัญญาที่เป็นกลาง แล้วใช้ปัญญาที่เป็นกลางนั้น แสวงหาวิธีแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล ซึ่งวิธีคิดเช่นนี้มีอยู่ในหมู่นักวิทยาศาสตร์ หรือปัญญาชนที่รักการใช้เหตุผลอย่างบริสุทธิ์ใจ ผลของวิธีการ มองโลกตามความเป็นจริงก็คือ สามารถแก้ปัญหาชีวิตได้จริงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่อยู่กับความหวังมากเกินไปเหมือนการมองโลกในแง่ดี ไม่วิตกมากเกินไปจนไม่กล้าทำอะไรเหมือนการมองโลกในแง่ลบ แต่เป็นการอยู่กับความจริงที่เป็นจริงด้วยปัญญาแท้ ๆ และแก้ปัญหาชีวิตไปบนพื้นฐานข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา

 วิธีคิดแบบมองโลกตามความเป็นจริง เป็นวิธีคิดหลักอย่างหนึ่งของพุทธศาสนา ซึ่งเรามักจะได้ยินผ่านวลีที่ว่า "จงมองโลกอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่อย่างที่เราอยากให้เป็น" ในวิธีคิดสามแบบนี้ วิธีคิดแบบที่สามนับว่ามีประโยชน์มากที่สุด เพราะเป็นวิธีคิดที่มุ่งแก้ปัญหาโดยไม่ก่อ ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง พูดอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นวิธีดับทุกข์ ไม่ใช่แค่กลบทุกข์



ถ้าความทุกข์ที่เกิดกับชีวิตเป็นของจริง วิธีที่จะดับทุกข์ ก็ต้องเป็นวิธีคิดแบบมองโลกตามความเป็นจริง ทุกข์จึงจะ ถูกดับหรือถูกกำจัดอย่างถอนรากถอนโคน เคยถามตัวเองบ้างไหมว่า เรากำลังใช้วิธีไหนในการดับทุกข์?




อ้างอิง :  พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี), มองโลกอย่างไร ได้ชีวิตอย่างนั้น. อ้างถึงใน https://www.facebook.com/coffeeworldthailand/posts/10153916871313783/ 

web page was made with Mobirise website themes