Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik
“
Why We Do What We Do in Life and Business
At its core, The Power of Habit contains an exhilarating argument:
The key to exercising regularly, losing weight, raising exceptional children, becoming more productive, building revolutionary companies and social movements, and achieving success is understanding how habits work.
Habits aren’t destiny.
As Charles Duhigg shows, by harnessing this new science,
we can transform our businesses, our communities, and our lives.
”
(Duhigg Charles, 2012, The Power Of Habit: Why We Do What We Do In Life And Business. New York : Random House.)
ผลการวิจัยด้านประสาทวิทยาของ MIT ที่อธิบายกลไกการสร้างนิสัย ว่าประกอบด้วยปัจจัย 3 ส่วน คือ สิ่งกระตุ้น (cue) ความคุ้นชิน (routine) และสิ่งตอบแทน (reward) ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคนถูกกระตุ้นด้วยสัญญาณพักกลางวัน ความคุ้นชินก็คือการไปโรงอาหาร เพื่อที่จะได้ความอิ่ม อร่อย เป็นผลตอบแทน Charles Duhigg จำแนกสิ่งตอบแทนเป็น 2 แบบ คือ ผลตอบแทนระยะสั้น กับผลตอบแทนระยะยาว
ผลตอบแทนระยะสั้น เป็นความสุขที่เกิดจากการเสพเพื่อสนองความต้องการของตนเอง (ตัณหา) เช่น กินขนมหวานแล้วอร่อย, ปิดนาฬิกาปลุกแล้วนอนต่อจะได้สบาย
ผลตอบแทนระยะยาว เกิดจากความต้องการได้ผลดีตามเหตุปัจจัยของสิ่งนั้นๆ ตามธรรมชาติ (ฉันทะ) เช่น กินอาหารตามหลักโภชนาการทำให้สุขภาพดี, นอนพักเป็นเวลา ทำให้สมดุลของร่างกายดี และมีเวลาทำกิจหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การสร้างนิสัยที่ดี จึงจำเป็นต้องเกิดจากการฝึกฝน ทั้งในแง่ปัญญา ที่จะรู้เข้าใจผลที่จะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจนั้นๆ อย่างแท้จริง ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว อีกทั้งยังต้องฝึกในแง่วินัย ที่จะควบคุมตนเองให้ทำตามปัญญาที่ตนรู้ให้ได้ ดังตัวอย่างการทดสอบทางจิตวิทยา ที่เรียกว่า Marshmallow test ที่มีกติกาว่า เด็กคนใดอดใจทนรอโดยไม่กินขนมชิ้นแรก ได้ 15 นาที จะได้ขนมชิ้นที่ 2 เด็กจำนวนมากเลือกที่จะได้ผลตอบแทนระยะสั้น จึงกินขนมชิ้นแรกก่อนจะถึงเวลา 15 นาที แต่เด็กส่วนน้อยอดทนรอ ผลวิจัยระยะยาวพบว่าทักษะเช่นนี้ ของเด็กส่วนน้อยส่งผลต่อการประสบความสำเร็จในการเรียนและการทำงาน อย่างมีนัยสำคัญ
ทักษะเดียวกันนี้ ช่วยให้นักเรียนที่ดี อดใจไม่เล่น คุย หรือหลับ ในขณะที่เรียนหรืออ่านหนังสือ ทั้งที่การทำเช่นนั้นจะให้ความสุขในระยะสั้นได้ทันที แต่การอดทน เพื่อเรียนหรืออ่านหนังสือ ทำให้ได้ประโยชน์ในระยะยาวที่ยั่งยืนกว่า และในทำนองเดียวกัน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดน้ำหนัก เลิกบุหรี่, เปลี่ยนนิสัยขี้เกียจ ขี้โมโห และนิสัยไม่ดีทั้งหลาย ก็อาศัยทักษะอย่างเดียวกันนี้
การสร้างระบบนิสัยที่ดี เป็นส่วนหนึ่งของระบบวินัยในการดำเนินชีวิต มีเทคนิคมากมายในการสร้างวินัยเหล่านี้ เช่น
- ทำให้เป็นพฤติกรรมเคยชิน เมื่อเริ่มต้นเข้าสู่สังคมใหม่ หมู่คณะใหม่ งานใหม่ ก็ถือโอกาสนั้นทำพฤติกรรมครั้งแรกให้ดี แล้วทำอย่างนั้นซ้ำๆ ให้เกิดเป็นความเคยชิน ง่ายก่าการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง เหมือนพ่อแม่ที่สอนลูกให้ทำหน้าที่ของตนตั้งแต่เล็กๆ เด็กก็จะทำไปตามความเคยชินนั้นได้ โดยไม่รู้สึกลำบาก ต่างจากการมาเริ่มต้นเมื่อโตแล้ว หรือคุ้นชินกับนิสัยที่ไม่ดีอื่นๆ เสียแล้ว
- ใช้วินัยที่ลงตัวแล้ว คือวัฒนธรรม มาช่วย วัฒนธรรมเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่สร้างวินัยแบบพฤติกรรมเคยชิน เช่นพ่อแม่พาลูกไปเข้าแถวต่อคิวในการรับบริการต่างๆ เป็นประจำ วัฒนธรรมการเข้าแถวต่อคิวของสังคมก็จะกลายเป็นวิถีชีวิตของเด็กโดยไม่ต้องสอน เช่นเดียวกับวัฒนธรรมในองค์กรต่างๆ ที่ถูกสร้างและปลูกฝังถ่ายทอดเป็นอัตลักษณ์ขององค์กรนั้นๆ
- สร้างวินัยให้ได้ผล ด้วยระบบการพัฒนาแบบองค์รวม การสร้างวินัยที่จะได้ผลยั่งยืน ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ พฤติกรรม, จิตใจ, ปัญญา ถ้าวินัยเน้นแต่ด้านพฤติกรรม ก็เหมือนการบังคับให้เด็กมารดน้ำต้นไม้ทุกเย็น แต่เด็กไม่เต็มใจ ไม่อยากทำ จนกว่าเมื่อใดจะพัฒนาจิตใจให้เด็กรักและสนุกกับต้นไม้ ความใส่ใจที่จะมารดน้ำต้นไม้ก็จะเกิดขึ้นจากภายใน ยิ่งถ้าเด็กคนนั้น รู้เข้าใจเห็นคุณค่าของต้นไม้ รู้จักธรรมชาติของต้นไม้นั้น เด็กก็จะมีพฤติกรรมที่ดี สร้างประโยชน์ได้เต็มที่ และเป็นการกระทำอย่างมีสุข
- สร้างวินัย โดยใช้ปัจจัยภายนอกช่วยเสริม เช่น กัลยาณมิตร ครูอาจารย์ที่น่าเลื่อมใสศรัทธา ทำให้เกิดความพอใจที่จะทำ ตามกฎระเบียบที่บุคคลเหล่านั้นแนะนำบอกสอน แม้ในขั้นต้นอาจยังไม่รู้เข้าใจเหตุผลชัดเจน แต่ก็ยินดีทำตามจนเห็นผลดีในภายหลังได้
- สร้างวินัย ด้วยแรงหนุนของจิตใจ เช่น การสร้างความเป็นพวกเดียวกันเพื่อเอาชนะพวกอื่น เช่นลัทธิชาตินิยม หรือการแข่งขันกีฬาระหว่างคณะ ทำให้คนในพวกเดียวกัน เกิดอุดมการณ์ หรือความภูมิใจ ที่เป็นพลังรวมใจ ให้ทำตามกฎของกลุ่มตน
- สร้างวินัย โดยใช้กฎเกณฑ์บังคับ หรือสร้างเงื่อนไขรางวัลแลกเปลี่ยน เป็นการสร้างกฎหมาย กฎเกณฑ์ บังคับควบคุม โดยอาจมีการลงโทษและการให้รางวัลร่วมด้วย แต่เป็นวิธีที่ไม่ดีนัก เพราะไม่เกิดการพัฒนาในตัวบุคคลอย่างแท้จริง เมื่อใดที่อำนาจของ กฎนั้นหมดไป หรืออ่อนลงไป คนก็จะหาทางละเมิดกฎเหล่านั้น สังคมก็ปั่นป่วน แต่ถ้าคนในสังคมเข้าใจเหตุผล คุณค่า ของกฎนั้น ก็จะนำไปสู่การสร้างวินัยตามระบบการพัฒนาแบบองค์รวมได้ หรือหากมีการบังคับใช้กฎอย่างมีประสิทธิภาพก็อาจทำให้เกิดความเคยชิน และกลายเป็นวัฒนธรรม โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจบีบบังคับ ก็ได้
เมื่อเราเริ่มพัฒนาคน ความเข้าใจความหมาย และคุณค่า ของวินัย กฎเกณฑ์ กติกา ทั้งในระดับบุคคล และสังคม ก็จะค่อยๆ พัฒนาไปด้วย
ตอนแรก คนไม่มีความพร้อม เพราะไม่มีปัญญา ไม่มีความเข้าใจเหตุผล พอเห็นกฎเกณฑ์กติกา ก็เห็นเป็นเรื่องบีบบังคับ กีดกั้นการที่ตนจะทำอะไรได้ตามชอบใจ จิตใจก็ไม่พร้อมที่จะทำตามกติกา รู้สึกจำใจ ฝืนใจ หรืออาจจะขัดแย้ง ต่อต้าน
ต่อมา เมื่อเขาเริ่มพัฒนาขึ้น และมองเห็นเหตุผล วินัยจะมีความหมายเป็นเครื่องฝึกมนุษย์ ในขั้นนี้ เขามีปัญญา พอที่จะรู้เข้าใจ เหตุผลและคุณค่าของกฎกติกานั้น จิตใจก็ยอมรับ และอาจจะเต็มใจ หรือถึงกับมีความสุขที่จะปฏิบัติตาม พฤติกรรมก็ดีงาม
ในที่สุด เมื่อมนุษย์พัฒนาดีแล้ว วินัยจะเปลี่ยนความหมาย กลายเป็นเพียงสิ่งที่หมายให้รู้ร่วมกัน สำหรับที่จะปฏิบัติได้ถูกต้อง ว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไร จะอยู่ร่วมกันอย่างไร จึงจะลงตัว เป็นไปด้วยดี และนี่คือความหมายที่แท้ของกฎ กติกา โดยไม่ต้องมีอำนาจ บังคับ ไม่ต้องมีบทลงโทษ เพียงแต่เป็นการกระทำไปตามเหตุผลที่กติกานั้นๆ มุ้งหมายให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตัวผุ้ปฏิบัติ และสังคม
ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนแต่ละคน พัฒนาตนเองตามลำดับขั้นตอนเช่นนี้ได้ ก็คือจิตสำนักในการฝึกตน ซึ่งเป็นแกนของการศึกษา ไม่ว่าจะเจออะไร ก็มองเป็นเวทีของการฝึกตนไปหมด งานการ บทเรียน สถานการณ์อะไรก็ตาม ก็จะถูกมองเป็นเครื่องฝึกตน และเห็นประโยชน์จากการฝึกนั้น บุคคลนั้นก็จะพอใจที่จะละผลตอบแทนระยะสั้น เพราะเห็นผลตอบแทนระยะยาวจากการฝึกตนที่มีค่า และสำคัญยิ่งกว่า บุคคลนั้นก็จะเต็มใจ พอใจ ที่จะฝึกตน และบุคคลนั้นก็จะเห็นวินัย ในความหมายว่าเป็นเครื่องมือในการฝึกตน ซึ่งจะทำให้การฝึกวินัยกลายเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องลำบากฝืนใจ อีกทั้งยังเป็นประโยชน์นอกเหนือจากการฝึกตนแล้ว ยังเป็นการทำให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ตามความมุ่งหมายของกติกาสังคมนั้นๆ อีกด้วย
จากความเข้าใจในบทเรียนที่ผ่านมา ท่านเห็นว่า วัฒนธรรม SOTUS ที่นำมาใช้ในกิจกรรมรับน้องในมหาวิทยาลัย เป็นระบบวินัยที่เอื้อต่อการพัฒนาบัณฑิต หรือเป็นอุปสรรค ในแง่ใดบ้าง และหากท่าน สามารถกำหนดระบบวินัยในการรับน้องได้ใหม่ ท่านคิดว่าควรเป็นเช่นไร
(ที่มา : ฐิติพล ปัญญาลิมปนันท์, 24 กรกฎาคม 2018,
รับน้อง: เมื่อนักศึกษารุ่นใหม่กล้าปฏิเสธระบบโซตัส และกิจกรรมไม่เหมาะสม, https://www.bbc.com/thai/thailand-44934203)
Page was created with Mobirise