สมบัติของผู้ดี : มารยาทในสังคมสมัยใหม่


Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik


คนยุคปัจจุบันมักเข้าใจผิดว่า “สมบัติของผู้ดี” เป็นหนังสือโบราณที่เน้นให้เป็นคนหัวอ่อน ว่าง่าย เน้นเรื่องการกราบไหว้ การปฏิบัติตัวต่อชนชั้นสูง แต่ในความเป็นจริงแล้ว หนังสือสมบัติผู้ดี เป็นหนังสือที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อบอกเล่าวัฒนธรรมสมัยใหม่ แบบ Gentle man ของฝรั่ง ให้คนไทย โดย เฉพาะชนชั้นกลางใหม่ที่จะเข้ารับราชการ ได้เรียนรู้และปฏิบัติตนได้สอดคล้องกับวัฒนธรรมตะวันตกที่เริ่มเข้ามาในสังคมสยามในเวลานั้น

Mobirise

หนังสือสมบัติของผู้ดี พยายามสร้างความคิดให้คำนึงถึงสาธารณะ สอนให้รับผิดชอบต่อสังคม พยายามปรับพฤติกรรมของชนชั้นเจ้า และชนชั้นกลางที่ใหม่ ให้เข้ากับความเป็นสมัยใหม่ ของสังคมประชาธิปไตย เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพ บุคลิกภาพ ความกล้าแสดงออกอย่างถูกต้องเหมาะสม เช่น เนื้อหาในบทที่ 5 ผู้ดีย่อมเป็นผู้สง่า มีเนื้อหาดังนี้

กายจริยา
- ย่อมมีกิริยาอันผึ่งผายองอาจ
- จะยืนนั่ง ย่อมอยู่ในลำดับอันสมควร
 ไม่เป็นผู้แอบหลังคน หรือหลบเข้ามุม
- ย่อมไม่เป็นผู้สะทกสะท้าน งกเงิ่น หยุดๆ ยั้งๆ

วจีจริยา
- ย่อมพูดจาฉะฉาน ชัดถ้อยความ ไม่อุบอิบอ้อมแอ้ม

มโนจริยา
- ย่อมมีความรู้จักงาม รู้จักดี
- ย่อมมีอัชฌาสัยอันกว้างขวาง เข้าไหนเข้าได้
- ย่อมมีอัชฌาสัยเป็นนักเลง ใครจะพูดหรือเล่นอันใด 
 ก็เข้าใจและต่อติด
- ย่อมมีความเข้าใจว่องไว ไหวพริบรู้ทันถึงการณ์
- ย่อมมีใจอันองอาจกล้าหาญ

ในทางตรงกันข้าม หนังสือเกี่ยวกับมารยาทในยุคหลัง (ตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์) กลับเน้นที่การเคารพผู้ใหญ่ สถาบันกษัตริย์ พระสงฆ์ ครู ผู้ปกครอง เน้นการยึดมั่นกับระบบอาวุโส ไม่ค่อยเห็นปริมณฑลสาธารณะ (public sphere) เห็นแต่พื้นที่พิธีการเป็นส่วนใหญ่ ส่วนหนังสือสมบัติของผู้ดี กลับถูกชนชั้นปกครองมองว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เยาวชนแข็งกร้าว ไม่อ่อนน้อม ไม่จงรักภักดี คุณสมบัติของผู้ดี หลายประการสอดคล้องกับคุณสมบัติของคนดี ตามหลักพุทธศาสนา ที่เรียกว่า สัปปุริสธรรม 7 ได้แก่

- รู้เหตุ          รู้หลักความจริง รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล 
- รู้ผล            รู้จุดมุ่งหมาย รู้ผลที่จะเกิดจากการกระทำนั้นๆ
- รู้ตน          รู้ฐานะ รู้บทบาทหน้าที่ รู้กำลัง รู้ความสามารถ
- รู้ประมาณ รู้ความพอดี 
- รู้กาล         ตรงเวลา เป็นเวลา ทันเวลา พอเวลา เหมาะเวลา
 
- รู้ชุมชน     รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ
 
- รู้บุคคล    รู้ความแตกต่างแห่งบุคคล


ว่าโดยสรุปแล้ว คุณสมบัติของคนดี หรือผู้ดี ก็คือคนที่รู้จักกาละเทศะ รู้ว่าเวลาใดควรคิด พูด ทำ อย่างไร จึงจะเหมาะควร จึงมีความหมายคล้ายกับคำว่า จรรยา มารยาท (Etiquette, manners) ซึ่งคำนี้ก็มักถูกตีความไปว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการไหว้ การ กราบ การแสดงความเคารพผู้ใหญ่เพียงเท่านั้น ซึ่งก็อาจเป็นผลมาจากการประดิษฐ์วัฒนธรรมเรื่องมารยาทในยุคเผด็จการ ตามการ ศึกษาของ ดร.แพทริค โจรี [1] ส่งผลให้ความหมายที่แท้ของ จรรยา มารยาท ถูกมองข้ามไป 

[1]  แพทริค โจรี, 2548, การสร้างความเป็นชาติไทยผ่านสิ่งประดิษฐ์เรื่องมารยาท, บทความ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 646.
 อ้างถึงใน หมายเหตุประเพทไทย #85 สมบัติผู้ดีที่แท้คือมารยาทฝรั่ง, 24 ธ.ค. 2558

Mobirise

มารยาทของนักศึกษาฝึกงาน
สตรีมีคลาส StreeMeClass 

เพราะการฝึกงานได้อะไรมากกว่าที่คิด
อาจเปลี่ยนชีวิตน้องๆได้ ทั้งแง่ดี/ร้าย

สองพี่จึงอยากฝากคำแนะนำไว้ให้คิด
ทำตามได้จะดีเน้อ 

-------------------------
สตรีมีคลาส StreeMeClass EP46

ในที่นี้ จึงหยิบยกเอามารยาทที่จำเป็นในสังคมสมัยใหม่ มาแสดงไว้เป็นตัวอย่าง ให้ผู้ศึกษาเห็นความสำคัญ และนำไปสู่การค้นคว้า ฝึกฝน เพื่อพัฒนาตนเองต่อไป และเป็นการแสดงให้เห็นความหมายของ "วินัย"  ในฐานะที่เป็นการควบคุมตนเองในวิถีชีวิตประจำวัน ที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสังคมรอบตัวให้เหมาะสมกับกาลเทศะ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยทักษะการควบคุมตนเอง คือการจัดการกับร่างกายของตนให้ดีงาม ซึ่งบุคคลจะทำได้ จำเป็นต้องมีทั้งความรู้ ว่าในสถานการณ์นั้นๆ ควรปฏิบัติเช่นไร  และต้องมีทักษะทางจิตใจที่จะไม่พล้องเผลอ ขาดสติ หรือแสดงกิริยาอาการไปตามความเคยชิน  ทั้งหมดนี้เป็นทักษะที่ต้องฝึกหัด สั่งสมในชีวิตประจำวัน อาทิเช่น

 - มารยาทพื้นฐาน : การแต่งกาย, การรับประทานอาหาร, การแนะนำตัว, การทักทาย, การขับรถ ฯลฯ

 - มารยาทการใช้ที่สาธารณะ : ลิฟต์, บันไดเลื่อน, รถ, เครื่องบิน, ห้องน้ำ, โทรศัพท์, ห้องสมุด ฯลฯ

 - มารยาทในที่ทำงาน :  การรับและแลกนามบัตร, การนัดหมาย, การสั่งงาน, การตามงาน, การให้คำแนะนำ, การปฏิเสธ, การรักษาความลับ, การประชุม, การทำงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ ฯลฯ

 - มารยาทในกรณีอื่นเ เช่น  มารยาททางศาสนา  ทัศนคติทางการเมือง ฯลฯ

 - มารยาทในยุคดิจิตอล : Digital Citizen Identity, Screen time management, Security management, Privacy management, Digital footprint, Digital empathy, Cyber bullying management, Critical thinking ฯลฯ


 มารยาทเหล่านี้ อาจไม่ใช่คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในการทำงาน หรือการใช้ชีวิต แต่ในบางสถานการณ์ หรือหลายโอกาส คนที่มีมารยาทดี (ในความหมายว่าประพฤติตนเหมาะสม ไม่ใช่ความหมายว่าอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่) ก็จะปรากฏเด่น สง่า ในสังคม ส่งผลให้ได้รับโอกาสที่ดีมากมาย ส่วนในทางตรงกันข้าม หลายสถานการณ์ คนที่ขาดการฝึกฝนเรื่องมารยาท และการปฏิบัติตนในสังคม ก็อาจจะทำสิ่งที่ผิดพลาดจนบดบัง หรือถึงขั้นทำลาย โอกาสและความสามารถที่มี ไปอย่างน่าเสียดาย อาทิเช่น คุณหมอที่เผลอนินทาคนไข้ในห้องน้ำสาธารณะ, พนักงานที่โพสข้อมูลบริษัทโดยไม่ได้รับอนุญาต, ลูกน้องที่นั่งร่วมโต๊ะอาหารกับหัวหน้าแล้วไม่รู้จะทำตัวอย่างไร

Built with Mobirise builder