ธรรมะในการสื่อสาร


Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik

ธรรมะในการสื่อสาร เน้นทั้งส่วนของ “สาร” ว่าต้องเป็นสารที่ดี และกระบวนการ “สื่อ” ก็ต้องเป็นกระบวนการที่ดีด้วย ถ้ากระบวนการสื่อดี แต่สารที่สื่อไม่ดี ไม่ถูก ก็กลายเป็นผลเสีย และถ้าสารที่ถูกสื่อดี แต่วิธีการสื่อไม่มีประสิทธิภาพ การสื่อสารก็ไม่ได้ผลดี


ลักษณะของ “สาร” ที่ดีควรเป็นอย่างไร

“... สัมมาวาจาเป็นไฉน?
เจตนาเครื่องงดเว้นจากพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ นี้เรียกว่า สัมมาวาจา.”  

พระไตรปิฎก เล่มที่ 19 สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค วิภังคสูตร (19/36/8)


“ความบริสุทธิ์แห่งวาจาเป็นไฉน? 


ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละการพูดเท็จ เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ

คือ พูดจริง ดำรงคำจริง มีถ้อยคำมั่นคง มีถ้อยคำเชื่อถือได้ ไม่พูดให้เคลื่อนคลาดแก่โลก 

 ละการพูดส่อเสียด เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดส่อเสียดคือฟังจากข้างนี้แล้ว ไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังจากข้างโน้นแล้ว ไม่มาบอกคนหมู่นี้ เพื่อทำลายคนหมู่โน้น
เป็นผู้สมานคนที่แตกกันบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันบ้าง มีความพร้อมเพรียงเป็นที่มายินดี ยินดีในบุคคลที่พร้อมเพรียงกัน มีความเพลิดเพลินในบุคคลที่พร้อมเพรียงกัน กล่าววาจาที่ทำให้เขาพร้อมเพรียงกับด้วยประการดังนี้ 

 ละการพูดคำหยาบ เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ 
คือกล่าววาจาที่ไม่มีโทษ อันไพเราะโสต เป็นที่ตั้งแห่งความรัก หยั่งลงถึงหทัย เป็นคำของชาวเมืองที่คนหมู่มากพอใจ ชอบใจ 

ละการพูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ 
คือ พูดโดยกาลควร พูดจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย กล่าววาจาเป็นหลักฐานมีที่อ้างอิง มีส่วนสุดประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลควร เป็นผู้ประกอบด้วยวจีสุจริต ๔ กล่าววาจาปราศจากโทษ ๔ งด เว้น เว้นขาด ออก สงัด พ้นขาด ไม่ประกอบด้วยติรัจฉานกถา ๓๒ ประการ เป็นผู้มีจิตปราศจากเขตแดนกิเลสอยู่ ย่อมกล่าว กถาวัตถุ ๑๐ อย่าง คือ อัปปิจฉากถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา สีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติญาณ ทัสนกถา ย่อมกล่าวสติปัฏฐานกถา สัมมัปปธานกถา อิทธิบาทกถา อินทรียกถา พลกถา โพชฌงคกถา มรรคกถา ผลกถา นิพพานกถา เป็นผู้ประกอบสำรวม สำรวมเฉพาะ คุ้มครองปกครอง รักษา ระวัง ด้วยวาจา 

นี้ชื่อว่าความบริสุทธิ์แห่งวาจา.”

พระไตรปิฎกเล่มที่ 29 ขุททกนิกาย มหานิทเทส (29/916/454)


“... ตถาคต... ย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น 
ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น 


ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น 
ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น 


ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง วาจาที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น
ในข้อนั้น  
ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น 

 ตถาคตย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น 
ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น 

ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น 
ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น

ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น
ในข้อนั้น 
ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น”

พระไตรปิฎก เล่มที่ 13 มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ อภัยราชกุมารสูตร (13/91-96/70-74)


ทักษะ “การรับสาร” และ “การสื่อสาร” ที่ดีควรเป็นอย่างไร

ปัจจุบันนี้เป็นยุคข่าวสารข้อมูล เป็นยุคไอที เรามีเครื่องมือสื่อสารอย่างดี เราจะต้องต้อนรับหรือใช้ข่าวสารข้อมูลนั้นให้ได้ผลดี ใช้ให้เก่ง ใช้ให้เป็น คนที่เก่งในการรับการส่งการสร้างการใช้ข่าวสารข้อมูลนั้น ถ้ามีปฏิสัมภิทา ๔ ชุดนี้ และเอามาใช้ได้ ก็จะก้าวไปไกล


1. อัตถปฏิสัมภิทา   ปัญญาแตกฉานในความหมาย
คือ ไม่ว่าจะฟังอะไร จะอ่านอะไร ทุกอย่างทุกคําที่ได้ยินที่ได้ฟังได้อ่านนั้น เรารู้ ความหมายเข้าใจตลอดท้ังหมด ถ้าเก่งจริง ก็ไล่ไปตามลําดับ ได้ทุกถ้อยคํา เช่นไม่ว่าอ่านหนังสืออะไร เราจะเข้าใจตลอดทั้งหมด ตรวจสอบตัวเองไปด้วย อ่านไปก็ถามตัวเองไปว่าเข้าใจ ความหมายแน่ไหม ตลอดไปจนจบ 


2. ธัมมปฏิสัมภิทา   ปัญญาแตกฉานในหลัก 
พูดง่ายๆ ว่าจับหลักได้ คือ เมื่อเราฟังหรืออ่านและรู้เข้าใจความหมายของทุกถ้อยคําหรือรายละเอียดทั้งหมดอย่างที่ว่า ในปฏิสัมภิทาข้อที่ 1 นั้นแล้ว ก็จับใจความของคําสอน ของเรื่องราว หรือของหนังสือนั้น เอามาสรุปว่าทั้งหมดนั้น ว่าด้วยอะไร หรือมีใจความ มีสาระสําคัญว่าอย่างไร 

ปฏิสัมภิทา 2 ข้อแรกนี้ เป็นภาครับ ข้อแรกเป็นด้านขยายความ ข้อหลังเป็นด้านย่อความหรือจับสรุปใจความ


ต่อไปเป็นฝ่ายแสดงออก หรือภาคใช้งาน คือข้อที่ 3 และข้อที่ 4 

3. นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในภาษาสื่อสาร
เป็นการแสดงออกหรือเอาข่าวสารข้อมูลมาใช้งานขั้นต้น หรือในขั้น พื้นฐาน คือการสื่อสารพูดจา พูดให้เขาฟัง เขียนให้เขาอ่าน ในขั้นนี้ ต้องสามารถสื่อสารพูดจาให้ได้ผลที่ควรจะได้ หรือได้ผลอย่างที่ต้องการ เช่นว่า
     (1) พูดให้เขาเข้าใจได้ อย่างที่เราต้องการให้เขาเข้าใจ 
     (2) พูดให้เขาเชื่อได้ อย่างที่เราต้องการให้เขาเชื่อ

     (3) พูดให้เขาทําได้ อย่างที่เราต้องการให้เขาทํา 

นอกจากพูดให้เขารู้เข้าใจได้ถูกต้องแล้ว พร้อมกันนั้น จะต้องมีท่าทีท่วงทํานองและถ้อยคําในการสื่อสาร ตั้งแต่บอก เล่าถ่ายทอดสนทนาโต้ตอบ ที่ถูกต้องดีงามเหมาะสมด้วย เช่น พูดด้วยท่าทีแห่งไมตรี มีเมตตา ปรารถนาดี มีอาการสุภาพ, ใช้ถ้อยคําที่สุภาพ ไพเราะ สละสลวย ชัดเจน กะทัดรัด มีพลัง คมคาย คําที่ตรงความเหมาะสถานการณ์, พูดเป็นจังหวะ ชัดถ้อยชัดคํา นุ่มนวล หรือฉาดฉาน ไม่อุบอิบ ไม่อู้อี้ ไม่อึกอัก ไม่อ้อมแอ้ม ไม่รัวหรือระรัว เป็นต้น 

นอกจากนั้น เพื่อเพิ่มขยายช่องทางของการสื่อสาร ท่านก็ส่งเสริมว่าถ้ารู้เข้าใจใช้ภาษาต่างประเทศได้มากด้วย ก็เป็นการดี


 4. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในความคิดทันการ

คือแต่ละคนมีความรู้ข่าวสาร ข้อมูลพร้อมทั้งประสบการณ์ความสามารถจัดเจนจากการทําพูดคิดตามแนวของปฏิสัมภิทาสามข้อแรกนั้น ที่ได้เพิ่มเติมสะสมมาเรื่อยๆ เมื่อเกิดปัญหาเฉพาะหน้าขึ้นมา จะเป็นปัญหาที่เป็นคําถาม ซึ่งจะต้องแก้ไขด้วย วาจาโต้ตอบ ก็ดี เป็นปัญหาที่เป็นเรื่องราวเหตุการณ์อันเป็นปม ติดขัดบีบค้ัน ซึ่งจะต้องแก้ไขด้วยปฏิบัติการ ก็ดี เรามีความแจ่มชัดในข้อมูลความรู้ความคิดที่มีสะสมไว้นั้น อันกระจัดกระจายอยู่ สามารถเชื่อมโยงมาปรับปรุงแปรจัดสรรเข้ากัน สร้างความคิดและเหตุผลขึ้นใหม่ ให้ใช้ประโยชน์ได้สบเหมาะ เข้ากับกรณี เข้ากับเหตุการณ์ แก้ไขปัญหาได้ฉับพลันทันการ เป็นการตอบคําถามได้ตรงจุดแก้ความสงสัยได้ฉับพลัน หรือเป็นการจัดการแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าจัดทําดําเนินการ เรื่องราวให้สําเร็จได้สบเหมาะทันการณ์ นี่คือการมีไหวพริบใน การพูดจาตอบโต้ หรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันท่วงที 


เมื่อได้ปฏิสัมภิทา คือปัญญาแตกฉาน ชุดนี้แล้ว ก็ขอให้เอามาใช้ในยุคข่าวสารข้อมูลนี้ เราจะรับมือกับข่าวสารข้อมูลได้อย่างดี และใช้ไอทีได้อย่างชาญฉลาด สามารถเป็นนาย ไม่ใช่เป็นลูกน้องของมัน แต่ถ้าเราไม่เก่งด้วยปัญญาแบบปฏิสัมภิทานี้ เราจะเป็นได้แค่ลูกน้อง และถ้าหนักหนา ก็จะกลายเป็นทาสของข้อมูลข่าวสาร เป็นเหยื่อของไอที


อ้างอิง :   สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์, ปฏิสัมภิทา ๔ ที่ฉายแสงแห่งพุทธปัญญา.

Mobirise
Mobirise

เมื่อได้ปฏิสัมภิทา คือปัญญาแตกฉานชุดนี้แล้ว ก็ขอให้นักเรียนเอามาใช้ในยุคข่าวสารข้อมูลนี้ เราจะรับมือกับข่าวสารข้อมูลได้อย่างดี และใช้ไอทีอย่างชาญฉลาด สามารถเป็นนาย ไม่ใช่เป็นลูกน้องของมัน แต่ถ้าเราไม่เก่งด้วยปัญญาแบบปฏิสัมภิทานี้ เราจะเป็นได้แค่ลูกน้อง และถ้าหนักหนา ก็จะกลายเป็นทาสของข้อมูลข่าวสาร เป็นเหยื่อของไอที เวลานี้ คนไทยเป็นเหยื่อของไอทีกันมาก ใช่ไหม? เป็นเหยื่ออย่างไร ก็ไปอธิบายกันเอง ตั้งแต่อัตถปฏิสัมภิทาก็ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเหยื่อ เป็นลูกน้อง หรือเป็นทาสของมัน ไม่เอาทั้งนั้น เราต้องเป็นนาย เป็นผู้ใช้มัน เอามันมาใช้งานให้สำเร็จประโยชน์ พร้อมไปกับการพัฒนาปัญญาของเรา ให้ก้าวไปในการที่จะมีปฏิสัมภิทา ๔ ข้อนี้ ถ้าทำได้อย่างนั้น นักเรียนก็จะเจริญก้าวหน้าแน่นอน การศึกษาเล่าเรียนก็สำเร็จผลสมความมุ่งหมาย โดยเป็นประโยชน์ทั้งแก่ชีวิต แก่สังคม แก่โลกนี้ ทั้งโลกมนุษย์ และโลกของธรรมชาติ
 

-------------------------
ที่มา :
ธรรมกถา ปาฐกถา แก่ งานมงคลวารอายุ ๙๑ ปี ของคุถยายทอสี สวัสดิ์-ชูโต ณ โรงเรียนปัญญาประทีป

The page was started with Mobirise