การสื่อสาร เพื่อการสร้างสรรค์ พัฒนา เยียวยา ส่งเสริม ซ่อมสร้าง อย่างมีประสิทธิภาพ


Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik

Mobirise

เป้าหมายของการสื่อสาร มิได้มีเพียงการให้ข้อมูลความรู้เท่านั้น ในหลายกรณี การสื่อสารมีจุดประสงค์เพื่อเอื้อให้เกิดความเข้าใจ ยอมรับ และนำไปสู่การปฏิบัติ พัฒนา และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม กล่าวคือเป็นการสื่อสารเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาภายใน และนำพาผู้คนที่อยู่ในห้วงแห่งปัญหา หรือความทุกข์ ให้เกิดความเข้าใจสถานการณ์อย่างถ่องแท้ แล้วเกิดการเรียนรู้ จนสามารถพัฒนาตนเองให้พ้นจากสภาวะปัญหา อีกทั้งยังเกิดความงอกงามได้อย่างยั่งยืน

วิธีการสื่อสารเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว จึงมิได้มีเพียงการพูด การสอน หรือการเทศนาเท่านั้น หากแต่จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการที่หลากหลาย เหมาะสมกับสถานการณ์ และเป็นการสื่อสารจากใจที่มีทั้งความรู้และความรัก เพื่อให้เข้าถึงใจ มิใช่เพียงแค่เข้าใจข้อมูล

ความรัก คือเจตนาตั้งต้นในการสื่อสารที่ประกอบด้วยความปรารถนาดีโดยมีผู้รับสารเป็นศูนย์กลาง ไม่เอาตนเองเป็นใหญ่ ส่วนความรู้นั้น มี 2 ส่วนคือ (1) ความรู้เนื้อหา ตัวความจริง ที่จำเป็นต่อกระบวนการจัดการปัญหาและการพัฒนาชีวิต ในกรณีนั้นๆ กับ (2) ความรู้เทคนิควิธีในการสื่อสารที่จะได้ผลดี ซึ่งจำเป็นต้องฝึกฝนให้เกิดทักษะ จนสามารถทำให้เกิดผลจริงได้

ตัวอย่างเช่น เมื่อเพื่อนร่วมงานเห็นต่างในแนวทางการทำงานบางเรื่อง เราจะสื่อสารอย่างไรให้เพื่อหาทางออกร่วมกันที่ดีที่สุด ขั้นแรก เราต้องตั้งเจตนาที่ดีต่อกัน มุ่งประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่ตั้งใจสื่อสารเพียงเพื่อเอาชนะ หักล้าง ชิงดีชิงเด่น เหยียบย่ำซ้ำเติม (6B) จากนั้น เราจะต้องมีความรู้ชัด ทั้งในเรื่องที่ถกเถียงกันนั้น และต้องรู้วิธีว่าจะสื่อสารอย่างไร เวลาใด จึงจะทำให้เนื้อเรื่องที่เราเสนอนั้น ถูกนำไปพิจารณาอย่างดีที่สุด เพราะถ้าสื่อสารไม่ดี เลือกวิธีไม่ถูก แม้ข้อเสนอนั้นจะดี ก็อาจไม่ถูกได้ยิน และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้


กรณีศึกษา ในคราวที่พระพุทธเจ้าพบกับมาณพผู้กำลังไหว้ทิศตามคำสั่งเสียของบิดา เพื่อจะเอื้อให้มาณพเข้าใจและปรับเปลี่ยน พฤติกรรม จากการทำพิธีไหว้ทิศทั้งหกตอนเช้าอย่างงมงาย มาสู่การพัฒนาชีวิตที่แท้จริง บทสนทนาของพระพุทธเจ้ามิได้เริ่มด้วยการ ติเตียนหรือกล่าวโทษ แต่กลับเริ่มต้นด้วยคำถามว่า... “คฤหบดีบุตร ท่านลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าชุ่ม มีผมเปียก ประคองอัญชลีนอบน้อมทิศทั้งหลาย ... เพราะเหตุอะไรหนอ” เมื่อชายหนุ่มตอบคำถามนั้นแล้ว พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าอริยชนก็ไหว้ทิศเช่นกัน แต่ไหว้อีกแบบหนึ่ง มาณพหนุ่มจึงเกิดความสนใจ และรู้สึกยอมรับนักบวชผู้นี้ว่าเป็นพวกเดียวกับตน จึงเปิดใจที่จะรับฟัง แล้วถามขึ้นว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในวินัยของพระอริยเจ้าท่านนอบน้อมทิศ ๖ กันอย่างไร ขอประทานโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ตามที่ในวินัยของพระอริยเจ้าท่านนอบน้อมทิศ ๖ กันนั้นเถิด”

(ติดตามอ่าน บทสรุป
 คำสอนที่พระพุทธเจ้า
 สอนมาณพผู้นี้ ได้จาก
 พระไตรปิฎก หรือหนังสือ
หลักสูตรอารยชน)


อีกกรณีหนึ่ง ตอนที่นางกีสาโคตมีสูญเสียลูกชาย เสียใจเจียนบ้า เข้ามาหาพระพุทธเจ้าที่วัดเชตวัน หวังให้ใครสักคนให้ยาที่จะชุบชีวิตลูกชายให้กลับฟื้นตื่นขึ้นมาอยู่เคียงข้างนางได้ต่อไป พระพุทธเจ้าทรงปลอบโยนและให้อุบายแนะนำโดยตรัสว่า “ดูก่อนโคตมี เธอมาที่นี้เพื่อต้องการยานับว่าทำดีมาก เธอจงเข้าไปยังนคร เดินเที่ยวไปตลอดนครนับแต่ท้ายบ้านไป ในเรือนใดไม่เคยมีคนตาย จงนำเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากเรือนนั้นมา” ต่อมานางกีสาโคตมี ได้เล่าถึงเรื่องราวต่อจากนั้นไว้ด้วยตนเองว่า “หม่อมฉันไปจนทั่วกรุงสาวัตถี ไม่ได้พบเรือนเช่นนั้นเลย เพราะเหตุนั้น หม่อมฉันจึงกลับได้สติว่า จักได้เมล็ดพันธุ์ผักกาดแต่ที่ไหน จึงทิ้งศพแล้วเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า...”

(ติดตามฟังเรื่องราวของ
 นางกีสาโคตมี  หรืออ่านเพิ่มเติมได้ที่ พระไตรปิฎก หรืออรรถกถา)


อ้างอิง :
-  สิงคาลกสูตร, พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค.
-  ประวัติพระกีสาโคตมีเถรี, อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต.
-  กีสาโคตมีเถริยาปทาน, พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ ขุททกนิกาย อปทาน.


TAPS model

Mobirise

เทคนิควิธีในการสื่อสารที่ได้ผลดี ไม่มีรูปแบบตายตัว เปรียบเหมือน เครื่องมือทำครัวที่มีหลากหลาย แต่ละอย่างก็มีประโยชน์ในการทำอาหารแตกต่างกันไป บางอย่างก็ใช้แทนกันได้บ้าง แต่ก็ได้ผลไม่เหมือนกัน

TAPS model แสดงให้เห็นเครื่องมือในการสื่อสารที่มีเหมาะสมในกรณีต่างๆ โดยจำแนกทางแกนนอนตามจุดประสงค์ ว่าเป็นการสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจและวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา (ทุกข์, สมุทัย) หรือว่าเป็นการค้นหาทางออกที่หลากหลายแล้วพากันเดินทางไปสู่ทางออกที่น่าจะเหมาะสมที่สุด (นิโรธ, มรรค) 

ส่วนแกนตั้ง แสดงวิธีสื่อแบบสอนทางเดียว เปรียบเทียบกับการตั้งคำถามและสื่อสารสองทาง

การสื่อสารสองทางด้วยการถามเป็นการกระตุ้นความคิด ทำให้เกิดกระบวนการใคร่ครวญ และค้นหาคำตอบ  เมื่อเกิดการฝึกฝนคิดบ่อยๆ ผู้ที่ถูกถามจะพัฒนาศักยภาพในการคิด และแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง เช่น แทนการพูดว่า “ผมคิดว่าจากปัญหาที่เกิดขึ้นควรแก้ไขโดยวิธี…(ความคิดของหัวหน้า)…คุณเห็นด้วยหรือไม่” เปลี่ยนเป็นการถามปลายเปิดว่า “เราจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อย่างไรได้บ้าง?” คำถามนี้ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมที่จะช่วยกันหาทางออก และพัฒนาศักยภาพของทีมให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน นอกจากนั้นการฟังที่ลึกซึ้งทำให้เข้าใจคนที่อยู่ตรงหน้ามากขึ้น แทนการคิดเอาเอง เช่น เพื่อนไม่พอใจอะไรก็ถามไถ่คุยกันแทนที่จะคิดไปเองแล้วโกรธกัน พ่อแม่ที่สอนลูกโดยถามความต้องการของลูกย่อมดีกว่าการสั่งให้ทำตามใจพ่อแม่ฝ่ายเดียว หมอที่ฟังคนไข้ก็จะเข้าใจคนไข้มากขึ้น และในระดับลึกที่สุดคือการฟังธรรมชาติ เข้าใจธรรมชาติ และใช้ชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติ


การทำงานในยุคปัจจุบัน ทักษะการสื่อสารเหล่านี้มีความสำคัญมาก เพื่อประสานและพัฒนาให้ทีมมีความสามารถในการแก้ปัญหาและการสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกัน แต่ละทักษะมีลักษณะเฉพาะที่ต้องศึกษาฝึกฝนจึงจะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิเช่น

Management consultant
คือคนที่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาหรือให้คำแนะนำกับบริษัทต่างๆ ที่เห็นปัญหาในองค์กรแต่ไม่มี ความชำนาญในการจัดการปัญหานั้นๆ ซึ่งก็มีหลายด้าน เช่น Operations Improvement, Strategy, Succession planning

Buddhist counseling
คือการใช้ทักษะการให้คำปรึกษา เช่น การเชื่อมประสาน การถาม การฟังอย่างลึกซึ้่ง การสังเกต เพื่อนำพาผู้ที่ประสบความทุกข์ให้มีพลังใจที่จะทำความเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ จนสามารถเห็นสาเหตุของปัญหาอย่างลึกซึ้ง ทำให้สามารถกำหนดเป้าหมายที่เหมาะสม แล้วหาทางไปสู่เป้าหมายนั้นอย่างสร้างสรรค์ หลากหลาย รอบคอบ จากนั้นจึงสามารถเลือกแนวทางที่ดีที่สุดที่สามารถปฏิบัติได้จริง  (ศึกษาเพิ่มติม เรื่องการให้คำปรึกษาเชิงพุทธ)

Coaching
คือกระบวนการกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้รับการโค้ชใช้ความคิด เพื่อปลดล็อคตัวเอง ทำให้เกิดการตระหนักรู้ และแสวงหาทางเลือกต่างๆ ที่เป็นไปได้ ที่จะนำไปสู่เป้าหมายหรือความสุขที่ต้องการ ด้วยวิธีการและเครื่องมือต่างๆ  แล้วลงมือทำด้วยความคิด ความถนัด ความสามารถของผู้รับการโค้ชเอง การโค้ชไม่ใช่เพียงการสอนความรู้หรือทักษะการทำงาน แต่ต้องส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาตัวเองให้ถึงที่สุดด้วย คล้ายกับโค้ชกีฬายุคใหม่ ที่ต้องใช้ทักษะทางจิตวิทยาเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมีความสุข
  (ศึกษาเพิ่มเติม เรื่องการโค้ช)

Facilitating
คือคือการเอื้อโอกาส ให้เกิดการเรียนรู้ และการเติบโต คล้ายกับความเป็น กัลยาณมิตร และครู ซึ่งกันและกัน เพื่อที่ทำความเข้าใจปัญหาและศักยภาพของแต่ละคน แล้วสร้างโอกาส เส้นทาง ในการพัฒนาโดยใช้วิธีการหลากหลายรูปแบบ แม้แต่การสร้างสถานการณ์ การให้เรียนรู้ด้วยการลงมือทำ (แม้จะเกิดความผิดพลาดบ้าง ในขอบเขตที่ปลอดภัย) การถอดบทเรียน ฯลฯ และกระบวนการเหล่านี้มักจะมีความต่อเนื่องระยะยาวเพียงพอ เหมือนบทบาทของเพื่อนหรือครูที่อยู่ร่วมกันในระหว่างเส้นทางของการพัฒนานั้น ไม่ใช่เพียงกิจกรรมการสนทนาหรือการทำให้เกิดแนวคิดในระยะสั้น   (ศึกษาเพิ่มเติม เรื่องกระบวนกร)

Mentoring
คือ การเป็นพี่เลี้ยง หรือตัวแบบ ในการทำงานร่วมกัน เพื่อทำให้ผู้ปฏิบัติงานได้เรียนรู้กระบวนการทำงานในบรรยากาศที่อบอุ่น มีพี่เลี้ยง หรือรุ่นพี่ที่สามารถให้ความช่วยเหลือ ข้อชี้แนะ และคำปรึกษาในระหว่างการทำงาน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาตนเองในสถานการณ์การทำงานจริง  (ศึกษาเพิ่มเติม เรื่องทักษะการเป็นพี่เลี้ยง)

บทบาทต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้ ต้องนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบุคคลและสถานการณ์ ด้วยทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ

Mobirise

ถอดบทเรียน การสื่อสารในการทำงาน

บางตอน จากภาพยนตร์เรื่อง "มหาลัย' เหมืองแร่" ของค่าย GTH  ซึ่งถ่ายทอดชีวิตจริงของนิสิตวิศวะ ที่ถูกรีไทร์ เขาเดินทางไปทำงานที่เหมืองแร่ ในจังหวัดพังงา  (คลิกดู Trailer)

ฉากนี้ เป็นตอนที่เขาจะต้องทำงานในฐานะวิศวกรมือใหม่  (คลิกดูคลิป กรณีศึกษา)

ชวนกันถอดบทเรียนว่า มีทักษะในการสื่อสาร ทั้งการรับสาร และการสื่อสาร ของผู้ที่ทำงานร่วมกัน ทั้งตัววิศวกรหน้าใหม่ และนายฝรั่งผู้เป็นหัวหน้า อย่างไรบ้าง ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และการพัฒนา ทั้งระดับตัวบุคคล และทีมที่ทำงานร่วมกัน

(คลิกดูบทสรุปของบรรยาการการทำงาน และการเรียนรู้ใน มหาลัย' เหมืองแร่)

mobirise.com web creator