การจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม :
เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ - เศรษฐกิจพอเพียง


Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik

ในความเป็นจริง ก็ดูเหมือนว่า ทรัพยากรของโลกนั้นไม่ได้มีอยู่อย่างเอนกอนันต์เช่นที่บรรพชนของคนอเมริกันเข้าใจกันแต่ก่อน วิชาการจัดสรรและจัดการทรัพยากรจึงเกิดมีความสำคัญขึ้น เพื่อจัดวางระบบเศรษฐกิจให้แก่มนุษย์ทั้งในระดับบัจเจก (Micro Economics) และระดับสังคม (Macro Economics) แต่กระบวนการจัดการทางเศรษฐกิจนี้ก็ ไม่ควร/ไม่สามารถ ที่จะให้เป็นไปเพียงเป้าหมายเพื่อการสนองความต้องการ ความปรารถนาของบุคคล หรือกลุ่มคน ที่มีความต้องการไม่สิ้นสุด โดยไม่คำนึกถึงผลกระทบเชื่อมโยงกับระบบความสัมพันธ์อื่นๆ เช่น สภาพแวดล้อม สังคม เทคโนโลยี รวมทั้งความเป็นมนุษย์ 

เศรษฐศาสตร์ ที่แท้ จึงไม่อาจแยกขาดออกจากความเข้าใจมุมมอง อื่นๆ ต่อโลก อย่างที่วิชาการสมัยมักนิยมทำ ในนามของการเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Specialization) เราไม่อาจวางแผนธุรกิจการท่องเที่ยวเพียงเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยไม่พิจารณาเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม จิตใจและความเป็นอยู่ของผู้คน ฯลฯ เราไม่อาจพัฒนาเทคนิควิธีการรักษา ผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยมุ่งหมายเพียงผลกำไร เงินตรา แต่ไม่ใยดีต่อคุณภาพชีวิตของความเป็นมนุษย์ และสายสัมพันธ์ทั้งทางจิตใจ ความเชื่อ ประเพณีของผู้คนรอบเตียงผู้ป่วย รวมทั้งเงินทุนและทรัพยากรที่เป็นที่มาของเทคโนโลยีการรักษาเหล่านั้น 

 เศรษฐศาสตร์จะต้องหยั่งเห็นปัจจยาการของเศรษฐกิจในระบบสัมพันธ์ของธรรมชาติ อย่างน้อย 2 ระดับ หรือ 2 ขอบเขต คือ 


(1) ความสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยต่อกัน ระหว่างเศรษฐกิจ กับกิจกรรมด้านอื่นๆ ในสังคมมนุษย์ เช่น ค่านิยม วัฒนธรรม ศีลธรรม สุขภาวะ การเมือง การศึกษา ให้เศรษฐกิจกลมกลืนเข้าไปในวิถีชีวิต และเกื้อกูลแก่ชีวิตที่ดีงามมีความสุขที่เป็นอิสระมากขึ้น


(2) ความสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยต่อกัน ระหว่างเศรษฐกิจ กับองค์ร่วมใหญ่ทั้ง 3 แห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์ คือ ชีวิตบุคคล สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อเกื้อหนุนมนุษย์ให้มีชีวิตเป็นสุขดีงาม ท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อมที่รื่นรมย์ ในสังคมที่เกษมศานต์ 

จึงจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนได้แท้จริง


อ้างอิง :
- พระพรหมคุณาภรณ์,​ 2559, เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ
- พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต), 2554, การพัฒนาที่ยั่งยืน.

ปัญหาใหญ่อยู่ที่ว่า วัตถุปัจจัยเหล่านั้นมาจากทรัพยากรที่มีจำกัด แต่ความต้องการมีไม่จำกัด หากทุกคนในสังคม หรือแม้แค่ใครสักคนในสังคม ตั้งโจทย์ของการจัดการว่าจะต้องแสวงหาทรัพยากรให้ได้มาเท่ากับหรือเกินยิ่งกว่า ความต้องการที่ไม่สิ้นสุดของตนๆ โดยวิธีคิดเช่นนี้ ก็อาจมีใครบางคน บางกลุ่ม สมหวัง แต่อีกหลายคน ผิดหวัง (หรือในความเป็นจริง อาจไม่มีใครสมหวังอย่างแท้จริงเลยก็ได้) และนั่นเองที่ทำให้ การกอบโกย การแก่งแย่ง ความขัดแย้ง ความวุ่นวาย เกิดขึ้นในสังคม

ระบบเศรษฐกิจที่ดี จึงไม่น่าจะใช่ ระบบทุนนิยมเสรีที่จมอยู่กับความลุ่มหลงมัวเมาเอาแต่ตัวจะเสพ หรือระบบสังคมนิยม ที่ฝืนใจจำยอมอยู่กับภาวะเข้มงวดกดดันอย่างเท่าเทียมกัน และก็ไม่ใช่ระบบที่แต่ละบุคคลต้องกดข่ม จำยอม ประนีประนอม ที่จะไม่ได้สนองความต้องการของตนเพราะเงื่อนไขจริยธรรมและข้อจำกัดต่างๆ (Compromising) เช่น เจ้าของโรงงานอยากร่ำรวย อยากทำการผลิตให้เต็มที่ แต่เมื่อการผลิตนั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงต้องมีการออกกฎหมายควบคุม เจ้าของโรงงานก็ถูกบังคับ จึงต้องประนีประนอม ยอมลดการผลิต หรือติดตั้งระบบลดมลพิษ แต่การกระทำนั้นมิได้เกิดจากความเต็มใจ หรือเห็นคุณค่าร่วมกันอย่างแท้จริง เป็นเพียงการประนีประนอม ที่จะจ่ายเพิ่มให้น้อยที่สุดเพื่อให้ได้ผลประโยชน์มากที่สุด เท่าที่กฎกติกาจะเปิดโอกาสให้เท่านั้นเอง  

ระบบเศรษฐกิจที่ดี น่าจะเอื้อให้เกิดความต้องการร่วมกันอย่างพอเหมาะ แทนความต้องการที่ขัดแย้งแย่งกันอย่างไม่สิ้นสุด ถ้าทุกคนคิดว่าตนจะรวย ก็แปลว่าต้องแย่งและแข่งกัน แต่ถ้าเราแต่ละคนต้องการใช้ทรัพยากรเพื่อตนเพียงแค่พอ เราอาจมีทรัพยากรเหลือพอให้เรามาใช้ร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์ทำประโยชน์แก่โลก ซึ่งเป็นจุดหมายร่วมกัน ไม่ขัดกัน เราก็จะเปลี่ยนจากการเป็นอยู่อย่างที่ต้องจำใจ ประนีประนอม (Compromising) มาเป็นความเป็นอยู่อย่างเกื้อกูล ร่วมแรงร่วมใจในจุดหมายเดียวกัน (Harmonizing)  (หากท่านใดศึกษาเปรียบเทียบทฤษฎี ความขัดแย้งของ Ron Kraybill พึงสังเกตว่าความหมายของ compromising และ harmonizing ในที่นี้ แตกต่างจากนิยามของ Ron Kraybill

เศรษฐศาสตร์จะต้องมีส่วนในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ ในการทำให้มนุษย์มีความสามารถที่จะดำรงชีวิตที่ดีงาม มีความสุขร่วมกันได้ดียิ่งขึ้นด้วย มิฉะนั้นเศรษฐศาสตร์จะมีไว้เพื่ออะไร

การบริโภคซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น (โดยเหตุผล) ของกระบวนการเศรษฐกิจทั้งหมด และเป็นจุดหมายปลายทาง (โดยสภาพ) ของกระบวนการเศรษฐกิจนั้น ก็เกิดขึ้นจากแรงจูงใจอย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 อย่างข้างต้นนั้น คนที่บริโภคด้วยตัณหา ก็ปรารถนารสอร่อยจากอาหาร ต้องการความสะดวก สนุก สบาย จากวัตถุสิ่งเสพ ส่วนคนที่บริโภคด้วยฉันทะ จะกินเพื่อให้ได้สภาวะของการหายหิว อิ่มท้อง ได้โภชนาการที่ดีต่อคุณภาพชีวิต ประเด็นที่น่าพิจารณาคือการบริโภคด้วยตัณหานั้น ให้ความสุขระยะสั้น ทันใจ แต่หาที่สิ้นสุด หาความพอ ได้ยากยิ่ง ไม่รู้ว่าอร่อยเท่าไหร่จึงจะพอ ถ้ามีอร่อยกว่านี้ก็อาจจะกินต่อได้อีก แต่การบริโภคด้วยฉันทะนั้นประกอบอยู่ด้วยปัญญา เมื่อกินเพื่ออิ่มท้อง เพื่อให้ได้โภชนาการ ก็จะตอบได้เองว่า เท่าไหร่อิ่ม เท่าไหร่พอดี และจะให้ผลดีในระยะยาว

คำว่า เศรษฐกิจพอเพียง จึงไม่ได้อยู่ที่ว่า หาเท่าไหร่จึงจะพอ แต่สำคัญว่า อยากแบบไหนจึงจะ “พอ” ได้ 
 ถ้าอยากแบบฉันทะ ก็จะ “พอ” เมื่อเกิดสภาวะที่ดี เช่น พื้นสะอาดก็หยุดกวาด ท้องอิ่มก็หยุดกิน แต่ถ้าอยากแบบตัณหา ก็อยากเรื่อยไป อยากให้คนชมอีก อยากได้รางวัลอีก อยากอร่อยอีก อยากกินจนท้องแตก ก็ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จัก “พอ”

 ความรู้จักพอ ในวัตถุปัจจัยภายนอกที่ต้องการมาสนองตนเอง นี้เรียกว่า “สันโดษ” แต่คำสอนในพุทธศาสนานั้นเน้นย้ำไว้ด้วยว่า ให้สันโดษในวัตถุสิ่งเสพ แต่ไม่ให้สันโดษในการทำความดี นั่นหมายความว่า เมื่อบุคคลยินดีพอใจในการกินอยู่แต่พอดี ก็จะมีกำลังกาย และเวลา ที่จะทุ่มเทให้กับการทำหน้าที่การงาน ทำประโยชน์ ทำความดี อย่างเต็มที่ โดยไม่คิดว่า “ทำดีเท่านี้ก็พอแล้ว”
 ถ้าเข้าใจคำว่าสันโดษชัดดีแล้ว ถ้าลองกลับไปอ่าน “สาส์นของนายกรัฐมนตรี ถึงที่ประชุมสัมมันตนาพระคณาธิการทั่วราชอาณาจักร วันที่ 18 เมษายน 2503” (คลิกดูรายละเอียด) ก็จะเข้าใจได้ชัดว่า ผู้นำของประเทศในเวลานั้น เข้าใจผิดไปเพียงใด

เป็นความจริงว่า เรื่องเศรษฐกิจ ปัจจัย 4 วัตถุเสพบริโภคนั้น มีความสำคัญและจำเป็นที่จะทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ หากถ้ามองให้ชัดจะเห็นว่า ความสำคัญของการมีวัตถุปัจจัยพรั่งพร้อมนั้น มิใช่เป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของมนุษย์ แต่ว่าเป็นปัจจัย ทั้งในแง่ที่จะทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ และสามารถสร้างสรรค์และเข้าถึงสิ่งดีงามประเสริฐที่สูงขึ้นไป เท่าที่มนุษย์มีศักยภาพซึ่งจะพัฒนาขึ้นไปได้

เศรษฐศาสตร์จึงไม่ควรมีเป้าหมายเพื่อการหาผลประโยชน์สูงสุด (maximize profit) เพื่อสนองตัณหาให้แก่ใครๆ แต่ควรจะมีเป้าหมายที่ความพอเพียงในวัตถุปัจจัยที่จะให้ทุกคนมีอย่างเพียงพอและเป็นสุข (สันโดษ) พร้อมสำหรับการมีฉันทะก้าวไป สร้างสรรค์ ชีิวิต สังคมและโลก ที่ดีงามผาสุก ถ้าเศรษฐศาสตร์มองเศรษฐกิจเป็นปัจจัย (ไม่ใช่เป้าหมายที่จบในตัว) อย่างนี้ เศรษฐศาสตร์ก็จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษย์

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสแนวคิดการพัฒนาทางสังคมทางเลือกหลายกลุ่มในสังคมไทย อันเป็นเสมือนความพยายามต้านกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกระแสหลัก ที่ส่งผลกระทบทางลบต่อความมั่นคงในระบบชีวิต มนุษย์และระบบนิเวศ ในขณะที่เศรษฐศาสตร์กระแสหลักมุ่งไปในทิศทางที่สอนให้มนุษย์มีความต้องการมากขึ้นไม่มีวันสิ้นสุด แต่เศรษฐศาสตร์สังคม (Social Economics) ซึ่งอยู่ในกลุ่มปรัชญาแนวมนุษยนิยม ที่ให้ความสำคัญแก่เรื่องประโยชน์สุขของมหาชน และการ วิเคราะห์ทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับมิติทางสังคม สอนให้มนุษย์รู้จักคำว่า “พอดี” หรือ “เพียงพอ”

พระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในหลายโอกาส แสดงถึงคำสอนเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” และส่งผลอย่างสำคัญต่อการ กำหนดนโยบายภาครัฐ เช่นแผนพัฒนาเศรษฐิกจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ซึ่งถือว่า เป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในทางทฤษฎีได้อย่างก้าวหน้ามากที่สุด แต่การแปลงยุทธศาสตร์ตามแผนดังกล่าว ไปสู่ปฏิบัติการทางสังคม ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะรากฐานวิธีคิดเก่าที่เน้นการแก้ปัญหาอย่างแยกส่วนยังดำรงอยู่ รวมทั้งหลักคิดที่เน้นประโยชน์ส่วนตนหรือผลลัพธ์ระยะสั้นเป็นที่ตั้ง กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม


ในแผนพัฒนาสุขภาพ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 - 2554) ได้ระบุวิกฤติสุขภาพไว้อย่างชัดเจนว่า การพัฒนาสุขภาพภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการทำลายสุขภาวะของสังคม กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ปรับเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาสุขภาพเชิงบูรณาการที่เป็นองค์รวม โดยได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางหลัก โดยการพัฒนาสุขภาพทุกด้าน ทุกมิติ ให้มุ่งสู่ทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้าง “ระบบสุขภาพพอเพียง” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย พร้อมกับการนำเสนอเป้าหมายหลัก ในการพัฒนาระบบสุขภาพไทย สู่ระบบสุขภาพพอเพียง มีทั้งหมด 10 ประการ ดังนี้

 1. สร้างเอกภาพและธรรมาภิบาลในการจัดการระบบสุขภาพที่สมดุลและยั่งยืน

 2. สร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก ที่สามารถสร้างปัจจัยพื้นฐานของการมีสุขภาพดี

 3. สร้างเสริมวัฒนธรรมสุขภาพ และวิถีชีวิตที่มีความสุขพอเพียงอย่างเป็นองค์รวม

 4. มีระบบสุขภาพชุมชน และเครือข่ายบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็ง

 5. มีระบบบริการสุขภาพและการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ มีการใช้เทคโนโลยีพอประมาณ ตามหลักวิชาการอย่างถูกต้อง 
 เหมาะสม ทำให้ผู้รับบริการมีความอุ่นใจ และผู้ให้บริการมีความสุข

 6. เน้นให้มีหลักประกันสุขภาพที่เป็นธรรม ทั่วถึง มีคุณภาพ

 7. สร้างระบบภูมิคุ้มกันและความพร้อมรองรับ เพื่อลดผลกระทบจากโรคและภัยคุกคามสุขภาพที่มาจากโลกาภิวัฒน์ได้อย่าง
 เท่าทัน

 8. เปิดทางเลือกสุขภาพที่หลากหลาย ผสมผสานภูมิปัญญาไทยและสากล อย่างรู้เท่าทันและพึ่งตนเองได้

 9. จัดระบบสุขภาพบนฐานความรู้ ด้วยการจัดการความรู้ที่มีเหตุผลรอบด้าน

 10. เกิดเป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งคนทุกข์ยาก เป็นสังคมที่ดูแลรักษาคนจน คนทุกข์ยาก และผู้ด้อยโอกาส อย่างเคารพในคุณค่า 
 และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์


อ้างอิง :
-  อภิชัย พันธเสน และคณะ, 2549, สังเคราะห์องค์ความรู้ เศรษฐกิจพอเพียง, กรุงเทพฯ, สกว.
-  สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม, 2552,​ แผนที่เดินทาง (Road map) เศรษฐกิจพอเพียง.

Mobirise html site maker