Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik
ปัญหา...ปัญหา...ปัญหา เป็นสิ่งที่ใครหลายๆคนอยากหลีกเลี่ยง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็กน้อยไปจนถึงปัญหาใหญ่โต ก็ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับชีวิตของตนทั้งนั้น แต่เจ้าปัญหากลับมักจะมาเยือนไม่เว้นแต่ละวัน ดังที่จะพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันของเรา คนรอบข้าง หรือตามสื่อออนไลน์ก็มีให้พบเห็นเป็นจำนวนไม่น้อย เช่นตัวอย่างจากกระทู้ www.pantip.com
อย่างที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นว่า “ปัญหา” มักจะมาเยือนไม่เว้นแต่ละวัน ไม่มีใครหนีพ้นได้ นั่นก็เพราะปัญหาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา แสดงว่าในการดำเนินชีวิต การเจอกับปัญหาย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และสิ่งที่จะชวนพิจารณาต่อไปคือ คุณมีท่าทีอย่างไรเมื่อเจอปัญหา
ประเภทแรก คือ หนีปัญหา พยายามไม่พูดถึง ไม่หาวิธีการแก้ไข ถอดถอนใจไม่สู้ นิ่งเฉยไม่ใสใจไม่รับผิดชอบ ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น
น่าสังเกตว่าการมีท่าทีแบบนี้ ไม่ทำให้เกิดประโยชน์กับตัวเรา และปัญหาก็ยังคงคอยก่อกวนจิตใจเราอยู่ หรือในบางครั้งอาจทำให้ปัญหาที่มีรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อใจเรามากขึ้น
ประเภทที่สอง คือ ไม่หนีปัญหา ใจสู้ พยายามทำความเข้าใจและแก้ไขกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยท่าทีที่มีต่อปัญหาแบบนี้จะนำพาให้เราก้าวพ้นไปหาไปได้ แค่เปลี่ยนท่าที ปัญหาที่มีก็ไม่ก่อกวนใจอีกต่อไป
มาร่วมกันเรียนรู้ ชวนดูตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ว่ามีท่าทีในการมองปัญหาแบบไหน และการแก้ปัญหานั้น ทำให้ชีวิต สังคม และโลก ก้าวหน้าไปอย่างไร
โชค บูลกุล บอกว่า ถ้าเราลงมือแก้ปัญหา เดี๋ยว “โอกาส” มันก็จะเกิดขึ้นเอง
ไม่แปลกที่จะมีคนบอกว่า “ปัญหาคือบิดาของนักประดิษฐ์”...
ถ้า กรรณิกา ชลิตอาภรณ์ ไม่มีปัญหาและสงสัยว่า ทำไมเรื่องการเงินถึงยุงยากนัก แบงก์ไทยพาณิชย์ก็คงไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการบริการครั้งมโหฬาร
ถ้า เป็นเอก รัตนเรือง ไม่คิดสร้าง “ปัญหา” ขึ้นมา มุมกล้องใหม่ๆ ในงานการถ่ายทำภาพยนตร์ก็คงไม่เกิดขึ้น
ถ้า “ดีพร้อมท์” ของ “ดีแทค” ไม่มีปัญหา ธนา เธียรอัจฉริยะ คงไม่คิดรีแบรนดิ้ง ครั้งใหญ่ และสร้างตำนาน “HAPPY” ขึ้นมา
เช่นเดียวกัน ถ้าไม่มีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ก่อศักดิ์ ไขยรัศมีภักดิ์ ของเซเว่น-อีเลฟเว่น ก็คงคิดวิธีการลดต้นทุนแบบใหม่ไม่ได้ .. แค่ลดความยาวกระดาษใบเสร็จับเงินในเซเว่นลงก็ลดต้นทุนได้เป็นล้านบาท
“นวัตกรรม” เหล่านี้ ล้วนเกิดจากปัญหาทั้งสิ้น
“ปัญหา” เป็นยาวิเศษ เพราะจะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการลับสมอง คิดแก้ไขปัญหา เป็นบทเรียนสำคัญที่จะทำให้เราเข้มแข็งขึ้น อย่าลืมว่า “นวัตกรรม” ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ก็ล้วนเกิดจาก “ปัญหา” เพราะมีปัญหา จึงมีคนคิดหาหนทางแก้ปัญหา
(ที่มา : หนุ่มเมืองจันทน์, 2557, ปัญหาคือยาวิเศษ (คำนำผู้เขียน), พิมพ์ครั้งที่ 11.)
ปัญญาญี่ปุ่น : สังคมแตกแยก เศรษฐกิจล่มสลาย กษัตริย์ถูกท้าทาย ญี่ปุ่นพลิกฟื้นจากหายนะได้อย่างไร
ครอบครัวช่างไม้ในชุมชนเล็กๆ นอกกรุงโตเกียว ได้ให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่งในปี ค.ศ. 1867 ชุมชนนี้อาศัยการทอผ้าเป็นอาชีพหลัก โดยยังคงใช้หูกทอผ้าไม้แบบเก่าที่ต้องอาศัยการพุ่งกระสวยสลับซ้ายขวาไปมาในการทำงาน วิธีนี้นอกจากจะต้องใช้แรงงานมาก ให้ผลผลิตน้อยแล้ว ยังมีต้นทุนสูง เมื่อญี่ปุ่นเปิดประเทศให้นำเข้าสินค้าจากตะวันตกได้ ผ้าทอราคาถูกจึงเข้ามาตีตลาดจนทำให้ญี่ปุ่นขาดดุลการค้า ... สิคิจิ โตโยดะ เห็นว่า การทอผ้าด้วยวิธีการเดิมนั้นเป็นการทำลายสุขภาพของมารดาที่ต้องนั่งหลังขดหลังแข็งทั้งวันเพื่อทอผ้าทีละนิ้ว ทีละคืบ เป็นอย่างมาก เขาจึงพยายามคิดค้นเครื่องทอผ้าด้วยตนเองจนประสบความสำเร็จ และได้รับสิทธิบัตรเครื่องทอผ้าเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1890 แต่เครื่องทอผ้าของเขาก็ยังล้าหลังมากเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีทางฝั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกา โตโยดะจึงตัดสินใจไปยุโรปเพื่อศึกษาที่สหราชอาณาจักร
การเดินทางของโตโยดะทำให้เขามีโอกาสได้เห็นโลกใหม่ที่มีวิทยาการก้าวหน้ากว่าญี่ปุ่นในยุคนั้นมาก นอกจากความรู้เรื่องเครื่องจักแล้ว เขายังได้อ่าน Self-help ของ Sammuel Smiles
ที่ปลุกให้ผู้อ่านเห็นศักยภาพของตนเอง กล่าวถึงการพึ่งตนเองว่าเป็นรากฐานของการเติบโตที่แท้จริง รวมทั้งเป็นพลังและความแข็งแกร่งของชาติ Smiles ชี้ให้เห็นว่า การทำงานหนักมีคุณค่าในตัวของมัน เพราะหากปราศจากความบากบั่น ความสำเร็จที่ได้มาง่ายๆ ล้วนไม่มีความหมาย.. วิธีคิดเช่นนี้สอดคล้องกับคุณธรรมพื้นฐานตะวันออกของขงจื๊อ .. ค่านิยมนี้ส่งผลต่อความคิดของโตโยดะอย่างมาก และส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่ออุตสาหกรรมญี่ปุ่นในเวลาต่อมา
ทั้งหมดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทเล็กๆ แห่งหนึ่งของญี่ปุ่น ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นบริษัทข้ามชาติที่ผู้คนรู้จักดีในชื่อ โตโยต้า
(ที่มา : ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา, 2556, ปัญญาญี่ปุ่น, พิมพ์ครั้งที่ 3.)
“Opportunities lie in the place where the complaints are.”
คลิกฟังส่วนหนึ่งของการบรรยาย เรื่อง Advice to Young People
โดย Jack Ma ผู้ก่อตั้ง Alibaba.
นวัตกรรม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้ให้ความหมายของนวัตกรรมไว้ว่า นวัตกรรม คือ “สิ่งใหม่ที่เกิดจากการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม”
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ให้ความหมายของนวัตกรรมครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์ สิ่งประดิษฐ์ (Product), กระบวนการ (Process) และขั้นตอนการรักษาบริการสุขภาพ (Guideline) ทั้งที่เป็นของใหม่ และของเดิมที่มีการเปลี่ยนแปลงชัดเจน และทำให้เกิด Value ขึ้นมา”
องค์ประกอบของนวัตกรรม มีอยู่ 3 ประการ คือ
1. ความใหม่ (Newness) หมายถึง เป็นสิ่งใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้น ซึ่งอาจเป็นตัวผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกระบวนการ โดยจะเป็นการปรับปรุงจากของเดิมหรือพัฒนาขึ้นใหม่เลยก็ได้
2. ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ (Economic Benefits) นวัตกรรมจะต้องสามารถทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นได้จากการพัฒนาสิ่งใหม่นั้นๆ ซึ่งผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอาจจะวัดได้เป็นตัวเงินโดยตรง หรือไม่เป็นตัวเงินโดยตรงก็ได้
3. การใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ (Knowledge and Creativity Idea) สิ่งจะเป็นนวัตกรรมได้นั้นต้องเกิดจากการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์เป็นฐานของการพัฒนาให้เกิดซ้ำใหม่ ไม่ใช่เกิดจากการลอกเลียนแบบ การทำซ้ำ เป็นต้น
ประเภทของนวัตกรรม ตามเป้าหมายของนวัตกรรม
1. นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีหรือวิธีการใช้ รวมไปถึงการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ตัวแปรที่สำคัญของการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์มี 2 ตัวแปรคือ
1) โอกาสทางด้านเทคโนโลยี ได้แก่องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเครื่องมืออุปกรณ์และกระบวนการที่จะทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดขึ้นได้
2) ความต้องการของตลาด คือความต้องการของผู้ใช้ที่มีความต้องการในผลิตภัณฑ์ใหม่นั้นและพร้อมที่จะซื้อหรือใช้ ส่งผลทำให้ผู้เป็นเจ้าของนวัตกรรมได้รับประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจหรือสังคม
2. นวัตกรรมกระบวนการ (Process Innovation) หมายถึงการประยุกต์ใช้แนวคิดวิธีการหรือกระบวนการใหม่ๆที่ส่งผลให้กระบวนการผลิตและการทำงานโดยรวมมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ประเภทของนวัตกรรม ตามขอบเขตของผลกระทบ
1. นวัตกรรมทางเทคโนโลยี (Technological Innovation) เป็นนวัตกรรมที่มีพื้นฐานหรือขอบเขตของการพัฒนามาจากเทคโนโลยี โดยในปัจจุบันการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีมีบทบาทและความสำคัญต่อหลายๆอุตสาหกรรม
2. นวัตกรรมทางการบริหาร (Administrative Innovation) เป็นเรื่องของการคิดค้นและเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการ ตลอดจนกระบวนการจัดการองค์การใหม่ ที่ส่งผลให้ระบบการจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาองค์การ
การพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจในลักษณะที่เป็น Open Business Models เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดของการพัมนานวัตกรรมแบบเปิด (Open innovation) ก็จัดได้ว่าเป็นลักษณะของนวัตกรรมทางการบริหาร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงานขององค์การหรือธุรกิจให้มีประสิทธิภาพหรือประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น
(ที่มา : งานนวัตกรรม ฝ่ายวิจัย, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, Innovation)
นวัตกรรมรูปแบบการทำธุรกิจ หรือ Business Model Innovation (BMI) เป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจที่ดูจะเป็นธรรมดาๆ สามารถเพิ่มค่าเชิงพาณิชย์ได้อย่างแตกต่างจากธุรกิจที่ใกล้เคียงกันอย่างท่วมท้น ไม่ว่าจะเป็นบริการสืบค้นข้อมูลแบบ Google เว็ปไซต์ชุมชนแบบ Facebook หรือการ บริการรถแท็กซี่แบบ Uber ฯลฯ ที่สามารถสร้างมูลค่าของธุรกิจขึ้นมาได้ในระดับ พันล้านเหรียญสหรัฐ และสามารถให้บริการได้กับคนแทบทั่วโลก สามารถนำเสนอคุณค่าของสินค้าหรือบริการที่น่าสนใจให้กับกลุ่มผู้บริโภคและสามารถแสวงหาผลตอบแทนจากวิธีการสร้างคุณค่านี้ได้อย่างยั่งยืน การสร้างนวัตกรรมรูปแบบการทำธุรกิจ หรือ BMI ยังอาจนำไปสู่การสร้างไอเดียใหม่ๆ ที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ การบริการ หรือ กระบวนการผลิตให้กับธุรกิจตามมาได้อีกด้วย
(ที่มา : เรวัต ตันตยานนท์, นวัตกรรมรูปแบบการทำธุรกิจ, กรุงเทพธุรกิจ.)
วิธีการสร้างนวัตกรรม
1. การสร้างนวัตกรรมจากเทคโนโลยี คือการคิดค้นเทคโนโลยี แล้วสร้างแนวทางใหม่ๆ ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนั้นให้เกิดประโยชน์ เช่นการสร้าง post it จากเทคโนโลยีการผลิตกาวที่ลอกได้, การสร้างโทรศัพท์จอพับจากเทคโนโลยีหน้าจอที่โค้งงอได้
2. การสร้างนวัตกรรมจากวิจัยทางการตลาด คือการวิเคราะห์สภาพตลาด หรือคู่แข่ง เพื่อให้เห็นทิศทางหรือแนวโน้ม แล้วคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของการแข่งขันในตลาด เช่น การสร้างการตลาดของศิลปินเพลงของ BNK48 จากการวิเคราะห์จุดเด่นของศิลปิน และ idol ที่มีจุดเด่นทางการตลาดที่แตกต่างกัน แต่ยังไม่เคยมี idol ที่สามารถสัมผัส เข้าถึงได้แบบศิลปิน
3. การสร้างนวัตกรรมจากความต้องการของผู้เกี่ยวข้อง โดยการศึกษาความต้องการเชิงลึกของผู้ใช้งาน ว่ามีปัญหา หรือความต้องการอย่างไร โดยใช้วิธีการ สังเกต สัมภาษณ์ หรือการเข้าไปทดลองมีประสบการณ์ร่วม เพื่อให้เกิดความเข้าใจสภาพปัญหาและความต้องการอย่างแท้จริง วิธีการคิดแบบนี้ เรียกว่า Design thinking
ที่มา : Nopadol's Story EP 257
บทสัมภาษณ์ อ.สุกฤษฏิ์ วินยเวคิน เรื่อง Innovation (31.17 นาที)
นวัตกรรมทางการแพทย์ เป็นการสร้างแนวคิดใหม่ การบริการใหม่
กระบวนการใหม่ รวมถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อ
1. ยกระดับการรักษา การวินิจฉัย การเรียนรู้ การป้องกันและงานวิจัย
2. ยกระดับคุณภาพ ความปลอดภัย ผลผลิต ประสิทธิภาพ และต้นทุน
3. เพื่อตอบสนองความต้องการและความคาดหวัง ของผู้มีส่วนร่วม ต่อ
การสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ ซึ่งหมายถึงทุกคน อาทิ แพทย์พยาบาล ผู้ป่วย
โรงพยาบาล นวัตกร กฎระเบียบ
การพัฒนางานไปสู่นวัตกรรมสามารถเกิดขึ้นได้จาก 3 ช่องทาง ต่อไปนี้
1. ความต้องการแก้ปัญหา (Problem silving)
2. ความต้องการปรับปรุง (Improvement) หรือตั้งเป้าหมายใหม่
3. การมีความรู้จากระบบการจัดการความรู้ (KM - Knowledge
management) จนเห็นช่องทางนำไปสู่การพัฒนา
(ที่มา : พันธพงศ์ ตั้งธีระสุนันท์, นวัตกรรม หลักสูตรบริหารการแพทย์และสาธารณสุข สำนักอนามัย รุ่น 10,)
(ที่มา : งานนวัตกรรม ฝ่ายวิจัย, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, Innovation)
“ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์” (SiPH) ถือเป็นต้นแบบโรงพยาบาลรัฐที่การ บริหารและการให้บริการแบบโรงพยาบาลเอกชน ทั้งคุณภาพศิริราชและมาตรฐานสากล ภายใต้แนวคิด “ผู้รับ ผู้ให้” เนื่องจากรายได้ส่วนหนึ่งที่เข้าโรงพยาบาลแห่งนี้ จะส่งกลับคืนสู่ “คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล” เพื่อนำไปใช้ดำเนินการ “โรงพยาบาลศิริราช” และช่วยเหลือผู้ป่วยที่ด้อยโอกาส ซึ่งในแต่ละปี “ศิริราช” มีผู้ป่วยนอกไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคนต่อปี และผู้ป่วยใน 80,000 คนต่อปี
เบื้องหลังกว่าจะมาเป็น “ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์”
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เล่าที่มาว่า ในช่วงปี 2546 – 2547 รัฐบาลเริ่มออกนโยบายให้มหาวิทยาลัยรัฐออกจากการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ รวมถึงมหาวิทยาลัยมหิดลด้วยเช่นกัน นั่นหมายความว่า มหาวิทยาลัยต้องเลี้ยงตัวเองได้ เพราะรัฐบาลจะตัดงบประมาณลงเรื่อยๆ “คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล” อยู่ในมหาวิทยาลัยมหิดล ย่อมได้รับผลกระทบจากการถูกตัดงบประมาณ เนื่องจากหน้าที่ของ “คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล” มี 3 ด้าน คือ การเรียนการสอน – งานวิจัย – การให้บริการทางการแพทย์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ช่วงปี 2554 – 2555 ผู้นำของมหาวิทยาลัยมหิดล และคณบดีคณะแพทยศิริราชพยาบาล จึงริเริ่มทดลองทำโครงการหัวใจขนาดเล็กๆ ชื่อ “The Heart by Siriraj” ตั้งภายในโรงพยาบาลศิริราช จำนวน 21 เตียง เพื่อพิสูจน์ว่าถ้า “ศิริราช” ให้บริการคล้ายๆ โรงพยาบาลเอกชน จะมีคนมาใช้บริการไหม และเราจะอยู่ได้ไหม เพื่อหาเงินสนับสนุนคณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ และช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาสของโรงพยาบาลศิริราช
เหตุผลในการสร้าง “ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์”
ประการแรก เราต้องหารายได้เพื่อมาจุนเจือคณะแพทยศาสตร์ศิริราช พยาบาล เพื่อดำเนินโรงพยาบาลศิริราช ในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยังช่วยตัวเองไม่ได้มาก และเหตุผลที่สอง เราเชื่อว่าในอนาคตโรง พยาบาลเอกชนจะโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้าจะเห็นการโตขึ้น เนื่องจากประชากรจะมีอายุยืนยาวขึ้น ทำให้ความต้องการบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้น ดังนั้นการที่เราเปิดตรงนี้ เพื่อจะธำรงไว้ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ให้อยู่ในระบบ โดยสามารถมีรายได้มาจุนเจือ ทำให้มี SiPH เกิดขึ้น
———————————————
ที่มา : https://www.brandbuffet.in.th/2017/05/siriraj-piyamaharajkarun-hospital/
ปัญหาการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขของผู้คนในท้องถิ่นห่างไกลทำให้แพทย์ชนบทผู้หนึ่งทุ่มเทชีวิตของตนคลุกคลีกับปัญหาเพื่อปรับปรุงระบบโรงพยาบาลชุมชนที่ตนดูแลให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังทำงานเชิงรุกเพื่อช่วยให้ชาวบ้านมีสุขภาพที่ดีขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งโรงพยาบาล แต่คุณหมอตระหนักว่า เพียงเท่านั้นยังไม่พอ จะต้องเปลี่ยนแปลงระบบบริการสาธารณสุขทั้งระบบ เพื่อให้ชาวบ้านทั้งประเทศมีสวัสดิภาพดีขึ้น จนในที่สุด คุณหมอได้สร้างมิติใหม่ที่สำคัญยิ่งแก่วงการสาธารณสุขไทยในเวลาต่อมา คือการบุกเบิกระบบประกันสุขภาพ เปลี่ยนผู้ป่วยอนาถาที่ต้องรอความเมตตาจากโรงพยาบาล เป็นผู้มีสิทธิ์ในการเข้าถึงการรักษาอย่างถ้วนหน้า แม้คนส่วนใหญ่จะรู้จักนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ผ่านพรรคการเมือง แต่เบื้องหลังคืออดีตแพทย์ชนบทที่ชื่อว่า นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์
หมอสงวนได้เริ่มทดลองโครงการ 70 บาทรักษาทุกโรคที่อยุธยา แต่การปฏิรูประบบสาธารณสุขต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ และคนที่จะทำได้คือพรรคการเมือง หมอสงวนจึงนำนโยบายไปเสนอให้แก่พรรคการเมืองหลายพรรคเริ่มจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่สุดท้ายพรรคที่ซื้อความคิดนี้คือพรรคไทยรักไทย หมอสงวน ถ่ายทอดบันทึกเรื่องราวชีวิตเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “เรื่องหนึ่งที่ต้องต่อสู้มาก คือ ความหวาดระแวงว่าโครงการ 30 บาทจะไม่ใช่หลักประกันสุขภาพที่แท้จริง แต่เป็นเพียงนโยบายประชานิยมเพื่อการหาเสียงของพรรคไทยรักไทย แต่ว่า ใครจะด่าว่าอย่างไรก็ตามนะครับ พวกเราก็มั่นใจในตัวเราเองว่ายังไงก็จะต้องทำเรื่องนี้ให้ลงหลักปักฐานมั่นคงในสังคมไทยให้ได้ ... เราก็รู้ตัวเองดีว่าเราไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่เคยมีใครรู้หรอกว่าเขาเสนอให้ตำแหน่งทางการเมืองกับผม แต่ผมไม่เคยรับเลย” อันที่จริงอย่าว่าแต่ตำแหน่งทางการเมืองเลย แม้แต่ตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หมอสงวน ก็ยังไม่อยากรับตำแหน่ง ... แต่คนที่เข้ามาบอกว่าคุณต้องเข้ามาเป็นเลขาธิการ สปสช. ก็คือ อาจารย์อัมมาร สยามวาลา ที่มาบอกหมอสงวนว่า สปสช. ต้องมีการจัดการที่ดี ต้องมีวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ไม่อย่างนั้นสิ่งที่คิดมาจะล้มเหลว
(ที่มา : พลวุฒิ สงสกุล, 10 ปีการจากไปของ หมอสงวน ฮีโร่บัตรทอง เปลี่ยนคนไข้อนาถาให้ได้สิทธิ์ถ้วนหน้า, The Standard)
หมอสงวนต่อสู้เรื่องระบบประกันสุขภาพให้กับคนยากจนมาโดยตลอด แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะมีปัญหามากมายในการปฏิบัติ คุณหมอสงวนเมื่อคราวรับหน้าที่เป็นเลขาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คนแรก พร้อมกับการเป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ก็ไม่ย่อท้อ ลงพื้นที่จนเห็นปัญหา และค่อยๆ แก้ปัญหาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตของตน ถึงแม้ว่าจะเป็นมะเร็ง ก็ยังผลักดันงานด้านสุขภาพถ้วนหน้าต่อไป โดยไม่ยอมหยุดพัก คุณหมอสงวนเขียนบันทึกสุดท้าย ตอนที่พลิกชีวิตจากหมอมาเป็นผู้ป่วยมะเร็ง ว่า “อย่างหนึ่งที่ผมภูมิใจคือหลังจากที่ป่วย ทำให้เราซึมซาบถึงความทุกข์ยากของคนไข้ 30 บาทฯ มากขึ้น .. และผมก็ได้ลงมือปรับปรุงระบบบริการสุขภาพในหลายๆ ส่วนทันที” เรื่องแรกที่คุณหมอลงมือทำคือ แก้ปัญหาเรื่องคิวผ่าตัดหัวใจ
“ผมมีคนไข้คนหนึ่งมาร้องเรียนว่าภรรยาเขาเป็นโรคหัวใจล้มเหลวไปนอนโรงพยาบาล หมอบอกว่าต้องผ่าตัด แต่ปรากฎว่าหมอนัด 8 เดือน เขาก็มาร้องเรียนว่าแล้วภรรยาเขาจะไม่ตายก่อนหรือ ผมรู้สึกว่าทำไมหมอนัดนานจัง และเมื่อให้เจ้าหน้าที่ไปค้นดูพบว่า อย่าว่าแต่ 8 เดือนเลย 4 ปีก็ยังมีที่กว่าจะได้รับการผ่าตัด...
แนวคิดที่ผมนำมาใช้ในการแก้ปัญหา คือการบริหารจัดการให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ให้เกิด ประโยชน์สูงสุด เพราะจริงๆ แล้วเครื่องมือแพงๆ รวมทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ควรต้องถือว่าเป็นสมบัติของส่วนรวม เป็นของประเทศชาติที่สามารถจะเอามาดูแลคนไทยทุกคนได้ และการที่คิวยาวไม่ได้เป็นเพราะประเทศของเราขาดแคลนเครื่องมือหรือบุคลากร แต่เนื่องจากเราอาจมีเส้นแบ่งเรื่องสังกัด เรื่ององค์กร เรื่องความเป็นรัฐ ความเป็นเอกชน เราก็เลยกันของส่วนรวมไว้เป็นของที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น ซึ่งทำให้การใช้ทรัพยากรไม่เต็มที่
หลังจากนั้นก็มีการประชุมกัน ในเวลาเพียงแค่ประมาณสองเดือนก็ทำให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่ดีมากในโครงการ 30 บาทฯ คุณหมอเล่าว่า ที่ทำอย่างนี้ได้เพราะเรามีระบบกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในหมวดโรคค่าใช้จ่ายสูง ที่สามารถจะบริหารจัดการจ่ายค่าผ่าตัดให้กับสถานพยาบาลที่ทำการผ่าตัดได้โดยคล่องตัว ซึ่งถ้าไม่มีกองทุนแบบนี้หรือเป็นแบบเดิมที่ต่างคนต่างจ่าย ไม่มีทางที่คนยากคนจนหาเช้ากินค่ำจะมีโอกาสได้เข้าผ่าตัดหัวใจซึ่งมีค่าใช้จ่ายนับแสนบาทอย่างแน่นอน”
(ที่มา : นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์, เปลี่ยนมะเร็งเป็นพลัง, ธรรมะอินเทรนด์,)
คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ นอกจากได้ชื่อว่าเป็น "บิดาแห่งหลักประกันสุขภาพไทย" แล้วยังเป็น "นักสู้มะเร็งผู้ยิ่งยง" ที่สามารถแปรวิกฤติให้เป็นโอกาส และแปรการเจ็บป่วยเป็นคานงัดเปลี่ยนชีวิตและจิตวิญญาณของตนเอง จนเกิดพลังสร้างสรรค์ และ ความมีชีวิตชีวายิ่งกว่าผู้ที่ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยในช่วง 4 ปีของการเป็นผู้ป่วยมะเร็ง
คุณหมอสงวนเป็นนักสู้เพื่อมวลชนโดยแท้ ช่วงที่คุณหมอเพียบหนัก อยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต เวลาแนะนำให้คุณหมอทำใจสงบปล่อยวางเพื่อประโยชน์ของตัวเอง คุณหมอจะไม่ค่อยแสดงอาการตอบสนองเท่าใดนัก แต่เมื่อแนะนำให้ต่อสู้กับความเจ็บปวด โดยมีสติระลึกรู้อยู่กับทุกขเวทนา เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่คนป่วยอีกมากมายว่าแม้ทุกข์กายแต่ก็สามารถเอาชนะทุกขเวทนาได้ คุณหมอจะดูแจ่มใสและมีเรี่ยวแรงขึ้นมา ลืมตาแถมยังชูสองนิ้วเป็นสัญลักษณ์ว่า “ใจยังสู้”
คุณหมอสงวนเป็นผลผลิตที่มหาวิทยาลัยมหิดลสมควรภาคภูมิใจ เพราะได้ใช้สติปัญญาความพากเพียร และความกล้าอย่างถึงที่สุดเพื่อมหาชน สมดังพระดำรัสของพระราชบิดาที่คุณหมอถือเป็นคติเตือนใจเสมอว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นกิจที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” ในฐานะชาวพุทธ คุณหมอสงวนนับเป็นบัณฑิตที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ ดังพุทธพจน์ว่า “เมื่อจะคิด ก็คิดการที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน เกื้อกูลแก่ผู้อื่น เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งหมดทีเดียว อย่างนี้แล ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก”
(ที่มา : พระไพศาล วิสาโล, รำลึกถึงนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์)
Web page was built with Mobirise