Background photo was designed by rawpixel.com / Freepik
การคิดเชิงวิเคราะห์ หมายถึง ความสามารถในการจําแนกแจกแจงองค์ประกอบต่าง ๆ ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้น เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของสิ่งที่เกิดขึ้น
การคิดเชิงวิเคราะห์ เปรียบเหมือนการเห็น “ผลลัพธ์” ของบางสิ่งแล้วไม่ด่วนสรุปทันทีว่ามันเกิดจากสาเหตุใด มี องค์ประกอบใด มีความเป็นมาอย่างไร แต่พยายามหาข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเสียก่อนว่า ผลลัพธ์ที่ เราเห็นนั้น เกิดจาก “สาเหตุที่แท้จริงคืออะไร” โดยมาจากสมมติฐานที่ว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้น ย่อมมีที่มาที่ไป ย่อมมีเหตุมีผล และมีองค์ประกอบย่อย ๆ ซ่อนอยู่ภายใน ซึ่งอาจจะสอดคล้องหรือตรงกันข้ามกับสิ่งที่ปรากฏภายนอก
(ดูคลิปแนะนำ Clitical Thinking ฉบับย่อ 2.29 นาที)
หลักการคิดเชิงวิเคราะห์ที่ควรมีประจำใจ
1. รับข้อมูลอย่าด่วนสรุป...ตีความให้กระจ่าง เราต้องเรียนรู้ที่จะมองสิ่งนั้น “ตามเนื้อผ้า” หรือ “มองสิ่งที่เห็นให้เป็นเช่นที่มันเป็นอยู่” เพื่อให้รู้ว่าเรื่องนั้นเกี่ยวกับอะไร ไม่ด่วนสรุปหรือด่วนแสดงทัศนะใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนั้น เป็นการแสดงความปรารถนาสืบสาวเรื่องนั้นใน ระดับลึกลงกว่าเดิม โดยพยายามทําความเข้าใจ หาที่มาที่ไปเกี่ยวกับเรื่องนั้น
2. มีปัญหาอย่าด่วนแก้... ตรวจสอบให้แน่ว่า “อะไรคือสาเหตุของปัญหา ? ” มีปัญหาจะทําอย่างไร ?
3. ฝึกการตั้งคำถามเชิงวิเคราะห์...ขอบเขตของคำถามที่เกี่ยวข้องจะต้องนำพาสู่การแจกแจงองค์ประกอบ และหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลในเรื่องที่วิเคราะห์ โดยแนวคำถามจะอยู่ในขอบข่าย “5W 1H” ... ใคร (who) .. อะไร (what) .. ที่ไหน (where) .. เมื่อไหร่ (when) ... เพราะเหตุใด (why) ... อย่างไร (how)
ในที่นี้จะพยายามทำให้เห็นว่า เมื่อเจอกับปัญหาในชีวิตประจำวันเราจะใช้การคิดเชิงวิเคราะห์เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาได้อย่างไร
เมื่อเจอปัญหาปัญหา : ลองวิเคราะห์ โดยพิจารณาความสัมพันธ์เชิงเหตุผล โดยการ
1. แจกแจงองค์ประกอบของความเป็นไปได้ ตัวอย่าง โอกาสการเสพยาบ้ากับลูกของเรา แจกแจงองค์ประกอบที่คิดว่าน่าจะเป็นสาเหตุของการเสพยาบ้าของลูก ตั้งคําถามว่า
“ลูกจะเสพยาบ้าด้วยสาเหตุอะไรได้บ้าง ?” พิจารณาภายใต้คําถาม 5W 1H เช่น ใคร...ทําอะไร... ลูกจึงเสพยาบ้า? โรงเรียนเป็นอย่างไร...ลูกจึงเสพยาบ้า? เวลา..ลูกใช้เวลาอย่างไร ลูกจึงเสพยาบ้า? ครอบครัว....ครอบครัวเป็นอย่างไร...ลูกจึงเสพยาบ้า? ฯลฯ การแจกแจงองค์ประกอบต่าง ๆ อาจเขียนให้อยู่ในรูปของตารางได้ดังนี้
2. วิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น เมื่อลงรายละเอียดแล้ว ในลําดับต่อไปให้เพิ่มตารางการวิเคราะห์ โอกาสความน่าจะเป็นจากสาเหตุดังกล่าว โดยแบ่งเป็นช่องคะแนนที่เรา จะให้ เป็นลําดับคะแนน มาก ปานกลาง น้อย น้อยที่สุด พิจารณาแต่ละ ปัจจัย วิเคราะห์บนพื้นฐานสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับลูกของเราจากนั้นให้เลือกเฉพาะโอกาสที่เป็นไปได้มากที่สุด
3. เลือกข้อที่ตอบว่ามีความน่าจะเป็นมากและปานกลางออกมาพิจารณาก่อน : เราจะพบว่าอะไรเป็นสาเหตุของปัญหาที่ควรแก้ไขหรือป้องกันก่อน เช่น การใช้เวลาว่างพูดคุยกับลูกเพิ่มขึ้น การสนับสนุนให้เพื่อนๆของลูกมาใช้เวลาที่บ้าน เพื่อเพิ่มโอกาสในการรู้จักเพื่อนของลูกให้มากขึ้น เป็นต้น
4. เลือกข้อที่ตอบว่าความน่าจะเป็นน้อยมาพิจารณา : เพื่อความรอบคอบ เราควรเลือกข้อที่แม้ว่าเราจะตอบว่ามีความเป็น ไปได้น้อยมาพิจารณาด้วย เช่น เพื่อเป็นการป้องกัน เราในฐานะผู้ปกครองอาจจะเสนอให้ทางโรงเรียนใส่ใจในเรื่องนี้มากขึ้น
การจำแนกแจกแจงแบบนี้จะทำให้เราเห็นภาพทั้งหมดของสิ่งที่เกิดขึ้น จะช่วยให้เราสามารถประเมินได้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งในขั้นต่อไปคือ
ขั้นตอนของการวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจําวัน คนจํานวนไม่น้อยแก้ปัญหา ในลักษณะของการ "เกาไม่ถูกที่คัน” คือไม่ได้แก้ไขปัญหาที่รากหรือต้นตอ สาเหตุที่แท้จริง หรือไม่ก็แก้ไขไปตามอาการของโรค เช่น เมื่อมีอาการไอ จะจิบยาแก้ไอ เมื่อปวดศีรษะจะทานพาราเซตามอล ทั้ง ๆ ที่ในความเป็น จริงการไอนั้นอาจเป็นอาการเริ่มต้นของวัณโรคปอด และการปวดศีรษะนั้น เป็นอาการเริ่มต้นของโรคไมเกรน การทานยาจึงเป็นเพียงการบําบัดอาการหรือลดความรุนแรงของอาการลง เท่านั้น แต่ไม่สามารถรักษาโรคที่เกิด ขึ้นได้ จําเป็นต้องมีการวินิจฉัยว่าแท้จริงแล้ว อาการดังกล่าวเกิดจากอะไร เป็นผลที่เกิดจากโรคอะไร เพื่อให้สามารถรักษาได้ตรงกับโรคที่เกิดขึ้นการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาเพื่อสืบสาวต้นตอจึงเป็นเรื่องที่สําคัญ
เทคนิคการสืบสาวต้นตอสาเหตุของปัญหาอาจใช้วิธีการต่อไปนี้
1. เทคนิควิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา
แจกแจงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับปัญหา —> เข็ม , เส้นด้าย —> วิเคราะห์สาเหตุ
2. เทคนิคสาวลึกหลาย ๆ ชั้นถึงต้นตอของปัญหา : ตั้งคําถาม “อะไรเป็นสาเหตุ” ไปเรื่อย ๆ จนพบต้นตอของปัญหา วิธีการนี้เป็นการสืบสาวหาสาเหตุว่า อะไรเป็นสาเหตุให้อีกสิ่งหนึ่ง เปลี่ยนแปลง และอะไรเป็นสาเหตุที่ทําให้สิ่งนั้นเป็นเช่นนั้น สืบสาวไป เรื่อย ๆ จนมั่นใจว่าถึงต้นตอของปัญหา เขียนเป็นภาพอธิบายได้ว่า
เราลองวิเคราะห์สาเหตุ โดยตั้งคำถามว่า
“อะไรเป็นสาเหตุทําให้ ง เกิดขึ้น/เปลี่ยนแปลง” "ค ทําให้ ง เกิดขึ้น/เปลี่ยนแปลง”
ตั้งคําถามต่อไปว่า "อะไรเป็นสาเหตุทําให้ ค เกิดขึ้น/เปลี่ยนแปลง “ข ทําให้ ค เกิดขึ้น/เปลี่ยนแปลง”
ตั้งคําถามต่อไปว่า "อะไรเป็นสาเหตุทําให้ ข เกิดขึ้น/เปลี่ยนแปลง” “ก ทําให้ ข เกิดขึ้น/เปลี่ยนแปลง
3. เทคนิคการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาแบบ “แผนภูมิก้างปลา” ในปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคนหลายฝ่ายหรือหลายขึ้นตอน เพื่อที่จะดูว่าสาเหตุที่แท้จริงของปัญหานั้นอยู่ขั้นตอนใดบ้าง
หัวปลาระบุปัญหาหลักที่ต้องการวิเคราะห์ ก้างหลายๆ ก้างแตกแขนงออกไป แต่ละก้างใหญ่จะแยกเป็นหมวดหมู่ ส่วนก้างย่อยในแต่ละหมวดหมู่ให้ใส่ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง และอาจใส่ก้างย่อยเล็กลงไปอีกเพื่อชี้ให้เห็นต้นตอของปัญหา
กระบวนการคิดเชิงออกแบบ คือ กระบวนการคิดเพื่อแก้ไขปัญหาหรือโจทย์ให้ถูกจุด ตลอดจนพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาหรือโจทย์ที่ตั้งไว้ เพื่อที่จะหาวิถีทางที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุด การแก้ปัญหาบนพื้นฐานกระบวนการนี้จะเน้นผู้ใช้/ผู้บริโภค (User-centered) เป็นหลัก โดยมีเจตนาในการสร้างผลลัพธ์ในอนาคตที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ตอบโจทย์ตลอดจนแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์อีกด้วย
(ที่มา : กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เครื่องมือสำคัญของการสร้างความสำเร็จให้องค์กร)
(ดูคลิปแนะนำ Design Thinking ฉบับย่อ (3.56 นาที) | http://patreon.com/sprouts)
การนำเอากระบวนการของการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) นั้นอาจจะเห็นผลชัดเจนและเข้าใจได้แจ่มแจ้งกว่าสำหรับกระบวนการคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคตลอดจนตอบโจทย์ที่ผู้บริโภคต้องการ รวมไปถึงสามารถผลิตสินค้าและบริการขึ้นมาเพื่ออุดรูรั่วของตลาดนั้นๆ ตลอดจนสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นก็ได้ ซึ่งการคิดโดยนำเอากระบวนการคิดเชิงออกแบบมาใช้ให้เกิดประโยชน์นี้จะทำให้เราเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ และผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อตอบโจทย์ตลาดตลอดจนแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ต้องระมัดระวังด้วยว่า โจทย์ที่ได้ หรือความต้องการของผู้กลุ่มเป้าหมายนั้น ต้องอยู่บนฐานของจริยธรรม และวิสัยทัศน์ที่ถูกตรงด้วย มิฉะนั้น Design thinking ก็จะเป็นการคิดเพียงเพื่อบำรุงบำเรอความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างไม่สิ้นสุด
การคิดเชิงสร้างสรรค์ หมายถึง การขยายของเขตความคิดออกไปจากกรอบความคิดเดิมที่มีอยู่ สู้ความคิดใหม่ ๆ เพื่อค้นหาคำตอบหรือทางออกที่ดีที่สุดให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น
ข้อดีของการคิดเชิงสร้างสรรค์เปรียบเหมือนกับการที่เราถูกล้อมไปด้วยกอบทัพข้าศึก แล้วเราหาทางใหม่ ๆ แหวกวงล้อมออกไปได้ ความคิดสร้างสรรค์ช่วยให้เราแก้ปัญหาได้ลงตัวกับปัญหา นอกจากนี้ความคิดสร้างสรรค์ยังก่อให้เกิดนวัตกรรมที่ไม่หยุดยั้งอีกด้วย
มาฝึกขยายขอบเขตสมอง ด้วยปฏิบัติการแหวกกรอบความเดิม ๆ กัน
ปฏิบัติการที่ 1 ฝึกขยายขยายขอบเขตของความเป็นไปได้
(ดูโจทย์ในรูป)
ถ้าเฉลยว่า “น้องหมาอ้วนนอนกลับหัว”...
ลองกลับไปมองที่วงกลมข้างต้น คุณจะพบว่าสมองได้สร้างจินตนาการน้องหมาอ้วนนอนกลับหัวตามที่บอกแล้ว...
เอาละ..สมมติว่าไม่ได้บอกหรือเฉลยว่าวงกลมซ้อนกันสองวงข้างต้นคือน้องหมาอ้วน ให้คุณกลับไปมองวงกลมทั้งสองอีกครั้ง ลองตอบว่าคุณเห็นว่ามันเป็นภาพอะไร ?
ลองขยายกรอบความคิดของเราสู่การจินตนาการอันไรขอบเขต แล้วเขียนลงในกระดาษให้ได้มาที่สุดในเวลา 3 นาที...
เราอาจมองเห็น.... แหวน, หัวเป็ด, ลูกบอลกำลังเข้าห่วง, คนเอียงคอมองดวงอาทิตย์ตก, ทารกกำลังดูดนมจากขวด, ฯลฯ
ปฏิบัติการที่ 2 ฝึกเชื่อมโยงสิ่งที่ไม่คุ้นเคย : ลองเกมง่าย ๆ สักเกมหนึ่ง
ยกตัวอย่าง หมอนใส่ของ อาจเจาะช่องตรงกลางหมอนไว้ เพื่อให้ใส่ของสำคัญ หรือใส่เครื่องหอมเพื่อเวลานอนจะได้สดชื่น / โต๊ะใช้อ่าน ต่อไปเราอาจพัฒนาให้โต๊ะกับคอมพิวเตอร์เชื่อมเป็นสิ่งเดียวกัน และบรรดาพวกหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ จะถูกบรรจุเข้ามาได้ เป็นต้น
การฝึกเชื่อมโยงหรือฝึกจินตนาการเพื่อขยายขอบเขตความเป็นไปได้ของสิ่งนั้น ๆ จะช่วยให้ความคิดของเราไม่ยึดติดกับการตีความสิ่งนั้นเพียงมุมเดียว ตามประสบการณ์ ความรู้ หรือความเคยชิน แต่จะเกิดความพยายามออกแรงความคิด ในสิ่งเดียวกันนั้นให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่หลากหลายอย่างไม่เคยคิดมาก่อน จนกลายเป็นมุมมองที่สร้างสรรค์ของเรา
เรียนรู้เทคนิคคิดเชิงสร้างสรรค์
1. เทคนิคการหาความคิดใหม่ที่หลากหลายด้วยการระดมสมอง (Brainstorming) คิดค้นโดย อเล็กซานเดอร์ ออสบอร์น (Osborn, 1953)เขาได้แบ่งแนวการการปฏิบัติไว้ 2 ขั้น ดังนี้
1.1 ขั้นแนวทางการระดมสมองให้มีประสิทธิภาพ มีข้อแนะนำดังนี้
- จำนวนคนไม่ควรมากเกินไป อาจอยู่ระหว่าง 7-12 คน
- ควรใช้ระยะเวลาไม่นานนัก ประมาณ 15-20 นาที แล้วพัก 3 นาทีค่อยเริ่มใหม่ เพื่อให้ได้เปลี่ยนอิริยาบถและเพื่อป้องกันมิให้ความคิดเริ่มวนเวียนอยู่ที่เดิมหรือล้าจนคิดไม่ออก
- ควรเขียนหัวข้อหรือปัญหาที่ต้องการคำตอบไว้บนกระดานให้ชัด และเริ่มให้ทุกคนแสดงความคิดเห็น
- จดทุก ๆ ความคิดเห็นไว้บนกระดาน และห้ามทุกคนวิพากษ์วิจารณ์หรือแม้กระทั่งหัวเราะเยาะความคิดของผู้อื่น
- การจะให้ความคิดหลั่งไหลออกมานั้น ทุกคนจะต้องพยายามพูดออกมา อย่าให้มีช่วงหยุด คิดอะไรได้ก็พูด แม้จะซ้ำหรือคล้าย ๆ กับของคนอื่น เพราะถ้าที่ประชุมเงียบเมื่อไหร่ ความเงียบนั้นจะหยุดการกระตุ้นการคิดใหม่ ๆ เพราะความคิดของแต่ละคนต่างได้รับการกระตุ้นจากความคิดของผู้อื่น
- เมื่อถึงเวลากำหนดให้ทุกคนหยุด
1.2 ขั้นการคัดเลือกและประเมินผล มีข้อแนะนำดังนี้
- คัดเลือกความคิดที่มีอยู่ที่คิดว่า “ใช้การได้” “น่าสนใจ” “เหมาะสม” อาจจะทั้งหมดหรือเพียงบางคำพูดของความคิดนั้น ขั้นนี้จะใคร่ครวญด้วยการใช้เหตุผลดูว่าความคิดใหม่เหล่านี้ตอบวัตถุประสงค์หรือไม่
- เราจะได้ความคิดที่เหมาะสมจำนวนหนึ่ง จากนั้นนำมาคัดเลือกต่อ อาจจะผสมผสานแนวคิดของหลายคนที่พอจะเชื่อมกันได้ คัดทิ้งความคิดที่หาข้อบกพร่องได้ ในขั้นนี้เปิดโอกาสให้แสดงความเห็นและวิพากษ์กันได้
การวิพากษ์โดยการตั้งคำถามเชิงวิพากษ์นี้ จะช่วยให้เราไม่หลงดีใจกับความคิดใหม่ ๆ จนเกินไป แต่ช่วยฉุดให้เราหวนกลับสู่ความเป็นจริงเพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสม เป็นการพยายามคัดเลือกเพื่อให้สามารถนำมาใช้จริงได้มากที่สุด อันจะช่วยลดข้อผิดพลาดได้ โดยตอบคำถามแหล่านี้ จาก คำถาม 5W H1
- พยายามกลั่นกรองให้เหลือแนวความคิดที่ตอบวัตถุประสงค์มากที่สุด หรืออาจจะสร้างสิ่งใหม่ที่สังเคราะห์จากบางส่วนที่ได้จากการระดมความคิดที่หลากหลายก็ได้
2. เทคนิคการสังเคราะห์ส่วนประกอบ (morphological synthesis)
เทคนิคนี้คิดขึ้นโดยสวิกกี้ (Zwicky, 1969) สามารถทำได้ง่ายๆโดยการเขียนรายการของแนวคิดที่เกี่ยวกับลักษณะหรือแง่มุมหนึ่งของสิ่งที่ต้องการตอบออกมาแล้วเขียนไว้ในแกนหนึ่ง(มิติที่ 1) และเขียนรายการของแนวคิดที่เกี่ยวกับอีกลักษณะของสิ่งที่ต้องการตอบออกมา แล้วเขียนไว้ในอีกแกนหนึ่ง(มิติที่ 2) ผลที่ได้คือช่วงตัดระหว่างรายการของแนวคิดทั้งสอง ทั้งนี้สามารถเพิ่มมิติเป็น 3 หรือ 4 อีกก็ได้ จะช่วยให้เราได้สิ่งใหม่ๆ แบบทวีคูณเลย ตัวอย่าง
"ความ Creativity มันคือการเอาสิ่งที่เป๊ะๆ กับสิ่งที่ กะๆ มาคละๆ กัน"
สูตรลับพลิกแบรนด์อย่าง Creative แบบ 'ธนา เธียรอัจฉริยะ' - นักการตลาดมือดีผู้ปลุกปั้นแบรนด์ HAPPY ของ DTAC ก่อนจะย้ายมาเป็นซีอีโอให้กับ GMM และปัจจุบันเป็นรองผู้จัดการอาวุโส Chief Marketing Officer (CMO) ธนาคารไทยพาณิชย์
การคิดเชิงกลยุทธ์ หมายถึง ความสามารถในการกำหนดแนวทางที่ดีที่สุด ภายใต้สภาวะต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมาย
การคิดเชิงกลยุทธ์จะเกิดขึ้นเมื่อมีการกำหนดเป้าหมาย หรือจุดแห่งความสำเร็จไว้ให้ชัดเจนก่อน เราจึงจะคิดหนทางไปสู่จุดนั้นได้ เช่น เป้าหมายของการตัดสินใจ คือ การทำให้ตนเองได้สิ่งที่ดีที่สุดในเรื่องนั้น ๆ ท่ามกลางข้อจำกัด
(คลิกดูคลิป แนะนำ Strategic Thinking เบื้องต้น 1.50 นาที)
เมื่อเราจะแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้สำเร็จได้ เราต้องตั้งเป้าหมายเป็นเสียก่อน โดยในที่นี้จะพาให้เรียนรู้การกำหนดเป้าหมาย 2 เรื่อง ได้แก่ การกำหนดเป้าหมายในการแก้ปัญหา และการกำหนดเป้าหมายที่พึงประสงค์
1. การกำหนดเป้าหมายในการแก้ปัญหา : ต้อง “ชัด” ในเป้าหมาย ก่อนแก้ปัญหาอย่างมีกลยุทธ์ เป้าหมายในการแก้ปัญหา คือ สถานะที่ปัญหาได้รับการแก้ไข เรียบร้อยแล้วตามที่ได้ตั้งใจไว้ คนส่วนใหญ่เมื่อเห็นปัญหามักจะพยายามหาทางแก้ปัญหานั้นทันที โดยใช้เป้าหมายเดียวที่ตนคิดว่าใช่ ความคิดและการกระทําเช่นนี้เท่ากับ เป็นการปิดโอกาสในการเห็นทางออกของปัญหาในแง่มุมที่ดีกว่าหรือทางที่ดีกว่าในการแก้ปัญหานั้น
การแก้ปัญหาใดก็ตาม อาจมีได้มากกว่าหนึ่งเป้าหมาย ซึ่งการกําหนดเป้าหมายที่แตกต่าง ย่อมนําไปสู่การเลือกกลยุทธ์แก้ปัญหาที่แตกต่างกัน เราจึงต้องฝึกกำหนดเป้าหมายให้ครบถ้วน ถ้าเรากําหนดเป้าหมายที่ไม่ครบถ้วน เราย่อมไม่สามารถแก้ปัญหาที่มีอยู่ทั้งหมดได้
ในที่นี้จะให้หลักคิดง่าย ๆ เพื่อให้เราสามารถกําหนดเป้าหมาย มากกว่าหนึ่งได้ คือ
เดิมเรากําหนดเป้าหมายจากสาเหตุเดียว ---> เพิ่มเป็นกําหนดเป้าหมายจากหลายสาเหตุ
ในการกําหนดเป้าหมายการแก้ปัญหา เมื่อเรามุ่งแก้ไขในเรื่องหนึ่ง เรามักจะยอมรับบริบทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือตรึงมันไว้อยู่กับที่โดยปริยาย โดยจะเลือกแก้ปัญหาจากสาเหตุเดียวที่เราคิดว่า “ใช่” หรือ “สําคัญที่สุด” และกําหนดเพียงเป้าหมายเดียว จากนั้นจึงพยายามหายุทธวิธีที่คิดว่า “ดีที่สุด” เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย แต่แท้จริงแล้วเป้าหมายที่เราตั้งขึ้น แม้เราจะสรรหาวิธีการต่าง ๆ มากมาย แต่วิธีการเหล่านั้นอาจไม่ช่วยให้แก้ปัญหาได้ดีเท่ากับการกําหนดอีกเป้าหมายหนึ่ง จากสาเหตุอื่น ๆ ที่น่าจะเป็นต้นเหตุแห่งปัญหา ซึ่งอาจจะนําไปสู่การคิดหาวิธีที่ดีกว่า ประหยัดกว่า ได้ผลสําเร็จเป็นที่น่าพึงพอใจมากกว่า
2. การกำหนดเป้าหมายที่พึงประสงค์ เป้าหมายที่กำหนดควรมีความชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้เห็นว่าอนาคตที่เราต้องการไปถึงนั้นคืออะไร การกล่าวกว้าง ๆ เช่น เรียนดีขึ้น เป็นคนดีขึ้น ผอมลง เป็นต้น เป้าหมายเหล่านี้เป็นการใช้คำพูดที่คลุมเครือทำให้เป้าหมายไม่ชัด....ทางที่ดีกว่าคือ การกำหนดเป้าหมายที่มีความชัดเจน เห็นภาพในอนาคตว่าจะเป็นเช่นไร ต้องวัดผลได้ บอกระยะเวลาที่ต้องการประสบความสำเร็จอย่างชัดเจน
เทคนิคเสริมสำหรับการคิดเชิงกลยุทธ์ คือ “การฉายภาพอนาคต” ทั้งนี้เพื่อให้เรามีทักษะที่จะมองการณ์ไกลมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การตัดสินใจ ณ ทางเลือกปัจจุบันที่ดีที่สุดได้ ด้วยการ “สร้างตารางทางเลือก” : เมื่อเรามีทางเลือกอนาคตที่มากกว่า 2 ทางเลือกและมีรายละเอียดมาก การใช้เครื่องมือนี้อาจทำให้เห็นภาพรวมและตัดสินใจง่ายขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น
การตัดสินใจในการทำสิ่งต่าง ๆ หากผิดพลาดไป ย่อมต้องรับผลร้ายที่เกิดขึ้นด้วย ดังนั้นเราจึงต้องเริ่มจากการพัฒนาความสามารถในการฉายภาพอนาคตนี้ เพื่อช่วยให้เราเห็นภาพว่า อนาคตที่เราจะตัดสินใจกระทำนั้นเป็นเช่นไร ก่อนที่เราจะตัดสินใจลงมือสร้างอนาคตหรือทำเป้าหมายนั้นให้เป็นจริง
ในปัจจุบันประเทศไทยต้องมีการจัดการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับประเทศไทยยุค 4.0 ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับทักษะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 และ Computational Thinking เป็นกระบวนการคิดที่ต้องใช้ทักษะและเทคนิคเพื่อแก้ไขปัญหา Computational Thinking เป็นทักษะที่สำคัญทักษะหนึ่งที่ทุกคนจำเป็นต้องพัฒนาขึ้น เพราะเป็นทักษะที่มีความเกี่ยวข้องกับทักษะเสริมศักยภาพอื่นๆ ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งกระบวนการคิดนี้มีการส่งเสริมโดยใช้การเขียนโปรแกรมเป็นหลัก เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจวิธีการแก้ปัญหาโดยคอมพิวเตอร์ และเพื่อพัฒนาตรรกะและทักษะในการแก้ปัญหาของผู้เรียนเอง ดังนั้นจึงต้องมีการส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดทักษะและกระบวนการคิดที่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(ดูคลิปแนะนำ Computational Thinking ฉบับย่อ 4.31 นาที )
Computational thinking (การคิดเชิงคำนวณ)
1) Decomposition (การคิดแยกแยะองค์ประกอบ)
การลงลึกเพื่อวิเคราะห์ส่วนประกอบย่อยเพื่อศึกษาความซับซ้อนของผลลัพธ์หรือปัญหา เช่น การบอกว่าอาหารที่เราไม่เคยทานแล้วได้ทดลองทานดูนั้นมีรสชาติ กลิ่น มาจากส่วนประกอบอะไรบ้าง (Materials) รูปแบบเบื้องต้นคือ การแจกแจงปัญหาไปสู่ส่วนประกอบย่อยเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น
2) Pattern Recognition (การวิเคราะห์รูปแบบความสัมพันธ์)
คือ การมองหารูปแบบของปัญหา หรือสถานการณ์ (Pattern) ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เช่น การดูกราฟแท่งเทียนของนักวิเคราะห์หุ้นที่สามารถมองรูปแบบกราฟแล้ว Forecast สถานการณ์ของหุ้นที่จะเกิดขึ้นได้ โดย Pattern ที่เกิดขึ้นนั้น นักวิเคราะห์หุ้นจะทราบทันทีว่าจะตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นในมือ
3) Pattern Generalization and Abstraction
การมองภาพรวมเพื่อนิยามสิ่งที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อย เช่น ในการบริหารเวลา นักวางแผนใช้การวางแผนรายสัปดาห์แทนรายวันและรายชั่วโมง
4) Algorithm Design
เป็นรูปแบบที่สำคัญที่สุด นั่นคือ การออกแบบลำดับการทำงานที่สามารถ Define ปัญหา ตั้งวิธีการทำงาน การทำงานเดิมๆ ซ้ำๆ ในระบบงานเดิมๆ นักไอที นักพัฒนาซอฟต์แวร์ จะมี Algorithm ในการสร้าง Pattern การทำงานให้สั้นที่สุด และเกิดผลลัพธ์ตามที่กำหนดในโปรแกรมหรือเกมเช่นกัน ในปัญหาที่เป็นปัจเจกพื้นฐานบนโลก ได้แก่ การที่พ่อครัวทำอาหารจานเดิมที่ขึ้นชื่อของร้านเป็นประจำจึงได้เขียนสูตรสัดส่วนและกระบวนการไว้ให้กับลูกมือสามารถทำตามแผนที่กำหนดไว้ได้ นั่นก็คือการออกแบบลำดับการทำงาน หรือ Algorithm เช่นกัน อีกตัวอย่างบุรุษไปรษณีย์ที่เคยเดินทางก็สามารถสร้างแผนที่การเดินทางที่ซับซ้อนไว้ให้ สำหรับคนที่ต้องมาเปลี่ยนมือก็จะไม่หลงทางอีกต่อไป นั่นก็คือการสร้างลำดับการทำงานอีกเช่นกัน
(ที่มา : Computational Thinking กับการศึกษาไทย, ภาสกร เรืองรอง และคณะ, วารสารปัญญาภิวัฒน์ ปีที่ 10 ฉบับที่ 3)
การคิดเชิงคำนวณ กับชีวิตประจำวัน
การคิดเชิงคำนวณ ทำให้คิดเป็นระบบมากขึ้น
มีทักษะในการหาข้อมูล และตรวจสอบข้อมูล
รู้จักจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
มีการใช้เหตุผล สร้างสมมติฐานในการแก้ปัญหา
#CHULAMOOCAchieve
(ดูคลิปการคิดเชิงคำนวณกับชีวิตประจำวัน 4.32 นาที )
บทสรุปของการจัดการปัญหาเริ่มต้นที่ root cause analysis คือการเข้าใจปัญหา (ทุกข์) ให้ถ่องแท้ โดยไม่ละเลย หลบเลี่ยง จนเห็นสาเหตุของปัญหา (สมุทัย) ที่เป็นจริงและจัดการได้ (ปัจจัยที่ก่อปัญหาแต่จัดการไม่ได้ เรียกว่าเงื่อนไขข้อจำกัด) กระบวนการนี้อาศัยการสังเกต ใส่ใจ คิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ (Critical thinking) หลากหลายแง่มุม รู้จักการค้นหาข้อมูล ตรวจสอบข้อมูล เป็นต้น
เป้าหมายของการจัดการปัญหา ไม่ใช่เพียงการยุติสภาวะปัญหาเสมอไป ถ้าทุกข์เปรียบเหมือนไฟที่ลุกโชน นิโรธไม่ใช่การที่ไฟดับไป แต่คือการที่ไฟลุกขึ้น (อีก) ไม่ได้ ด้วยการรู้เข้าใจเหตุปัจจัยของไฟ แล้วจึงเอาฟืนหรือออกซิเจนออกจากกองไฟ เป้าหมายที่ดีจึงควรจะเป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้ และจัดการกับสาเหตุที่แท้ของปัญหาได้อย่างลึกซึ้ง และยั่งยืน
ยิ่งสามารถเข้าใจสาเหตุของปัญหาได้ลึกซึ้งเพียงใด ก็ยิ่งเห็นเป้าหมายที่ยั่งยืน และเป็นไปได้จริง เพียงนั้น เช่น เป้าหมายของการจัดการปัญหาคนไข้ล้น รพ. คือการจัดหาที่นั่งรอให้เพียงพอ หรือคือการทำให้คนในสังคมไม่ป่วย
เช่น เป้าหมายของหญิงสาวที่ถูกทิ้งให้เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว คือการตามหาสามีกลับมา คือการกลับมายิ้มได้ หรือการตั้งใจใช้ชีวิตของตนและลูกน้อยให้งดงามและสมคุณค่า
เมื่อคราวที่นางกีสาโคตมีสูญเสียลูก เสียใจจนเจียนบ้า เข้าไปหาพระพุทธเจ้า เป้าหมายของการจัดการปัญหานี้ พระพุทธเจ้ามิได้ชุบชีวิตลูกชาย และมิได้เพียงทำให้นางกีสาโคตมีหยุดร้องไห้ หากแต่ทำให้นางกีสาโคตมีเป็นอรหันต์
เมื่อเป้าหมายชัด หนทางไปสู่เป้าหมายอาจมิได้มีสิ่งเดียวที่ต้องทำ ความคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking) จะช่วยให้เห็นทางออกที่หลากหลาย และการคิดที่สอดคล้องกับความจริง (Practical thinking) จะช่วยให้เห็นทางออกที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา สิ่งที่ได้คือทางออก (มรรค) (Solutions) ที่อาจเป็นชุดการกระทำที่มีหลายขั้นตอน เรียกว่า "โครงการ" (Project) จากนั้นจึงลงมือทำอย่างเป็นขั้นตอนตามทางที่เหมาะสมที่สุด
ในการจัดการกับปัญหาทั้งหมดนี้ บางกรณีจำเป็นต้องอาศัยผู้ช่วยเหลือ ในขั้นตอนของการวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุ มักถูกเรียกว่า ผู้ให้คำปรึกษา (Counselor) หรือผู้เยียวยา (Healer) ส่วนผู้ช่วยเหลือในขั้นตอนของการตั้งเป้าหมายแล้ว นำหรือพากันเดินไปตามเส้นทาง มักถูกเรียกว่า โค้ช (Coach) หรือ พี่เลี้ยง (Mentor)
Made with Mobirise web builder