ปุจฉา - วิสัชนา
ถาม ใครเป็นผู้ตอบคำถามในหน้าเว็บนี้ และจะ "เชื่อ" ได้หรือไม่
ตอบ พระวิทยากร และพระอาจารย์ที่ปรึกษาในหลักสูตร "ตามรอย.. อภิธัมมัตถสังคหะ ตามแนวพุทธธรม สำหรับการฝึกวิปัสสนากรรมฐาน" เป็นผู้ร่วมศึกษาชีวิต ตามแนวคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ และหนังสือพุทธธรรม ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร แลกเปลี่ยนข้อมูล แหล่งค้นคว้า รวมทั้งแนวทางในการพิจารณา เพื่ออธิบาย ไขความข้อสงสัยที่น่าสนใจ ที่ผู้ร่วมศึกษาเคยสอบถามมา แล้วนำมารวบรวมไว้ เพื่อประกอบการศึกษา และเป็นแนวทางในการพัฒนาวิธีการสื่อธรรมให้ถูกตรงและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไปพระที่เข้ามาตอบคำถาม จะระบุชื่อและวันที่ไว้ด้วย ผู้ศึกษาพึงพิจารณาเนื้อความคำตอบโดยไม่ด่วนเชื่อ หรือด่วนปฏิเสธ หากแต่พึงพิจารณาตามธรรม และศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองต่อไป จนกว่าจะเกิดความเข้าใจที่แท้จริงแก่ตน
ถาม พบคำที่สะกดผิด หรือลิงก์ที่ไม่ถูกต้อง ในสื่อการเรียนรู้ชุดนี้ จะบอกแจ้งใคร ได้ทางใด
ตอบ หากพบข้อผิดพลาดใดๆ ในระหว่างการศึกษาบทเรียนออนไลน์ ประจำสัปดาห์นั้นๆ สามารถบอกแจ้งได้ผ่าน Google form ในหัวข้อ การสื่อสารกับคณะพระวิทยากร แต่หากพบข้อผิดพลาดในภายหลัง (ที่ไม่ใช่คำถามธรรมะ หรือข้อสงสัยเกี่ยวกับเนื้อหาของสื่อการเรียน) สามารถส่งข้อมูลได้ทางอีเมล์ lifestudies.net@gmail.com
ขออนุโมทนาในความตั้งใจศึกษาธรรม และขอขอบคุณในความใส่ใจ และความช่วยเหลือที่จะเป็นปัจจัยในการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาธรรมร่วมกันต่อไป...
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑ ส.ค. ๖๓)
ถาม อุปมาในหนังสือพุทธธรรมที่ว่า "เมื่อนำส่วนประกอบต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกันตามแบบที่กำหนด ก็บัญญัติเรียกกันว่า “รถ” แต่ถ้าแยกส่วนประกอบทั้งหมดออกจากกัน ก็จะหาตัวตนของรถไม่ได้ มีแต่ส่วนประกอบทั้งหลาย ซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆ กันจำเพาะแต่ละอย่างอยู่แล้ว คือ ตัวตนของรถมิได้มีอยู่ต่างหากจากส่วนประกอบเหล่านั้น มีแต่เพียงคำบัญญัติว่า “รถ” สำหรับสภาพที่มารวมตัวกันเข้าของส่วนประกอบเหล่านั้น แม้ส่วนประกอบแต่ละอย่างๆ นั้นเอง ก็ปรากฏขึ้นโดยการรวมกันเข้าของส่วนประกอบย่อยๆ ต่อๆ ไปอีก และหาตัวตนที่แท้ไม่พบเช่นเดียวกัน เมื่อจะพูดว่าสิ่งทั้งหลายมีอยู่ ก็ต้องเข้าใจในความหมายว่า มีอยู่ในฐานะมีส่วนประกอบต่างๆ มาประชุมเข้าด้วยกัน
เมื่อมองเห็นสภาพของสิ่งทั้งหลายในรูปของการประชุมส่วนประกอบเช่นนี้ พุทธธรรมจึงต้องแสดงต่อไปว่า ส่วนประกอบต่างๆ เหล่านั้นเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง อย่างน้อยก็พอเป็นตัวอย่าง และโดยที่พุทธธรรมมีความเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับเรื่องชีวิต โดยเฉพาะในด้านจิตใจ การแสดงส่วนประกอบต่างๆ จึงต้องครอบคลุมทั้งวัตถุและจิตใจ หรือทั้งรูปธรรมและนามธรรม และมักแยกแยะเป็นพิเศษในด้านจิตใจ
การแสดงส่วนประกอบต่างๆ นั้น ย่อมทำได้หลายแบบ สุดแต่วัตถุประสงค์จำเพาะของการแสดงแบบนั้นๆ แต่ในที่นี้ จะแสดงแบบขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นแบบที่นิยมในพระสูตร"แสดงว่า ส่วนประกอบของชีวิต (ที่เปรียบเหมือนรถ) คือขันธ์ ๕ แต่ละอย่างก็แยกย่อยไปได้เรื่อยๆ โดยไม่มีอะไรที่เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงเลยใช่หรือไม่ สภาวธรรม หรือขันธ์ ๕ ก็ไม่มีอยู่จริงใช่ไหม
ตอบ ชีวิต (หรือรถ) เป็นสมมติบัญญัติที่ใช้เรียกสิ่งที่มาประกอบกัน ในขณะที่ส่วนประกอบเหล่านั้น ก็มีสมมติบัญญัติ (ชื่อเรียก) ต่างๆ กันไป เช่น ลมหายใจ, ความคิด ฯลฯ (ตัวถัง เชื้อเพลิง ฯลฯ)
ในบรรดาสิ่งที่เราเรียกว่าส่วนประกอบเหล่านั้น (ซึ่งก็มีชื่อเรียก เป็นสมมติบัญญัติต่างๆ ตามสังคม ชุมชนนั้นๆ) บางอย่างก็เป็นสิ่งที่เป็นสภาวธรรมที่ปรากฏอยู่จริง (แต่การปรากฏนั้นแม้จริง แต่ก็ไม่จีรังยั่งยืน เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยประกอบกัน สิ่งนั้นจึงเกิดขึ้น เมื่อเหตุปัจจัยแปรเปลี่ยนไป อาการปรากฏนั้นก็แปรเปลี่ยนไป ไม่มีความคงทนถาวร และไม่ได้เป็นไปตามอำนาจบังคับของตนหรือปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว) เช่น ความร้อนของลมที่กระทบปลายจมูก หรืออาการคิด
ในบรรดาสิ่งที่เราเรียกว่าส่วนประกอบเหล่านั้น (ซึ่งก็มีชื่อเรียก เป็นสมมติบัญญัติต่างๆ ตามสังคม ชุมชนนั้นๆ) บางอย่างก็ไม่ใช่สภาวธรรมที่มีอยู่จริง เป็นแต่เพียงคอนเซปต์ (concept) ที่คนเราหมายเรียก หรือสร้างขึ้นในใจของเราเอง เช่น ลมหายใจเข้า (โดยสภาวธรรมเป็นอาการกระทบ อาการอุ่นๆ ที่เรารับรู้ต่อเนื่องกันจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุด และอีกจุด ต่อๆ กัน แล้วประมวลเป็นความเข้าใจในใจว่า อาการที่ต่อเนื่องเป็นชุดอย่างนี้ เรียกว่า ลมหายใจเข้า) หรือการเดิน (โดยสภาวธรรมเป็นอาการตั้งเจตนาในใจที่อยากจะเคลื่อนไป ส่งผลให้เกิดอาการตึง หนัก ไหว หลายๆ ส่วน มีการกระทบเย็นๆ ไหวๆ ตรงหลังเท้า ตามมาด้วยอาการกระทบหนักๆ นุ่มๆ เย็นๆ ที่ฝ่าเท้าตอนสัมผัสพื้น แล้วใจผ่อนคลาย พอใจที่อาการเกร็งตึงที่ต้นขาคลายตัว รู้สึกน้ำหนักสม่ำเสมอบนฝ่าเท้า ไม่โอนเอน ฯลฯ แล้วประมวลอาการทั้งปวงนี้เป็นชื่อเรียกว่า การเดิน)
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑๕ พ.ย. ๖๔)
ถาม ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แปลว่าธรรมทั้งหลายเป็นสุญญตา คือไม่มีอยู่จริง ใช่หรือไม่
ตอบ พุทธธรรม เรื่อง อัตตา–อนัตตา และ อัตตา–นิรัตตา อธิบายไว้ตอนหนึ่งว่า "สภาวะจริงแท้นั้นมีอยู่ มิใช่เป็นความสูญสิ้นไม่มีอะไรเลย แต่ก็มิใช่เป็นสภาวะที่จะเข้าถึงหรือประจักษ์ได้ด้วยความรู้ที่ถูกกั้นบังให้พร่ามัวหรือบิดเบือนโดยภาพเก่าๆ ที่ผิดพลาด และด้วยจิตที่ถูกฉุดรั้งไว้โดยความยึดติดในภาพเก่าที่ผิดพลาดนั้น การที่สมณพราหมณ์ผู้ประเสริฐหรือเจ้าลัทธิชั้นพรหมจำนวนมาก ไม่สามารถรู้แจ้งแทงตลอดถึงสภาวะแท้จริงขั้นสุดท้าย ก็เพราะว่า แม้ว่าสมณพราหมณ์หรือเจ้าลัทธิเจ้าทฤษฎีเหล่านั้นจะรู้ชัดแล้วว่า ตัวตนระดับกายใจชนิดที่เคยยึดถือมาก่อน ไม่ใช่เป็นสภาวะที่จริงแท้ และไม่ยอมรับแม้กระทั่งขันธ์ ๕ แต่ท่านเหล่านั้นก็ยังนำเอาเครื่องพรางตาตัวเอง ๒ อย่างของปุถุชนติดตัวไปด้วยตลอดเวลาในการค้นหาสภาวะที่แท้จริงขั้นสุดท้าย กล่าวคือ๑) บัญญัติ (concept) แห่งอัตตา คือ มโนภาพของตัวตนที่เป็นคราบติดมาตั้งแต่ครั้งยึดติดในตัวตนหยาบระดับร่างกาย แม้มโนภาพนี้จะละเอียดประณีตขึ้นมากเพียงใด มันก็เป็นภาพอันเดียวกันหรือเทือกเถาเดียวกันอยู่นั่นเอง และเป็นภาพแห่งความหลงผิด ซึ่งเมื่อเขาไปเกี่ยวข้องกับสภาวะใดๆ เขาก็จะเอาบัญญัติหรือมโนภาพอันนี้ไปป้ายหรือฉาบทาสภาวะนั้น ทำให้มีสิ่งกั้นบัง เกิดความพร่ามัวหรือบิดเบือน และทำให้สภาวะที่เขาเข้าใจ ไม่ใช่สภาวะจริงแท้นั้นเองที่ล้วนๆ บริสุทธิ์
๒) ความยึดติดถือมั่น (อุปาทาน) ซึ่งเขามีมาแต่เดิมตั้งแต่ยึดติดในอัตตาอย่างหยาบๆ ขั้นต้น ซึ่งเป็นความหลงผิดอยู่แล้ว เขาก็ยังพาเอาความยึดติดนี้ไปด้วย และนำไปใช้ในการสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสภาวะที่จริงแท้ ความยึดติดในภาพตัวตนนี้จึงกลายเป็นเครื่องฉุดรั้งเขาไว้ ให้ไม่อาจเข้าถึงสภาวะที่จริงแท้นั้นได้"
อาจอธิบายความได้ว่า
(๑) สภาวธรรมทั้งปวง (ปรมัตถสภาวธรรม) เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง แต่มโนภาพที่ประกอบเอาสภาวธรรมบางอย่าง หรือหลายอย่าง แล้วนึกสร้างเป็นความเข้าใจของตนเองที่มีต่อสิ่งนั้น ไม่มีอยู่จริง เช่น การประกอบของชิ้นส่วนต่างๆ แล้วเข้าใจว่ารถ, การประกอบของรูปนาม แล้วเข้าใจว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวเรา ตัวเขา คนที่เรารัก คนดี คนชั่ว เป็นต้น
(๒) สภาวธรรมทั้งปวง (ปรมัตถสภาวธรรม) เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง รับรู้ได้จริงทางใดทางหนึ่งถึงความมีอยู่ของสภาวธรรมเหล่านั้น แต่สภาวธรรมเหล่านั้น ถ้าเป็นสังขารธรรม แม้มีอยู่ ก็ไม่ดำรงอยู่ยั่งยืน แปรปรวนไปตามกระบวนการของเหตุปัจจัย ไม่มีปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะบังคับให้เป็นไปตามอำนาจของตนได้ (ไม่มีอัตตาที่ปรุงแต่งขึ้นด้วยความหลงผิด ยึดติดถือมั่น ว่าตนจะสามารถบังคับควบคุมให้เป็นอย่างใจตนได้)
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม สุญญตา คือความว่าง หมายถึงว่างจากอะไร
ตอบ ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ แสดงความหมายของสุญญตาไว้ดังนี้
สุญญตา “ความเป็นสภาพสูญ”, ความว่าง
1. ความเป็นสภาพที่ว่างจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะที่ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา คือ ไร้ตัวมิใช่ตน ว่างจากความเป็นตน ตลอดจนว่างจากสาระต่างๆ เช่น สาระคือความเที่ยง สาระคือความสวยงาม สาระคือความสุข เป็นต้น,
โดยปริยายหมายถึง หลักธรรมฝ่ายปรมัตถ์ ดังเช่นขันธ์ ธาตุ อายตนะ และปัจจยาการ (อิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท) ที่แสดงแต่ตัวสภาวะให้เห็นความว่างเปล่าปราศจากสัตว์ บุคคล เป็นเพียงธรรมหรือกระบวนธรรมล้วนๆ2. ความว่างจากกิเลส มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ก็ดี สภาวะที่ว่างจากสังขารทั้งหลายก็ดี หมายถึง นิพพาน
3. โลกุตตรมรรค ได้ชื่อว่าเป็นสุญญตา ด้วยเหตุผล ๓ ประการ คือ
- เพราะลุด้วยปัญญาที่กำหนดพิจารณาความเป็นอนัตตา มองเห็นสภาวะที่สังขารเป็นสภาพว่าง (จากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน)
- เพราะว่างจากกิเลสมีราคะเป็นต้น และ
- เพราะมีสุญญตา คือ นิพพาน เป็นอารมณ์4. ความว่าง ที่เกิดจากความกำหนดหมายในใจ หรือทำใจเพื่อให้เป็นอารมณ์ของจิตในการเจริญสมาบัติ เช่น ผู้เจริญอากิญจัญญายตนสมาบัติกำหนดใจถึงภาวะว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย
ใน อรรถกถา วิภังคปกรณ์ สัจจวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์ วินิจฉัยอริยสัจ โดยสุญญตา ดังนี้
... โดยปรมัตถ์ สัจจะทั้งหมดทีเดียว พึงทราบว่า เป็นสภาพว่าง เพราะไม่มีผู้เสวย ไม่มีผู้ทำ ไม่มีผู้ดับ ไม่มีผู้เดิน ...
อีกอย่างหนึ่ง ความว่างในสัจจะ ๔ เหล่านั้น พึงทราบอย่างนี้ คือ สัจจะ ๒ บทแรกว่างจากความเที่ยง ความงาม ความสุข และอัตตา อมตบทคือพระนิพพาน ว่างจากอัตตา มรรค ว่างจากความยั่งยืน ความสุข และอัตตา.
อีกอย่างหนึ่ง สัจจะ ๓ ว่างจากนิโรธ และนิโรธก็ว่างจากสัจจะ ๓ ที่เหลือ
อีกอย่างหนึ่ง ในสัจจะ ๔ เหล่านี้ เหตุว่างจากผล เพราะไม่มีทุกข์ในสมุทัย และไม่มีนิโรธในมรรค
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑๕ พ.ย. ๖๔)
ถาม จิต หัวใจ ระบบประสาท คือสิ่งเดียวกันหรือไม่
ตอบ จิตคือสภาวะรู้ เป็นนามธรรม ส่วนหัวใจ และระบบประสาทเป็นรูปธรรม ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เช่นผู้ที่นั่งอยู่ รับรู้ความรู้สึกที่เท้าของตน สภาวะรู้นั้นคือนามธรรม ส่วนเส้นประสาท สารเคมี พลังงานไฟฟ้า ฯลฯ ในระบบประสาทเป็นรูปธรรม หากขาดรูปธรรมเหล่านี้ หรือรูปธรรมเหล่านี้ทำงานไม่เป็นปกติ นามธรรมคือจิตก็อาจจะไม่สามารถรับรู้ได้ เช่นคนที่เป็นเหน็บ เป็นอัมพาต
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑๕ พ.ย. ๖๔)
ถาม จิตอยู่ที่ไหน
ตอบ จิตเป็นนามธรรม ไม่มีตัวตน ไม่มีสัณฐานตั้งวางแต่อย่างใด แต่อาศัยรูปธรรม เช่นจักขุวิญญาณ (จิตที่รับรู้ทางตา) ก็อาศัยจักขุปสาทที่เป็นรูปธรรม ส่วนมโนวิญญาณที่เป็นสภาวะรู้ทางใจนั้น ในพระสูตรมิได้กล่าวถึง แต่ในอภิธรรม (คัมภีร์ปัฏฐาน) ใช้คำว่าวัตถุ (แปลว่าที่ตั้ง ที่อาศัย) ซึ่งอาจอธิบายได้ว่ามโนวิญญาณอาศัยสภาวธรรมของความเป็นชีวิต ร่างกายทั้งหมดเป็นที่ตั้ง ที่อาศัยให้มโนวิญญาณเกิดขึ้น ต่อมาในอรรถกถาจึงเกิดศัพท์ว่า "หทยวัตถุ" แล้วคัมภีร์วิสุทธิมรรคได้อธิบายขยายความลักษณะของหทยวัตถุโดยละเอียด ว่าหัวใจเป็นที่ตั้งของหทยวัตถุ ซึ่งเป็นที่ตั้งของมโนวิญญาณ
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑๕ พ.ย. ๖๔
โดยสรุปความจากธรรมบรรยายเรื่อง เมื่อ DNA เข้ามา จริยธรรมจะว่าอย่างไร ตอนที่ ๒
บรรยายโดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์)
ถาม การเจริญวิปัสสนาเป็น มหากุศล ญาณสัมปยุตต์ เท่านั้น หรือว่าเป็นฌานจิตใดได้บ้าง
ตอบ ฌานจิตไม่สามารถพิจารณารูปนามได้ เนื่องจากฌานจิตมีสภาพแนบแน่นอยู่ในอารมณ์เดียว คือ สมถอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จิตที่พิจารณารูปนามได้ ต้องเป็นจิตที่สามารถรับรูปนามเป็นอารมณ์ได้เท่านั้น ได้แก่ กามจิต และจิตที่ทำการพิจารณารูปนามได้ ได้แก่ มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ เท่านั้น (มหากุศล มหากิริยา ที่เป็นญาณวิปปยุตต์ ก็สามารถพิจารณารูปนามได้ ในเบื้องต้น และด้วยความชำนาญของบุคคลที่มีความชำนาญในอารมณ์รูปนามแล้ว ท่านเปรียบเหมือนคนที่สาธยายมนต์ แม้บางครั้งจะปล่อยใจคิดไปเรื่องอื่น แต่ก็ยังสามารถท่องมนต์ไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ผิดพลาดหรือหยุดชะงัก) ส่วนอภิญญาจิตนั้น สำหรับบุคคลที่ชำนาญในรูปนามก็สามารถพิจารณารูปนามได้บ้าง ส่วนโลกุตตรจิต แม้จะมีนามคือนิพพานเป็นอารมณ์ แต่นิพพานไม่มีสภาพเกิดดับ และเป็นสภาพปรากฏประจักษ์แจ้งแล้ว จึงไม่จำเป็นจะต้องพิจารณา (จิตที่พิจารณาพระนิพพานเป็นอารมณ์ได้ ได้แก่ มหากุศล มหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต ในปัจจเวกขณวิถี)
(ผู้ตอบ - พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร - ๑๓ ก.ย. ๖๔)
ถาม การนึกคิดวางแผนปล้น คืออาการของสภาวะธรรมอะไรบ้าง
ตอบ การนึกคิดวางแผนปล้น เป็นกระบวนการเกิดขึ้นของอกุศลจิตตุปบาท โดยมีโมหมูลจิตตุปบาท เพราะความไม่รู้ในบาปบุญคุณโทษ เป็นมูลเหตุ มีโลภมูลจิตตุปบาทเป็นเหตุไกล (ความอยากได้ในทรัพย์สินของบุคคลอื่น มีความเห็นผิดว่าสัตว์บุคคลตัวตนเขาเขา ทรัพย์สินเงินทอง เป็นต้นบ้าง มีมานะความเย่อหยิงว่าตนเก่งกว่าเขา สามารถที่จะปล้นได้สำเร็จบ้าง) มีโทสจิตตุปบาทเป็นเหตุใกล้ชิด (เพราะความคิดประทุษร้ายบุคคลอื่น ขาดเมตตากรุณา) ในกระบวนการนี้ วิตกเจตสิกเป็นเพียงยกสัมปยุตตธรรมให้ขึ้นสู่อารมณ์คือเรื่องราวที่คิด ให้จิตสามารถคิดได้เรื่อย ๆ ไปจนสุดแผนการ วิจารเจตสิกช่วยประคับประคองสัมปยุตตธรรมให้อยู่เรื่องราวหรือแผนการที่คิดไม่ให้ตกไปในอารมณ์อื่น อธิโมกขเจตสิก ช่วยตัดสินใจให้ความคิดแต่ละขณะผ่านไปได้ไม่ลังเล จนเป็นกระบวนการวางแผนนั้นดำเนินไปได้โดยไม่ติดขัด วิริยเจตสิกช่วยอุดหนุนสัมปยุตตธรรมให้ดำเนินไปอย่างไม่ท้อถอยหยุดชะงัก ฉันทเจตสิกมีความพึงพอใจในแผนการที่คิดนั้นให้เกิดความหวังว่าจะสำเร็จได้ อันทำให้เกิดกำลังใจที่จะคิดวางแผนต่อไปโดยไม่หยุดชะงักหรือเลิกรา นอกจากนี้ ก็มีอกุศลเจตสิกอื่น ๆ เป็นผู้ขับเคลื่อนให้กระบวนการคิดวางแผนนั้นดำเนินไปได้
(ผู้ตอบ - พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร - ๑๓ ก.ย. ๖๔)
ถาม อ่านหนังสือธรรมะแล้วทำความเข้าใจบัญญัติ โดยไม่รู้ปรมัตถสภาวะ คือ วิตกเจตวิก ในมหากุศลจิต ญาณวิปยุตต์ หรือ ปัญญาใน มหากุศล ญาณสัมปยุตต์
ตอบ อ่านหนังสือธรรมะแล้ว ทำความเข้าใจในบัญญัติ โดยไม่รู้ปรมัตถสภาวะ ก็จัดเป็นกระบวนการของมหากุศลจิตตุปบาท ซึ่งมีเจตสิกต่าง ๆ โดยเฉพาะอัญญสมานเจตสิกเป็นด่านหน้า มีโสภณเจตสิกเป็นตัวขับเคลื่อน บทบาทสำคัญในมหากุศลจิตตุปบาทนี้ มีสัญญาเจตสิกเป็นตัวบันทึกจดจำ ซึ่งเป็นด่านกลาง ต่อจากอัญญสมานเจตสิก โดยทำการเปรียบเทียบกับสิ่งที่เคยจำมาและสิ่งที่กำลังพบเจอหรือรับรู้ใหม่ ที่จะจำต่อไป มีปัญญาเจตสิกเป็นด่านท้าย ที่คอยตรวจสอบตามที่สัญญาเจตสิกจำมา ซึ่งเป็นกระบวนความคิดที่ทำไปพร้อม ๆ กับสัญญาเจตสิก เพื่อให้สัญญาเจตสิกนั้นสามารถจำได้ว่า อันไหนถูก อันไหนผิด
อนึ่ง ปัญญาเจตสิกไม่ได้หมายความว่า ต้องรู้ปรมัตถสภาวะอย่างเดียว แต่หมายถึง รู้โดยถูกต้องตามความเป็นจริง โดยสุมมติสัจจะ (บัญญัติ) อย่างหนึ่ง และโดยปรมัตถสัจจะ (ปรมตถสภาวะ) อย่างหนึ่ง ในคัมภีร์มาติกา มีมาติกาบทว่า ปัญญัตติกุสลตา แปลว่า ความเป็นผู้ฉลาดในบัญญัติ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่ในมหากุศลจิต และมหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต อภิญญาจิต สรุปว่า ถ้าทำการพิจารณารู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งให้รู้ความเป็นจริงของสิ่งนั้น ๆ ก็จัดเป็นบทบาทของปัญญาเจตสิกทั้งสิ้น ถ้านอกจากนี้ ก็ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก
(ผู้ตอบ - พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร - ๑๓ ก.ย. ๖๔)
ถาม กุศลญาณวิปยุตต์ ทำกุศลโดยไม่มีปัญญา ไม่มีโมหะแน่ แต่ก็ไม่มีปัญญา อย่างนี้ ถือว่าก็ยังมีอวิชชา (ไม่รู้เหตุผล ไม่รู้อริยสัจ) ได้ไหม
ตอบ ผู้ที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ย่อมมีอวิชชาอยู่ในขันธสันดานด้วยกันทั้งสิ้น ขึ้นอยู่ที่ว่า ใครจะมีมากหรือน้อย โดยเฉพาะปุถุชนผู้ไม่มีสุตะหรือมีสุตะน้อย ก็จะมีอวิชชาหนาแน่นเป็นพิเศษ จนถูกอวิชชาบงการชีวิตไปเสียทุกอย่าง ส่วนผู้มีสุตะหรือสั่งสมสุตะไว้มาก รู้ดีรู้ชั่ว รู้ถูกรู้ผิด ได้ฝึกฝนจิตให้ปัญญาเกิดขึ้นสม่ำเสมอ ถึงแม้จะมีอวิชชาอยู่ในขันธสันดาน แต่พลังของปัญญาก็มีอำนาจต้านทานอวิชชาได้ จึงไม่ถูกอวิชชาบงการชีวิตเท่าไรนัก ยกเว้นบางเรื่องบางอย่างที่ไม่รู้ไม่ชำนาญ ก็อาจแสดงออกด้วยอวิชชาได้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงแบ่งบุคคลเป็น ๔ ประเภท คือ (๑) บุคคลที่มีอวิชชาหนาแน่น ได้แก่ อันธปุถุชน (๒) บุคคลที่มีอวิชชาปานกลาง ได้แก่ กัลยาณปุถุชน (๓) บุคคลผู้มีอวิชชาเบาบาง ได้แก่ เสกขบุคคล ๓ (๔) บุคคลที่ไม่มีอวิชชาเหลืออยู่เลย ได้แก่ พระอรหันต์
หมายเหตุ... สุตะ หมายถึง กระบวนการศึกษาเรียนรู้ในพระพุทธพจน์ (เช่น การบอก การสอน การท่องบ่น การสาธยาย การไต่สวนทวนถาม การโต้ตอบ เป็นต้น)
(ผู้ตอบ - พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร - ๑๖ ก.ย. ๖๔)
ถาม บุคคลที่เจริญกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา หรืออรหัตตบุคคลที่มีมหากิริยาจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ยังมีอวิชชาหรือไม่
ตอบ ในบรรดากิเลสหรืออกุศลเจตสิกทั้งหมด ทิฏฐิเป็นตัวที่ร้ายแรงที่สุด ที่จะนำไปสู่อบาย เพราะมีความยึดในความเห็นผิดตามอำนาจของอวิชชา คือ อวิชชาสามารถบงการได้ทุกอย่าง รองลงมา คือ วิจิกิจฉา ก็จะสงสัยไปตามอำนาจของทิฏฐิ เพราะฉะนั้น เมื่อละทิฏฐิและวิจิกิจฉาได้หมดแล้ว ก็เข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน นั่นหมายความว่า เป็นผู้รู้แจ่มแจ้งแล้วว่า ดีกับชั่ว บุญกับบาป คุณกับโทษ ประโยชน์กับมิใช่ประโยชน์นั้นต่างกันอย่างไร ซึ่งปุถุชนนั้นยากที่จะแยกออกอย่างเด่นชัดได้ เพราะปุถุชนยังมีตัวสักกายทิฏฐิฝั่งแน่นอยู่ในขันธสันดาน ยังเห็นเข้าข้างตนเองอยู่ ยังเห็นความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนอยู่ แต่พระโสดาบันท่านทำลายความเห็นเหล่านั้นได้หมดสิ้นแล้ว ความเห็นของท่านจึงตรงไปตรงมากับสภาพความเป็นจริง ทั้งโดยสมมุติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ ด้วยเหตุนี้ พระโสดาบันจึงปิดประตูอบายได้เด็ดขาด ไม่มีใครสามารถทำให้ท่านไหวหวั่นหรือสับสนเอียงเอนในเรื่องเหล่านี้ได้อีกแล้ว มีความเชื่อมั่นอย่างถูกต้องเป็นของตนเองแล้ว แม้จะยังมีอวิชชาเหลืออยู่ก็ตาม แต่อวิชชาไม่สามารถบงการความคิด ความเห็น หรือความเชื่อของท่านได้อีกต่อไป สำหรับพระอริยบุคคลอื่นก็ประณีตขึ้นไปตามลำดับ
สำหรับไวพจน์และความหมายของอวิชชานั้นก็มีหลายประการ (ดูในปฏิจจสมุปบาทว่าด้วยวิเคราะห์ศัพท์ อวิชชา) ท่านกล่าวว่า ความไม่รู้ ก็เป็นอวิชชา, ความรู้ที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ก็เป็นอวิชชา, ความรู้ในสิ่งที่ไม่สมควรรู้ ก็เป็นอวิชชา เหล่านี้เป็นต้น
สังเกตวิเคราะห์จากพฤติกรรมของพระอริยบุคคลในคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น นางวิสาขา ร้องไห้เสียใจเพราะหลานสาวเสียชีวิต อนาถปิณฑิกเศรษฐีอับอายที่ลูกชายและหลานชายประพฤติชั่ว หรือพระอานนท์ลืมทูลถามพระพุทธเจ้าเรื่องสิกขาบทเล็กน้อย หรือท่านร้องไห้เสียใจที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน เป็นต้น และอีกหลาย ๆ บุคคล หลาย ๆ กรณี ซึ่งถ้าคนไม่เข้าใจในสภาพของกิเลส ก็อาจจะท้วงติงได้ว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ อาจเป็นการแต่งเรื่องราวให้ดูเหมือนปุถุชนธรรมดา ก็เป็นได้ แต่ถ้าผู้ที่เข้าใจในเรื่องสภาวธรรมและเรื่องกิเลสดีพอแล้ว ก็จะเข้าใจว่า มีส่วนเป็นไปได้ หรือแม้แต่พระอรหันต์ ว่าทำไมท่านจึงไม่รู้ไม่เข้าใจในบางสิ่งบางอย่าง หรือไม่สามารถทำในบางสิ่งบางอย่างได้ ถ้าคนไม่เข้าใจเรื่องสภาพจิต เจตสิก รวมถึงเหตุปัจจัยของความเป็นพระอรหันต์ ก็อาจจะตีความเอาว่า พระอรหันต์ก็ยังมีอวิชชาอยู่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อนมาก ระหว่างกิเลส วาสนา บารมี อนุสัย อุปนิสัย สันดาน เป็นต้น
พระอรหันต์ก็มีมหากิริยาจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาเกิดได้ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยของพระอรหันต์แต่ละท่านได้สั่งสมมา ถ้าท่านใดสั่งสมในด้านปัญญามามาก ท่านก็อาจมีมหากิริยาจิตที่เป็นญาณสัมปยุตต์เกิดได้มาก แต่ถ้าท่านสั่งสมปัญญาบารมีมาไม่มาก ท่านก็อาจมีมหากิริยาจิตที่เป็นญาณวิปปยุตต์เกิดได้มากก็เป็นได้
(ผู้ตอบ - พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร - ๑๖ ก.ย. ๖๔)
ถาม การพิจารณารูปนาม ขณะเจริญวิปัสสนา เป็นปัญญาใช่ไหม แม้ในขั้นเริ่มต้นที่ยังไม่เข้าสู่นามรูปปริจเฉทญาณ
ตอบ การพิจารณา มี ๕ อย่าง เรียกว่า มนสิการ ๕ คือ
๑) การพิจารณาอารมณ์ให้วิถีจิตเกิดขึ้น เรียกว่า วิถีปฏิปาทกมนสิการ ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต
๒) การพิจารณาอารมณ์เพื่อให้ชวนจิตเกิดขึ้น เรียกว่า ชวนปฏิปาทกมนสิการ ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต
๓) การพิจารณาโดยการใส่ใจต่ออารมณ์ทำให้กระบวนการของจิตเกิดขึ้น เรียกว่า อารัมมณปฏิปาทกมนสิการ ได้แก่ มนสิการเจตสิก
๔) การพิจารณาอารมณ์โดยไม่แยบแคย เรียกว่า อโยนิโสมนสิการ ได้แก่ มนสิการเจตสิก ที่ในอกุศลจิตตุปบาท ซึ่งมีโมหเจตสิกเป็นตัวปิดบังสภาพอารมณ์ไว้ไม่ไห้รู้ตามความเป็นจริง
๕) การพิจารณาอารมณ์โดยแยบคาย เรียกว่า โยนิโสมนสิการ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในมหากุศลจิตและมหากิริยาจิตญาณสัมปยุตตจิต อภิญญาจิต และมัคคจิต(ผู้ตอบ - พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร - ๑๓ ก.ย. ๖๔)
ถาม รูปคือสิ่งที่เห็นได้ด้วยตา ใช่หรือไม่
ตอบ รูปในคำว่า "รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์" คือสิ่งที่เห็นได้ด้วยตา เรียกว่า วรรณรูป หรือ รูปารมณ์, รูปายตนะ
รูปในคำว่า "รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ" หรือในคำว่า "รูปธรรม นามธรรม" หมายถึง รูป ๒๘ คือปรมัตถสภาวธรรมในฝ่ายที่ไม่สามารถรู้อารมณ์ได้ (ไม่ใช่จิต เจตสิก) มีอาการเกิดขึ้นดับไป (ไม่ใช่นิพพาน) ซึ่งรวมความถึงวรรณรูป ซึ่งเป็น ๑ ใน ๒๘ รูปปรมัตถ์
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑๕ พ.ย. ๖๔)
ถาม รูปปรมัตถ์ หมายถึง สสาร ใช่ไหม
ตอบ หากนิยามคำว่า สสาร ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ว่า "สิ่งที่มีมวลสาร ต้องการที่อยู่ และสัมผัสได้ อาจมีเพียงสารเดียว เช่น ทองคำ เงิน แก้ว เกลือ น้ำ หรือประกอบด้วยสารหลายสาร เช่น ดินปืน อากาศ ก็ได้" สสาร กับรูปปรมัตถ์ ก็มีความหมายต่างกัน
ยกตัวอย่างเช่น น้ำ เป็นสสาร ที่ประกอบโมเลกุลที่ประกอบด้วยอะตอมของธาตุไฮโดรเจนและออกซิเจน แต่ละโมเลกุลมีแรงดึงดูดต่อกัน ทำให้แต่ละโมเลกุลเคลื่อนไหวสัมพัทธ์กันได้เหมือนเม็ดทรายในนาฬิกาทราย เมื่อมีน้ำหยดลงบนมือของเรา เราก็รับรู้มวลสาร ความมีน้ำหนักของน้ำนั้น เรียกว่าเรารับรู้ "ปฐวี" คือรูปอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งที่มีอยู่ในหยดน้ำนั้น และในขณะนั้น เราก็อาจจะรับรู้ความเย็น-ร้อนของน้ำ ซึ่งก็คือ "เตโช" ซึ่งก็เป็นรูปอีกอย่างหนึ่ง ที่มีอยู่ในหยดน้ำเดียวกันนั้น
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑๕ พ.ย. ๖๔)
ถาม (จากพุทธธรรมหน้า ๕๒) สุขุมรูป ๑๖ เป็นธรรมารมณ์ คือสิ่งที่ใจรู้ คิด เป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ กระทบหรือถูกต้องไม่ได้ แต่
(๑) หนึ่งในสุขุมรูป ๑๖ คือ อาโป (สภาวะดึงดูดซึมซาบ) แสดงว่าสิ่งที่ตาเห็นว่าเป็นน้ำ เป็นของเหลว ไม่ใช่อาโปธาตุ
(๒) ทำไมอิตถีภาวะ และปุริสภาวะ จึงเป็นสุขุมรูป เพราะเราสามารถแยกออกได้ด้วยการเห็น ไม่ใช่หรือ
ตอบ สิ่งที่โยมงง นั้นถูกต้องแล้ว
ข้อ ๑
เมื่อมองดู "น้ำ" สิ่งที่ตาเห็นไม่ใช่อาโปธาตุ แต่เป็นรูปธาตุ คือ สีแสงที่มากระทบตา ทำให้ "เห็น"
เมื่อสัมผัส "น้ำ" ความเย็นร้อนของน้ำ ไม่ใช่อาโปธาตุ แต่เป็น เตโชธาตุ
เมื่อดื่ม "น้ำ" แล้วรู้สึกรสหวานของน้ำ ก็ไม่ใช่อาโปธาตุ แต่เป็น รสธาตุ
แสดงว่า อาโปธาตุ ไม่เท่ากับ "น้ำ"
น้ำ เป็นเพียงสมมติบัญญัติ ที่ใช้เรียกสิ่งที่มี สภาวะของธาตุทั้งหลายเหล่านั้น
ส่วนอาโปธาตุ คือสภาวะดึงดูดซึมซาบ เช่น เมื่อสัมผัสน้ำ กับครีมอาบน้ำ ก็จะรับรู้ได้ว่า มีความเกาะกุม หนืด ซึมซาบ มากน้อยต่างกันอย่างไร สภาวะเช่นนี้ ไม่สามารถรู้ได้ด้วยสัมผัสทางกายโดยตรง แต่ต้องมีการนำเอาอาการที่กายรับรู้มาพิจารณาทางใจ จึงจะรู้ถึงสภาวะของอาโปธาตุได้ (อ่านคำตอบของพระภาวนาเขมคุณ (วิ.) (หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรํสี) ในหนังสือวิปัสนาภูมิ หน้า ๕๒)
ข้อ ๒
ก็ทำนองเดียวกัน คือการจะรู้ถึงภาวะของความเป็นหญิง เป็นชาย ตามสภาวะ ไม่ใช่การรู้ด้วยการเห็น แต่ต้องใช้ใจพิจารณาจากสิ่งที่เห็น หรือเสียงที่ได้ยิน หรือสัมผัสที่ถูกต้องกระทบ จึงรู้ถึงภาวะความเป็นหญิงชาย สภาวะเหล่านี้จึงจัดเป็นธรรมารมณ์ คืออารมณ์ที่รู้ได้ทางใจ
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑ ส.ค. ๖๓)
ถาม การเจริญวิปัสสนา โดยสังเกตอาโปธาตุ ที่เป็นปัจจุบัน สามารถเป็นไปได้ไหมครับ
ตอบ การเจริญวิปัสสนา โดยสังเกตหรือจับความรู้สึกถึงอาโปธาตุที่เป็นปัจจุบันอารมณ์ ก็ชื่อว่า เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาอยู่แล้ว เพราะอาโปธาตุก็เป็นรูปธรรม เพียงแต่เป็นสุขุมรูปที่รับรู้ได้ทางใจเท่านั้น โดยการกำหนดสังเกตความไหลเวียนของโลหิตในร่างกาย น้ำหนักในร่างกาย ความสดชื่นของร่างกาย หรือสภาพแห่งอาโปธาตุ ๑๒ ประการในร่างกาย มีน้ำดี เสลด หนอง เป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็ได้ โดยอาศัยจินตมยปัญญาที่มีสุตมยปัญญาเป็นตัวสนับสนุนในเบื้องต้น จนถึงเป็นความรู้สึกที่เป็นภาวนามยปัญญาอย่างแท้จริง ก็ทำให้วิปัสสนาญาณหรือวิปัสสนาภาวนาเกิดขึ้นได้ ตามสมควรแก่อุปนิสัยของแต่ละบุคคล
(ผู้ตอบ - พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร - ๒๑ ก.ค. ๖๓)
ถาม ขอทราบตัวอย่างของมโนทวารที่รับนิปผันรูปที่เป็นปัจจุบัน
ตอบ มโนทวารที่รับนิปผันนรูปเป็นอารมณ์ เช่น นึกสภาพของประสาทรูปแต่ละอย่าง หรือจำความรู้สึกถึงเพศหรือภาวรูปของตน เป็นอารมณ์ ด้วยอำนาจจินตมยปัญญาที่อาศัยสุตมยปัญญาเป็นปัจจัยสนับสนุน ในขณะนั้น มโนทวารวิถีก็มีนิปผันนรูปเป็นอารมณ์
(ผู้ตอบ - พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร - ๒๑ ก.ค. ๖๓)
ถาม เวลามโนทวาร นึกถึงรสมะนาว (ในอดีต) แล้วอยากกิน
อารมณ์ คือ รสารมณ์ที่เป็นอดีต หรือสัญญาตอบ อารมณ์เป็นรสารมณ์ที่มีสภาพเป็นธรรมารมณ์ เนื่องจากเป็นอดีตไปแล้ว โดยอาศัยสัญญาขันธ์เป็นผู้จดจำอารมณ์และความรู้สึกต่ออารมณ์นั้นไว้ แล้วมาทำงานร่วมกับนามขันธ์อีก ๓ อย่าง คือ เวทนาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ในการหน่วงนึกถึงอารมณ์นั้นแล้วเกิดความรู้สึก “เปรี้ยวปาก” ขึ้น โดยอาศัยมโนทวาร (ไม่ใช้เปรี้ยวทางชิวหาทวาร เพราะทางชิวหาทวาร จะต้องมีองค์ประกอบ ๔ ประการ คือ มีชิวหาปสาทดี ๑ มีรสารมณ์มากระทบที่ชิวหาทวาร ๑ มีอาโปธาตุช่วยซึบซาบเข้าไป ๑ มีมนสิการ คือ การใส่ใจต่ออารมณ์นั้น ๑ ซึ่งในกรณีนี้ ขาดองค์ประกอบ คือ ไม่มีรสารมณ์ที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ มากระทบทางชิวหาทวาร จึงไม่ใช่รสารมณ์ที่เกิดทางชิวหาทวาร แต่เป็นธรรมารมณ์ที่เกิดทางมโนทวาร ดังกล่าวแล้ว)
(ผู้ตอบ - พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร - ๒๑ ก.ค. ๖๓)
ถาม ยังไม่ค่อยเข้าใจการเกิดดับของรูปนาม ว่าเกิดดับพร้อมกันอย่างไร เช่น การได้ยินเสียง มีเซลล์ประสาทหูและเสียง (รูป) ที่มากระทบกัน มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (นาม) แสดงว่าเซลล์ประสาทหูเกิดขณะที่ได้ยินเสียง และเซลล์ประสาทหูดับหายไปตอนไม่มีเสียงหรืออย่างไร
ตอบ นามขันธ์ที่เกิดพร้อมกัน ดับไปพร้อมกัน ส่วนรูปขันธ์ ไม่ว่าจะเป็นประสาทหู และเสียง ก็มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วขณะ และดับไป แต่ตั้งอยู่นานกว่านามขันธ์ มิได้เกิดดับพร้อมกันเสมอไป และมิได้เกิดดับพร้อมนามขันธ์
เมื่อจิต (วิญญาณ) รับรู้เสียงในขณะจิตหนึ่งๆ ก็มีเวทนา สัญญา สังขาร เกิดขึ้นพร้อมกัน และดับไปพร้อมกัน หากผู้ปฏิบัติสังเกตอาการของสภาวธรรมเหล่านี้ได้ ก็จะรู้ว่า นามขันธ์เหล่านี้มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และผู้ปฏิบัตินั้นก็อาจจะสามารถรับรู้ได้ว่า รูปขันธ์อันตนรับรู้อยู่ในกรณีนั้น (คือเสียงที่มากระทบอายตนะของตน) มีอาการปรากฏขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปอย่างไร แต่ไม่อาจสรุปได้ว่า เซลล์ประสาทมีอาการเช่นนั้นหรือไม่ เพราะในขณะนั้นผู้ปฏิบัติมิได้รับรู้สภาวธรรมของเซลล์ประสาท (เพียงแต่คิดวิเคราะห์เอาว่า เซลล์ประสาทคงจะเกิดดับไปพร้อมกับการรับรู้เสียงของตน)
หากผู้ปฏิบัติต้องการเห็นว่าเซลล์ประสาทเกิดดับ ก็ต้องมองดูเซลล์ประสาทนั้นด้วยตา (และ/หรือ เครื่องมือช่วย/เครื่องมือวัด ที่เหมาะสม) จึงอาจจะสามารถเห็นว่าเซลล์ประสาทนั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปอย่างไร
(ผู้ตอบ - อัตถจารีตามรอยพุทธธรรม และพระครูเมธังกร - ๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม การเจริญวิปัสสนาคือการกำหนดรู้รูปนาม แต่กิจของอริยสัจบอกว่าให้กำหนดรู้ทุกขสัจ แล้วไม่ต้องกำหนดรู้สมุทยสัจ และมรรคสัจด้วยหรือ เพราะสมุทยสัจและมรรคสัจก็เป็นส่วนหนึ่งของรูปนาม ซึ่งเป็นวิปัสสนาภูมิเช่นกัน
ตอบ สมุทยสัจ และมรรคสัจ เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ (กำหนดรู้ เห็นไตรลักษณ์ ได้) แต่กิจที่ควรทำต่อสมุทยสัจ และมรรคสัจ ไม่ใช่แค่รู้ แต่ต้องละสมุทยสัจ และเจริญมรรคสัจ ด้วย
ในแง่ของการปฏิบัติ ที่จริงแล้วก็คือการกระทำอย่างเดียวกัน เช่นเมื่อจิตประกอบด้วยโลภะ หรือนิวรณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติกำหนดรู้สภาวธรรมนั้นเป็นอารมณ์ด้วยสติ ประกอบด้วยกุศลธรรมทั้งปวงมีสัมปชัญญะเป็นต้น ก็เท่ากับเป็นการกำหนดรู้อกุศลธรรมนั้น, ละอกุศลธรรมที่เคยเกิดขึ้นให้สิ้นไป และเจริญกุศลธรรมให้เจริญขึ้น (ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ปฏิบัติเช่นนั้น ก็คืออาจจะปรุงแต่งอกุศลต่างๆ ยิ่งขึ้นต่อไป)
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๘ พ.ย. ๖๔)
ถาม ทุกขสัจจ์ เป็น subset ทุกขัง ใช่ไหม
ตอบ ทุกขสัจ เป็น subset ของ "สิ่งที่เป็น ทุกขัง"
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑๕ ส.ค. ๖๔)
ถาม ทุกขสัจ หมายถึงความทุกข์ทางใจ ที่เกิดจากการยึดติดถือมั่นในขันธ์ ๕ ที่เปรียบเหมือน ธนูดอกที่ ๒ ที่ซ้ำเติมความทุกข์พื้นฐานคือธนูดอกที่ ๑ อันได้แก่สภาวทุกข์ เช่นความเกิดแก่เจ็บตาย ที่เป็นธรรมดา (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ตามธรรมชาติของชีวิต ใช่หรือไม่
ตอบ ทุกขสัจ มีความหมายกว้างกว่า ความทุกข์ทางใจ (ดูคำอธิบายในยมกปกรณ์) ในหนังสือพุทธธรรม บทที่ ๑๗ อธิบายความหมายของทุกขสัจว่า "ความทุกข์ หรือสภาพที่ทนได้ยาก ได้แก่ปัญหาต่างๆ ของมนุษย์ กล่าวให้ลึกลงไปอีกหมายถึง สภาวะของสิ่งทั้งหลาย ที่ตกอยู่ในกฎธรรมดา แห่งความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ซึ่งประกอบด้วยภาวะบีบคั้น กดดัน ขัดแย้ง ขัดข้อง มีความบกพร่อง ไม่สมบูรณ์ในตัวเอง ขาดแก่นสาร และความเที่ยงแท้ ไม่อาจให้ความพึงพอใจเต็มอิ่มแท้จริง พร้อมที่จะก่อปัญหา สร้างความทุกข์ขึ้นมาได้เสมอ ทั้งที่เกิดเป็นปัญหาขึ้นแล้ว และที่อาจเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา เมื่อใดเมื่อหนึ่ง ในรูปใดรูปหนึ่ง แก่ผู้ที่ยึดติดถือมั่นไว้ด้วยอุปาทาน"
ทุกขสัจจึงครอบคลุมทั้งสภาวทุกข์ (หากจะเปรียบเทียบเป็นธนูดอกที่ ๑) และปกิณกทุกข์ (ธนูดอกที่ ๒)(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑๕ พ.ย. ๖๔)
ถาม ขันธ์ ๕ เป็นทุกขสัจ ใช่หรือไม่
หรือขันธ์ ๕ ยังไม่เป็นทุกขสัจ จนกว่าจะมีอุปาทานไปยึดจึงเป็นทุกขอริยสัจตอบ ต้องตีกรอบ คำว่า "ทุกข์" ให้แคบเข้า ด้วยทุกข์ ๒ อย่างนี้ (นอกจากนี้ยังอาจแบ่งทุกข์ในอริยสัจ ๔ ได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ)
สภาวทุกข์ คือทุกข์ประจำ ทุกข์ที่มีอยู่ด้วยกันทุกคน ไม่มียกเว้น ได้แก่ความเกิด ความแก่ ความตาย
ปกิณณกทุกข์ คือทุกข์จร ทุกข์ที่จรมาเป็นครั้งคราว ได้แก่ ความเศร้าโศก ความพร่ำเพ้อรำพัน ความไม่สบายใจ ความน้อยใจ ความคับแค้นใจ ความประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบ ความพลัดพรากจากสิ่งที่ชอบ ความผิดหวังไม่ได้ตามที่ต้องการ
โดยมากประเด็นที่ถกกัน จะคำนึงถึงเฉพาะ ปกิณณกทุกข์ เท่านั้น ไม่ค่อยคำนึงถึง "สภาวทุกข์"ทุกข์ (ทุกฺขํ) หมายถึง ขันธ์ ๕ ทั้งหมด เป็นปรมัตถ์ เป็นสภาวะธรรม มีอยู่จริง, คำว่า"ทุกข์"เป็นคำไวพจน์ชื่อหนึ่งของขันธ์ ๕
ทุกฺขเวทนา หมายถึง เวทนาขันธ์ ซึ่งเป็นเพียง ๑ ในขันธ์ที่มีอยู่ทั้งสิ้น ๕ ประการ
ทุกฺขตา หมายถึง อาการที่ทนดำรงอยู่ไม่ได้เลยเป็นต้นของขันธ์ ๕ (เป็นไวพจน์ของทุกขลักษณะ)
ทุกฺขลกฺขณํ หมายถึง อาการที่หมดสิ้นไปเป็นต้นของขันธ์ ๕ (เป็นไวพจน์ของทุกขตา) เป็น เครื่องกำหนดขันธ์ ๕ ทั้งหมดซึ่งเป็นตัวทุกข์ทุกขลักษณะทำให้เราทราบได้ว่าขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ บีบคั้น น่ากลัวมาก ซึ่งได้แก่ อาการความบีบคั้นบังคับให้เปลี่ยนแปลงไปอยู่เป็นเนืองนิจของขันธ์ ๕ เช่น อาการที่ขันธ์ ๕ บีบบังคับตนจากที่เคยเกิดขึ้น ก็ต้องเสื่อมสิ้นไปเป็นขันธ์ ๕ อันใหม่, อาการที่ขันธ์ ๕ จากที่เคยมีขึ้น ก็ต้องกลับไปเป็นไม่มีอีกครั้ง เป็นต้น.
ในวิสุทธิมรรค ท่านได้ยกทุกขลักษณะจากปฏิสัมภิทามรรคมาแสดงไว้ถึง ๑๐ แบบ เรียกว่า โต ๑๐ และในพระไตรปิฎกยังมีการแสดงทุกขลักษณะไว้ในแบบอื่นๆอีกมากมาย. แต่คัมภีร์ที่รวบรวมไว้เป็นเบื้องต้นเหมาะสำหรับเป็นคู่มือสำหรับปฏิบัติธรรมได้แก่ คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค เพราะสามารถจะจำคำที่คนโบราณใช้กำหนดกันจากคัมภีร์นี้แล้วนำไปใช้ได้ทันที ดังที่ท่านแสดงไว้เป็นต้นว่า "จกฺขุ อหุตฺวา สมฺภูตํ หุตฺวา น ภวิสฺสตีติ ววตฺเถติ - นักปฏิบัติธรรมย่อมกำหนดว่า "จักขุปสาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น (ให้เพ่งเล็งถึงลักษณะที่บีบบังคับตัวเองให้ต้องเปลี่ยนไป ก็จะกลายเป็นการกำหนดทุกขลักษณะ)(ผู้ตอบ - พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร - ๒๔ ก.ค. ๖๓)
ถาม (๑) หากทุกขสัจหมายถึงขันธ์ ๕ จะไม่ขัดแย้งกับบาลีที่ว่า "ทุกขสัจนั้นว่าโดยย่อก็คือ อุปาทานขันธ์" หรือ?
(๒) อุปาทานขันธ์หมายถึง ขันธ์ ๕ ที่ประกอบด้วยตัณหาอุปาทาน หรือขันธ์ ๕ ที่กำลังเป็นที่ตั้ง เป็นอารมณ์ของตัณหาอุปาทาน หรือขันธ์ ๕ อันอาจเป็นที่ตั้งของตัณหา อุปาทาตอบ (๑) การแสดงความหมายของทุกขสัจ สามารถอธิบายได้หลายแบบ มุ่งความหมายกว้าง-แคบต่างกันตามบริบท เปรียบเหมือนอย่างพูดว่า "น้ำเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์" ถ้ามองแบบเจาะจง อาจสรุปได้ว่า "น้ำเน่า น้ำปัสสาวะ ไม่จัดอยู่ใน คำว่า น้ำข้างต้น" ก็ถูก แต่ถ้ามองแบบวัฏจักรของน้ำทั้งหมด ก็จะไม่ต้องแยกว่า นำ้ไหน แต่น้ำ (H2O) ทั้งหมดนั่นแหละก็ เป็นประโยชน์ในแง่ใดแง่หนึ่ง หรือมีศักยภาพที่จะเป็นประโยชน์ได้ทางใดทางหนึ่ง
ในอรรถกถา วิภังคปกรณ์ ท่านแสดงถึงความหมายของทุกข์ว่ามีหลายนัย ทั้งโดยย่อ และโดยพิศดาร ดังนี้
"... ในบรรดาทุกข์เหล่านั้น พึงกล่าวทุกขอริยสัจตั้งไว้ใน ๒ บท นี้ คือปริยายทุกข์และนิปปริยายทุกข์ ก็ธรรมดาอริยสัจนี้ย่อมมาในพระบาลีโดยย่อบ้าง โดยพิสดารบ้าง
ในที่มาโดยย่อควรจะกล่าวโดยย่อก็ได้ โดยพิสดารก็ได้
แต่ในที่มาโดยพิสดารสมควรกล่าวโดยพิสดารเท่านั้น ไม่ควรกล่าวโดยย่อ
ในที่นี้ทุกข์นี้นั้นมาโดยพิสดารดังนั้น พึงกล่าวโดยพิสดารอย่างเดียว
ฉะนั้น คำนี้ใดที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้มีอาทิว่า พึงทราบชาติ พึงทราบอรรถของชาติเป็นทุกข์
เพราะถือเอาพระบาลีในนิเทศวารมีอาทิว่า ตตฺถ กตมํ ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ชาติปิ ทุกฺขา
ในอริยสัจ ๔ นั้น ทุกขอริยสัจเป็นไฉน แม้ชาติก็เป็นทุกข์ ดังนี้." ....“พึงทราบอรรถแห่งชาติเป็นทุกข์. จริงอยู่ ชาตินี้ตัวเองไม่เป็นทุกข์ แต่ตรัสว่าเป็นทุกข์ เพราะเป็นที่ตั้งให้ทุกข์เกิด”
คัมภีร์ วิภังคปกรณ์ อธิบายทุกขอริยสัจ เป็น ๒ คือ สุตตันตภาชนีย์ และ อภิธรรมภาชนีย์
- ทุกข์ โดยสุตตันตภาชนีย์ (คลิกดูรายละเอียด)
"ในอริยสัจ ๔ นั้น ทุกขอริยสัจ เป็นไฉน
ชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณทุกข์ โสกปริเทวทุกขโทมนัสสอุปายาสทุกข์ อัปปิเยหิสัมปโยคทุกข์ ปิเยหิวิปปโยคทุกข์ ยัมปิจฉังนลภติตัมปิทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์"
- ทุกข์ โดยอภิธรรมภาชนีย์ (คลิกดูรายละเอียด 1 | 2)
"ในสัจจะ ๔ นั้น ทุกขสมุทัย เป็นไฉน
ตัณหา นี้เรียกว่า ทุกขสมุทัย
ทุกข์ เป็นไฉน
กิเลสที่เหลือ อกุศลธรรมที่เหลือ กุศลมูล ๓ ที่เป็นอารมณ์ของอาสวะ กุศลธรรมอันเป็นอารมณ์ของอาสวะที่เหลือ วิบากแห่งกุศลธรรม และอกุศลธรรมที่เป็นอารมณ์ของอาสวะ ธรรมเป็นกิริยามิใช่กุศล อกุศลและกรรมวิบาก รูปทั้งหมด นี้เรียกว่า ทุกข์"(๒) ส่วนคำว่า อุปาทาน ที่อาจทำให้สับสน ก็อาจเพราะเมื่อนำไปประกอบศัพท์แล้วมีหลายนิยาม ตัวอุปาทาน เอง ไม่น่ามีปัญหา อุปาทานคือโลภะ, ทิฏฐิ" ที่เข้าไปยึดขันธ์ แต่พอเอาคำว่าอุปาทานไปประกอบเป็นศัพท์ว่า อุปาทานขันธ์ จะหมายเอา ขันธ์ที่กำลังถูกอุปาทานยึดเป็นอารมณ์ หรือ ขันธ์อันเป็นอารมณ์แก่อุปาทานได้
อาตมาพบว่า มีใช้ทั้ง ๒ ความหมาย (ความหมายแรกนั้นชัดอยู่แล้ว) ขอแสดงตัวอย่างสำหรับนัยที่ ๒ ดังต่อไปนี้
- ปัฏฐาน แสดงปริยายต่างๆ ของ อุปาทานธรรม และอุปาทานิยธรรม
- ในวิภังคปกรณ์ ติกมาติกาวิสัชนา อุปาทานโคจฉกวิสัชนา
"...สมุทยสัจ เป็นอุปาทานะ สัจจะ ๒ เป็น นอุปาทานะ ทุกขสัจเป็นอุปาทานะก็มี เป็น นอุปาทานะก็มี สัจจะ ๒ เป็นอุปาทานิยะ สัจจะ ๒ เป็นอนุปาทานิยะ ..."
- ในพระสูตร มีที่ใช้ "อุปาทานขันธ์" เป็นอารมณ์ในการพิจารณาของพระอรหันต์ เช่น
“ท่านสารีบุตร ธรรมเหล่าไหนอันภิกษุผู้เป็นอรหันต์ควรมนสิการโดยแยบคาย ขอรับ”
“ท่านโกฏฐิตะ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้อันภิกษุแม้ผู้เป็นอรหันต์ก็ควรมนสิการโดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศร เป็นของลำบาก เป็นอาพาธ เป็นอย่างอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของสูญ เป็น อนัตตา, ท่านโกฏฐิตะ กิจที่จะพึงทำให้ยิ่งขึ้นไป หรือการสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้เป็นอรหันต์ อนึ่ง ธรรมเหล่านี้ที่ ภิกษุผู้เป็นอรหันต์เจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และเพื่อสติสัมปชัญญะ”
- ประเด็นนี้ ดูเทียบกับอรรถกถาวิภังคปกรณ์ ที่อธิบายว่าทุกขสัจเป็นอัปปมาณารัมมณะเกิดในเวลาพิจารณาโลกุตรธรรม ๙(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๒๐ พ.ย. ๖๔)
ถาม ขณะที่นั่งสมาธิ เกิดปีติ มีสุขเวทนาเกิดขึ้น หากผู้ปฏิบัติเพียงแค่สักแต่ว่า รู้สุขเวทนานี้ พิจารณาเห็นไตรลักษณ์ไม่ได้อยากหรือยึดให้สุขเวทนานี้ตั้งอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลง สุขเวทนานี้ ยังจัดเป็น ทุกขอริยสัจ หรือไม่
ตอบ คำถามนี้ ก็คล้ายกับตัวอย่างที่ว่า "น้ำคลำ นี้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ไหม"
ถ้าว่าโดยกรณีเฉพาะนั้นๆ (ตามสุตตันตภาชนีย์) ก็พูดได้ว่า น้ำคลำนี้กินไม่ได้ ไม่เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ แต่ถ้าว่าโดยสภาวะของน้ำคลำนี้ โดยสภาวะก็คือ H2O ในสภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งตัวมันมีสมบัติที่จะเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ได้ ในทางใดทางหนึ่ง ในเวลาใดเวลาหนึ่ง
ฉะนั้นในความเห็นของอาตมา ....
- หากจะอธิบายโดยย่อ อาตมาก็จะกล่าวตามสุตตันตภาชนีย์ ว่าสุขเวทนานั้นไม่เป็นทุกขสัจแก่บุคคลนั้น ในเวลานั้น
- แต่หากถูกถามให้ชัดลงไปว่า สุขเวทนานั้นจะไม่เป็นทุกขสัจได้เลยหรือ อาตมาก็จะกล่าวโดยพิศดาร ตามอภิธรรมภาชนีย์ว่า สุขเวทนานั้น โดยสภาวธรรม เป็นทุกขสัจ คือเป็น “สิ่งที่ไม่เที่ยง.....อันบุคคลสามารถยึด แล้วเกิดทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อใดเมื่อหนึ่ง...” ก็ได้ เช่น ผู้ที่เจริญวิปัสนานั้น ออกจากอารมณ์กรรมฐานแล้ว ระลึกถึงอยู่ ซึ่งสุขเวทนาอันตนได้ประสบมาในขณะที่เจริญวิปัสนานั้น สุขเวทนานั้นก็อาจเป็นอตีตารมณ์ ให้แก่ตัณหาได้อยู่ดี เมื่อนั้น สุขเวทนานั้น ก็เป็นที่ตั้งแห่งตัณหาอุปาทาน (เป็นอุปาทานิยะ) เป็นทุกขสัจ แสดงอาการทุกข์ให้ปรากฏชัดคือ ปริยายทุกข์ แต่ถ้าว่าให้ถึงที่สุดแล้ว สุขเวทนานั้น แม้กล่าวเฉพาะในขณะที่บุคคลเจริญสติ พิจารณาอยู่ด้วยกุศลจิต (หรือแม้แต่กิริยาจิตของพระอรหันต์) สุขเวทนานั้นก็เป็นสภาวธรรมอันเกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง ที่ไม่เที่ยง..... อันบุคคลสามารถยึด แล้วเกิดทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อใดเมื่อหนึ่ง... ก็ได้ กล่าวคือมีสมบัติเช่นนั้น (เหมือนน้ำคลำก็เป็น H2O) ก็กล่าวโดยคุณสมบัติว่ามีสมบัติเป็นทุกขสัจ โดยมิได้จำเป็นว่าจะมีใครมายึดมันหรือไม่ และตัวมันก็แสดงอาการของทุกขสัจ คือ นิปปริยายทุกข์อยู่นั่นเอง
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๒๐ พ.ย. ๖๔)
ถาม ขันธ์ ๕ ของพระอรหันต์ เป็นทุกขสัจหรือไม่ (ถ้าใช่ พระอรหันต์บรรลุนิพพานแล้ว ดับทุกข์ได้สิ้นเชิงแล้ว จะมีทุกขสัจอีกได้อย่างไร)
ตอบ ขันธ์ในปัจจุบันของพระอรหันต์ เป็นทุกขสัจอันเป็นผลของกรรมในอดีต (ซึ่งยังแก่ เจ็บ ตาย) ส่วนการกระทำต่างๆ ของพระอรหันต์ในปัจจุบันไม่เป็นกรรม และไม่ส่งผลให้เกิดขันธ์ในภพต่อไป
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๒๐ พ.ย. ๖๔)
ถาม อะไรบ้างเป็นทุกขสัจ อะไรบ้างเป็นสมุทัยสัจ?
ตอบ อรรถกถา วิภังคปกรณ์ สัจจวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์ อธิบายความบางตอนไว้ดังนี้
“… อนึ่ง พระองค์ตรัสอริยสัจ ๔ เท่านั้น แม้ด้วยอำนาจแห่งปริญเญยธรรม (ธรรมที่ควรกำหนดรู้) ปหาตัพพธรรม (ธรรมที่ควรละ) สัจฉิกาตัพพธรรม (ธรรมที่ควรทำให้แจ้ง) ภาเวตัพพธรรม (ธรรมที่ควรเจริญ) และตรัสไว้ ๔ ด้วย ด้วยอำนาจแห่งตัณหา วัตถุที่อาศัยเกิดของตัณหา ความดับตัณหาและอุบายเป็นเครื่องดับตัณหา และตรัสไว้ ๔ แม้ด้วยอำนาจแห่งความอาลัย เหตุที่ยินดีในอาลัย การถอนขึ้นซึ่งอาลัยและอุบายเป็นเหตุถอนขึ้นซึ่งอาลัย.”
“โดยจตุกะ ความว่า ก็บรรดาสัจจะ ๔ เหล่านี้ ธรรมที่เป็นทุกข์แต่ไม่ใช่ทุกข์อริยสัจก็มี ธรรมที่เป็นอริยสัจไม่เป็นทุกข์ก็มี ธรรมที่เป็นทุกข์ด้วยเป็นอริยสัจด้วยก็มี ธรรมที่ไม่เป็นทุกข์และไม่ใช่อริยสัจก็มี.
ในสมุทัยเป็นต้นก็นัยนี้.ในจตุกะนั้น ธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตด้วยมรรคและสามัญผลทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะเป็นสังขารทุกข์ โดยพระบาลีว่า ยทนิจฺจํ ตํ ทุกฺขํ (สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์) แต่ไม่ใช่อริยสัจ นิโรธเป็นอริยสัจแต่ไม่เป็นทุกข์. ส่วนอริยสัจทั้ง ๒ นอกนี้ (สมุทัยและมรรค) พึงเป็นทุกข์ เพราะความไม่เที่ยง แต่ไม่ใช่ทุกข์โดยที่กุลบุตรผู้อยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้ากำหนดรู้ ส่วนอุปาทานขันธ์ ๕ เว้นตัณหาแล้วเป็นทั้งทุกข์ เป็นทั้งอริยสัจโดยประการทั้งปวง ธรรมที่สัมปยุตด้วยมรรคและสามัญผลทั้งหลายไม่ใช่ทุกข์โดยสภาวะที่กุลบุตรผู้อยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อกำหนดรู้ ทั้งไม่ใช่อริยสัจ.
ในข้อสมุทัยเป็นต้น กิเลสที่เป็นสมุทัย (นอกจากตัณหา) เป็นสมุทัย เพราะอรรถว่าทำให้เกิดทุกข์ แต่ไม่ใช่อริยสัจที่เป็นสมุทัย นิโรธเป็นอริยสัจ แต่ไม่เป็นสมุทัย ทุกข์และมรรครวม ๒ พึงเป็นสมุทัยก็ได้เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดผลของตน แต่ไม่เป็นสมุทัยที่เป็นปหาตัพพธรรม ตัณหาเป็นทั้งสมุทัยเป็นทั้งอริยสัจ ธรรมที่สัมปยุตด้วยมรรคและสามัญผลไม่เป็นสมุทัยที่จะต้องละ และไม่เป็นอริยสัจ (เป็นสัจจวิมุตติ).
ในนิโรธ สังขารนิโรธและนิโรธสมาบัติเป็นนิโรธแต่ไม่เป็นนิโรธอริยสัจ สมุทัยเป็นอริยสัจแต่ไม่เป็นนิโรธ ทุกข์และมรรคทั้ง ๒ เป็นนิโรธก็ได้เพราะเป็นขณนิโรธ แต่ไม่ใช่นิโรธสัจจะ อสังขตะเป็นทั้งนิโรธเป็นทั้งอริยสัจธรรม ที่สัมปยุตด้วยมรรคและสามัญผลไม่เป็นนิโรธและไม่ใช่อริยสัจ.
องค์มรรคอื่นจากอริยมรรคเป็นมรรคแต่ไม่ใช่อริยมรรค นิโรธเป็นอริยสัจ แต่ไม่เป็นมรรค ทุกข์และสมุทัยทั้ง ๒ เป็นมรรคก็ได้เพราะเป็นทางไปสู่ภพ แต่มิใช่อริยมรรคที่ควรเจริญเพื่อนิโรธ นิโรธคามินีปฏิปทาเป็นทั้งมรรค เป็นทั้งอริยสัจโดยประการทั้งปวง ธรรมที่สัมปยุตด้วยมรรคและสามัญผลไม่เป็นมรรคและไม่เป็นอริยสัจ”(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๒๐ พ.ย. ๖๔)
ถาม อิริยาบถ บดบังทุกขลักษณะ - คำว่าอิริยาบถในที่นี้ มีความหมายต่างจาก "อิริยาบถ" ในภาษาไทยหรือไม่ ถ้าเป็นความหมายในภาษาไทย การที่อิริยาบถจะบดบังทุกขลักษณะ น่าจะทำได้เพียงความทุกข์ทางด้านร่างกาย เช่นความปวดเมื่อย หากถ้าจะอธิบายถึงสรรพสิ่งอื่น เช่น วัตถุต่างๆ หรือหากเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม อิริยาบถจะบดบังทุกขลักษณะของสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร??
ตอบ เหตุแห่งคำถามนี้ อาจไม่ใช่คำว่า "อิริยาบถ" แต่เป็นคำว่า "บดบัง" ซึ่งเป็นคำอุปมาเปรียบเทียบ การที่ผู้ปฏิบัติไม่อาจพิจารณาความเป็นจริงของสิ่งที่เป็นได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่เป็นการทำให้สภาวะที่เป็นของสิ่งนั้นหายไป หรือไม่ปรากฏ ดังนั้น อิริยาบถ จึงเป็นอาการที่ทำให้ผู้ปฏิบัติสังเกตเห็นทุกขลักษณะได้ยาก แต่ไม่ได้ทำให้ทุกขลักษณะของสิ่งใดๆ หายไป หรือไม่ปรากฏแก่ผู้ปฏิบัติ ดังความในหนังสือพุทธธรรม ที่ว่า ...เมื่อผู้ปฏิบัติสังเกตอาการปวดหัวเข่า (ดังตัวอย่างในคำถามก่อนหน้านี้) ก็จะสังเกตเห็นอาการตึง แน่นที่บางจุดของหัวเข่า เมื่อสังเกตได้ต่อเนื่องดี ก็จะเห็นว่าอาการเช่นนั้นมีลักษณะคงตัวอยู่ไม่ได้ ดับไป เพราะเหตุปัจจัยมีการแปรเปลี่ยน (และก็อาจเกิดขึ้นใหม่ ได้อีกเรื่อยๆ หากเหตุปัจจัยคล้ายๆ เดิม ยังเกิดขึ้นสืบต่อ) แต่ถ้าผู้ปฏิบัติ เปลี่ยนอิริยาบถเสียในทันทีที่รู้สึกปวด ก็จะไม่ทันได้สังเกตความที่อาการปวดนั้นถูกเหตุปัจจัย (ที่แปรเปลี่ยน) ทำให้คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เพราะความปวดนั้นหายไปเพราะการเปลี่ยนอิริยาบถเสียแล้ว
ในทางนามธรรมก็เช่นเดียวกัน เมื่อผู้ปฏิบัติเกิดความหงุดหงิดขัดใจ ที่ปวดหัวเข่า ความหงุดหงิดนั้นก็มีเหตุปัจจัย (ที่แปรเปลี่ยน) ทำให้คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เช่นกัน ถ้าผู้ปฏิบัติยังไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ก็อาจสังเกตทุกขลักษณะของความหงุดหงิดได้ แต่ถ้าผู้ปฏิบัติเปลี่ยนอิริยาบถเสีย ความหงุดหงิดก็อาจจะหายไป เพราะเหตุปัจจัยที่ทำให้หงุดหงิดหมดไป แต่ผู้ปฏิบัติมักเข้าใจว่า ความหงุดหงิดดับไป เพราะตนสั่งบังคับกายตนให้ลุกขึ้น ทุกข์จึงดับ แล้วก็ยึดถือความเข้าใจเช่นนั้นว่าตนสั่งบงการให้ทุกข์หรือสุขได้ ซึ่งตรงข้ามกับสภาพความเป็นจริง ที่ตนเพียงแต่ทำเหตุปัจจัยบางอย่างในขณะนั้น ส่งผลให้ทุกข์ดับ แต่แม้ตนไม่ทำ ทุกข์ก็เกิดดับตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ตนไม่รู้ จึงคิดแต่ว่า ต้องลุกขึ้น ทุกข์จึงจะดับ
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๘ ส.ค. ๖๓)
ถาม ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แปลว่าธรรมทั้งหลายเป็นสุญญตา คือไม่มีอยู่จริง ใช่หรือไม่
ตอบ พุทธธรรม เรื่อง อัตตา–อนัตตา และ อัตตา–นิรัตตา อธิบายไว้ตอนหนึ่งว่า "สภาวะจริงแท้นั้นมีอยู่ มิใช่เป็นความสูญสิ้นไม่มีอะไรเลย แต่ก็มิใช่เป็นสภาวะที่จะเข้าถึงหรือประจักษ์ได้ด้วยความรู้ที่ถูกกั้นบังให้พร่ามัวหรือบิดเบือนโดยภาพเก่าๆ ที่ผิดพลาด และด้วยจิตที่ถูกฉุดรั้งไว้โดยความยึดติดในภาพเก่าที่ผิดพลาดนั้น การที่สมณพราหมณ์ผู้ประเสริฐหรือเจ้าลัทธิชั้นพรหมจำนวนมาก ไม่สามารถรู้แจ้งแทงตลอดถึงสภาวะแท้จริงขั้นสุดท้าย ก็เพราะว่า แม้ว่าสมณพราหมณ์หรือเจ้าลัทธิเจ้าทฤษฎีเหล่านั้นจะรู้ชัดแล้วว่า ตัวตนระดับกายใจชนิดที่เคยยึดถือมาก่อน ไม่ใช่เป็นสภาวะที่จริงแท้ และไม่ยอมรับแม้กระทั่งขันธ์ ๕ แต่ท่านเหล่านั้นก็ยังนำเอาเครื่องพรางตาตัวเอง ๒ อย่างของปุถุชนติดตัวไปด้วยตลอดเวลาในการค้นหาสภาวะที่แท้จริงขั้นสุดท้าย กล่าวคือ๑) บัญญัติ (concept) แห่งอัตตา คือ มโนภาพของตัวตนที่เป็นคราบติดมาตั้งแต่ครั้งยึดติดในตัวตนหยาบระดับร่างกาย แม้มโนภาพนี้จะละเอียดประณีตขึ้นมากเพียงใด มันก็เป็นภาพอันเดียวกันหรือเทือกเถาเดียวกันอยู่นั่นเอง และเป็นภาพแห่งความหลงผิด ซึ่งเมื่อเขาไปเกี่ยวข้องกับสภาวะใดๆ เขาก็จะเอาบัญญัติหรือมโนภาพอันนี้ไปป้ายหรือฉาบทาสภาวะนั้น ทำให้มีสิ่งกั้นบัง เกิดความพร่ามัวหรือบิดเบือน และทำให้สภาวะที่เขาเข้าใจ ไม่ใช่สภาวะจริงแท้นั้นเองที่ล้วนๆ บริสุทธิ์
๒) ความยึดติดถือมั่น (อุปาทาน) ซึ่งเขามีมาแต่เดิมตั้งแต่ยึดติดในอัตตาอย่างหยาบๆ ขั้นต้น ซึ่งเป็นความหลงผิดอยู่แล้ว เขาก็ยังพาเอาความยึดติดนี้ไปด้วย และนำไปใช้ในการสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสภาวะที่จริงแท้ ความยึดติดในภาพตัวตนนี้จึงกลายเป็นเครื่องฉุดรั้งเขาไว้ ให้ไม่อาจเข้าถึงสภาวะที่จริงแท้นั้นได้"
อาจอธิบายความได้ว่า
(๑) สภาวธรรมทั้งปวง (ปรมัตถสภาวธรรม) เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง แต่มโนภาพที่ประกอบเอาสภาวธรรมบางอย่าง หรือหลายอย่าง แล้วนึกสร้างเป็นความเข้าใจของตนเองที่มีต่อสิ่งนั้น ไม่มีอยู่จริง เช่น การประกอบของชิ้นส่วนต่างๆ แล้วเข้าใจว่ารถ, การประกอบของรูปนาม แล้วเข้าใจว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวเรา ตัวเขา คนที่เรารัก คนดี คนชั่ว เป็นต้น
(๒) สภาวธรรมทั้งปวง (ปรมัตถสภาวธรรม) เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง รับรู้ได้จริงทางใดทางหนึ่งถึงมีอยู่ของสภาวธรรมเหล่านั้น แต่สภาวธรรมเหล่านั้น ถ้าเป็นสังขารธรรม แม้มีอยู่ ก็ไม่ดำรงอยู่ยั่งยืน แปรปรวนไปตามกระบวนการของเหตุปัจจัย ไม่มีปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะบังคับให้เป็นไปตามอำนาจของตนได้ (ไม่มีอัตตาที่ปรุงแต่งขึ้นด้วยความหลงผิด ยึดติดถือมั่น ว่าตนจะสามารถบังคับควบคุมให้เป็นอย่างใจตนได้)
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม สุญญตา คือความว่าง หมายถึงว่างจากอะไร
ตอบ ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ แสดงความหมายของสุญญตาไว้ดังนี้
สุญญตา “ความเป็นสภาพสูญ”, ความว่าง
1. ความเป็นสภาพที่ว่างจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะที่ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา คือ ไร้ตัวมิใช่ตน ว่างจากความเป็นตน ตลอดจนว่างจากสาระต่างๆ เช่น สาระคือความเที่ยง สาระคือความสวยงาม สาระคือความสุข เป็นต้น,
โดยปริยายหมายถึง หลักธรรมฝ่ายปรมัตถ์ ดังเช่นขันธ์ ธาตุ อายตนะ และปัจจยาการ (อิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท) ที่แสดงแต่ตัวสภาวะให้เห็นความว่างเปล่าปราศจากสัตว์ บุคคล เป็นเพียงธรรมหรือกระบวนธรรมล้วนๆ2. ความว่างจากกิเลส มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ก็ดี สภาวะที่ว่างจากสังขารทั้งหลายก็ดี หมายถึง นิพพาน
3. โลกุตตรมรรค ได้ชื่อว่าเป็นสุญญตา ด้วยเหตุผล ๓ ประการ คือ
- เพราะลุด้วยปัญญาที่กำหนดพิจารณาความเป็นอนัตตา มองเห็นสภาวะที่สังขารเป็นสภาพว่าง (จากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน)
- เพราะว่างจากกิเลสมีราคะเป็นต้น และ
- เพราะมีสุญญตา คือ นิพพาน เป็นอารมณ์4. ความว่าง ที่เกิดจากความกำหนดหมายในใจ หรือทำใจเพื่อให้เป็นอารมณ์ของจิตในการเจริญสมาบัติ เช่น ผู้เจริญอากิญจัญญายตนสมาบัติกำหนดใจถึงภาวะว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย
ใน อรรถกถา วิภังคปกรณ์ สัจจวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์ วินิจฉัยอริยสัจ โดยสุญญตา ดังนี้
... โดยปรมัตถ์ สัจจะทั้งหมดทีเดียว พึงทราบว่า เป็นสภาพว่าง เพราะไม่มีผู้เสวย ไม่มีผู้ทำ ไม่มีผู้ดับ ไม่มีผู้เดิน ...
อีกอย่างหนึ่ง ความว่างในสัจจะ ๔ เหล่านั้น พึงทราบอย่างนี้ คือ สัจจะ ๒ บทแรกว่างจากความเที่ยง ความงาม ความสุข และอัตตา อมตบทคือพระนิพพาน ว่างจากอัตตา มรรค ว่างจากความยั่งยืน ความสุข และอัตตา.
อีกอย่างหนึ่ง สัจจะ ๓ ว่างจากนิโรธ และนิโรธก็ว่างจากสัจจะ ๓ ที่เหลือ
อีกอย่างหนึ่ง ในสัจจะ ๔ เหล่านี้ เหตุว่างจากผล เพราะไม่มีทุกข์ในสมุทัย และไม่มีนิโรธในมรรค
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑๕ พ.ย. ๖๔)
ถาม นิพพานไม่เป็นทั้งอัตตาและอนัตตา ใช่หรือไม่
ตอบ ในหนังสือ พระไทยใช่เขาใช่เรา? (นิพพาน-อนัตตา: ฉบับเพียงเพื่อไม่ประมาท) หน้า ๑๐ - ๑๘ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) อธิบายว่า ..."... คําพูดนี้เกิดจากความหลงภาษา หรือเป็น การเล่นภาษาเท่านั้น ... ขอพูดให้เข้าใจง่ายๆ สั้นๆ คือในภาษาบาลีนั้น พอพูดว่า “นิพพานไม่ใช่อัตตา” ก็คือบอกว่า “นิพพานเป็นอนัตตา” เพราะอะไร ก็เพราะว่า คําว่า “ไม่ใช่อัตตา” หรือ “ไม่เป็น อัตตา” นั้น พูดเป็นคําภาษาบาลีว่า “อนัตตา”
คําบาลีว่า “อนัตตา” แปลเป็นภาษาไทยว่า “ไม่ใช่อัตตา” หรือ “ไม่เป็นอัตตา” (ไม่ใช่-, ไม่เป็น-, ไม่มี- ได้ทั้งนั้น) ... เพราะฉะนั้น ท่านผู้ใดจะพูดว่า “นิพพานก็เป็นนิพพาน ไม่ เป็นอัตตา ไม่เป็นอนัตตา” ก็พูดขัดกับคําของตัวเอง ก็เห็นอยู่ชัดๆ พูดออกมาแล้วว่านิพพานเป็นอนัตตา แล้วก็บอกว่าไม่เป็นอนัตตา ...."
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม เวลามโนทวาร นึกถึงรสมะนาว (ในอดีต) แล้วอยากกิน
ความอยากกิน คือ โลภชวนจิต เกิดได้ทั้งในปัญจทวารตอนที่กำลังรับรส และเกิดในมโนทวารที่เกิดขึ้นภายหลัง ก็ได้ใช่ไหม โลภะ ๒ กรณีนี้ ต่างกันไหมตอบ โลภชวนจิตสามารถเกิดได้ทั้งทางปัญจทวารและทางมโนทวาร ในขณะที่อยากกิน ก็จัดเป็นโลภชวนจิต ในขณะที่กำลังรับรสอยู่ แล้วต่อด้วยทางมโนทวารโดยอาศัยกระบวนการของวิถีจิต
โลภะทั้ง ๒ ทวารนี้ มีความต่างกัน ดังนี้
๑. โลภะที่เกิดทางชิวหาทวารในวิถีแรกนั้น เป็นเหตุให้โลภะเกิดต่อไปทางมโนทวาร ตราบเท่าที่ยังตัดกระแสความอยากกินนั้นไม่ได้ (ก็จะเกิดเรื่อยไป และทวีความรุนแรง ตามกำลังการกระตุ้นของอารมณ์ หรือของเจตนาของตนเอง หรือการโฆษณาเชิญชวนของบุคคลอื่น เป็นต้น)
๒. โลภะที่เกิดทางปัญจทวารนั้น มีกำลังอ่อนกว่าโลภะที่เกิดทางมโนทวาร เนื่องจากโลภะทางปัญจทวารนั้นเกิดขึ้นเพียงวิถีจิตสั้น ๆ ส่วนโลภะที่เกิดทางมโนทวารนั้นมีกำลังมากกว่า เนื่องจากเกิดต่อเนื่องหลายวิถีและทวารความรุนแรงขึ้นตามแรงกระตุ้น โดยเฉพาะยิ่งนึกถึงมากเท่าไร ก็จะเป็นการสั่งสมโลภะในเรื่องนั้น ๆ ไว้มาก และเพิ่มความแรงของโลภะ ตามอำนาจความปรารถนาหรือความอยากของโลภะก่อน ๆ เป็นปัจจัยแก่โลภะที่เกิดหลัง ๆ อีกด้วย
๓. ถ้าบุคคลใดสามารถห้ามความอยากไว้ได้ เร็วเท่าไร ก็จะเป็นการปิดกระแสของตัณหาให้หยุดลงได้เร็วเท่านั้นด้วย และไม่เป็นการสั่งสมกำลังของโลภะไว้ในสันดาน เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนให้ฝึกสติกำหนด ในการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส และคิดนึก เพื่อมิให้ความประมาทเกิดขึ้นแล้วเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลสต่าง ๆ ตามมาอันมีความประมาทนั้นเป็นปัจจัย
(ผู้ตอบ - พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร - ๒๑ ก.ค. ๖๓)
ถาม
ตอบ
(ผู้ตอบ - .....)
ถาม ขันธ์ ๕ เป็นทุกขสัจ ใช่หรือไม่
หรือขันธ์ ๕ ยังไม่เป็นทุกขสัจ จนกว่าจะมีอุปาทานไปยึดจึงเป็นทุกขอริยสัจตอบ ต้องตีกรอบ คำว่า "ทุกข์" ให้แคบเข้า ด้วยทุกข์ ๒ อย่างนี้ (นอกจากนี้ยังอาจแบ่งทุกข์ในอริยสัจ ๔ ได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ)
สภาวทุกข์ คือทุกข์ประจำ ทุกข์ที่มีอยู่ด้วยกันทุกคน ไม่มียกเว้น ได้แก่ความเกิด ความแก่ ความตาย
ปกิณณกทุกข์ คือทุกข์จร ทุกข์ที่จรมาเป็นครั้งคราว ได้แก่ ความเศร้าโศก ความพร่ำเพ้อรำพัน ความไม่สบายใจ ความน้อยใจ ความคับแค้นใจ ความประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบ ความพลัดพรากจากสิ่งที่ชอบ ความผิดหวังไม่ได้ตามที่ต้องการ
โดยมากประเด็นที่ถกกัน จะคำนึงถึงเฉพาะ ปกิณณกทุกข์ เท่านั้น ไม่ค่อยคำนึงถึง "สภาวทุกข์"ทุกข์ (ทุกฺขํ) หมายถึง ขันธ์ ๕ ทั้งหมด เป็นปรมัตถ์ เป็นสภาวะธรรม มีอยู่จริง, คำว่า"ทุกข์"เป็นคำไวพจน์ชื่อหนึ่งของขันธ์ ๕
ทุกฺขเวทนา หมายถึง เวทนาขันธ์ ซึ่งเป็นเพียง ๑ ในขันธ์ที่มีอยู่ทั้งสิ้น ๕ ประการ
ทุกฺขตา หมายถึง อาการที่ทนดำรงอยู่ไม่ได้เลยเป็นต้นของขันธ์ ๕ (เป็นไวพจน์ของทุกขลักษณะ)
ทุกฺขลกฺขณํ หมายถึง อาการที่หมดสิ้นไปเป็นต้นของขันธ์ ๕ (เป็นไวพจน์ของทุกขตา) เป็น เครื่องกำหนดขันธ์ ๕ ทั้งหมดซึ่งเป็นตัวทุกข์ทุกขลักษณะทำให้เราทราบได้ว่าขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ บีบคั้น น่ากลัวมาก ซึ่งได้แก่ อาการความบีบคั้นบังคับให้เปลี่ยนแปลงไปอยู่เป็นเนืองนิจของขันธ์ ๕ เช่น อาการที่ขันธ์ ๕ บีบบังคับตนจากที่เคยเกิดขึ้น ก็ต้องเสื่อมสิ้นไปเป็นขันธ์ ๕ อันใหม่, อาการที่ขันธ์ ๕ จากที่เคยมีขึ้น ก็ต้องกลับไปเป็นไม่มีอีกครั้ง เป็นต้น.
ในวิสุทธิมรรค ท่านได้ยกทุกขลักษณะจากปฏิสัมภิทามรรคมาแสดงไว้ถึง ๑๐ แบบ เรียกว่า โต ๑๐ และในพระไตรปิฎกยังมีการแสดงทุกขลักษณะไว้ในแบบอื่นๆอีกมากมาย. แต่คัมภีร์ที่รวบรวมไว้เป็นเบื้องต้นเหมาะสำหรับเป็นคู่มือสำหรับปฏิบัติธรรมได้แก่ คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค เพราะสามารถจะจำคำที่คนโบราณใช้กำหนดกันจากคัมภีร์นี้แล้วนำไปใช้ได้ทันที ดังที่ท่านแสดงไว้เป็นต้นว่า "จกฺขุ อหุตฺวา สมฺภูตํ หุตฺวา น ภวิสฺสตีติ ววตฺเถติ - นักปฏิบัติธรรมย่อมกำหนดว่า "จักขุปสาทที่ยังไม่เกิดก็เกิดมีขึ้น พอมีขึ้นแล้วต่อไปก็จะกลายเป็นไม่มีไปอีก"เป็นต้น (ให้เพ่งเล็งถึงลักษณะที่บีบบังคับตัวเองให้ต้องเปลี่ยนไป ก็จะกลายเป็นการกำหนดทุกขลักษณะ)(ผู้ตอบ - พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร - ๒๔ ก.ค. ๖๓)
ถาม ปฏิจจสมุปบาท กับอริยสัจ 4 มีองค์ธรรมเท่ากันหรือไม่ หากจะสรุปว่า ปฏิจจสมุปบาท เป็น subset ของ อริยสัจ 4 ได้หรือไม่ เพราะมีประโยคในหนังสือพุทธธรรม กล่าวว่า "ปฏิจฯ ก็เป็นเนื้อหาสำคัญของอริยสัจ และอริยสัจก็มีความหมายครอบคลุมปฏิจจสมุปบาท" และ "อริยสัจ ๔ คือธรรมทั้งหมด มีจุดซึ่งเป็นแก่นแท้เข้าใจยากที่สุดอยู่ที่ปฏิจจสมุปบาทและนิพพานเท่านั้น"
ตอบ สิ่งแรกที่น่าจะทบทวนก่อนคือ อะไรทำให้คิดว่าองค์ธรรมของอริยสัจ กับปฏิจฯ จะเท่ากันหรือไม่เท่ากัน และในปฏิจฯ กำลังอธิบายองค์ธรรมในหลายช่วงเวลาด้วย ฉะนั้นคำว่าเท่ากัน จะกินความอย่างไร
เสนอให้ทำความเข้าใจ ปฏิจสมุปบาท โดยไม่ยึดติดกับองค์ธรรม คือปฏิจสมุปบาท เป็นหลักความจริงตามธรรมชาติที่สิ่งต่างๆ เป็นปัจจัยแก่กันและกัน สิ่งๆ หนึ่ง เกิดขึ้นได้ ก็เพราะ มีสิ่งต่างๆ หลายสิ่ง เป็นปัจจัย เช่น การที่ฝนตก เกิดจากเหตุปัจจัยอะไรบ้าง ? การที่ตัณหา เกิดขึ้น ขณะหนึ่ง เกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง ?
ฉะนั้น เมื่อเข้าใจอย่างนี้ การที่จะระบุว่า ปฏิจจสมุปบาท คือองค์ธรรมอะไรบ้าง จึงไม่สามารถแจกแจงได้ทั้งหมด การที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงองค์ธรรมในกระแสปฏิจสมุปบาท จึงแสดงได้หลายแบบ แต่ละแบบก็มีองค์ธรรมต่างๆ กัน
- การแสดงปฏิจจสมุปบาท จึงไม่จำเป็นต้องครบ ๑๒ หัวข้ออย่างข้างต้น และไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบที่ตายตัวเสมอไป
- ในพระอภิธรรมปิฎก ท่านจำแนกกระบวนธรรมปฏิจจสมุปบาทออกเป็นหลายแบบ
ฉะนั้น จึงไม่จำเป็นต้องเอาองค์ธรรมมาเทียบกันว่า อะไรมีองค์ธรรมมากกว่าอะไร วัฏฏจักรของน้ำ กับ กระบวนการย่อยอาหารในร่างกาย อะไรเป็น subset ของอะไร
อิทัปปัจจยตาปฏิจสมุปบาท ก็กว้างในแง่ว่า อธิบายความเป็นเหตุปัจจัยของสรรพสิ่ง
อริยสัจ ก็มุ่งปัจจัยในการเกิด และการดับทุกข์ มีความหมายกว้างครอบคลุมปฏิจจสมุปบาททั้งฝ่ายสมุทยวารและนิโรธวาร(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑๒ ก.ย., ๕ พ.ย. ๖๔)
ถาม เวทนา สังขาร วิญญาน ในขันธ์ ๕ กับ สังขาร วิญญาน เวทนา ในปฎิจจสมุปบาท ต่างกันอย่างไร
ตอบ ขันธ์ ๕ เป็นการอธิบายเชิงองค์ประกอบของชีวิต
ปฏิจจสมุปบาท เป็นการอธิบายกระบวนการของชีวิต ซึ่งอธิบายได้หลายแง่ หลายระดับ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน พุทธธรรม บทที่ ๔) ถ้าว่าโดยความหมายอย่างกว้าง ก็ไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ
เวทนา คือ ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ซึ่งเกิดจากผัสสะ ทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ
สังขาร คือ องค์ประกอบหรือคุณสมบัติต่างๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ซึ่งแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลางๆ ปรุงแปรการตริตรึกนึกคิดในใจ และการแสดงออกทางกายวาจา ให้เป็นไปต่างๆ เป็นที่มาของกรรม
วิญญาณ คือ ความรู้แจ้งอารมณ์ทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ คือ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้สัมผัสทางกาย และการรู้อารมณ์ทางใจ
แต่ถ้าพิจารณาโดยละเอียด ตามหลักอภิธรรม ก็สามารถระบุชัดลงไปว่า องค์ธรรมในปฏิจจสมุปบาทนั้นหมายเอากระบวนการเกิดทุกข์โดยตรง จึงไม่รวมเอาสภาวธรรมที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่นโลกุตตรจิต เข้าไว้ด้วย จึงสามารถระบุองค์ธรรมที่เกิดในกระบวนการปฏิจจสมุปบาทอย่างเฉพาะเจาะจงลงไปได้ กล่าวคือ
เวทนา ในขันธ์ ๕ คือ เวทนาเจตสิก
เวทนา ในปฏิจจสมุปบาท คือ เวทนาเจตสิก ในโลกียวิปากจิต
สังขาร ในขันธ์ ๕ คือ เจตสิก ๕๐ เว้น เวทนา, สัญญา
สังขาร ในปฏิจจสมุปบาท คือ เจตนาเจตสิก ในอกุศลจิต และโลกียกุศลจิต
วิญญาณ ในขันธ์ ๕ คือ จิตทั้งหมด
วิญญาณ ในปฏิจจสมุปบาท คือ โลกียวิปากจิต ๓๒
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑ ส.ค. ๖๓)
ถาม ความในโลณกสูตรต่อไปนี้ มีความหมายว่าอย่างไร
"โย โข ภิกฺขเว เอวํ วเทยฺย ยถา ยถายํ ปุริโส กมฺมํ กโรติ ตถา ตถา ตํ ปฏิสํเวทิยตีติ
เอวํ สนฺตํ ภิกฺขเว พฺรหฺมจริยวาโส น โหติ โอกาโส น ปญฺญายติ สมฺมา ทุกฺขสฺส อนฺตกิริยาย ฯ
โย จ โข ภิกฺขเว เอวํ วเทยฺย ยถา ยถา เวทนิยํ อยํ ปุริโส กมฺมํ กโรติ ตถา ตถาสฺส วิปากํ ปฏิสํเวทิยตีติ
เอวํ สนฺตํ ภิกฺขเว พฺรหฺมจริยวาโส โหติ โอกาโส ปญฺญายติ สมฺมา ทุกฺขสฺส อนฺตกิริยาย ฯ""ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษนี้ทำบาปไว้อย่างไรๆ เขาจะต้องเสวยกรรมนั้นอย่างนั้นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ของผู้นั้นย่อมมีไม่ได้ โอกาสที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ ย่อมไม่ปรากฏ
ส่วนผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษนี้ทำกรรมที่จะต้องเสวยผลไว้ด้วยอาการใดๆ เขาจะต้องเสวยวิบากของกรรมนั้นด้วยอาการนั้นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ของผู้นั้นย่อมมีได้ โอกาสที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบย่อมปรากฏ"ที่มา : พระไตรปิฎกภาษาไทย | พระไตรปิฎกภาษาบาลี
ตอบ บทว่า ตถา ตถา ตํ ได้แก่ ตถา ตถา ตํ กมฺมํ.
มีคำอธิบายดังนี้ว่า ผู้ใดพึงกล่าวไว้อย่างนี้ว่า บุคคลทำกรรมไว้โดยประการใดๆ ก็จะเสวยวิบาก (ผล) ของกรรมนั้นโดยประการนั้นๆ เพราะว่าใครๆ ไม่สามารถที่จะไม่เสวยวิบากของกรรมที่ทำไว้แล้ว เพราะฉะนั้น บุคคลทำกรรมไว้เท่าใด ก็จะเสวยวิบากของกรรมเท่านั้นทีเดียว.บทว่า เอวํ สนตํ คือ เอวํ สนฺเต แปลว่า เมื่อเป็นอย่างนี้.
บทว่า พฺรหฺมจริยวาโส น โหติ ความว่า อุปปัชชเวทนียกรรมใดที่ทำไว้ก่อนการทำมรรคให้เกิดมี เพราะอุปปัชชเวทนียกรรมนั้นอันตนจะต้องเสวยเป็นแน่แท้ พรหมจรรย์แม้อยู่จบแล้ว ก็ไม่เป็นอันอยู่เลย.
บทว่า โอกาโส น ปญฺญายติ สมฺมา ทุกฺขสฺส อนฺตกิริยาย ความว่า ก็เพราะเหตุที่เมื่อเป็นเช่นนี้ การประมวลกรรมและการเสวยผลของกรรม ยังคงมีอยู่ ฉะนั้น โอกาสแห่งการทำที่สุดแห่งวัฏทุกข์ โดยเหตุโดยนัยชื่อว่าไม่ปรากฏ.
บทว่า ยถา ยถา เวทนิยํ ได้แก่ อันตนพึงเสวยโดยอาการใดๆ.
บทว่า ตถา ตถาสฺส วิปากํ ปฏิสํเวทิยติ ความว่า เสวยวิบากของกรรมนั้นโดยอาการนั้นๆ มีคำอธิบายดังนี้ว่า
ในชวนจิตทั้ง ๗ กรรมในชวนจิตที่ ๑ นั้นใด เมื่อมีปัจจัยก็ได้วาระที่จะให้ผลทันที กรรมนั้นจัดเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม เมื่อไม่มีปัจจัยก็จะชื่อว่าเป็นอโหสิกรรม. ส่วนกรรมในชวนจิตที่ ๗ อันใด กรรมนั้นเมื่อมีปัจจัย ก็จะเป็นอุปปัชชเวทนียกรรม เมื่อไม่มีปัจจัยก็จะชื่อว่าเป็นอโหสิกรรม และกรรมในชวนจิตทั้ง ๕ ในท่ามกลางอันใด กรรมนั้นชื่อว่า อปราปริยเวทนียกรรม ตราบเท่าที่ยังท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ บุรุษ (บุคคล) นี้ทำกรรมนั้นไว้จะพึงเสวยได้ โดยอาการใดๆ ในบรรดาอาการเหล่านี้ ก็จะเสวยวิบากของกรรมนั้นโดยอาการนั้นๆ ทีเดียว.
แท้จริง ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาว่า กรรมที่ได้วาระให้ผลแล้วเท่านั้น ชื่อว่า ยถาเวทนิยกรรม.บทว่า เอวํ สนฺตํ ภิกฺขเว พฺรหฺมจริยวาโส โหติ ความว่า คำที่กล่าวไว้ว่า ชื่อว่ามีการอยู่พรหมจรรย์ที่ทำกรรมให้สิ้นไป เพราะกรรมที่จะต้องทำให้สิ้นไป ยังมีอยู่ดังนี้ เป็นอันกล่าวไว้ดีแล้วทีเดียว.
บทว่า โอกาโส ปญฺญายติ สมฺมา ทุกฺขสฺส อนฺตกิริยาย ความว่า เพราะเหตุที่เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะไม่เกิดวัฏทุกข์ต่อไปในภพนั้นๆ เพราะอภิสังขารวิญญาณดับไปด้วยมรรคนั้นๆ ฉะนั้น โอกาสแห่งการทำที่สุดแห่งทุกข์ด้วยดีจึงปรากฏ.
ถาม
ตอบ
(ผู้ตอบ - .....)
ถาม ปฏิสนธินั้น มีอะไรเป็นปัจจัย ระหว่างอารมณ์ในมรณาสันนวิถีในภพก่อน (กรรม กรรมนิมิต คตินิมิต) หรือมรณชวนะ (ชวนจิตในวิถีจิตสุดท้าย - กรรมที่ทำในวิถีจิตสุดท้ายก่อนตาย)
หากอกุศลกรรมส่งผลให้เกิดกรรม กรรมนิมิต คตินิมิตที่ไม่ดีปรากฏเป็นอารมณ์ในปัจจามรณสันนวิถี บุคคลนั้นสามารถรักษาจิตให้ ชวนะจิตในวิถีจิตสุดท้ายเป็นกุศลได้หรือไม่ ถ้าได้ ปฏิสนธิจิตในภพถัดไปจะเป็นไปโดยอำนาจของอกุศลวิบากที่ส่งผลให้เกิดกรรม กรรมนิมิต คตินิมิต นั้น หรือจะเป็นไปโดยอำนาจของกุศลกรรมในชวนะจิตสุดท้าย หรือเป็นไปได้ทั้งสอง
ตอบ มีอารมณ์เป็นใหญ่ อารมณ์เป็นอย่างไร ปฏิสนธิในภพใหม่ก็ไปตามอารมณ์ เพราะชวนะในมรณาสันนวิถีนั้นมีกำลังอ่อนมากแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือพลิกผันความรู้สึกให้กลับดีหรือไม่ดีใหม่ได้ (อ่านรายละเอียดในมรณุปปัตติจตุกกะ ปริจเฉทที่ ๕ ของวัดระฆัง ฯ)
(ผู้ตอบ - พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร - ๑๔ พ.ค. ๒๕๖๐)
ถาม
ตอบ
(ผู้ตอบ - .....)
ถาม การเจริญวิปัสสนาเป็น มหากุ. ญาณสัม. เท่านั้น หรือว่าเป็นฌานจิตใดได้บ้าง
ตอบ ฌานจิตไม่สามารถพิจารณารูปนามได้ เนื่องจากฌานจิตมีสภาพแนบแน่นอยู่ในอารมณ์เดียว คือ สมถอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จิตที่พิจารณารูปนามได้ ต้องเป็นจิตที่สามารถรับรูปนามเป็นอารมณ์ได้เท่านั้น ได้แก่ กามจิต และจิตที่ทำการพิจารณารูปนามได้ ได้แก่ มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ เท่านั้น (มหากุศล มหากิริยา ที่เป็นญาณวิปปยุตต์ ก็สามารถพิจารณารูปนามได้ ในเบื้องต้น และด้วยความชำนาญของบุคคลที่มีความชำนาญในอารมณ์รูปนามแล้ว ท่านเปรียบเหมือนคนที่สาธยายมนต์ แม้บางครั้งจะปล่อยใจคิดไปเรื่องอื่น แต่ก็ยังสามารถท่องมนต์ไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ผิดพลาดหรือหยุดชะงัก) ส่วนอภิญญาจิตนั้น สำหรับบุคคลที่ชำนาญในรูปนามก็สามารถพิจารณารูปนามได้บ้าง ส่วนโลกุตตรจิต แม้จะมีนามคือนิพพานเป็นอารมณ์ แต่นิพพานไม่มีสภาพเกิดดับ และเป็นสภาพปรากฏประจักษ์แจ้งแล้ว จึงไม่จำเป็นจะต้องพิจารณา (จิตที่พิจารณาพระนิพพานเป็นอารมณ์ได้ ได้แก่ มหากุศล มหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต ในปัจจเวกขณวิถี)
(ผู้ตอบ - พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร - ๑๓ ก.ย. ๖๔)
ถาม ผู้ได้ฌาณต้องออกจากฌาน แล้วใช้กำลังของฌานในการเจริญวิปัสสนาใช่ไหม
ตอบ ตามที่กล่าวไปแล้วว่า ฌานจิตไม่สามารถพิจารณารูปนามเป็นอารมณ์ได้ เพราะมีสภาพแนบแน่นอยู่ในสมถอารมณ์อย่างเดียว ผู้จะเอาฌานเป็นบาทเจริญวิปัสสนาได้ จะต้องออกจากฌานแล้ว ทำการพิจารณาฌานจิตที่ดับไปแล้วนั้นเป็นอารมณ์โดยความเป็นนามธรรมที่มีความดับไป ๆ นั้นแหละ เพราะฉะนั้น ฌานจิตจึงไม่สามารถพิจารณารูปนามเป็นอารมณ์ ฌานจิตเป็นได้เพียงอารมณ์ให้มหากุศลและมหากิริยาจิตทำการพิจารณาแล้วยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์เท่านั้น จึงจะเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้
(ผู้ตอบ - พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร - ๑๓ ก.ย. ๖๔)
ถาม
ตอบ
(ผู้ตอบ - .....)
ถาม
ตอบ
(ผู้ตอบ - .....)
ถาม
ตอบ
(ผู้ตอบ - .....)
Made with Mobirise - Check this