ถาม การศึกษาสื่อการเรียนรู้ในแต่ละบท จำเป็นต้องเรียงตามลำดับหรือไม่ เลือกศึกษาสื่อต่างๆ ตามลำดับความสนใจของผู้เรียนได้ไหม
ตอบ ได้เลย แต่ละสื่อในบทเรียน มีเนื้อหาจบในตัว แต่ก็ถูกออกแบบ จัดวาง ให้เรียงลำดับเนื้อหาตามความยากง่าย และมีความเชื่อมโยงต่อกัน หากเรียนตามลำดับ ก็จะช่วยให้ทำความเข้าใจได้เป็นขั้น เป็นตอน ตามที่หลักสูตรแนะนำ ซึ่งก็มิใช่รูปแบบ ขั้นตอนที่ตายตัว ผู้เรียนสามารถปรับ เปลี่ยน เลือก สรร ได้ตามอัธยาศัย
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑ ส.ค. ๖๓)
ถาม เมื่อคลิกไปอ่านหนังสือพุทธธรรมอออนไลน์ หรือฟังเสียงอ่านหนังสือพุทธธรรม แล้ว ไม่ทราบว่าจะต้องอ่าน หรือฟัง ไปจนจบที่ใด
ตอบ ในสื่อการเรียน จะระบุว่า ให้อ่านหน้าที่เท่าใด หรือฟังหัวข้อใดไปถึงหัวข้อใด
เมื่อเปิดพุทธธรรมออนไลน์ ให้ดูเลขหน้า และชื่อหัวข้อเรื่องเป็นหลักหากต้องการฟังเสียงอ่านหนังสือพุทธธรรม สามารถทำได้ ๒ วิธี
(๑) คลิกอ่านพุทธธรรมออนไลน์ แล้วคลิกเครื่องหมายลำโพง ด้านข้างหัวข้อที่ต้องการ
(๒) คลิกฟังเสียงอ่าน จะพบหน้าเว็บที่แสดงหัวเรื่องทั้งหมดของบทนั้น ขอให้ผู้เรียนดูชื่อหัวเรื่องที่กำหนดไว้เป็นหลัก ว่าต้องฟังตั้งแต่หัวเรื่องใด ไปจนจบหัวเรื่องใดหากผู้ศึกษา สนใจอ่าน หรือฟัง หัวข้ออื่นๆ เพิ่มเติม นอกเหนือจากที่ระบุไว้ ก็สามารถทำได้
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑ ส.ค. ๖๓)
ถาม เลขหน้า ที่ระบุใน "พุทธธรรม ออนไลน์" กับ เลขหน้า ในหนังสือ "พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย" ตรงกันไหม
ตอบ ไม่ตรงกัน เพราะ พุทธธรรม ออนไลน์ มีการปรับแก้เนื้อหาให้เป็นปัจจุบันเสมอ จึงไม่ตรงกับตัวเล่มหนังสือที่พิมพ์ครั้งก่อนหน้า หากต้องการศึกษาด้วยตัวเล่มหนังสือ พึงเทียบเคียงจากชื่อบท และชื่อหัวเรื่อง เป็นหลัก (บางหัวเรื่อง อาจไม่มีในตัวเล่มหนังสือที่พิมพ์ก่อนครั้งที่ ๕๓)
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑ ส.ค. ๖๓)
ถาม เมื่อคลิกไปชมคลิปวิดีโอ ไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มดูตรงช่วงเวลาใด หรือต้องดูจนจบคลิป ความยาวของคลิปไม่ตรงกับระยะเวลาที่ระบุไว้ในสื่อการเรียนรู้
ตอบ เมื่อคลิกลิงก์ไปชมคลิปวิดีโอ (VDO) ระบบจะกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดไว้แล้วโดยอัตโนมัติ (คลิกดูคลิปตัวอย่าง) เมื่อกด play คลิปจะเริ่มที่เวลาที่กำหนดไว้ (ในคลิปตัวอย่างคือ นาทีที่ 11.39) และจะหยุดเล่นเมื่อถึงจุดที่กำหนดโดยอัตโนมัติ (ตามเวลาที่กำหนดไว้ในสื่อการเรียนรู้) ทั้งนี้ หากผู้เรียนสนใจที่จะฟังต่อ หรือฟังทั้งหมดของคลิปนั้น ก็สามารถกด play ต่อ หรือลากแถบเวลาด้านใต้คลิป ได้ตามปกติ
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑ ส.ค. ๖๓)
ถาม อยากได้ตัวเล่มหนังสือ ที่อยู่ในบทเรียน จะสามารถหาได้ทางใด?
ตอบ หนังสือหลายเล่มมีแจกเป็นธรรมทาน ที่วัดญาณเวศกวัน โดยสามารถติดต่อขอรับได้ ท่านละ ๓ เล่ม ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนหนังสือที่มีในแต่ละช่วงเวลา (คลิกดูรายชื่อหนังสือที่มีแจกในปัจจุบัน)
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๘ ส.ค. ๖๓)
ถาม พบคำที่สะกดผิด หรือลิงก์ที่ไม่ถูกต้อง ในสื่อการเรียนรู้ชุดนี้ จะบอกแจ้งใคร ได้ทางใด
ตอบ หากพบข้อผิดพลาดใดๆ ในระหว่างการศึกษาบทเรียนออนไลน์ ประจำสัปดาห์นั้นๆ สามารถบอกแจ้งได้ผ่าน Google form ในหัวข้อ การสื่อสารกับคณะพระวิทยากร แต่หากพบข้อผิดพลาดในภายหลัง (ที่ไม่ใช่คำถามธรรมะ หรือข้อสงสัยเกี่ยวกับเนื้อหาของสื่อการเรียน) สามารถส่งข้อมูลได้ทางอีเมล์ lifestudies.net@gmail.com
ขออนุโมทนาในความตั้งใจศึกษาธรรม และขอขอบคุณในความใส่ใจ และความช่วยเหลือที่จะเป็นปัจจัยในการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาธรรมร่วมกันต่อไป...
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑ ส.ค. ๖๓)
ถาม ใครเป็นผู้ตอบคำถามในหน้าเว็บนี้ และจะ "เชื่อ" ได้หรือไม่
ตอบ พระวิทยากรในหลักสูตร "ตามรอย.. พุทธธรรม" เป็นผู้ร่วมศึกษาชีวิต ตามแนวหนังสือพุทธธรรม มิใช่ผู้เขียนหนังสือพุทธธรรม และไม่ใช่ผู้ที่มีความรู้พุทธธรรมอย่างถ้วนทั่ว ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร แลกเปลี่ยนข้อมูล แหล่งค้นคว้า รวมทั้งแนวทางในการพิจารณา เพื่ออธิบาย ไขความข้อสงสัยที่น่าสนใจ ที่ผู้ร่วมศึกษาเคยสอบถามมา แล้วนำมารวบรวมไว้ เพื่อประกอบการศึกษา และเป็นแนวทางในการพัฒนาวิธีการสื่อธรรมให้ถูกตรงและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไปพระที่เข้ามาตอบคำถาม จะระบุชื่อและวันที่ไว้ด้วย ผู้ศึกษาพึงพิจารณาเนื้อความคำตอบโดยไม่ด่วนเชื่อ หรือด่วนปฏิเสธ หากแต่พึงพิจารณาตามธรรม และศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองต่อไป จนกว่าจะเกิดความเข้าใจที่แท้จริงแก่ตน
ถาม ตามหลักพุทธศาสนาเน้นปัญญา แล้ว ศรัทธา เป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่
ตอบ ในศาสนาพุทธ ศรัทธาเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะน้อมใจ เปิดใจรับฟัง และลองปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อปฏิบัติแล้วได้ผล รับรู้ได้ด้วยตัวเองก็จะมีศรัทธาเพิ่มขึ้นทีละนิด แล้วก็ปฏิบัติต่อไปเรื่อยๆ จนเป็นอรหันต์ จึงจะเป็นคนที่ฉลาดจริงๆ เปรียบเสมือนพรานป่า เห็นรอยกิ่งไม้หัก เห็นรอยเท้าช้าง ก็ยังต้องไม่ปักใจเชื่อว่ามีพญาช้างอยู่จริง จนกว่าจะตามรอยจนเจอช้างนั้นเต็มๆ ตัว
(ที่มา - ตามรอย.. พุทธธรรม, บทที่ ๑ ตอนที่ ๑ นาทีที่ ๒:๒๕ – ๑๗:๕๒)
ถาม การเชื่อ กับ การรู้ ต่างกันอย่างไร
ตอบ ยกตัวอย่าง หากกำมือเข้ามาแล้วถามว่า ในมือนี้มีดอกไม้หรือไม่
ความเชื่อก็จะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ มี หรือ ไม่มี โดยความเชื่อก็ยังแบ่งเป็นความเชื่อที่มีเหตุผล คือ ใช้ปัญญาดูเหตุการณ์ ดูเหตุปัจจัย ดูกิริยาของผู้ถามมีคิดวิเคราะห์ว่ามีหรือไม่มี กับความเชื่อแบบงมงาย คือ เชื่อแบบไม่ได้คิดอะไรเลย แต่ทั้งสองอย่างก็ยังเป็นแค่ระดับความเชื่อจนกว่าจะเห็นด้วยตาว่าในมือนั้นมีดอกไม้หรือไม่
เมื่อผู้ถามแบมือออกมาแล้ว จึงเห็นชัดว่า ไม่มีดอกไม้ในมือ เมื่อเราได้เห็นด้วยตาตัวเองแล้ว มันจะเปลี่ยนจากความเชื่อ ความคิด เป็นความรู้ เป็นการรู้เห็นด้วยตัวเองโดยไม่ต้องใช้ความเชื่อ และเมื่อศรัทธา หาความรู้และนำมาปฏิบัติจนรู้ได้ด้วยตัวเอง ก็จะพัฒนาความรู้ (วิชชา) ยิ่งขึ้นไป จนกระทั่งเป็นอรหันต์ คือผู้ที่มีความรู้ตรงตามเป็นจริง ขจัดความไม่รู้ (อวิชชา) อย่างสิ้นเชิง
(ที่มา - ตามรอย.. พุทธธรรม, บทที่ ๑ ตอนที่ ๘ นาทีที่ ๒๑:๓๕ – ๒๗:๒๒)
ถาม มนุษย์ทุกคนจำเป็นต้องเริ่มต้นจากศรัทธาก่อนเสมอหรือไม่ ในการเข้ามาศึกษา หรือฝึกปฏิบัติภาวนา หากบางคนมุ่งหมายมาด้วยความไม่เชื่อแต่แรก และอยากท้าทายโดยการทดลองพิสูจน์ และในแนวทางที่เลือกฝึกที่มักเรียกว่า ตรง "จริต" นั้นเป็นทิฏฐิหรือความอคติหรือไม่ เช่น เลือกฝึกสำนักนี้เพราะไม่ต้องแต่งชุดขาว, ทำวัตรสวดมนต์, จุดธูปไหว้พระ, เดินจงกรม, เรียนกับพระ ฯลฯ
ตอบ อาจเข้าใจได้ว่า บุคคลย่อมมี "ศรัทธา" มากน้อยแตกต่างกัน
บุคคลบางคนที่มีความลังเลสงสัย ก็อาจทดลองปฏิบัติ โดยมีศรัทธาอยู่บ้างเล็กน้อย จึงเลือกที่จะทดลองปฏิบัติในแนวทางนั้นๆ มิใช่แนวทางอื่น (ที่ตนไม่ศรัทธาเสียเลย) ก็เป็นได้
บุคคลบางคน เริ่มต้นด้วยความไม่มีศรัทธา ต้องการท้าทาย ทดสอบ ดังเรื่องราวมากมายหลายครั้งในพุทธประวัติ ที่มีพราหมณ์มาท้าทาย โต้วาทะ หมายเอาชนะ แต่การสนทนากันนั่นเอง เมื่อได้รับฟังคำตอบ แล้วคิดพิจารณาตาม ก็กลับเกิดศรัทธาขึ้นในภายหลัง ก็เป็นได้
การที่บุคคลในโลก จะรู้สึก "ถูกจริต" ศรัทธา เลื่อมใส ในตัวบุคคล หรือลัทธิ ความเชื่อใดๆ ย่อมถือเอาคุณสมบัติต่างๆ กัน เป็นเครื่องวัดในการที่จะเกิดความเชื่อความเลื่อมใสนั้น กล่าวคือ บางคนถือประมาณในรูป, บางคนถือประมาณในเสียง, บางคนถือประมาณในความคร่ำหรือเศร้าหมอง, และบางคนถือประมาณในธรรม (ดูหลัก ประมาณ ๔)
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑ ส.ค. ๖๓)
ถาม คนที่ไม่นับถือศาสนา หรือนับถือพุทธศาสนาเฉพาะพระธรรมอย่างเดียว ไม่นับถือพระสงฆ์ ไม่ศรัทธาพระสงฆ์ เป็นมิจฉาทิฏฐิไหม
ตอบ ถ้าตอบแบบเคร่งครัดที่สุด ต้องบอกว่า แม้ชาวพุทธที่ยังมีอวิชชา ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิได้
ชาวพุทธที่นับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างงมงาย ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีศรัทธาในพระรัตนตรัยเพียงใด หากศรัทธานั้นมีกำลังพอที่จะทำให้บุคคลนั้นฟังธรรม และ/หรือ พิจารณาชีวิตตามเป็นจริงได้ ก็จะเห็นธรรม ตามกำลังของตน และก็จะเกิดความเคารพศรัทธาในธรรมนั้น ตามกำลังปัญญาของตนนั่นเอง เมื่อเคารพในธรรมอย่างถูกตรงแล้ว ก็ย่อมเคารพในบุคคล และศักยภาพของบุคคล (รวมถึงพระพุทธเจ้า และตนเอง) ในการเข้าถึงธรรมนั้น และก็ย่อมเคารพ ศรัทธาในบุคคลที่ดำรงรักษาตน และสร้างสังคมให้สอดคล้องตามธรรมนั้น รวมถึงภาวะของสังคมเช่นนั้นด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้น ศรัทธาก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ไปพร้อมกับปัญญาที่เพิ่มขึ้น และมิจฉาทิฏฐิที่ค่อยๆ ลดลง
ประเด็นที่ควรอภิปรายเพิ่มเติมในกรณีนี้ คือ ความหมายของพระรัตนตรัยที่แท้จริง ซึ่งมิได้หมายถึงตัวบุคคล แต่เป็นภาวะที่ดีงาม เช่น พระพุทธ หมายถึงศักยภาพของมนุษย์ในการพัฒนาตนเอง, พระสงฆ์ มิใช่ตัวบุคคลที่เป็นพระภิกษุ แต่คือสภาวะความเป็นอยู่ของผู้ปฏิบัติตามธรรม เพื่อรักษา สืบทอด และทรงไว้ซึ่งธรรม ว่าโดยเคร่งครัด หมายเอาอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบัน ถึงอรหันต์ (ดูรายละเอียดในหนังสือ เรื่อง "สามไตร : พระรัตนตรัย" หน้า 11 - 21)
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑ ส.ค. ๖๓)
ถาม อยากทราบเทคนิคในการพัฒนาศรัทธา และปัญญา
ตอบ หากพิจารณาตามกระบวนธรรมในการพัฒนาปัญญา ตามหนังสือพุทธธรรม บทที่ ๑๒
"เสวนาสัตบุรุษ (มีกัลยาณมิตร) → สดับธรรม →(ศรัทธา) → โยนิโสมนสิการ → ปฏิบัติธรรมถูกหลัก"
เทคนิคสำคัญในการสร้างศรัทธา ก็คือการเข้าหากัลยาณมิตร และการสดับฟังธรรมนั่นเอง
เทคนิคในการสร้างปัญญานั้น พระพุทธเจ้าตรัสองค์ประกอบที่เกื้อหนุนให้ปัญญาเกิดขึ้นได้ไว้ ๕ ประการ คือ....
(๑) ศีล (ความประพฤติดีงามเกื้อกูล พฤติกรรมไม่ขัดแย้งเบียดเบียน)
(๒) สุตะ (ความรู้จากการสดับ เล่าเรียน อ่านตำรา การแนะนำสั่งสอนเพิ่มเติม)
(๓) สากัจฉา (การสนทนา ถกเถียง อภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สอบค้นความรู้)
(๔) สมถะ (ความสงบ การทำใจให้สงบ การไม่มีความฟุ้งซ่านวุ่นวายใจ)
(๕) วิปัสสนา (การใช้ปัญญาพิจารณาเห็นสิ่งต่างๆ ตามสภาวะของมัน คือตามเป็นจริง)
(แปลรวบความจาก อง.ปญฺจก. ๒๒/๒๕/๒๒)
และพึงกล่าวเสริมว่า “การฟังด้วยดี การสอบถามค้นคว้า เป็นอาหารของปัญญา”
(องฺ.ทสก. ๒๔/๗๓/๑๔๖)
(อ้างอิง พุทธธรรม บทที่ ๑๔)
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑ ส.ค. ๖๓)
ถาม ทำอย่างไรให้คนที่ไม่ศรัทธาแนวพุทธหันมาสนใจ
ตอบ ขึ้นอยู่กับว่า บุคคลที่ไม่มีศรัทธานั้นคือใคร และผู้ถามมีบทบาท ความสัมพันธ์ต่อบุคคลนั้นอย่างไรถ้าบุคคลนั้นมีศรัทธาต่อผู้ถาม ผู้ถามก็อาจทำบทบาทของกัลยาณมิตรในการชักชวนให้เหมาะสมกับกาละ และจริตของผู้นั้น รวมทั้งการทำตนเป็นแบบอย่างก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ
ถ้าบุคคลนั้นไม่มีศรัทธาต่อผู้ถาม ผู้ถามก็ต้องหาสื่อที่อาจเป็นบุคคลหรือปรโตโฆษะ (เสียงจากภายนอก) ที่เหมาะสมกับบุคคลนั้นๆ เช่นหนังสือ สื่อออนไลน์ สถานการณ์ชีวิต ฯลฯ เพื่อให้บุคคลนั้นๆ ได้พิจารณาชีวิตตามเป็นจริง
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๒ ก.ค. ๖๔)
ถาม ศรัทธาเป็นตัวที่ทำให้เราเกิดมีความเพียรในการเรียนใช่หรือไม่ ดังนั้นถ้าเราเรียนหนังสือเราจะใช้คำว่าเรียนตามกำลังศรัทธาได้หรือไม่
ตอบ ศรัทธาอาจเป็นปัจจัยให้บุคคลเกิดความเพียรที่จะทำการงานอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แต่ความเพียรก็เกิดจากเหตุอย่างอื่นๆ ได้อีก (และอาจมั่นคงกว่าความเพียรที่เกิดจากศรัทธาก็ได้) เช่นความเพียร (สัมมาวายามะ) ที่เกิดจากปัญญา (สัมมาทิฏฐิ) รู้เข้าใจประโยชน์ของการงานนั้น จึงเกิดกุศลฉันทะ อยากที่จะทำสิ่งนั้น วิริยะ จิตตะ วิมังสา ก็พัฒนาขึ้นเป็นชุดของอิทธิบาทธรรม นำไปสู่ความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน การทำกิจการงาน หรือการปฏิบัติธรรมเพื่อลดละกิเลส
ว่าให้ชัด (ตามความในพุทธธรรม บทที่ ๑๖) "ฉันทะ" เป็นตัวนำของสัมมาวายามะ และเป็นสาระหลักของความเพียรทั้งหมด
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑ ส.ค. ๖๓)
ถาม ศรัทธาโลกียะ หมายถึงเชื่อ ส่วน ศรัทธาโลกุตตระ หมายถึงรู้ ใช่หรือไม่
ตอบ ไม่ใช่เช่นนั้น
ศรัทธา คือความเชื่อ ความเลื่อมใส
"...ตราบใดที่ยังมีศรัทธา ก็แสดงว่ายังต้องอิงอาศัยสิ่งอื่น ยังต้องฝากปัญญาไว้กับสิ่งอื่น ยังไม่หลุดพ้นเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ ศรัทธาจึงไม่เป็นคุณสมบัติของพระอรหันต์ แต่ตรงข้าม พระอรหันต์กลับมีคุณลักษณะว่า ผู้ไม่มีศรัทธา (อัสสัทธะ) ซึ่งหมายความว่า ได้รู้เห็นประจักษ์ จึงไม่ต้องเชื่อต่อใครๆ หรือต่อเหตุผลใดๆ อีก..."
(พุทธธรรมบทที่ ๑๒ เรื่อง หลักศรัทธาโดยสรุป ข้อ ๑๑)
ส่วนความรู้นั้นมีหลายระดับ ทั้งรู้แบบวิญญาณรับรู้, รู้แบบสัญญาทรงจำ, รู้แบบปัญญา
(ดูพุทธธรรมบทที่ ๑ เรื่อง สัญญา - วิญญาณ - ปัญญา)
ความรู้แบบปัญญานั้นเอง ก็ยังมีทั้งปัญญาที่เกิดจากการฟัง การคิด และการฝึกอบรม ลงมือปฏิบัติ
(ดู ปัญญา ๓)
ปัญญา คือความรู้ มีทั้งความรู้ในระดับโลกียะ และในระดับโลกุตตระ ดังตัวอย่างคำอธิบายในหนังสือพุทธธรรม บทที่ ๑๒ ที่ว่า.. "พุทธพจน์เกี่ยวกับการเสวนาที่ตรัสแก่พระภิกษุ โดยมากมีจุดหมายมุ่งตรงต่อปรมัตถ์ และประสงค์จะเสริมสร้างสัมมาทิฏฐิในแนวที่จะเป็นโลกุตตระอย่างเด่นชัด ส่วนที่แสดงสำหรับคนทั่วไป หรือชาวบ้าน เน้นประโยชน์ในขั้นทิฏฐธัมมิกัตถะ เชื่อมกับสัมปรายิกัตถะ มุ่งการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชีวิตประจำวัน กลมกลืนไปกับการชักจูงสัมมาทิฏฐิในระดับโลกีย์ คือความเชื่อกรรม ความสำนึกรับผิดชอบเกี่ยวกับความดีความชั่ว ยังไม่เน้นสัมมาทิฏฐิแนวที่จะเป็นโลกุตตระ คือ การมองโลกและชีวิตตามสภาวะ เป็นทำนองปล่อยให้แฝงอยู่ และสอนสอดแทรกไปตามโอกาส (คำสอนสำหรับคนทั่วไปในแนวนี้ เช่น การให้รู้จักวางใจต่อความตาย โดยพิจารณาความจริงเกี่ยวกับชีวิตและสังขารทั้งปวงที่ไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน และการไม่มัวเมาในลาภ ยศ สุข สรรเสริญ เป็นต้น) อย่างที่เรียกว่าค่อยๆ ปูพื้นฐานจิตใจให้พร้อมขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะคนทั่วไปมีหลายระดับ..."
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑ ส.ค. ๖๓)
ถาม เนื้อหาในบทที่ ๑ เน้นหนักไปในเรื่องศรัทธา แต่กล่าวถึงปัญญาน้อยกว่า น่าจะมีการเพิ่มเติมเนื้อหาให้สมดุลกัน
ตอบ เป็นเช่นนั้นจริงๆ เนื้อหาในบทนี้จึงมุ่งเฉพาะเพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่าง ศรัทธา กับปัญญา เพื่อให้ผู้ศึกษาวางท่าที เป้าหมาย และระเบียบวิธีในการศึกษาชีวิตได้ถูกตรง ส่วนรายละเอียดของปัญญา รวมทั้งแนวทางในการพัฒนาปัญญา จะนำเสนอ และอภิปรายต่อไป ในบทที่ ๙
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑ ส.ค. ๖๓)
ถาม ถ้าปัญญาเรายังไม่มากพอ เราจะทราบได้อย่างไรว่า ศรัทธาที่เรามีเป็นศรัทธาที่มาถูกทาง
ตอบ ใช้ศรัทธานั้นเป็นปัจจัย เพื่อลงมือศึกษา อ่าน ฟัง พิจารณา และลงมือปฏิบัติ จึงจะเกิดปัญญา ที่สามารถรู้ชัดได้ว่า ศรัทธานั้นถูกต้องหรือไม่ หากไม่ลงมือศึกษา ก็จะอยู่กับศรัทธาเรื่อยไป
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม พืช และสัตว์ มีกี่ขันธ์ ?
จากคำที่ว่า "มีขันธ์ห้าขันธ์ มีขันธ์ขันธ์เดียว มีขันธ์สี่ขันธ์" หมายถึงอะไร
ตอบ พืชมีเพียงรูป ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยตามธรรมชาติ โดยไม่มีจิต ไม่มีเจตนาใดๆ จัดว่ามีชีวิตตามหลักชีววิทยา แต่ ไม่ใช่ ชีวิต ตามนัยที่พุทธธรรมมุ่งอธิบาย
สัตว์ที่มีขันธ์ ๕ ขันธ์ ได้แก่ สัตว์ที่มีทั้งรูปและนาม เช่น มนุษย์ เดรัจฉาน เป็นต้น ว่าโดยละเอียด ได้แก่ สัตว์ในกามสุคติภูมิ (มนุษย์, เทวดา), รูปพรหม (ยกเว้น อสัญญสัตตพรหม), อบายสัตว์
สัตว์ที่มีขันธ์ ๔ ขันธ์ ได้แก่ สัตว์ที่มีเฉพาะนามขันธ์ ๔ ไม่มีรูปขันธ์ ได้แก่ อรูปพรหม
สัตว์ที่มีขันธ์ ๑ ขันธ์ ได้แก่ อสัญญสัตตพรหม ซึ่งเป็นรูปพรหมที่มีแต่รูปขันธ์ที่เกิดด้วยผลของจิตที่เข้าฌาน ด้วยอำนาจมิจฉาทิฎฐิ ว่าทุกข์เกิดจากจิต จึงปรารถนาว่าเมื่อไม่มีจิตแล้วก็จะสิ้นทุกข์ได้
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑ ส.ค. ๖๓)
ถาม ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีลำดับการเกิดหรือไม่ อะไรเกิดก่อน หลัง?
ตอบ ขันธ์ 5 หรือ รูปและนาม ไม่ได้แสดงในแง่ของลำดับการเกิด แต่เป็นการพูดเรื่อง"องค์ประกอบ" ดังนั้นเมื่อพูดเรื่ององค์ประกอบ…ถามว่า รถยนต์ประกอบด้วยอะไรบ้าง โยมจะไล่จากอะไรก็ถูกทั้งนั้น ไล่จากข้างนอกเข้าข้างใน ไล่จากข้างหน้าไปข้างหลัง ไล่จากข้างบนลงข้างล่างก็ได้ทั้งสิ้น ในแต่ละขณะของชีวิต มีขันธ์ครบทั้ง ๕ และนามขันธ์ ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อมเกิดขึ้นพร้อมกัน ดับไปพร้อมกัน เสมอ
(ที่มา - ตามรอย.. พุทธธรรม Online รุ่น 2/2564 :: บทที่ 2 (ครั้งที่2) ขันธ์ อายตนะ ไตรลักษณ์ เวลาบรรยาย 1:44:15-1:44:48)
ถาม คำว่า รูป มีความหมายครอบคลุมถึงอะไรบ้าง?
ตอบ รูปธรรม (ในบริบทว่า รูป นาม) หมายถึงสภาวะธรรมที่ไม่ใช่จิต และไม่เกิดร่วมกับจิตทั้งหมด ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต (อย่าสับสนว่ารูปธรรมต้องจับต้องได้ เพราะ อากาศ เสียง รส ก็จัดเป็นรูปธรรมเช่นกัน)
รูปขันธ์ (ในบริบทว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) มุ่งอธิบายองค์ประกอบของชีวิตฝ่ายรูปธรรม ทั้งที่เป็นภายใน คือตา หู จมูก ลิ้น กาย และที่เป็นภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์
รูปธาตุ (ในบริบทว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์) หมายถึง สภาวะที่รับรู้ได้ด้วยตา (จักขุปสาท) เช่น แสงสีต่างๆ
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑ ส.ค. ๖๓)
ถาม สังขาร ในขันธ์ ๕ กับสังขารธรรม ต่างกันอย่างไร
ตอบ สังขาร ในขันธ์ ๕ คือสภาวะปรุงแต่งจิต ได้แก่ เจตสิก ๕๐
ส่วน สังขารธรรม (หรือ สังขตธรรม) แปลว่า ธรรมอันเกิดจากการปรุงแต่ง ได้แก่ ขันธ์ ๕ ทั้งหมด (จิต เจตสิก รูป ทั้งหมด) ยกเว้น นิพพาน เท่านั้นที่เป็นสภาวธรรมที่ไม่เกิดจากการปรุงแต่ง เรียกว่า วิสังขารธรรม หรือ (อสังขตธรรม) (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในหนังสือพุทธธรรม บทที่ ๓)
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑ ส.ค. ๖๓)
ถาม จิตคือนาม แต่นามไม่เที่ยง แต่จิตที่ท่องเที่ยวไปในภพต่างๆ ต้องมีอยู่ ดังนั้นจิตจึงไม่ใช่นาม ใช่ไหม
ตอบ ไม่ใช่เช่นนั้น
จิตก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่มีจิตที่เป็นดวงวิญญาณอย่างในละครที่ถาวร ล่องลอยไปเกิดในภพต่างๆ ผู้ศึกษาสามารถสังเกตจิตของตนเองในปัจจุบันขณะได้ เช่นจิตที่รับรู้อาการที่ฝ่าเท้า จิตที่รับรู้เสียง ฯลฯ จิตแต่ละขณะเกิดขึ้นรับรู้สิ่งหนึ่งๆ แล้วสักพักก็เกิดจิตขณะใหม่ รับรู้สิ่งใหม่ จิตที่รับรู้สิ่งเดิมนั้นก็ไม่มีอยู่แล้ว นี่คือลักษณะของจิตที่เกิดขึ้น รับรู้ชั่วขณะ แล้วดับไป ไม่ได้คงตัวถาวร ในปัจจุบัน จิตดับแล้วเกิดขึ้นใหม่ สืบเนื่องต่อไปด้วยอำนาจแห่งอวิชชา ตัณหา อย่างไร เมื่อตาย หากยังมีตัณหา จิตก็ดับแล้วเกิดขึ้นสืบเนื่องต่อไปเช่นนั้น
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑ ส.ค. ๖๓)
ถาม สมมติว่า รู้สึกลมหายใจ เข้า-ออก และรู้สึกร้อน พร้อมกับได้ยินเสียงทีวี แบบนี้แปลว่าจิตไปรับรู้มีหลายตัวไปรับรู้สิ่งต่างๆ หรือว่าเป็นตัวรู้ตัวเดียวแต่รู้ได้หลายอย่าง
ตอบ จิต คือสภาวะรู้ ที่รับรู้ได้อย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเดียวในขณะหนึ่งๆ แล้วจิตนั้นก็ดับไป จิตขณะถัดไป ก็เกิดขึ้น รับรู้อารมณ์ (อีก) อย่างหนึ่ง อย่างเดียว เช่นนี้ไปเรื่อยๆ ฉะนั้นในเหตุการณ์สมมติดังกล่าว ก็คือ การที่มีจิตเกิดดับ ติดต่อกันหลายขณะ อย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง จิตขณะหนึ่งอาจรับรู้ลมหายใจ จิตขณะต่อมา อาจคิดพิจารณาลมหายใจนั้น จิตขณะต่อๆ มา รับรู้ความรู้สึกร้อน จิตต่อๆ มา คิดหงุดหงิดที่อากาศร้อน จิตถัดๆ มา ได้ยินเสียงทีวี แต่จิตเหล่านี้เกิดขึ้นสืบต่อในเวลารวดเร็วมาก จนผู้สังเกตเข้าใจว่า รับรู้ได้ทุกอย่างในขณะจิตเดียวกัน ผู้ปฏิบัติพึงฝึกสังเกตให้เห็นสภาวะการรับรู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ตามเป็นจริง
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑ ส.ค. ๖๓)
ถาม คนพิการทางตา หู แสดงว่าวิญญานเสื่อมหรือเสียใช่ไหม
ตอบ ความพิการทางกาย คือการบกพร่องของประสาท ซึ่งเป็นส่วนของรูปขันธ์ ทำให้จิตไม่สามารถรับรู้สิ่งที่มากระทบทางประสาทนั้นๆ ได้ เหมือนอย่างคนที่เป็นเหน็บชา มีจิตดีอยู่ แต่ไม่สามารถรับรู้อาการต่างๆ ที่อวัยวะที่เป็นเหน็บชาได้
ส่วนบุคคลที่หลับ สะลึมสะลือ หรือเป็นลม ขณะนั้น จิตไม่รับรู้สิ่งที่มากระทบประสาท หรือเป็นจิตที่มีกำลังอ่อน แม้ว่า ระบบประสาทจะปกติดี แต่ก็ไม่มีจิตที่มารับรู้ที่ระบบประสาทนั้น
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑ ส.ค. ๖๓)
ถาม กระบวนการนามขันธ์ ต้องเรียงตามลำดับการเกิด วิญญาณ เวทนา สัญญา สังขาร นี้ตายตัวทุกขณะเลยหรือไม่
ตอบ นามขันธ์ ทั้ง ๔ เกิดขึ้นพร้อมกัน รับรู้อารมณ์เดียวกัน และดับพร้อมกัน ยกตัวอย่างเช่น จักขุวิญญาณ (จิต) เกิดขึ้นขณะหนึ่ง รับรู้สีแสงที่มากระทบจักขุประสาท ในจิตขณะนั้นก็ประกอบไปด้วย เวทนา สัญญา สังขาร (เจตสิก) โดยมีแสงสีที่มากระทบจักขุประสาทนั้นเป็นอารมณ์อย่างเดียวกัน
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๘ ส.ค. ๖๓)
ถาม พุทธธรรม หน้า ๓๒ กล่าวถึง "สัญญา" ว่ารู้เพียงอารมณ์ ว่า เขียว เหลือง ไม่อาจให้ถึงความเข้าใจลักษณะ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้ แต่หน้า ๓๗ กล่าวถึง สัญญา ๖ ว่า ธัมมสัญญา เป็นความหมายรู้อารมณ์ทางใจ ว่า งาม น่าเกลียด เที่ยง ไม่เที่ยง ด้วย ทั้งสองข้อความมีความขัดแย้งกันหรือไม่ อย่างไร
ตอบ ไม่ขัดแย้งกัน กล่าวคือ สัญญา ไม่อาจถึงความเข้าใจลักษณะ แต่สัญญา หมายรู้ลักษณะได้
การหมายรู้ลักษณะ คือการบันทึก เก็บ ลักษณะที่สังขารปรุงแต่ง หรือปัญญารู้ในครั้งก่อน แล้วสติมาระลึก ดึงออกมาใช้
สัญญาจึงมิใช่สภาวะของการรู้ หรือเข้าใจลักษณะ เป็นแต่เพียงหมายรู้ บันทึก เก็บ ความเข้าใจซึ่งเป็นสภาวะของสังขาร เช่นปัญญา
(ดูรายละเอียดในหัวข้อเรื่อง สัญญา-สติ-ความจำ)
ดูตัวอย่าง การทำงานของสังขาร และสัญญา จากข้อความในพุทธธรรม หน้า ๕๗ ว่า "เมื่อทิฏฐิก็ดี ญาณก็ดี เกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมมีการกําหนดหมาย หรือหมายรู้ตามทิฏฐิหรือตามญาณนั้นเกิดเป็นสัญญาใหม่ขึ้นอีก ทิฏฐิและญาณจึงทําให้เกิดสัญญาซึ่งเป็นวัตถุดิบของความรู้และความคิดอื่นสืบต่อไป..."
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑ ส.ค. ๖๓)
ถาม สติทำหน้าที่ระลึก ความจำในอดีต แสดงว่าคนที่เป็นอัลไซเมอร์ คือไม่มีสติใช่ไหม
ตอบ ในพุทธธรรม อธิบายเรื่อง สัญญา - สติ - ความจำ ว่า "ความจำไม่ใช่กิจของธรรมข้อเดียว แต่เป็นกิจของกระบวนธรรม และในกระบวนธรรมแห่งความจำนี้ สัญญาและสติเป็นองค์ธรรมใหญ่ ทำหน้าที่เป็นหลัก มีบทบาทสำคัญที่สุดสัญญาก็ดี สติก็ดี มีความหมายคาบเกี่ยวและเหลื่อมกันกับความจำ กล่าวคือ ส่วนหนึ่งของสัญญาเป็นส่วนหนึ่งของความจำ อีกส่วนหนึ่งของสัญญาอยู่นอกเหนือความหมายของความจำ แม้สติก็เช่นเดียวกัน ส่วนหนึ่งของสติเป็นส่วนหนึ่งของความจำ อีกส่วนหนึ่งของสติ อยู่นอกเหนือความหมายของกระบวนการทรงจำ"
และสำหรับมนุษย์ การทำงานของสภาวะนามธรรมเหล่านั้นต้องอาศัยรูปธรรมร่วมด้วย ฉะนั้นผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติทางกายบางอย่างก็อาจส่งผลต่อกระบวนการทำงานในการจำ ไม่อาจสรุปตามตัวได้ว่า เป็นการขาดสติในทุกกรณี
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม (จากพุทธธรรมหน้า ๕๒) สุขุมรูป ๑๖ เป็นธรรมารมณ์ คือสิ่งที่ใจรู้ คิด เป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ กระทบหรือถูกต้องไม่ได้ แต่
(๑) หนึ่งในสุขุมรูป ๑๖ คือ อาโป (สภาวะดึงดูดซึมซาบ) แสดงว่าสิ่งที่ตาเห็นว่าเป็นน้ำ เป็นของเหลว ไม่ใช่อาโปธาตุ
(๒) ทำไมอิตถีภาวะ และปุริสภาวะ จึงเป็นสุขุมรูป เพราะเราสามารถแยกออกได้ด้วยการเห็น ไม่ใช่หรือ
ตอบ สิ่งที่โยมงง นั้นถูกต้องแล้ว
ข้อ ๑
เมื่อมองดู "น้ำ" สิ่งที่ตาเห็นไม่ใช่อาโปธาตุ แต่เป็นรูปธาตุ คือ สีแสงที่มากระทบตา ทำให้ "เห็น"
เมื่อสัมผัส "น้ำ" ความเย็นร้อนของน้ำ ไม่ใช่อาโปธาตุ แต่เป็น เตโชธาตุ
เมื่อดื่ม "น้ำ" แล้วรู้สึกรสหวานของน้ำ ก็ไม่ใช่อาโปธาตุ แต่เป็น รสธาตุ
แสดงว่า อาโปธาตุ ไม่เท่ากับ "น้ำ"
น้ำ เป็นเพียงสมมติบัญญัติ ที่ใช้เรียกสิ่งที่มี สภาวะของธาตุทั้งหลายเหล่านั้น
ส่วนอาโปธาตุ คือสภาวะดึงดูดซึมซาบ เช่น เมื่อสัมผัสน้ำ กับครีมอาบน้ำ ก็จะรับรู้ได้ว่า มีความเกาะกุม หนืด ซึมซาบ มากน้อยต่างกันอย่างไร สภาวะเช่นนี้ ไม่สามารถรู้ได้ด้วยสัมผัสทางกายโดยตรง แต่ต้องมีการนำเอาอาการที่กายรับรู้มาพิจารณาทางใจ จึงจะรู้ถึงสภาวะของอาโปธาตุได้ (อ่านคำตอบของพระภาวนาเขมคุณ (วิ.) (หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรํสี) ในหนังสือวิปัสนาภูมิ หน้า ๕๒)
ข้อ ๒
ก็ทำนองเดียวกัน คือการจะรู้ถึงภาวะของความเป็นหญิง เป็นชาย ตามสภาวะ ไม่ใช่การรู้ด้วยการเห็น แต่ต้องใช้ใจพิจารณาจากสิ่งที่เห็น หรือเสียงที่ได้ยิน หรือสัมผัสที่ถูกต้องกระทบ จึงรู้ถึงภาวะความเป็นหญิงชาย สภาวะเหล่านี้จึงจัดเป็นธรรมารมณ์ คืออารมณ์ที่รู้ได้ทางใจ
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑ ส.ค. ๖๓)
ถาม ยังไม่ค่อยเข้าใจการเกิดดับของรูปนาม ว่าเกิดดับพร้อมกันอย่างไร เช่น การได้ยินเสียง มีเซลล์ประสาทหูและเสียง (รูป) ที่มากระทบกัน มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (นาม) แสดงว่าเซลล์ประสาทหูเกิดขณะที่ได้ยินเสียง และเซลล์ประสาทหูดับหายไปตอนไม่มีเสียงหรืออย่างไร
ตอบ นามขันธ์ที่เกิดพร้อมกัน ดับไปพร้อมกัน ส่วนรูปขันธ์ ไม่ว่าจะเป็นประสาทหู และเสียง ก็มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วขณะ และดับไป แต่ตั้งอยู่นานกว่านามขันธ์ มิได้เกิดดับพร้อมกันเสมอไป และมิได้เกิดดับพร้อมนามขันธ์
เมื่อจิต (วิญญาณ) รับรู้เสียงในขณะจิตหนึ่งๆ ก็มีเวทนา สัญญา สังขาร เกิดขึ้นพร้อมกัน และดับไปพร้อมกัน หากผู้ปฏิบัติสังเกตอาการของสภาวธรรมเหล่านี้ได้ ก็จะรู้ว่า นามขันธ์เหล่านี้มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และผู้ปฏิบัตินั้นก็อาจจะสามารถรับรู้ได้ว่า รูปขันธ์อันตนรับรู้อยู่ในกรณีนั้น (คือเสียงที่มากระทบอายตนะของตน) มีอาการปรากฏขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปอย่างไร แต่ไม่อาจสรุปได้ว่า เซลล์ประสาทมีอาการเช่นนั้นหรือไม่ เพราะในขณะนั้นผู้ปฏิบัติมิได้รับรู้สภาวธรรมของเซลล์ประสาท (เพียงแต่คิดวิเคราะห์เอาว่า เซลล์ประสาทคงจะเกิดดับไปพร้อมกับการรับรู้เสียงของตน)
หากผู้ปฏิบัติต้องการเห็นว่าเซลล์ประสาทเกิดดับ ก็ต้องมองดูเซลล์ประสาทนั้นด้วยตา (และ/หรือ เครื่องมือช่วย/เครื่องมือวัด ที่เหมาะสม) จึงอาจจะสามารถเห็นว่าเซลล์ประสาทนั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปอย่างไร
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม เวทนา สังขาร วิญญาน ในขันธ์ ๕ กับ สังขาร วิญญาน เวทนา ในปฎิจจสมุปบาท ต่างกันอย่างไร
ตอบ ขันธ์ ๕ เป็นการอธิบายเชิงองค์ประกอบของชีวิต
ปฏิจจสมุปบาท เป็นการอธิบายกระบวนการของชีวิต ซึ่งอธิบายได้หลายแง่ หลายระดับ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน พุทธธรรม บทที่ ๔) ถ้าว่าโดยความหมายอย่างกว้าง ก็ไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ
เวทนา คือ ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ซึ่งเกิดจากผัสสะ ทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ
สังขาร คือ องค์ประกอบหรือคุณสมบัติต่างๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ซึ่งแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลางๆ ปรุงแปรการตริตรึกนึกคิดในใจ และการแสดงออกทางกายวาจา ให้เป็นไปต่างๆ เป็นที่มาของกรรม
วิญญาณ คือ ความรู้แจ้งอารมณ์ทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ คือ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้สัมผัสทางกาย และการรู้อารมณ์ทางใจ
แต่ถ้าพิจารณาโดยละเอียด ตามหลักอภิธรรม ก็สามารถระบุชัดลงไปว่า องค์ธรรมในปฏิจจสมุปบาทนั้นหมายเอากระบวนการเกิดทุกข์โดยตรง จึงไม่รวมเอาสภาวธรรมที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่นโลกุตตรจิต เข้าไว้ด้วย จึงสามารถระบุองค์ธรรมที่เกิดในกระบวนการปฏิจจสมุปบาทอย่างเฉพาะเจาะจงลงไปได้ กล่าวคือ
เวทนา ในขันธ์ ๕ คือ เวทนาเจตสิก
เวทนา ในปฏิจจสมุปบาท คือ เวทนาเจตสิก ในโลกียวิปากจิต
สังขาร ในขันธ์ ๕ คือ เจตสิก ๕๐ เว้น เวทนา, สัญญา
สังขาร ในปฏิจจสมุปบาท คือ เจตนาเจตสิก ในอกุศลจิต และโลกียกุศลจิต
วิญญาณ ในขันธ์ ๕ คือ จิตทั้งหมด
วิญญาณ ในปฏิจจสมุปบาท คือ โลกียวิปากจิต ๓๒
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑ ส.ค. ๖๓)
ถาม การกำหนดรู้ รูปนาม ให้เห็นความเป็นไตรลักษณ์ คือการทำอย่างไร และเมื่อทำแล้ว ทุกข์ เช่นความปวด ก็ยังไม่ดับไป จะทำอย่างไร
ตอบ คือการกำหนดรู้อาการที่ปรากฏในแต่ละปัจจุบันขณะ โดยไม่ต้องพยายามให้มันดับ หรือไม่ดับ เพียงแต่รับรู้ตามที่มันเป็น เช่นความปวดที่เกิดขึ้นแล้ว ถ้ามันดับ ก็รู้ว่ามันดับ แล้วถ้ามันเกิดขึ้นอีก ไม่ว่าจะปวดกว่าเดิม หรือน้อยกว่าเดิม ก็รับรู้ตามที่เป็น หากเหตุปัจจัยที่ทำให้ปวดยังมีอยู่ ก็จะส่งผลให้อาการปวดเกิดขึ้นได้อีก ต่อให้ใจเราอยากให้มันดับเสียไวๆ และอย่าเกิดอีก มันก็ไม่เป็นไปอย่างใจเรา ซึ่งก็ถูกต้องแล้ว เพราะความปวดก็เป็นไปตามความจริงที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ คือเป็นไปตามเหตุปัจจัย (ของมัน) แม้จะมีเราเป็นส่วนหนึ่งในปัจจัยเหล่านั้น แต่เราก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะสั่งบังคับควบคุมได้
ผู้ปฏิบัติที่สังเกตอาการปวดหัวเข่า ได้อย่างละเอียด อาจเห็นอาการตึงแน่น เกิดดับ เป็นขณะๆ ที่จุดใดจุดหนึ่ง แม้ในขณะที่อาการนั้นเกิดขึ้น จะมีทุกขเวทนาทางกายเกิดร่วมด้วย ผู้ปฏิบัติก็สังเกตอาการนั้น หรือทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นนั้นตามเป็นจริง เห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของอาการเหล่านั้น แต่ในบางขณะ ผู้ปฏิบัติอาจเผลอปรุงแต่งใจ คิดไปในทำนองว่า "เราไม่น่าจะต้องมานั่งทนปวดอยู่อย่างนี้เลย ....." ซึ่งจะก่อให้เกิดความทุกข์ หงุดหงิด ขุ่นเคือง (ทุกขสัจจะ) เพราะวิภวตัณหา คือความอยากที่จะให้พ้นไปจากสภาวะที่เป็นอยู่นั้น เพื่อสนองความสุขแก่ตน เมื่อผู้ปฏิบัติมีสติ ก็จะรู้อาการหงุดหงิด ขุ่นเคืองนั้น เมื่อมีสติรู้ชัด อาการหงุดหงิดนั้นอาจจะดับไป ผู้ปฏิบัติก็สังเกตุ รับรู้ว่า หงุดหงิดก็เป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นดับไป เพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับเช่นกัน เมื่อหงุดหงิดดับไป หากการปรุงแต่ใจในทำนองเดิมนั้นยังสืบเนื่องเป็นไปอยู่ ความหงุดหงิดก็อาจเกิดขึ้นอีก ดับไปอีก ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง ตามแต่กำลังสติ และกุศลธรรมอื่นๆ ของผู้ปฏิบัติ ซึ่งก็ล้วนเป็นเหตุปัจจัยต่อการเกิด หรือไม่เกิด ของความหงุดหงิดในแต่ละขณะๆ ผู้ปฏิบัติก็ตามรู้สภาวะทั้งหลายที่เกิดขึ้นดับไป เช่นนี้
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๘ ส.ค. ๖๓)
ถาม อิริยาบถ บดบังทุกขลักษณะ - คำว่าอิริยาบถในที่นี้ มีความหมายต่างจาก "อิริยาบถ" ในภาษาไทยหรือไม่ ถ้าเป็นความหมายในภาษาไทย การที่อิริยาบถจะบดบังทุกขลักษณะ น่าจะทำได้เพียงความทุกข์ทางด้านร่างกาย เช่นความปวดเมื่อย หากถ้าจะอธิบายถึงสรรพสิ่งอื่น เช่น วัตถุต่างๆ หรือหากเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม อิริยาบถจะบดบังทุกขลักษณะของสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร??
ตอบ เหตุแห่งคำถามนี้ อาจไม่ใช่คำว่า "อิริยาบถ" แต่เป็นคำว่า "บดบัง" ซึ่งเป็นคำอุปมาเปรียบเทียบ การที่ผู้ปฏิบัติไม่อาจพิจารณาความเป็นจริงของสิ่งที่เป็นได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่เป็นการทำให้สภาวะที่เป็นของสิ่งนั้นหายไป หรือไม่ปรากฏ ดังนั้น อิริยาบถ จึงเป็นอาการที่ทำให้ผู้ปฏิบัติสังเกตเห็นทุกขลักษณะได้ยาก แต่ไม่ได้ทำให้ทุกขลักษณะของสิ่งใดๆ หายไป หรือไม่ปรากฏแก่ผู้ปฏิบัติ ดังความในหนังสือพุทธธรรม ที่ว่า ...เมื่อผู้ปฏิบัติสังเกตอาการปวดหัวเข่า (ดังตัวอย่างในคำถามก่อนหน้านี้) ก็จะสังเกตเห็นอาการตึง แน่นที่บางจุดของหัวเข่า เมื่อสังเกตได้ต่อเนื่องดี ก็จะเห็นว่าอาการเช่นนั้นมีลักษณะคงตัวอยู่ไม่ได้ ดับไป เพราะเหตุปัจจัยมีการแปรเปลี่ยน (และก็อาจเกิดขึ้นใหม่ ได้อีกเรื่อยๆ หากเหตุปัจจัยคล้ายๆ เดิม ยังเกิดขึ้นสืบต่อ) แต่ถ้าผู้ปฏิบัติ เปลี่ยนอิริยาบถเสียในทันทีที่รู้สึกปวด ก็จะไม่ทันได้สังเกตความที่อาการปวดนั้นถูกเหตุปัจจัย (ที่แปรเปลี่ยน) ทำให้คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เพราะความปวดนั้นหายไปเพราะการเปลี่ยนอิริยาบถเสียแล้ว
ในทางนามธรรมก็เช่นเดียวกัน เมื่อผู้ปฏิบัติเกิดความหงุดหงิดขัดใจ ที่ปวดหัวเข่า ความหงุดหงิดนั้นก็มีเหตุปัจจัย (ที่แปรเปลี่ยน) ทำให้คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เช่นกัน ถ้าผู้ปฏิบัติยังไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ก็อาจสังเกตทุกขลักษณะของความหงุดหงิดได้ แต่ถ้าผู้ปฏิบัติเปลี่ยนอิริยาบถเสีย ความหงุดหงิดก็อาจจะหายไป เพราะเหตุปัจจัยที่ทำให้หงุดหงิดหมดไป แต่ผู้ปฏิบัติมักเข้าใจว่า ความหงุดหงิดดับไป เพราะตนสั่งบังคับกายตนให้ลุกขึ้น ทุกข์จึงดับ แล้วก็ยึดถือความเข้าใจเช่นนั้นว่าตนสั่งบงการให้ทุกข์หรือสุขได้ ซึ่งตรงข้ามกับสภาพความเป็นจริง ที่ตนเพียงแต่ทำเหตุปัจจัยบางอย่างในขณะนั้น ส่งผลให้ทุกข์ดับ แต่แม้ตนไม่ทำ ทุกข์ก็เกิดดับตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ตนไม่รู้ จึงคิดแต่ว่า ต้องลุกขึ้น ทุกข์จึงจะดับ
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๘ ส.ค. ๖๓)
ถาม ถ้าเข้าใจเรื่องขันธ์ ๕ และไตรลักษณ์ แล้ว สามารถลดความยึดมั่นถือมั่นได้ ก็จะหลุดพ้นถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ใช่ไหม
ตอบ ผู้ปฏิบัติที่เข้าใจปริยัติพอเป็นฐานแห่งการปฏิบัติ แล้วได้เจริญวิปัสสนา มีสติกำหนดรู้รูปนาม (ขันธ์ ๕) ที่ปรากฏในแต่ละปัจจุบันขณะตามเป็นจริง เช่น รับรู้อาการเย็น ร้อน อ่อน ตึง ที่ปรากฏที่กาย รับรู้ความสุขที่เกิดขึ้นขณะรับรสไอศครีม แล้วมีปัญญารู้ว่าอาการทั้งปวงนั้น (สัพเพ สังขารา) มีความแปรเปลี่ยน เกิดขึ้นแล้วดับไป (อนิจจัง) เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ไม่เที่ยงแท้ ส่งผลให้อาการเหล่านั้นต้องผันแปร คงตัวอยู่ไม่ได้ (ทุกขัง) และไม่มีใคร หรือสิ่งใดที่จะเป็นปัจจัยที่สมบูรณ์เพียงสิ่งเดียวที่จะกำหนด สั่งบังคับ ให้อาการนั้นๆ เป็นไป หรือคงอยู่ ตามอำนาจได้ (อนัตตา) เมื่อผู้ปฏิบัติสังเกตความจริงเช่นนี้ซ้ำๆ เนืองๆ ก็จะค่อยๆ คลายความเข้าใจผิด (วิปลาส) ที่สั่งสมมายาวนาน ว่าสิ่งทั้งหลายนั้นเที่ยงแท้ เป็นสุข งดงาม และอยู่ในอำนาจบังคับให้เป็นไปอย่างใจได้ เมื่อคลายจากความคิดเห็นที่ผิดพลาดเช่นนี้ (อวิชชา) การปรุงแต่งในทางที่ผิดพลาด ที่จะไปยึดหมาย สำคัญมั่น ว่ามันจะต้องเป็นอย่างนี้อย่างนั้นตามใจของเราเอง (ตัณหา อุปาทาน) ก็ค่อยๆ ลดลง น้อยลง จนเมื่อใดที่ผู้ปฏิบัติเจริญวิปัสสนา จนปัญญาเข้มแข็ง (วิปัสสนาญาณ) ปัญญานั้นก็จะทำลายความเข้าใจผิดทั้งปวง จนไม่อาจปรุงแต่งในทางตัณหา (สมุทยสัจจะ) ได้อีกเลย ก็ไม่อาจสร้างทุกข์ (ทุกขสัจจะ) ให้เกิดขึ้นแก่ตนได้อีก เปรียบเหมือนผู้ที่สัมผัสถูกของบางอย่างคล้ายงูในความมืด เมื่อใดมีแสงสว่างแม้ชั่วครู่ พอให้มองดูรู้ชัดว่าสิ่งนั้นคือเชือก ก็จะไม่ปรุงแต่งความกลัวงูขึ้นในใจอีกเลย เมื่อนั้นก็เรียกบุคคลนั้นว่า ผู้บรรลุธรรม เป็นอิสระจากกิเลสสิ้นเชิง
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๘ ส.ค. ๖๓)
ถาม "สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่เที่ยง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น" คือการปล่อยวาง ปลงอนิจจัง ไม่ยึดว่าอะไรว่าเป็นอะไรทั้งนั้นใช่หรือไม่
เช่นการเห็นแล้ว สักแต่เห็น ได้ยินแล้วสักแต่ว่าได้ยิน ผู้ปฎิบัติควรปล่อยผ่านไป ไม่ยึดถืออะไรทั้งนั้น คือการวางใจเป็นอุเบกขา ปล่อยวาง "ทำจิตว่าง" อันนี้เป็นการพ้นทุกข์ใช่หรือไม่ หรือว่าควรมีท่าทีต่อสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวันอย่างไร
ตอบ เมื่อผู้ปฏิบัติเข้าใจชัดว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง ไปตามเหตุปัจจัย ก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่นอยากจะให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่างใจ เพื่อสนองความปรารถนาของตน ตามอำนาจ ตัณหาแต่ไม่ใช่แค่นั้น....
เมื่อผู้ปฏิบัติรู้ว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย และมีปัญญารู้ว่า ในสถานการณ์นั้นๆ สภาวะที่ดีควรเป็นเช่นไร อะไรเป็นเหตุปัจจัยที่จะทำให้สภาวะที่ดีเกิดขึ้นได้ ก็จะขวนขวายทำเหตุปัจจัยนั้นในส่วนที่ตนทำได้ โดยไม่ประมาท ไม่ผัดวัดประกันพรุ่ง ในขณะทำเช่นนั้น จะมีจิตประกอบด้วยสุขเวทนา หรืออุเบกขาเวทนาก็ได้ (ไม่ได้มุ่งว่าต้องอุเบกขาเวทนาเท่านั้น เป็นเป้าหมาย) และเมื่อทำไปแล้ว ก็ยอมรับผลที่เกิดขึ้น แม้จะไม่สมบูรณ์เต็มที่ เพราะเข้าใจว่ามีเหตุปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ที่อยู่นอกเหนืออำนาจของตน หรือที่ตนไม่อาจทำให้สมบูรณ์ ได้ แล้วก็เรียนรู้พัฒนาเรื่อยไป ไม่ทอดอาลัย ไม่ปล่อยปละละเลย วางเฉยแบบเฉยโง่
ยกตัวอย่าง ผู้ที่เห็นต้นไม้เหี่ยวเฉา ก็รับรู้ เข้าใจเหตุปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนั้น แต่ไม่ใช่แค่นั้น... เพราะบุคคลนั้นรู้ต่อไปด้วยว่า สภาวะที่ดี ที่ควรเป็นคือ ต้นไม้ที่เจริญเติบโตงอกงามดี อีกทั้งยังรู้ด้วยว่า ต้นไม้จะงอกงามดีได้ด้วยเหตุปัจจัยอะไรบ้าง ต้นไม้นั้นต้องการน้ำมากน้อยเพียงใด แสงแดด ดิน ปุ๋ย อย่างไร ฯลฯ ก็ขวนขวายจัดการปัจจัยที่ตนทำได้อย่างเต็มกำลัง โดยไม่รอช้า เพราะรู้ว่าสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปรตามเหตุปัจจัย ถ้าไม่เร่งสร้างปัจจัยฝ่ายดี สถานการณ์ก็จะแย่ลงไปตามปัจจัยฝ่ายร้ายที่เป็นอยู่ ในขณะที่รดน้ำ ใส่ปุ๋ย อยู่นั้น ก็ทำด้วยใจที่เป็นกุศล ประกอบด้วยปัญญา มีความสุขใจ เมื่อผลลัพธ์ปรากฏขึ้นในแต่ละขณะ ไม่ว่าจะดีร้าย ก็เรียนรู้ ทำความเข้าใจว่าเหตุปัจจัยอะไรที่ตนสามารถทำได้อีก ก็ทำตามกำลัง ไม่เอาผลลัพธ์มาสนองความต้องการในใจตน (ว่างจากการยึดถือในตัวตน) ว่าถ้าต้นไม้โตสมใจจึงจะสุข หรือถ้าต้นไม้ตาย ไม่โตอย่างที่ตั้งใจก็จะทุกข์ การวางใจเป็นกลาง ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ตรงตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาเช่นนี้ เรียกว่าอุเบกขา (ตัตระมัชฌัตตตา เจตสิก ซึ่งเป็นฝ่ายกุศล) ไม่ใช่ อุเบกขาเวทนา (ที่แปลว่า ความรู้สึก ไม่สุข ไม่ทุกข์ ซึ่งไม่แน่ว่าจะเป็นฝ่ายกุศลหรือไม่)
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๘ ส.ค. ๖๓)
ถาม ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แปลว่าธรรมทั้งหลายเป็นสุญญตา คือไม่มีอยู่จริง ใช่หรือไม่
ตอบ พุทธธรรม เรื่อง อัตตา–อนัตตา และ อัตตา–นิรัตตา อธิบายไว้ตอนหนึ่งว่า "สภาวะจริงแท้นั้นมีอยู่ มิใช่เป็นความสูญสิ้นไม่มีอะไรเลย แต่ก็มิใช่เป็นสภาวะที่จะเข้าถึงหรือประจักษ์ได้ด้วยความรู้ที่ถูกกั้นบังให้พร่ามัวหรือบิดเบือนโดยภาพเก่าๆ ที่ผิดพลาด และด้วยจิตที่ถูกฉุดรั้งไว้โดยความยึดติดในภาพเก่าที่ผิดพลาดนั้น การที่สมณพราหมณ์ผู้ประเสริฐหรือเจ้าลัทธิชั้นพรหมจำนวนมาก ไม่สามารถรู้แจ้งแทงตลอดถึงสภาวะแท้จริงขั้นสุดท้าย ก็เพราะว่า แม้ว่าสมณพราหมณ์หรือเจ้าลัทธิเจ้าทฤษฎีเหล่านั้นจะรู้ชัดแล้วว่า ตัวตนระดับกายใจชนิดที่เคยยึดถือมาก่อน ไม่ใช่เป็นสภาวะที่จริงแท้ และไม่ยอมรับแม้กระทั่งขันธ์ ๕ แต่ท่านเหล่านั้นก็ยังนำเอาเครื่องพรางตาตัวเอง ๒ อย่างของปุถุชนติดตัวไปด้วยตลอดเวลาในการค้นหาสภาวะที่แท้จริงขั้นสุดท้าย กล่าวคือ๑) บัญญัติ (concept) แห่งอัตตา คือ มโนภาพของตัวตนที่เป็นคราบติดมาตั้งแต่ครั้งยึดติดในตัวตนหยาบระดับร่างกาย แม้มโนภาพนี้จะละเอียดประณีตขึ้นมากเพียงใด มันก็เป็นภาพอันเดียวกันหรือเทือกเถาเดียวกันอยู่นั่นเอง และเป็นภาพแห่งความหลงผิด ซึ่งเมื่อเขาไปเกี่ยวข้องกับสภาวะใดๆ เขาก็จะเอาบัญญัติหรือมโนภาพอันนี้ไปป้ายหรือฉาบทาสภาวะนั้น ทำให้มีสิ่งกั้นบัง เกิดความพร่ามัวหรือบิดเบือน และทำให้สภาวะที่เขาเข้าใจ ไม่ใช่สภาวะจริงแท้นั้นเองที่ล้วนๆ บริสุทธิ์
๒) ความยึดติดถือมั่น (อุปาทาน) ซึ่งเขามีมาแต่เดิมตั้งแต่ยึดติดในอัตตาอย่างหยาบๆ ขั้นต้น ซึ่งเป็นความหลงผิดอยู่แล้ว เขาก็ยังพาเอาความยึดติดนี้ไปด้วย และนำไปใช้ในการสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสภาวะที่จริงแท้ ความยึดติดในภาพตัวตนนี้จึงกลายเป็นเครื่องฉุดรั้งเขาไว้ ให้ไม่อาจเข้าถึงสภาวะที่จริงแท้นั้นได้"
อาจอธิบายความได้ว่า
(๑) สภาวธรรมทั้งปวง (ปรมัตถสภาวธรรม) เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง แต่มโนภาพที่ประกอบเอาสภาวธรรมบางอย่าง หรือหลายอย่าง แล้วนึกสร้างเป็นความเข้าใจของตนเองที่มีต่อสิ่งนั้น ไม่มีอยู่จริง เช่น การประกอบของชิ้นส่วนต่างๆ แล้วเข้าใจว่ารถ, การประกอบของรูปนาม แล้วเข้าใจว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวเรา ตัวเขา คนที่เรารัก คนดี คนชั่ว เป็นต้น
(๒) สภาวธรรมทั้งปวง (ปรมัตถสภาวธรรม) เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง รับรู้ได้จริงทางใดทางหนึ่งถึงความมีอยู่ของสภาวธรรมเหล่านั้น แต่สภาวธรรมเหล่านั้น ถ้าเป็นสังขารธรรม แม้มีอยู่ ก็ไม่ดำรงอยู่ยั่งยืน แปรปรวนไปตามกระบวนการของเหตุปัจจัย ไม่มีปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะบังคับให้เป็นไปตามอำนาจของตนได้ (ไม่มีอัตตาที่ปรุงแต่งขึ้นด้วยความหลงผิด ยึดติดถือมั่น ว่าตนจะสามารถบังคับควบคุมให้เป็นอย่างใจตนได้)
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม นิพพานไม่เป็นทั้งอัตตาและอนัตตา ใช่หรือไม่
ตอบ ในหนังสือ พระไทยใช่เขาใช่เรา? (นิพพาน-อนัตตา: ฉบับเพียงเพื่อไม่ประมาท) หน้า ๑๐ - ๑๘ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) อธิบายว่า ..."... คําพูดนี้เกิดจากความหลงภาษา หรือเป็น การเล่นภาษาเท่านั้น ... ขอพูดให้เข้าใจง่ายๆ สั้นๆ คือในภาษาบาลีนั้น พอพูดว่า “นิพพานไม่ใช่อัตตา” ก็คือบอกว่า “นิพพานเป็นอนัตตา” เพราะอะไร ก็เพราะว่า คําว่า “ไม่ใช่อัตตา” หรือ “ไม่เป็น อัตตา” นั้น พูดเป็นคําภาษาบาลีว่า “อนัตตา”
คําบาลีว่า “อนัตตา” แปลเป็นภาษาไทยว่า “ไม่ใช่อัตตา” หรือ “ไม่เป็นอัตตา” (ไม่ใช่-, ไม่เป็น-, ไม่มี- ได้ทั้งนั้น) ... เพราะฉะนั้น ท่านผู้ใดจะพูดว่า “นิพพานก็เป็นนิพพาน ไม่ เป็นอัตตา ไม่เป็นอนัตตา” ก็พูดขัดกับคําของตัวเอง ก็เห็นอยู่ชัดๆ พูดออกมาแล้วว่านิพพานเป็นอนัตตา แล้วก็บอกว่าไม่เป็นอนัตตา ...."
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม ไตรลักษณ์ มีความสัมพันธ์กับ กฎแห่งกรรม หรือ ปฏิจจสมุปบาท อย่างไร
ตอบ มันคือเรื่องเดียวกัน แต่อธิบายคนละมุมกฎแห่งกรรม หรือจะเรียกอย่างวิชาการว่า อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท อธิบายกระบวนการ ความเป็นเหตุ เป็นผล ของสิ่งทั้งหลาย ว่า ผลหลากหลายเกิดจากเหตุปัจจัยเอนก เช่นต้นไม้จะโต ต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่าง หากเหตุปัจจัยพรั่งพร้อม พอดี ต้นไม้ก็โต งอกงาม และการทำเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นการรดน้ำต้นไม้ ก็ส่งผลหลายอย่าง ไม่เฉพาะต่อต้นไม้ต้นนั้น แต่อาจส่งผลต่อวัชพืชรอบๆ หรือแมลงที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นด้วย
เมื่อสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยมากมายเช่นนี้ (สัพเพ สังขารา) จึงมีลักษณะที่ไม่สมบูรณ์ในตัวเอง พร้อมที่จะแปรเปลี่ยน ผันแปร ไปตามความเปลี่ยนแปลงของเหตุปัจจัย และเหตุปัจจัยเองก็ไม่เที่ยงแท้ถาวร น้ำที่รดลงไปก็ให้ความชุ่มชื้นอยู่ชั่วขณะ เมื่อความชื้นเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ต้นไม้ก็อาจสดชื่นขึ้น เมื่อความชื้นเปลี่ยนแปลงลดลง ต้นไม้ก็อาจเฉาลง สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นจึงมีลักษณะเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กล่าวคือ มีความเกิดดับ ถูกบังคับบีบคั้นให้ไม่อาจคงสภาพได้ เพราะอยู่ใต้อิทธิพลของเหตุปัจจัยมากมายที่ล้วนแต่ไม่คงตัว
เมื่อบุคคลสังเกตเห็นลักษณะทั้งสาม (ไตรลักษณ์) ที่ปรากฏ และเข้าใจกระบวนการของเหตุปัจจัย (กฎแห่งกรรม - อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท) ที่ทำให้สิ่งทั้งหลายมีลักษณะเป็นไปเช่นนั้น ก็จะวางท่าทีได้ถูกต้อง มิใช่ปล่อยปละละเลย แต่ทำเหตุที่ควรทำ อย่างเต็มกำลัง ด้วยความไม่ประมาท
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๘ ส.ค. ๖๓)
ถาม ในมหาปุณณสูตร ท่านกล่าวว่า อุปทานขันธ์ มีฉันทะเป็นมูล หมายความว่าอย่างไร
ตอบ อรรถกถาอธิบายว่า "บทว่า ฉนฺทมูลกา แปลว่า มีตัณหาเป็นมูล" แสดงว่า ฉันทะในที่นี้หมายถึง ตัณหาฉันทะนั่นเอง (ฉันทะมีทั้ง กุศลฉันทะ และตัณหาฉันทะ ในที่อื่นๆ โดยทั่วไป เมื่อกล่าวถึง ฉันทะ มักหมายถึงกุศลฉันทะ ทั้งนี้จึงพึงดูอรรถกถาประกอบในการแปลพระไตรปิฎก)
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม พระอรหันต์มีขันธ์ ๕ แต่ไม่มีอุปาทานขันธ์ ใช่หรือไม่
ตอบ พระอรหันต์มีขันธ์ ๕ เช่นมีกายประสาท มีจิตรับรู้อาการร้อนเย็น รู้สึกสุขทุกข์ จำหมายปรุงแต่งความคิดที่ควรกระทำได้ แต่ไม่ยึดสภาวธรรมเหล่านั้นด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เพราะฉะนั้นขันธ์ ๕ ในเวลานั้นของพระอรหันต์จึงไม่เป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ทางใจแก่พระอรหันต์แต่ถึงอย่างไรขันธ์ของพระอรหันต์เหล่านั้น ก็ยังมีลักษณะเสื่อม ดับ สลาย (ชรา มรณะ) อันเป็นทุกข์ประจำสังขาร และมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดทุกข์ทางใจในเวลาใดเวลาหนึ่งแก่ใครๆ ที่เข้าไปยึดถือในขันธ์เหล่านั้นด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เช่น พระวักกลิยึดมั่นในรูปกายของพระพุทธเจ้า
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม หากผู้ปฏิบัติเจริญสติปัฏฐานกำหนดรู้รูปนาม ขันธ์ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นความสงบ ความสุข ที่กำลังเป็นอยู่ อย่างมีสติ ไม่ประกอบด้วยตัณหา อุปาทาน แสดงว่าขันธ์นั้นๆ มิใช่อุปาทานขันธ์ใช่หรือไม่
ตอบ ขณะที่ผู้ปฏิบัติรับรู้ความสงบ ความสุข ที่กำลังเป็นอยู่ อย่างมีสติ ไม่ประกอบด้วยตัณหา อุปาทาน ในเวลานั้น ความสงบ ความสุขนั้น ย่อมไม่เป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ทางใจ แก่บุคคลนั้น ในเวลานั้นแต่ถึงอย่างไรความสงบ ความสุข เหล่านั้น ก็ยังมีลักษณะเสื่อม ดับ สลาย (ชรา มรณะ) อันเป็นทุกข์ประจำสังขาร และมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดทุกข์ทางใจในเวลาใดเวลาหนึ่งแก่ใครๆ ที่เข้าไปยึดถือในขันธ์เหล่านั้นด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เช่น บุคคลนั้นเองในเวลาต่อมา ระลึกเอาความสุขที่ตนเคยได้รับขณะปฏิบัติเจริญสตินั้นเป็นอารมณ์แล้วรู้สึกเศร้าเสียดายที่ไม่อาจได้สภาวะเช่นนั้นอีก
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม อุเบกขาเวทนา เป็นทุกข์ในอริยสัจ ได้อย่างไร
ตอบ อะไรๆ ในขันธ์ ๕ ก็เป็นที่ตั้งแห่งการยึดได้ทั้งนั้น อุเบกขาเวทนา ถ้าเรายึด ก็เป็นทุกข์ทำนองเดียวกับไปยึดสุขเวทนา หรือทุกขเวทนา นั่นเอง อุเบกขาเวทนาก็คือสภาวะอย่างหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะสามัญคืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เช่น เข่าของเรา ตอนนี้ไม่ได้ปวด แต่ก็ไม่ได้สบาย พอสักพักหนึ่ง มันก็ไม่อุเบกขาแล้ว มันเริ่มเป็นเหน็บแล้ว มันเริ่มปวดแล้ว อุเบกขาเวทนาหายไป กลายเป็นทุกขเวทนาก็ได้ แล้วถ้าใจเราไปยึดในอุเบกขาเวทนานั้น ก็เกิดทุกข์ อยากกลับไปอุเบกขาแบบเดิม แบบนี้เรียกว่า มีตัณหายึดอุเบกขาแล้ว(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม ทุกขเวทนาทางใจ (โทมนัส) เท่ากับทุกข์ในอริยสัจใช่หรือไม่
ตอบ ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ คือทุกขอริยสัจ ไม่ใช่เพียงโทมนัสเวทนาเท่านั้นที่เป็นทุกขอริยสัจ ยกตัวอย่างเช่น โสมนัสเวทนาที่เกิดจากการได้กินไอศครีมอร่อย ก็เป็นทุกขอริยสัจ เมื่อบุคคลเข้าไปยึดมั่นในโสมนัสเวทนานั้น อยากให้มันอร่อยนานๆ แต่ความจริง โสมนัสเวทนานั้นก็ดับไปตามเหตุปัจจัย เมื่อนั้นโสมนัสเวทนานั้น ก็เป็นหนึ่งในอุปาทานขันธ์ เป็นสภาพที่เป็นปัญหา หรืออาจก่อให้เกิดปัญหา เป็นที่ตั้งแห่ง โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส (กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า โทมนัส เป็นอาการทุกข์อย่างหนึ่งของทุกขอริยสัจ แต่ทุกขอริยสัจ ไม่ได้มีเฉพาะโทมนัสเวทนา)
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๘ ส.ค. ๖๓)
ถาม ทุกข์ มีไว้ให้เห็น โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ ได้จริงหรือ
ตอบ แม้มีใครสักคนตอบว่า จริง ก็คงไม่สามารถพิสูจน์ความจริงได้ชัดนัก แต่หากเราลองสังเกตชีวิตจริงของตนเองว่า เมื่อมีทุกข์หรือปัญหาเกิดขึ้นคล้ายๆ กัน มันส่งผลให้ใจเราทุกข์เท่ากันทุกครั้งไหม เช่นเมื่อเราทำของมูลค่าพอๆ กันสูญหายแต่ละครั้ง เราทุกข์ใจเท่ากันทุกครั้งไหม มีเหตุปัจจัยภายในใจเราที่ส่งผลให้เราทุกข์มาก-น้อย ต่างกันหรือไม่ ถ้าเราพิจารณาอย่างนี้ อาจพบเงื่อนปมว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่มีปัจจัยภายใน ซึ่งอาจฝึกฝน จัดการ ให้เราสามารถเผชิญปัญหา ด้วยใจที่ไม่เป็นทุกข์ได้(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม หลักสำคัญของเรื่องอริยสัจ ที่เราต้องลงมือปฏิบัติ คือละ ตัณหา ที่เป็นต้นเหตุของทุกข์ในใจ ทุกอย่างก็จบ ใช่หรือไม่?
ตอบ การสรุปเช่นนั้น ยังไม่สมบูรณ์จริงอยู่ว่า เป้าหมายในการจัดการทุกข์คือนิโรธ คือสภาวะที่ไม่มีตัณหาอันเป็นเหตุของทุกข์ และหน้าที่ที่ต้องทำต่อสมุทัย (ตัณหา) ก็คือ ละ กำจัด แต่การปฏิบัติเพื่อให้ถึงซึ่งเป้าหมายดังกล่าวนั้น ต้องลงมือฝึกตามหลัก มรรคมีองค์ ๘ หรือว่าโดยย่อคือ ไตรสิกขา จึงจะสามารถพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพทั้งด้านศีล สมาธิ ปัญญา มิใช่เพียงเพื่อรู้ทัน ลด ละ ตัณหาได้เป็นคราวๆ แต่การปฏิบัติตามมรรคที่ถูกต้อง จะทำให้กุศลธรรมต่างๆ มี กุศลฉันทะ เป็นต้น เจริญยิ่งขึ้น อันจะเป็นปัจจัยนำไปสู่การทำลายอวิชชาที่เป็นต้นเหตุของตัณหาได้ด้วย
ยกตัวอย่างผู้ปฏิบัติ เจริญสติ ก็มิใช่เพียงนั่งเฝ้าดูว่าเมื่อใดมีเวทนา แล้วเกิดตัณหา ก็พยายามกด ข่ม ลด ละ ตัณหา เป็นคราวๆ ไป แต่ผู้ปฏิบัติพึงพิจารณานามรูปที่ปรากฏ ทั้งที่เป็นฝ่ายกุศล อกุศล หรือที่เป็นกลางๆ เพื่อให้เห็นความจริง เกิดปัญญาขึ้นตามลำดับ จึงทำลายอวิชชา ความหลงผิดไปได้ทีละนิดๆ ตัณหา และทุกข์ก็ลดลงไปตามกำลังแห่งการปฏิบัตินั้นเอง
อีกตัวอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวัน หากบุคคลประสบความทุกข์ เช่น รู้สึกผิด หงุดหงิด ที่ต้องทำงาน ไม่ได้กลับบ้านไปดูแลแม่ เมื่อสังเกต เรียนรู้สภาพปัญหาที่ปรากฏ จึงรู้ชัดว่าเหตุของความหงุดหงิด คือ ความคาดหวังในใจที่จะต้องได้ไปดูแลแม่อย่างที่ตั้งใจไว้ (เป็นตัณหาที่อยากให้ได้ผลลัพธ์อย่างใจ โดยไม่ยอมรับเหตุปัจจัย แม้สิ่งที่อยากจะทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี) สิ่งที่ควรทำมิใช่เพียงละความอยากเช่นนั้น แล้วก็นั่งเฉยๆ หากแต่ต้องมีปัญญาเข้าใจกระบวนการเหตุปัจจัย ว่าการจะได้ไปดูแลแม่นั้นจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยเหตุปัจจัยอะไรบ้าง และในบรรดาเหตุปัจจัยเหล่านั้น เราสามารถทำอะไรได้บ้าง เราทำแล้วหรือยัง ยังมีอะไรที่ทำได้อีก เมื่อทำแล้วจะส่งผลให้เกิดอะไรได้บ้าง เมื่อรู้ชัด ก็มีกุศลฉันทะ ทำเหตุปัจจัยเหล่านั้นอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยมีเป้าหมาย (Direction) ที่ชัดเจน แต่ก็ไม่เผลอหลอกตัวเองว่าผล (Outcome) จะต้องสำเร็จสมดังใจ ขณะที่ขวนขวายทำเหตุปัจจัยเหล่านั้น ไม่ว่าผลจะเป็นเช่นไร ใจก็ไม่รุ่มร้อน หงุดหงิด กังวล เพราะเข้าใจ ยอมรับเหตุปัจจัยตามที่เป็นจริง
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๒๒ ส.ค. ๖๓)
ถาม คำกล่าวที่ว่า “ตัณหาเกิดที่ไหน ดับหรือละที่นั่น” คำว่า “ที่” หมายถึงอะไร
ตอบ “ที่” หมายถึง สถานที่ (space) ก็ได้ หมายถึง กาล (time) ก็ได้ กล่าวคือ หมายถึงว่า
- ตัณหาเกิดตอนไหน ก็ดับตอนนั้น
- ตัณหาเกิดที่ไหน เช่น ตัณหาเกิดที่ตา (คือมีตัณหายึดเอาอารมณ์ที่เกิดทางตา อยากเห็น อยากดู) เมื่อรู้ว่าตัณหาเกิดที่ตา ก็ละตัณหาที่เกิดที่ตานั่นแหละ ตัณหาเกิดที่ลิ้น อยากกินของอร่อย ก็ละตัณหาที่เกิดที่ลิ้นนั่นแหละ
สรุปว่า กิเลสตัณหา ชนิดไหน เกิดที่การรับรู้ทางช่องทางไหน เกิดตอนไหน ก็ละกิเลสตัณหานั้น ที่เกิดที่ช่องทางนั้น ตอนนั้น(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม อยากให้อธิบายเพิ่มเติม การนำเอาหลักอริยสัจ ไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน
ตอบ การคิดตามแนวอริยสัจ เป็นทักษะการจัดการปัญหา และเป็นการคิดโยนิโสมนสิการแบบหนึ่ง ซึ่งมีรายละเอียดมาก ผู้ศึกษาสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ โยนิโสมนสิการ-วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม หรือศึกษาเพิ่มเติมจากสื่อการเรียนรู้ เรื่อง หลักการจัดการปัญหา ตามแนวอริยสัจ 4
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๓)
ถาม จะทำอย่างไรที่จะกำหนดทุกข์ได้อย่างถูกต้อง หากมีทุกข์หลายทุกข์ที่ซ้อนกันอยู่ควรจะกำหนดและแก้ไขอย่างไร
ตอบ พึงพิจารณาเห็นความสัมพันธ์ของทุกข์ (ปัญหา) ที่เชื่อมโยงกันนั้นให้ชัด แล้วพิจารณาเห็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาแต่ละปัญหา โดยไม่ลืมว่า สาเหตุของทุกข์ที่แท้จริง มิได้หมายถึงปัจจัยแวดล้อมของปัญหานั้น ซึ่งอยู่นอกเหนือการจัดการของเรา (ศึกษาเพิ่มเติมจากสื่อการเรียนรู้ เรื่อง หลักการจัดการปัญหา ตามแนวอริยสัจ 4)
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๓)
ถาม ละเหตุของทุกข์ คือ การต้องลงมือทำ
"ทำ" ในที่นี้คือทำอะไรบ้าง ทำอย่างไร
ตอบ กิจที่ต้องทำต่อ เหตุของทุกข์ คือ ลด ละ กำจัด
สภาวะที่เหตุแห่งทุกข์หมดสิ้นไป ไม่อาจเกิดขึ้นได้อีก ทุกข์ก็ดับ เรียกว่า นิโรธ
วิธีปฏิบัติที่จะนิโรธคือ มรรค มีองค์ ๘ หรือกล่าวโดยย่อว่า ไตรสิกขา
และกิจที่ต้องทำต่อมรรค คือลงมือทำ ฝึกหัด ปฏิบัติ
สรุปว่า สิ่งที่ต้องลงมือทำ เพื่อ "ละ" เหตุแห่งทุกข์ คือ
"ลงมือปฏิบัติ" ดำเนินชีวิตตามหลัก มรรคมีองค์แปด หรือว่าโดยย่อ คือไตรสิกขา นั่นเอง
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๓)
ถาม หากเกิดทุกข์ ก็ไปแก้ตรงต้นเหตุ แต่ก็ไม่หาย จะทำเช่นใด
ตอบ ต้องดูว่าวิธีแก้ของเราตรงกับเหตุหรือไม่ หากแก้ไม่ตรงกับเหตุ พยายามให้ตายก็ไม่แก้ปัญหา เพราะฉะนั้น ถ้าพยายามแก้แล้ว ปัญหาก็ยังไม่ดีขึ้น ให้ตรวจสอบให้ชัดว่า แก้ตรงสาเหตุหรือไม่ แล้วการแก้ตรงสาเหตุ บางทีเราแก้ไม่ครบ ยกตัวอย่างเช่น มีเงินไม่พอที่จะไปเที่ยว ทำอาชีพเสริมก็แล้ว แต่ไม่ได้ลดรายจ่าย สุดท้ายก็ยังไม่มีเงินเก็บพอสำหรับเที่ยวซะที เพราะฉะนั้นก็ต้องหามรรค (solutions) ให้ครบด้าน แล้วเพียรพยายามทำไปเรื่อยๆ แต่ต่อให้เพียรเต็มที่ ก็เป็นไปได้ที่สุดท้ายก็มีโอกาสที่ปัญหาจะไม่หาย ก็อย่าหลอกตัวเองว่าทำแล้วปัญหาจะหายเสมอไป เช่น ฉันเป็นมะเร็ง ก็ดูแลเต็มที่ ทำแล้วก็ไม่แน่จะหาย 100% เพราะฉะนั้นเราก็ต้องยอมรับ ในการแก้สาเหตุมันมีหลายเหตุ แล้วเราก็ต้องทำหลายเหตุที่เราจะทำได้ แต่ก็ยังมีอีกหลายเหตุที่เราแก้ไม่ได้ด้วย
(ที่มา - บันทึกการบรรยาย ตามรอย...พุทธธรรม ออนไลน์ รุ่น ๒/๒๕๖๔ ๒๑ ส..ค. ๖๔ เวลา ๕๑:๔๓ – ๕๔:๒๖)
ถาม ตรวจสอบตัวเองได้อย่างไรว่าเราทำสิ่งสิ่งนั้นด้วยกุศลฉันทะ ไม่ได้แฝงด้วย ตัณหา ที่ตัวเรารู้ไม่ทันตัวเราเอง? และสภาวะที่เป็นฉันทะโดยไม่มีตัณหาเลย เป็นไปได้จริงหรือไม่?
ตอบ ผู้ปฏิบัติพึงฝึกสังเกตให้เห็นความแตกต่างของจิตที่เป็นกุศล และอกุศล (ดูหนังสือพุทธธรรม บทที่ ๕ หัวข้อ เกณฑ์วินิจฉัยกรรมดี – กรรมชั่ว) หรืออย่างน้อยก็ตรวจสอบดูในภายหลังได้ว่า เมื่อทำไปแล้ว มีความทุกข์ (หมายถึงทุกขสัจ หรืออาการของทุกขสัจ เช่นความร้อนรน น้อยใจ เศร้าโศก - มิใช่ ทุกขเวทนา) เกิดขึ้นในที่สุดเนื่องจากการกระทำนั้นหรือไม่ ถ้ามี ก็แสดงได้ว่า มีตัณหาอยู่มากน้อยตามแต่กรณีในชีวิตจริง ผู้ปฏิบัติมักพบว่า เมื่อตั้งใจทำดี เช่น ตั้งใจปฏิบัติธรรม ดูแลพ่อแม่ ก็คือการกระทำด้วยฉันทะที่มุ่งผลตามสภาวะให้ดีงาม แต่เมื่อใดที่ใจนึกหวังผลมาสนองตัวตน เช่นปฏิบัติธรรมแล้วจะได้เป็น "คนดี" ที่น่าชื่นชม หรือดูแลพ่อแม่แล้วท่านจะได้อยู่กับเรา ทำให้เราสุขใจไปนานๆ อย่างนี้ก็อาจจะมีตัณหา ในบางขณะ การฝึกในชีวิตประจำวัน จึงมิใช่การตั้งโจทย์ว่าจะต้องไม่มีตัณหาในทันที เพราะหากตั้งเป้าเช่นนั้น ก็อาจเป็นตัณหาเช่นกัน ผู้ปฏิบัติเมื่อรู้ตัวว่ามีตัณหาก็พึงละ เมื่อรู้ตัวว่าเป็นกุศลฉันทะก็พึงเจริญ
สภาวะที่บุคคลดำเนินชีวิตด้วยกุศลฉันทะ โดยไม่มีตัณหาเลย นั้นเป็นไปได้ แม้ในชีวิตปุถุชน คือในขณะที่รู้ตัว ละตัณหาได้ แม้ชั่วขณะ แล้วเจริญกุศลฉันทะ ในขณะนั้นก็ไม่มีตัณหา แต่สักพักต่อมา ก็อาจจะมีตัณหาเกิดขึ้นอีกได้ แต่สำหรับพระอรหันต์ที่ละกิเลสสิ้นเชิงแล้ว ก็จะไม่มีตัณหาเกิดขึ้นได้อีกเลย
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๓)
ถาม จะใช้หลักคิดหรือหลักเกณฑ์อะไรในการแยก ทุกข์ กับ สมุทัย
ตอบ ทุกข์เป็นผล อยู่ในฝ่ายวิบาก เป็นธรรมอันพึงรู้ ไม่ใช่ธรรมอันพึงละ
สมุทัยเป็นเหตุ อยู่ในฝ่ายกิเลส เป็นธรรมอันพึงละ
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๓)
ถาม ถ้าเราฝึกละความสุขจากการเสพ เช่นถือศีล ๘ เราจะมีฉันทะพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ให้คนเกิดตัณหา เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่มีที่สิ้นสุด ได้หรือไม่
ตอบ เป็นไปได้ แต่ดีหรือไม่ ต้องพิจารณาดู
ตอนละตัณหาของตัวเองเป็นกุศล แต่ตอนที่เราพยายามทำให้ (หลอก) คนอื่นมีตัณหาอยากจะซื้อเป็นโลภะ แต่ถ้าเรามีปัญญา เราก็จะค่อยๆ คิดว่างานที่เราจะออกแบบ เราจะออกแบบสินค้าเพื่อเกื้อกูลให้ผู้คนได้ประโยชน์ได้หรือไม่ แต่ต้องยอมรับว่าในโลกทุนนิยมปัจจุบัน จะคิดแบบนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
ลองฟังธรรมะบรรยายของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เรื่อง “จะอยู่หรือจะไป ในเมื่ออาชีพไม่เอื้อต่อธรรม”
สรุปโดยย่อ อยู่ที่กำลังของเรา ถ้าเรามีกำลังปัญญามีความสามารถมาก เราก็จะเปลี่ยนแปลงทิศทางอาชีพที่เราทำให้มันดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ตราบใดที่มันยังทำไม่ได้ ก็แยกปัญหาในใจของเรา กับปัญหาภายนอก ซึ่งก็คือ งานมันยังไม่ดี ส่งผลให้ใจเรากลุ้มใจกังวล เราก็แก้ปัญหาในใจเราก่อน ทำใจเราให้ดีก่อน วางใจเราให้ดีก่อน แล้วค่อยๆแก้ข้างนอกให้เต็มกำลังความสามารถ (ไม่ใช่แก้แค่ที่ใจ แล้วไม่สนใจที่จะแก้ไขโลกให้ดีขึ้น แต่การพยายามแก้โลก โดยไม่เริ่มที่ใจก็เป็นไปได้ยาก หรืออาจจะยิ่งแย่ทั้งเราและโลก)
(ที่มา - บันทึกการบรรยาย ตามรอย...พุทธธรรม ออนไลน์ รุ่น ๒/๒๕๖๔ ๒๑ ส..ค. ๖๔ เวลา ๑:๐๒:๔๗ – ๑:๐๔:๕๔)
ถาม ทุกข์ เป็น absolute หรือ relative?
ตอบ ทุกขเวทนา เป็นสภาวะที่สัมพัทธ์กับตัวบุคคล เหมือนอย่างความร้อนของน้ำเป็นสภาวะสัมบูรณ์ แต่คนแต่ละคน แต่ละขณะ จะรู้สึกว่าความร้อนขนาดนั้น ร้อน หรือ เย็น แตกต่างกันไป (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหนังสือพุทธธรรม ออนไลน์ หน้า 86)ทุกขลักษณะเป็นสภาวะตามธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย ที่ถูกเหตุปัจจัยบีบคั้นให้แปรเปลี่ยนไป เป็นสภาพที่สัมพัทธ์กับเหตุปัจจัยเอนกอนันต์ เช่น ลักษณะที่ใบไม้ถูกเหตุปัจจัยคืออุณหภูมิ, ความชื้น, ฯลฯ ที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ไม่สามารถคงสภาพเป็นใบไม้สดอยู่ได้ดังเดิม ซึ่งเรียกว่า ทุกขตา ก็เป็นไปเพราะความที่สิ่งนั้นเกิดขึ้นโดยอาศัยปัจจัยปรุงแต่ง จึงกล่าวได้ว่าลักษณะของสิ่งนั้นๆ ย่อมสัมพัทธ์กับเหตุปัจจัยของมัน แต่มิได้สัมพัทธ์โดยตรงกับบุคคลผู้สังเกต แม้ผู้สังเกตอาจเป็นปัจจัยหนึ่งในกระบวนการเหตุปัจจัยด้วย แต่สภาวะทุกขตา ก็มิได้เกิดขึ้นโดยอิงอาศัยบุคคลเท่านั้น
ส่วนทุกขสัจจ์ เป็นสภาพที่เกิดโดยสัมพัทธ์กับบุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง (เป็น อินทรียพัทธ์ - ดูรายละเอียดในหนังสือพุทธธรรม ออนไลน์ หน้า 89) กล่าวคือ สิ่งทั้งหลายมีความเป็นทุกขลักษณะ ตามธรรมชาติของมัน เมื่อมีบุคคลเข้าไปสัมพันธ์กับสิ่งนั้นโดยท่าทียึดติด ถือมั่น ด้วยตัณหา อุปาทาน สิ่งนั้นก็จะปรากฏเป็น ทุกขอริยสัจ โดยแสดงอาการของทุกข์มากน้อย ตามกำลังแห่งกิเลส กรรม อันเป็นปัจจัยที่ขึ้นกับบุคคล
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๘ ส.ค. ๖๓)
ถาม ถ้าขันธ์ ๕ จัดเป็นทุกข์ใน อริยสัจ ซึ่ง เป็น ส่วนผล คำถามที่จะตามมาคือ อะไรจะคือเหตุ ของการเกิด ขันธ์ ๕
ตอบ ขันธ์ ๕ เป็นสังขารธรรม เกิดขึ้นโดยมีเหตุปัจจัย ถ้าว่าตามหลักปฏิจจสมุปบาท ได้แก่ สังขาร (กรรม) ในอดีต ซึ่งอวิชชาเป็นปัจจัย ส่งผลให้เกิด นอกจากนั้น รูปขันธ์ ยังเกิดจากปัจจัยอื่นๆ อีก ได้แก่ จิต อุตุ อาหาร
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑ ส.ค. ๖๓)
ถาม ขันธ์ 5 (จิต เจตสิก รูป) ควรจัดอยู่ ในหมวด มรรค ได้ไหม เช่นการเห็นความจริงโดยความเป็น ปรมัตถ์ โดยความเป็นไตรลักษณ์
ตอบ ว่าโดยเคร่งครัด ตามหลักอภิธรรม ขันธ์ ที่จัดเป็นมรรค ได้แก่ สังขารขันธ์ (เจตสิก ๘) ที่ประกอบในมรรคจิต ได้แก่ ปัญญา, วิตก, วิรตี ๓, สติ, เอกัคคตา
ปัญญาที่เห็นความจริง ในมรรคจิต นั้นจัดเป็นองค์มรรค แต่ปัญญาในชีวิตประจำวันทั่วไป หรือแม้ในขณะที่เจริญวิปัสสนาขั้นต้นๆ ไม่จัดเป็นองค์มรรค ตามนิยามข้างต้นถ้าอธิบายมรรคมีองค์ ๘ แบบการฝึกตน ตามหลักไตรสิกขา อธิปัญญาสิกขา อาจมีความหมายกว้าง ครอบคลุมการฝึกปัญญา แม้จะยังไม่เกิดปัญญาในมรรคจิตที่เป็นองค์มรรคที่แท้ ก็อาจเรียกรวมว่าการฝึกปัญญา แม้ขั้นต้นๆ ที่เป็นไปในแนวของการตรัสรู้ว่าเป็นทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ถ้ากล่าวตามนัยนี้ ก็อาจเรียกปัญญาที่เห็นความจริง เช่นวิปัสสนาญาณขั้นต้นๆ ว่าเป็นมรรค แต่ก็หมายเอาเฉพาะตัวปัญญา ที่ทำงานเช่นที่ว่ามานี้ เป็นมรรค ในความหมายอย่างกว้าง แต่อารมณ์ที่ปัญญาไปรู้ว่าเป็นไตรลักษณ์นั้น ไม่ใช่มรรค
เช่น ผู้ปฏิบัติเจริญวิปัสสนาจนเกิดวิปัสสนาญาณกำหนดรู้ โผฏฐัพพารมณ์ ว่าเป็นไตรลักษณ์ อาจเรียกปัญญาในการเจริญวิปัสสนาเช่นนั้นเป็นมรรค แต่โผฏฐัพพารมณ์ที่ปัญญาไปกำหนดรู้นั้นเป็นทุกขสัจ มิใช่มรรคสัจ
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑ ส.ค. ๖๓)
ถาม ในพระไตรปิฎกทั้ง ๒ แห่ง (ที่มา ๑ | ๒ ) ที่ยกมาแสดงในหนังสือพุทธธรรม หน้า ๘๕๘ (พุทธธรรม ออนไลน์ หน้า ๘๙๓) แสดงว่า ปหาตัพพธรรมคือ อวิชชา และภวตัณหา (กตเม จ ภิกฺขเว ธมฺมา อภิญฺญา ปหาตพฺพา อวิชฺชา จ ภวตณฺหา จ อิเม ธมฺมา อภิญฺญา ปหาตพฺพา ฯ) คำถามคือ ทำไมกล่าวแต่ ภวตัณหา ไม่รวม กามตัณหา วิภวตัณหา และกิเลสอื่นๆ
ตอบ ในหนังสือพุทธธรรมออนไลน์ หน้า ๘๙๓ แสดงคำอธิบายของสมุทัยว่า "สมุทัย คู่กับกิจ คือปหานะ ในฐานะเป็นสิ่งที่ควรละ หรือกำจัด ดังนั้น ตัณหา และธรรมจำพวกที่ทำให้เกิดปัญหา เป็นเหตุแห่งทุกข์ เช่น โลภะ เป็นต้น จึงเรียกรวมว่า ปหาตัพพธรรม (ธรรมที่ควรละ)"คำถามนี้ หลวงพ่อสมเด็จฯ ได้อธิบายไว้ด้วยตัวท่านเองว่า...
"อกุศลธรรมเป็นปหาตัพพธรรมทั้งนั้น
แต่ที่ตรัสไว้ จับเอาที่ปมใหญ่ หรือตัวเด่น คือ อวิชชา และภวตัณหา
ทีนี้ ที่ว่าเป็นปหาตัพพธรรม – พึงละ ก็เพราะเป็นสมุทัย เป็นเหตุแห่งทุกข์
พอพูดว่าเป็นสมุทัย ก็คือเป็นเรื่องของเหตุปัจจัย คือเป็นเรื่องของปฏิจจสุปบาท หรือปัจจยาการ พูดอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นปัจจัยตัวก่อผลในวังวนของสังสารวัฏ
อวิชชาเป็นตัวใหญ่นั้นชัดอยู่แล้ว แต่ในอีกช่วงหนึ่ง ตัวที่เด่นซึ่งบ่อยครั้งท่านยกขึ้นมาบอกว่าเป็นสมุทัย ได้แก่ตัณหา ๓
ทีนี้ ในตัณหา ๓ นั้น ตัณหาที่เป็นตัวแกนก่อผลในสังสารวัฏ เป็นเรื่องภพเรื่อง ชาติ ก็คือภวตัณหา (อีก ๒ ตัณหาพ่วงมาด้วย)
เมื่อพูดถึงสมุทัย อันเป็นปหาตัพพธรรม โดยจับจุดในขั้นของตัณหา ก็บอกกว้างๆ ว่าได้แก่ตัณหา ซึ่งสำแดงอาการแยกเป็น ๓ แต่ตัวแกนก็คือภวตัณหา
ทีนี้ เมื่อจับที่อวิชชาซึ่งเป็นต้นทุนเดิมแล้ว ก็ครอบคลุมหมด แต่เมื่อมองละเอียดออกไปจะเห็นว่า อวิชชาเต็มที่นั้นเป็นภาวะมืดบอด ไม่เห็นทิศทางอะไรเลย เมื่อมองในแง่ว่าจะไปดีไปร้าย ก็กำหนดอะไรไม่ได้ และไม่มีอะไรเหนี่ยวรั้ง ซึ่งหมายความไปร้ายได้เต็มที่ แต่เมื่อคืบหน้ามาในขั้นเป็นตัณหา ถ้าภวตัณหาแรงหน่อย ก็จะหมายมุ่งทิศทางขึ้นมาว่าจะเป็นจะไปในทางที่ดีๆ แล้วก็เป็นปัจจัยให้ออกไป ในทางบุญได้ โดยให้พัฒนาที่จะทำอะไรดีๆ ว่าถึงภพก็บอกว่าอยากจะเป็นไป ได้เกิด ในภพที่ดีๆ การระบุภวตัณหาไว้ด้วย จึงมีความหมายที่เป็นเหตุผลประกอบด้วย แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ถึงมันจะช่วยให้เป็นไป ได้เกิดที่ดีๆ ก็ยังไม่ดีแท้ ไม่บริสุทธิ์อยู่นั่นเอง ก็จึงยังเป็นสมุทัย เป็นปหาตัพพธรรมอันจะพึงละเสียทั้งนั้น แต่ก็เป็นอันว่าภวตัณหาเป็นตัวเด่นที่ตรัสระบุไว้เคียงคู่อวิชชาด้วย
เรื่องนี้ ขอให้นึกเทียบกับภาเวตัพพธรรม – ธรรมที่พึงพัฒนาให้เจริญขึ้นมา ซึ่งตรัสว่าได้แก่ สมถะ และวิปัสสนา ว่าที่จริงตัวแท้ที่จะให้สำเร็จผล ลุถึงจุดหมาย ก็คือ วิปัสสนาปัญญา ถึงจะบอกไว้เฉพาะตัวเด็ดขาดคือวิปัสสนาอย่างเดียว ก็เรียกร้องไปถึงสมถะอยู่ในตัว แต่ก็ตรัสถึงสมถะที่มีความสำคัญเป็นจุดเด่นอันพึงเน้น มาเคียงคู่ไว้ กับวิปัสสนาด้วย
บางแง่ที่พูดมานี้ มีบอกไว้ใน พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย หน้า ๑๗๗ (พุทธธรรมออนไลน์ หน้า ๑๘๘) ด้วย (รวมทั้งที่เชิงอรรถหน้านั้น)"ในอีกที่หนึ่ง หนังสือพุทธธรรม หน้า ๑๙๙ (พุทธธรรมออนไลน์ หน้า ๒๑๐) อธิบายความสัมพันธ์ของ อวิชชา ตัณหา และกิเลสอื่นๆ ไว้ดังนี้
"เมื่อเกิดโสกะ ปริเทวะ เป็นต้นแล้ว บุคคลย่อมหาทางออกด้วยการคิด ตัดสินใจ และกระทำการต่างๆ ตามความเคยชิน ความโน้มเอียง ความเข้าใจ และความคิดเห็นที่ยึดมั่นสะสมไว้อีก โดยไม่มองเห็นภาวะที่ประสบในขณะนั้นๆ ตามที่มันเป็นของมันจริงๆ วงจรจึงเริ่มขึ้นที่อวิชชา แล้วหมุนต่อไปอย่างเดิม
แม้อวิชชาจะเป็นกิเลสพื้นฐาน เป็นที่ก่อตัวของกิเลสอื่นๆ แต่ในขั้นแสดงออกเป็นพฤติกรรมต่างๆ ตัณหาย่อมเป็นตัวชักจูง เป็นตัวบงการและแสดงบทบาทที่ใกล้ชิดเห็นได้ชัดเจนกว่า ดังนั้น ในทางปฏิบัติ เช่นในอริยสัจ ๔ จึงกำหนดว่า ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์"(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑๓ ก.พ. ๖๔)
ถาม ทำไมในหลักอริยสัจ จึงแสดงนิโรธก่อนมรรค ทั้งๆ ที่มรรคเป็นเหตุ นิโรธเป็นผล
ตอบ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ให้แนวไว้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสถึงทุกข์ก่อน เพราะคนเห็น สัมผัสได้โดยตรงก่อน แล้วจึงพูดถึงเหตุ แล้วก็ทรงแสดงนิโรธให้คนเห็นก่อน ว่ามันมีปลายทางที่ที่จะไปถึงได้ แล้วก็บอกว่า จะไปถึงนั่นได้ยังไง เหมือนบอกว่า เชียงใหม่ดีนะ น่าเที่ยวนะ แล้วค่อยบอกว่าจะไปยังไง แต่ถ้าเริ่มต้นบอกว่า เธอเก็บกระเป๋านะ แต่จะพาไปไหนไม่บอก คนก็ไม่อยากเก็บกระเป๋า (อ่านเพิ่มเติมได้จาก พุทธธรรม บทที่ ๑๗ หัวข้อ ก หน้า ๘๙๔-๘๙๖)
(ที่มา - บันทึกการบรรยาย ตามรอย...พุทธธรรม ออนไลน์ รุ่น ๒/๒๕๖๔ ๒๑ ส..ค. ๖๔ เวลา ๑:๒๒:๑๘ – ๑:๒๓:๓๘)
ถาม การตื่นรู้ ทางปฏิบัติ ทำได้กี่วิธี
ตอบ มีวิธีเดียว คือ มรรคมีองค์ ๘ แต่ทางเดียวนี้ต้องทำหลายอย่าง ต้องประกอบด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ต้องประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๘
(ที่มา - บันทึกการบรรยาย ตามรอย...พุทธธรรม ออนไลน์ รุ่น ๒/๒๕๖๔ ๒๑ ส..ค. ๖๔ เวลา ๑:๐๑:๑๕ – ๑:๐๑:๓๗)
ถาม คนเราเกิดมาเพื่อใช้กรรมใช่หรือไม่
ตอบ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) เคยแสดงธรรมเรื่องหนึ่งชื่อว่า "เลิกพูดเสียที เกิดมาใช้กรรม" แสดงหลักการของพุทธศาสนาที่ชัดเจนว่า มนุษย์มีศักยภาพและอิสรภาพ ที่จะลงมือทำกรรมดี ทั้งเพื่อตนและสังคม ไม่ว่ากรรมเก่าที่เคยทำมาจะทำให้เราประสบพบกับสถานการณ์ที่ดีหรือร้ายก็ตาม(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม แม้ว่าเราจะมีโอกาสทำกรรมใหม่ แต่กรรมเก่าก็จะเป็นตัวบังคับให้เลือกทำกรรมอย่างนั้นๆ อยู่ดี ใช่หรือไม่
ตอบ กรรมเก่าเป็นปัจจัยในการตัดสินใจทำกรรมใหม่ เช่นการศึกษาหรือประสบการณ์ในอดีตมีส่วนในการตัดสินใจในการทำกรรมใหม่ในแต่ละขณะของชีวิต แต่ก็มีเจตนาในปัจจุบันที่เรามีโอกาสจะตัดสินใจกระทำกรรมใหม่ให้เป็นอย่างไรได้ด้วยถ้าเชื่อว่า การตัดสินใจทุกขณะเป็นเพราะกรรมเก่า จะกลายเป็นลัทธิกรรมเก่า (ปุพเพกตวาท) ที่เชื่อว่าเราจะเลือกทำกรรมใหม่ไม่ได้เลย ชีวิตก็ไม่มีทางพัฒนาได้
ผู้ปฏิบัติต้องสังเกตเองว่าเมื่อเรารับวิบาก ไม่ว่าจะเห็นภาพดี ไม่ดี นั่งสมาธิแล้วร้อนหรือเย็น เรามีเจตนาในแต่ละปัจจุบันขณะของเราเองได้หรือไม่ การที่เราจะตัดสินใจตั้งเจตนาอย่างไรอาจมีการกระทำในอดีตเป็นปัจจัย เช่น เคยฟังธรรมเรื่องนี้มา เคยฝึกแบบนี้มา เราก็เลยมีความอดทน หรือเราก็เลยตัดสินใจทำแบบนั้นๆ การตัดสินใจขึ้นกับเหตุปัจจัยในอดีต แต่เราก็มีอิสรภาพในปัจจุบันที่จะตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไร ตรงนี้แหละ คือตัวกรรม ซึ่งผู้ปฏิบัติต้องสังเกตเอง
ถ้าคนไหนฝึกน้อย ใช้ชีวิตตามกระแสแห่งกรรมในอดีตมาก ศักยภาพในการที่ตัวเองจะเปลี่ยนแปลตัวเองก็จะน้อย เคยเป็นคนขี้โกรธ ก็ขี้โกรธทุกวัน เคยเป็นคนตื่นสาย ก็ตื่นสายทุกวัน คนแบบนี้ก็จะเริ่มรู้สึกว่า สงสัยชีวิตเราคงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ เพราะเราเป็นคนขี้เกียจ มันก็ต้องขี้เกียจไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเขาเริ่มฝึก ที่จะฝืนตัวเอง ที่เราตื่นสายมาตลอด วันนี้จะตื่นเช้า พอเขาเปลี่ยนได้ เขาจะค่อยๆเรียนรู้ว่า เขาตัดสินใจทำกรรมใหม่โดยไม่ได้ totally depended on กรรมเก่าทั้งหมด
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม มนุษย์เกิดมาทำกรรม แต่ในภพภูมิอื่นเป็นการเสวยผลกรรม ทำกรรมใหม่ไม่ได้ ใช่ไหม
ตอบ ไม่ใช่ สัตว์ที่เกิดในภพต่างๆ ล้วนเป็นผลจากกรรมอันตนกระทำไว้ และเมื่อเกิดแล้ว ก็มีทั้งการรับผลกรรม และทำกรรมใหม่ได้อย่างเดียวกันทั้งหมด แต่ศักยภาพหรือโอกาสในการทำกรรมในแต่ละภพภูมิไม่เท่ากัน เดรัจฉานมีโอกาสที่จะทำกุศลได้น้อย มนุษย์ทำกรรมได้หลากหลายกว่าทั้งในด้านดีและร้าย มนุษย์จึงควรใช้โอกาสนี้ในการทำกุศลอย่างเต็มกำลังความสามารถ(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม การแก้กรรม ทำได้หรือไม่ อย่างไร
ตอบ หลักการ คือ ทำกุศกลกรรม (วัวขาว) พยายามอย่าทำอกุศลกรรม (วัวดำ) อีก แม้จะแก้ไขอดีตที่ทำไปแล้วไม่ได้ แต่ก็สามารถทำกรรมใหม่ที่ดีเพิ่มขึ้นได้(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม หากเคยกระทำผิดพลาดพลั้งไปต่อพ่อแม่ที่เสียชีวิตไปแล้ว ยังระลึกถึงความผิดนั้น จะแก้ไขเช่นไร
ตอบ ยอมรับความผิดนั้นเสีย อย่าไปพยายามหลอกตัวเอง ยอมรับตามเป็นจริงว่าการกระทำของเราย่อมมีทั้งดีและร้าย ผิดพลาดกันได้ (และก็ไม่ได้มีแค่ความผิดพลาดครั้งนั้น ส่วนดีที่เราทำก็มีอยู่) สำคัญคือเมื่อรู้แล้วก็เรียนรู้แก้ไข พัฒนาตนเองต่อไป(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม ถ้าการกระทำไม่มีเจตนา ไม่ได้จงใจ แต่ก็ยังต้องรับผลของการกระทำ (วิบาก) หรือไม่
ตอบ ที่ว่าไม่จงใจนั้น น่าจะหมายความว่า ไม่ได้ตั้งใจ หรือตั้งเจตนาอย่างนั้น แต่ในการระทำหนึ่งๆ ก็ย่อมกระทำด้วยเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
เช่นว่า ตั้งใจเดิน แต่ไม่ได้ตั้งใจเหยียบแมลงสาบ คือไม่ได้เจตนาจะเหยียบ แต่ก็มีเจตนาจะเดิน นั้นมันก็มีกรรม คือเจตนาเดิน และอาจจะด้วยความเร็ว หรือเดินด้วยความรีบร้อน การเดินด้วยความรีบร้อนนั่นคือกรรม ก็ย่อมมีวิบากคือการเคลื่อนไป เป็นปัจจัยให้มองทางไม่ทัน เป็นปัจจัยให้แมลงถูกเหยียบตาย เป็นต้น
เพราะฉะนั้นตอบว่า การกระทำกรรม ก็ย่อมก็มีวิบาก เป็นผลของการที่เดินรีบร้อน เดินเร็ว ก็อาจจะส่งผลทำให้ประสบอุบัติเหตุได้ง่าย หรือแม้แต่ส่งผลเป็นปัจจัยทำให้เหยียบแมลงสาบตัวนั้น ตาย ก็ได้ ก็เป็นผลของการที่เดินด้วยความรีบร้อน ไม่ระวัง
(ที่มา - ตามรอย...พุทธธรรม Online รุ่น 2/2564 บทที่ 4 (ครั้งที่ 2) เวลาบรรยาย 23.01 - 23.44)
ถาม ทำงานให้คำปรึกษาผู้อื่น เป็นการไปแทรกแซงกฎแห่งกรรมหรือเปล่า
ตอบ การกระทำของเราก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเหตุปัจจัย ที่มีผลต่อการกระทำของผู้คนรอบข้างเป็นปกติอยู่แล้ว
เช่น เราเป็นพ่อเป็นแม่ ลูกมาปรึกษาว่า หนูท้อง ทำยังไงดี -- ลูกเราท้อง เขาก็ต้องรับผลของการกระทำของเขาอยู่แล้ว แต่การที่เราเป็นแม่ เราก็ต้องให้คำปรึกษา ให้ข้อคิดว่า ถ้าทำอย่างนี้จะส่งผลอย่างนั้น อย่างนี้ หรือพ่อแม่อาจตั้งคำถามก็เป็นปัจจัยให้ลูกได้ทบทวน คิดหาคำตอบว่า ลูกรู้สึกยังไร ลูกกังวลเรื่องใด ลูกอยากให้เป็นอย่างไร ฯลฯ การกระทำของเรา ไม่ว่าจะเป็นการสอบถาม หรือให้คำแนะนำ ก็เป็นกรรมของเรา ซึ่งส่งผลต่อลูก ส่งผลในทางดีก็ได้ ร้ายก็ได้ การกระทำของเรา มีผลต่อลูก ทำให้การกระทำกรรมของเขาเป็นไปต่างๆ เช่นเขาอาจจะใจเย็นลง คิดทบทวนเหตุผลได้ดีขึ้น หรืออาจจะยิ่งเสียใจ ท้อแท้ว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ กรรมที่เขาทำก็จะมีกรรมของเราเป็นปัจจัย ดังนั้นวิบากที่เขาจะได้รับก็แปรเปลี่ยนไป - เป็นไปได้ , ถ้าเราไม่แนะนำ เค้าอาจจะทุกข์ทรมานมากนะ เค้าอาจจะคิดไม่ออกว่า จะแก้ปัญหายังไง เราก็เลยให้คำแนะนำ เราก็เลยสอบถามให้เค้าได้ใคร่ครวญ การกระทำของเราส่งผลต่อผู้คนรอบข้าง ในทางใดทางหนึ่งเสมอ
ฉะนั้น เราจึงควรพิจารณาโดยแยบคายในทุกการกระทำของเรา ไม่ใช่เพียงคิดว่า ฉันทำด้วยเจตนาดีนะ แต่จะส่งผลต่อใครอย่างไร ไม่สนใจ แต่ก็อย่าไปคาดหวังว่าการกระทำของเราจะต้องส่งผลดีต่อทุกๆ คน เพราะการกระทำของเราก็เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๓๑ พ.ค. ๖๕)
ถาม (๑) เรื่องกรรมทั้งหมด เป็นความเชื่อ ความศรัทธาใช่หรือไม่ ?
(๒) จะพิสูจน์เรื่องกรรมได้อย่างไร ?
(๓) หากเชื่อ หรือศรัทธาเรื่องกรรม รวมถึงการเชื่อเรื่องกรรมดี (กุศล) กรรมชั่ว (อกุศล) และเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด โดยไม่รู้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ จะถือว่าเป็นอวิชชา เป็นความเห็นผิด และถือเป็นกรรมหนัก "นิยตมิจฉาทิฏฐิ" หรือไม่ ?
ตอบ ขอชวนให้พิจารณาเปรียบเทียบกับตัวอย่างต่อไปนี้...ถ้า "โลกกลม" เป็นความจริง และ "โลกแบน" เป็นความเท็จ
- คนที่ปักใจเชื่อว่า "โลกแบน" โดยไม่พิจารณา ตรวจสอบ เรียกว่า เชื่อโดยไม่ใช้ปัญญา และสิ่งที่เชื่อนั้นไม่จริง เรียกว่ามีความเชื่อผิด (การเชื่อผิด หลงผิด - โมหะ เป็นคนละสภาวะกับ การไม่รู้สิ่งที่ถูก - ไม่มีปัญญา)
- คนที่ฟังแล้วปักใจเชื่อเลย โดยไม่พิจารณา ตรวจสอบ เรียกว่าเป็นความเชื่อที่อาศัยศรัทธาโดยไม่ใช้ปัญญา และไม่เอื้อให้เกิดปัญญา แต่ความเชื่อของเขานั้นถูก (ตรงตามความจริง) แม้ไม่เกิดปัญญา แต่ก็ไม่เรียกว่าเป็นความเชื่อผิด
- คนที่ฟังแล้วยังไม่ปักใจเชื่อ แต่หาข้อมูล พิจารณาด้วยเหตุผล จนได้ข้อสรุปว่าจริง จึงเชื่อ เรียกว่าเป็นศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญา และศรัทธานั้นเอื้อให้เกิดปัญญาชนิดที่เกิดจากการคิดวิเคราะห์ เรียกว่า จินตามยปัญญา
- คนที่ฟังแล้วยังไม่ปักใจเชื่อ แต่หาข้อมูล พิจารณาด้วยเหตุผล พิสูจน์ทดลอง จนรู้จริงว่าโลกกลม (หรืออย่างน้อยก็ไม่แบน) เมื่อรู้ชัดอย่างนี้ก็ไม่ต้องเชื่อ เรียกได้ว่า ศรัทธานำไปสู่ปัญญา ชนิดที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา
ในทำนองเดียวกันนั้น ถ้า หลักกรรม คือความเป็นเหตุเป็นผลของสิ่งทั้งปวง เป็นความจริง
- คนที่ปักใจเชื่อว่ากรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี ชื่อว่า มีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ)
- คนที่เชื่อหลักกรรม แต่เป็นหลักกรรมที่ไม่ถูกต้อง เช่นเชื่อว่า ทุกสิ่งเป็นไปเพราะกรรมเก่า เราไม่มีสิทธิ์ที่จะทำอะไรได้ อย่างนี้็เป็นความเชื่อที่ผิด (มิจฉาทิฏฐิ)
- คนที่เชื่อหลักกรรมถูกต้องด้วยศรัทธา ไม่พิจารณา เรียกว่า มีความเชื่อในสิ่งที่ถูก ไม่ชื่อว่ามีมิจฉาทิฏฐิ แต่ก็อาจจะยังไม่ชื่อว่ามีปัญญา
- คนที่คิดพิจารณาด้วยเหตุผลจึงเชื่อ เรียกว่ามีปัญญา มีความเห็นถูก ชนิดที่เรียกว่า โลกียสัมมาทิฏฐิ
- คนที่เจริญสติปัฏฐาน เห็นสภาวะตามเป็นจริงของนามรูป เห็นความเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันของนามรูป จนเกิดวิปัสสนาญาณ คือปัญญารู้ลักษณะของสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รวมถึงความเป็นเหตุ เป็นปัจจัย เป็นผล ของสิ่งต่างๆ รู้ความเป็นปัจจยาการของสรรพสิ่ง คือ อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท (เมื่อรู้กระบวนการเหตุปัจจัยทั้งหมด ก็รู้ว่ากรรมส่งผลอย่างไร และการเกิดไม่ว่าในแต่ละขณะจิต หรือการเกิดในแต่ละภพชาติก็ล้วนแต่ดำเนิน เป็นไปตามกระบวนการของเหตุปัจจัยเช่นว่านี้) อย่างละเอียดแยบคายยิ่งๆ ขึ้นไป จนปัญญารู้ชัดถึงที่สุด ก็คือปัญญาในมรรคจิต ขณะที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ เรียกว่า โลกุตตรสัมมาทิฏฐิ
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๒๒ ส.ค. ๖๓)
ถาม หลักกรรม ขัดกับ อนัตตา หรือไม่?
ตอบ ในหนังสือพุทธธรรม เรื่อง "กรรมกับอนัตตา ขัดกันหรือไม่?" อธิบายไว้ว่า....- หลักอนัตตากับกรรม ไม่ขัดกันเลย ตรงข้าม อนัตตากลับสนับสนุนกรรม เพราะสิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา กรรมจึงมีได้ เมื่อกระบวนธรรมดำเนินไป องค์ประกอบทุกอย่างต้องเกิดดับเข้าสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องกันไป กระแสสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยจึงจะดำเนินไปได้ ไม่ใช่มีอะไรมาเป็นตัวเที่ยงคงที่ ลอยทื่อกั้นขวางอยู่กลางกระแส จะไปไหนก็ไม่ไป จะเป็นไปอย่างไร ก็ไม่เป็นไป ถ้ามีอัตตา กรรมก็ไม่มี เพราะอัตตาไม่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีอะไรเข้าถึงเนื้อตัวมัน อะไรจะเกิดขึ้น ก็ไม่มีผลให้เนื้อตัวอัตตาเปลี่ยนแปลงไป ในที่สุดก็จะต้องแยกคนออกเป็นสองชั้น อย่างลัทธิสัสสตทิฏฐิบางพวก ที่ว่าคนทำกรรม รับผลกรรมกันไป อยู่แค่ชั้นนอก ส่วนแก่นแท้หรืออัตตาอยู่ภายในเที่ยง คงที่ ถึงอะไรจะเป็นไปอย่างไร อัตตาก็คงเดิม ไม่ถูกกระทบกระเทือน
- ที่เราทำกรรม และรับผลกรรมกันอยู่ทุกวันนี้ ก็ทำและรับผลกรรมกันอยู่ โดยไม่ต้องมีตัวผู้ทำกรรมและไม่มีคนรับกรรมอยู่แล้ว ในสิ่งทั้งหลายที่ประชุมกันอยู่และดำเนินไปเป็นกระบวนธรรมนั้น ต้องพิจารณาในแง่ที่ว่า มีอะไรบ้างเข้าไปเป็นปัจจัย อะไรไปสัมพันธ์กับอะไร แล้วมีผลอะไรเกิดขึ้นในกระบวนธรรมนั้น ทำให้กระบวนธรรมนั้นผันแปรเป็นไปอย่างไรๆ เมื่อมีเหตุที่เรียกว่าการกระทำเกิดขึ้นเป็นปัจจัยแล้ว ก็ย่อมมีผลที่เรียกว่าวิบากเกิดขึ้นในกระบวนธรรมนั้นเอง เรียกว่ามีการกระทำ และมีผลการกระทำเกิดขึ้น โดยไม่ต้องมีเจ้าของกรรม ที่มาเป็นผู้ทำกรรมและเป็นผู้รับผลกรรมนั้นอีกชั้นหนึ่ง
กรรมคือความเป็นไปตามเหตุและผลในกระบวนธรรมนั้น อันต่างหากจากสมมติที่เราเอาไปสวมใส่ครอบให้มัน เมื่อตกลงจะสมมติเรียกกระบวนธรรมที่ดำเนินอยู่นั้นว่า เป็น นาย ก. นาย ข. ก็ย่อมมีนาย ก. นาย ข. ที่เป็นเจ้าของกรรม เป็นผู้ทำกรรม และรับผลกรรม แต่กระบวนธรรมที่เป็นตัวสภาวะ ก็ดำเนินไปตามปกติของมัน เป็นเหตุเป็นผลพร้อมอยู่ในตัวโดยสมบูรณ์อยู่แล้ว ไม่ต้องอาศัยนาย ก. นาย ข. จึงจะมีเหตุมีผลเกิดขึ้น
เมื่อจะพูดในแง่กระบวนธรรม ว่าดำเนินไปอย่างไร ด้วยเหตุปัจจัยอะไร เป็นผลอย่างไร ก็พูดไป หรือจะพูดในแง่ว่านาย ก. นาย ข. ทำกรรมนั้นแล้ว รับผลกรรมอย่างนี้ ก็พูดไป เมื่อพูดในแง่สมมติ ก็ให้รู้ว่ากำลังพูดในแง่สมมติ เมื่อพูดในแง่สภาวะหรือปรมัตถ์ ก็ให้รู้ว่ากำลังพูดในแง่สภาวะ เมื่อรู้เท่าทันความเป็นจริง และความมุ่งหมายในการพูดแบบนั้นๆ ไม่เข้าไปยึดติดถือมั่น ไม่เอามาปะปนกัน ก็เป็นอันใช้ได้ ....
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๒๙ ส.ค. ๖๓ - ยกคำตอบมาจากพุทธธรรมออนไลน์ หน้า 325)
ถาม ในขณะที่ตัดสินใจทำดี (กุศลกรรม) ไม่ทำชั่ว (อกุศลกรรม) ในแต่ละขณะของชีวิต มันคือการขจัดอวิชชาและตัณหา และพัฒนาชีวิตไปสู่นิพพานได้อย่างไร
ตอบ ในทุกขณะของชีวิต (ทุกวิถีจิต) ไม่ว่าเราจะอยู่ที่สำนักกรรมฐาน หรือที่บ้าน ที่ทำงาน เราก็รับรู้อารมณ์ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ แล้วตัดสินใจกระทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง (กุศลกรรม หรืออกุศลกรรม) หากตัดสินใจทำกุศลกรรม (ทำบุญ, เจริญทาน ศีล ภาวนา, เจริญไตรสิกขา) ก็คือเลือกดำเนินชีวิตตามมรรค ตามหลักโอวาทปาติโมกข์ เป็นปัจจัยให้เกิดผล (วิบาก) ในทางที่ดีงาม มีความคุ้นชินในการทำกุศลเพิ่มขึ้น ละโอกาสในการทำชั่วไปขณะหนึ่ง เมื่อสะสมเหตุปัจจัยเช่นนี้เพิ่มขึ้นๆ พัฒนาบุญกุศลให้ประณีตยิ่งขึ้น มีพฤติกรรมดี เป็นปัจจัยให้จิตมีคุณภาพ กิเลสตัณหาลดลง เป็นฐานให้พิจารณาเห็นชีวิตตามเป็นจริง (วิปัสสนาญาณ) ละอวิชชา ก็ไม่ปรุงแต่งในทางที่จะเกิดทุกข์อีก เรียกว่านิพพาน(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม "... เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี ..."
เป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อทั้งหมดนี้ ก็คือส่วนของ "ขันธ์ห้า"
ตอบ ความเป็นปัจจัยนั้น มิได้หมายความว่า เป็นการส่งต่อจากสิ่งหนึ่งไปเกิดเป็นอีกสิ่งหนึ่ง และถ้า "ก เป็นปัจจัย ข จึงมี" ก็ไม่จำเป็นว่า ก จะต้องดับไปก่อน ข จึงจะเกิดขึ้นได้ อุปมาได้ดั่งไม้ ๓ ขา ที่พิงกันอยู่ ก็เรียกว่า ไม้แต่ละท่อน เป็นปัจจัยซึ่งกันและกันให้ไม้อีกท่อนตั้งอยู่ได้ (ดูคำอธิบายเพิ่มเติมในหนังสือ เหตุปัจจัยในปฏิจจสมุปบาทและกรรม หัวข้อ ความหมายของ เหตุ และ ปัจจัย)ยกตัวอย่างเช่น
- วิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป ในกรณีที่ทวิปัญจวิญญาณจิต (วิญญาณขันธ์ในขณะที่รับอารมณ์ทางปัญจทวาร) เป็นปัจจัยแก่นาม คือ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ (เจตสิกขันธ์ ๓ ที่เกิดร่วมกับวิญญาณขันธ์ในขณะนั้นๆ ซึ่งได้แก่ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินมทรีย์ มนสิการ)
- นามรูป เป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะ ในกรณีที่เจตสิกขันธ์ ๓ ที่ประกอบในทวิปัญจวิญญาณจิตนั้นเอง ก็เป็นปัจจัยแก่ปัญจายตนะ เช่น จักขายตนะ ซึ่งก็คือวิญญาณขันธ์ที่เกิดพร้อมกัน
- สฬายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ในกรณีที่จักขายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิด จักขุผัสสะ
- ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิด เวทนา ในกรณีที่จักขุผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิด จักขุผัสสชาเวทนา
ซึ่งจะสังเกตได้ว่า ในขณะจิตเดียวที่รับอารมณ์ทางตานั้น ทั้ง จักขุวิญญาณ (วิญญาณขันธ์), ผัสสะเจตสิก (สังขารขันธ์), เวทนาเจตสิก (เวทนาขันธ์), สัญญาเจตสิก (สัญญาขันธ์), เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินมทรีย์ มนสิการ (สังขารขันธ์) ต่างก็เกิดขึ้นพร้อมกัน ดับไปพร้อมกัน และก็เป็นปัจจัยซึ่งกันและกันด้วยส่วนในกรณีที่ว่า "เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี" นั้น อธิบายได้ว่า สังขาร คือกรรมในอดีต ส่วนวิญญาณคือวิบากในปัจจุบัน
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อนั่งอยู่ในโรงอาหาร ซึ่งมีอารมณ์ทางอายตนะต่างๆ มากมาย อปุญญาภิสังขาร (อกุศลเจตนา) ที่โกรธเคือง มุ่งหมายอยากทำร้ายใครสักคน ก็เป็นปัจจัยให้เกิดจักขุวิญญาณมุ่งไปรับรู้ภาพของบุคคลที่ตนโกรธ
ดูคำอธิบายเพิ่มเติมในหนังสือพุทธธรรม บทที่ ๔ หัวข้อ ความหมายในชีวิตประจำวัน)
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๒๒ ส.ค. ๖๓)
ถาม เวทนา สังขาร วิญญาน ในขันธ์ ๕ กับ สังขาร วิญญาน เวทนา ในปฎิจจสมุปบาท ต่างกันอย่างไร
ตอบ ขันธ์ ๕ เป็นการอธิบายเชิงองค์ประกอบของชีวิต
ปฏิจจสมุปบาท เป็นการอธิบายกระบวนการของชีวิต ซึ่งอธิบายได้หลายแง่ หลายระดับ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน พุทธธรรม บทที่ ๔) ถ้าว่าโดยความหมายอย่างกว้าง ก็ไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ
เวทนา คือ ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ซึ่งเกิดจากผัสสะ ทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ
สังขาร คือ องค์ประกอบหรือคุณสมบัติต่างๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ซึ่งแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลางๆ ปรุงแปรการตริตรึกนึกคิดในใจ และการแสดงออกทางกายวาจา ให้เป็นไปต่างๆ เป็นที่มาของกรรม
วิญญาณ คือ ความรู้แจ้งอารมณ์ทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ คือ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้สัมผัสทางกาย และการรู้อารมณ์ทางใจ
แต่ถ้าพิจารณาโดยละเอียด ตามหลักอภิธรรม ก็สามารถระบุชัดลงไปว่า องค์ธรรมในปฏิจจสมุปบาทนั้นหมายเอากระบวนการเกิดทุกข์โดยตรง จึงไม่รวมเอาสภาวธรรมที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่นโลกุตตรจิต เข้าไว้ด้วย จึงสามารถระบุองค์ธรรมที่เกิดในกระบวนการปฏิจจสมุปบาทอย่างเฉพาะเจาะจงลงไปได้ กล่าวคือ
เวทนา ในขันธ์ ๕ คือ เวทนาเจตสิก
เวทนา ในปฏิจจสมุปบาท คือ เวทนาเจตสิก ในโลกียวิปากจิต
สังขาร ในขันธ์ ๕ คือ เจตสิก ๕๐ เว้น เวทนา, สัญญา
สังขาร ในปฏิจจสมุปบาท คือ เจตนาเจตสิก ในอกุศลจิต และโลกียกุศลจิต
วิญญาณ ในขันธ์ ๕ คือ จิตทั้งหมด
วิญญาณ ในปฏิจจสมุปบาท คือ โลกียวิปากจิต ๓๒
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑ ส.ค. ๖๓)
ถาม การดับสังขาร จะทำให้ภพดับตามด้วยหรือไม่
ตอบ ก่อนที่จะตอบคำถาม พึงทำความเข้าใจในประเด็นเบื้องต้นต่อไปนี้
- สังขารกับภพ มีคำอธิบายในวงจรคล้ายกันมาก สังขารอยู่ในช่วงชีวิตฝ่ายอดีต และภพอยู่ในช่วงชีวิตฝ่ายปัจจุบัน ต่างก็เป็นตัวการสำคัญ ที่ปรุงแต่งชีวิตให้เกิดในภพต่างๆ ความหมายจึงใกล้เคียงกันมาก ซึ่งความจริงก็เกือบเป็นอันเดียวกัน ต่างที่ขอบเขตของการเน้น สังขารมุ่งไปที่ตัวเจตนา หรือเจตจำนง ผู้ปรุงแต่งการกระทำ เป็นตัวนำในการทำกรรม ส่วนภพมีความหมายกว้างกว่า โดยแบ่งเป็นกรรมภพกับ อุปปัตติภพ กรรมภพแม้จะมีเจตนาเป็นตัวการสำคัญเหมือนสังขาร แต่ให้ความรู้สึกครอบคลุมมากกว่า โดยเพ่งเอากระบวนพฤติกรรมทั้งหมดทีเดียว ส่วนอุปปัตติภพ หมายถึงขันธ์ ๕ ที่เกิดเพราะกรรมภพนั้น โดยนัยนี้ สังขาร กับกรรมภพ จึงพูดพ่วงไปด้วยกันได้ (ดูพุทธธรรม หน้า 187)
- ในเรื่องนี้ พึงรู้ทันความจำกัดของภาษาด้วย เช่น กริยาว่ามี ก็หมายถึงเป็นด้วย เช่นที่ว่า “อวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี” นี้ อวิชชา คือไม่มีวิชชา ไม่รู้แจ้ง ยังไม่รู้ความจริงแท้ ก็คือครอบคลุมความรู้ที่ยังไม่ถึงความจริงแท้ตั้งต้นแต่รู้ผิดเข้าใจผิด รู้ถูกเข้าใจถูก ความหมายจึงมิใช่แค่ว่า มี-ไม่มี แต่คลุมไปถึงว่า มีอวิชชาให้รู้แค่ไหน-ไม่รู้แค่ไหน อย่างไร ในลักษณะใด ก็เป็นปัจจัยให้สังขารความคิดปรุงแปรแต่งสรรเป็นอย่างนั้นๆ ได้-ถึงแค่นั้น ในลักษณะอาการอย่างนั้นๆ ดังนี้เป็นต้น (ดูพุทธธรรม หน้า 14)เมื่อเข้าใจประเด็นข้างต้นแล้ว ก็จะสามารถทำความเข้าใจข้อความที่ว่า "เมื่อสังขารดับ .... ภพจึงดับ" ได้ว่า เมื่อสังขารคือเจตนาก่อนหน้าไม่เป็นอย่างนั้น ภพซึ่งหมายรวมถึงกรรมในเวลาต่อมาจึงไม่เป็นอย่างนั้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าในตอนแรก นาย ก มีเจตนาโกรธเคืองนาย ข ส่งผลให้ นาย ก จับจ้องดูอาการของนาย ข แล้วเกิดเป็นกรรมคือการด่าว่า ในเวลาต่อมา แต่ถ้า นาย ก ไม่มีเจตนาโกรธแบบนั้นในตอนแรก ก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ นาย ก ไม่ทำกรรมคือการด่าว่าอย่างนั้น ในเวลาต่อมา
คำว่า "ดับ" ในที่นี้ จึงไม่ใช่การดับของรูปนามทั้งปวงตามความหมายของอนิจจตา (ซึ่งรูปนามทั้งปวงเกิดดับตามสามัญลักษณ์ของตนอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าดับ เพราะนามก่อนหน้าดับ) และก็มิได้หมายถึงเพียงการดับรูปนาม ไม่เกิดอีก อย่างกรณีที่พระอรหันต์ละอวิชชาได้สิ้นเชิง แล้วดับขันธปรินิพพาน แล้ว จึงจะไม่มีวิญญาณ นามรูป.... ภพ ชาติ ชรามรณะ เกิดขึ้นและดับไปอีกเลย(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑๘ ก.ย. ๖๔)
ถาม ถ้าอวิชชาไม่ใช้จุดเริ่มต้น ขอให้ยกตัวอย่างกรณีที่ไม่ได้เริ่มต้นที่อวิชชา
และขอตัวอย่างกรณีการแสดงปฎิจจสมุปบาทที่ไม่จำเป็นต้องครบ ๑๒ ข้อตอบ ในหนังสือพุทธธรรม มีคำอธิบายและตัวอย่างดังนี้
ในหลักที่แสดงเต็มรูปอย่างในที่นี้ องค์ประกอบทั้งหมดมีจำนวน ๑๒ หัวข้อ องค์ประกอบเหล่านี้ เป็นปัจจัยเนื่องอาศัยสืบต่อกันไปเป็นรูปวงเวียน ไม่มีต้น ไม่มีปลาย คือไม่มีตัวเหตุเริ่มแรกที่สุด (มูลการณ์ หรือ The First Cause) การยกเอาอวิชชาตั้งเป็นข้อที่หนึ่ง ไม่ได้หมายความว่า อวิชชาเป็นเหตุเบื้องแรก หรือเป็นมูลการณ์ของสิ่งทั้งหลาย แต่เป็นการตั้งหัวข้อเพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจ โดยตัดตอนยกเอาองค์ประกอบอันใดอันหนึ่ง ที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุด ขึ้นมาตั้งเป็นลำดับที่ ๑ แล้วก็นับต่อไปตามลำดับ
บางคราวท่านป้องกันมิให้มีการยึดเอาอวิชชาเป็นมูลการณ์ โดยแสดงความเกิดของอวิชชาว่า “อวิชชาเกิด เพราะอาสวะเกิด อวิชชาดับ เพราะอาสวะดับ – อาสวสมุทยา อวิชฺชาสมุทโย อาสวนิโรธา อวิชฺชานิโรโธ” (ม.มู. ๑๒/๑๓๐/๑๐๑)
... การแสดงอาจเริ่มต้นที่องค์ประกอบข้อหนึ่งข้อใดในระหว่างก็ได้ สุดแต่องค์ประกอบข้อไหนจะกลายเป็นปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา เช่น
- อาจจะเริ่มที่ชาติ (ชาติมีภพเป็นเหตุ มีภพเป็นสมุทัย มีภพเป็นกำเนิด มีภพเป็นแดนเกิด ฯ) (เช่น สํ.นิ. ๑๖/๑๐๗/๖๑)
- อาจจะเริ่มที่เวทนา (เขาเป็นผู้ถึงพร้อมซึ่งความยินดียินร้ายอย่างนี้ เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดีมิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจ เวทนานั้นอยู่ เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้ อย่างนี้) (เช่น ม.มู. ๑๒/๔๕๓/๔๘๙)
- อาจจะเริ่มที่วิญญาณ เมื่อวิญญาณมีนามรูปจึงมี เมื่อนามรูปมี สฬายตนะจึงมี เมื่อสฬายตนะมี ผัสสะจึงมี เมื่อผัสสะมี เวทนาจึงมี เมื่อเวทนามี ตัณหาจึงมี เมื่อตัณหามี อุปาทานจึงมี เมื่ออุปาทานมี ภพจึงมี เมื่อภพมี ชาติจึงมี เมื่อชาติมี ชราและมรณะจึงมี อริยสาวกนั้นย่อมรู้ประจักษ์อย่างนี้ว่า โลกนี้ย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้) (เช่น สํ.นิ. ๑๖/๑๗๘/๙๓)
อาจจะเริ่มที่ใดที่หนึ่ง แล้วเชื่อมโยงกันขึ้นมาตามลำดับจนถึงชรามรณะ (ชักกลางไปหาปลาย) หรือสืบสาวย้อนลำดับลงไปจนถึงอวิชชา (ชักกลางมาหาต้น) ก็ได้ หรืออาจเริ่มต้นด้วยเรื่องอื่นๆ ที่มิใช่ชื่อใดชื่อหนึ่งใน ๑๒ หัวข้อนี้ แล้วชักเข้ามาพิจารณาตามแนวปฏิจจสมุปบาทก็ได้ เช่น
- ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากมีอยู่ในผัสสาหารไซร้ ... ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก มีอยู่ในมโนสัญเจตนาหารไซร้ ... ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากมีอยู่ในวิญญาณาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในวิญญาณาหารนั้น ในที่ใดวิญญาณตั้งอยู่งอกงาม ในที่นั้น ย่อมมีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่ใด มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้น ย่อมมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่ใด มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่นั้น ย่อมมีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่ใด มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่นั้น ย่อมมีชาติชรามรณะต่อไป ในที่ใด มีชาติชรามรณะต่อไป เราเรียกที่นั้นว่ามีความโศก มีธุลี มีความคับแค้น (สํ.นิ. ๑๖/๒๔๖/๑๒๒)ในบันทึกท้ายบท มีคำอธิบายเพิ่มเติมตามแนวอภิธรรมว่า
ในพระอภิธรรมปิฎก ท่านจำแนกกระบวนธรรมปฏิจจสมุปบาทออกเป็นหลายแบบ ตามประเภทแห่งจิตที่เป็นอกุศล กุศล อัพยากฤต (วิบาก และกิริยา) และซอยละเอียดออกไปอีกตามระดับจิตที่เป็น กามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร โลกุตระ (อภิ.วิ. ๓๕/๒๕๕-๔๓๐/๑๘๑-๒๕๗) องค์ธรรมที่เป็นปัจจัยในกระบวนธรรมเหล่านั้นบางอย่างเปลี่ยนแปลกออกไปตามประเภทของจิตด้วย ไม่เป็นแบบเดียวเหมือนอย่างที่แสดงไว้ในพระสูตร เช่น ในกุศลจิตบางอย่าง กระบวนธรรมอาจเริ่มต้นด้วยสังขารทีเดียว ไม่มีอวิชชา หรืออาจเริ่มด้วยกุศลมูลแทนอวิชชา เป็นต้น
โดยเฉพาะที่น่าสังเกตยิ่ง คือ ตัณหามีเฉพาะในอกุศลจิตอย่างเดียวเท่านั้น ในจิตประเภทอื่นๆ ตัณหาถูกแทนด้วย ปสาทะ หรือไม่ก็ข้ามไปเสียทีเดียว ทั้งนี้เพราะอภิธรรมศึกษาจิตซอยเป็นแต่ละขณะๆ จึงวิเคราะห์องค์ธรรมทั้งหลายที่เป็นปัจจัยในกระบวนธรรมเฉพาะขณะนั้นๆ อวิชชาและตัณหา เป็นต้น ที่ถูกข่มถูกเบียนในขณะนั้นๆ จะไม่ถูกแสดงไว้ตามชื่อของมัน แต่แสดงในรูปองค์ธรรมอื่นที่ปรากฏเด่นชัดขึ้นมาแทนที่ หรือไม่ก็ข้ามไปทีเดียว
นอกจากนั้น บาลีในพระอภิธรรมปิฎกยังได้แสดงองค์ธรรมทั้งหลายในลักษณะที่สัมปยุต (ประกอบร่วม) และที่เป็นปัจจัยในทางกลับกัน (เช่น อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารก็เป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชา สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณก็เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร ฯลฯ) ไว้ด้วย
ในหนังสือพุทธธรรมแสดงตัวอย่างไว้หลายกรณี ผู้สนใจสามารถดูได้ที่หัวข้อ บันทึกที่ ๔: ปฏิจจสมุปบาทแนวอภิธรรม หรือ พระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๒ วิภังคปกรณ์ ปัจจยาการวิภังค์(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑๘ ก.ย. ๖๔)
ถาม การนั่งสมาธิโดยนำข้อธรรม เช่น ปฎิจจสมุปบาท มานั่งทบทวนค่อยๆ ย่อยคิดในแต่ละหัวข้อไปเรื่อยๆ โดยอาจจะคิดต่อเนื่องไปถึงกระบวนธรรมอื่นๆ ที่สอดคล้องกันด้วย จะถือว่าเป็นการนั่งสมาธิในเชิงวิปัสสนาหรือไม่
ตอบ การปฏิบัติเช่นนั้นไม่ใช่วิปัสสนา แต่เป็นการศึกษาปริยัติแล้วนำมาคิดพิจารณาใคร่ครวญ เทียบเคียงกับประสบการณ์ หรืออาจจะกลายเป็นการนึกคิดเลื่อนลอยไปเลยก็ได้
การเจริญวิปัสสนา คือการพิจารณารูปนามที่ปรากฏตามเป็นจริงในแต่ละปัจจุบันขณะ ไม่ใช่การนึกคิดเทียบเคียง แต่การพิจารณารูปนามที่ปรากฏนั่นเองจะทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดปัญญาว่ารูปนามเหล่านั้นมีลักษณะอาการเป็นไปอย่างไร ซึ่งก็คือเป็นไปตามธรรมชาติ (ไม่ว่าจะอธิบายในแง่ ไตรลักษณ์ อริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท) ผู้ปฏิบัติที่มีความเข้าใจผิดพลาดเช่นนี้ พึงศึกษาตัวอย่างคำอธิบายของพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่แสดงไว้ในสื่อการเรียนรู้บทที่ 4 และอาจจะศึกษาเพิ่มเติมในหลักสูตร ตามรอย..อภิธัมมัตถสังคหะ ตามแนวพุทธธรรม สำหรับการฝึกวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกตรงต่อการปฏิบัติวิปัสสนา
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑๘ ก.ย. ๖๔)
ถาม จากหนังสือสือพุทธธรรมออนไลน์ หน้า ๒๕๒ ที่ยกข้อความในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๒๐๘ มาแสดงว่า "ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ ประการนี้เป็นเหตุให้เดือดร้อน สองประการ คืออะไร? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มิได้ทำความดีงามไว้ มิได้ทำกุศล มิได้ทำบุญซึ่งเป็นเครื่องต่อต้านความขลาดกลัวไว้"
ทำไมจึงกล่าวว่าบุญเป็นเครื่องต่อต้านความหวาดกลัว เป็นความหวาดกลัวในแง่ใด?
ตอบ ในอรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค อธิบายว่า"กุศลคือกรรมอันหาโทษมิได้ อันท่านทำแล้ว เพราะเหตุนั้น ท่านชื่อว่าผู้มีกุศลอันทำแล้ว. ความเป็นผู้ขลาดกล่าวคือความกลัวอันใดย่อมเกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลาย ในเมื่อมรณกาลมาถึงเข้า, เครื่องต้านทานคือกรรมเครื่องป้องกันจากความเป็นผู้ขลาดนั้นอันท่านทำแล้ว เพราะเหตุนั้น ท่านชื่อว่าผู้มีเครื่องต้านทานจากความเป็นผู้ขลาดอันกระทำแล้ว."
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๒๒ ส.ค. ๖๓)
ถาม ขณะดำเนินชิวิต เวลาใด เราควรนึกถึงไตรลักษณ์ เวลาใดเราควรนึกถึง ปฏิจจสมุปปบาท มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
ตอบ เรื่องอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท และไตรลักษณ์ ต่างก็เป็นการอธิบายความจริงของธรรมชาติ ที่เป็นไปตามกระบวนการเหตุปัจจัย เมื่อเข้าใจความจริงนี้ ไม่ว่าจะกระทำการใดๆ ในขณะใดๆ ก็จะไม่เข้าใจผิด คิด ปรุงแต่งไปด้วยความหลงผิดคิดให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่างใจ แต่เข้าใจเหตุปัจจัยแล้วพยายามสร้างเหตุปัจจัยที่จะส่งผลดีตามกำลังความสามารถของตน โดยไม่ก่อให้เกิดทุกขอริยสัจ
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๒๒ ส.ค. ๖๓)-----------------------------------------
ดูรายละเอียดเพื่มเติม เรื่อง ธรรมนิยาม ๑ และ ธรรมนิยาม ๓ ที่อธิบายความสัมพันธ์ของ อิทัปปัจจยตา ไตรลักษณ์ และอริยสัจ มีความตอนหนึ่งว่า....
"....อาการที่ขันธ์ ๕ เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตานี้ แสดงออกมาในตัวมันเองถึงลักษณะที่เป็น และของขันธ์ทั้ง ๕ หรือของประดาสังขตธรรมนั้น นี่ก็คือ ธรรมนิยามที่ ๒ และ ๓ คือ อนิจจตา และ ทุกขตา (พูดให้เต็มตามหลักว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา, สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา)
เมื่อขันธ์ ๕ เป็นไปตามอิทัปปัจจยตา โดยมีลักษณะเป็นอนิจจา ทุกขา อย่างนี้ แล้วยังไปรวมอยู่ใต้ธรรมนิยามที่ ๔ คืออนัตตตาข้อต่อไปด้วย มันจึงมีสภาพเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ เป็นที่ก่อตัวของทุกข์ หรือเป็นที่รวมไว้แห่งศักยภาพของการที่จะเป็นทุกข์ และนี่ก็คือความหมายของอริยสัจข้อที่ ๑ อันได้แก่ ทุกขอริยสัจ..."
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๒๙ ส.ค. ๖๓)
ถาม อิทัปปัจจยตาและปฏิจจสมุปบาทต่างกันอย่างไร
ตอบ หนังสือพุทธธรรม บทที่ ๔ หัวข้อ "ตัวบทและแบบความสัมพันธ์ ในหลักปฏิจจสมุปบาท อธิบายว่า...."พุทธพจน์ที่เป็นตัวบทแสดงหลักปฏิจจสมุปบาทนั้น แยกได้เป็น ๒ ประเภท คือ ที่แสดงเป็นกลางๆ ไม่ระบุชื่อหัวข้อปัจจัย อย่างหนึ่ง กับที่แสดงเจาะจงระบุชื่อหัวข้อปัจจัยต่างๆ ซึ่งสืบทอดต่อกัน โดยลำดับเป็นกระบวนการ อย่างหนึ่ง
อย่างแรก มักตรัสไว้นำหน้าอย่างหลัง เป็นทำนองหลักกลาง หรือหลักทั่วไป ส่วนอย่างหลัง พบได้มากมาย และส่วนมากตรัสไว้ล้วนๆ โดยไม่มีอย่างแรกอยู่ด้วย อย่างหลังนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นหลักแจงหัวข้อ หรือขยายความ เพราะแสดงรายละเอียดให้เห็น หรือเป็นหลักประยุกต์ เพราะนำเอากระบวนการธรรมชาติมาแสดงให้เห็นความหมายตามหลักทั่วไปนั้น ....
๑) หลักทั่วไป
ก. อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้นข. อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี
อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับ (ด้วย)พิจารณาตามรูปพยัญชนะ หลักทั่วไปนี้ เข้ากับชื่อที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา
๒) หลักแจงหัวข้อ หรือ หลักประยุกต์
ก. อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี .... ฯลฯข. อวิชฺชาย เตฺวว อเสสวิราคนิโรธา เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ
สงฺขารนิโรโธ สังขารจึงดับ
สงฺขารนิโรธา วิญฺญาณนิโรโธ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ .... ฯลฯอย่างไรก็ดี ว่าโดยความหมายที่แท้จริงแล้ว คำสรุปทั้งสองอย่างนี้ ได้ความตรงกัน และเท่ากัน ปัญหาอยู่ที่ความหมายของศัพท์ ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจกันต่อไป
อนึ่ง หลักปฏิจจสมุปบาทนี้ ในคัมภีร์ที่เป็นส่วนท้ายของพระไตรปิฎก เริ่มปรากฏคำเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “ปัจจยาการ” (แปลว่า อาการที่สิ่งทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่กัน) และต่อมา ในอรรถกถา-ฎีกา นิยมใช้คำว่าปัจจยาการนั้นมากขึ้นจนปรากฏบ่อยครั้งกว่าคำว่า อิทัปปัจจยตา ... "
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๒๒ ส.ค. ๖๓ - ยกคำตอบมาจาก หนังสือพุทธธรรม บทที่ ๔ หัวข้อ "ตัวบทและแบบความสัมพันธ์ ในหลักปฏิจจสมุปบาท")
ถาม เรื่องปฏิจจสมุปบาท กับกรรม เกี่ยวข้องกันอย่างไร
ตอบ ปฏิจจสมุปบาทเป็นหลักความจริงของธรรมชาติที่แสดงถึงความสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยแก่กันของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งในระบบเหตุปัจจัยนั้นมีทั้งปัจจัยตามธรรมชาติ และกรรมที่เราทำเป็นปัจจัยตัวเหตุที่จะให้เกิดผลโดยตรงองค์ธรรมในปฏิจจสมุปบาทที่หมายถึงกรรม คือ สังขาร และภพ (กัมมภว)
รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องกรรม และปฏิจจสมุปบาทที่พึงทำความเข้าใจ และเชื่อมโยงไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องในชีวิตประจำวัน สามารถศึกษาได้จากหนังสือ "เหตุปัจจัยในปฏิจจสมุปบาท และกรรม"
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม เรื่องปฏิจจสมุปบาท กับไตรลักษณ์ เกี่ยวข้องกันอย่างไร
ตอบ ในหนังสือพุทธธรม หัวข้อ กฎธรรมชาติ ๒: ภาวะเป็นไป/อาการ(สัมพันธ์) กับ ภาวะปรากฏ/ลักษณะ อธิบายว่า"... กฎธรรมชาติชุดไตรลักษณ์นี้ ก็คืออีกด้านหนึ่งของกฎแห่งปัจจยาการนั่นเอง เมื่อสิ่งทั้งหลายมีอาการที่เป็นไปตามปัจจยาการแห่งเหตุปัจจัย มันก็มีลักษณะเป็นอนิจจา เป็นทุกขา เป็นอนัตตา
เริ่มแต่พื้นฐานที่ว่านี้ คือ สิ่งทั้งหลายมีภาวะของมันเอง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมีภาวะของมัน ที่เกิดจากเหตุปัจจัย เป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้าอัตตามีจริง สิ่งทั้งหลายก็ไม่ต้องและไม่อาจเป็นไปตามเหตุปัจจัยแต่เมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย อัตตาก็ไม่อาจจะมี
เมื่อมองเห็นสิ่งนั้นๆ เป็นเพียงภาพรวมแห่งชุมนุมขององค์ประกอบหรือส่วนย่อยหลากหลายมากมาย ที่เกิดมีและดับสลายสัมพันธ์กันเป็นไปอยู่ในกระบวนของปัจจยาการ ความเป็นตัวตนอัตตาของสิ่งนั้นๆ ก็หายไป เหมือนอย่างกำปั้นมีเพราะกำมือ พอแบมือเหยียดนิ้วออกไป กำปั้นก็หายหมด หมัดก็ไม่มี
อะไรๆ ที่เป็นสังขตธรรม เป็นสังขาร ก็เกิดมีและเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ไม่เป็นไปตามความต้องการหรือตามการสั่งบังคับของใคร (ถ้าใครจะให้มันเป็นไปอย่างไรๆ ตามที่ตัวปรารถนา ก็ต้องเรียนรู้สืบค้นเหตุปัจจัยที่จะให้มันเป็นอย่างนั้น แล้วปฏิบัติจัดการที่เหตุปัจจัยนั้นๆ จะเอาตัวปรารถนาไปสั่งการบัญชามันไม่ได้)
ส่วนสภาวะที่เป็นปัจจยักขัย เป็นอสังขตะ เป็นวิสังขารก็ชัดเจนอยู่แล้วว่ามันมีภาวะของมัน ซึ่งไม่มีไม่เป็นไปตามปัจจัยอะไรๆ ใครๆ อะไรๆ จะครอบครองสั่งการบัญชาอะไรอย่างไรไม่ได้ มันก็มีก็เป็นของมันตามธรรมดาอย่างนั้น
ในทางปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิตเป็นอยู่ของมนุษย์ เมื่อมีปัญญารู้เข้าใจความจริงตามธรรมดาของสภาวะแล้วก็รู้จักที่จะปฏิบัติในการดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง เรียกว่านำความรู้เข้าใจสัจธรรม ในภาคมัชเฌนธรรมเทศนานี้ ไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติจริยธรรม เป็นการดำเนินมรรคาชีวิตในภาคมัชฌิมาปฏิปทา คือรู้ทันว่า การถืออัตตา ตัวตนนั้น เป็นเรื่องของมนุษย์ที่มีความยึดถือด้วยอวิชชาตัณหาอุปาทาน ซึ่งไม่ตรงตามความเป็นจริง ถ้าอยู่แค่กับความอยากความยึดนั้น ก็ไม่มี
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม เรื่องปฏิจจสมุปบาท กับอริยสัจ เกี่ยวข้องกันอย่างไร
ตอบ อริยสัจ เป็นการอธิบาย เรื่องระบบเหตุ และปัจจัย เช่นเดียวกัน กับหลักปฎิจสมุปบาท- ทุกข์ สมุทัย จะอยู่ในปฎิจสมุปปบาท ฝ่ายของการเกิดทุกข์
- นิโรธ มรรค จะอยู่ในปฎิจสมุปปบาท ฝ่ายของการดับทุกข์
กระบวนการที่จะเดินหน้าสู่การดับทุกข์ (นิโรธ) คือลงมือทำเหตุ (มรรค) ซึ่งก็คือระบบการปฎิบัติในไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา หรือมรรค มีองค์ ๘
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม มรรคมีองค์ ๘ เป็นวิธีเดียวของการดับกระแสปฏิจจสมุปบาท ใช่หรือไม่
ตอบ ปฏิจสมุปบาท พูดในแง่หลักการ ส่วนมรรค พูดวิธีทำ
เหมือนกับว่า วิทยาศาสตร์ Pure Science พูดหลักการว่า น้ำจะระเหยเป็นไอ ก็คือต้องทำให้อุณหภูมิถึง ๑๐๐ องศา ส่วนมรรค เป็น Applied Science ที่บอกว่า แล้วทำยังไงล่ะ น้ำถึงจะมีความร้อนที่ระดับ ๑๐๐ องศา วิธีการคือต้องไปเก็บฟืนมานะ ต้องทำให้ไฟลุกขึ้นนะ ต้องเอาน้ำมาใส่หม้อตั้ง อย่างนี้ๆ นะ นี่คือมรรค เป็นองค์ประกอบเชิงกระบวนการ เพื่อให้เกิดปัจจัยที่สมบูรณ์ ก็คือ น้ำมีพลังงานความร้อนถึงจุดเดือด
(ที่มา - ตามรอย...พุทธธรรม Online รุ่นที่ 2/2564 บทที่ 4 (ครั้งที่ 2) เวลาบรรยาย 1.38.02 - 1.38.40)
ถาม วงจรของปฏิจสมุปบาท เป็นวงจรของการเป็นไปตามธรรมชาติ การที่เราดับกระแสของปฏิจจสมุปบาท จะถือเป็นการดับสิ่งที่เป็นธรรมชาติหรือเปล่า
ตอบ ไม่ใช่เช่นนั้น เราไม่ได้ไปหักล้าง ถางให้วงจรปฏิจจสมุปบาทมันไม่เป็นวงจรปฏิจจสมุปบาท แต่เรารู้ว่า วงจรปฏิจจสมุปบาทมันเป็นอย่างนี้ ทุกข์มันเกิดอย่างนี้ เพราะฉะนั้นถ้าจะไม่ให้ผลคือทุกข์เกิดขึ้น ก็ดับเหตุปัจจัย การดับเหตุปัจจัย ไม่ได้ทำให้วงจรปฏิจจสมุปบาทบิดเบี้ยว ผิดเพี้ยนไป
เหมือนการบอกว่า วัฏจักรของน้ำนั้น น้ำระเหย ป็นไอ กลายเป็นฝน ฯลฯ สมมติเราบอกว่า ไม่อยากให้ฝนตกตรงนี้ ทำไง ก็ต้องทำให้น้ำ ไม่ระเหยขึ้นไปเป็นไอ คือสมมติถ้าเราทำได้ ฝนก็ตกน้อยลง อย่างนี้เป็นต้น แต่ถามว่า การที่ฝนตกน้อยลง ทำให้วัฏจักรของน้ำ กลายเป็นไม่จริงหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ วัฏจักรของน้ำก็ยังเป็นจริง เป็น fact อยู่อย่างนั้น เพียงแต่ว่า ปัจจัยแต่ละตัว เราจะทำให้มันมีมากมีน้อย ทำให้มันหมดไป ก็เป็นเรื่องของผู้ที่เข้าใจกระบวนการเหล่านั้น จะจัดสรรตามกำลังความสามารถของตน
(ที่มา - ตามรอย...พุทธธรรม Online รุ่นที่ 2/2564 บทที่ 4 (ครั้งที่ 2) เวลาบรรยาย 1.38.47 - 1.39.57)
ถาม พระอาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร ต่อคนที่มองว่าชีวิตที่มีความสุข ความทุกข์ นี่แหละ คือชีวิตที่แท้จริง การเวียนว่ายตายเกิดก็เป็นกระแสความเป็นไปที่สร้างสีสันให้กับชีวิต นิพพานไม่ใช่สิ่งจำเป็น
ตอบ เห็นว่าใครๆ รวมทั้งตนเอง ที่ยังไม่มีสัมมาทิฏฐิโดยสมบูรณ์ก็ยังเผลอคิด และเข้าใจผิดเช่นนั้นได้อยู่เสมอ จนกว่าจะมีสติ ใช้ปัญญาพิจารณาความสุขความทุกข์นั้นอย่างถ่องแท้ แต่ตราบใดที่ยังมีอวิชชา ก็อาจปรุงแต่งความยึดติด อยากได้สุข แม้ต้องทุกข์ ไขว่คว้า เพียงใดก็ตาม
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม อยากพ้นทุกข์ ต้องทำอย่างไร ถ้าไม่บวช จะเข้าถึงนิพพานได้หรือไม่
ตอบ จะพ้นทุกข์ได้ ต้องเจริญมรรค ดำเนินชีวิตตามหลักไตรสิกขา ละอกุศล สร้างกุศลให้แก่กล้าจนเกิดวิปัสสนาญาณที่สามารถละกิเลสได้สิ้นเชิง การดำเนินชีวิตเช่นนี้ แม้ไม่บวชก็สามารถกระทำได้(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม จะมั่นใจได้อย่างไรว่าเป้าหมายในชีวิตของเราถูกต้อง เดินมาถูกทาง
ตอบ ไม่มีใครรู้จนกว่าจะถึงนิพพาน แต่สิ่งที่พอจะช่วยตรวจสอบได้เบื้องต้นก็คือว่า เมื่อปฏิบัติไปแล้ว กิเลสลดลงหรือเปล่า สุขประณีตขึ้นหรือไม่ ถ้ากิเลสลดลง สุขประณีตขึ้น ก็เป็นสัญญาณว่าน่าจะถูกทาง เหมือนกับว่า เราจะเดินทางไปธิเบต ไปเทือกเขาหิมาลัย เราก็ควรจะพอรู้ว่า เดินๆ ไปแล้ว มันควรจะอุณหภูมิเย็นลงๆ อากาศเบาลง ถ้ามันไปอย่างนั้น อาการอย่างนั้น มีแนวโน้มจะถูกทาง แต่ก็ยังมั่นใจไม่ได้จนกว่าเราจะปฏิบัติไปแล้วบรรลุธรรมจริงๆ จนเป็นโสดาบันนั่นแหละ เมื่อนั้นจึงจะละวิจิกิจฉาได้สิ้นเชิง รู้ชัดว่าถูกทางแน่สำหรับการปฏิบัติในทางพุทธศาสนา ก็ต้องลองสังเกตว่า กุศลเพิ่มขึ้น อกุศลลดลง หรือไม่ ถ้ากุศลเพิ่มขึ้น อกุศลลดลงก็แปลว่าเราเข้าใกล้เป้าหมาย แต่กุศลที่จะพาเข้าสู่เป้าหมายสูงสุดจะต้องเป็นกุศลที่เกิดจากการเจริญวิปัสนาญานด้วย ถ้าสะสมกุศลก็จริงแต่เป็นกุศลที่เกิดจากการให้ทาน รักษาศีล หรือแม้กระทั่งสมาธิเข้าฌานที่จัดเป็นกุศล แต่ถ้าไม่เจริญวิปัสนาเลยก็ไม่มีทางถึงเป้าหมาย ก็เหมือนกับอาจารย์ของเจ้าชายสิทธัตถะ อุทกดาบส อาฬารดาบส ท่านก็เจริญกุศลเข้าฌาณ แต่ไปไม่ถึงเป้าหมายสูงสุด คือพระนิพพาน
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔, พระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔ และ ตามรอย.. พุทธธรรม Online รุ่น 2/2564 :: บทที่ 5 ชีวิตควรให้เป็นอย่างไร : เป้าหมายชีวิต ช่วงเวลา 1:33:00 -1:35:25)
ถาม ถามคนที่เปราะบาง เช่น ผู้ต้องขังหรือคนที่สิ้นหวังในชีวิต เรื่อง “เป้าหมายชีวิต” ได้หรือไม่
ตอบ ได้ แต่ต้องรู้จักวิธีถาม ถามให้เขามีความหวังในชีวิต แล้วเขาก็จะมีความหวังได้ ในระดับที่เขาเป็นไปได้ ถ้าเมื่อไรเขาหวังในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อนั้นการตั้งเป้าหมายก็จะกลายเป็นการสร้างปัญหา แล้วยิ่งทุกข์เรื่องนี้อาตมาเคยเจอเคส ไปเยี่ยมผู้ป่วยเด็กที่ป่วยหนักเป็นมะเร็งใกล้เสียชีวิต เป็นมะเร็งในช่องปาก กินอะไรไม่ได้ แล้วจะถามเขาว่าหนูอยากได้อะไร เขาบอกว่าหนูอยากกินส้มตำ เขาอยากจะมีชีวิตอยู่เพื่อวันหนึ่งจะหายแล้วได้กินส้มตำ ดีหรือไม่ดี ถ้าเราไปถามแล้วทำให้เขาอยากที่จะต้องกินส้มตำให้ได้ ถ้าไม่ได้ ฉันทุกข์ อย่างนี้กลายเป็นยิ่งสร้างปัญหาให้กับชีวิต แต่ถ้าทำให้เห็นเหตุปัจจัยตามจริง ว่าถ้าหนูดูแลร่างกายดี แล้วผ่าตัดได้ มันอาจจะกินได้นะ แต่อาจจะเป็นอย่างนี้ อาจจะเป็นอย่างนั้น แล้วเขาก็เข้าใจแล้วยอมรับ แล้วสร้างเหตุปัจจัย ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ยอมรับ อันนี้อาจจะโอเค พอไหว แล้วก็ชวนให้เขามีเป้าหมายที่ประณีตขึ้น แทนที่จะมีเป้าหมายที่จะกินส้มตำ เราก็อาจจะชวนให้เขามีเป้าหมายอย่างอื่นที่ประณีตขึ้นและเข้าถึงได้ โดยที่เป็นอิสระจากการที่จะต้องได้กินหรือไม่ได้กินส้มตำ จากการที่จะต้องหายจากมะเร็งหรือไม่หาย หายหรือไม่หายก็สามารถไปสู่เป้าหมายที่ประณีตขึ้นได้ เช่น การเป็นลูกที่ดี การเป็นคนที่มีศีล การเป็นที่รักของพี่พยาบาล การตั้งเป้าหมายแบบนี้ ก็จะทำให้เขาเข้าถึงและมีความสุขอย่างเป็นอิสรภาพได้ในทุกปัจจุบันขณะ ไม่ต้องรอหายจากมะเร็ง ไม่ต้องรอกินส้มตำ
แต่ละคน อย่าว่าแต่ผู้ต้องขัง หรือผู้ป่วยเลย คนทุกคนก็จะมีเงื่อนไขข้อจำกัดในชีวิตต่างๆกันไป เพราะฉะนั้น เป้าหมายที่ดี ถ้าเป็นเป้าหมายที่อิงกามสุขมาก โอกาสที่จะทุกข์และเป็นปัญหาก็มาก แต่ถ้าตั้งเป้าหมายดี โอกาสที่จะบรรลุก็เป็นไปได้มาก ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นผู้ต้องขัง เป็นผู้ป่วย เป็นผู้ชรา เป็นคนใกล้ตาย เขาก็มีเป้าหมายชีวิตได้ และยิ่งถ้าเป็นเป้าหมายที่ประณีต ก็จะทำให้ชีวิตที่มีอยู่นั้น ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะอย่างไร สั้นยาวแค่ไหน ก็จะเป็นชีวิตที่มีค่า
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม มีความสุขจากการทำงานจิตอาสามานาน แต่ปัจจุบัน รู้สึกมีความสุขจากจิตที่สงบเย็นจากสมาธิภาวนามากกว่า ทำให้ความกระตือรือร้นในงานจิตอาสาลดลงพอควร ถือว่า เพราะเจอความสุขที่ประณีตกว่าหรือเปล่า แต่ก็เชื่อว่าชีวิตที่ดี คือ สงบเย็น เป็นประโยชน์ อย่างนี้ ควรวางจิตอย่างไรดี
ตอบ หากตั้งเป้าหมายของการดำเนินชีวิตที่ความสงบเย็น ก็อาจเห็นว่าความสุขจากการทำสมาธิ เป็นที่หมายที่ควรค่าที่จะหยุดอยู่ ณ ตรงนั้น (ซึ่งประณีต ดีงาม กว่าการติดอยู่กับกามสุขอย่างหยาบๆ มากมาย)แต่ถ้าเห็นว่าเป้าหมายของการดำเนินชีวิตคือการพัฒนาตน ละอกุศล สร้างกุศล ทำประโยชน์ทั้ง ๓ ระดับ ๓ ด้าน (อัตถะ ๓) ก็จะเห็นความสุขไม่ว่าจากการทำจิตอาสา หรือการเจริญสมาธิ เป็นเพียงสถานการณ์ประกอบในระหว่างทาง เพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว
พึงพิจารณาหลักเกณฑ์มาตรฐาน ที่ชาวพุทธจะพึงใช้ปฏิบัติ ในการเกี่ยวข้องกับความสุข ที่จัดได้เป็น วิธีปฏิบัติต่อความสุข ๔ ข้อ ดังนี้
๑. ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่เป็นทุกข์
๒. ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบธรรม
๓. แม้ในสุขที่ชอบธรรมนั้น ก็ไม่หมกมุ่นสยบ
๔. เพียรทำเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไป (โดยนัยว่า เพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสุขที่สูงขึ้นไปจนสูงสุด)
(อ่านเพิ่มเติมหนังสือพุทธธรรม เรื่อง "เรียนรู้ให้ชัด วิธีปฏิบัติต่อความสุข")(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๒๙ ส.ค. ๖๓)
ถาม เหตุใด ทุกวันนี้ สิ่งอำนวยความสะดวกก็มากขึ้น แต่ผู้คนกลับมีความสุขได้ยาก รู้สึกทุกข์มากยิ่งกว่าแต่ก่อน
ตอบ ในหนังสือพุทธธรรม เรื่อง "ของเสพเต็มไปหมด สุขกลับลด ทุกข์ก็ง่าย" อธิบายไว้ว่า...."มนุษย์รับมือกับเทคโนโลยีไม่ถูก ประโยชน์แท้ที่ควรจะได้จากเทคโนโลยี ก็พลาด เลยแทนที่จะได้ผลบวก กลับกลายเป็นลบไป
จะต้องเตรียมใจเตรียมปัญญาให้ดี ยิ่งมีวัตถุพรั่งพร้อม มีความง่าย มีความสะดวกสบายมาก เราก็ยิ่งต้องฝึกฝนพัฒนาคน ให้เขายิ่งมีความสามารถที่จะมีความสุข
มนุษย์นี้มีศักยภาพที่จะมีความสุข เขาจึงพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขนั้นได้ แต่เมื่อมนุษย์มัววิ่งแล่นหาความสุขโดยการมุ่งแต่เสพภายนอก เขาก็ทำตัวเขาเองให้สุขได้ยากขึ้น แล้วก็ละเลยไม่พัฒนาศักยภาพในการที่จะมีความสุข
เมื่อไม่พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข ก็กลายเป็นสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุขนั้นไป จนในที่สุดเขาก็อาจจะหมดความสามารถที่จะมีความสุข
เพราะฉะนั้น อย่าลืมพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขอันนี้ ควรถือเป็นหลักทีเดียวว่า เมื่อเราเติบโตขึ้น มีชีวิตที่พัฒนาขึ้น เราต้องมีความสามารถที่จะมีความสุขได้ง่ายขึ้น
ถ้ามิฉะนั้นก็ไม่มีทางจบ ตัวเองก็หาสุขไม่จบ คือไม่พบ และทุกข์ก็ขยาย แต่สุขก็ยากขึ้น แล้วก็ต้องเบียดเบียนกันมากขึ้นๆ ทุกที เพราะฉะนั้น โลกก็ต้องเดือดร้อนอย่างนี้เรื่อยไป ไม่อาจลุถึงสันติภาพได้สักที
แต่ถ้าพัฒนาความสุขให้ถูก ก็แก้ปัญหาทุกอย่างไปในตัว ธรรมต่างๆ ทั้งหลายก็จะเข้ามาสู่การใช้ปฏิบัติอย่างถูกตำแหน่งถูกที่ เพราะในระบบที่ถูกต้อง ธรรมทั้งหลายย่อมประสานกลมกลืน พากันมา แล้วก็โยงถึงกัน"
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๒๙ ส.ค. ๖๓ - ยกคำตอบมาจากพุทธธรรมออนไลน์ หน้า 1164 - 1165)
ถาม เป้าหมายชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แม้แต่คนเดียวกัน ในแต่ละช่วงชีวิตก็ต่างกัน แม้เราจะรู้ว่ามีเป้าหมายที่สูงกว่า ดีกว่าเป้าหมายที่เราอยากได้อยู่ตอนนี้ เช่นแม้จะรู้ว่าการเลิกเหล้าดี แต่เราก็ยังไม่อยากเลิกเหล้าจริงจัง แม้จะรู้ว่านิพพานดี แต่ก็ยังอยากได้กามสุข เราจะเปลี่ยนใจ เปลี่ยนเป้าหมายได้อย่างไร
ตอบ ใช่ มันต้องเปลี่ยน mindset มันต้อง set เป้าหมายในชีวิตกันใหม่ ถ้าเรายังตั้งเป้าหมายที่กามสุข โดยเฉพาะกามสุขอย่างทราม เราก็ต้องศึกษาให้เกิดปัญญาเห็นว่า เป้าหมายแบบนั้นมีโทษอะไรบ้าง แล้วเราจะได้ค่อยๆ shift mindset ของเราไปสู่เป้าหมายที่ละเอียดประณีตขึ้นแต่หลักการในการพัฒนาชีวิตของพระพุทธศาสนานั้นสอดคล้องกับธรรมชาติของชีวิต เหมือนกับเด็กที่พัฒนาขึ้นจากเด็กที่เล่นก้อนหินไปเป็นเล่นโทรศัพท์ เกมส์กด ก็เพราะเขาได้สัมผัสความสุขที่ดีขึ้น ประณีตขึ้น อร่อยขึ้น มันก็จะค่อยๆทิ้งความสุขอย่างเดิมไปเอง เพราะฉะนั้นโดยอุปมา เด็กเล่นมือถือแล้วมีความสุขกว่าเล่นก้อนหิน เขาก็เลิกเล่นก้อนหินมาเล่นมือถือ
พวกเราปุถุชนที่ยังเสพกามสุขอยู่ เราก็ฝึกนิรามิสสุข สุขจากการศึกษาธรรม สุขจากการช่วยคน สุขจากการทำความดี สุขจากการทำใจสงบ พอเราได้สัมผัสสุขแบบนี้ เราก็จะรู้สึกว่า อ้อ! กามสุขก็เริ่มเฉยๆ ละ ไม่ได้อยากได้มันมากละ เราไปเอาสุขที่ประณีตขึ้นดีกว่า อย่างนี้ เราก็จะพัฒนาความสุข วิถีชีวิต การใช้ชีวิตก็จะเปลี่ยนไป แทนที่จะใช้ชีวิตกระเสือกกระสนดิ้นรนหาเพียงเพื่อกามสุข ก็จะเปลี่ยนเป็นการทำเพื่อประโยชน์แก่ตนและสังคม แม้จะได้รับความสุขก็ไม่ยึดมันมาก จากเดิมที่คิดว่า กามสุขพวกนี้ไม่มีไม่ได้ ไม่ดูหนังไม่ได้ ไม่กินของอร่อยไม่ได้ ก็จะเริ่มคิดใหม่ว่า มีก็ดี ไม่มีก็ได้ คือ มีก็สุข แต่ไม่มีก็ไม่เดือดร้อน แต่พอฝึกไปๆ เพิ่มขึ้นอีก ก็จะรู้สึกว่า กามสุขเหล่านั้น จริงๆ แล้วมันไม่ดีอะไรหรอก มันเป็นภาระแก่ชีวิตด้วยซ้ำ ก็จะเปลี่ยนใหม่ จากที่พูดว่า มีก็ดี ไม่มีก็ได้ ก็จะพูดใหม่ว่า ถ้าไม่มีก็ดี แต่ถ้าจำเป็นต้องมี ก็มีได้ และใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นให้เต็มที่ เราก็จะมีชีวิตที่เป็นอิสระมากขึ้น
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม ในโลกปัจจุบัน มีบุคคลที่เป็นโสดาบันหรือไม่ แล้วที่มี เป็นฆราวาสหรือบรรพชิตมากกว่ากัน
ตอบ ผู้ที่จะตอบคำถามนี้ได้อย่างน้อยก็ต้องเป็นโสดาบัน หรืออาจต้องถามพระพุทธเจ้าโดยตรง ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้ อีกทั้งยังไม่เห็นงานวิจัยที่แสดงหลักฐานชัดเจน จึงไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ หรือไม่ก็ต้องตอบว่าไม่รู้ แต่มีข้อมูลให้เชื่อได้ว่าเราทุกคนมีศักยภาพที่จะเป็นโสดาบันได้(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม บุคคลที่ได้โสดาบันในชาตินี้ และเสียชีวิตไปก่อน เมื่อเกิดมาใหม่ในภพภูมิหน้า เค้าจะมีโอกาสเกิดในพุทธศาสนาและมีโอกาสที่จะปฎิบัติต่อเป็นอริยบุคคลในขั้นต่อๆไปเลยได้ใช่หรือไม่
ตอบ ตายแล้วจะเกิดในพุทธศาสนาหรือไม่ อันนี้ไม่อาจระบุตายตัวได้ แต่บุคคลท่านนั้นท่านรู้วิธิปฎิบัติมาแล้ว อาจจะไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ เช่น เกิดเป็นเทวดา หรือพรหมณก็ได้ ซึ่งอาจจะไม่เจอพุทธศาสนาก็ได้ แต่ท่านเคยปฎิบัติมาแล้ว ท่านก็จะปฎิบัติต่อเนื่องจากที่ท่านเคยทำ คือสภาวะในใจกิเลสที่ท่านละแล้วก็คือละได้แล้ว ปัญญาที่ท่านรู้ เข้าใจว่าปฎิบัติอย่างไร ก็จะเป็นแนวทางที่จะให้ท่านปฎิบัติต่อในภพภูมินั้นๆของท่านต่อไปได้
แต่สำหรับบุคคลที่ยังไม่ได้เป็นโสดาบัน ยังไม่รู้วิธีปฎิบัติ ต้องฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าหรือ จากคำสอนในช่วงเวลาที่ยังมีพุทธศาสนา แต่ถ้าช่วงนั้นไม่มีพุทธศาสนาเลยแล้วปฎิบัติด้วยตนเองเป็นโสดาบันเลยก็ได้ บุคคลท่านนั้นก็เรียกว่าพระปัจเจกพระพุทธเจ้า
(ที่มา - ตามรอย.. พุทธธรรม Online รุ่น 2/2564 :: บทที่ 5 ชีวิตควรให้เป็นอย่างไร : เป้าหมายชีวิต ช่วงเวลา 1:46:00 -1:48:48)
ถาม คนที่จะเป็นอริยบุคคลได้ ต้องทิ้งทางโลก เพื่อที่จะก่อให้เกิดภพชาติจริงหรือไม่ ถ้ามีเงินทองทรัพย์สินพอแล้ว ควรเลิกทำงานแล้วไปปฎิบัติธรรมอย่างเดียวหรือไม่
ตอบ ไม่มีคำสอนให้ทิ้งโลก ตรงกันข้ามต้องอยู่ในโลกให้สอดคล้อง และเป็นประโยชน์ต่อโลกด้วย พุทธศาสนาไม่มีคำสอนให้ทิ้งโลก อยู่กับโลก แต่เป็นอิสระจากโลกด้วยการไม่ยึดติดกับโลกต่างหาก
ส่วนที่จะทำงานหรือไม่ทำงาน อันนี้ต้องดูว่างานที่ทำมันเกื้อกูลต่อการพัฒนาชีวิตหรือไม่ หากเราทำงานแล้วเรามีเงินทองใช้จ่าย ได้ทำให้เราสามารถเกื้อกูลผู้อื่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ก็เป็นการสร้างกุศล การทำงานนั้นก็ถือเป็นสัมมาอาชีวะ เป็นปัจจัยในการพัฒนาชีวิตก็ได้
(ที่มา - ตามรอย.. พุทธธรรม Online รุ่น 2/2564 :: บทที่ 5 (ครั้งที่2) ชีวิตควรให้เป็นอย่างไร : เป้าหมายชีวิต ช่วงเวลา 1:43:10 -1:44:17)
ถาม มัชเฌนธรรมเทศนา กับมัชฌิมาปฏิปทา เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร
ตอบ ในหนังสือพุทธธรรม หัวข้อ บนฐานของมัชเฌนธรรมเทศนา เข้าสู่มัชฌิมาปฏิปทา ได้อธิบายว่า "...บนฐานของความรู้เข้าใจเข้าถึงระบบและกระบวนการของสภาวธรรมที่เป็นธรรมดาของธรรมชาติ (มัชเฌนธรรมเทศนา) นั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงนำความรู้เข้าใจนั้นมาประยุกต์สั่งสอนแสดงระบบและกระบวนวิธีปฏิบัติของมนุษย์ที่จะให้เกิดผลเป็นไปตามระบบและกระบวนการของธรรมชาตินั้น โดยทรงจัดวางเป็นมรรคาชีวิตของคน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า บนฐานแห่งสัจธรรม ได้ทรงจัดวางระบบจริยธรรม ที่เรียกว่าพรหมจริยะ หรือมรรค (มัชฌิมาปฏิปทา) ขึ้นมา เป็นวิถีของอิสรภาพและความสุข ที่ปลอดทุกข์ไร้ปัญหาดังที่ว่านั้น อันจะกล่าวในภาคของมัชฌิมาปฏิปทาข้างหน้าต่อไป..."(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม การนำมรรคมีองค์ ๘ มาปฏิบัติในชีวิตจริง ควรเริ่มจากข้อไหนที่ควรทำมากที่สุด
ตอบ ในหนังสือพุทธธรรม หัวข้อเรื่อง " ระบบของมัชฌิมาปฏิปทา - ทางสายเดียว แต่มีองค์ประกอบ ๘ อย่าง" แสดงไว้ว่า....
".... พึงเข้าใจชัดไว้ว่า องค์ หรือองค์ประกอบ ๘ นี้ มิใช่ทาง ๘ ทาง มิใช่เป็นหลักการที่ต้องยกขึ้นมา ปฏิบัติให้เสร็จไปทีละข้อตามลําดับ แต่เป็นส่วนประกอบของทางสายเดียวกัน อาศัยกันและกัน เหมือน เกลียวเชือก ๘ เกลียว ที่รวมเข้าเป็นเชือกเส้นเดียว และต้องปฏิบัติเคียงข้างประสานกันอย่างเป็นระบบไป โดยตลอด..."ไม่ว่าจะมองในแง่ของมรรคมีองค์ ๘ หรือไตรสิกขา ก็คือระบบเหตุปัจจัยที่เชื่อมโยงกันเป็นระบบองค์รวม ส่วนมากมักเห็นว่าการพัฒนาด้านพฤติกรรม (ศีล) เป็นด้านที่ปรากฏชัด เห็นได้ง่าย ฝึกได้สะดวก เป็นสิ่งที่ควรเริ่มก่อน เช่นการสร้างระเบียบแบบแผนต่างๆ ให้เป็นนิสัย แม้ยังไม่มีปัญญารู้เข้าใจความหมายชัดนัก แต่ก็ได้ฝึก จัด ปรับ พฤติกรรมให้หลงตัว เกื้อกูลต่อการพัฒนาที่ละเอียดประณีตยิ่งขึ้น คือจิตใจ และปัญญา แต่ในหลายกรณี การฝึกจิตใจก็สำคัญ และอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เช่นการที่เด็กเกิดความรักต้นไม้ รักสัตว์ จึงนำมาสู่พฤติกรรมคือการรดน้ำต้นไม้เป็นประจำ หรือมีนิสัยเป็นคนรักสัตว์ ไม่ทำร้ายสัตว์ และในที่สุด จะต้องพัฒนาไปถึงขึ้นปัญญาที่รู้เข้าใจเหตุผลของสิ่งที่ทำนั้น ไม่หยุดเพียงด้านพฤติกรรม หรือจิตใจ ดังตัวอย่างเรื่อง หลักการทั่วไปในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่หลวงพ่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์อธิบายไว้ในหนังสือ "คนรักษ์ป่า ป่ารักษ์คน" หน้า ๘๑ - ๑๑๖
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๕ ก.ย. ๖๓)
ถาม ปรโตโฆษะ กับ กัลยาณมิตร เป็นอย่างเดียวกันหรือต่างกันอย่างไร
ตอบ ปรโตโฆษะเป็นเสียงบอกจากภายนอก ซึ่งมาจากแหล่งกำเนิดคือกัลยาณมิตร คือผู้ที่มาบอกด้วยความเมตตาปรารถนาดี (ฟังคำอธิบายของหลวงพ่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้จาก ธรรมบรรยายชุด ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม ตอนที่ ๔๘ เรื่อง แสงอรุณยืนยันการขึ้นมาของดวงอาทิตย์ แล้วอะไรเป็นบุพนิมิตของการเข้าสู่วิถีชีวิตที่ดีงาม ตอนที่ ๑)
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๗ ส.ค. ๖๔)
ถาม จะรู้ได้อย่างไรว่าแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดีนั้นเป็นกัลยาณมิตรที่ดี เช่น บางคนหรือบางสำนักที่สอนธรรมและแนวทางปฏิบัติที่บิดเบือนไปหรือเป็นมิจฉาทิฏฐิและไม่ใช่ทางสู่วิปัสสนาที่ถูกต้อง
ตอบ จะรู้ได้ ในระดับความคิด ด้วยการพิจารณาโดยแยบคาย แต่จะรู้จริง ต้องอาศัยการปฏิบัติตามหลักปัญญาวุฑฒิธรรม เริ่มต้นจากการเข้าหากัลยาณมิตร ซึ่งต้องอาศัยปัญญา (จากการอ่านการฟังปริยัติมาบ้าง, จากการสังเกตพฤติกรรมของมิตรว่ามีคุณสมบัติของกัลยาณมิตร เป็นกัลยาณมิตตธรรม มากน้อยเพียงใด) พิจารณาเลือกมิตร เป็นปัจจัยให้ได้ฟังธรรมคำสอน แล้วนำมาพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการ เมื่อเห็นว่าน่าเชื่อถือ จึงเกิดศรัทธา แต่ไม่พึงปักใจเชื่อไปเสียเลย ต้องนำคำสอนที่ได้พิจารณาว่าน่าจะถูกต้องนั้นมาฝึก ปฏิบัติอย่างถูกทาง จนเกิดผลจริงก็จะรู้ชัดว่ากัลยาณมิตรนั้นดีจริง
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๕ ก.ย. ๖๓)
ถาม จะบรรลุได้จากการฟังธรรมอย่างเดียวได้หรือไม่
ตอบ ไม่ได้ ฟังธรรมอย่างเดียวไม่สามารถบรรลุธรรมได้ ดูจากหลักโสดาปัตติยังคะ คือ เข้าหาสัตบุรุษ ,ฟังธรรม ,แล้วก็ต้องมีโยนิโสมนสิการ และธัมมานุธัมมปฏิปัติติ คือต้องพิจารณาแล้วปฏิบัติ
แล้วในพุทธประวัติ มีมากมายที่ท่านฟังธรรมจบแล้ว สามารถบรรลุได้ ก็เพราะว่าในขณะที่ฟังธรรม ท่านก็ตั้งจิตพิจารณาตามเป็นจริงด้วยโยนิโสมนสิการ ปัญญาก็เกิดตอนนั้น มรรคมีองค์ ๘ ก็บริบูรณ์ได้ ในขณะที่นั่งฟังธรรมอยู่นั้น ศีลก็บริบูรณ์ จิตก็นิ่งพิจารณาเห็นไตรลักษณ์ เกิดวิปัสนาญาณตามลำดับ จนบรรลุธรรม ดังนั้นยังไงก็ต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา (ครบ) แต่สามารถเกิดขึ้นครบในขณะนั่งฟังธรรมได้ ในขณะที่ฟังธรรมอยู่นั้น
(ที่มา - ตามรอยพุทธธรรม Online รุ่น2/2564 : บทที่ 6 ชีวิตควรให้เป็นอย่างไร : บุพภาคแห่งการศึกษา นาทีที่ 1:46:01 - 1:47:13)
ถาม ในหนังสือพุทธธรรมออนไลน์ หน้า ๕๗๐
“ท่านวิสาขะผู้มีอายุ กองธรรม ๓ หมวด สงเคราะห์ด้วยอริยอัฏฐังคิกมรรคหามิได้, อริยอัฏฐังคิกมรรคต่างหาก สงเคราะห์ด้วยกองธรรม ๓, .....” หมายความว่าอย่างไร
ตอบ ในอรรถกถาเล่มที่ ๘ ภาษาบาลีอักษรไทย ม.อ. (ปปญฺจ.๒) แสดงว่า"..ตีหิ จ โข อาวุโส วิสาข ขนฺเธหิ อริโย อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค สงฺคหิโตติ เอตฺถ ยสฺมา มคฺโค สปฺปเทโส, ตโย ขนฺธา นิปฺปเทสา, ตสฺมา อยํ อปฺปเทสตฺตา นครํ วิย รชฺเชน นิปฺปเทเสหิ ตีหิ ขนฺเธหิ สงฺคหิโต. ..."
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬยมกวรรค แปลไทยว่า
ในคำว่า "ก็แลคุณวิสาขะ หนทางประกอบด้วยองค์ ๘ อันประเสริฐ ท่านจัดรวมเข้าไว้ด้วยขันธ์ ๓" นี้มีคำอธิบายว่า เพราะทางมีประเทศ ขันธ์ทั้ง ๓ (กองศีล กองสมาธิ กองปัญญา) ไม่มีประเทศ ฉะนั้นท่านจึงเอาทางนี้มารวมเข้าด้วยขันธ์ ๓ ที่ไม่มีประเทศ เหมือนเอากรุงมารวมเข้ากับราชย์ เพราะความที่ทางมีประเทศ.
คำว่า สงเคราะห์ ในที่นี้ แปลว่า รวบรวม หรือสรุป อธิบายโดยเปรียบเทียบว่า ในนบรรดา พืช สัตว์ สิ่งของ เราย่อมกล่าวว่า นกทั้งหลายสงเคราะห์ลงในกลุ่มสัตว์ ไม่กล่าวว่า สัตว์สงเคราะห์ลงในกลุ่มนก
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๕ ก.ย. ๖๓)
ถาม การจะรักษาศีลจำเป็นต้องสมาทานศีลทุกวันหรือไม่
ตอบ ไม่จำเป็นต้องสมาทานทุกวัน แต่พึงรักษากายวาจา ตามสิกขาบทที่สมาทานไว้ และกระทำกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ให้เป็นกุศล ในทุกขณะ เท่าที่จะทำได้
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑๒ ก.ย. ๖๓)
ถาม ศีลจำเป็นต้องบริสุทธ์ทุกขณะจิตไหม
ตอบ ขอให้มองเป็นเป้าหมาย ที่จะเดินไปถึง เพราะ ถ้า บริสุทธิ์ทุกขณะจิตนั่นหมายถึงเป็นพระอรหันต์ แต่อย่ากดดัน ตนเองแต่พัฒนาไปสู่จุดนั้น (Ref.
(ที่มา - ตามรอย พุทธธรรม ๒/๒๕๖๔ ช่วงเวลา 1.46.19 - 1.46.49))
ถาม หากเราได้เคยทำผิดศีล แต่บัดนี้เรางดเว้นได้แล้ว แต่เมื่อคิดถึงอดีตก็ทำให้ไม่สบายใจ เราควรวางใจอย่างไร
ตอบ สิ่งแรกที่ต้องให้ความสำคัญคือ อย่ามั่นใจว่า งดเว้นแล้ว ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ต้องพึงระวังอย่าให้ผิดศีล เราอาจจะพลาด เผลอใจได้อยู่
ถ้าผิดไปแล้ว แล้วตอนนี้ ไม่ผิดขอให้เราพิจารณาปัจจุบันเป็นหลัก ว่าไม่ผิดศีล แล้วสิ่งที่ผิดไปแล้ว ให้เรียนรู้ที่จะไปแก้ไขผลกระทบที่ตามมา เช่น เราเคยไปทะเลาะกับเพื่อนร่วมงานไว้ เราแก้กรรมที่ทะเลาะไปแล้วไม่ได้ แต่ผลกระทบที่ตามมาเราแก้ไขอะไรได้เราก็ควรทำ เช่น ขออภัยกัน หรือไปปรับความเข้าใจ เป็นต้น และเราได้เรียนรู้อะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น ก็จะทำให้เราสำรวมระวังได้ดียิ่งขึ้นต่อไป
(ที่มา - ตามรอย พุทธธรรม ๒/๒๕๖๔ ช่วงเวลา 1.47.03 - 1.48.44)
ถาม ทำไมถึงกำหนดเรื่องศีล ให้ระวังเน้นไปที่คำพูดและการกระทำ ทั้งที่มโนกรรมน่าจะสำคัญที่สุด และการควบคุมใจน่าจะได้ผลดีมากกว่า
ตอบ การควบคุมจิตใจเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ คนละเรื่องกัน
คือเรื่องศีล เป็นเรื่องพฤติกรรม แต่ถามว่าจะมีศีลได้ต้องเกิดจากมโนกรรมที่ดี ดังนั้นการฝึกพัฒนาชีวิตจึงไม่ฝึกศีลอย่างเดียว ต้องฝึกสมาธิและปัญญาด้วย
(ที่มา - พุทธธรรม ๒/๒๕๖๔ ช่วงเวลา 1.50.07 - 1.50.35)
ถาม อยากได้เทคนิคง่ายๆที่เราจะเอาศีล วินัย มาใช้ ปฏิบัติในครอบครัว ในโรงเรียน ให้อยู่ในชีวิตประจำวัน อยากขอคำแนะนำวิธีการฝึกตนในภาคปฏิบัติเพื่อให้ได้ความต่อเนื่อง
ตอบ ในหนังสือ "วินัย: เรื่องใหญ่กว่าที่คิด" หลวงพ่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ แนะนำวิธีเสริมสร้างวินัย หลายวิธี ที่น่าจะนำไปปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน โดยแต่ละวิธีก็มีข้อดี ข้อเสีย และความเหมาะสมในสถานการณ์ที่ต่างกัน
- สร้างวินัยด้วยการทำให้เป็นพฤติกรรมเคยชิน
- ใช้วินัยที่ลงตัวแล้ว คือวัฒนธรรม มาช่วย
- สร้างวินัยให้ได้ผล ด้วยระบบสัมพันธ์ขององค์รวม (พฤติกรรม จิตใจ ปัญญา)
- สร้างวินัยโดยใช้ปัจจัยอื่นช่วยเสริม (เช่น กัลยาณมิตร)
- สร้างวินัยด้วยแรงหนุนของสภาพจิตใจ (เช่น อุดมคติในจิตใจ)
- สร้างวินัยโดยใช้กฎเกณฑ์บังคับ(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑๒ ก.ย. ๖๓ - ยกคำตอบมาจากหนังสือ "วินัย: เรื่องใหญ่กว่าที่คิด" หน้า ๑๖ - ๒๔)
ถาม ไม่แน่ใจว่าการกระทำอย่างนั้นอย่างนี้ จะผิดศีลหรือไม่ เป็นสัมมาวาจาหรือเปล่า เช่นการเผลอตบยุง, การพูดไพเราะแต่เชือดเฉือน, การพูดโกหกเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น, ฯลฯ
ตอบ อย่าเพียงวุ่นอยู่กับการตัดสินว่าผิดศีลหรือไม่ แต่อาจสังเกตได้ง่ายกว่า ว่าเจตนาเป็นอกุศลหรือไม่ หากเป็นอกุศล ไม่ว่าจะผิดศีล ผิดปทัฏฐานของสังคมหรือไม่ ก็ตาม ก็ไม่ควรกระทำ และการกระทำใดที่แม้เป็นกุศล แต่หากผิดวินัยที่ชอบธรรม ก็ไม่พึงกระทำเช่นกัน
ส่วนการจะวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นๆ ผิดสิกขาบทหรือไม่ พึงดูองค์ประกอบของการละเมิดสิกขาบท เช่น ศีลข้อ ๑ มีองค์ ๕ คือ ๑. สัตว์มีชีวิต ๒. รู้อยู่ว่าสัตว์มีชีวิต ๓. จิตคิดจะฆ่า ๔. มีความพยายาม ๕. สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น (ดูรายละเอียดในหนังสือพุทธธรรมออนไลน์ หน้า ๗๖๑ เป็นต้นไป)
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑๒ ก.ย. ๖๓)
ถาม ซื้อปลาที่ตายแล้ว บาปน้อยกว่าซื้อปลาที่ยังเป็นๆ ใช่หรือไม่ แต่ถึงอย่างไร ก็ยังเป็นบาป ผิดศีลอยู่ดี เพราะเราเป็นปัจจัยทำให้มันตายใช่ไหม
ตอบ ศีลข้อ ๑ มีองค์ ๕ คือ ๑. สัตว์มีชีวิต ๒. รู้อยู่ว่าสัตว์มีชีวิต ๓. จิตคิดจะฆ่า ๔. มีความพยายาม ๕. สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้นถ้าเรามีเจตนาให้ปลาตัวนั้นตาย แล้วกระทำการ เช่นสั่งด้วยวาจาให้ฆ่า อย่างนี้ผิดศีล
ถ้าเราไม่ได้มีเจตนาฆ่าปลา แต่ปลาตัวนั้นตายอยู่แล้ว เราซื้อมาทำอาหาร อย่างนี้ไม่ผิดศีลส่วนเรื่องว่าเป็นบุญหรือบาป กุศลหรืออกุศลนั้นขึ้นกับเจตนาในแต่ละขณะ
ในขณะที่กระทำการละเมิดสิกขาบทข้อปาณาติบาต เป็นอกุศลแน่ คือมีเจตนาทำร้ายชีวิต
แต่ในขณะเวลาอื่น อาจเป็นกุศลก็ได้ เช่นตั้งใจเอาปลาไปทำอาหารให้ครอบครัว
ส่วนผู้ที่ไม่ผิดศีล คือซื้อปลาที่ตายแล้ว ก็มิได้หมายความว่าจะเป็นกุศลแน่นอน เพราะหากซื้อด้วยความโลภ อยากกินอร่อย อยากกินโก้หรู อย่างนี้ก็เป็นอกุศล โดยมีความหนักเบา เลวทราม-ประณีต ของอกุศล หรือกุศลแตกต่างกันไปตามแต่เจตนาในแต่ละขณะ(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม ผู้ประกอบอาชีพที่ก่อให้เกิดความงมงาย, พระภิกษุ ที่เป็นครูบาอาจารย์ หรือเป็นเจ้าหน้าที่ในองค์กรสงฆ์ต่างๆ โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือน หรือรายครั้งบ้าง ถือเป็นมิจฉาชีพหรือไม่? (ในหนังสือพุทธธรรม มีข้อความกล่าวไว้ว่า "สำหรับสมณะผู้สละโลก การใช้แรงงานในหน้าที่ ไม่เป็นเรื่องของอาชีวะ .... ถ้าเอาแรงงานที่พึงใช้ในหน้าที่มาใช้ในการแสวงหาปัจจัยเครื่องยังชีพ กลับถือเป็นมิจฉาชีพ")
ตอบ หลายอาชีพเป็นอาชีพสุจริต ไม่ได้คดโกงหรือทำร้ายใครโดยตรง ที่ส่งผลเสียได้มาก เช่นการขายยาพิษ ขายสิ่งเสพติด ฯลฯ (อกรณียวณิชชา - การค้าขายที่ไม่พึงประกอบ) ฉะนั้นหากบุคคลประกอบอาชีพให้คนงมงาย โดยที่ตนรู้ทั้งรู้ แต่หลอกลวงผู้อื่น แกล้งทำเป็นทรงเจ้า ให้หวย ย่อมเป็นการผิดศีล มีการพูดเท็จเป็นต้น การประกอบอาชีพเช่นนั้นย่อมเป็นมิจฉาชีพ แต่หากบุคคลประกอบอาชีพสุจริต เช่นรับพระเครื่องมาขาย บอกที่มาของวัตถุนั้นตามตรง ก็ไม่อาจกล่าวว่าเป็นมิจฉาชีพได้ แต่อาจจะต้องพิจารณาว่า ส่งผลต่อสังคมเช่นไร หากส่งผลเสียต่อสังคมมาก ก็อาจมีลักษณะคล้ายกับอกรณียวณิชชา ซึ่งไม่พึงประกอบ
ส่วนพระภิกษุ หากกระทำการเพื่อแลกเปลี่ยนให้ได้มาซึ่งสินจ้างรางวัล ย่อมเป็นการละเมิดสิกขาบท เป็นมิจฉาอาชีวะ แต่หากท่านกระทำตามหน้าที่ แล้วญาติโยม หรือระบบสังคม จะถวายสิ่งที่ควรแก่ท่าน ท่านจะรับ ไม่เป็นอาบัติ และไม่เป็นมิจฉาอาชีวะ ด้วยเจตนาของท่านขณะทำ มิใช่การทำเพื่อรับค่าจ้าง เช่นพระรับนิมนต์ไปเจริญพุทธมนต์ขึ้นบ้านใหม่ แล้วโยมจะถวายไทยธรรม พระภิกษุก็พึงรับ แต่ถ้าพระไปทำพิธีเพื่อรับค่าจ้าง อย่างนี้เป็นมิจฉาอาชีวะ (ในที่นี้ไม่ได้อภิปรายเรื่องการรับเงินทอง ซึ่งเป็นอาบัติโดยตัววัตถุอยู่แล้ว แต่มุ่งอธิบายในแง่เจตนาว่าเป็นการกระทำตามหน้าที่ หรือการกระทำเพื่อรับค่าจ้าง เท่านั้น)
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑๒ ก.ย. ๖๓)
ถาม หากเราได้เคยทำผิดศีลในอดีต และรู้สึกผิด เราควรวางใจอย่างไร
เวลาที่เรารู้ว่าตัวเองทำผิดศีล เช่นฆ่าสัตว์ ดื่มสุรา (รู้ทันทีที่กระทำ) จะแก้ไขหรือมีวิธีอย่างไรที่จะทำให้เกิดอกุศลน้อยที่สุด
หากเปรียบเทียบกับกรณีที่พระภิกษุมีการแสดงอาบัติ สำหรับฆราวาสควรทำอย่างไรกับสิ่งผิดๆ ที่ได้ทำไปตอบ การแสดงอาบัติ คือการยอมรับผิด และเปิดเผยตนเเองแก่กัลยาณมิตร เพื่อตักเตือนตนเองในการที่จะพยายามปรับปรุงตนเอง ไม่กระทำความผิดนั้นอีก
การแสดงอาบัติ มิใช่การล้างบาป ความผิดที่ทำไปแล้ว ก็คือกรรมที่ทำแล้ว การแสดงอาบัติ ไม่ใช่การลบล้างกรรมที่ทำไปแล้วนั้น แต่เป็นแบบฝึกที่่ช่วยให้ตนมีหิริ โอตตัปปะ มากขึ้น จะได้สำรวมระวังในการกระทำของตนในอนาคตไม่ให้ประกอบกรรมชั่ว และพยายามประกอบกรรมดีให้ยิ่งขึ้นไป
คฤหัสถ์ ญาติโยม ก็สามารถฝึกฝนตนเองให้เกิดหิริโอตตัปปะเช่นนี้ได้ เริ่มต้นด้วยการรู้ตัว ยอมรับว่าสิ่งที่ตนพลาดพลั้งไปนั้น ไม่ถูกต้อง (ไม่หลอกตัวเองว่า ไม่เป็นไรหรอก - ใครๆ ก็ทำกัน ฯลฯ) จากนั้นก็ตั้งใจว่า จากนี้ไป จะปรับปรุง จะเปลี่ยนแปลงอย่างไรๆ แล้วก็ตั้งใจทำเช่นนั้น หากจะให้ความตั้งใจนั้นเข้มแข็งขึ้น ก็อาจจดบันทึกไว้ หรือบอกกล่าวกับกัลยาณมิตร เช่นพ่อแม่ คู่ครอง ว่าวันนี้ ได้สังเกตเห็นความบกพร่องในตนเองอย่างไรๆ แล้วจึงตั้งใจจะทำอะไรๆ ผู้รับฟัง ก็อาจให้กำลังใจ ให้อภัยหากตนมีส่วนในการกระทำนั้น พร้อมทั้งชื่นชมในความตั้งใจดีนั้น และอาจช่วยตักเตือน ในยามที่อาจพลาดพลั้งในอนาคต หากทำได้เช่นนี้ ก็เหมือนกับการที่พระแสดงอาบัติต่อกัน
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑๒ ก.ย. ๖๓)
ถาม ระบบจริยธรรมแบบ compromise มีข้อด้อย แตกต่างจากระบบ harmonize อย่างไร
ตอบ (ชวนให้ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก ธรรมบรรยายเรื่อง โลกเดี๋ยวนี้ขัดแย้งกันมากมาย จะแก้ไหวหรือ)
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม คำถามของคุณสุรพศ ทวีศักดิ์ ที่ว่า “แต่คนที่ประกาศว่าปกครองโดยธรรมคือกษัตริย์ แล้วทำไมพระไม่เอาธรรมาธิปไตยไปตั้งคำถามกับกษัตริย์ แต่พระอวยอย่างเดียว...เราใช้ทศพิศราชธรรมไปอวยกษัตริย์อย่างเดียว แล้วใช้หลักธรรมาธิปไตยมาตั้งคำถามกับประชาชน กับนักการเมือง ผมบอกว่ามันผิดฝาผิดตัว การอ้างธรรมาธิปไตยแบบนี้สะท้อนว่า ผู้ที่อ้างไม่เคารพต่อความรับผิดชอบต่อการเคารพปกป้องหลักการประชาธิปไตย...” (คลิกดูรายละเอียด) สะท้อนแง่คิดต่อหลักธรรมาธิปไตยที่แท้ว่าควรเป็นอย่างไร
ตอบ หลวงพ่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) อธิบายเรื่องธรรมาธิปไตยไว้บ่อยครั้ง ตัวอย่างในหนังสือ ธรรมของพระราชา หน้า ๗ - ๘ แสดงให้เห็นหลักการว่าผู้มีสิทธิ์ตัดสินใจทุกคนในทุกระบบการปกครองควรมีความเป็นธรรมาธิปไตย
"ธรรมาธิปไตยเป็นหลักการใหญ่ เป็นข้อแกน พระพุทธเจ้าก็ทรงเป็นธรรมาธิปไตย นี่คือบอกว่าบุคคลที่เป็นต้นแบบของมนุษยชาติ เป็นหลักของสังคม เป็นผู้นำของหมู่ชนต้องเป็นธรรมาธิปไตย...
...เมื่อบุคคลใดเป็นธรรมาธิปไตย บุคคลนั้นก็ยึดถือธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นเกณฑ์ตัดสิน ไม่ว่าจะคิด จะตัดสินใจ จะพิจารณาเรื่องอะไร ก็เอาธรรมเป็นใหญ่ เป็นมาตรฐาน เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจนั้น
ไม่ว่าในระบบการปกครองอะไร ถ้าจะเป็นผู้ปกครองที่ดี ตัวผู้ปกครองก็ต้องเป็นธรรมาธิปไตยทั้งนั้น แล้วทีนี้ ถ้าระบบนั้นดีที่สุด เช่นเดี๋ยวนี้เราถือว่าระบบประชาธิปไตยดีที่สุด ถ้าตัวผู้นำในระบบนี้ เช่นนายกรัฐมนตรีเป็นธรรมาธิปไตย ยึดถือธรรมคือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ถือเอาประโยชน์ที่เป็นธรรม ชอบธรรม เป็นเกณฑ์ตัดสินใจ เราก็ได้ผู้นำที่ดี ซึ่งทำให้หวังได้ว่าจะมีประชาธิปไตยที่ดี อย่างนี้เป็นต้น
เป็นอันว่า ตัวบุคคลที่เป็นผู้นำนี่แหละ โดยคุณสมบัติส่วนตัวของเขา ต้องเป็นธรรมาธิปไตย พระพุทธเจ้าก็เป็นธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ จักรพรรดิที่ว่านี้ก็เป็นธรรมาธิปไตย ยึดเอาธรรมเป็นเกณฑ์ตัดสินใจ..."ขยายความชัดลงไปว่า ในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งอำนาจการปกครองอยู่ที่ประชาชนทุกคน เมื่อประชาชนจะใช้อำนาจ จะแสดง (หรือจะไม่แสดง) บทบาทใดๆ ในฐานะสมาชิกของสังคมประชาธิปไตย ก็ต้องตัดสินใจบนฐานของหลักการอันชอบธรรม ดังตัวอย่างคำอธิบายในหนังสือ ประชาธิปไตยจริงแท้คือแค่ไหน หน้า ๑๑๕ - ๑๒๒ หรือหนังสือ การเมืองแค่ที่พระควรจะพูด หน้า ๒๐๘ - ๒๑๓ เช่น
"เมื่อเป็นประชาธิปไตย หลักบอกว่า อำนาจตัดสินใจอยู่ที่ประชาชน
เมื่ออำนาจตัดสินใจอยู่ที่ประชาชน ก็ต้องให้ประชาชนตัดสินใจอย่างถูกต้อง คือต้องมีธรรมาธิปไตย
ก็จึงต้องพัฒนาคุณภาพของประชาชน เพื่อให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจในการตัดสินใจนั้น ทำการตัดสินใจด้วยปัญญา โดยมีเจตนาที่เป็นธรรม และตรงนี้แหละคือ ธรรมาธิปไตย....
...แต่ระบบประชาธิปไตยของเรา ไม่ใช่เป็นประเภทประชาธิปไตยทางตรง ที่ประชาชนใช้อำนาจเองโดยตรง เรามีประชาธิปไตยแบบตัวแทน
เรื่องจึงมีต่อไปอีกว่า มีคนที่ใช้อำนาจตัดสินใจแทนประชาชน หรือในนามของประชาชน
คนผู้นี้จะต้องใช้อำนาจตัดสินใจ โดยสามารถพูดได้เต็มปากว่า เพื่อประชาชน ในนามของประชาชน หรือแทนประชาชน โดยที่ว่า มันเป็นการตัดสินใจที่เป็นธรรม ก็คือตัดสินใจเป็นธรรมาธิปไตย"ส่วนถ้าการปกครองเป็นระบบอื่นที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ผู้มีอำนาจตามระบบนั้นๆ ก็ต้องเป็นธรรมาธิปไตย ดังตัวอย่างคำอธิบายในหนังสือ ประชาธิปไตยจริงแท้คือแค่ไหน หน้า ๑๑๔
"อำนาจตัดสินใจเป็นหัวใจของระบบการปกครอง ใครมีอำนาจตัดสินใจสูงสุด นั่นคือตัวกำหนดระบบการปกครองนั้น
ถ้าเป็นระบบเผด็จการ ก็คือบุคคลเดียว ที่เรียกว่าผู้เผด็จการ หรือผู้นำมีอำนาจในการตัดสินใจ
ถ้าเป็นคณาธิปไตย ก็คือหมู่คณะหรือกลุ่มบุคคล เป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ
ถ้าเป็นประชาธิปไตย ก็คือประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจตัดสินใจ
ทีนี้ ใครมีอำนาจในการตัดสินใจ ก็ต้องให้คนนั้นตัดสินใจบนฐานของธรรมาธิปไตย คือตัดสินใจด้วยเกณฑ์ของธรรมาธิปไตย"สรุปว่า ธรรมาธิปไตยเป็นหลักในการตัดสินใจของทุกคนในทุกระบบการปกครอง ส่วนรูปแบบหรือระบอบการปกครอง เป็นเรื่องที่สังคมนั้นๆ จะตกลงกันว่าจะให้ใครเป็นใหญ่ในการตัดสินใจ
ส่วนในกรณีสังคมไทย ถ้าเราตกลงร่วมกันว่า เราปกครองในระบบใด ให้ใครมีอำนาจอย่างไรในการตัดสินใจบริหารบ้านเมือง ให้ใครมีสิทธิ์มีเสียงอย่างไรในการแสดงความเห็นและตัดสินใจในกิจการของรัฐ สังคม ชุมชน คนเหล่านั้นทั้งหมดก็ควรต้องมีความเป็นธรรมาธิปไตยในทุกๆ การกระทำ การตัดสินใจ การใช้อำนาจของตนๆ (รวมทั้งการตกลงร่วมกันนั้น หรือการได้มาซึ่งอำนาจนั้น ก็ต้องเป็นการตกลงร่วมกันบนฐานของธรรม โดยความชอบธรรมด้วย)ถ้าพระราชามีอำนาจในการปกครอง พระราชาทำดีก็ต้องทำสิ่งที่ชอบธรรม ยึดความถูกต้องเป็นใหญ่ พระพุทธศาสนายืนยันหลักการว่า ความชอบธรรมของผู้ปกครอง มิใช่เพราะชนชั้นวรรณะ แต่เพราะการกระทำที่ถูกต้องเป็นธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องฝึก ต้องพัฒนาเช่นกัน ดังตัวอย่างในหนังสือ พัฒนาสังคมไทยด้วยความรู้เข้าใจไตรภูมิ หน้า ๓๐ ความว่า
"....อันนี้เป็นคติเกี่ยวกับทศพิธราชธรรม เป็นหลักของการปกครอง ธรรมสำหรับนักปกครอง ยังมีกล่าวไว้ในไตรภูมิพระร่วงอีกมากกว่านี้ เช่นว่าด้วยความยุติธรรมและการเกื้อกูลประชาราษฎร์ เป็นต้น.... (ที่สอนให้กลัวนรกนั้น มิใช่ว่าเฉพาะแก่ไพร่ฟ้าข้าไทเท่านั้น แต่มุ่งสอนผู้ปกครองเป็นสำคัญทีเดียว)"การทำให้เกิดความเป็นธรรมาธิปไตยในสังคมนั้น จึงเป็นหน้าที่ของสมาชิกทุกคนในสังคม ทั้งในระดับของการพัฒนาตนเอง และการเกื้อกูล กล่าวสอน ชักชวน เรียกร้อง ต่อเพื่อนร่วมสังคมในทุกระดับ ตามบทบาทหน้าที่ โอกาส ของตนๆ อย่างเต็มกำลังความสามารถ
ผู้ตอบขอยกตัวอย่างสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ผู้ตอบ (ซึ่งมิได้ศึกษางานของท่านครบทั้งหมด) พบว่าหลวงพ่อสมเด็จฯ กล่าวสอนประชาชนให้พัฒนาตนเองให้มีคุณธรรม มีความเป็นธรรมาธิปไตย บ่อยครั้งมากกว่าการกล่าวสอนพระราชา นายกรัฐมนตรี หรือนักการเมือง (แต่ไม่ใช่ไม่มีเลย) ส่วนหนึ่ง ผู้ตอบคิดว่า อาจเป็นเพราะโอกาสในการสื่อสารที่หลวงพ่อสมเด็จฯ สนทนา ตอบปัญหา กับญาติโยมที่เป็นประชาชนทั่วไป มีมากกว่า คุ้นเคยกว่า เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากกว่าการสื่อกับผู้มีอำนาจในการบริหารรัฐโดยตรง นอกจากนั้น ผู้ตอบยังพบคำอธิบายบางตอนในหนังสือ มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม หน้า ๒๓ ที่อาจช่วยให้เห็นเหตุผลหรือความจำเป็นในการมุ่งเน้นการสื่อสารให้เกิดการพัฒนาในภาคประชาชนเป็นสำคัญ ดังนี้
"...อย่ามัววุ่นวายอยู่กับการด่าว่าและการที่จะพัฒนานักการเมืองนักเลย อันนั้นต้องทำ แต่เป็นเรื่องที่ต้องเน้นในระดับย่อย ถ้าทำกันอยู่แค่นั้น การเมืองก็เวียนวนอยู่ในวัฏฏสงสารของอำนาจและผลประโยชน์ แล้วก็จะมีนักการเมืองดีๆ ร้ายๆ วนเวียนมาให้บ่นว่าด่าชมกันอยู่อย่างนั้น ไม่ไปไหน เป็นเพียงประชาธิปไตยข้ออ้างของนักการเมือง จึงหมุนเวียนอยู่ในวังวน พัฒนาไปไม่ถึงไหน มิใช่เป็นประชาธิปไตยของประชาชน....
เป็นอันว่า จะต้องพัฒนาประชาธิปไตย ด้วยการพัฒนาคุณภาพของประชาชน แล้วการพัฒนาคุณภาพของนักการเมืองก็จะถูกกำกับ ถูกพ่วงพาให้ตามมาด้วยไม่ยาก
คุณภาพที่จะพัฒนาขึ้นมานั้น ก็ไม่ต้องเอาอะไรมาก แค่ทำให้คนมีความรักธรรม (คือรักความจริง รักความถูกต้อง รักความดีงาม ถือธรรมเป็นใหญ่ มุ่งให้มีความเป็นธรรมในการเข้าถึงประโยชน์สูงสุด) และเคารพวินัย (คือเคารพกฎกติกาที่เป็นธรรม ยึดถือกฎหมาย มีวินัยจริงจัง) ได้เท่านี้ ประชาธิปไตยก็มาได้ในฉับพลัน..."ส่วนประเด็นที่ว่า "พระ" อวยกษัตริย์หรือไม่นั้น ผู้ตอบเห็นว่าจะพูดให้ครอบคลุม รวมพระทุกรูป ทุกการกระทำไม่ได้ ขึ้นกับพระแต่ละรูป หรือองค์กรสงฆ์แต่ละองค์กร ในการกระทำแต่ละกรณี ซึ่งผู้ตอบ เห็นด้วยกับคุณสุรพศในแง่ที่ว่า ถ้าพระอวย (พูดยกย่องเกินความจริง) ย่อมไม่ถูกต้อง พระควรแสดงหลักการของพุทธศานาให้ตรง ชัด ส่วนว่าพระรูปใดแสดงธรรมแบบอวยกษัตริย์ หรือกล่าวตรงหลักการอย่างไร ผู้อ่านพึงศึกษาและพิจารณาด้วยตนเอง
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑๘ ส.ค. ๖๔)
ถาม ผู้ปกครองที่ได้อำนาจมาโดยไม่ชอบธรรม จะเป็นผู้ปกครองโดยธรรม ได้หรือไม่
ตอบ ก่อนจะตอบคำถามนี้ จำเป็นต้องทบทวนหลัก เรื่อง ความดี-ความชั่ว (เนื้อหาในหลักสูตรตามรอย..พุทธธรรม บทที่ 4 และดูรายละเอียดเพิ่มเติมในพุทธธรรมออนไลน์ หัวข้อเรื่อง เกณฑ์วินิจฉัย กรรมดี-กรรมชั่ว) มิฉะนั้น เราอาจจะตกในวังวนของวาทกรรม คนดี-คนชั่ว เพราะในความเป็นจริง เราไม่อาจตัดสินใคร คนใด องค์กรใด ว่าดี หรือชั่ว โดยแท้จริงได้ แต่ต้องพิจารณาไปที่การกระทำ (ทั้งทางกาย วาจา ใจ) ในแต่ละขณะ ของบุคคลนั้นๆ
ยกตัวอย่างเช่น พระเจ้าอชาตศัตรูฆ่าพ่อ เพื่อขึ้นเป็นพระราชา ต่อมากลับใจสำนึกผิด ดูแลบ้านเมืองด้วยดี อย่างนี้เราย่อมไม่กล่าวโดยสรุปรวมไปว่า พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นคนดี มีความชอบธรรมหรือไม่ แต่สามารถกล่าวแยกแยะได้ว่า การฆ่าพ่อนั้นเป็นการกระทำไม่ดี ไม่ชอบธรรม ส่วนการดูแลบ้านเมืองด้วยดี นั้นเป็นการกระทำดี มีความชอบธรรม แต่ก็ต้องระวังว่า มิได้เป็นการยืนยันว่า การกระทำทุกอย่าง ร้อยเปอร์เซนต์ของพระเจ้าอชาตศัตรูเมื่อกลับใจแล้ว จะเป็นการกระทำที่ดีทั้งหมด (ตราบใดที่พระเจ้าอชาตศัตรูยังไม่หมดกิเลส) ก็ยังอาจสามารถกระทำอกุศลกรรม ผิดธรรม ได้อยู่ และยังต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ อยู่ดี (ยิ่งหากพระราชาหรือผู้ปกครองนั้นไม่กลับใจ ไม่เห็นว่าการได้มาซึ่งอำนาจของตนไม่ชอบธรรม โอกาสที่ผู้ปกครองนั้นจะกระทำกรรมอันไม่ชอบธรรม ก็เป็นไปได้มากยิ่งขึ้น)
และในการพิจารณาแยกแยะความดี-ความชั่ว ในแต่ละกรณี เช่นว่านั้น ก็มิได้ถือเอามาตรวัดทางสังคม หรือกติกาของผู้เป็นใหญ่ หรือผู้ที่สังคมนั้นๆ ยกย่อง เป็นเกณฑ์ตัดสินได้ตายตัว เช่นกรณีของเด็กน้อยในหมู่บ้านโจร ซึ่งไม่อาจยึดเอาคำสอนของพ่อ แม่ ราชาแห่งหมู่ชนนั้นเป็นเกณฑ์ว่าการลักขโมยและฆ่าเจ้าทรัพย์เป็นสิ่งดีงาม หากแต่เด็กน้อยนั้นจักต้องพัฒนาปัญญาอย่างแยบคายในตนที่จะเห็นเจตนาที่แท้ที่มุ่งหมายให้เกิดผลดีหรือร้ายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น จึงจะสามารถวินิจฉัยได้อย่างเที่ยงธรรม ว่าการกระทำของตนนั้นเป็นกุศล หรืออกุศล
คำถามที่ท้าทายต่อเราทุกคนในฐานะสมาชิกของสังคมที่แวดล้อมด้วยชุดความเชื่อ ประเพณี จริยธรรม อันซับซ้อน ซึ่งยากแก่การตรวจสอบและตั้งคำถาม เราจะมั่นใจได้อย่างไร ว่าเรามิได้เกิดอยู่ในหมู่บ้านโจร
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๑๘ ส.ค. ๖๔)
ถาม หลักธรรมาธิปไตย หรือการปกครองโดยธรรม การยึดธรรมเป็นใหญ่ ในการตัดสินใจนี้ ขัดกลับหลักการแยกรัฐกับศาสนา (Secular state) หรือไม่
ตอบ ก่อนจะพิจารณาประเด็นนี้ พึงทำความเข้าใจให้ชัดร่วมกันว่า คำถามนี้หมายถึง การแยกรัฐกับศาสนา หรือแยกรัฐจากธรรม และคำว่า ศาสนา กับ ธรรม นั้นหมายถึงอะไร
คำว่าศาสนาในที่นี้ อาจมีหลายนัยยะ เช่น
(ก) องค์กรทางศาสนา หรือระบบอำนาจทางศาสนจักรที่อาจจะเข้าไปแทรกแซง หรือมีอิทธิพลต่อการจัดระบบการปกครอง การศึกษา สังคม ประเพณี ฯลฯ ของรัฐ เช่น คริสตจักรในยุโรปยุคกลาง
(ข) ระบบความเชื่อ หรือคำสอนเชิงจริยธรรมที่มีผลต่อการตัดสินใจในการจัดการปกครอง การศึกษา สังคม ประเพณี เช่น พรรคการเมืองที่มีความเชื่อว่าการทำแท้งเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง จึงเสนอกฎหมายต่อต้านการทำแท้งคำว่าธรรมก็มีหลายความหมาย ดังตัวอย่างที่แสดงความหมายที่เป็นหลัก ๔ อย่าง ในหนังสือตามพระใหม่ไปเรียนธรรม ตอนที่ ๑๖ ดังนี้
"๑. ธรรมชาติ คือสิ่งทั้งหลายบรรดามี ที่เกิดที่มีตามธรรมดาของมัน
๒. ธรรมดา คือภาวะความเป็นไปของธรรมชาติ หรือความจริงของธรรมชาติ หรือกฎธรรมชาติ
๓. ธรรมจริยา คือข้อที่มนุษย์ต้องประพฤติปฏิบัติให้สอดคล้องกับธรรมดา คือสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาตินั้น เพื่อให้เกิดผลดีที่พึงประสงค์
๔. ธรรมเทศนา คือคำสอนที่แสดงธรรม คือธรรมชาติ ธรรมดา และธรรมจริยานั้น"ประเด็นการแยกรัฐกับศาสนา
ตามความหมาย (ก) มีตัวอย่างมากมายในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ อาทิ รัฐแยกขาดจากองค์กรศาสนา หรือรัฐตกอยู่ใต้อำนาจขององค์กรศาสนา รวมทั้งกรณีที่องค์กรศาสนาตกเป็นเครื่องมือของรัฐ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดก็มีข้อดี ข้อเสีย แตกต่างกัน ขึ้นกับสังคมนั้นๆ จะตกลงกัน เช่น
- หากรัฐอยู่ภายใต้องค์กรศาสนา ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดเอกภาพในการนับถือศาสนา แต่ก็อาจกลายเป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพ รวมทั้งโอกาสในการแสวงหาความจริง และแสดงความรู้ที่ขัดต่อความเชื่อของรัฐ เช่นกรณีของกาลิเลโอ และที่มาของอนุบัญญัติข้อ ๑ ในรัฐธรรมนูญอเมริกัน ที่ให้แยกรัฐกับศาสนา
- หากรัฐเป็นอิสระจากศาสนา ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดเสรีภาพในการนับถือศาสนา ถ้ามีระบบการจัดการที่ดี ก็อาจจะสนับสนุนให้ทุกศาสนาได้ทำหน้าที่ที่เหมาะสม แต่หากไม่มีระบบที่ดี ก็อาจจะกลายเป็นการปิดกั้นบทบาทของศาสนาที่พึงเป็น กลายเป็นการสูญเสียโอกาสที่จะให้ความรู้และพัฒนาสมาชิกในสังคม เพราะในขณะที่ชุดความเชื่อและจริยธรรมที่เคยมีมา เช่น ศาสนาต่างๆ ถูกกันแยกออกจากรัฐและระบบการศึกษาของรัฐ ก็ยังคงมีชุดความเชื่อและจริยธรรมอย่างใหม่ เช่นทุนนิยม วัตถุนิยม เข้ามาแทนที่ ซึ่งก็อาจจะมิได้นำพาสังคมนั้นไปในทางที่ดีงามเสมอไป
- หากองค์กรศาสนาอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ ถ้าผู้ใช้อำนาจรัฐมีเจตนาดี ก็อาจใช้อิทธิพลของรัฐส่งเสริมศาสนานั้นๆ ให้เกิดเป็นประโยชน์แก่สังคมนั้นๆ ได้ตามขอบเขต และแนวทางของศาสนานั้นๆ แต่หากผู้ใช้อำนาจรัฐมีเจตนาร้าย ก็อาจใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการหาประโยชน์ให้แก่ตน หมู่คณะของตน หรือกลุ่มศาสนาของตน (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน ห้วข้อ "จริงไหมที่ว่ารัฐได้ใช้พระพุทธศาสนาหรือสถาบันสงฆ์ เป็นเครื่องมือในการปกครองประชาชน" ที่ปรากฏในหนังสือ รัฐกับพระพุทธศาสนา ถึงเวลาชำระล้างหรือยัง?)
ส่วนในแง่ (ข) นั้น เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ปัจเจกบุคคล ปราศจากความเชื่อ ความคิดเกี่ยวกับระบบจริยธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง (รวมทั้งระบบความเชื่อว่าไม่ควรมีระบบจริยธรรมด้วย) แต่เป็นไปได้ที่สังคมจะจัดตั้งวางระบบให้มีการรับฟังความเชื่อที่แตกต่างกันของสมาชิกในสังคม แล้วจัดตั้งวางกติกาของสังคมที่จะทำให้คนที่มีความเชื่อต่างกัน ยอมรับและอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ ซึ่งในระบบเช่นว่านี้ จะยอมรับให้ความเชื่อของสมาชิกส่วนใหญ่มีน้ำหนักมากกว่าความเชื่อของสมาชิกส่วนน้อยหรือไม่ก็ได้ ขึ้นกับข้อตกลงของระบบสังคมนั้นๆประเด็นการแยกรัฐจากธรรม
หากยอมรับ "ธรรม" ตามความหมาย (๑) และ (๒) ไม่ว่าจะมีขอบเขตกว้างขวางต่างกัน หรือใช้ชื่อเรียกต่างกัน เช่น กฎธรรมชาติ, กฎแห่งกรรม, วิทยาศาสตร์ หรือในนามอื่นใด ก็อาจสรุปได้ว่า ปัจเจกบุคคล รัฐ และสรรพสิ่ง ย่อมไม่อาจพ้นไปจากชุดความจริงนั้นได้ เช่น ความจริงที่ว่า เมื่อคนถูกตัดศีรษะแล้วจะตาย
ส่วน "ธรรม" ตามความหมาย (๓) และ (๔) นั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์ (ศาสดา, ผู้นำทางความคิด, นักปกครอง, นักปรัชญา, นักการตลาด, พ่อค้า, ประชาชน) ในกลุ่มสังคมหนึ่งๆ ในยุคสมัยหนึ่งๆ ที่มีความเข้าใจ "ธรรม" ตามความหมายข้อ (๑) และ (๒) อย่างไร เพียงใด ก็เพียรพยายามสร้างระบบจริยธรรมที่ดีที่สุดได้อย่างนั้น เพียงนั้น และในสังคมหนึ่งๆ ก็อาจจะมีชุดจริยธรรมที่แตกต่างกัน และชุดความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งจริยธรรมตามความหมายที่ (๓) และ (๔) นี้ ก็จะกลายเป็น "ศาสนา" ในความหมาย (ข) ซึ่งรวมทั้งศาสนาดั้งเดิม เช่น พุทธ คริสต์ อิสลาม หรือศาสนาใหม่ เช่น วิทยาศาสตร์ ทุนนิยม การไม่นับถือศาสนา ระบบจริยธรรมสากล ฯลฯ ฉะนั้น ระบบความสัมพันธ์ระหว่าง รัฐ กับ ธรรม ในความหมาย (๓) และ (๔) จึงเป็นไปได้หลากหลาย คล้ายกับความสัมพันธ์ระหว่าง รัฐ กับ ศาสนา ในความหมาย (ข)หาก Secular state มุ่งหมายที่การแยกรัฐกับศาสนาในความหมาย (ก) ผู้ตอบเห็นความเป็นไปได้ว่าสังคมจะสามารถจัดตั้งวางระบบให้องค์กรรัฐ และองค์กรศาสนาต่างๆ (พหูพจน์) ทำบทบาทแยกจากกัน ไม่ครอบงำกันและกัน แต่ก็อาจมีความสัมพันธ์ต่อกันในกรอบที่เหมาะสม ในทางที่สร้างสรรค์ ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เอื้อต่อ ธรรม ตามความหมาย (๓) และ (๔) ของระบบศาสนาและความเชื่อที่หลากหลาย (ตามความหมาย ข) ในสังคมนั้น ช่วยกันนำพาสังคมให้ดำเนินไปในทางที่สอดคล้องต่อธรรม ในความหมายที่ (๑) และ (๒) เพื่อให้เกิดผลดีต่อสังคมมนุษย์และโลกโดยรวมได้ เช่นเกิดการบริหารองค์กรตามหลักธรรมาภิบาล เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งก็คือการกระทำที่เอาความถูกต้อง เอาธรรม ความหมายที่ (๑) และ (๒) เป็นใหญ่ เหนือความพอใจส่วนตน หรือประโยชน์ของตน ซึ่งก็คือหลักการของธรรมาธิปไตย นั่นเอง
(ผู้ตอบ - พระครูเมธังกร - ๒๐ ส.ค. ๖๔)
ถาม คนส่วนใหญ่มักไม่ทำตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ถ้าเราทำตามก็จะถูกมองว่าแปลกแยก ทวนกระแส เราควรทำอย่างไร และเราจะช่วยให้สังคมดีขึ้นได้อย่างไร
ตอบ อาจเป็นเช่นนั้น แต่อย่านำมาใช้เป็นข้ออ้างนะ ว่า ดูสิ คนอื่นยังมาทำงานสายเลย ทำไมเราต้องมาทำงานตรงเวลา , ดูสิคนอื่นยังไม่รักษากฏจราจรเลย ทำไมเราต้องรักษา ฯลฯ ถ้าเราถือคติเช่นนี้ แสดงว่า เรากำลังประกาศว่าเราจะยืนหยัดเป็นคนชั่วคนสุดท้ายในโลก และรอให้คนทั้งโลก ดีให้หมดก่อน ฉันจะเสียสละเลวให้ถึงที่สุด แล้วถ้าทุกคนดีแล้วจะดีให้ดู ซึ่งไม่จำเป็นต้องถือคตินี้
เราควรจะดีให้โลกดู ซึ่งจะเป็นการช่วยให้สังคมดีขึ้น แล้วคนอื่นที่เขาถือคติอย่างที่ว่า (เป็นคนชั่วคนสุดท้ายฯ) เขาก็อาจจจะได้ทำดีตามอย่างเรา จึงเป็นการดีมากที่จะเริ่มต้นดีก่อนคนอื่น อย่าไปรอให้คนอื่นดีให้หมดแล้วฉันค่อยดี
(ที่มา - ตามรอย..พุทธธรรม ๒/๒๕๖๔ ช่วงเวลา 1.56.20 - 1.57.56)
ถาม จะทำอย่างไร จะบอกกับคนรุ่นใหม่ให้รักษาวินัย
ตอบ ทำให้เห็นประโยชน์ของศีล ไม่ควรจากการบังคับ แต่ต้องหาทางชวนให้เห็นประโยชน์ เช่น นักศึกษาทำไมต้องใส่ยูนิฟอร์ม ก็ต้องมาชวนคุยกันด้วยเหตุด้วยผลว่าประโยชน์คืออะไร และที่สำคัญคือ แม้จะเห็นประโยชน์แล้วพอจะลงมือทำ ก็ยังต้องต้อสู้กับกิเลสอยู่ดี ตอนนั้นก็เป็นเรื่องของการปฏิบัติฝึกฝน ก็ต้องชวนฝึก ด้วยกุศโลบาย ที่เหมาะกับแต่ละคน
และในขณะเดียวกัน ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า วินัยคือระบบที่สังคมจัดตั้งขึ้น วินัยบางอย่างก็อาจจะไม่ได้ถูกต้องเหมาะสมเสมอไป การตั้งโจทย์ให้คนรุ่นใหม่รักษาวินัยอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องชวนกันทำความเข้าใจ ตรวจสอบหลักการและเหตุผลของตัววินัยเองด้วย วินัยบางอย่างควรปรับเปลี่ยนด้วยปัญญา มิใช่ปรับเปลี่ยนหรือรักษาไว้ด้วยอำนาจตัณหา มานะ ทิฏฐิ
(ที่มา - ตามรอย...พุทธธรรม ๒/๒๕๖๔ ช่วงเวลาที่ 1.59.43 - 2.01.00)
ถาม ในฐานะพุทธศาสนิกชน ควรมีท่าทีอย่างไรต่อพระภิกษุสงฆ์ที่ประพฤติปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย เพื่อรักษาพุทธศาสนาให้มั่นคงไม่ผิดเพี้ยน
ตอบ ดูตัวอย่างนางวิสาขา ในสมัยพระพุทธกาล
พื้นฐฐานขั้นแรก คือการตั้งเจตนาที่ดี คือ ทำในฐานะพุทธศาสนิกชน ที่ช่วยกันดูแลพระศาสนาและมุ่งหมายที่จะเกื้อกูลให้ท่านผู้นั้นได้พัฒนาตนเอง อย่าพึ่งรีบตัดสิน ยกเว้นเป็นพฤติกรรมที่ชัดแจ้ง แล้วดูว่าเรามีบทบาทอะไร เช่น เป็นพ่อแม่ของพระ ก็ตักเตือนได้ , หรือถ้ารู้จักพระที่เป็นครูบาอาจารย์ อุปัชฌาย์ พระเจ้าอาวาส ก็บอกท่านด้วยเจตนาที่ดี คือช่วยกันดูแลพระพุทธศาสนา และมุ่งหมายให้เกื้อกูลให้ท่านได้พัฒนาตนเอง และทำด้วยกิริยาอาการที่เหมาะสม ด้วยความเคารพ ด้วยกิริยาอาการที่ดี เพื่อเราจะได้ร่วมกันเป็นพุทธศาสนิกชน ที่ร่วมกันเกื้อกูลต่อการรักษาวินัยทั้งของคฤหัสถ์และของพระภิกษุสงฆ์ (ชวนฟังเพิ่มเติมจากคลิปรายการ Life radio ตอน จับ ผิด พระ)
(ที่มา - ตามรอย พุทธธรรม ๒/๒๕๖๔ ช่วงเวลาที่ 2.01.25 - 2.02.37)
ถาม สำหรับผู้เริ่มต้นปฏิบัติธรรม ควรเริ่มต้นจากอะไร และมีวิธีการดำเนินต่อไปอย่างไร
ตอบ เริ่มจากศีล คือการดำเนินชีวิตให้ดี ไม่ใช่แค่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น แต่อยู่บนพื้นฐานของการเกื้อกูลแก่ตนและสรรพสิ่ง ในขณะเดียวกันนั้นก็ฝึกจิตให้ไม่เป็นอกุศล ฝึกให้จิตดี โดยเลือกเอากรรมฐาน ๔๐ ไปเลือกใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ เมื่อจิตมีคุณภาพดี สุขภาพดี มีประสิทธิภาพดีก็จะเป็นฐานในการพัฒนาปัญญา ทั้งด้วยการอ่าน ฟัง คิด และสังเกตความจริง
ในส่วนของการฝึกจิตและปัญญาที่จะนำไปสู่การดับเหตุแห่งทุกข์สิ้นเชิงนั้น จะฝึกจิตให้เป็นฌานก่อนก็ได้ หรือฝึกวิปัสสนาเลย โดยเน้นการมีสติ สาระสำคัญคือการฝึกให้ มีสติรู้เนื้อรู้ตัวอย่างต่อเนื่อง โดยรู้ในสิ่งที่เป็นรูปนาม ไม่ใช่รู้บัญญัติ ถ้าไม่ชัด แนะนำให้ศึกษา ธรรมบรรยายของ หลวงพ่อสุรศักดิ์ พระภาวนาเขมคุณ วัดมเหยงค์ , อ.มานพ อุปสโม ,หลวงพ่อปราโมทย์ หรือครูบาอาจารย์ที่สอนวิปัสสนากรรมฐาน สอนสติปัฎฐาน แล้วเทียบเคียงกับคัมภีร์ว่า ตรงกันไม่ขัดแย้ง สาระสำคัญคือมีสติ ระลึกรู้ตัวบ่อยๆ รู้อย่างไร เริ่มจากการรู้ว่าเผลอบ่อยๆ ก่อน ไม่ใช่ให้เผลอบ่อยๆ แต่ให้รู้เวลาเผลอ เมื่อมีสติต่อเนื่อง มีกำลังมากขึ้น จะสามารถสังเกตรูปนามตามเป็นจริง จึงค่อยๆ เกิดปัญญา เข้าใจความจริงมากขึ้น ความเข้าใจผิด (อวิชชา) ที่เคยมีค่อยๆ ลดลง จนหมดไปเมื่อใด เมื่อนั้นก็จะไม่อาจปรุงแต่งจิตด้วยอำนาจตัณหาอุปาทานได้อีก เมื่อนั้นก็เรียกว่าบรรลุธรรม เป็นอริยบุคคล
(ที่มา - ตามรอย พุทธธรรม ๒/๒๕๖๔ ช่วงเวลาที่ 1.50.23 - 1.52.13 )
ถาม อยากเริ่มฝึกกรรมฐาน แต่ไม่มีโอกาสไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม จะทำอย่างไร
ตอบ การฝึกพัฒนาจิตใจ ไม่จำเป็นต้องไปเข้าคอร์สก็ได้ (ถ้ามีโอกาสก็ดี แต่แม้ไม่มีก็ฝึกได้)
ฝึกเจริญสติ เริ่มจากในชีวิตประจำวันก็ได้ เริ่มจากการที่เราทำอะไรๆอย่างมีสติ แม้ว่าจะเดินจะลุกจะนั่ง ก็เหมือนกับเชือก (สติ) ดึงวัว (ใจ) ให้อยู่กับหลัก (อารมณ์กรรมฐาน - สิ่งที่กำลังพิจารณาอยู่ตรงหน้า เช่นงานที่ทำ อิริยาบถปัจจุบัน) เมื่อฝึกใหม่ๆ วัวมันมาอยู่ที่หลักได้ไม่นาน ก็วิ่งไปสนใจสิ่งต่างๆ อีกแล้ว ก็อย่าไปท้อแท้ ก็ฝึกดึงเชือก (สติ) บ่อยๆ ฝึกแล้วเชือกมันจะค่อยๆ สั้นลง แล้ววัวมันก็จะอยู่กับหลักได้นานขึ้น เมื่อใจอยู่กับสิ่งตรงหน้าได้ดี ก็จะทำให้มีศักยภาพในการจัดการกับสิ่งนั้นๆ ได้ดีขึ้น
นอกจากจะฝึกเช่นนี้ในระหว่างการทำกิจวัติต่างๆ ในแต่ละวันแล้ว หากมีโอกาส เช่นช่วงเช้าก่อนเริ่มงาน ตอนค่ำก่อนนอน ก็อาจฝึกกรรมฐานตามรูปแบบ เช่นการนั่งสังเกตลมหายใจ เดินจงกรม เพื่อเพิ่มกำลังสติ เปรียบเหมือนการเข้า fitness ออกกำลังด้วยเครื่องมือที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม การปฏิบัติ อย่างไรเป็นสมถะ อย่างไรเป็นวิปัสสนา
ตอบ ถ้าอารมณ์กรรมฐาน (สิ่งที่ใจสังเกต) เป็นรูปนาม (ปรมัตถสภาวธรรม) คือจะเป็น กาย เวทนา จิต หรือธรรม ก็ได้ การสังเกตนั้นเป็นวิปัสสนาได้ คือเห็นอารมณ์นั้นตามเป็นจริง มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ดับไป เป็นไตรลักษณ์ แต่ถ้าสิ่งที่สังเกตอยู่นั้น ยังไม่ใช่ปรมัตถสภาวธรรม เช่น ภาพนิมิตที่นึกคิดขึ้นมา หรือคำบัญญัติที่ใช้ในการบริกรรม อย่างนั้นยังไม่ใช่วิปัสสนา คือไม่สามารถสังเกตเห็นการเกิดดับได้ แต่เป็นอารมณ์ให้จิตนิ่งสงบ เป็นสมาธิได้
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม เวลาฝึกกรรมฐาน ควรจะฝึกสมถะก่อน หรือฝึกวิปัสสนาไปเลย
ตอบ แนะนำว่า ให้ดูใจตนเองว่าใจตอนนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเป็นความคิดลบ (negative) ก็ฝึกสมถะสักนิดหนึ่งก่อน โดยดูว่าลบแบบไหน ถ้าหงุดหงิดโมโห ฝึกเมตตา ถ้าฟุ้งซ่าน ฝึกอานาปานสติ หรือฝึกให้ใจอยู่กับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เหมาะกับตน แล้วเมื่อใจสงบ นิ่ง มีคุณภาพดีขึ้น ก็เจริญวิปัสสนาต่อได้ง่าย แต่ถ้าใครชอบสมถะจะฝึกสมถะที่ตนถนัดไปเลย จนได้ฌาน แล้วค่อยเอาฌานเป็นบาทฐานในการเจริญวิปัสสนาก็ได้ ได้ทั้ง ๒ แบบ(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม ฝึกสมถะถึงขั้นไหน จึงจะเริ่มฝึกวิปัสสนาได้
ตอบ ไม่มีเกณฑ์ตายตัว ถ้าว่าตามคัมภีร์ก็ได้หลายแบบเอาฌานเป็นฐานค่อยไปฝึกวิปัสสนาก็ได้ ถ้าแบบนี้ก็ต้องฝึกให้ได้ฌาน จะเป็นปฐมฌานก็ได้ ทุติยฌานก็ได้ ฌานไหนก็ได้ทั้งนั้น แต่ถ้าเกิดว่าเป็นอรูปฌาน ต้องถอยมาเป็นรูปฌานก่อน แล้วก็ออกจากฌานนั้น แต่ใช้กำลังของจิตที่มีสมาธิแก่กล้าไปพิจารณารูปนามตามเป็นจริง อย่างนี้เรียกว่า ใช้ฌานเป็นฐานแล้วเจริญวิปัสสนา
ไม่ต้องเอาถึงขั้นฌานก็ได้ คือให้จิตสงบ จดจ่ออยู่กับรูปนามที่ปรากฏในปัจจุบันชั่วขณะ อย่างที่เรียกว่า ขณิกสมาธิ หรือ วิปัสสนาสมาธิ ก็ได้
คราวนี้ เวลาฝึกจริงๆ ขั้นแรกถามตัวเองก่อนว่า เรากำลังฝึกสมถะหรือวิปัสสนา ถ้าต้องการฝึกสมถะก็ต้องเลือกอารมณ์กรรมฐานที่เหมาะอย่างที่ว่า เรื่องกรรมฐาน ๔๐ แต่ถ้าจะฝึกวิปัสสนา ก็ต้องรู้ว่าอารมณ์กรรมฐานที่เรากำลังพิจารณานั้น เป็นรูปนาม ไม่ใช่บัญญัติ จะพิจารณาอะไรได้ทั้งสิ้น เมื่อพิจารณาแล้วจิตมีสติจดจ่ออยู่กับอารมณ์ มันก็จะเป็นสมาธิมากขึ้นๆไปเอง ถ้าจะเจริญวิปัสสนาโดยเอาอารมณ์กรรมฐาน คือ รูปนาม เป็นอารมณ์ ไม่ต้องสนใจเลยว่าสมาธิจะเอาแค่ไหน ยิ่งมากยิ่งดี แต่เป้าหมายเราคือ ฝึกตัวสติให้เกิดปัญญา เมื่อเรามีสติกำหนดอารมณ์ชัดเจนต่อเนื่องมากขึ้น สมาธิมันก็มากขึ้นไปเองโดยปริยาย ไม่ต้องไปรอถามว่า แค่ไหนจึงจะพอ แต่ถ้าฝึกสมถะ ก็ต้องฝึกจนได้ฌาน ก็ต้องให้จิตนิ่งแน่วกับอารมณ์นั้นจนเกิดสภาวะที่เป็นฌาน
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม กรณีที่ใจว้าวุ่น มีเรื่องกังวลใจ แนะนำให้สลัดความฟุ้งซ่านนั้นอย่างไร
ตอบ ในเบื้องต้นแนะนำให้หาอารมณ์ที่ชอบ ที่ไม่ฟุ้ง เพื่อให้ใจไปจดจ่อได้ง่าย แล้วให้จิตอยู่กับอันนั้นให้ได้ก่อน ไม่จำเป็นต้องเป็นลมหายใจก็ได้ ถ้าใจมันไม่ชอบ ไม่มีความสุข มันก็จะไม่ยอมอยู่กับอารมณ์นั้น เริ่มต้นก็ให้อยู่กับสิ่งที่ชอบสักอย่างก่อน เช่น ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ นั่งชมวิว ฟังเสียงระฆัง หรือแม้แต่การสนทนากับกัลยาณมิตรในเรื่องที่เป็นกุศล (อะไรก็ได้ แต่ควรตรวจสอบว่าช่วยยกใจให้เป็นกุศล มิใช่ยิ่งทำให้ใจฟุ้งซ่าน วุ่นวาย) ให้ใจนิ่งลงบ้าง แต่ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เอามาเป็นอารมณ์ให้ใจสงบนั้น บางอย่างก็อาจจะเร้าอกุศลได้ เช่น นั่งฟังเพลง ถ้าคิดไปตามเนื้อเพลง นึกเรื่องราวในอดีตก็อาจจะมีอกุศลด้วย ถ้าจะใช้สิ่งเหล่านี้ควรพยายามฟังแบบนิ่งๆ ฟังที่เสียงดนตรีแต่ละขณะ ไม่ปรุงแต่งอกุศล หรือถ้าปลูกต้นไม้ก็อย่าปลูกด้วยตัณหา ว่ามันจะต้องออกมาสวย พยายามโฟกัสกับสิ่งนั้นแล้วให้ใจมันนิ่งสรุป ขั้นแรกคือ ให้หาอารมณ์ที่ใจมันชอบก่อน แล้วค่อยๆ ทอนส่วนที่เป็นอกุศลของอารมณ์นั้นออกไป แล้วปรับอารมณ์กรรมฐานให้ประณีตขึ้น ละเอียดขึ้น เป็นอารมณ์ที่ไม่เร้าอกุศล เช่น ลมหายใจ เป็นต้น
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม จะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองมีจริตอะไร เพื่อจะเลือกกรรมฐานที่เหมาะกับตนได้
ตอบ ลองศึกษาจากพุทธธรรม ออนไลน์ หน้า 842 หรือกิจกรรม "ยืน นั่ง ฟัง เดิน เจริญสติ" Ep.2.0 ทั้งนี้ พึงทราบด้วยว่า บุคคลหนึ่งๆ อาจมิได้มีจริตอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว และกรรมฐานที่แตกต่างกัน ก็อาจจะเหมาะกับบุคคลคนหนึ่ง ในสถานการณ์ หรือสภาพจิตใจที่แตกต่างกันก็ได้
(ผู้ตอบ - ตามรอย พุทธธรรม ๒/๒๕๖๔ ช่วงเวลาที่ 1.52.14 - 1.52.28)
ถาม ฟังธรรมบรรยายของพระอาจารย์ไพศาล เรื่อง "การฝึกสติในชีวิตประจำวัน" พระอาจารย์บอกว่า ไม่ควรฝึกสติโดยทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน เช่น ขณะเดินออกกำลังกาย ก็ไม่ควรเปิดฟังธรรมไปด้วยในขณะเดิน
ตอบ ถ้าทำหลายๆอย่างพร้อมกัน การฝึกสติก็ทำได้ยาก แต่ถามว่าทำได้หรือไม่ ได้แต่ยาก และบางทีจะกลายเป็นติดเป็นนิสัย ฝึกสตินิ่งๆ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะฝึกจริงจังก็ควรจะไม่ทำหลายอย่างพร้อมกันถ้าดูโดยละเอียด คำว่า “ทำหลายอย่างพร้อมกัน” แปลว่าอะไร ต้องอธิบาย ถามว่า เวลาเข้าคอร์สกรรมฐาน แล้วนั่งสมาธิ ฝึกเจริญสติ เราทำอะไรบ้างในขณะนั้น นั่งหรือไม่ หายใจหรือไม่ ก้นสัมผัสพื้นหรือไม่ กระทบลมเย็นทางผิวหนังหรือไม่ จริงๆ เราก็ทำหลายอย่างอยู่นะในเวลานั้น เพียงแต่ว่าเราไม่สนใจ เพราะฉะนั้น จริงๆ ในชีวิตเราทำหลายอย่างในแต่ละขณะ แต่จิตเรารับรู้อะไรเป็นอารมณ์กรรมฐานในเวลานั้น
เพราะฉะนั้น ถ้าจะบอกว่าในชีวิตประจำวัน อยากจะเดินไปด้วย ฟังธรรมด้วย ได้หรือไม่ ก็ตอบว่าได้ แต่ถามว่า จะได้นิ่งเท่ากับนั่งฟังหรือไม่ อาจจะไม่เท่า เพราะอย่างน้อย จิตมันต้องรับรู้การเดิน ไม่ให้เดินชน ไม่ให้เดินล้ม มันต้องเสียทรัพยากร เปรียบเทียบเหมือน CPU มันก็ต้องเสีย CPU ส่วนหนึ่งมาใช้ในการเดิน การที่จะไปโฟกัสการฟังได้ 100% หรือการที่จะไปโฟกัสกับการเจริญสติปัฏฐานได้ 100% มันก็น้อยลง แต่ถ้านั่งฟังแล้วหลับเลย ไม่รู้เรื่องเลย อย่างนี้เดินดีกว่า แต่ก็ไม่ใช่ดีที่สุด ก็เลือกฝึกเอาตามกำลังของตน ถ้านั่งแล้วหลับก็เดิน แต่เดินจะนิ่งได้กำลังของสมาธิเท่ากับนั่งหรือไม่ ก็คงยากกว่า อาจจะได้ ถ้าเก่ง แต่ยากกว่าโดยทางทฤษฎี
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม ควรคิดวางอุเบกขากับปัญหาที่แก้ไม่ได้ในทางปฏิบัติอย่างไร
ตอบ ขั้นแรก อย่างเพิ่งคิดว่าจะแก้ไม่ได้ กลับมาถามตัวเองก่อนว่าสาเหตุของปัญหานั้นคืออะไร แล้วส่วนไหนที่เราแก้ได้ก็แก้ เช่นเจ้านายเป็นคนขี้โมโห เราแก้เจ้านายไม่ได้ แต่เราก็อาจเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งให้เจ้านายโมโหก็ได้ พยายามกลับมาศึกษาหาเหตุปัจจัยกว้างๆ รอบๆ และพยายามทำในส่วนของเราให้เต็มที่ ส่วนการวางใจ คือการเข้าใจกระบวนการของเหตุปัจจัย และเมื่อทำส่วนของเราให้เต็มที่แล้ว อย่าไปหวังว่าผลจะต้องเป็นอย่างใจ แค่นั้นพอ แล้วทำเต็มที่ ทำไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็นโอกาสที่จะทำมากขึ้นๆ แต่ไม่ว่าจะทำมากแค่ไหน อย่าไปหลอกตัวเองว่าผลต้องถูกใจเรา
แต่ถ้าสถานการณ์นั้นๆ เราไม่สามารถทำอะไรได้จริงๆ เช่น ดูแลผู้ป่วยที่กำลังจะเสียชีวิต เราจะทำให้เขาหายดี ไม่ตาย ไม่ได้ เราก็ต้องศึกษาเข้าใจเหตุปัจจัยว่าเราไม่สามารถทำให้เขาหายได้ แล้วก็วางใจด้วยปัญญาต่อสถานการณ์นั้นๆ (แต่แม้กระนั้น การที่เราฝึกวางใจให้ดี ไม่ร้องโวยวาย ก็อาจจะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความสงบ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในขณะนั้นได้ด้วย)
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานโดยการใช้สติมาสังเกต รูปนาม สามารถเกิดขึ้นได้ขณะทำงานหรือไม่
ตอบ ได้ แต่ยากหน่อย เพราะอารมณ์ (สิ่งที่มากระทบ) มีเยอะ ไม่ว่าจะเป็นรูปที่เข้ามาทางตา กลิ่นหอมๆ เข้ามาทางจมูก อารมณ์เหล่านี้ก็เร้ากิเลส บางทีเราอาจยังไม่เข้มแข็งพอ เปรียบเหมือนฝึกว่ายน้ำในทะเล ฝึกยากหน่อย แต่ก็ควรฝึก เพราะเราไม่สามารถฝึกว่ายในสระว่ายน้ำได้ตลอด ถ้ามีโอกาสมีเวลาในชีวิตก็เข้าวัดบ้าง เข้าสำนักฝึกกรรมฐานเพื่อฝึกอย่างเข้มข้น ก่อนนอน ปิดอายตนะที่ไม่จำเป็น แล้วเจริญสติอย่างเข้มข้น ก็จะดี เหมือนได้ฝึกในสระให้เข้มแข็ง แล้วก็ฝึกในทะเล คือชีวิตประจำวันควบคู่กันไปด้วยสรุปว่า ถ้ามีโอกาสฝึกเข้มข้น ก็ฝึกเข้มข้น ถ้าตอนไหนยังไม่ได้ฝึกเข้มข้น อยู่ในชีวิตประจำวัน ก็เป็นโอกาสในการฝึกเหมือนกัน แต่จะให้เข้มข้นเท่ากับอยู่ในห้องกรรมฐานคงจะยากสักหน่อย
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม ปัญญา กับ สัมมาทิฏฐิ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
ตอบ สัมมาทิฏฐิก็คือปัญญานั่นเอง
ถ้าว่าโดยองค์ธรรม โดยเคร่งครัด สัมมาทิฏฐิในองค์มรรคนั้นมีความหมายเฉพาะเจาะจงที่ปัญญาเจตสิกในมรรคจิต คือจิตในขณะที่บรรลุธรรมมีนิพพานเป็นอารมณ์เท่านั้น
ถ้าว่าโดยทั่วไป สัมมาทิฏฐิคือความรู้ที่ถูกทาง ไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ตั้งแต่โลกียสัมมาทิฏฐิ เช่น การรู้ว่าบาปบุญคุณโทษมีจริง เป็นส่วนหนึ่งการฝึกพัฒนาชีวิตในหมวดที่เรียกว่าปัญญาสิกขา
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม ปัญญา กับ โยนิโสมนสิการ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
ตอบ โยนิโสมนสิการ ไม่ใช่ตัวปัญญา แต่เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา จึงมีความสำคัญมากและจำเป็นสำหรับวิปัสสนา เป็นตัวการทำให้ปัญญาทำงาน หรือเปิดขยายช่องให้ปัญญาเจริญงอกงาม
ไม่ว่ามีอารมณ์อะไรมากระทบ โยนิโสมนสิการ คือ กระบวนการจับอารมณ์นั้นมาให้ปัญญาพิจารณา ในขณะที่กำลังเจริญวิปัสสนา กำหนดอารมณ์ตึงหย่อน กำหนดอารมณ์ร้อนเย็น ถ้ามนสิการสิ่งนั้นแล้วส่งให้กิเลส เช่น โอ้......อุ่นๆ ชอบจัง อยากจะอุ่นอย่างนี้อีก อย่างนี้เรียก อโยนิโสมนสิการ ไม่เป็นวิปัสสนา แต่ถ้าอารมณ์นั้นเกิด แล้วเราตั้งใจหยิบมาให้ปัญญาดูว่า อุ่นเกิดขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เรียกว่า โยนิโสมนสิการ การเอามาให้ปัญญาทำงาน พอปัญญาสังเกตเห็น ปัญญานั้นเรียกว่าวิปัสสนา
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม เมื่อเราใช้ โยนิโสมนสิการ บ่อยๆ เรียกว่า เจริญวิปัสสนาได้หรือไม่
ตอบ อาจจะได้ หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่า เราพิจารณาอะไร
ถ้าพิจารณาสภาวธรรมโดยตรง ก็เป็นวิปัสสนา แต่ถ้าขณะนั้นเราโยนิโสมนสิการพิจารณาในสิ่งที่เป็นบัญญัติ เช่น ไฟแดง ไฟเขียว เราควรจะไป หรือ ควรจะหยุด อย่างนี้ก็เท่ากับเราจับเอาสิ่งนั้นมาพิจารณาด้วยปัญญา แต่เป็นการคิดใคร่ครวญไปในเรื่องของบัญญัติ ที่ไม่ใช่ตัวสภาวธรรม มันก็จะไม่เป็นวิปัสสนา
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม ควรทำอย่างไรให้การศึกษาทางปริยัติและปฏิบัติ มีความสมดุล
ตอบ ตัวการศึกษาที่แท้อยู่ที่การปฏิบัติ ทั้งด้านศีล สมาธิ ปัญญา
การศึกษาปริยัตินั้นพึงรู้เท่าที่จะเกื้อกูลต่อการปฏิบัติ เช่นศึกษาให้รู้ว่าการรักษาศีลมีประโยชน์อย่างไร ทำให้เกิดฉันทะในการรักษากายวาจาของตน เป็นต้น เมื่ออ่านฟังแล้วนำมาพิจารณา ถ้าเห็นว่ามีเหตุผลควรปฏิบัติแล้วก็นำมาลงมือทำ อย่างนี้ก็เรียกว่าสมดุล แต่ถ้าอ่านไป ฟังไปเรื่อยๆ แล้วไม่ปฏิบัติ หรือถ้าปฏิบัติไปทั้งๆที่ไม่รู้ อย่างนี้คือไม่สมดุล
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม โลกียสัมมาทิฏฐิ เท่ากับ จินตามยปัญญา หรือไม่
ตอบ ปัญญาทั้งหมดเกิดขึ้นได้ทั้งจากการฟัง เรียกว่า สุตมยปัญญา ฟังแล้วเอามาคิด เรียกว่า จินตามยปัญญา เมื่อลงมือปฏิบัติจนเห็นจริงตามสภาวะโดยไม่ต้องคิด เรียกว่า ภาวนามยปัญญา
โลกียสัมมาทิฏฐิ ไม่เท่ากับ จินตมยปัญญา แต่พูดได้ว่า โลกียสัมมาทิฏฐิ เกิดจากการฟังได้ คือ ฟังเขาบอกมาก็เป็นปัญญารู้ รู้ว่าควรทำยังไง ไม่ควรทำยังไง หรือเอามาคิดพิจารณาด้วย ก็เป็นโลกียสัมมาทิฏฐิได้ หรือลงมือทำ ทำบุญ ทำกุศล แล้วมันดีจริง ใจมันก็สบาย ก็เป็นโลกียสัมมาทิฏฐิที่เกิดจากการปฏิบัติ
สุตมยปัญญา, จินตามยปัญญา และ ภาวนามยปัญญา พูดถึง methodology ในการได้มาซึ่งปัญญา เพราะฉะนั้นการได้มาซึ่งโลกียสัมมาทิฏฐิ มันก็ได้มาจากทั้ง ๓ อย่าง ส่วนโลกุตรสัมมาทิฏฐิต้องเกิดจากการปฏิบัติ กล่าวคือฟังมาก่อน แล้วคิดพิจารณา จึงลงมือปฏิบัติ พอลงมือปฏิบัติแล้ว ประจักษ์ด้วยตนเอง จึงเกิดโลกุตรสัมมาทิฏฐิ
สรุปว่า เป็นการพูดกันคนละแง่ สุตตมยปัญญา จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา พูดในแง่วิธีการให้ได้มาซึ่งปัญญา ส่วนโลกียสัมมาทิฏฐิและโลกุตรสัมมาทิฏฐิ พูดถึงตัวสภาวะของปัญญาว่าเป็นปัญญาที่รู้อะไร ถ้าเป็นการรู้ทั่วไปเป็นโลกียะ ถ้ารู้นิพพานเป็นโลกุตตระ
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม สังเกตว่า คนที่มีมิจฉาทิฐิ ส่วนใหญ่เค้าไม่รู้ตัว ตัวเราเองก็คงจะมีบางเรื่อง เหมือนกันที่อาจจะไม่รู้ตัวอยู่ แม้นว่า ที่ผ่านบทเรียนมา ก็พยายามทบทวน ว่าเราเข้าใจ เห็นความจริง แล้วย้อนกลับมาดูตัวตามบทเรียน คำถามคือ เราจะรู้ตัวได้อย่างไรว่าเรามีมิจฉาทิฏฐิที่ต้องแก้ไข อะไรบ้าง
ตอบ ตอนที่เราอยู่กับความมืด มัว สลัว เราอาจจะเข้าใจว่ามันก็สว่างพอใช้ได้แล้ว แต่เมื่อความสว่างที่แท้จริงปรากฏขึ้น เราก็จะรู้ว่าสภาพที่อยู่ก่อนหน้ามันยังมืดอยู่
สิ่งที่เราทำได้ก็คือพัฒนาปัญญา (โดยมีการพัฒนาศีล และจิต ร่วมด้วยอย่างเป็นระบบ) เมื่อปัญญารู้ชัด ก็จะรู้ได้เองว่าอะไรที่ไม่ตรงกับปัญญานั้นแหละคือมิจฉาทิฐิ
(ที่มา - ตามรอย.. พุทธธรรม Online รุ่น 2/2564 นาทีที่ 1:49:06 - 1:49:40)
ถาม ในการฝึกวิปัสสนากรรมฐาน เราตามรู้ปรมัตถธรรม ตามความเป็นจริงแล้ว เราควรแค่รู้เฉยไปเรื่อยๆ แล้วมันจะเกิดปัญญาขึ้นเองใช่ไหม หรือเราต้องคิดพิจารณาว่ามันไม่เที่ยง พยายามดูให้เห็นว่ามันเกิดมันดับ อย่างไหนจึงจะถูกต้อง
ตอบ ให้มีสติกำหนดรู้ สิ่งที่ปรากฏในปัจจุบัน แล้วปัญญาก็คือความรู้ ที่เกิดจากการเห็นสิ่งที่มันเป็น โดยการสังเกตซื่อๆ ไม่ต้องคิดหรือวิเคราะห์
เปรียบเหมือนการกินอาหาร แล้วเราก็รู้ว่ากลิ่น รส ของแกงนั้นเป็นเช่นไร ปรากฏเกิดขึ้น แปรเปลี่ยนไปอย่างไร โดยไม่ต้องคิดเทียบเคียงหรือสรุปเป็น concept อะไร แต่รู้ตรงๆ ตามที่ปรากฏ
(ที่มา - ตามรอย.. พุทธธรรม Online รุ่น 2/2564 นาทีที่ 2:00:05 - 2:01:05)
ถาม การพัฒนาปัญญาด้วยการพิจารณาปรมัตถธรรมนั้น สภาวะเป็นจริงที่ว่าเช่น แข็ง อ่อน ร้อน เย็น หยาบ ละเอียด เป็นต้น คำบรรยาย เรียกชื่อเหล่านี่ล้วนเป็นคำสมมติบัญญัติที่มนุษย์บัญญัติขึ้นมาเองทั้งสิ้น แล้วเราจะปฏิบัติให้ใจไม่ผูกติดกับคำศัพท์สมมติอย่างไรครับ ?
ตอบ ถ้าใช้บัญญัติประกอบในขณะที่สังเกต กำหนดรู้สภาวะก็ได้ แต่ใช้คำเพียงเพื่อให้จิตมีสติอยู่กับสภาวะแต่ละปัจจุบันขณะ ไม่ฟุ้งไปกับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ปรมัตถสภาวธรรมในปัจจุบัน แต่เป้าหมายอยู่ที่การสังเกตสภาวะตามเป็นจริง ซึ่งเมื่อกำลังสติดีขึ้น คำบริกรรมเหล่านั้นก็ไม่จำเป็น ผู้ปฏิบัติจึงควรทำความเข้าใจหลักการฝึก แล้วใส่ใจที่อาการของสภาวธรรมต่างๆ ไม่ใช่เพียงว่าคำบริกรรม หรือคำบรรยายเป็นหลัก
(ที่มา - ตามรอย..พุทธธรรม Online รุ่น 2/2564 นาทีที่ 2:02:40 - 2:04:40)
ถาม การศึกษาพระอภิธรรมมีความสำคัญกับการปฏิบัติวิปัสสนามากน้อยเพียงใด
ตอบ ในแง่ของการปฏิบัติวิปัสสนา สำคัญในแง่ที่ว่าขอให้รู้เข้าใจเพียงว่า อะไรคือปรมัตถธรรม อะไรคือสภาวธรรมที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา ก็เจริญวิปัสสนาได้แล้ว ส่วนถ้ายังเข้าใจไม่ชัด ก็เรียนสักหน่อยเพื่อให้รู้เข้าใจชัดและปฏิบัติได้ถูกก็พอ ไม่จำเป็นต้องท่องจำ ส่วนใครอยากจะรู้เข้าใจเพื่อไขความสงสัยของตัว ซึ่งความสงสัยมันเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติ ก็เรียนรู้ปริยัติเท่าที่ไขความสงสัยของตนๆ ให้ใจมันยอมปฏิบัติ แต่ละคนก็ต้องการมากน้อยต่างกัน คนบางคนมีสัทธามากครูบาอาจารย์บอกให้ปฏิบัติก็ยอมตาม ใจมันยอมมันปฏิบัติเต็มที่ แล้วครูแนะนำถูกทาง รู้แค่นั้นปฏิบัติได้เลย ไม่ต้องเรียนอะไรต่อแล้วก็ได้ แต่บางคนใจมันไม่ยอม ครูบอกแล้ว จริงหรอ ครูอ้างคัมภีร์ ใช่หรอ ครูพูดแล้วสองคนไม่ตรงกัน นั่นไง ไม่ตรงกันแล้ว ต้องไขต่อให้จบ ไม่งั้นใจมันไม่ยอมปฏิบัติ ถ้าแบบนี้ก็ต้องเรียนเยอะหน่อยนะ แต่ละคนต้องการไม่เหมือนกัน
(ที่มา - ตามรอย..พุทธธรรม ๒/ ๒๕๖๔ นาทีที่ 1.58.48-2.01.14)
ถาม คนเราเกิดมาเพื่อพัฒนาตนให้พ้นทุกข์และช่วยคนอื่นใช่หรือไม่
ตอบ เมื่อเรารู้ว่าเราควรใช้ชีวิตอย่างไร จากการเข้าใจมัชเฌนธรรมเทศนา (หลักความจริงที่เป็นกลางตามธรรมชาติหรือธรรมที่เป็นกลาง) ก็เกิดเป็นกระบวนการในการพัฒนาชีวิต และเกิดเป็นกระบวนการในการฝึกที่เรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ หรือ ไตรสิกขา ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลที่ต้องพัฒนาภายในตนและท่าทีต่อสังคมรอบข้าง
ดังนั้นเป้าหมายในการปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนา จะพูดว่าคือนิพพานก็ใช่ จะพูดว่าเป็นการเกื้อกูลต่อโลกก็ใช่ คืออันเดียวกัน และเมื่อสังเกตดีๆ จะพบว่า ไม่ใช่การทำสิ่งหนึ่งให้เสร็จ แล้วจึงจะทำอีกสิ่งหนึ่งได้ แต่ในทุกขณะที่เราทำเพื่อเป็นการพัฒนาตนเองก็เป็นการพัฒนาโลกไปในตัว จริงไม่จริงเราต้องไปสังเกตตัวเอง เช่น วันนี้เราเป็นประโยชน์ต่อโลกไหม ถ้าเราพยายามเจริญไตรสิกขา ทำคุณต่อโลกเพิ่มขึ้นหน่อย เบียดเบียนโลกน้อยลงหน่อย ในขณะนั้นเลยเราก็พัฒนาตัวเองด้วย เราก็ช่วยโลกด้วย เบียดเบียนโลกน้อยลงด้วย ไม่ได้แปลว่าทำเพื่อตัวเองให้เสร็จก่อนแล้วเราจะมาทำเพื่อโลก แต่มันพัฒนาไปเรื่อยๆ ด้วยกัน
หลวงพ่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) ก็เน้นย้ำว่าต้องศึกษาให้ครบทั้งสามด้าน (ไตรสิกขา) เพื่อพัฒนาอย่างบูรณาการ (ภาวนา ๔) และเมื่อเราพัฒนาตนเองท่าทีของเราที่มีต่อโลกก็จะค่อยๆเปลี่ยนไป เป็นสุขที่ประณีตขึ้น จากการได้ให้ ได้ช่วย ได้ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ไม่มุ่งหวังเรียกร้องเอาจากโลก เป็นสุขที่จะทำประโยชน์เกื้อกูลให้แก่โลก ชีวิตก็พัฒนาไปจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ ก็คือไม่ทุกข์อีกเลย ไม่มีทุกข์เกิดอีกและเราก็จะใช้ชีวิตให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยไม่ต้องแคร์ว่าฉันจะสุขหรือทุกข์อีกต่อไป นี่คือเป้าหมายของการพัฒนาชีวิต
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม เรื่องปฏิจจสมุปบาท กับกรรม เกี่ยวข้องกันอย่างไร
ตอบ ปฏิจจสมุปบาทเป็นหลักความจริงของธรรมชาติที่แสดงถึงความสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยแก่กันของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งในระบบเหตุปัจจัยนั้นมีทั้งปัจจัยตามธรรมชาติ และกรรมที่เราทำเป็นปัจจัยตัวเหตุที่จะให้เกิดผลโดยตรงองค์ธรรมในปฏิจจสมุปบาทที่หมายถึงกรรม คือ สังขาร และภพ (กัมมภว)
รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องกรรม และปฏิจจสมุปบาทที่พึงทำความเข้าใจ และเชื่อมโยงไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องในชีวิตประจำวัน สามารถศึกษาได้จากหนังสือ "เหตุปัจจัยในปฏิจจสมุปบาท และกรรม"
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม เรื่องปฏิจจสมุปบาท กับไตรลักษณ์ เกี่ยวข้องกันอย่างไร
ตอบ ในหนังสือพุทธธรม หัวข้อ กฎธรรมชาติ ๒: ภาวะเป็นไป/อาการ(สัมพันธ์) กับ ภาวะปรากฏ/ลักษณะ อธิบายว่า"... กฎธรรมชาติชุดไตรลักษณ์นี้ ก็คืออีกด้านหนึ่งของกฎแห่งปัจจยาการนั่นเอง เมื่อสิ่งทั้งหลายมีอาการที่เป็นไปตามปัจจยาการแห่งเหตุปัจจัย มันก็มีลักษณะเป็นอนิจจา เป็นทุกขา เป็นอนัตตา
เริ่มแต่พื้นฐานที่ว่านี้ คือ สิ่งทั้งหลายมีภาวะของมันเอง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมีภาวะของมัน ที่เกิดจากเหตุปัจจัย เป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้าอัตตามีจริง สิ่งทั้งหลายก็ไม่ต้องและไม่อาจเป็นไปตามเหตุปัจจัยแต่เมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย อัตตาก็ไม่อาจจะมี
เมื่อมองเห็นสิ่งนั้นๆ เป็นเพียงภาพรวมแห่งชุมนุมขององค์ประกอบหรือส่วนย่อยหลากหลายมากมาย ที่เกิดมีและดับสลายสัมพันธ์กันเป็นไปอยู่ในกระบวนของปัจจยาการ ความเป็นตัวตนอัตตาของสิ่งนั้นๆ ก็หายไป เหมือนอย่างกำปั้นมีเพราะกำมือ พอแบมือเหยียดนิ้วออกไป กำปั้นก็หายหมด หมัดก็ไม่มี
อะไรๆ ที่เป็นสังขตธรรม เป็นสังขาร ก็เกิดมีและเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ไม่เป็นไปตามความต้องการหรือตามการสั่งบังคับของใคร (ถ้าใครจะให้มันเป็นไปอย่างไรๆ ตามที่ตัวปรารถนา ก็ต้องเรียนรู้สืบค้นเหตุปัจจัยที่จะให้มันเป็นอย่างนั้น แล้วปฏิบัติจัดการที่เหตุปัจจัยนั้นๆ จะเอาตัวปรารถนาไปสั่งการบัญชามันไม่ได้)
ส่วนสภาวะที่เป็นปัจจยักขัย เป็นอสังขตะ เป็นวิสังขารก็ชัดเจนอยู่แล้วว่ามันมีภาวะของมัน ซึ่งไม่มีไม่เป็นไปตามปัจจัยอะไรๆ ใครๆ อะไรๆ จะครอบครองสั่งการบัญชาอะไรอย่างไรไม่ได้ มันก็มีก็เป็นของมันตามธรรมดาอย่างนั้น
ในทางปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิตเป็นอยู่ของมนุษย์ เมื่อมีปัญญารู้เข้าใจความจริงตามธรรมดาของสภาวะแล้วก็รู้จักที่จะปฏิบัติในการดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง เรียกว่านำความรู้เข้าใจสัจธรรม ในภาคมัชเฌนธรรมเทศนานี้ ไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติจริยธรรม เป็นการดำเนินมรรคาชีวิตในภาคมัชฌิมาปฏิปทา คือรู้ทันว่า การถืออัตตา ตัวตนนั้น เป็นเรื่องของมนุษย์ที่มีความยึดถือด้วยอวิชชาตัณหาอุปาทาน ซึ่งไม่ตรงตามความเป็นจริง ถ้าอยู่แค่กับความอยากความยึดนั้น ก็ไม่มี
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม เรื่องปฏิจจสมุปบาท กับอริยสัจ เกี่ยวข้องกันอย่างไร
ตอบ อริยสัจ เป็นการอธิบาย เรื่องระบบเหตุ และปัจจัย เช่นเดียวกัน กับหลักปฎิจสมุปบาท- ทุกข์ สมุทัย จะอยู่ในปฎิจสมุปปบาท ฝ่ายของการเกิดทุกข์
- นิโรธ มรรค จะอยู่ในปฎิจสมุปปบาท ฝ่ายของการดับทุกข์
กระบวนการที่จะเดินหน้าสู่การดับทุกข์ (นิโรธ) คือลงมือทำเหตุ (มรรค) ซึ่งก็คือระบบการปฎิบัติในไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา หรือมรรค มีองค์ ๘
(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม มัชเฌนธรรมเทศนา กับมัชฌิมาปฏิปทา เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร
ตอบ ในหนังสือพุทธธรรม หัวข้อ บนฐานของมัชเฌนธรรมเทศนา เข้าสู่มัชฌิมาปฏิปทา ได้อธิบายว่า "...บนฐานของความรู้เข้าใจเข้าถึงระบบและกระบวนการของสภาวธรรมที่เป็นธรรมดาของธรรมชาติ (มัชเฌนธรรมเทศนา) นั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงนำความรู้เข้าใจนั้นมาประยุกต์สั่งสอนแสดงระบบและกระบวนวิธีปฏิบัติของมนุษย์ที่จะให้เกิดผลเป็นไปตามระบบและกระบวนการของธรรมชาตินั้น โดยทรงจัดวางเป็นมรรคาชีวิตของคน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า บนฐานแห่งสัจธรรม ได้ทรงจัดวางระบบจริยธรรม ที่เรียกว่าพรหมจริยะ หรือมรรค (มัชฌิมาปฏิปทา) ขึ้นมา เป็นวิถีของอิสรภาพและความสุข ที่ปลอดทุกข์ไร้ปัญหาดังที่ว่านั้น อันจะกล่าวในภาคของมัชฌิมาปฏิปทาข้างหน้าต่อไป..."(ผู้ตอบ - อัตถจารีรุ่น ๑/๒๕๖๔ และพระครูเมธังกร - ๑๒ ส.ค. ๖๔)
ถาม ปฏิบัติไปนานๆ เหมือนจะติดดี หลงว่าเราเนี่ยเป็นคนดี และมักมีโทสะต่อการกระทำของคนอื่น ทำอย่างไรดี
ตอบ ก็มองตัวเองสิ นี่ไง เรานี่แหละคือคนโกรธ เหล่านี่แหละคนมีอกุศล เราไม่ดีแล้ว ที่เห็นว่าตัวเองดีก็จะเห็นว่าเราไม่ดีแล้ว พอเห็นว่าเราไม่ดีแล้ว เรากับเค้าเหมือนกันเลย ผีเห็นผี ไม่ต้องไปโกรธเค้า เราก็เหมือนเค้า เราก็คือเพื่อนร่วมทุกข์ ยังไม่ความไม่ดีอยู่ สุดท้ายเราก็จะไม่โกรธใคร เราไม่ไปจัดการอะไรกับคน แต่จัดการความไม่ดี เช่นความโกรธ ความถือตัว ที่มีในตัวเรานี้เอง เราก็ฝึกพัฒนาตัวเองเรื่อยไป แล้วก็ไม่ต้องไปโกรธใคร ทุกคนที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ก็ยังมีความไม่ดีอยู่ในตัวทั้งนั้น
และสามารถศึกษาเพิ่มเติมในหนังสือ "ทำอย่างไรจะหายโกรธ"
(ที่มา - ตามรอย...พุทธธรรม ๒/ ๒๕๖๔ นาทีที่ 1.50.43-1.51.47)
Web page was built with Mobirise