ไปยังหน้า : |
ในปรมัตถทีปนีฎีกา ท่านพระฎีกาจารย์ได้แสดงการเกิดขึ้นของกัมมชกลาปทั้ง ๔ มีจักขุทสกกลาป เป็นต้น ที่เกิดต่อจากปฏิสนธิกาล ของพวกคัพภเสยยกะกำเนิด [ชลาพุชะกำเนิด] ไว้ว่า
ตโต ปรํ ปวตฺติมฺหิ วฑฺฒมานสฺส ชนฺตุโน
จกฺขุทสกาทโย จ จตฺตาโร โหนฺติ สมฺภวา ฯ
แปลความว่า ในปวัตติกาล กัมมชกลาปทั้ง ๔ มีจักขุทสกกลาป เป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นแก่สัตว์โดยค่อย ๆ เจริญขึ้นตามสมควร
อธิบายความว่า หลังจากปฏิสนธิกาลไปแล้ว ในปวัตติกาลเมื่อสัตว์นั้นเจริญเติบโตขึ้น กัมมชกลาป ๔ มีจักขุทสกกลาป เป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นตามสมควร แต่ก็ไม่ได้จำกัดลงไปว่า กัมมชกลาปใดเกิดก่อนหรือเกิดภายหลัง เป็นการแสดงรวมไปว่า จักขุทสกกลาป โสตทสกกลาป ฆานทสกกลาป และชิวหาทสกกลาป ทั้ง ๔ กลาปนี้ ย่อมเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ ๑๑ ในระหว่าง ๗๐ ถึง ๗๗ วัน และเอาเป็นที่แน่นอนไม่ได้ว่า กลาปใดเกิดก่อน กลาปใดเกิดทีหลัง เพราะพระพุทธองค์มิได้ทรงแสดงกัมมชกลาปทั้ง ๙ โดยอุปปัตติกมนัย [ลำดับแห่งการเกิดขึ้น] แต่เป็นการแสดงโดยเทสนากมนัย [ลำดับแห่งเทศนา] เช่นเดียวกันกับการแสดงเรื่องขันธ์ ๕ หรือสัจจะ ๔ เป็นต้น อนึ่ง ในกถาวัตถุอรรถกถาท่านแสดงว่า
เสสานิ จตฺตาริ สตฺตสตฺตติ รตฺติมฺหิ ชายนฺติ
แปลความว่า กัมมชกลาปทั้ง ๔ ที่เหลือจากกายทสกกลาป ภาวทสกกลาป วัตถุทสกกลาป และชีวิตนวกกลาป ย่อมเกิดขึ้นในวันที่ ๗๐-๗๗ หรือสัปดาห์ที่ ๑๐-๑๑
สำหรับชีวิตนวกกลาปย่อมเกิดขึ้นภายในสัปดาห์แรก หลังจากปฏิสนธิจิตเป็นต้นไป คือ ในระหว่าง ๗ วันแรก
ส่วนชีวิตนวกกลาปที่เกิดในปวัตติกาลของพวกสังเสทชะกำเนิดและโอปปาติกะกำเนิดในกามภูมินั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ฐีติขณะของปฏิสนธิจิตเป็นต้นไป