ไปยังหน้า : |
บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของฉันทเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับรู้อารมณ์เป็นพิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ซึ่งไม่เหมือนกับสภาวธรรมอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้
๑. กัตตุกัม๎ยะตาลักขะโณ มีความปรารถนา เพื่อจะทำให้สัมปยุตตธรรมคือจิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนได้รับรู้อารมณ์ เป็นลักษณะ หมายความว่า สภาวะของฉันทเจตสิกนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีความปรารถนาต่ออารมณ์ เช่น ปรารถนาต่อรูปารมณ์เพื่อจะเห็น ปรารถนาต่อสัททารมณ์เพื่อจะได้ยิน เป็นต้น พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นสภาวธรรมที่ต้องการจะรับรู้อารมณ์นั่นเอง เป็นลักษณะของฉันทะ ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะดีหรือไม่ดีก็ตาม ถูกหรือผิดก็ตาม ย่อมเป็นที่ปรารถนาของฉันทะทั้งสิ้น
๒. อารัมมะณะปะริเยสะนะระโส มีการแสวงหาอารมณ์เป็นกิจ หมายความว่า เมื่อมีความปรารถนาอารมณ์แล้ว ย่อมมีการแสวงหาอารมณ์ตามที่ต้องการนั้น การแสวงหาอารมณ์มีอยู่หลายอย่างด้วยกัน เช่น แสวงหากามคุณอารมณ์ แสวงหาวิชาความรู้ต่าง ๆ แสวงหาพระนิพพาน เป็นต้น ล้วนแต่เป็นกิจของฉันทะ แต่การแสวงหากามคุณอารมณ์นั้น แม้ว่าจะเป็นกิจของฉันทะก็จริง แต่เป็นไปด้วยอำนาจของโลภะเป็นประธาน เพราะฉะนั้น เมื่อได้อารมณ์มาแล้ว จึงเกิดความยึดติดในอารมณ์นั้น ส่วนการแสวงหากุศลธรรม และวิชาความรู้ การแสวงหาพระนิพพาน หรือการแสวงหาวัตถุสิ่งของมาเพื่อเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมก็ดี เหล่านี้เป็นไปด้วยอำนาจของฉันทะโดยตรง เพราะเมื่อได้อารมณ์มาแล้วย่อมไม่เกิดความยึดติดในอารมณ์นั้น เพียงแต่รับรู้แล้วก็ผ่านไป
๓. อารัมมะณะอัตถิกะตาปัจจุปปัฏฐาโน มีความปรารถนาในอารมณ์ เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า เมื่อพระโยคีบุคคลพิจารณาอาการของฉันทะโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมรู้ได้ด้วยปัญญาว่า ฉันทเจตสิกนี้ มีความปรารถนาในอารมณ์ดังกล่าว เป็นอาการปรากฏ ถ้าไม่มีฉันทเจตสิกเกิดขึ้นด้วย จิตย่อมไม่มีความปรารถนาอารมณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมไม่มีความขวนขวายในการรับรู้อารมณ์เป็นพิเศษจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์
๔. อารัมมะณะปะทัฏฐาโน มีอารมณ์เป็นเหตุใกล้ให้เกิดขึ้น หมายความว่า เหตุที่ใกล้ที่สุด ที่ทำให้ฉันทะเกิดขึ้น ก็คือ อารมณ์ต่าง ๆ มีรูปารมณ์เป็นต้นนั่นเอง เพราะถ้าไม่มีอารมณ์เสียแล้ว อาการปรารถนาอารมณ์ย่อมมีไม่ได้
ข้อสังเกต ฉันทะกับโลภะนั้น มีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน คือ มีความต้องการอารมณ์ด้วยกัน แต่ความต้องการอารมณ์ที่เป็นฉันทะนั้น ไม่เหมือนกับความต้องการที่เป็นโลภะ กล่าวคือ ความต้องการที่เป็นโลภะนั้น ย่อมยึดอารมณ์ไว้อย่างเหนียวแน่น ส่วนความต้องการอารมณ์ที่เป็นฉันทะนั้น ไม่ยึดและไม่ติดใจอยู่ในอารมณ์นั้น อุปมาเหมือนบุคคลธรรมดาที่ต้องการรับประทานขนม กับผู้ป่วยที่ต้องการรับประทานยาแก้ไข้ ความต้องการขนมนั้น เป็นความต้องการที่เป็นโลภะ เพราะเป็นความต้องการที่ยึดติดอยู่ในรสของขนม ส่วนความต้องการยานั้น เป็นความต้องการชนิดที่เป็นฉันทะ เพราะเป็นความต้องการที่ไม่ยึดติดอยู่ในรสของยา เมื่อหายป่วยแล้ว ย่อมไม่มีความต้องการรับประทานยาอีก