| |
๔. สัลลัตถสูตร   |  

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในชน ๒ จำพวกนั้น จะมีอะไรแปลกกัน มีอะไรต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว กับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ”

[เวทนาเกิดแก่ปุถุชนกับพระอริยะต่างกัน]

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ร่ำไร รำพัน ทุบอกคร่ำครวญ ย่อมถึงความงมงาย เขาย่อมเสวยเวทนา ๒ อย่าง คือ เวทนาทางกาย และ เวทนาทางใจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนายขมังธนู ได้ยิงบุรุษผู้หนึ่งด้วยลูกศรดอกที่ ๑ แล้วยิงซ้ำด้วยลูกศรดอกที่ ๒ เมื่อเป็นเช่นนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศร ๒ อย่าง คือ ด้วยลูกศรดอกที่ ๑ และด้วยลูกศรดอกที่ ๒ ข้อนี้ฉันใด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ร่ำไรรำพัน ทุบอกคร่ำครวญ ย่อมถึงความงมงาย เขาย่อมเสวยเวทนา ๒ ประการ คื เวทนาทางกาย และเวทนาทางใจ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร ไม่รำพัน ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความงมงาย เธอย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนายขมังธนู ได้ยิงบุรุษคนหนึ่ง ด้วยลูกศรดอกที่ ๑ แล้วยิงซ้ำด้วยลูกศรดอกที่ ๒ แต่ลูกศรพลาดไป เมื่อเป็นเช่นนี้ บุรุษนั้น ย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศรดอกเดียว เท่านั้น ข้อนี้ฉันใด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วก็ฉันนั้นเหมือนกัน อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร ไม่รำพัน ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความงมงาย ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ” [เสวยเฉพาะทางกายอย่างเดียว]


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |