ไปยังหน้า : |
ในคัมภีร์มิลินทปัญหาได้แสดงลักษณะของสติไว้ ๒ ประการเจ.๒๕ คือ
๑. อปิลาปนลักขณาสติ สติที่เตือนให้ระลึกถึงธรรมทั้งหลาย
๒. อุปคัณหณลักขณาสติ สติที่เตือนให้เลือกเอาธรรมที่ควรเสพ
อธิบาย
๑. อปิลาปนลักขณาสติ หมายถึง สติที่คอยเตือนให้ระลึกนึกคิดไปในธรรมทั้งหลายว่า สิ่งนี้ดี สิ่งนี้ชั่ว สิ่งนี้เป็นประโยชน์ สิ่งนี้ไม่เป็นประโยชน์ ธรรมนี้เป็นสติปัฏฐาน ๔ ธรรมนี้เป็นสัมมัปปธาน ๔ ธรรมนี้เป็นอิทธิบาท ๔ ธรรมนี้เป็นอินทรีย์ ๕ พละ ๕ ธรรมนี้เป็นโพชฌงค์ ๗ ธรรมนี้เป็นมรรคมีองค์ ๘ หรือสิ่งนี้เป็นสมถกรรมฐาน สิ่งนี้เป็นวิปัสสนากรรมฐาน สิ่งนี้เป็นฌาน สิ่งนี้เป็นอภิญญา สิ่งนี้เป็นสมาบัติ เป็นวิชชา เป็นวิมุตติ เป็นกองจิต เป็นกองเจตสิก เป็นต้น
เมื่ออปิลาปนลักขณาสติ เตือนให้คอยระลึกธรรมเหล่านี้แล้ว ย่อมไม่ส้องเสพธรรมอันมิควรเสพ ย่อมเสพแต่ธรรมที่ควรเสพเท่านั้น อปิลาปนลักขณาสตินี้ จึงหมายถึง สติที่ประกอบทั่วไปในโสภณจิต ย่อมให้ระลึกถึงกุศลธรรม โดยทำหน้าที่กั้นกระแสนิวรณธรรมมิให้ไหลมาสู่จิตใจได้ ส่วนจะประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ได้ประกอบด้วยปัญญาก็ตาม ย่อมสามารถให้ระลึกถึงกุศลธรรมโดยชอบได้
๒. อุปคัณหณลักขณาสติ หมายถึง สติที่ชักชวนให้ถือเอาคติในธรรมอันดี ย่อมให้ระลึกว่า ธรรมนี้เป็นประโยชน์ ธรรมนี้ไม่เป็นประโยชน์ ธรรมนี้มีอุปการะ ธรรมนี้ไม่มีอุปการะ ย่อมละธรรมที่ไม่มีประโยชน์ ถือเอาแต่ธรรมที่เป็นประโยชน์ ย่อมละธรรมที่ไม่มีอุปการะ ถือเอาแต่ธรรมที่มีอุปการะ ดุจนายทวารบาลของพระมหากษัตริย์ ถ้าเห็นผู้ใดแปลกหน้าเข้าไปสู่ประตูพระราชวัง ย่อมห้ามเสียมิให้เข้า ผู้ใดมีอุปการะต่อพระมหากษัตริย์ ย่อมปล่อยให้เข้าไปสู่พระราชฐาน ย่อมกั้นเสียซึ่งคนอันมิใช่ข้าเฝ้า ถือเอาแต่คนที่เป็นข้าเฝ้าให้เข้าไปสู่พระราชฐานนั้นได้
อุปคัณหณลักขณาสติ จึงเป็นสติที่อุปการะแก่ปัญญาโดยตรง ได้แก่ สติสัมปชัญญะที่เกิดขึ้นในขณะพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ อันเป็นบุพพภาคมรรค คือ เป็นเบื้องต้นแห่งมรรคพรหมจรรย์ ที่จะอุปการะให้รู้แจ้งพระนิพพาน
ด้วยเหตุนี้ สติจึงมี ๒ อย่าง คือ
๑. สติที่ประกอบกับโสภณจิตโดยทั่วไป ในขณะระลึกรู้อารมณ์ที่อดีตสัญญาเก็บจำไว้ ตามนัยแห่งปริยัติ ได้แก่ อปิลาปนลักขณาสติ
๒. สติที่กระทำความรู้สึกตัวขณะกำหนดรู้รูปนามตามความเป็นจริง ในการเจริญสติปัฏฐาน ตามแนวทางแห่งการปฏิบัติ ได้แก่ อุปคัณหนลักขณาสติ