ไปยังหน้า : |
โสตวิญญาณจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยความเป็นผลของกุศลและอกุศล เพื่อรับรู้สัททารมณ์ หมายความว่า ถ้าสัททารมณ์คือเสียงนั้น เป็นอิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่น่าปรารถนาปรากฏขึ้น โสตวิญญาณจิตที่เกิดขึ้นรับรู้ ก็เป็นกุศลวิบาก ถ้าสัททารมณ์คือเสียงนั้น เป็นอนิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาปรากฏขึ้น โสตวิญญาณจิตที่เกิดขึ้นรับรู้ ก็เป็นอกุศลวิปากจิต โสตวิญญาณจิตนี้ มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกกะ คือ
๑. โสตะนิสสิตะสัททะวิชานะนะลักขะณัง มีการรู้เสียงโดยอาศัยโสตวัตถุ เป็นลักษณะ หมายความว่า โสตวิญญาณจิตทั้ง ๒ ดวงนี้ ไม่สามารถอาศัยวัตถุรูปอย่างอื่นเกิดได้เลย คือ จะอาศัยจักขุวัตถุ ฆานวัตถุ ชิวหาวัตถุ กายวัตถุ หรือ หทยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดนั้นไม่ได้ ย่อมอาศัยเกิดได้เฉพาะโสตวัตถุ คือ โสตปสาทรูป อย่างเดียวเท่านั้น
๒. สัททะมัตตารัมมะณะระสัง มีอารมณ์เฉพาะสัททารมณ์เท่านั้น เป็นกิจ หมายความว่า โสตวิญญาณจิต ๒ ดวงนี้ ไม่สามารถรับรู้อารมณ์อย่างอื่นได้ คือ จะไปรับรู้รูปารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ หรือธัมมารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นไม่ได้ ย่อมรับได้เฉพาะสัททารมณ์คือเสียงต่าง ๆ เท่านั้น
๓. สัททาภิมุขะภาวะปัจจุปปัฏฐานัง มีการมุ่งตรงเฉพาะต่อเสียงเท่านั้น เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า โสตวิญญาณจิต ๒ ดวงนี้ ดวงใดดวงหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมมุ่งหน้าในการรับสัททารมณ์เท่านั้น จะไม่มุ่งหน้าไปหารับอารมณ์อื่นที่นอกจากสัททารมณ์นี้เลย คือ เมื่อสัททารมณ์ที่เป็นอนิฏฐารมณ์อันเป็นผลของอกุศลกรรมปรากฏเกิดขึ้นทางโสตทวารแล้ว โสตวิญญาณจิตที่เป็นอกุศลวิบากย่อมจะเกิดขึ้นและมุ่งหน้าต่อสัททารมณ์อันไม่น่าปรารถนานั้น เมื่อสัททารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ [ทั้งที่เป็นอติอิฏฐารมณ์ คือ เสียงอันน่าปรารถนาอย่างยิ่งก็ดี หรืออิฏฐมัชฌัตตารมณ์ คือ เสียงอันน่าปรารถนาระดับปานกลางก็ดี] อันเป็นผลของกุศลกรรมปรากฏเกิดขึ้นทางโสตทวารแล้ว โสตวิญญาณจิตที่เป็นกุศลวิบากย่อมจะเกิดขึ้นและมุ่งหน้าต่อสัททารมณ์อันน่าปรารถนานั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพของวิปากจิตนั้น
๔. สัททารัมมะณายะ ก๎ริยามะโนธาตุยา อะปะคะมะปะทัฏฐานัง มีการแผ่ออกไปแห่งกิริยามโนธาตุซึ่งมีเสียงเป็นอารมณ์ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า เมื่อสัททารมณ์ปรากฏขึ้นทางโสตทวารแล้ว ภวังคจิตหวั่นไหวตอบสนองต่อสัททารมณ์นั้น และตัดกระแสภวังค์ขาดแล้ว ปัญจทวาราวัชชนจิต อันได้ชื่อว่า กิริยามโนธาตุ ย่อมเกิดขึ้นเป็นจิตดวงแรกในโสตทวารวิถีนั้น ทำการหน่วงเหนี่ยวสัทารมณ์นั้นมาสู่โสตทวารวิถี โดยทำการพิจารณาว่าเป็นสัททารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วส่งให้โสตวิญญาณรับต่อไป คือ ถ้าเป็นสัททารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ ก็ส่งให้โสตวิญญาณจิตที่เป็นกุศลวิบากรับไป ถ้าเป็นสัททารมณ์ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ก็ส่งให้โสตวิญญาณจิตที่เป็นอกุศลวิบากรับไป ฉะนั้น โสตวิญญาณจิตทั้ง ๒ ดวงนี้ จะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นแผ่ออกรับสัททารมณ์นั้นมาพิจารณาก่อน โสตวิญญาณจิตนี้ จึงจะเกิดขึ้นรับรู้สัททารมณ์นั้นต่อไปได้
อนึ่ง โสตวิญญาณจิต ๒ ดวงนี้ เป็นอเหตุกจิต เนื่องจากเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุ ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง มีโลภเหตุ เป็นต้นเกิดร่วมด้วยเลย แต่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการประชุมพร้อมกันแห่งปัจจัย ๔ ประการ เรียกว่า อุปัตติเหตุ ได้แก่
๑. โสตะปะสาโท มีประสาทหูดี
๒. สัททารัมมะณัง มีสัททารมณ์ คือ เสียงมาปรากฏเฉพาะหน้า
๓. วิวะรากาโส มีช่องว่าง [ช่องหูที่อากาศสามารถเข้าออกได้]
๔. มะนะสิกาโร มีความสนใจเพื่อจะฟัง [ปัญจทวาราวัชชนจิตหน่วง เหนี่ยวอารมณ์ คือ ชักดึงสัททารมณ์มาสู่โสตทวาร]
เมื่อสมบูรณ์พร้อมด้วยปัจจัย ๔ ประการนี้แล้ว การได้ยินเสียงก็เกิดขึ้นได้อย่างบริบูรณ์ ถ้าบกพร่องไปด้วยปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ประสาทหูไม่ค่อยดี สัททารมณ์นั้นอยู่ไกลหรือใกล้เกินไป ช่องหูผิดปกติ หรือไม่ค่อยใส่ใจต่อสัททารมณ์นั้น ดังนี้เป็นต้นแล้ว ประสิทธิภาพของการได้ยินก็ลดน้อยลงไป ถ้าขาดปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งไป เช่น หูหนวก ไม่มีสัททารมณ์ปรากฏ ช่องหูถูกปิดกั้นไว้จนแนบสนิท หรือไม่ได้ใส่ใจต่อสัททารมณ์นั้นเลยหรือนอนหลับสนิท ดังนี้เป็นต้นแล้ว การได้ยินก็เกิดขึ้นไม่ได้เลย นี้เรียกว่า อุปัตติเหตุทางโสตทวาร ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงสอนให้กำหนดว่า ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน เพราะขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยเหล่านี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจบังคับบัญชา หรือคำบงการของใครทั้งสิ้น ไม่มีใครบังคับบัญชาให้ได้ยินหรือไม่ให้ได้ยินได้ ฉะนั้น จึงไม่ใช่เราได้ยินหรือใครได้ยิน เพียงแต่เป็นสภาพของนามธรรมที่ได้เหตุปัจจัยครบแล้วเกิดการได้ยินเท่านั้น