ไปยังหน้า : |
การละอาสวะมี ๗ วิธีรุ.๔๘๕ คือ
๑. ทัสสเนนะ อาสวปหาตัพพา การละอาสวะด้วยการเห็น หมายถึง การพิจารณาให้เห็นความเสื่อมและความสิ้นไปแห่งสังขารทั้งหลาย ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความเสื่อมไปและความสิ้นไปเป็นธรรมดา และเป็นอนัตตา คือ สภาพที่ไม่ใช่ตัวตนบังคับบัญชาให้เป็นไปตามที่ใจปรารถนาทุกอย่างไม่ได้ ล้วนแต่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของตน ๆ ทั้งสิ้น
๒. สังวรายะ อาสวปหาตัพพา การละอาสวะด้วยการสังวร หมายถึง การสำรวมระวังอินทรีย์ ๖ อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้เห็นโดยสักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน เป็นต้น โดยไม่ปรุงแต่งให้เลยเถิดไปว่า เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความยินดีและความยินร้าย ในเวลาเห็นรูป ได้ยินเสียง ดมกลิ่ม ลิ้มรส กระทบสัมผัส และคิดนึกธัมมารมณ์ต่าง ๆ อันเป็นต้นตอของกิเลสทั้งหลายต่อไป
๓. เสวนายะ อาสวปหาตัพพา การละอาสวะด้วยการส้องเสพ หมายถึง การส้องเสพสมถภาวนาด้วยการบำเพ็ญสมถกัมมัฏฐาน ๔๐ อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์ จนบรรลุถึงฌานในที่สุด หรือการส้องเสพวิปัสสนาภาวนา ด้วยการพิจารณาสังขารทั้งหลายให้เห็นโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และเป็นอสุภะ เพื่อถ่ายถอนวิปัลลาสธรรมให้สิ้นไป และเพื่อให้เกิดความเบื่อหน่าย ไม่ยึดมั่นถือมั่นในรูปนามขันธ์ ๕ และโลกียธรรมทั้งปวง จนบรรลุถึงมรรค ผล นิพพาน ในที่สุด
๔. อธิวาสเนนะ อาสวปหาตัพพา การละอาสวะด้วยความอดทน หมายถึง การอดทนต่อการเจริญกัมมัฏฐานจนจิตแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ เกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง เมื่อนั้นจิตย่อมเบื่อหน่ายคลายจากอาสวะโดยสิ้นเชิง สามารถอดกลั้นต่อกระแสกิเลสและละเสียได้ซึ่งอาสวะทั้งปวงในที่สุด นี้เป็นอานิสงส์ของความอดทน
๕. ปริวัชชเนนะ อาสวปหาตัพพา การละอาสวะด้วยการเว้นเสีย หมายถึง เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นสังขารทั้งหลายเป็นของน่าเบื่อหน่ายดังกล่าวแล้ว ย่อมละเว้นโดยเด็ดขาดด้วยปัญญา เปรียบเหมือนบุรุษผู้เดินทางไกล ย่อมหลีกเว้นหนทางที่มีพวกโจรซุ่มอยู่เสียให้ห่างไกล ฉันนั้น
๖. วิโนทเนนะ อาสวปหาตัพพา การละอาสวะด้วยการบรรเทาเสีย หมายถึง เมื่อบุคคลอบรมจิตด้วยวิปัสสนาวิธี พิจารณาเห็นสังขารทั้งหลายเป็นของน่าเบื่อหน่ายดังกล่าวแล้ว จนเกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง เห็นว่ารูปนามขันธ์ ๕ อันมีสภาพเกิดดับเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอนี้ เป็นดุจสิ่งของที่ยืมเขามา ซึ่งจะต้องส่งคืนเจ้าของเขาไป แล้วถอนความอาลัยเสีย ด้วยการบรรเทาความเมาทั้ง ๓ กล่าวคือ ความเมาในชีวิต เมาในความไม่มีโรค และเมาในความเป็นหนุ่มสาว เสียให้เบาบาง
๗. ภาวนายะ อาสวปหาตัพพา การละอาสวะด้วยการภาวนา หมายถึง การเจริญภาวนาในสมถวิธีและวิปัสสนาวิธี แล้วยกจิตขึ้นสู่ไตรลักษณ์ พิจารณาสังขารธรรมทั้งปวงให้รู้เห็นตามความเป็นจริง โดยความเป็นไตรลักษณ์ จนจิตมีสภาพผ่องแผ้ว ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสังขารทั้งปวง เมื่อเป็นเช่นนี้ อาสวะทั้งหลายย่อมสิ้นไปในที่สุด