ไปยังหน้า : |
ปกิณณกเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่กระจัดกระจายอยู่โดยทั่ว ๆ ไป หมายความว่า เป็นเจตสิกที่สามารถประกอบกับจิตได้ทุกจำพวก ทั้งฝ่ายอกุศลจิตบ้าง กุศลจิตบ้าง วิบากจิตบ้าง กิริยาจิตบ้าง ซึ่งเป็นการประกอบได้ทั่วไปทั้งฝ่าย อโสภณะและโสภณะ หรือทั้งโลกียะและโลกุตตระ แต่การประกอบของปกิณณกเจตสิกนี้ ย่อมประกอบได้เพียงบางดวงเท่านั้น ไม่ใช่ประกอบกับจิตได้ทั้งหมด หรือไม่ใช่ประกอบร่วมกันเองได้ทั้งหมด เหมือนอย่างสัพพจิตตสาธารณเจตสิกที่กล่าวไปแล้ว เพราะฉะนั้น เจตสิกทั้ง ๖ ดวงนี้ จึงได้ชื่อว่า ปกิณณกะ แปลว่า เรี่ยราย หรือ กระจัดกระจาย หมายถึง สภาวธรรมที่เกิดอยู่ในจิตประเภทต่าง ๆ ได้ทั่วไป ตามสมควรแก่สภาพของจิตดวงนั้น ๆ ว่า ปกิณณกเจตสิกดวงไหน จะสามารถเกิดร่วมได้บ้าง ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “สัพเพสุ ธัมเมสุ วิกีรันติ ยุญชันตีติ ปะกิณณะกา” แปลความว่า ธรรมเหล่าใดย่อมประกอบเรี่ยรายอยู่ในธรรมทั้งหลายได้ เพราะฉะนั้น ธรรมเหล่านั้น ชื่อว่า ปกิณณกะ ได้แก่ ปกิณณกเจตสิก ๖ นั่นเอง
เพราะฉะนั้น ปกิณณกเจตสิกแต่ละดวง จึงประกอบกับจิตได้ไม่เท่ากัน และประกอบกับจิตบางดวงได้ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพของจิตดวงนั้น ๆ ว่า จะมีสภาพเหมาะสมที่ปกิณณกเจตสิกแต่ละดวงจะเข้าประกอบร่วมด้วยได้หรือไม่ นั่นเอง