ไปยังหน้า : |
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๓ อย่างนี้เป็นเหตุให้เกิดกรรม ธรรมชาติ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ โลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมใดซึ่งบุคคลกระทำด้วยความโลภ เกิดแต่ความโลภ มีความโลภเป็นเหตุ มีความโลภเป็นแดนเกิด กรรมนั้นเป็นอกุศล กรรมนั้นมีโทษ กรรมนั้นมีทุกข์เป็นผล กรรมนั้นเป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไป กรรมนั้นไม่เป็นไปเพื่อความดับกรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมใดซึ่งบุคคลกระทำด้วยความโกรธ เกิดแต่ความโกรธ มีความโกรธเป็นเหตุ มีความโกรธเป็นแดนเกิด กรรมนั้นเป็นอกุศลกรรมมีโทษ กรรมนั้นมีทุกข์เป็นผล กรรมนั้นเป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไป กรรมนั้นไม่เป็นไปเพื่อความดับกรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมใดซึ่งบุคคลกระทำด้วยความหลง เกิดแต่ความหลง มีความหลงเป็นเหตุ มีความหลงเป็นแดนเกิด กรรมนั้นเป็นอกุศล กรรมนั้นมีโทษ กรรมนั้นมีทุกข์เป็นผล กรรมนั้นเป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไป กรรมนั้นไม่เป็นไปเพื่อความดับกรรม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๓ อย่างนี้ เป็นเหตุเพื่อให้ดับกรรม ธรรมชาติ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ อโลภะ ๑ อโทสะ ๑ อโมหะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมใดซึ่งบุคคลกระทำด้วยความไม่โลภ เกิดแต่ความไม่โลภ มีความไม่โลภเป็นเหตุ มีความไม่โลภเป็นแดนเกิด กรรมนั้นเป็นกุศล กรรมนั้นไม่มีโทษ กรรมนั้นมีสุขเป็นผล กรรมนั้นเป็นไปเพื่อความดับกรรม กรรมนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเกิดกรรมต่อไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมใดซึ่งบุคคลกระทำด้วยความไม่โกรธ เกิดแต่ความไม่โกรธ มีความไม่โกรธเป็นเหตุ มีความไม่โกรธเป็นแดนเกิด กรรมนั้นเป็นกุศล กรรมนั้นไม่มีโทษ กรรมนั้นมีสุขเป็นผล กรรมนั้นเป็นไปเพื่อความดับกรรม กรรมนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเกิดกรรมต่อไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมใดที่บุคคลกระทำด้วยความไม่หลง เกิดแต่ความไม่หลง มีความไม่หลงเป็นเหตุ มีความไม่หลงเป็นแดนเกิด กรรมนั้นเป็นกุศล กรรมนั้นไม่มีโทษ กรรมนั้นมีสุขเป็นผล กรรมนั้นเป็นไปเพื่อความดับกรรม กรรมนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเกิดกรรมต่อไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๓ อย่างนี้แล เป็นเหตุให้ดับกรรม