| |
เหตุให้เกิดวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ๖ ประการ   |  

การที่บุคคลจะเกิดโมหมูลจิตที่ประกอบด้วยวิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย ตัดสินใจไม่เด็ดขาด ในเรื่องที่ชวนให้เกิดความรวนเรใจ อันเป็นเหตุขัดขวางการทำคุณงามความดีได้นั้น มีเหตุปัจจัยสนับสนุน ๖ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ

๑. อัปปัสสุตตา เป็นผู้มีการศึกษาน้อย หมายความว่า เมื่อบุคคลเป็นผู้มีการศึกษาน้อย ย่อมทำให้เกิดความสงสัยในสิ่งที่ตนเองไม่รู้ไม่เข้าใจและหมักหมมความสงสัยนั้นไว้ เช่น สงสัยในคุณพระรัตนตรัย ชาตินี้ ชาติหน้า กรรมและผลของกรรม เป็นต้น ถ้ายังไม่สามารถคลายหรือบรรเทาให้เบาบางได้ ทำให้ขาดความมั่นใจ ที่จะเชื่อและปฏิบัติตามธรรมเหล่านั้นได้ จึงชื่อว่า เป็นปัจจัยให้เกิดวิจิกิจฉา เมื่อเป็นเช่นนี้ กุศลความดีต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ จึงชื่อว่า เป็นเครื่องขัดขวางคุณความดี

๒. อปริปุจฉกตา ไม่ชอบสอบสวนทวนถามท่านผู้รู้ หมายความว่า เมื่อตนเองเกิดความสงสัย มักเก็บกดความสงสัยนั้นไว้ ไม่กล้าถามผู้รู้ หรือ ชอบถามแต่ผู้ไม่รู้จริง ก็ยิ่งเกิดความเคลือบแคลงสงสัย เพราะไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง จึงทำให้เป็นผู้หมักหมมความสงสัยไว้จนพอกพูนทับถมในจิตใจอย่างหนาแน่น ยากที่จะบรรเทาเบาบางได้

๓. วินเย อปกตัญญุตา ไม่ศึกษาให้รอบรู้ในระเบียบวินัย หมายความว่า เป็นบุคคลที่ไม่ค่อยมีระเบียบวินัยและไม่ได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องระเบียบวินัยให้ถูกต้อง เป็นเหตุให้เป็นคนขาดระเบียบวินัยกับตนเองและในสังคมอื่น ๆ ทำให้คนอื่นไม่ปรารถนาจะคบหาสมาคมด้วยและไม่ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากบุคคลอื่น ทำให้เกิดปมด้อยของชีวิต ซึ่งบางคนก็ไม่รู้สึกตัวว่า ตนเองทำอะไรผิดไป สังคมจึงไม่ให้ความสำคัญ หรือทั้งที่รู้อยู่ แต่ด้วยอำนาจมานะทิฏฐิจึงไม่ยอมปรับปรุงตนเอง จึงมักปล่อยตัวปล่อยใจไปตามอำนาจกิเลส ประพฤติผิดศีลธรรมของศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของสังคม เมื่อปล่อยหมักหมมนานเข้า ทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในหนทางชีวิตของตนเอง ที่ดำเนินผ่านมาแล้วและที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าว่า ควรจะทำอย่างไรดี ที่เคยดำเนินมานั้นถูกหรือผิด ดังนี้เป็นต้น จึงทำให้ขาดความมั่นใจในหนทางชีวิตและเกิดความท้อแท้เบื่อหน่าย ไม่ขวนขวายในการแสวงหาความรู้และการสร้างคุณงามความดีต่อไป

๔. อนธิโมกขพหุลตา มีการตัดสินใจไม่เด็ดขาด หมายความว่า เป็นคนมีนิสัยรวนเร ลังเล อืดอาด เฉื่อยชา ขาดความเด็ดเดี่ยวในการทำกิจการงานต่าง ๆ จนติดเป็นนิสัย ทำให้การงาน หรือหน้าที่ต่าง ๆ คั่งค้าง ทับถม กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง เหมือนดินพอกหางหมูอยู่ทุกวัน จนยากที่จะสะสางให้เสร็จสิ้นได้ ชีวิตจึงไม่ประสบผลสำเร็จ ยิ่งทำให้เกิดความรวนเรลังเลที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ลงไปอีก

๕. ปาปมิตตตา ชอบคบหาสมาคมกับมิตรชั่ว หมายความว่า เป็นบุคคลที่ชอบคบหาสมาคมกับบุคคลผู้มีความคิดความเห็นที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมและมีพฤติกรรมไปในทางที่ไม่ดี ทั้งชอบแนะนำบุคคลอื่นไปในทางที่เสื่อมเสีย ก่อทุจริตต่าง ๆ อยู่เป็นนิตย์ เมื่อบุคคลเข้าไปคบหาสมาคมอยู่เสมอ ๆ ย่อมชักนำไปในทางฉิบหาย ชวนให้กระทำทุจริตกรรมต่าง ๆ เมื่อได้ทำทุจริตลงไปแล้ว เกิดสำนึกได้ในภายหลัง บางทีบางอย่างก็เป็นการสายเกินไปที่จะแก้ไขได้ ทำให้หนทางชีวิตมืดมนลงและเกิดอาการคลุมเครือเคลือบแคลงสงสัยในการที่จะตัดสินใจทำคุณงามความดีอะไรลงไปว่า ตนเองจะสามารถสร้างความดีได้อีกหรือไม่หนอ หรือว่า หนทางไหนเป็นหนทางผิด หนทางไหนเป็นหนทางที่ถูกต้องกันหนอ ดังนี้เป็นต้น เพราะขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องนั่นเอง

๖. อสัปปายกถา ไม่ได้ฟังถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับฟังข้อมูลที่ถูกต้องให้คลายความสงสัย ได้ฟังแต่ข้อมูลที่ทำให้เกิดความสงสัยหมักหมมอยู่ในใจ เนื่องจากขาดเหตุปัจจัย คือ ไม่ได้คบหาสมาคมกับสัตบุรุษ และไม่ได้ฟังธรรมคำสอนจากสัตบุรุษ จึงทำให้เก็บกดความลังเลสงสัยนั้นไว้ จนกลายเป็นความหมักหมมคลุมเครือ จิตใจไม่ปลอดโปร่งอยู่เรื่อยไป เมื่อประสบกับอารมณ์อันน่าเคลือบแคลง ก็ทำให้เกิดความลังเลสัยได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |