| |
ทานวัตถุตามนัยแห่งพระอภิธรรม มี ๖ ประการ คือ   |  

๑. รูปทาน การให้รูปารมณ์คือรูป อันเป็นสัปปายะที่เป็นไปเพื่อยังกุศลจิตที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือทำกุศลจิตที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญงอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้น เช่น การให้จีวรหรือผ้านุ่งผ้าห่มที่มีสีสวยสด การให้อาหารที่มีสีสันน่าขบฉันหรือรับประทาน การให้เสนาสนะที่มีสีสวยสดน่าเจริญใจ การให้เภสัชที่มีสีสันประณีต หรือการให้รูปอสุภะแก่ผู้บำเพ็ญอสุภกรรมฐาน เป็นต้น

๒. สัทททาน การให้สัททารมณ์คือเสียง อันเป็นสัปปายะที่เป็นไปเพื่อยังกุศลจิตที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือทำกุศลจิตที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญงอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้น เช่น การให้จีวรหรือผ้านุ่งผ้าห่มที่เวลาสวมใส่แล้วมีเสียงให้เกิดความสบายใจ การให้อาหารบิณฑบาตที่เวลาบริโภคแล้วมีเสียงกรอบกลมกล่อม การให้เสนาสนะที่เวลาใช้สอยหรือสัมผัสแล้วมีเสียงกังวานทำให้สบายใจ การให้เภสัชที่เวลาบริโภคแล้วทำให้เสียงในลำคอสดใส หรือการให้เสียงธรรมเป็นทาน เป็นต้น

๓. คันธทาน การให้คันธารมณ์คือกลิ่น อันเป็นสัปปายะที่เป็นไปเพื่อยังกุศลจิตที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือทำกุศลจิตที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญงอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้น เช่น การให้จีวรหรือผ้านุ่งผ้าห่มที่มีกลิ่นหอมชื่นใจ การให้อาหารบิณฑบาตที่มีกลิ่นหอมน่าขบฉันน่ารับประทาน การให้เสนาสนะที่มีกลิ่นหอมน่าชื่นใจ ตัวอย่างเช่น พระเจ้าพิมพิสารทรงให้สร้างพระคันธกุฎีถวายแก่พระพุทธเจ้า เป็นต้น การให้หยูกยาที่มีกลิ่นหอมน่าฉันน่ารับประทาน หรือการให้กลิ่นแห่งธรรม คือ ศีลคันธะ สมาธิคันธะ ปัญญาคันธะ เป็นต้น

๔. รสทาน การให้รสารมณ์คือรส อันเป็นสัปปายะที่เป็นไปเพื่อยังกุศลจิตที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือทำกุศลจิตที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญงอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้น เช่น การให้จีวรหรือผ้านุ่งผ้าห่มที่นุ่งห่มแล้วทำให้เกิดรสชาติแห่งชีวิตที่ดี การให้อาหารบิณฑบาตที่มีรสเลิศ การให้เสนาสนะที่อยู่อาศัยแล้วทำให้เกิดรสชาติแห่งธรรม การให้ยารักษาโรคอันเป็นสัปปายะที่บริโภคแล้วทำให้ประสาทรับรสต่าง ๆ ดีขึ้น หรือการให้รสแห่งธรรมอันชนะรสทั้งปวง เป็นต้น

๕. โผฏฐัพพทาน การให้โผฏฐัพพารมณ์คือสัมผัสต่าง ๆ อันเป็นสัปปายะที่เป็นไปเพื่อยังกุศลจิตที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือทำกุศลจิตที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญงอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้น เช่น การให้จีวรหรือผ้านุ่งผ้าห่มที่กระทบสัมผัสแล้วเกิดความสบายทำให้เกิดความมั่นใจและความพร้อมในการทำกิจการงานต่าง ๆ การให้อาหารบิณฑบาตที่บริโภคแล้วทำให้มีสัมผัสสบายเป็นสัปปายะต่อธาตุในร่างกาย การให้เสนาสนะที่อยู่ที่อาศัยที่สัมผัสอ่อนนุ่มเย็นสบาย การให้ยารักษาโรคที่บริโภคแล้วทำให้เกิดสัมผัสสบาย หรือการให้สัมผัสรสชาติแห่งธรรมะอันชนะสัมผัสทั้งปวง เป็นต้น

๖. ธัมมทาน การให้ธัมมารมณ์คือความรู้สึกนึกคิดที่ดีงาม ความรู้ความเข้าใจ ข้อคิดความเห็น หรือข้ออรรถข้อธรรม อันเป็นสัปปายะที่เป็นไปเพื่อยังกุศลจิตที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือทำกุศลจิตที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญงอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้น เช่น การถวายจีวรหรือการเครื่องนุ่งห่มที่สวมใส่แล้วทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี การให้อาหารบิณฑบาตที่บริโภคแล้วทำให้เกิดความคิดอ่านที่ดี การให้เสนาสนะที่ใช้สอยแล้วทำให้เกิดความสบายกายสบายใจ การให้ยารักษาโรคเพื่อบรรเทาความอาพาธทางกาย ทำให้ประสาทรองรับความคิดนั้นมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หรือการให้วิชาความรู้ ให้ข้ออรรถข้อธรรม อันให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งชนะการให้ทั้งปวง เป็นต้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |