ไปยังหน้า : |
หทยะ มี ๒ อย่าง
อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๒๘๖ อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์ได้แสดงประเภทของหทยะไว้ ๒ ประเภท ดังต่อไปนี้
๑. มังสหทยะ ได้แก่ รูปหัวใจที่มีลักษณะคล้ายดอกบัวตูม
๒. วัตถุหทยะ ได้แก่ กัมมชรูปชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดอยู่ในมังสหทยะ
คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน:
คำว่า หทยะ ตามที่ท่านแสดงไว้แล้วนั้น มีความหมายดังต่อไปนี้
๑. มังสหทยะ แปลว่า ก้อนเนื้อหัวใจ หมายถึง รูปหัวใจที่มีลักษณะคล้ายดอกบัวตูม นี้หมายเอารูปหัวใจของมนุษย์ ส่วนรูปหัวใจของสัตว์อื่น ย่อมมีสภาพแตกต่างกันออกไปตามประเภทของสัตว์ แต่ที่เหมือนกัน ก็คือ เป็นสถานที่อาศัยเกิดวัตถุหทยะ ซึ่งมีสภาพเป็นสสารและพลังงานที่ซึมซาบแทรกซ้อนอยู่ในมังสหทยะนี้อีกทีหนึ่ง โดยมีบ่อน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ประมาณ ๑ ซองมือ [หรือกึ่งซองมือตามคัมภีร์วิสุทธิมรรค]
๒. วัตถุหทยะ หมายถึง หัวใจอันเป็นที่อาศัยเกิด หมายถึง หัวใจที่เป็นสสารหรือพลังงานที่ซึมซาบอยู่ภายในก้อนเนื้อหัวใจที่มีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ประมาณ ๑ ซองมือนั้นอีกทีหนึ่ง อันเป็นที่อาศัยเกิดของมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุ ซึ่งได้แก่ หทยวัตถุรูป นั่นเอง หทยวัตถุรูปนี้เป็นกัมมชรูปชนิดหนึ่ง ที่เกิดอยู่ภายในมังสหทยรูป ซึ่งมีช่องลักษณะคล้ายบ่อน้ำ โตประมาณเท่าเมล็ดในของดอกบุนนาค มีโลหิตหล่อเลี้ยงอยู่ประมาณ ๑ ซองมือดังกล่าวแล้ว
เพราะฉะนั้น คำว่า หทยรูป จึงมุ่งหมายเอาหทยะที่เรียกว่า หทยวัตถุรูป เท่านั้น ซึ่งเป็นรูปธรรมที่เกิดจากกรรม เรียกว่า กัมมชรูป มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตนในการเป็นที่ตั้งหรือเป็นที่อาศัยเกิดของจิตจำพวกที่เรียกว่า มโนธาตุ และมโนวิญญาณธาตุ [มโนธาตุมี ๓ ดวง ได้แก่ สัมปฏิจฉนจิต ๒ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ส่วนมโนวิญญาณธาตุมี ๗๖ ดวง ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ชวนจิต ๕๕ หรือ ๘๗ ตทาลัมพนจิต ๑๑ มหัคคตวิบากจิต ๙ แต่อรูปวิบากจิต ๔ เกิดเฉพาะในบุคคลที่เกิดอยู่ในอรูปภูมิ ๔ เท่านั้น จึงไม่ต้องอาศัยหทยวัตถรูปเกิด และไม่ได้อาศัยวัตถุรูปใด ๆ เกิดเลย]