ไปยังหน้า : |
พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ และอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะ เสวีรุ.๒๒๒ ได้แสดงความหมายและวจนัตถะของรสรูปไว้ดังต่อไปนี้
รสารมณ์ ได้แก่ รสะ คือ รสต่าง ๆ ที่กระทบกับชิวหาประสาท และทำให้เกิดชิวหาวิญญาณขึ้น รสะที่ปรากฏเป็นอารมณ์ของชิวหาวิญญาณจิตนี้ ชื่อว่า รสารมณ์ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า
“รสียติ อสฺสาทียตีติ รโส”แปลความว่า รูปใด อันชิวหาวิญญาณจิตย่อมยินดีพอใจ เพราะเหตุนั้น รูปอันเป็นที่ยินดีพอใจของชิวหาวิญญาณจิตนั้น จึงได้ชื่อว่า รสะ ได้แก่ รสรูป คือ รสารมณ์ ที่เป็นอารมณ์ของชิวหาวิญญาณจิต
บทสรุปของผู้เขียน :
ตามวจนัตถะที่ท่านแสดงไว้แล้วนั้น ย่อมสรุปความหมายได้ดังต่อไปนี้
รสารมณ์ คือ รสต่าง ๆ ที่กระทบกับชิวหาประสาท และทำให้เกิดชิวหาวิญญาณขึ้นนั้น ย่อมเป็นที่ยินดีพอใจของชิวหาวิญญาณจิต หมายความว่า รสารมณ์นี้ย่อมเป็นที่น่ายินดีของชิวหาวิญญาณจิตและชิวหาทวาริกจิตทั้งหลาย เพราะจิตที่จะรับรสารมณ์ได้นั้น ก็ได้แก่ จิตที่เกิดทางชิวหาทวาร ที่เรียกว่า ชิวหาทวาริกจิต หรือ ชิวหาทวารวิถีจิต เท่านั้น ส่วนจิตที่เกิดทางทวารอื่น [ยกเว้นมโนทวาร] ย่อมไม่สามารถรับรู้รสารมณ์นี้ได้เลย ย่อมรับรู้อารมณ์อย่างอื่น มีรูปารมณ์เป็นต้น เพราะฉะนั้น รสารมณ์ จึงได้ชื่อว่า เป็นที่น่ายินดีพอใจของชิวหาวิญญาณจิต
การกล่าวเช่นนี้ เป็นการกล่าวโดยอ้อม เพราะชิวหาวิญณาณจิตนั้น อเหตุกจิต คือ จิตที่ไม่มีเหตุประกอบ ย่อมมีกำลังไม่หนักแน่นไม่มั่นคง และเป็นวิบากจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นโดยความเป็นผลที่สำเร็จมาแต่กรรม ซึ่งมีกำลังในการขวนขวายน้อย และเกิดขึ้นทำหน้าที่เพียงชั่วระยะเวลาอันนิดหน่อย ด้วยเหตุปัจจัยที่มีกำลังอ่อน เพราะฉะนั้น จึงเป็นจิตที่มีกำลังอ่อน ไม่มีความขวนขวายหรือจัดแจงให้สิ่งใดเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยเท่านั้น ไม่ได้มีความชื่นชมยินดีหรือคลั่งไคล้ในรสารมณ์นั้นแต่ประการใด