| |
บทสรุปเรื่องวัณณรูป   |  

วัณณรูปหรือรูปารมณ์ อันได้แก่ สีสันวรรณะต่าง ๆ มีสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว เป็นต้น ซึ่งมีสภาพที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทได้เป็นคุณลักษณะ มีการเป็นอารมณ์แก่จักขุวิญญาณจิต อันเป็นหน้าที่ที่สำเร็จมาจากคุณสมบัติเฉพาะตน มีความเป็นอารมณ์ให้แก่จักขุวิญญาณนั่นเองเป็นผลปรากฏ ที่บัณฑิตสามารถกำหนดพิจารณารู้ได้ด้วยปัญญา และเป็นรูปธรรมที่จะปรากฏเกิดขึ้นได้ต้องมีมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด กล่าวคือ เป็นฐานรองรับอันสำคัญ จะเกิดขึ้นโดยลำพังตนเอง หรือเกิดขึ้นโดยปราศจากมหาภูตรูปเป็นเครื่องรองรับนั้น ย่อมไม่มี

วัณณรูปหรือรูปารมณ์คือสีต่าง ๆ นั้น ย่อมเกิดมาจากสมุฏฐานทั้ง ๔ ประการ เพราะฉะนั้น จึงจำแนกเป็น ๔ ประเภทตามสมุฏฐานที่เป็นแดนให้เกิดขึ้น กล่าวคือ

๑. กัมมชวัณณรูป คือ วัณณรูปที่เกิดจากกรรม ได้แก่ สีของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของมนุษย์ เทวดา มาร พรหม และสรรพสัตว์ทุกหมู่เหล่าที่มีรูปร่าง เช่น สีผิว เป็นต้น ซึ่งมีทั้งสีที่สวยงามและสีที่ไม่สวยงาม ถ้าสัตว์ตนใดร่างกายมีสีของอวัยวะที่สวยงาม ย่อมเป็นสีที่เกิดจากกุศลกรรม ถ้าสัตว์ตนใดร่างกายมีสีอวัยวะที่ไม่สวยงาม ย่อมเป็นสีที่เกิดจากอกุศลกรรม

๒. จิตตชวัณณรูป คือ วัณณรูปที่เกิดจากจิต ได้แก่ สีของอวัยวะในร่างกายของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย มีสีผิว เป็นต้น คล้ายกับกัมมชวัณณรูป แต่เกิดจากปฏิกิริยาของจิต ซึ่งปรากฏออกมาในสภาพที่เป็นอุตุชรูป เรียกว่า จิตตปัจจยอุตุชรูป ถ้าเป็นสีที่สดใสสวยงาม ย่อมเกิดจากอำนาจจิตที่เป็นกุศลหรือจิตที่เป็นโสมนัส ถ้าเป็นสีที่เศร้าหมองย่อมเกิดจากอำนาจจิตที่เป็นอกุศลโดยเฉพาะโทสมูลจิต ที่เกิดพร้อมด้วยโทมนัสสเวทนา คือ ความเสียใจ ขุ่นเคืองใจ โกรธอาฆาตแค้น เป็นต้น

๓. อุตุชวัณณรูป คือ วัณณรูปที่เกิดจากอุณหภูมิหรือสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้แก่ สีที่ออกจากอวัยวะของสัตว์ทั้งหลาย เช่น สีขน ผม เล็บ ฟัน หนังกำพร้า หรือสีของอวัยวะที่หลุดออกจากร่างกายไปแล้ว หรือสีของสิ่งปฏิกูลที่หลั่งไหลออกจากร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย มีอุจจาระ ปัสสาวะ เหงื่อไคล เป็นต้น และสีของสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลายที่นอกจากสีที่ออกมาจากอวัยวะของสัตว์ดังกล่าวแล้ว ได้แก่ สีแห่งส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ สีดิน สีน้ำ สีไฟ สีลม สีอากาศ สีหมอก เป็นต้น

๔. อาหารชวัณณรูป คือ วัณณรูปที่เกิดจากอาหาร ได้แก่ สีที่เกิดจากอาหารภายนอกร่างกายสัตว์ ที่เรียกว่า พหิทธโอชา เช่น สีข้าว สีอาหารต่าง ๆ เป็นต้น และสีที่เกิดจากอาหารภายในร่างกายของสัตว์ ที่เรียกว่า อัชฌัตตโอชา ได้แก่ สีของไฟธาตุที่ย่อยอาหารหรือสีน้ำย่อย และสีของอวัยวะต่าง ๆ ที่เกิดจากการบริโภคอาหารเข้าไป เช่น สีผิวของปลาทอง เป็นต้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |