ไปยังหน้า : |
การทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคายว่า สิ่งทั้งหลาย เป็นอนิจจัง ล้วนแต่ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน สิ่งทั้งหลาย เป็นทุกข์ ล้วนแต่ไม่สุขไม่สบาย สิ่งทั้งหลาย เป็นอนัตตา ล้วนแต่ไม่ใช่ตัวตนที่จะพึงบังคับบัญชาให้เป็นไปตามใจชอบได้ สิ่งทั้งหลาย เป็นอสุภะ ล้วนแต่ไม่สวยไม่งาม การทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย เช่นนี้เรียกว่า โยนิโสมนสิการ ย่อมสามารถกำจัดวิปปลาสธรรมให้เบาบางและหมดสิ้นไปได้ในที่สุด
การโยนิโสมนสิการ ในเหตุแห่งวิปลาสธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ตัดทิฏฐิวิปลาส จิตตวิปลาส และสัญญาวิปลาสให้หมดไปได้ เมื่อตัดวิปลาสธรรมเหล่านี้ได้แล้ว ย่อมเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่ เป็นไปเพื่อพระนิพพาน ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์ จึงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “โยนิโสมนสิกาโร ภิกฺขเว มหโต อตฺถาย สํวตฺตติ” แปลความว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อันใหญ่หลวง และทรงแสดงว่า
๑. เป็นไปเพื่อปราบวิจิกิจฉา โยนิโสมนสิการนี้ย่อมเป็นธรรมที่กำจัดความสงสัยที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น ทำลายความสงสัยที่เกิดขึ้นแล้วให้อันตรธานไป
๒. เป็นไปเพื่อป้องกันอกุศลบาปธรรม โยนิโสมนสิการนี้เป็นธรรมที่สกัดกั้นอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดไม่ให้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ส่วนที่เกิดแล้ว ย่อมทำให้อันตรธานไป
๓. เป็นไปเพื่อเจริญกุศลธรรม เมื่อโยนิโสมนสิการเกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นธรรมที่ทำกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดให้ได้เกิดขึ้น และทำกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่นและเจริญยิ่งขึ้นได้
๔. เป็นไปเพื่อทำสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้น โยนิโสมนสิการนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมทำสัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และทำสัมมาทิฏฐิที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญมั่นคงยิ่งขึ้น
๕. เป็นไปเพื่อเจริญโพชฌงค์ โยนิโสมนสิการนี้เป็นธรรมที่ยังโพชฌงค์ อันเป็นองค์แห่งธรรมเครื่องตรัสรู้ ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมให้ถึงซึ่งความบริบูรณ์
๖. เป็นไปเพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม โยนิโสมนสิการนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เลอะเลือน เพื่อความไม่เสื่อมสูญ เพื่อความไม่อันตรธานไปแห่งพระสัทธรรม
แต่ถ้าหากมีความประมาทแล้ว อโยนิโสมนสิการย่อมเกิดขึ้นได้อีก อันเป็นเหตุให้ วิปลาสธรรม ๑๒ ประการเกิดขึ้นได้อีก เป็นเหตุให้ไม่รู้ความจริงของรูปนามว่า เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน เป็นของไม่สวยไม่งาม กลับเห็นเป็นไปตรงกันข้าม คือ เห็นว่าเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตน และเป็นของสวยงาม เพราะฉะนั้น พระโยคีบุคคลจึงควรเจริญองค์คุณของวิปัสสนา ๓ ประการให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และให้มีกำลังแก่กล้าขึ้นโดยลำดับ เพื่อกำจัดวิปปลาสธรรมให้หมดไป จนวิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้นอย่างเด่นชัดโดยลำดับ