ไปยังหน้า : |
๑. มุขยผล หมายถึง ผลโดยตรง ได้แก่ วิปากจิตและเจตสิกที่ประกอบ เพราะธรรมเหล่านี้ เป็นนามธรรมด้วยกันและรู้อารมณ์ได้เช่นเดียวกันกับธรรมที่เป็นเหตุ คือ กุศลจิต อกุศลจิต นั่นเอง ฉะนั้น การที่บุคคลจะสามารถรับรู้และตอบสนองต่ออารมณ์ต่าง ๆ ได้อย่างละเอียดลึกซึ้งหรือตื้นเขินเช่นนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสภาพของวิปากจิตที่ส่งผลให้นั่นเอง ถึงแม้อารมณ์นั้นจะเป็นอารมณ์ที่ประณีตและมีคุณค่าต่อบุคคลโดยทั่วไปอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าบุคคลนั้นมีวิปากจิตที่มีกำลังอ่อน การรับรู้หรือตอบสนองต่ออารมณ์นั้น ก็มีน้อยตามไปด้วย ในทางตรงกันข้าม แม้อารมณ์นั้นจะหยาบหรือไม่ค่อยมีคุณค่าต่อบุคคลทั่วไปเท่าใดนักก็ตาม แต่ถ้าวิปากจิตของบุคคลนั้นมีกำลังมาก ก็ทำให้สามารถรับรู้หรือตอบสนองต่ออารมณ์นั้นได้อย่างหนักหน่วงและรุนแรง ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนาก็ตาม หรืออนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาก็ตาม แต่บุคคลโดยทั่วไปไม่ค่อยให้ความสนใจในสภาพของวิบากที่เป็นนามธรรม อันเป็นมุขยผลคือผลโดยตรงกันมากนัก เพราะไปให้ความสำคัญแก่วิบากที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นสามัญญผล คือ ผลอย่างธรรมดาสามัญกันมากกว่านั่นเอง
๒. สามัญญผล หมายถึง ผลอย่างธรรมดาสามัญ หรือ ผลโดยอ้อม ได้แก่ กัมมชรูป ซึ่งเป็นรูปธรรมอันรองรับการเกิดขึ้นของวิปากจิต คือ ปสาทรูปและหทยวัตถุ เพราะฉะนั้น การที่บุคคลจะสามารถรับรู้อารมณ์ทางทวาร ๖ ได้อย่างชัดเจนหรือไม่ชัดเจนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับวัตถุรูปอันเป็นสถานที่ที่จิตและเจตสิกอาศัยเกิด ถ้าวัตถุรูปไม่ค่อยสมบูรณ์ การรับรู้หรือการตอบสนองต่ออารมณ์นั้นก็ไม่เด่นชัดตามไปด้วย ทำให้ผลที่จะเกิดต่อไปนั้นก็ไม่ชัดเจนตามไปด้วย หมายความว่า การที่จะรู้ว่าอารมณ์ดีมากหรือดีน้อย หรือว่าอารมณ์ไม่ดีมากหรือไม่ดีน้อยประการไรก็จะไม่เด่นชัดตามไปด้วย เช่น ประสาทตาไม่ค่อยดี การรับรู้รูปารมณ์ก็ไม่ชัดเจน หรือหัวใจไม่ค่อยดี การรับรู้ธัมมารมณ์ก็ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ดังนี้เป็นต้น อนึ่ง สามัญญผลนี้ ก็คือ อารมณ์ ๖ ที่เป็นไปภายในตนเอง คือ รูปร่างหน้าตา ผิวพรรณวรรณะ ความรู้สึกนึกคิด อุปนิสัย เป็นต้น และที่เป็นไปภายนอกตนเอง ได้แก่ อารมณ์ที่รับรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจนั่นเอง
คำว่า วิบาก ในบรรดาวิปากจิตทั้งหมดนี้ มุ่งหมายเอามุขยผลโดยตรง ดังที่อัฏฐสาลินีอรรถกถาแสดงไว้ว่า “วิปากภาวํ อาปนฺนานํ อรูปธมฺมานเมตํ อธิวจนํ” แปลความว่า วิบากธรรมนี้เป็นชื่อของนามธรรมซึ่งถึงความเป็นผลอันสุกแล้ว หมายความว่า วิบากนามธรรม คือ จิตและเจตสิกนั้น เป็นสภาพธรรมที่เป็นผลของกุศลจิตหรืออกุศลจิต ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่สำเร็จเป็นตัวผลมาแล้ว จึงไม่ต้องขวนขวายทำให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด คือ เมื่อเหตุมีแล้ว ผลก็ต้องมีแน่นอน และเจตนาที่ประกอบกับวิปากจิตนั้น ก็เป็นเจตนาที่มีกำลังอ่อน โดยทำหน้าที่เพียงพีชนิธานกิจ ได้แก่ การเก็บเชื้อของกรรมไว้รอโอกาสให้ผลเท่านั้น แต่เมื่อให้ผลเสร็จแล้วก็หมดหน้าที่ไป ไม่สามารถปรุงแต่งให้เกิดวิบากได้อีก อนึ่ง วิบากทั้งหลายเป็นสภาพที่สุกงอมแล้ว เพราะฉะนั้น จึงไม่สามารถดัดแปลงหรือแก้ไขให้เป็นอย่างอื่นได้อีก