ไปยังหน้า : |
บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของสติเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับรู้อารมณ์ที่พิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้
๑. อะปิลาปะนะลักขะณา วา อุปัคคะหะณะลักขะณา มีการไม่เลอะเลือน เป็นลักษณะ หรือ มีการกำหนดไว้ได้อย่างแม่นยำ เป็นลักษณะ หมายความว่า สตินี้เมื่อเกิดขึ้นย่อมเตือนให้รู้จักว่า สิ่งนี้เป็นกุศล สิ่งนี้เป็นอกุศล สิ่งนี้มีโทษ สิ่งนี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้เป็นสติปัฏฐาน ๔ ธรรมเหล่านี้เป็นสัมมัปปธาน ๔ ธรรมเหล่านี้ เป็นอินทรีย์ ๕ พละ ๕ ธรรมเหล่านี้ เป็นโพชฌงค์ ๗ ธรรมเหล่านี้เป็นมรรคมีองค์ ๘ เป็นต้น เปรียบเหมือนขุนคลังของพระราชา ย่อมกราบทูลเตือนพระราชาให้ทรงระลึกถึงราชสมบัติในเวลาเช้าและเวลาเย็น เป็นต้น ฉันใด เมื่อสติเกิดขึ้นแล้ว ย่อมชักชวน กระตุ้นเตือนสัมปยุตตธรรมให้ถือเอาซึ่งคติแห่งธรรมทั้งหลายว่า ธรรมเหล่านี้มีประโยชน์ ธรรมเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ ธรรมเหล่านี้มีอุปการะ ธรรมเหล่านี้ไม่มีอุปการะ เป็นต้น ลำดับนั้น พระโยคีบุคคลย่อมละธรรมอันไม่มีประโยชน์เสีย ถือเอาแต่ธรรมที่มีประโยชน์ ละธรรมที่ไม่มีอุปการะเสีย ถือเอาแต่ธรรมที่มีอุปการะ เป็นต้น ฉันนั้นเหมือนกัน หรือว่า เปรียบเหมือนนายทวารบาลของพระราชา ที่คอยกราบทูลให้ [มหาดเล็กรักษาพระองค์] ทราบว่า บุคคลผู้นี้ต้องการผ่านเข้ามาสู่พระราชวัง และคอยสอดส่องดูว่า บุคคลที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เข้าไปในพระราชวังนั้นออกไปหรือยัง ทั้งยังคอยกันบุคคลที่เห็นว่ามีโทษออกไปเสีย มิให้เข้าไปทำอันตรายต่อพระราชา หรือ ราชบัลลังก์ เป็นต้นได้ หรือ เปรียบเหมือนปริณายกแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ์ ที่คอยกราบทูลรายงาน และกราบบังคมทูลเตือนพระราชาในราชกิจทั้งปวง อยู่เนืองนิตย์ มิให้บกพร่อง ทำให้พระเจ้าจักรพรรดิ์ ทรงประกอบพระราชภารกิจทุกอย่างให้ลุล่วงไปด้วยดี ไม่มีขาดตกบกพร่อง ไม่ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ แต่อย่างใด
๒. อะสัมโมหะระสา มีการไม่หลงลืม เป็นกิจ หมายความว่า การที่บุคคลสามารถจำการงานที่ทำ และคำพูดที่ล่วงมาแล้วแม้นานได้ โดยไม่หลงลืม ก็เพราะสติเป็นผู้แสดงบทบาทหน้าที่ การที่บุคคลทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ โดยไม่มีการผิดพลาดคลาดเคลื่อน เช่น การทำ การพูด การคิดพิจารณา หรือ กิจการงานต่าง ๆ ทั้งคดีโลก และคดีธรรม สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ไม่มีการผิดพลาดเสียหาย ตามมาภายหลัง หรือไม่มีโทษทั้งต่อตนเอง และบุคคลเหล่าอื่น สัตว์อื่น ก็เพราะบุคคลนั้นมีสติเป็นเครื่องกำกับดูแล ควบคุม คุ้มครองป้องกันไว้ นั่นเอง ถ้าไม่มีสติเป็นผู้ทำหน้าที่ควบคุมมิให้เกิดความหลงลืมเสียแล้ว บุคคลย่อมจะทำอะไรตามสัญชาตญาณความรู้สึกนึกคิด ตามนิสัยสันดานที่สั่งสมมา โดยขาดความยั้งคิดว่า ควรหรือไม่ควร ย่อมมีการถูกบ้าง ผิดบ้าง แต่โดยมากแล้วมักผิดพลาด ทั้งโดยกฎหมายและศีลธรรม เพราะถ้าพลั้งพลาดหลงลืมสติแล้ว ย่อมเป็นช่องทางให้อกุศลธรรมทั้งหลาย มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เข้าครอบงำจิตของบุคคลนั้น ให้กระทำ พูด คิด ไปในทางที่เสียหาย หรือมีโทษทุกข์ตามมาในภายหลัง ทั้งแก่ตนเอง และบุคคลอื่น สัตว์อื่นได้
สติ เป็นธรรมชาติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความหลงลืม เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมกำจัดเสียซึ่งความหลงลืม และช่วยป้องกัน ช่วยตักเตือนมิให้เกิดความหลงลืม เป็นธรรมที่ประกอบกับจิตที่เป็นโสภณจิตคือจิตที่ดีงาม เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมกระตุ้นเตือนสัมปยุตตธรรมทั้งหลาย ที่เกิดพร้อมกันตนให้หวนระลึกนึกถึงเหตุผล พิจารณาถึงผลดี ผลเสีย ที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำ การพูด การคิด หรือกิจการงานต่าง ๆ ให้ถี่ถ้วน ระลึกถึงศีลธรรมอันดีงาม ทั้งคดีโลกและคดีธรรม ตลอดจนให้ระลึกถึงเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เป็นต้น อันเป็นเหตุนำมาซึ่งสิ่งที่เป็นกุศล ทำให้เกิดคุณประโยชน์โสตถิผลอย่างมหาศาล สำหรับบุคคลผู้หมั่นฝึกฝนอบรมสติให้มีขึ้นในสันดานอยู่เสมอ
๓. อารักขะปัจจุปปัฏฐานา วา วิสะยาภิมุขะภาวะปัจจุปปัฏฐานา มีการรักษาอารมณ์ไว้ไม่ให้ออกไปจากจิต เป็นอาการปรากฏ หรือ มีความจดจ่อต่ออารมณ์ เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า ผลที่เห็นประจักษ์ของสตินั้น คือ การรักษาสภาวะของอารมณ์ที่จิตเข้าไปรับรู้ไว้ หรือยึดหน่วงอารมณ์ไว้ มิให้เลือนหายไป ทำให้สามารถระลึกนึกถึงได้อยู่เสมอในยามที่ต้องการ เพราะฉะนั้น การที่บุคคลสามารถระลึกนึกถึงสิ่งต่าง ๆ ได้ โดยที่สิ่งนั้นไม่ได้ปรากฏอยู่เฉพาะหน้า แต่เมื่อประสบเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกัน หรือมีเหตุการณ์ที่ต้องให้ระลึกถึงสิ่งนั้น สภาพของสติย่อมปรากฏออกมา คือ จูนสัญญาณของอารมณ์ให้เข้าสู่มโนทวาร ภาพของอารมณ์นั้นย่อมปรากฏที่ใจ เหมือนเห็นด้วยตา นี้เป็นอาการปรากฏของสติ คือ การรักษาอารมณ์ไว้ไม่ให้ออกไปจากจิต นั่นเอง
อนึ่ง สตินี้มีสภาวะที่เหมือนกับจดจ่อต่ออารมณ์โดยไม่ยอมละห่าง เหมือนบุคคลจดจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ตนสนใจเป็นพิเศษ หรือที่เรียกว่า “ต้องตาต้องใจ” หรือเหมือนแมลงผึ้งที่จดจ่อต่อเกสรดอกไม้ไม่ยอมละห่างไป ฉันนั้น สตินี้ก็เหมือนกัน ย่อมผูกพันอยู่กับอารมณ์ที่จิตรับมา ถ้าอารมณ์นั้นมีอิทธิพลต่อจิตมาก โดยเฉพาะอารมณ์ที่เป็นกุศล อารมณ์ที่ดีงาม สติย่อมจดจ่ออารมณ์นั้นมากยิ่งขึ้น
๔. ถิระสัญญาปะทัฏฐานา วา สะติปัฏฐานะปะทัฏฐานา สติมีความจำที่มั่นคง เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หรือมีสติปัฏฐานทั้ง ๔ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า สติเจตสิกย่อมมีความจำได้ที่มั่นคง หรือมีสัญญาที่จำไว้ได้อย่างแม่นยำ เป็นเหตุให้เกิดขึ้น ถ้าบุคคลใดมีความจำเป็นเยี่ยม ย่อมเป็นเหตุให้เกิดสติระลึกรู้สิ่งที่จำได้นั้นอย่างฉับพลันว่องไว เมื่อประสบพบเห็นสิ่งใด ย่อมสามารถระลึกนึกรู้สิ่งนั้นได้อย่างรวดเร็ว และจำได้อย่างถูกต้องไม่ผิดพลาด พร้อมทั้งรู้รายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งนั้นได้เป็นอย่างดีว่า เป็นคุณหรือเป็นโทษ มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ เป็นต้น ตามกำลังความสามารถของสัญญาที่จำไว้ได้ และตั้งอยู่อย่างมั่นคง พร้อมกับเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญงอกงามยิ่งขึ้น พร้อมทั้งช่วยป้องกันอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น ทำอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้อ่อนกำลังลงและหมดไปในที่สุด บัณฑิตพึงเห็นเหมือนเสาเขื่อน ย่อมตั้งอยู่อย่างมั่นคงไม่หวั่นไหวเพราะแรงลม ฉันใด สตินี้ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะความหลงลืม เพราะตั้งอย่างมั่นคงในอารมณ์ ฉันนั้น
อนึ่ง สติเจตสิกเป็นเหมือนนายทวารผู้รักษาประตู เพราะสตินี้ เป็นเครื่องรักษาทวารทั้งหลาย มีจักขุทวาร เป็นต้น เพื่อป้องกันมิให้กิเลสเข้ามาทางทวารทั้ง ๖ มีจักขุทวาร เป็นต้น และกระตุ้นเตือนชักชวนสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนให้รับเอาแต่อารมณ์ที่ทำให้เกิดกุศล เป็นประโยชน์ เกิดสิ่งที่ดีงามขึ้น ที่ผ่านเข้ามาทางทวารทั้ง ๖ เพื่อให้สัมปยุตตธรรมเหล่านั้นถือเอาแต่สิ่งที่เป็นสาระ และสละทิ้งสิ่งที่มิใช่สาระออกไปเสีย
อีกประการหนึ่ง สติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ กาย เวทนา จิต และธรรม ชื่อว่า เป็นสถานที่ทำงานของสติ สติย่อมทำการระลึกรู้สภาวะของธรรมเหล่านี้ ตามความเป็นจริง โดยความเป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้น มิใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา แต่อย่างใด คือ ให้พิจารณาเห็นเป็นแต่เพียงรูปกับนามเท่านั้น เมื่อฝึกฝนสติให้ระลึกรู้โดยอุบายอย่างนี้บ่อย ๆ กำลังของสติย่อมแกล้วกล้ายิ่งขึ้น เป็นบาทให้วิปัสสนาญาณ ตลอดจนถึงมรรคญาณ ผลญาณเกิดขึ้นได้
สติมีปมาทะ คือ ความประมาทมัวเมา เป็นเหตุเศร้าหมอง หมายความว่า ถ้าบุคคลเป็นผู้มักประมาทเลินเล่อ ชอบสั่งสมความประมาท หรือ ขวนขวายในกิจที่เป็นเหตุให้เกิดความประมาทขาดสติ ไม่ค่อยได้นึกคิดพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนแล้ว จึงทำ พูด คิด หรือประกอบกิจการงานต่าง ๆ ลงไป เมื่อเป็นเช่นนั้น การที่จะทำ พูด คิด สิ่งใดให้เกิดผลดี มีความถูกต้อง ไม่ผิดพลาดเสียหาย ย่อมไปเป็นไปได้ยาก เพราะความประมาทมัวเมาเป็นเครื่องปิดกั้นกระแสของสติมิให้ปรากฏออกมาได้เต็มที่ ทั้งเป็นการบั่นทอนกำลังของสติให้อ่อนกำลังลงไปด้วย เพราะฉะนั้น ผลของการงานต่าง ๆ จึงมักเกิดความเสียหาย
ดังที่กล่าวแล้วว่า สติเป็นธรรมมีอุปการมาก ทั้งในกิจที่เป็นคดีโลกและคดีธรรม เพราะช่วยอุปการะให้ธรรมอื่น ๆ ได้ทำกิจของตน ๆ ในทางที่ชอบ ด้วยการระลึกรู้เท่าทันทั่วถึงเหตุและผล ให้รู้ผลดี ผลเสีย ของกิจการงานที่จะทำ จะพูด จะคิด ช่วยยับยั้งไม่ให้เกิดความผิดพลาด หรือกระทำในทางที่เสื่อมเสียลงไป สตินี้จึงเป็นธรรมฝ่ายดี หรือ ธรรมฝ่ายขาวเท่านั้น ไม่สามารถเข้าร่วมกับธรรมฝ่ายดำ คือ อกุศลธรรมทั้งหลายได้ เมื่อการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง มีสติเข้ากำกับไม่ให้หลงลืม ผิดพลาดแล้ว ย่อมแน่ใจได้ว่า การงานนั้น เป็นการงานที่ชอบ ประกอบด้วยธรรม ไม่ผิดศีลธรรม และจารีตประเพณีอันดีงาม ทำแล้วไม่มีโทษ หรือไม่มีผลเสียเกิดตามมาภายหลังอย่างแน่นอน แต่การงานที่เป็นฝ่ายอกุศล ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจว่า ต้องใช้สติในการกระทำเหมือนกัน จึงจะไม่เกิดความผิดพลาด ข้อนั้นไม่ใช่สติ แต่เป็นสภาวะของสัญญาเจตสิกและเจตนาเจตสิก ซึ่งกำหนดจดจำและตั้งใจไม่ให้การกระทำอกุศลนั้นผิดพลาด
สติมีโยนิโสมนสิการเป็นเครื่องผ่องแผ้ว หมายความว่า การที่บุคคลหมั่นนึกคิดพิจารณาหาเหตุผลของสิ่งต่าง ๆ อยู่เสมอ ย่อมทำให้สัญญาความจำได้หมายรู้ในสิ่งที่ถูกที่ควร จำได้หมายรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ หมายรู้ในสิ่งที่เป็นโทษ ย่อมเป็นเครื่องเจริญของสติ ทำให้สติสามารถระลึกนึกรู้ในสิ่งเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี และค่อย ๆ เพิ่มกำลังความระลึกนึกรู้ได้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนสามารถรู้เท่าทันสิ่งต่าง ๆ ได้พร้อมทั้งเหตุและผล แล้วพยายามละสิ่งที่เป็นโทษเสีย พอกพูนแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ให้มากยิ่งขึ้น