| |
เหตุให้เกิดมหากุศลอุเบกขา ๖ ประการ   |  

มหากุศลจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ๔ ดวง ย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย ๖ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

๑. อุเปกขาปะฏิสันธิกะตา เป็นผู้มีปฏิสนธิจิตเป็นอุเบกขา หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้ที่ปฏิสนธิมาด้วยจิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณจิต ๒ มหาวิบากอุเบกขา ๔ ดวงใดดวงหนึ่งซึ่งแบ่งได้เป็น ๓ จำพวก ได้แก่

[๑] พวกอบายสัตว์ ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน ที่ปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิปากจิต ๑ ดวง

[๒] พวกมนุษย์ที่ไม่สมประกอบในมนุษย์ภูมิ และพวกเทวดาชั้นต่ำในชั้นจาตุมหาราชิกาภูมิ ที่ปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณกุศลวิปากจิต ๑

[๓] พวกมนุษย์และเทวดา ที่ปกติทั่วไปในกามสุคติภูมิ ๗ ภูมิใดภูมิหนึ่ง ซึ่งปฏิสนธิด้วยมหาวิบากอุเบกขา ๔ ดวง ดวงใดดวงหนึ่ง

บุคคลเหล่านี้ ชื่อว่า เป็นผู้มีอุเบกขาปฏิสนธิ [หมายเอาเฉพาะในกามภูมิ โดยเฉพาะมนุษย์และเทวดาในกามสุคติภูมิ ๗] เท่านั้น เมื่อเกิดมาแล้ว โดยมาก ทำให้เป็นผู้มีอัธยาศัยเฉย ๆ ไม่ค่อยยินดียินร้าย ไม่ค่อยแสดงอาการสนุกสนานรื่นเริง [นอกจากมีปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาสนับสนุน] ฉะนั้น ในขณะที่ทำกุศล จึงทำด้วยความวางเฉย มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น จึงเกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา

๒. อัปปะสัทธะตา เป็นผู้มีศรัทธาน้อย หมายความว่า แม้บุคคลนั้น จะเกิดมาด้วยจิตที่เป็นโสมนัสหรือเป็นอุเบกขาก็ตาม ถ้าเป็นผู้มีศรัทธาในการทำกุศลหรือในปฏิคาหกผู้รับทานนั้นน้อย หรือไม่มีศรัทธาเลย แต่จำใจทำหรือฝืนใจทำ เพราะเหตุปัจจัยบางอย่างบีบบังคับให้ต้องทำ ฉะนั้น ในขณะที่ทำกุศลนั้น ๆ อยู่ ย่อมทำด้วยอาการวางเฉย มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น จึงเกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา

๓. อะวิสุทธะทิฏฐะตา เป็นผู้มีความเห็นไม่บริสุทธิ์ หมายความว่า บุคคลนั้น ไม่มีความรู้ความเข้าใจในหลักความเป็นจริง เช่น เรื่องกรรม ผลของกรรม สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นต้น หรือมีความรู้อยู่บ้าง แต่ไม่แจ่มแจ้งชัดเจน ยังมีความคลุมเครือ ชวนให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในกุศลที่จะทำ หรือในปฏิคาหกผู้จะรับทักษิณาทานนั้น เป็นต้น ฉะนั้น เมื่อจะทำกุศลใด ๆ ก็ทำด้วยการฝืนความรู้สึก ทำด้วยความจำใจ หรือถูกปัจจัยแวดล้อมบีบบังคับให้ต้องทำ มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น จึงเกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา

๔. อานิสังสาทัสสาวิตา ไม่เห็นหรือไม่เข้าใจในอานิสงส์แห่งกุศลกรรมนั้นๆ หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยอินทรีย์อ่อนเกินไป ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่มีหลักเกณฑ์ของชีวิต ถูกผู้อื่นครอบงำความคิดอยู่เสมอ หรือเป็นคนใจหยาบเกินไป ไม่สนใจในเรื่องคุณงามความดี แม้คนอื่นจะพูดให้เกิดความรู้ความเข้าใจก็ตาม แต่ไม่สามารถรับรู้หรือไม่ยอมเข้าใจ หรือบุคคลที่ทำบุญไปแล้ว แต่ไม่เคยได้รับผลแห่งบุญเลย เพราะถูกอกุศลวิบากบางอย่างในกาลก่อนมีโอกาสมาส่งผลให้อยู่เสมอ เช่น ทำบุญไปแล้ว ครอบครัวแตกแยก เกิดความบาดหมางทะเลาะวิวาทกับเพื่อนบ้านอยู่เป็นประจำ ถูกฉ้อโกง เกิดภัยพิบัติ เจ็บป่วยอยู่เสมอ เป็นต้น เข้าทำนองที่ว่า “บุญไม่พา วาสนาไม่ช่วย ที่ป่วยก็หนัก ที่รักก็หน่าย” ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ จึงทำให้บุคคลนั้น ๆ ไม่ค่อยเชื่อมั่นในบุญกุศลที่ตนทำนั้นว่า จะอำนวยผลเป็นความสุขสบายให้ได้จริงหรือเปล่า ฉะนั้น จึงทำให้เกิดอาการเมินเฉยต่อผลของบุญกุศลนั้น ๆ หรือทำกุศลนั้น ๆ ด้วยความจำใจ ฝืนใจทำ ด้วยความหวังลึก ๆ ว่า สักวันหนึ่ง กุศลผลบุญคงจะอำนวยผลเป็นความสุขสบายให้แก่เราบ้าง ด้วยเหตุนี้ มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น จึงเกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา

๕. มัชฌัตตารัมมะณะสะมาโยโค มักได้ประสบแต่อารมณ์ที่ปานกลาง หมายความว่า เป็นผู้ที่อยู่ในฐานะค่อนข้างยากจน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทุรกันดาร ไม่เคยได้พบได้เห็นสิ่งที่หรูหราเจริญหูเจริญตามากนัก เครื่องอุปโภคบริโภคก็ได้แต่ของปอน ๆ แบบธรรมดาทั่วไป ไม่เคยได้ลิ้มรสของดี ๆ เหมือนคนอื่น คนอื่นเขาได้ลิ้มรสของดี ๆ ได้บำเหน็จรางวัล มีโชคลาภ แต่ตนเองไม่เคยได้ของดี ไม่เคยรู้รสชาติของโชคลาภเลย จะได้ปัจจัยมาใช้สอยสักอย่าง ต้องขวนขวายตะเกียกตะกายหามาด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย ฉะนั้น ในเวลาที่บุคคลนั้นทำกุศล จึงจำต้องทำด้วยการฝืนใจ ด้วยคิดว่า “เรามันคนไม่มีวาสนา ทำบุญไปก็เท่านั้น ทำดีก็เสมอตัว ทำชั่วก็เสียหาย” ดังนี้เป็นต้น หรือบางคนในขณะทำบุญนั้น ได้ปัจจัยไทยธรรมที่ปอน ๆ ไม่ประณีต ไม่สมกับฐานะของตน หรือตนเองไม่สามารถจัดหาสิ่งของที่ประณีตเหมือนกับคนอื่นได้ เนื่องจากความจำกัดด้านฐานะการเงินหรือปัจจัยแวดล้อมไม่อำนวย หรือได้ปฏิคาหกที่ไม่สมปรารถนาที่ตนคิดไว้ เป็นต้น จึงทำให้ไม่เกิดความอิ่มเอิบใจต่อเหตุปัจจัยเหล่านั้น ต้องทำใจวางเฉยต่อเหตุปัจจัยเหล่านั้น พยายามปรับจิตใจให้เป็นกุศลขึ้นมา ฉะนั้น มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น จึงเกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา

๖. กัสสะจิปีฬิกะตา มีอุปสรรคขัดข้องบางประการ หมายความว่า บุคคลบางคน หรือในกาลบางคราวที่จะทำกุศลนั้น มีปัญหาอุปสรรคเข้ามาขัดขวาง ทำให้ต้องฝืนใจทำ เช่น สมาชิกในครอบครัวหรือญาติพี่น้องไม่เห็นด้วย ด่าว่าประชดประชันในการทำบุญกุศลนั้น หรือเกิดเหตุทะเลาะวิวาทบาดหมางกัน ครอบครัวแตกแยก หรือเกิดโรคภัยไข้เจ็บอยู่เป็นประจำ เกิดความผิดหวังในความรัก ถูกปลดออกจากตำแหน่งหน้าที่การงาน ไร้ยศถาบรรดาศักดิ์ ไร้ที่พึ่งพิงอาศัย หางานทำไม่ได้ เป็นต้นเข้าทำนองที่ว่า “อกหัก หลักลอย คอยงาน สังขารเสื่อม” หรือเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น โจรภัย ถูกโจรปล้น ลักขโมยสิ่งของไปแทบสิ้นเนื้อประดาตัว อัคคีภัย ถูกไฟไหม้บ้านเรือนทรัพย์สินเสียหายไปเป็นอันมาก วาตภัย ถูกลมพายุพัดกระหน่ำ บ้านเรือนหรือทรัพย์สินเสียหายไปเป็นอันมาก สัตถิกภัย เกิดภัยจลาจลภัยสงครามรบราฆ่าฟันกันไม่ว่างเว้น ทำให้วางใจต่อสถานการณ์ได้ลำบาก ต้องระวังตัวอยู่เสมอ ราชภัย ผู้นำบ้านเมืองเป็นมิจฉาทิฏฐิไม่นิยมในเรื่องบุญกุศล ห้ามประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ต้องแอบทำอย่างระมัดระวัง เป็นต้น เมื่อเกิดปัญหาอุปสรรค ดังกล่าวนี้มาขัดขวางดังนี้แล้ว ย่อมทำให้บุคคลนั้นต้องฝืนใจทำ หรือต้องทำด้วยความระมัดระวังภัยต่าง ๆ อยู่เสมอ ฉะนั้น กุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น จึงเกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |