| |
ฌาน ๒   |  

คำว่า ฌาน ที่มีสภาพเพ่งอารมณ์นั้น แบ่งเป็น ๒ อย่าง กล่าวคือ

๑. อารัมมณูปนิชฌาน หมายถึง การเพ่งอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ในการเจริญสมถกรรมฐาน เพื่อให้จิตแนบแน่นอยู่กับอารมณ์นั้นเพียงอย่างเดียวไม่ให้ซัดส่ายไปในอารมณ์อื่น เรียกว่า การเพ่งนิมิตของอารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ มหัคคตกุศลจิต ๙ และมหัคคตกิริยาจิต ๙ หมายความว่า การเจริญสมถะนั้น เป็นการเพ่งหรือบริกรรมอารมณ์ของสมถะอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามสมควรแก่ฌานจิตชั้นนั้น ๆ เพื่อให้จิตสงบอยู่ในอารมณ์นั้น ๆ เพียงอารมณ์เดียวโดยลำดับ ตั้งแต่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ จนถึงอัปปนาสมาธิ เมื่อจิตแนบแน่นอยู่ในอารมณ์นั้นอย่างเดียวแล้ว ฌานจิตก็ปรากฏเกิดขึ้นพร้อมด้วยองค์ฌานที่ทำการข่มกิเลสนิวรณ์ให้สงบราบคาบไป เป็นวิกขัมภนปหาน [หมายเอาเฉพาะปุถุชนและพระเสกขบุคคลบางท่านที่ยังละกิเลสนิวรณ์นั้นไม่ได้เด็ดขาด ถ้าเป็นพระอรหันต์หรือพระเสกขบุคคลที่ละกิเลสนิวรณ์นั้น ๆ ได้เด็ดขาดแล้ว ไม่ต้องทำการข่มกิเลสนิวรณ์นั้นอีก เพียงแต่ทำให้จิตสงบจากอารมณ์ต่าง ๆ แล้วให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์สมถะนั้นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จนฌานกิริยาจิตเกิดขึ้น] แล้วเลื่อนขึ้นสู่ฌานเบื้องสูง ด้วยการฝึกฝนให้เกิดวสีทั้ง ๕ และทำการกำหนดละองค์ฌานที่หยาบกว่าโดยลำดับจนถึงฌานชั้นสูงสุด คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เรียกว่า ฌานสมาบัติ ๘

๒. ลักขณูปนิชฌาน หมายถึง การเพ่งสภาวลักษณะของอารมณ์ ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้เกิดปัญญารู้ปรมัตถอารมณ์โดยความเป็นไตรลักษณ์ เรียกว่า การเพ่งลักษณะของอารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ โลกุตตรจิต ๘ หมายความว่า การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น เป็นการเพ่งพิจารณาสภาวะของอารมณ์รูปนามอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง ในบรรดาวิปัสสนาภูมิ ๖ หมวด ซึ่งมีธรรม ๗๓ หรือ ๗๙ ประการ ได้แก่ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ หรือ ๑๘ จนเห็นความเป็นไปของอารมณ์นั้น ๆ ตามความเป็นจริง คือ การเห็นโดยเป็นเพียงสภาพรูปธรรมนามธรรมเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเราเขา ไม่ใช่สิ่งที่เป็นสาระแก่นสารแต่อย่างใด แล้วกำหนดพิจารณาสภาพของรูปธรรมนามธรรมนั้นต่อไปจนเห็นความเป็นไตรลักษณ์ด้วยปัญญาอันแจ้งชัด คือ มีการเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเปลี่ยนแปลงไป สลายไป และดับไปอย่างรวดเร็วโดยไม่ตั้งอยู่นาน ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย คลายความกำหนัดยินดีในรูปธรรมนามธรรมนั้น เห็นรูปนามนั้นโดยสภาพที่เป็นโทษ ต้องการที่จะหนีให้พ้นไปจากรูปนามนั้น ดังนี้เป็นต้น วิปัสสนาญาณที่ประกอบด้วยมหากุศลญาณสัมปยุตตจิตเกิดขึ้น และมีความแก่กล้าขึ้นโดยลำดับ จนถึงสังขารุเปกขาญาณ แล้วขึ้นสู่โสดาปัตติมรรควิถีเป็นอนุโลมญาณ โคตรภูญาณ และโสดาปัตติมัคคญาณ โสดาปัตติผลญาณย่อมเกิดขึ้นได้ประจักษ์แจ้งชัดในอารมณ์พระนิพพาน พร้อมกับการประหาณอนุสัยกิเลส ๒ อย่าง คือ ทิฏฐานุสัย และวิจิกิจฉานุสัย ด้วยการตัดขาดจากขันธสันดาน เรียกว่า สมุจเฉทปหาน และทำอนุสัยกิเลสที่เหลือให้เบาบางลง จนไม่สามารถนำไปสู่อบายได้อีก แล้วปัจจเวกขณญาณวิถีก็เกิดขึ้นพิจารณาสภาพของโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล นิพพาน กิเลสที่ละแล้ว และกิเลสที่ยังเหลืออยู่ บุคคลนั้นได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลขั้นแรก เรียกว่า พระโสดาบัน แปลว่า ผู้ถึงกระแสแห่งพระนิพพานเป็นครั้งแรก

ต่อจากนั้น จึงกำหนดพิจารณาความเกิดดับของนามรูปตั้งแต่อุทยัพพยญาณเป็นต้นไป จนถึงสังขารุเปกขาญาณตามลำดับ แล้วเข้าสู่สกิทาคามิมรรควิถีอีก เป็นอนุโลมญาณ โวทานญาณ และสกิทาคามิมรรคญาณ สกิทาคามิผลญาณ ตามลำดับ แล้วปัจจเวกขณญาณวิถีก็เกิดขึ้นพิจารณาสภาพของสกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล นิพพาน กิเลสที่ละแล้ว และกิเลสที่ยังเหลืออยู่ บุคคลนั้นได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลขั้นที่ ๒ เรียกว่า พระสกิทาคามี แปลว่า ผู้จะกลับมาสู่กามโลกอีกเพียงครั้งเดียว พร้อมกับการทำอนุสัยกิเลสที่เหลือจากโสดาปัตติมรรคได้ประหาณแล้ว โดยการทำให้เบาบางลงไปอีก เรียกว่า ตนุกรปหาน ต่อจากนั้น จึงกำหนดพิจารณาความเกิดดับของนามรูปตั้งแต่อุทยัพพยญาณเป็นต้นไปจนถึงสังขารุเปกขาญาณ ตามลำดับ แล้วเข้าสู่อนาคามิมรรควิถีอีก เป็นอนุโลมญาณ โวทานญาณ และอนาคามิมรรคญาณ อนาคามิผลญาณ ตามลำดับ แล้วปัจจเวกขณญาณวิถีก็เกิดขึ้นพิจารณาสภาพของอนาคามิมรรค อนาคามิผล นิพพาน กิเลสที่ละแล้ว และกิเลสที่ยังเหลืออยู่ บุคคลนั้นได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลขั้นที่ ๓ เรียกว่า พระอนาคามี แปลว่า ผู้ไม่กลับมาสู่กามโลกอีกแล้ว พร้อมกับการประหาณอนุสัยกิเลสอีก ๒ อย่าง คือ กามราคานุสัยและปฏิฆานุสัย ด้วยการตัดขาดจากขันธสันดาน เรียกว่า สมุจเฉทปหาน ต่อจากนั้น จึงกำหนดพิจารณาความเกิดดับของนามรูปตั้งแต่อุทยัพพยญาณเป็นต้นไปจนถึงสังขารุเปกขาญาณ ตามลำดับเช่นเดียวกัน แล้วเข้าสู่อรหัตตมัคคควิถีอีกเป็นครั้งที่ ๔ เป็นอนุโลมญาณ โวทานญาณ และอรหัตตมรรคญาณ อรหัตตผลญาณ ตามลำดับ แล้วปัจจเวกขณญาณวิถีก็เกิดขึ้นพิจารณาสภาพของอรหัตตมรรค อรหัตตผล นิพพานและกิเลสที่ละหมดสิ้นแล้ว บุคคลนั้นได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลขั้นที่ ๔ เรียกว่า พระอรหันต์ แปลว่า ผู้ควรบูชาอย่างยิ่ง พร้อมกับการประหาณอนุสัยกิเลสที่อีก ๓ อย่าง คือ ภวราคานุสัย มานานุสัย และอวิชชานุสัย ด้วยการตัดขาดจากขันธสันดาน เรียกว่า สมุจเฉทปหาน เป็นการตัดอาสวกิเลสทั้งปวงให้สูญสิ้นจากขันธสันดานโดยสิ้นเชิง เรียกว่า พระขีณาสพ เป็นผู้ถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์ เรียกว่า วุสิตพรัหมจริยบุคคล

ในบรรดาฌาน ๒ อย่างนั้น อารัมมณูปนิชฌาน เป็นไปเพื่อวัฏฏะ คือ การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ [หมายเอาเฉพาะปุถุชนและพระเสกขบุคคล] ส่วนลักขณูปนิชฌานนั้น เป็นไปเพื่อวิวัฏฏะ คือ การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ เป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา แต่ฌานทั้ง ๒ ประการนี้ ย่อมเป็นปัจจัยเอื้ออำนวยซึ่งกันและกันได้ หมายความว่า สามารถเวียนมาบรรจบกันได้ กล่าวคือ บุคคลที่เจริญอารัมมณูปนิชฌาน จนได้บรรลุถึงฌานแล้ว สามารถกำหนดพิจารณาองค์ฌานและสภาพของฌานนั้นให้เห็นโดยความเป็นไตรลักษณ์แล้วยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นจนสามารถบรรลุมรรคญาณ ผลญาณได้ เรียกว่า สมถยานิก แปลว่า มีสมถะเป็นยานพาหนะนำไปสู่วิปัสสนา อนึ่ง บุคคลผู้เจริญวิปัสสนาจนได้บรรลุถึงมรรคญาณ ผลญาณแล้ว ย่อมสามารถเป็นอุปการะต่อการทำฌานได้เช่นเดียวกัน เพราะเป็นผู้ละกิเลสนิวรณ์ได้แล้วตามสมควรแก่กำลังแห่งมรรคญาณของตน ถึงแม้พระเสกขบุคคล จะยังมีกิเลสนิวรณ์เหลืออยู่บ้าง แต่กิเลสนิวรณ์เหล่านั้น ย่อมมีกำลังไม่เพียงพอที่จะขัดขวางสมาธิจิตให้กำเริบหรือแตกทำลายได้ เมื่อพระอริยบุคคลท่านนั้น ต้องการที่จะทำฌานสมาบัติให้เกิดขึ้น เพื่อใช้กำลังฌานเป็นปัจจัยในการอยู่เป็นสุขในภพชาติปัจจุบัน ก็สามารถทำฌานให้เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าปุถุชนที่ยังมีกิเลสหนาอยู่ เรียกว่า วิปัสสนายานิก แปลว่า มีวิปัสสนาเป็นยานพาหนะนำไปสู่สมถะ แต่ที่กล่าวนี้ มุ่งหมายเอาเฉพาะพระอริยบุคคลบางท่านที่ได้สั่งสมบารมีในเรื่องของฌานสมาบัติมาแล้วในอดีตชาติเท่านั้น ส่วนท่านใดที่ไม่เคยได้สั่งสมบารมีในเรื่องของฌานสมาบัติมาเลย ก็ไม่สามารถที่จะทำฌานให้เกิดขึ้นได้ หรือใจของท่านไม่น้อมไปในการที่จะทำฌานให้เกิดขึ้น ดังจะเห็นปรากฏจากหลักฐานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาว่า พระอริยบุคคลที่ได้ฌานนั้น มีจำนวนน้อยกว่าพระอริยบุคคลที่ไม่ได้ฌานหลายเท่านัก ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า การที่บุคคลจะได้ฌานสมาบัติ หรือ อารัมมณูปนิชฌาน นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับบุญบารมีในชาติปางก่อนเช่นเดียวกันกับวิปัสสนาญาณ หรือ ลักขณูปนิชฌาน นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ฌาน อภิญญา สมาบัติ มรรค ผล นั้น เรียกว่า อุตตริมนุสสธรรม แปลว่า ธรรมอันยิ่งยวดของมนุษย์ เพราะยากที่บุคคลจะทำให้เกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีบุญบารมีที่ได้สั่งสมมาแต่ชาติปางก่อน ดังกล่าวแล้ว


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |