ไปยังหน้า : |
พระโยคีบุคคลควรแผ่กรุณาให้แก่ทุคตบุคคล คือ บุคคลผู้มีความทุกข์ยากลำบาก ซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ ทั้งหมด ตามลำดับ คือ
๑. วิรูปบุคคล คือ บุคคลผู้ขี้เหร่
๒. ปรมกิจฉัปปัตตบุคคล คือ บุคคลผู้ตรากตรำทำงานอย่างหนัก
๓. ทุคตบุคคล คือ บุคคลผู้ทุกข์ยาก
๔. ทุรูปตบุคคล คือ บุคคลผู้ลำบากแสนเข็ญ
๕. กปณบุคคล คือ บุคคลผู้กำพร้า ไร้ที่พึ่งพิง
๖. ฉินนหัตถปาทบุคคล คือ บุคคลผู้มือด้วนเท้าด้วน
บุคคลนั้นวางกระเบื้อง [หรือ ภาชนะขอทานอย่างอื่น] ไว้ข้างหน้า นอนในศาลาคนขอทาน มีหมู่หนอนไหลคลักออกจากมือและเท้าทั้ง ๒ ส่งเสียงร้องครวญครางอยู่
แล้วพึงให้นึกสงสารว่า “บุคคลผู้นี้ ถึงความทุกข์ยากลำบากแสนเข็ญ ไฉนหนอ? เขาพึงพ้นจากความทุกข์นี้ไปได้” ดังนี้ เหมือนที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์วิภังค์ว่า “ก็อย่างไรเล่า ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้มีใจเป็นไปพร้อมกับกรุณา แผ่ไปทั่วในทิศหนึ่งอยู่ ? คือ ภิกษุพึงแผ่กรุณาไปในสัตว์ทุกจำพวก เปรียบประดุจคนเห็นคน ๆ หนึ่ง เข็ญใจ ตกยาก แล้วพึงเอ็นดู ฉะนั้น” ดังนี้
เมื่อพระโยคีบุคคล ไม่ได้บุคคลผู้ตกทุกข์ได้ยากเช่นนั้น ลำดับต่อไป พึงน้อมนึกเอาบุคคลผู้มักทำความชั่ว แม้กำลังได้รับความสุขก็ตาม นำมาเปรียบเทียบกับบุคคลผู้ถูกฆ่าตายแล้ว พึงเอ็นดูบุคคลนั้น ด้วยคิดว่า “บุคคลนี้ถึงจะมีความสุขในวันนี้ แต่เขาก็ต้องไปรับทุกข์ในกาลข้างหน้าอย่างแสนสาหัส เพราะกรรมชั่วที่เขาทำไว้แล้วนี้” ดังนี้เป็นต้น
ครั้นเอ็นดูบุคคลนั้นอย่างนี้แล้ว เบื้องหน้าแต่นั้น พึงยังกรุณาจิตให้เป็นไปโดยลำดับ คือ ปิยบุคคล ผู้เป็นที่รัก มัชฌัตตบุคคล บุคคลผู้เป็นปานกลาง เวรีบุคคล คือ บุคคลผู้มีเวรต่อกัน